ปกิณณกธรรม ตอนที่ 335


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๓๕

    สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า

    พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ แต่สำหรับท่านผู้ฟังใหม่ๆ คงจะยังไม่ถึงขณะนั้น เพียงแต่ว่าให้เริ่มรู้ว่าการศึกษาธรรม ประโยชน์สูงสุดที่จะติดตามไปได้คือปัญญา เพราะแต่ละคนเกิดมาต่างกัน บางคนไม่สนใจธรรมเลย แต่มีทุกสิ่งทุกอย่างเพียบพร้อมสมบูรณ์ทางโลก มีวัตถุ มีเงินทอง มีทรัพย์สิน มีเกียรติยศ มีอะไรทุกอย่าง แต่ไม่ได้สนใจธรรมที่จะเข้าใจว่า เกิดแล้วก็คือตายไป แน่นอน ไม่มีใครที่เกิดแล้วไม่ตาย จะตายช้า หรือตายเร็ว ก็ไม่มีใครบอกได้ แล้วสิ่งต่างๆ ไม่สามารถจะติดตามไปได้เลย วัตถุต่างๆ แต่ว่าความติดข้อง ความไม่รู้ในสิ่งที่ปรากฏแต่ละชาติจะเพิ่มขึ้น ตราบใดที่ไม่มีการเห็นถูก ไม่มีความเข้าใจถูกในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ถ้าเห็นประโยชน์อย่างนี้ ก็จะเป็นผู้ที่ไม่ประมาท แล้วก็รู้ว่าจุดประสงค์จริงๆ ในชีวิต ไม่มีอะไรประเสริฐเท่ากับความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ในแต่ละขณะของชีวิต หวังว่าคุณฉัตรชัยคงจะยังไม่ได้คำตอบเรื่องของสติปัฏฐานในวันนี้ แต่ก็ฟังแล้วก็เห็นเลยในความต่างว่า สติมีหลายขั้น สติ ได้ยินคำนี้ ถ้าไม่ได้ศึกษามาก่อน ก็เข้าใจผิดได้ เพราะว่าบางคนก็จะบอกว่าเดินข้ามถนนไม่ถูกรถชน ก็มีสติ หรือว่ากำลังทำกับข้าวในครัว ไม่ถูกมีดบาดมือก็มีสติ ก็แปลสติ หรือใช้สติ ไปตามความคิดความเข้าใจ เพราะยังไม่ได้ศึกษา แต่ถ้าศึกษาแล้วจะทราบว่า สภาพธรรมที่เป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ที่สามารถที่จะเห็น ที่สามารถจะได้ยิน คิดนึกต่างๆ ก็จะมีธรรมฝ่ายดี และธรรมฝ่ายไม่ดี นี่ก็ยังคร่าวมากเลย แต่ความจริงแล้วละเอียดกว่านั้นมาก เพราะฉะนั้น สติต้องเป็นธรรมฝ่ายดี ไม่ใช่ใครทำอะไรไม่ผิด ไม่หกล้ม ไม่ลื่น อะไรพวกนี้ ก็จะเป็น สติ แต่ความจริงต้องขณะที่กำลังฟังธรรมอย่างนี้ ก็ยังไม่รู้ว่า มีสติแล้ว เพราะว่าเป็นกุศลจิต ไม่ได้คิดเบียดเบียนใคร แต่ว่ามีศรัทธาที่จะได้ฟังธรรม ขณะนี้จะมีสภาพธรรมเกิดร่วมกันใน หนึ่งขณะมากมาย ต่อไปยิ่งฟังก็ยิ่งละเอียดขึ้น ยิ่งเป็นความเข้าใจของตัวเอง เพราะฉะนั้น ก็คงจะต้องฟังกันไปตลอดชีวิต

