ปกิณณกธรรม ตอนที่ 338


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๓๘

    สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า

    พ.ศ. ๒๕๔๗


    ผู้ฟัง การอบรมสติปัญญา เรามีความปรารถนา ก็เพราะเกิดความยังต้องการอยู่ โลภะก็เข้าแทรก เหมือนเราทำบุญ ก็เอาอานิสงส์มาล่อเรา ว่าทำบุญแล้วมันจะได้อานิสงส์อย่างโน้นอย่างนี้ มันก็ยังเป็นขั้นทาน แล้วขั้นศีลก็เหมือนกัน ยังไม่ละคลาย ยังเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน อยู่นั่นแหละ อาจารย์ช่วยอบรมให้เกิดสติ และปัญญาตรงนี้

    ท่านอาจารย์ ถ้ารู้ว่าการที่จะรู้สภาพธรรม ตามความเป็นจริง ไม่เร็ว ก็คงจะทำให้ไม่ไปคิดว่า เมื่อไร หรือว่าทำอย่างไร แต่ว่าขณะใดที่มีการฟังแล้วเข้าใจ นั่นแหละคือหนทางซึ่ง วันนี้อาจจะพูดอย่างนี้ ภพ หน้าชาติหน้าไม่ทราบว่าอีกเท่าไร ก็จะรู้ได้ว่า เมื่อมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น ตอนแรกๆ ของทุกคนก็จะเป็นอย่างนี้ แต่ว่าเมื่อไรที่เห็นว่า เราเคยต้องการ มีโลภะนำมาโดยตลอด เป็นทั้งอาจารย์ เป็นทั้งลูกศิษย์มาโดยตลอด จนกว่าเมื่อไรเราจะเห็นโลภะว่า เวลาที่มีการฟังธรรมก็ยังมีโลภะติดตามมาอีก ก็จะรู้ได้ว่า หนทางที่จะละโลภะ คือ มีความเข้าใจเกิดขึ้น ถ้ามีความเข้าใจมากขึ้นก็จะค่อยๆ ละไป จนกว่าจะถึงการรู้แจ้ง อริยสัจธรรม ก็ต้องเป็นเรื่องของการอบรมไปเรื่อยๆ แบบจับด้ามมีด

    ผู้ฟัง การเข้าใจเรื่องการฟัง มันก็ไม่ก็ยังไม่ละคลาย

    ท่านอาจารย์ ยังละไม่ได้ ทุกคนแค่ฟัง ละไม่ได้เหมือนกันหมด

    ผู้ฟัง เพียงแต่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เริ่มเข้าใจแล้วก็อบรมความเข้าใจขึ้นเรื่อยๆ

    ผู้ฟัง ก็ยังไม่ละคลาย

    ท่านอาจารย์ จับด้ามมีดไง ด้ามมีดก็ยังไม่สึก

    ผู้ฟัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขอเอ่ยชื่อตัวกิเลสทั้งหลาย โลภะ โทสะ โมหะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวมานะ มันมีสูง สูงขั้นสูง มันยังลำบาก หลายๆ อย่างมันตามมาเรื่อย ตามมาติดๆ เลย

    ท่านอาจารย์ มีมานะ แล้วรู้ว่ามี ก็ยังดีกว่า มีแล้วไม่รู้ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง บางครั้งสติไม่ได้ระลีก

    ท่านอาจารย์ ไม่เป็นไร เมื่อไรรู้ก็ คือยังรู้ว่า มีอยู่เมื่อไร

    ผู้ฟัง ขั้นฟัง ยังลดละไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ยังละไม่ได้ ต้องอบรมไปอีก จับด้ามมีดไปอีก ด้ามมีดก็คือทางตาที่กำลังเห็น ทางหูที่กำลังได้ยิน ๕ ด้าม ๖ ด้าม

    ผู้ฟัง จริงอยู่ธรรมที่อาจารย์อบรมอยู่เรื่อยๆ ฟังแล้วสบาย ฟังสบายๆ แต่มันไม่ค่อยละคลาย ละคลาย หรืออาจจะผมมีตัวตนว่า เฉพาะผม มันไม่ค่อยละคลาย

