ปกิณณกธรรม ตอนที่ 319


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๑๙

    สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า

    พ.ศ. ๒๕๔๕


    ท่านอาจารย์ การศึกษาต้องมีความเข้าใจว่าแม้แต่สติปัฏฐาน หรือว่าสติขั้นใดก็ตาม เช่นขั้นทาน ก็ไม่ได้เกิดเพราะความที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดสามารถที่จะจงใจตั้งใจให้เกิดได้ เพราะเหตุว่าขณะที่จงใจตั้งใจเป็นเจตนาเจตสิก เกิดแล้วก็ดับไป แล้วแต่ว่าสิ่งที่จะเกิดต่อ เกิดเพราะอะไรเป็นปัจจัยต่อไป ถ้าศึกษาเรื่องความเป็นปัจจัยโดยละเอียด จะไม่มีความเป็นเราเลยทุกขณะ แต่ถ้าเรายังมีความเป็นเราอยู่ เวลานี้เป็นเราที่จงใจ เวลานั้นพยายามที่จะทำอย่างอื่น เหมือนกับจะให้จิตหมดกิเลส หรือว่าให้รู้ลักษณะของสภาพธรรม แต่ความจริงก็คือยังเป็นเรานั่นแหละที่คิดอย่างนั้น หรือทำอย่างนั้น

    การฟังธรรมอย่าผิวเผิน แล้วอย่าคิดว่า เพียงฟังแค่นี้ก็ไม่อยากมี โลภะ โทสะ โมหะ อยากจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม แค่นี้ไม่พอ แล้วก็ไม่ใช่หนทางที่จะรู้ได้เลย เพราะว่าการรู้แจ้งต้องเป็นปัญญา อย่าลืมสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเป็นการเห็นถูก เข้าใจถูก ซึ่งจะค่อยๆ เจริญขึ้น ไม่ใช่ฟังวันนี้ปัญญาก็เจริญเลย รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่จากการฟัง ฟังแล้วฟังอีก แม้ขณะนี้ก็มีเห็น ให้ได้ยินได้ฟังซ้ำอีกว่า ไม่ใช่เรา แล้วก็มีสภาพธรรม ๒ อย่าง สิ่งที่ปรากฏทางตาจะเป็นจิตไม่ได้ เพราะว่ามีลักษณะที่สามารถกระทบกับจักขุปสาท แล้วปรากฏ แล้วก็ไม่รู้อะไรเลย แต่ว่าส่วนนามธรรมซึ่งเป็นจิต เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ซึ่งไม่มีรูปร่างใดๆ เลย มองก็ไม่เห็น สัมผัสก็ไม่ได้ แต่ว่าสามารถที่จะเกิดขึ้นเห็น สามารถที่จะคิดนึก สามารถที่จะทรงจำได้

    การฟังเรื่องขณะที่เห็นในขณะนี้ ให้เข้าใจขึ้น ขณะนี้กำลังรู้ลักษณะของเห็น ซึ่งเป็นสภาพรู้ที่กำลังเห็น หรือว่าเป็นเพียงฟังเรื่องเห็น แล้วก็เริ่มเข้าใจว่า ขณะนี้มีเห็นซึ่งไม่ใช่เรา นี่เป็นระดับที่ต่างกัน

    เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจระดับของปัญญาด้วยว่าระดับใด ซึ่งไม่ใช่ขณะที่กำลังรู้ว่าเห็น ลักษณะที่เห็นขณะนี้เอง เป็นสภาพรู้เป็นนามธรรม เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ถ้าขณะนั้นไม่มีความเข้าใจอย่างนี้ ขณะนั้นไม่ใช่สติปัฏฐาน ใครจะเรียกว่าสติปัฏฐาน ก็แล้วแต่ ใคร แต่ว่าลักษณะจริงๆ ไม่ใช่สติปัฏฐาน เพราะเหตุว่าถ้าเป็นสติปัฏฐานแล้วต้องระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ซึ่งเกิดแล้วดับ แต่ขณะนั้นปัญญายังไม่สามารถที่จะประจักษ์การเกิดดับได้ แต่ว่าเพียงขั้นที่จะรู้ความจริงว่า เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งมี แล้วกำลังรู้ คือ เห็นสิ่งที่ปรากฏในขณะที่กำลังเห็น ถ้าเป็นความรู้ที่ค่อยๆ เข้าใจ ในขณะที่กำลังเห็น ขณะนั้นเป็นสติปัฏฐาน โดยที่ไม่ต้องมีความสงสัยเลย ใครจะบอกว่าไม่ใช่สติปัฏฐาน หมายความว่าคนนั้นไม่เข้าใจ สติปัฏฐาน คือ ขณะที่มีสภาพธรรมปรากฏ แล้วก็สติ ที่แปลกันก็คือ สภาพธรรมที่ระลึกรู้ โดยศัพท์ แต่ความจริงพอใช้คำว่า ระลึก เราเคยชินกับการคิดเรื่อง จะระลึกเรื่องอะไรก็ต้องเป็นยาวมาก ระลึกว่าวันนั้นทำอะไร วันนั้นไปไหน มีอะไรเกิดขึ้น นั่นเป็นการระลึกเรื่อง แต่สติปัฏฐานไม่ใช่ระลึกเรื่อง แต่ระลึกรู้ รู้อะไร รู้ลักษณะที่กำลังปรากฏ ขณะที่สติปัฏฐานหรือสติสัมปชัญญะเกิด ขณะนั้นไม่ใช่เราไปสร้างหรือไปทำขึ้น เลือกไม่ได้ให้สติปัฏฐานระลึกลักษณะของสภาพธรรมใด

    ปัญญาขั้นนั้น คือรู้ว่าการเริ่มต้นของการที่จะรู้ความต่างของขณะที่สติปัฏฐานเกิด กับขณะที่สติปัฏฐานไม่เกิด เพราะมีลักษณะจริงๆ ที่สติมีอาการไม่เลอะเลือนในสิ่งที่กำลังปรากฏ คือตามรู้ลักษณะแท้ๆ ของสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ว่าสติก็ดับเร็วมาก เหมือนกับสภาพธรรมทุกอย่าง จิต ไม่ว่าจะเกิดภพไหนภูมิไหน เป็นจิตประเภทไหน จิตจะมีอายุเพียงขณะย่อยๆ ๓ ขณะ คือ อุปาทขณะที่เกิด แล้วก็ฐีติขณะ คือ ขณะที่ยังไม่ดับ แล้วก็ภังคขณะ คือ ขณะที่ดับ สภาพธรรมเกิดดับ ขณะเกิดไม่ใช่ขณะดับ และขณะที่ยังไม่ดับ ขณะนั้นก็เป็นขณะที่ตั้งอยู่ ซึ่งจะบ่ายหน้าไปสู่การดับ

    พูดอย่างนี้ช้ามาก แต่ว่าเพียงจิตเกิดดับเร็วมาก ฉันใด สติปัฏฐานที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมก็เกิดดับด้วยเร็วมาก แต่ผู้นั้นก็ยังสามารถจะรู้ความต่างว่า ขณะนั้นไม่ใช่ขณะที่หลงลืมสติ แต่ปัญญาจะต้องอบรมรู้ลักษณะที่ปรากฏบ่อยๆ เนืองๆ จนกว่าความรู้จะเพิ่มขึ้น จนสามารถที่ปัญญานั้นถึงกาลที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน เป็นธาตุทางมโนทวารปรากฏ หมดความสงสัยในลักษณะของนามธาตุนั้น รูปธาตุนั้น แต่ต้องมีความรู้ความต่างของสติซึ่งเป็นสติปัฏฐาน กับสติขั้นที่ไม่ใช่สติปัฏฐาน