    ผู้ฟัง ลักษณะของการคิดนึก ตั้งแต่ฟังใหม่ๆ ไม่เข้าใจคำนี้เลยว่า คิดนึกอย่างไร พอฟังไปนานๆ ก็เริ่มเข้าใจ อย่างที่ท่านอาจารย์ได้กรุณายกตัวอย่าง เช่น ขณะที่หลับไม่ได้คิด ตรงนี้ทำให้รู้สึกขึ้นมาได้ ขณะที่ตื่นมันต่างกับขณะที่หลับ อันนี้ก็อย่าง คือ ใกล้เข้าไปแล้วว่า พอที่จะเข้าใจว่า ความคิดนึกเป็นอย่างไร อีกอย่างก็คือ คนตายไม่คิด ที่เราคิดอยู่ตรงนี้ เป็นลักษณะของความคิด ขณะคิดก็ไม่ได้เห็น คือ เห็นถึงความต่างกันระหว่างที่คิดกับไม่ได้คิด ตรงนี้ก็เข้าใจ ทีนี้กราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า ลักษณะอย่างนี้มันก็ยังไม่ได้ตรงกับข้อที่เรียกว่า เป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพราะถ้าอบรมเจริญสติปัฏฐานแล้ว ต้องทราบว่า ลักษณะนั้นเป็นนามธรรม กราบท่านอาจารย์ตรงนี้ว่า จะพิจารณาเป็นเรื่องราว หรือว่า เข้าใจอย่างไรว่า เป็นลักษณะของนามธรรม

    ท่านอาจารย์ เรื่องของนามธรรมเป็นเรื่องที่ดูเหมือนซ่อนเร้น เพราะว่าไม่ปรากฏ ไม่มีรูปร่าง ไม่มีสีสันวัณณะใดๆ เลย ไม่ใช่สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ ไม่ใช่เสียงที่กำลังได้ยิน แต่เสียงถึงจะมี แต่ถ้าไม่มีธาตุรู้ หรือสภาพรู้ที่สามารถได้ยิน เสียงนั้น จะปรากฏได้ไหม เพียงเท่านี้เราก็ต้องไตร่ตรองแล้ว เสียงมี แต่ถ้าไม่มีสภาพที่ได้ยิน สามารถที่จะรู้ สามารถที่ได้ยิน เสียงนั้นก็ปรากฏไม่ได้เลย แสงสว่างในขณะนี้ก็มี แต่ถ้าไม่มีสภาพรู้ หรือธาตุรู้ แสงสว่างในขณะนี้ก็ไม่ได้ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น จะเห็นความต่างกันของสภาพธรรม ๒ อย่าง คือ สภาพธรรม อย่างหนึ่งไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ ไม่ได้คิด ไม่ได้จำ ไม่ได้สุข ไม่ได้ทุกข์ เพียงปรากฏลักษณะที่เป็นสีสันวัณณะที่ต่างกัน เพราะฉะนั้น ลักษณะนี้แม้มีก็ไม่ปรากฏ ลองคิดดู ถ้าไม่มีสภาพรู้ เช่น คนตายไม่เห็น สิ่งต่างๆ ในขณะนี้ก็มีตามปกติ แต่ไม่มีสภาพที่สามารถเห็น สิ่งนี้จึงได้ปรากฏ เพราะฉะนั้น อะไรก็ตามที่ปรากฏ เพราะจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ ธาตุรู้ ซึ่งเป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่างใดๆ เลย แต่เมื่อจิตเกิดขึ้นต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่กำลังเห็น เป็นจิต เพราะว่าเราอาจจะเคยทราบว่า ทุกคนก็มีจิต เราก็มีจิต แต่ว่าจิตมีลักษณะอย่างไร เมื่อไร อยู่ที่ไหนไม่สามารถจะรู้ได้ แต่ถ้าเป็นธรรมที่มีจริง ผู้รู้สามารถที่จะทรงแสดงลักษณะของสิ่งนั้นโดยประการทั้งปวง ให้คนอื่นสามารถเข้าใจถูก เห็นถูกตามได้ เพราะฉะนั้น เรื่องของนามธรรม แม้ในขั้นการฟัง ก็ยังต้องพิจารณาไตร่ตรองว่า ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะวันหนึ่งๆ มีตาต้องเห็น เมื่อไรก็แล้ว แต่เมื่อมีตา ต้องเห็น ถ้ามีหูก็ต้องได้ยิน เมื่อไรก็แล้วแต่ มีจมูกก็ได้กลิ่น มีลิ้นก็ลิ้มรส มีกายก็รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่ไม่ใช่รู้เพียงเท่านี้ ยังคิดด้วย