    ท่านอาจารย์ เป็นผู้ที่เห็นถูกว่าปัญญาขั้นฟังไม่สามารถ ที่จะดับกิเลสได้ แล้วปัญญาต้องเจริญอีกมากทีเดียว ไม่ใช่เพียงเท่านี้ โดยอาศัยการฟัง และการเข้าใจสภาพธรรมขึ้นทีละเล็กทีละน้อย แล้วก็ไม่หวังด้วย นี่เป็นหนทางที่ละเอียด แล้วก็ลึกซึ้ง เพราะเหตุว่า เมื่อมีความเข้าใจแล้ว ยังไม่หวัง

    ผู้ฟัง ไม่หวัง มันยาก ไม่หวังนี่

    ท่านอาจารย์ เพราะเข้าใจถูกว่า ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับความหวัง

    ผู้ฟัง เพราะว่ามันเป็นปกติที่หวัง แม้กระทั่งหวังอยากได้บุญ จึงมีการบางครั้งบางแห่ง ก็ส่วนใหญ่ก็จะเอาผล หรืออานิสงส์อะไรมาพูดอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางวิทยุ พูดอยู่เรื่อยๆ ก็เพราะ จะเอาอานิสงส์มาล่อให้เกิดโลภะ

    ท่านอาจารย์ ถ้ามีคนบอกว่าให้ทำอย่างนี้แล้วจะละได้ ทำไหม

    ผู้ฟัง ก่อนถ้าไม่ได้ฟัง ทำ แต่เรื่องปรมัตถ์ ก็ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ความเห็นถูกอันนี้ก็จะเป็นสิ่งที่ควรสะสมต่อไปให้รู้ว่าไม่ใช่หนทางอื่น แต่เป็นหนทางที่ฟัง แล้วเข้าใจธรรมยิ่งขึ้น แล้วปัญญาเจริญไปตามลำดับ โดยที่ว่าไม่มีใครไปทำ ไม่มีตัวตนไปทำ แต่จากการฟัง การพิจารณา เมื่อปัญญาเกิดแล้วก็จะค่อยๆ เจริญเติบโตขึ้น

    ผู้ฟัง เพราะเราติดอยู่ในสมมติ สมมติบัญญัติ มันยังไม่ง่ายเลย อย่าเพิ่งไปถึงว่ารู้รูปธรรม นามธรรม ระลึกยากมาก

    ท่านอาจารย์ ทุกคนยอมรับว่ายาก แต่ก็อบรมไป

    อ.อรรณพ ถ้าคุณสุกิจดูในข้อความแล้วก็เหมือนกัน น้ำตก ฝนเม็ดหนาตก บนภูเขา แล้วคุณจะให้ทะเลมันเต็มก็ไม่ได้ ก็ต้องไปตามอย่างนี้ ในที่นี้ก็บอกว่า กาล เป็นชื่อของกุศลธรรมที่เป็นไปด้วยอำนาจการฟังธรรม เป็นต้น มันก็ต้องฟัง มันเป็นต้นๆ ไปก่อน ในกาลนั้นๆ แล้วกาลนั้น จะแจ่มชัด และจะเป็นไป ก็ต้องค่อยๆ เป็นไปทั้งนั้น จะไปถึง อาสวนัง ขยัง ก็ยังไม่ได้ เพราะฉะนั้น การที่จะละคลาย อะไรต่ออะไร มันเป็น วิราคธรรม เป็นถึงวิปัสสนาญาณ อะไรต่ออะไร มันก็คงต้องใจเย็นๆ ยังไม่ได้แสนกัป แล้วต้องค่อยๆ เป็นไป นอกจากพระธรรมเท่านั้นที่จะให้เราเย็น ถ้าเข้าใจธรรมมากขึ้นๆ ความใจร้อนนี้ก็จะน้อยลงๆ ความเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ก็ไม่รู้จะให้กำลังใจกันแค่ไหน

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ต้องสนใจในเรื่องละได้ไหม สนใจเรื่องรู้ว่า ฟังแล้วก็รู้ แล้วก็ เข้าใจขึ้น ไม่ต้องไปสนใจเรื่องละ เพราะจริงๆ แล้วขณะที่เข้าใจ ขณะนั้นเริ่มละความไม่รู้