    ถ้าจะมีคนบอกคุณณรงค์ว่า ไม่ใช่สติปัฏฐาน เชื่อไหมว่าไม่ใช่ ในเมื่อขณะนี้กำลังมีสภาพธรรมปรากฏ แล้วสติก็ระลึกลักษณะที่กำลังปรากฏ ไม่เลอะเลือนในลักษณะนั้น คนอื่นจะบอกว่า ไม่ใช่สติปัฏฐาน คุณณรงค์จะเชื่อคนอื่นไหม

    ผู้ฟัง หมายถึงของตัวเขา หรือของเรา

    ท่านอาจารย์ ถ้าคุณณรงค์มีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า ขณะนี้เป็นธรรมทั้งหมด ทำไมว่าเป็นธรรมทั้งหมด ธรรมทุกอย่างมีปัจจัตตลักษณะ มีลักษณะเฉพาะๆ ของธรรมแต่ละอย่าง เช่น แข็ง ไม่ใช่เสียง นี่เป็นลักษณะที่ต่างกัน ตลอดชีวิตของเรา ไม่เคยรู้จักธรรม แต่ความจริงตลอดชีวิตของเรา ไม่ปราศจากธรรม แล้วก็วันนี้ ขณะนี้ ก็มีลักษณะของธรรมปรากฏแต่ละอย่าง เฉพาะอย่างๆ สืบต่อเร็วมาก เป็นธรรมซึ่งต้องอาศัยการฟัง จึงจะเข้าใจว่า มีลักษณะปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นี่ขั้นฟัง ถ้าขณะใดที่กำลังเข้าใจลักษณะ ขณะนั้นหมายความว่ามีสติ จึงสามารถที่จะมีลักษณะของสภาพธรรมปรากฏ ไม่ใช่หลงลืมสติ ขณะนั้นสามารถที่จะรู้ความต่างของสติปัฏฐาน ซึ่งเกิด และระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม กับขณะที่หลงลืมสติ ๒ ขณะนี้ต่างกัน อันนี้เข้าใจหรือเปล่า ถ้าเข้าใจ สติปัฏฐานกำลังเกิดระลึกลักษณะซึ่งกำลังเป็นปกติอย่างนี้เอง ไม่ต่างกับเดี๋ยวนี้เลย ขณะนั้นผู้นั้นรู้ว่า ไม่ได้หลงลืมสติ เป็นปัญญา แล้วคนอื่นจะกล่าวว่า ไม่ใช่สติปัฏฐานได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ ถ้ามีความเข้าใจถูก ใครจะบอกว่าไม่ใช่สติปัฏฐาน ก็เป็นเรื่องของคนที่ไม่เข้าใจสติปัฏฐาน แต่ถ้าไม่ใช่สติปัฏฐาน แล้วอะไรจะเป็นสติปัฏฐาน อะไรที่จะทำให้สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏได้ ถ้าขณะนั้นไม่ใช่สติปัฏฐาน ไม่มีอย่างอื่นเลย ที่สามารถที่จะทำให้รู้สภาพความจริงของธรรมในขณะนั้นได้

    ผู้ฟัง ที่อาจารย์ กล่าวว่า รู้ลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น อันนี้เป็นสภาพรู้ ดังนั้นลักษณะก็จะเหมือนกันหมด ถูกไหม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ว่าเห็นกับได้ยิน จะต้องมีลักษณะเฉพาะของเขา

    ท่านอาจารย์ เห็นไม่ใช่ได้ยิน แต่ทั้ง ๒ อย่าง เป็นสภาพรู้

    ผู้ฟัง สภาพรู้ซึ่งสติที่ระลึกสภาพรู้ อันนี้ จะมีลักษณะเดียวกัน

    ท่านอาจารย์ ที่ว่าระลึกรู้ หมายความว่า กำลังเห็นแล้วค่อยๆ เข้าใจ เราไม่สามารถจะเอาอะไรไปจับนามธรรมได้ แต่สามารถที่จะเข้าใจความเป็นนามธรรมที่กำลังเห็น