    ถ้าตัดรูปออกไปหมด สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ คือ เย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหวที่ปรากฏ ก็ยังมีสภาพรู้ หรือธาตุรู้ซึ่งคิดเรื่องราวต่างๆ ก็ได้ แม้แต่ความคิด ถ้าศึกษาโดยละเอียด จะเห็นได้ว่า รวดเร็วมาก แล้วก็ถ้าถามทุกคนในขณะนี้ว่า คิดอะไร ตอบได้สักคนไหม ตอบไม่ได้ทั้งๆ ที่กำลังคิด เพราะอะไร คิดแล้วก็ดับไปเลย แล้วก็คิดเรื่องใหม่อีก แล้วก็คิดเรื่องใหม่อีก ไม่ว่าจะคิดอะไรก็ชั่วขณะสั้นๆ แล้วก็หมดไปแล้ว เมื่อหมดไปแล้วก็ไม่สามารถที่จะติดตามบอกได้ว่าคิดอะไร แต่รู้ว่าคิดแน่นอน ไม่ใช่เพียงแต่เห็น ขณะนี้ถ้ามีแต่เห็น ไม่มีคิดเลย จะไม่มีใครเลยในห้องนี้ ไม่มีสิ่งใดเลย มีแต่สีสันวัณณะอย่างเดียว แต่ความจริงแล้วคิดติดตามมาอย่างรวดเร็ว โดยไม่รู้ตัวว่าคิดแล้ว

    เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องละเอียด ไตร่ตรอง แล้วฟัง แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจ นี่เป็นความรู้ขั้นฟัง ยังไม่สามารถที่จะทำให้สติสัมปชัญญะซึ่งต้องอาศัยปัญญาแน่นอน ไม่ใช่ว่าคนที่ไม่มีปัญญาแล้วสามารถที่จะมีการรู้ถูก การเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ เพราะว่าเมื่อเกิดมา สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็มีแล้ว มีเห็น มีได้ยิน แต่ไม่รู้ เพราะฉะนั้น เวลาที่มีเห็น มีได้ยิน มีทุกอย่างแล้วรู้ ต้องอาศัยจากการเข้าใจก่อน จากการฟัง เจริญเติบโตขึ้นเมื่อไร ก็จะถึงกาลที่มีการระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ด้วยความเห็นถูกต้องว่า ลักษณะนั้นเป็นอย่างนั้นเช่น แข็งเป็นแข็ง ในขณะนี้ แข็งเป็นอะไรหรือเปล่า ทุกท่านกำลังมีแข็งกำลังปรากฏ แข็งในขณะนี้เป็นอะไรหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เหมือนกับเป็นเรา เราแข็ง เรารู้ว่า แข็ง ไม่ใช่ว่าแข็งเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ แต่จริงๆ แล้ว ลักษณะแข็ง เปิดเผยชัดเจน แต่ปัญญาไม่เจริญพอที่จะรู้ว่า นั่นเป็นสภาพธรรม ขณะนั้นชั่วขณะ ไม่มีอย่างอื่นเลยในโลกทั้งสิ้น เพราะว่าจิตจะเกิดขึ้นเพียงหนึ่งขณะ แล้วก็จะรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเพียงทีละอย่าง เพราะฉะนั้น ในขณะที่มีแข็งกำลังปรากฏ ในขณะนั้นไม่มีตัวตน ไม่มีเรา ไม่มีใครเลย ไม่มีโลกอื่นเลย จนกว่าจะประจักษ์แจ้งความจริงอย่างนี้ ก็จะตรงกับการที่ได้ศึกษาธรรม

    ผู้ฟัง กราบอนุญาตอีกนิด อย่างที่ฟัง ที่กล่าวว่าลักษณะของสติก็มีหลายขั้น ขณะที่เริ่มศึกษา ถ้ายังไม่ได้ศึกษา ก็ไม่ได้คิดถึงเรื่องธรรมเลย พอเริ่มฟังบ่อยๆ ก็เริ่มคิดถึงเรื่องธรรมขึ้นมาบ้าง ตรงนี้ก็ยังไม่ใช่เป็นลักษณะของสติปัฏฐาน แต่ถ้าเผื่อเป็นลักษณะของสติปัฏฐาน คือ ขณะนั้นมันไม่ได้เป็นสภาพที่ว่า มีเราที่รู้ว่า คิดอย่างนั้น หรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เป็นความคิด แต่ว่าเมื่อรู้ว่า สภาพธรรมที่เป็นรูปปรากฏแต่ละทาง เมื่อสภาพธรรมรูปใดกำลังปรากฏ แล้วก็รู้ตรงลักษณะเพื่อเข้าใจถูกว่า ลักษณะนั้น เป็นธรรมอย่างหนึ่ง นั่นคือสติปัฏฐาน