    ผู้ฟัง การสงบตามกาล แต่ที่จะพูด คือพูดถึงเรื่อง ความสงบ เมื่อเร็วๆ นี้ได้ยินท่านอาจารย์ยกตัวอย่างให้ฟังว่า มีชาวต่างชาติก็หาที่สงบได้ ถูกใจมาก แล้วไปบวช ก็เงียบสงบมากเลย แล้วชั่วระยะเวลา สั้นๆ ก็กลับมาในกรุงเทพ พอได้ยินเสียงรถยนต์ก็ดีใจ คือ ตรงนี้ รู้สึกฟังดูแล้ว มันเป็นเรื่องปกติ ทีนี้ถ้าเผื่อเกี่ยวกับการอบรมเจริญสติปัฏฐานแล้ว ที่รู้ลักษณะของความดีใจ ขณะนั้นความสงบก็เกิดขึ้นแล้วหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ดีใจเป็นอะไร

    ผู้ฟัง ดีใจเป็นอกุศล แต่หมายความว่า ถ้าสติเกิดระลึกรู้ขณะนั้น ก็มีความสงบแทรกมาได้

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่ทราบว่าบุคคลนั้นรู้ลักษณะที่ดีใจหรือเปล่า หรือว่าเพียงแต่ได้ยินเสียงก็ดีใจว่ามีเสียง

    ผู้ฟัง ที่ดิฉันกราบเรียนตรงนี้หมายความว่า ไม่จำเป็นต้องไปหาว่าสงบ สงบต้องเป็นที่ที่สงบ อยู่ในที่ที่เป็นลักษณะที่เอิกเกริกอย่างนี้ ความสงบก็ย่อมมีได้ ถ้าสติเกิด

    ท่านอาจารย์ โดยมากพอพูดถึงความสงบ ทุกคนคิดถึงอะไร ก่อนฟังพระธรรม ถ้าพูดถึงความสงบ ทุกคนคิดอะไร จะได้ทราบว่า เดิมๆ ที่เคยใช้คำนี้ แล้วเคยเข้าใจความหมายของคำนี้ถูกต้องหรือเปล่า พอพูดถึงสงบ เข้าใจว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง สมาธิหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ โดยมากจะคิดถึงสมาธิ คิดถึงว่าขณะที่จิตตั้งมั่นอยู่ที่หนึ่งที่ใด แล้วก็เป็นที่ที่เงียบด้วย ไม่มีใครไปมาหาสู่ ก็เข้าใจว่า ขณะนั้นสงบ ถ้าอย่างนั้นคนที่นั่งอยู่ปลายทุ่งนา ใต้ต้นตาล ไม่มีใครเลย สงบหรือเปล่า

    ผู้ฟัง โดยทั่วไปก็คิดว่าสงบ แต่จริงๆ แล้ว เป็นลักษณะของความพอใจเป็นโลภะ

    ท่านอาจารย์ เราเข้าใจคำนี้ถูกต้องแค่ไหน พอได้ยิน เราคิดไปถึงสมาธิ แต่สมาธิมีทั้งมิจฉาสมาธิ และสัมมาสมาธิ มิจฉาสมาธิเป็นอกุศล สงบไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ทีนี้ที่มีกาล ๔ คือ การฟังธรรมตามกาล๑ มีได้ ใช่ไหม การสนทนาธรรมตามกาล๑ ก็มีได้ ถ้าขณะนั้นไม่มีการฟังธรรม ไม่มีการสนทนาธรรม ขณะนั้นมีความสงบได้ไหม การสงบตามกาล ถ้าไม่เข้าใจ ไปคิดเอาเองว่าสงบ ถ้าเข้าใจถูกต้องสงบจากอกุศล