    ผู้ฟัง แต่การระลึกรู้ลักษณะของสภาพรู้ โดยสติก็คือมีลักษณะเดียวกันหมดทั้ง ๕ ทาง

    ผู้ฟัง สติปัฏฐาน เมื่อเราเข้าใจเรื่องสติปัฏฐาน จะเลือกที่เกิดไหม จะต้องไปอยู่ที่นั่นที่นี่ หรืออะไรอย่างนี้ เวลาอะไรอย่างนี้ ต้องเวลาเช้า เวลาเย็นอะไรอย่างนี้ หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ นั่นคือเรา ไม่ใช่สติ สติใครบังคับได้

    ผู้ฟัง ก็แปลว่าเมื่อรู้เมื่อเข้าใจสติปัฏฐาน จะเกิดเมื่อไรก็ได้แล้วแต่เหตุปัจจัยที่ พร้อมที่จะเกิด

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ใครรู้บ้างว่า อะไรจะเกิดต่อไป

    ผู้ฟัง ก็ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ เป็นสติที่จะเกิด จะรู้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ สติจะเกิดเมื่อไรก็ได้ เมื่อมีปัจจัย เหมือนได้ยิน จะเกิดเมื่อไรก็ได้ เมื่อมีปัจจัยได้ยิน พร้อมที่จะเกิด

    ผู้ฟัง แต่ส่วนใหญ่ก็ยังเข้าใจกันไขว้เขวอยู่ เพราะว่าจะต้องไปเข้าห้องปฏิบัติบ้าง จะต้องพากันไปนั่งบ้าง อะไรๆ ต่ออะไรอย่างนี้ ก็แสดงว่า การที่ทำแบบนั้น ก็ยังเข้าใจที่ยังไม่ตรง

    ท่านอาจารย์ เข้าห้องไหน นี่เป็นห้องหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ก็มีห้องปฏิบัติ ท่านอาจารย์ มีห้องเฉพาะ จะต้องอยู่ในที่สงัด มีห้องเฉพาะคือไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร ถ้าเป็นพระก็บิณฑบาตไม่ได้ ถ้าเป็นโยมก็ทำอาหารกินเองไม่ได้ ต้องมีคนมาส่ง มาอะไรต่ออะไร

    ท่านอาจารย์ ก็ตรวจสอบกับพระไตรปิฎก สติปัฏฐานสูตร หรือว่า มหาสติปัฏฐานสูตร

    ผู้ฟัง แสดงว่าการที่แราจะศึกษาธรรมจะสุกเอาเผากินไม่ได้ จะต้องศึกษาจริงๆ ว่า ในพระไตรปิฎกได้พูดไว้ไหม อย่างที่สอนที่กล่าวกันส่วนใหญ่ รู้สึกว่าจะเป็นประเพณีไปเสียแล้ว เดี๋ยวนี้ มันจะเป็นวิปัสสนาไปได้หรือเปล่า ผมก็ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ ขอพูดถึงเรื่องความละเอียด เพื่อทุกท่านจะได้พิจารณา ขณะนี้มีแข็งปรากฏ นี่แน่นอน ใช่ไหม ทุกคนรู้ เด็กเล็กๆ รู้ไหมว่า มีแข็งปรากฏ ถ้ากระทบสัมผัส ก็รู้ นี่ก็คือต้องมีสภาพที่กำลังรู้แข็ง แข็งจึงปรากฏได้ ถ้าไม่มีสภาพรู้แข็ง แข็งจะปรากฏไม่ได้เลย แม้แต่แข็ง แข็งกับแข็งกระทบกันอย่างนี้ ก็ไม่มีสภาพรู้ว่า แข็ง แต่แข็งจะปรากฏต่อสภาพที่รู้แข็ง