    ผู้ฟัง แล้วที่ฟังอาจารย์ทางวิทยุ เรื่องเกี่ยวกับวิปลาส มีสัญญาวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส กับจิตตวิปลาส ๓ ตัว คือ ถ้าหากว่าเมื่อไรก็แล้วแต่ ที่อกุศลจิตเกิดขึ้น ย่อมมีวิปลาสเกิดขึ้น สมมติการแปรงฟัน วันนี้ เราต้องการแปรงฟัน เราต้องการเอื้อมมือไปหยิบแปรงสีฟัน หยิบยาสีฟัน รองน้ำใส่ถ้วย อันนี้ จะนับเป็นวิปลาสหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ขอฟังความเห็นของคุณประเชิญก่อน

    ประเชิญ.เรื่องวิปลาสนี้ หลายท่านคงได้ฟังวิทยุ เพราะว่าเป็นข้อความในพระไตรปิฎกที่ท่านอาจารย์นำมา หลายท่านก็อาจจะไม่ทราบความหมายของวิปลาส คือ คลาดเคลื่อนจากความจริง วิปลาส วิ-ปะ-ลา-สะ ซึ่งขณะที่เป็นอกุศล ก็คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงทั้งหมด ในขณะไหนที่ไม่เป็นในเรื่องของทาน ไม่เป็นในเรื่องของศีล ไม่เป็นไปในเรื่องของภาวนาแล้ว ชีวิตของพวกเราที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ ก็เต็มไปด้วยของอกุศลทั้งนั้นเลย ในขณะที่เป็นอกุศลก็คือคลาดเคลื่อน ถึงแม้ว่าไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อนก็ตาม แต่ว่าสภาพจิตในขณะนั้นเป็นอกุศล อกุศลนั้นก็ไม่ได้เห็นตามเป็นจริง คือ สัญญาก็ผิด ทิฏฐิ ถ้าเป็นโลภมูลจิตทิฏฐิสัมปยุตต์ ตรงนั้น ทิฏฐิ คือความเห็น ก็ผิด หรือขณะไหนที่เป็นอกุศลอย่างอื่นที่เป็นโมหะ หรือโลภะวิปปยุตต์ หรือโทสะก็ตาม ตรงนั้นก็วิปลาส เป็นจิตตวิปลาส เพราะว่าเป็นสภาพจิตที่ไม่ดีงาม ไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะฉะนั้น อกุศลทั้งหมดคลาดเคลื่อน วิ-ปะ-ลา-สะ คือ วิปลาสนั่นเอง