    ขณะใดที่จิตเป็นกุศล จะเล็กจะน้อย สักเท่าไรก็ตาม ขณะนั้นสงบจากอกุศล เพราะฉะนั้น ความหมายทีนี่ก็คือ กุศลจิตนั่นเอง เพราะว่าวันหนึ่งๆ ขณะที่ฟังธรรมเป็นกุศล ขณะที่ฟังแล้วก็เข้าใจ ขณะที่สนทนาธรรม มีความเข้าใจเมื่อไร ขณะนั้นก็เป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา แต่นอกจากนี้ เช่นเมื่อกี้นี้ เราก็ออกไปรับประทานอาหารข้างนอก ขณะนั้นสงบหรือเปล่า กำลังรับประทานอาหารข้างนอก สงบไหม สงบหรือไม่สงบ ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นสงบ นี่เป็นการยืนยันความสงบที่แท้จริงว่า ต้องสงบจากโลภะ โทสะ โมหะ แต่ไม่ใช่หมายความว่า เราไปนั่งอยู่คนเดียว แล้วก็ขณะนั้นก็พยายามให้จิตจดจ่อตั้งมั่นอยู่ที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด แล้วเข้าใจว่าสงบ แต่ความอยากที่จะให้จิตอยู่ที่อารมณ์นั้น จะสงบได้อย่างไร ในเมื่อเป็นความต้องการ ในเมื่อเป็นความอยาก

    ถ้ามีความเข้าใจถูกต้องว่า ถ้าได้ยินคำว่าสงบในที่หนึ่งที่ใดก็ตาม หมายความถึงกุศลจิต เพราะฉะนั้น ที่กล่าวว่า เจริญความสงบ หมายความว่าเจริญความสงบของจิต คือ เจริญกุศลให้มั่นคงขึ้น โดยนัยของสมถภาวนา เพราะว่าเมื่อกุศลจิตที่มั่นคงเกิดขึ้น จนกระทั่งลักษณะของสมาธิ เกิดร่วมด้วย ขณะนั้นหมายความว่ากุศลจิต ตั้งมั่นสงบขึ้น เป็นสัมมาสมาธิ ในระดับของสมถภาวนา แต่ว่าจริงๆ แล้วขณะใดก็ตามที่กุศลจิตเกิดขึ้น ขณะนั้นสงบจากโลภะ โทสะ โมหะ เพียงแค่วันหนึ่งๆ ที่จะมีความสงบ ถ้าไม่เป็นผู้ที่ได้ฟังธรรม เราอาจจะไม่มี เพราะว่าวันหนึ่งๆ ก็เต็มไปด้วย โลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ถ้ามีโทสะเกิดขึ้น แล้วได้ฟังธรรม แล้วได้เข้าใจ ขณะนั้นเป็นเมตตาได้ สงบจากอกุศล เพียงแต่ว่าจะมากหรือจะน้อยเท่านั้นเอง หรือว่าเวลาที่เราได้ยินข่าวความไม่เที่ยง ไม่แน่นอนการเจ็บไข้ได้ป่วย หรือว่าการเกิดการตายของบุคคลหนึ่งบุคคลใด แล้วก็รู้ว่านั่นคือความจริง ขณะนั้น จิตสงบ เพราะคิดถึงความตาย ซึ่งใครก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะฉะนั้น ไม่มีใครที่จะไปบอกว่า ทำอย่างนี้ ทำอย่างนั้น แต่ต้องเป็นความเข้าใจถูกว่า ขณะนั้นสงบ คืออย่างไร คือเป็นกุศล ถ้าจิตเป็นกุศลมากขึ้น อย่างคนที่มีเมตตามากๆ จิตของเขาในขณะนั้นก็สงบ เขาไม่ได้ไปคิดริษยา หรือแข่งดี หรือว่าลบหลู่ หรือว่าที่จะทำอะไรก็ตามซึ่งเป็นอกุศล เพราะว่าขณะนั้นมีความเป็นมิตร มีความเป็นเพื่อน ขณะนั้นลักษณะของจิต ก็สงบจากอกุศล เพียงแต่ว่าในชีวิตประจำวัน ก็ไม่ใช่ระดับของความสงบที่ถึงขั้นอัปปนาสมาธิ

    ผู้ฟัง ที่ว่า อาสวะ มันเป็นลักษณะของกามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ ทิฏฐาสวะ หรือเปล่า ถ้าอย่างนั้นช่วยให้ความหมายของ ๔ คำ ด้วย