    เพราะฉะนั้น ย้อนกลับไป ขณะใดที่แข็ง มี ปรากฏ ขณะนั้นมีสภาพที่กำลังรู้แข็ง นี่แน่นอน เป็นนามธรรม จึงสามารถรู้แข็งได้ แล้วถ้ามีคนบอกในขณะนี้ว่า ให้รู้ลักษณะของแข็ง ถ้ามีคนบอกให้รู้ลักษณะของแข็ง แล้วก็คนนั้นก็พยายาม คืออยู่ที่แข็ง แล้วก็ให้รู้ลักษณะของแข็ง บางคนเขาไปจับอะไรตั้งหลายอย่างเรื่อยๆ เพื่อที่จะได้รู้ลักษณะของแข็ง ขณะนั้นเป็นสติปัฏฐานหรือเปล่า

    นี่คือความละเอียด ไม่เป็น เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าเมื่อมีลักษณะแข็งปรากฏ แล้วรู้ตรงลักษณะแข็ง แล้วจะเป็นสติปัฏฐานทั้งหมด ต้องขึ้นอยู่กับปัญญาในขณะนั้นว่า ผู้ฟัง เข้าใจถูก แล้วก็รู้ว่า ลักษณะของสติสัมปชัญญะที่เกิดมีเหตุปัจจัย แล้วก็เวลาเกิด ขณะนั้นก็จะศึกษา เป็นอธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา ซึ่งละเอียดกว่าเพียงขั้นศึกษา วินัยก็ตาม หรือพระสูตรก็ตาม เพราะเหตุว่าสภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก แล้วการศึกษาจริงๆ ก็คือว่า มีลักษณะของสภาพธรรมให้ศึกษาโดยระดับขั้นที่สติปัฏฐาน ซึ่งจะต้องเกิดร่วมกับสัมมาทิฏฐิ ความเห็นที่ถูกต้อง ต้องเป็นปัญญาที่เกิดร่วมด้วยในขณะนั้น จึงสามารถจะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้ทีละเล็กทีละน้อย

    ถ้าบอกเด็กที่กำลังรู้แข็ง บอกให้จับแน่นๆ ซิ แข็งเป็นอย่างไร อยู่ตรงนั้นไม่ต้องให้คิดตรงอื่น เด็กก็จับได้รู้ได้ แต่ไม่มีปัญญา แล้วก็ไม่รู้ด้วยว่า ขณะนั้น เป็นอะไร ก็ยังคงเป็นตัวเด็ก ไม่ใช่เป็นผู้ที่ฟังเข้าใจว่าเป็นสติ เป็นลักษณะของสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งมีลักษณะที่เป็นโสภณ เป็นฝ่ายดี ที่ระลึกได้ในทางที่เป็นกุศล ไม่ว่าจะในขั้นของทานที่เราให้สิ่งที่เป็นประโยชน์กับบุคคลอื่น ซึ่งเคยคิดว่าเป็นเรา แต่ถ้าสติขั้นทานไม่เกิด ขณะนั้นจะไม่มีการให้เลย หรือการวิรัติทุจริตก็เช่นเดียวกัน ไม่ใช่เรา แต่เพราะสติเจตสิกเกิด จึงมีการระลึกเป็นไปในศีลที่จะวิรัติทุจริต ก็มีคนที่เขาชอบเรื่องของแมว ที่เอื้อมมือไปที่จะหยิบหรือจับปลาทอด แล้วเสร็จแล้วก็หดมือกลับ แม้แต่สัตว์เดรัจฉาน สภาพธรรมที่เกิดขึ้นที่วิรัติทุจริต ไม่วาจะเป็นสัตว์บุคคลใดทั้งสิ้น รูปร่างต่างกัน เป็นมนุษย์ เป็นสัตว์ แต่สภาพของจิตที่เป็นกุศลก็มี ที่เป็นอกุศลก็มี