    ผู้ฟัง คำว่า ธรรมทั้งหลาย ที่ท่านเทวดาถามหมายความว่าอย่างไร

    อรรณพ. ธรรมทั้งหลายก็คือสิ่งที่เป็นจริง ได้แก่ อริยสัจธรรม ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ซึ่งเป็นความจริงที่ต้องแทงตลอดด้วยปัญญา ตั้งแต่ในระดับสติปัฏฐาน วิปัสสนาญาณ จนถึงขั้นที่จะแทงตลอดถึงลักษณะของพระนิพพานจริงๆ เพราะฉะนั้น ที่เทวดาท่านได้กล่าวอย่างนี้ เพื่อที่จะให้เห็นถึงการที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้อุบัติแล้ว เป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้ที่หลงลืม คือ ผู้ที่ไม่มีการระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรม แล้วก็ไม่มีการที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ยังหลงลืม คือ ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง คือ สัจธรรมทั้ง ๔ เพราะฉะนั้น ก็ย่อมมีโอกาสที่จะถูกชักจูง ด้วยความเห็นผิดต่างๆ เราไม่ต้องพูดไกล เอาปัจจุบันนี้ก็ได้ ถ้าเราไม่ฟังธรรม ในกาลที่พระผู้มีพระภาคเจ้าอุบัติแล้ว เป็นโอกาสของการฟังธรรม สนทนาธรรม เจริญกุศลทุกประการ เจริญกุศลที่เป็นสติปัฏฐาน วิปัสสนา เป็นโอกาสแล้ว แต่ถ้าไม่ได้อบรมเจริญ กุศลเหล่านี้ คือ ไม่มีการฟังธรรม เป็นต้น ใครมาพูดอะไรก็อาจจะเชื่อ ให้ไปปฏิบัติด้วยวิธีการต่างๆ ก็ไป นั่นย่อมถูกชักจูงในวาทะของชนอื่น พวกอื่น ชนพวกอื่น คือ ชนที่มีวาทะ หรือว่ามีความเชื่อ หรือมีความเข้าใจผิด ไม่ตรงลักษณะสภาพธรรม โดยยึดถือว่าสภาพธรรมเที่ยงเป็นต้น เพราะฉะนั้น เทวดาจึงกล่าวคาถานี้ เพื่อจะให้เห็นว่า เป็นการอันสมควรที่ผู้ที่หลับอยู่ด้วยความไม่รู้ลักษณะสภาพธรรมตามความเป็นจริง จะได้มีโอกาสฟังพระธรรม แล้วพระธรรมจะทำให้ตื่น คือ เข้าใจลักษณะสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่กำลังปรากฏในขณะนี้

    ท่านอาจารย์ ขอโทษ ไม่ต้องไปไกล เพียงแค่ตอนต้นๆ ก็ฟังว่า ทุกอย่างเป็น ธรรม เห็นขณะนี้เป็นธรรม สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นธรรม เสียงเป็นธรรม ได้ยินเป็นธรรม คิดนึก หรือสุข หรือทุกข์ประการต่างๆ ที่กำลังมีในขณะนี้เป็นธรรมทั้งหมด เพียงเท่านี้ ฟังเมื่อกี้นี้ ลืมไหม ยังไม่ต้องไปไกลถึงอริยสัจเลย นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ต้องเป็นเรื่องละเอียด เพราะไม่ลืม จึงรู้ในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ว่าเป็นธรรม แต่นี้ต้องอีกไกลทีเดียว เพราะเหตุว่าฟังจะต้องหลงลืม ตราบใดที่ยังไม่รู้แจ้งสภาพธรรมนั้น ยังไม่แทงตลอดในธรรมนั้น

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ความรู้ต่างระดับจริง ถ้าเป็นบุคคลที่ฟัง แต่ยังไม่ได้มีการรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรม ยังไม่เข้าใจถูก จนกระทั่งสามารถเข้าใจได้ว่า ทุกอย่างที่กำลังปรากฏเป็นธรรมจริงๆ ก็ต้องลืมเลือน หรือว่าหลงลืม ฟังเมื่อชั่วครู่ก็ลืมแล้ว แต่ว่าถ้าได้เป็นผู้ที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม เมื่อเห็นขณะใด ย่อมสามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏว่า เป็นธรรมได้

    ผู้ฟัง ชนพวกใด ชนพวกนั้นเป็นพวกเทวดา หรือพวกเดียว หรือมีความหมายอื่นๆ อีก ขอความกรุณาขยายอธิบายให้พอเข้าใจ

    ประเชิญ.ชนก็มีหลายจำพวก มีปุถุชน หรืออริยชน ซึ่งในที่นี้ ก็ควรที่จะเป็นชนที่เป็นปุถุชน เพราะว่า ชนพวกนั้นที่ชื่อว่ายังหลับ ในอรรถกถาสูตรก่อนก็กล่าวไว้ว่า ในกาลที่พระผู่มีพระภาคยังไม่อุบัติขึ้น โลกมืดสนิทเลย ไม่มีใครรู้ความจริง เพราะฉะนั้น ชนที่เกิดในที่ตรงนั้น ส่วนใหญ่ก็คือ เป็นผู้ที่ไม่ใช่อริยชน ก็จะมืดสนิท แล้วก็ ชื่อว่าหลับด้วยในขณะนั้น ซึ่งในกาลที่พระผู้มีพระภาคอุบัติขึ้นในโลกนี้แล้ว ทรงแสดงธรรม แล้วก็มีพระสงฆ์เกิดขึ้นด้วย ก็เป็นกาลที่ควรที่จะตื่น ตามที่เทวดาได้กล่าวว่า กาลนี้เป็นกาลควรที่จะตื่นของชนพวกเรา คือ คนที่หลับ เป็นปุถุชน ผู้ที่ไม่รู้อริยสัจ ยังมืดบอดอยู่นั่นเอง