    อ.อรรณพ อาสวะ คือ กิเลสที่ไหลไป กิเลสที่เกิดขึ้นก็จริง แต่ว่าเบาบาง ทีเดียวเลย ไม่ว่าจะเกิดในภพภูมิใด ก็มีอาสวะได้ทั้งนั้น ถ้ายังไม่ใช่เป็นพระอริยบุคคลที่ดับอาสวะได้ตามสมควร อาสวะ คือความติดข้องในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้น ทิฏฐาสวะ คือ ความเห็นผิด บางคนก็ไหลไปด้วยความเห็นผิดต่างๆ นอกจากนี้ การติดข้อง ไม่ใช่ติดข้องเฉพาะรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ความติดข้องในความมี ความเป็น ในภพ แม้พระโสดาบันก็ยังดับไม่ได้ พระอนาคามีก็ยังดับไม่ได้ ต้องระดับพระอรหันต์เลย จึงจะดับความยินดีติดข้องในภพ หรือภวาสวะได้ แล้วที่ลึกที่สุด ก็คือ อวิชชาสวะ อาสวะ คือ ความไม่รู้ ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ฉะนั้น อาสวะทั้ง ๔ กว่าที่จะดับได้ ก็ต้องอบรมเจริญกุศลประการต่างๆ แต่กุศล อบรมเจริญแล้วก็ค่อยๆ สะสมไป อีกไกลแสนไกล ถ้าเข้าใจถูก ก็มีโอกาสที่จะเต็ม เต็มแล้วก็ละ ข้ามพ้นซึ่งอกุศลทั้งหลาย

    ท่านอาจารย์ วันนี้ก็ดี ได้มีโอกาสรู้จักอาสวะไม่ได้อยู่ที่อื่นเลย อยู่ในจิต สะสมอยู่ที่จิต อาสวะก็เป็นกิเลสที่หมักดอง หรือว่าไหลไปตามอารมณ์ที่กระทบ ซึ่งอกุศลธรรมทั้งหมดมี ๑๔ ประเภท แต่ที่เป็นอาสวะ ที่หมักดองพร้อมที่จะไหลไป มี ๔ คือ กามาสวะ๑ ภวาสวะ๑ ทิฏฐาสวะ๑ อวิชชาสวะ๑

    กาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ความยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เราสะสมมานานเท่าไร ลองคิดดู มีใครบ้างที่ไม่พอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แต่ไม่รู้ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น เวลาที่กล่าวถึงพระขีณาสพ เป็นอีกชื่อหนึ่งของพระอรหันต์ คือ ผู้ที่ดับอาสวะ สิ้นอาสวะ ไม่เกิดอีกเลย

    นี่คือความต่างของคนที่ยังมีอาสวะกับผู้ที่ดับอาสวะแล้ว ต่างกันอย่างไร พระอรหันต์ท่านเห็นอย่างเรา ความต่างก็คือว่า เวลาที่เห็นแล้ว จิตของผู้ที่สะสมหมักดอง ความติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ไม่ได้รอกาลเวลาเลย ทันทีที่เห็นสิ่งใด มีความติดข้องพอใจในสิ่งที่เห็น โดยไม่รู้ตัวเลย รู้ตัวบ้างไหมว่า ตลอดเวลา ที่เห็นมาวันหนึ่งๆ กามาสวะมากเท่าไร เพราะว่าถ้าอารมณ์นั้นไม่ใช่อารมณ์ที่แรง หรือว่ามีกำลัง เราก็อาจจะคิดว่า เราไม่ได้ต้องการ แต่ตามความเป็นจริงแล้วกว่าจะรู้ ต้องศึกษา แล้วศึกษาแล้วจึงจะเห็นความต่างกันว่า กิเลสต่างๆ ก็มีระดับขั้นต่างๆ เช่น อาสวะ พร้อมเสมอ เห็น ทันทีที่เห็น ไม่ต้องไปคิดอะไรเลย ติดข้องทันทีในสิ่งที่เห็น เวลาที่ได้ยินเสียง ติดข้องทันทีในเสียงที่ยังไม่ดับ เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะเป็นเสียงอะไรก็ตามที่ยังไม่ดับ ก็มีความติดข้องต้องการในเสียงนั้น