    ผู้ฟัง อีกข้อหนึ่ง ย่อมถูกลงไปในวาทะของชนผู้อื่น มีความหมายว่าอย่างไร

    ประเชิญ.จากเมื่อสักครู่นี้ที่คุณอรรณพได้อ่านในพระสูตรก่อนหน้านั้น ท่านได้กล่าวถึง ปรวาเจสุ หมายถึง วาทะที่ประกอบด้วยทิฏฐิ ๖๒ ก็คือความเห็นผิดทั้งหลาย เพราะฉะนั้น วาทะ หรือคำสอนที่ไม่ใช่คำสอนของพระผู้มีพระภาคเป็นวาทะอื่น

    ผู้ฟัง อีกข้อ ยังหลับไม่ตื่นหมายความว่าอย่างไร

    ประเชิญ.ผู้ที่ตื่น คือเราได้สรรเสริญพระคุณของพระผู้มีพระภาค ที่ว่า พุทโธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่ใช่พุทโธ ไม่ใช่พุทธะ คือผู้ยังหลับอยู่นั่นเอง ผู้ที่ตื่นแล้วก็คือ พระผู้มีพระภาค และพระอริยสาวกทั้งหลาย เป็นผู้ที่ตื่นแล้ว ตื่นจากกิเลส การหลับคือการไม่รู้ความจริง

    ผู้ฟัง ธรรมต้องอ่าน ต้องฟัง แล้วต้องเข้าใจ ต้องแทงตลอด แล้วถึงจะมาลืมเลือน แล้วลืมเลือนก็อาจจะตีความไปว่า หลงลืม หลงลืมก็อาจจะตีความไปว่า หลงลืมนี้ หลงลืมธรรมดา หรือหลงลืมสติ ทำไมมัน สั้นๆ แค่นี้ ผมลองพยายามทำความเข้าใจอยู่ ๒๐ - ๓๐ นาที เกือบชั่วโมง กับอาจารย์ข้างๆ นี้ ก็ไม่เข้าใจ ผมจะลองดู ไม่ทราบว่าจะถูกหรือเปล่า คือ ธรรมบทนี้ ที่เทวดาถามว่า ธรรมทั้งหลาย อันชนใดลืมเลือนแล้ว ย่อมถูกจูงไป ทีนี้ถ้าเผื่อเราอ่านแค่ง่ายๆ ธรรมดา แค่อันนี้ แล้วเราตีความง่ายๆ ผมว่าเราถูกจูงกันทุกคน ใครๆ ก็อ้างถึงพระไตรปิฎก แล้วอาจารย์ทั้งหลายที่เทศน์สั่งสอน เราจะไปเชื่ออย่างไร จะเชื่อใครที่ไหน ธรรมที่ว่ามันเป็นของละเอียด เป็นของบริสุทธิ์ เป็นของที่จริง เป็นของแท้ ที่ไหนมันถึงจะแท้ หลายคนหลายล้านคนยังไม่เคยถูกดึงกลับมาให้อ่านในวรรคที่ ๒ ธรรมทั้งหลาย อันชนพวกใดไม่ลืมเลือนแล้ว ชนพวกนั้นย่อมไม่ถูกจูงไปในวาทะของชนพวกอื่น

    ท่านอาจารย์ ขอประทานโทษ ขอพูดถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากคำถามของคุณเด่นพงศ์ ซึ่งทุกคนก็คงจะเป็นปัญหาที่คิดมานานว่า ทำอย่างไรเราถึงจะเข้าใจความจริง สัจธรรมได้ เพราะเหตุว่าพระธรรมมี เป็นพระไตรปิฎก ต่างคนต่างเรียน ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างเข้าใจ ผิดบ้างถูกบ้าง นี่เป็นของที่แน่นอน แต่ว่าผู้ที่จะได้สาระ ได้ประโยชน์ คือ สัจธรรมความจริง ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ตัวเอง คือความเข้าใจถูก ความเห็นถูก เราคงจะไม่มีความประสงค์ที่จะต้องการความเห็นผิดมาใส่ตัว จะมีประโยชน์อะไร

    สิ่งที่ประเสริฐที่สุด คือ ความเข้าใจถูก ความเห็นถูก ปัญหาก็อยู่ที่ว่า แล้วจะฟังธรรม แล้วก็ตัดสินได้อย่างไรว่า คำใดถูก คำใดมีประโยชน์ ถ้าคำนั้นเป็นคำที่ทำให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ได้ถูกต้อง ก็ต้องเป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าพระองค์ทรงตรัสรู้สภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ถ้าสิ่งที่มีจริง แล้วกำลังปรากฏในขณะนี้ แล้วไม่รู้ แล้วก็ไม่มีใครที่จะทรงแสดงให้มีความเข้าใจถูกในสิ่งนี้ โลกก็มืด ไม่มีใครที่จะมาคิดออก คิดไปคิดมา ก็เป็นผู้ที่ไม่ได้บำเพ็ญบารมีที่จะตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ต้องเข้าใจผิด คิดผิด หลงผิด เพราะฉะนั้น คำพูดแต่ละคำ ผู้ที่ต้องการสัจจะ ความจริง เพื่อประโยชน์ของตัวเองทั้งในปัจจุบันชาติ และในชาติต่อๆ ไป คือต้องพิจารณาไตร่ตรอง ใคร่ครวญ แล้วก็คำถาม ถามได้ตลอด เพื่อที่ว่าจะได้เข้าใจถูกต้องว่า สิ่งที่ได้ยิน ได้ฟัง สมบูรณ์พร้อมด้วยเหตุผลหรือยัง อาจจะไม่ต้องไปถามคนอื่น แต่ถามตัวเองว่า เป็นอย่างนี้ถูกต้องไหม หรือว่าไม่ถูกต้อง เช่น ธรรมทั้งหลาย แสดงอยู่แล้วว่า เรามีความรู้ ความเข้าใจธรรมทั้งหลายแค่ไหน หรืออาจจะเข้าใจว่า ธรรมอยู่ในพระไตรปิฎก หรือตรงนี้เป็นธรรม ตรงโน้นไม่ใช่ ธรรม แต่ถ้ามีความเข้าใจถูกต้องว่า ธรรมทั้งหลาย ก็รู้ได้เลยว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรม แต่เมื่อเป็นธรรมแล้ว เรามีความเข้าใจถูก มีความเห็นถูกในธรรมนั้นมากน้อยแค่ไหน ลึกซึ้งพอหรือไม่ที่จะเข้าใจจริงๆ ว่า ถ้าเป็นคำที่จริงแท้ ต้องเป็นคำที่ทำให้เราเกิดปัญญาความเห็นที่ถูกต้อง ในสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้ แม้ว่าจะค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป แต่ก็ไม่ผิด

    เมื่อกี้นี้ได้อ่านคำที่แจกกันไปข้างหลัง ขออ่านอีกครั้งหนึ่ง เพราะว่าบางท่านอาจจะไม่ได้อ่าน เพียงแต่รับมา ซึ่งมีข้อความว่า

    หากวาจาแม้ตั้งพัน ไม่ประกอบด้วยบทที่เป็นประโยชน์ไซร้ บทที่เป็นประโยชน์บทเดียว ซึ่งบุคคลฟังแล้วสงบระงับได้ ประเสริฐกว่า

    ฟังมาก็มาก ไม่ประกอบด้วยบทที่เป็นประโยชน์ไซร้ ไม่ทำให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมี กำลังปรากฏในขณะนี้ บทที่เป็นประโยชน์บทเดียว ซึ่งบุคคลฟังแล้วสงบระงับได้ ประเสริฐกว่า สงบระงับไม่ควรจะเป็นเพียงชั่วคราว ชั่วขณะ แต่ต้องถึงการดับกิเลสได้ เป็นสมุจเฉท

    อีกข้อความหนึ่ง บุคคลใดโง่ ย่อมสำคัญความที่ตนเป็นคนโง่ บุคคลนั้นจะเป็นบัญฑิต เพราะเหตุ นั้นได้บ้าง ส่วนบุคคลใดเป็นคนโง่ มีความสำคัญว่า ตนเป็นบัณฑิต บุคคลนั้นแล เราเรียกว่าคนโง่

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 98
    23 มี.ค. 2567