    เพราะฉะนั้น ในขณะที่เกิดมาในโลกของกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทุกครั้งที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ก็ติดข้องในสิ่งนั้นๆ ทันที

    นี่คือลักษณะของอาสวะ ซึ่งเป็นกามาสวะ ซึ่งผู้ที่ดับกิเลสได้ก็จะดับกิเลส ตามลำดับขั้น แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่สะสมมาแล้วนานแสนนานเท่าไรก็ตาม แต่ถ้าอบรมเจริญปัญญาจริงๆ สามารถที่จะดับได้ แต่ต้องเป็นปัญญา ความเห็นถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรม

    สำหรับภวาสวะนี้ก็ เป็นปกติเหมือนกัน เกิดมาแล้วไม่พอใจในภพ ในชาติ ในความเป็น ในขณะนี้ บางคนก็อาจจะบอกว่าไม่ชอบ แต่ชอบสิ่งที่ดี ไม่ชอบสิ่งที่ไม่ดี ก็ยังคงมีความชอบในความมี ความเป็นอยู่นั่นเอง ไม่ชอบอย่างนี้ ก็ชอบอย่างนั้น

    สำหรับทิฏฐาสวะก็เป็นความยินดีในความเห็นผิด อันนี้อันตราย เพราะเหตุว่าไม่ใช่เพียงแต่ความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ยังมีความเห็นผิดในลักษณะของสภาพธรรมแล้วยึดมั่นถือมั่นในความเห็นผิดนั้นด้วย ถ้าไม่มีพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ ก็จะเห็นได้ว่า ไม่มีใครสามารถที่จะเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรม แล้วเมื่อมีความเห็นผิดยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน ก็จะมีความเห็นผิดอีกมากมายหลายเรื่องตามที่ได้ยินได้ฟัง คำใดที่แสดงถึงความไม่ใช่เหตุผลที่ถูกต้อง ขณะนั้นก็เป็นความเห็นผิด แล้วทั้งหมดนี้ก็เพราะอวิชชาสวะ มากไหม อวิชชา แล้วก็จะให้หมดไป ก็ต้องอาศัยการฟัง แล้วก็มีความเข้าใจเพิ่มขึ้นจนกว่าจะสามารถดับอาสวะได้

    ผู้ฟัง มีคำกล่าวที่พุทธศาสนิกชนจะประพฤติปฏิบัติตามคำสอน จะต้องพิจารณาเรื่องที่ได้ฟัง และจะต้องเข้าใจจริงๆ ทุกคำ ทุกขั้นตอน เพื่อให้เข้าใจถูก เพราะถ้าพื้นฐานไม่ดี จะไม่มีทางเข้าใจ ท่านอาจารย์จะได้กรุณาขยายความ หรือว่าให้คำตรงนี้ให้กระจ่าง เพราะว่าอ่านแล้วก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดี

    ท่านอาจารย์ พระธรรมที่ทรงแสดงจากการตรัสรู้ความจริงของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ถ้าไม่ตรัสรู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ จะทรงแสดงไม่ได้เลยว่า สภาพธรรมในขณะนี้แท้จริงเป็นอะไร แต่เพราะเหตุว่า ได้ทรงประจักษ์แจ้งความจริงว่า เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งก็หมายความถึงเป็นธาตุแต่ละอย่าง จึงไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่ง จะเป็นใครในเมื่อสภาพธรรมนั้นเกิดแล้วก็ดับไม่เหลือเลย ไม่มีอะไรเหลือเลยสักขณะเดียว แต่ว่าสภาพธรรมที่จำก็มี เพราะฉะนั้น ก็มีความทรงจำในสิ่งที่ผ่านไปแล้ว ด้วยการยึดถือสิ่งนั้นสิ่งนี้ว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้วขณะนั้นก็เป็นสัญญาวิปลาส คือ การจำผิด

    ถ้าได้เข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนี้เพิ่มขึ้น เวลาที่อ่านพระไตรปิฎก หรือว่าฟังข้อความจากพระไตรปิฎก ก็สามารถที่จะเข้าใจถูกว่า กล่าวถึงเรื่องสภาพธรรมที่เป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูป แต่ว่าสมมติบัญญิติให้รู้ว่า หมายความถึงสภาวะธรรมใด เช่น ขณะนี้เรามีชื่อคนต่างๆ ความจริงแล้วอะไรเป็นคน เห็น ดับแล้ว ได้ยิน ก็ดับแล้ว ทั้งหมดที่เคยได้ยินบ่อยๆ คือ ขันธ์ ๕ ได้แก่ รูปขันธ์ ๑ นามขันธ์ ๔ นามขันธ์ ก็ได้แก่ เวทนาขันธ์ ความรู้สึกต่างๆ ซึ่งมีเป็นประจำทุกขณะจิต แล้วก็สัญญาเจตสิก หรือสัญญาขันธ์ สภาพที่จำ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ ขันธ์ ๕ รูปขันธ์๑ เวนาขันธ์๑ สัญญาขันธ์๑ สังขารขันธ์๑ วิญญาณขันธ์๑ ในขณะนี้ทั้งหมด

    สิ่งที่เกิดปรากฏแล้วมี แล้วก็ไม่รู้เลย แต่ไม่ว่าจะทรงแสดงโดยความเป็นธาตุ คือ เป็นธรรมที่มีจริง หรือแสดงโดยความเป็นขันธ์แต่ละขันธ์ตามการยึดมั่น เพราะว่ายึดมั่นในรูป ในความรู้สึก ในความทรงจำ ในเรื่องราวต่างๆ ในการปรุงแต่ง วันหนึ่งๆ เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง แล้วก็เป็นการรู้สภาพธรรม ก็เป็นขันธ์ ๕ ทั้งวัน แต่ก็ไม่เคยรู้ตามความเป็นจริง

    การศึกษาธรรมก็จะทำให้ค่อยๆ เข้าใจถูก แล้วก็เห็นถูกต้องขึ้น แต่เป็นเรื่องของการอดทน ที่ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ว่า ขันติ เป็นตบะอย่างยิ่ง ถ้าไม่อดทน จะมีวันที่เราฟังจนถึงเวลาที่เข้าใจขึ้น ซึ่งไม่ใช่ครั้งเดียวหรือ เพียงครั้งแรก ฟังธรรมครั้งแรก แล้วคิดว่าเข้าใจหมด เป็นไปไม่ได้เลย จาก ๑๐ ปี ๒๐ ปี ๓๐ ปี หรือว่าต่อๆ ไปอีก ก็จะเห็นได้ว่า ความเข้าใจธรรม ค่อยๆ เพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง อยากจะขอความกรุณา ถ้าเผื่อคิดอย่างผมก็คือว่า ฟังก่อน แล้วก็มาสนทนาเพื่อให้กระจ่างขึ้น ให้ชัดขึ้น แล้วก็ปลีกไปหาความสงบบ้างนิดๆ หน่อยๆ อะไรอย่างนี้ ตามความคิดของผม ถ้าไม่ถูก ก็ขอความกรุณาแก้ แล้วก็มาพิจารณา มาตรึก มาดูว่า ธรรมที่เราศึกษา เราเรียนมา เราไปนั่งสงบแล้วอย่างนี้ มันใช่หรือเปล่า อะไรอย่างนี้ ถ้าไม่ใช่ก็ขอความกรุณา เพราะว่าผมไม่เข้าใจ ๓ กับ ๔

    ท่านอาจารย์ การสงบตามกาลของคุณเด่นพงศ์หมายความว่าจะไปไหน ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ยังไม่ได้ฟังคำอธิบาย ผมก็เลยเดาไปก่อน

    ท่านอาจารย์ แต่ตอนนี้ทราบแล้วใช่ไหม

    ผู้ฟัง ก็เผื่อเป็นสมถะก็พอเข้าใจ วิปัสสนาก็พอเข้าใจระดับหนึ่งก่อน ก็คงไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นวิปัสสนามีทั้งความสงบด้วย ไม่ใช่ว่าปราศจากความสงบ เพราะฉะนั้น เมื่อไรก็ตามที่เป็นกุศลประกอบด้วยปัญญา แล้วรู้ลักษณะของสภาพธรรมก็เป็นการพิจารณาธรรมต่างกัน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 98
    23 มี.ค. 2567