    เพราะฉะนั้น ต้องรู้ความจริงว่า สติระดับขั้นศีลเกิดขึ้น ทำให้วิรัติทุจริตทางกาย ทางวาจา แล้วก็มีศีล คือ การประพฤติสุจริตทางกาย ทางวาจาด้วย แล้วขณะใดที่อกุศลจิตเกิด ไม่สงบ ก็รู้ว่าสิ่งนั้นก็คือ สภาพธรรมที่ไม่ควรจะสะสม เพราะเหตุว่าถ้าขณะใดที่มีความโกรธขุ่นเคือง สะสมความโกรธ ความขุ่นเคืองต่อไป มากๆ วันหนึ่งก็จะเป็นคนขี้โกรธ เห็นอะไรก็โกรธ ถ้ามีปัญญาอย่างนั้นก็สามารถที่จะละความไม่สงบของจิตได้ อาจจะมีความเมตตา หรือว่าแล้วแต่ว่ากุศลระดับใดจะเกิด ขณะนั้นก็เป็นสติ แต่ก็ไม่ใช่สติปัฏฐาน

    สติปัฏฐานไม่ใช่เพียงใครสั่ง ใครบอก ทำตามบอก ทำตามสั่ง ไม่ใช่ปัญญาของคนนั้นเลย แม้ว่าขณะที่กำลังฟังในขณะนี้ก็ตาม ไม่มีใครสามารถที่จะบังคับให้ดารสะสมของแต่ละคนที่ได้สะสมมาแล้ว มีความเข้าใจถูกผิดมากน้อยประการใด เพราะเหตุว่าแม้แต่ว่าเป็นหนังสือพระไตรปิฎก และอรรถกถาด้วยกัน แต่ว่าเข้าใจผิด คิดผิดได้ ตามสิ่งที่ได้ฟัง เพราะเหตุว่าเป็นผู้ที่ไม่ได้สอบทาน หรือว่าไม่ได้พิจารณาไตร่ตรองโดยละเอียดกับสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงด้วย

    การฟังต้องฟังละเอียด ไม่ใช่สติปัฏฐาน คือ ขณะที่กำลังระลึกลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏมีลักษณะจริงๆ กำลังปรากฏให้สติระลึก เพราะเหตุว่าเด็กๆ ก็ทำได้ อยู่ตรงแข็งได้ แต่ไม่ใช่สติปัฏฐาน

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาที่ละเอียดขึ้น ละเอียดขึ้น ละเอียดขึ้น ซึ่งถ้าผู้นั้นมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า พระธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดงเพื่อรู้ ความจริง แล้วจึงจะละความไม่รู้ได้ ไม่ใช่ไปละความไม่รู้ โดยไม่รู้อะไรเลย หรือว่าจะไปละกิเลสทั้งหลาย โดยไม่รู้อะไรเลย ก็ไม่ได้ แล้วหนทางที่ทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎกเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ทรงแสดงทั้งหนทางผิด และหนทางถูก มีมิจฉามรรค ๘ ด้วย มีสัมมามรรค ๘ ตรงกันข้ามกันเลย

    ถ้าไม่ศึกษาจริงๆ โดยละเอียดจะรู้ไหมว่า มรรคไหน เป็นมรรคที่ผิด เป็นมิจฉามรรค และมรรคไหนเป็นมรรคที่ถูกต้อง ฟังเผินๆ ไม่ได้เลย แม้แต่คุณณรงค์จะฟังเรื่องขณะที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม ก็จะต้องมีความรู้ขั้นต้นพอสมควรที่จะเข้าใจได้ถูกต้องว่า เป็นสติปัฏฐาน หรือ ไม่ใช่สติปัฏฐาน

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น สามารถกล่าวเช่นนี้ได้ไหม ความรู้ความเข้าใจในขั้นการฟัง จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่สติปัฏฐาน จะเกิดได้ในโอกาสต่อไป

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะเหตุว่าขณะนี้ที่กำลังฟัง ความเห็นถูกขั้นการฟัง จะทำให้เกิดภาวนามยปัญญาได้ ถ้าไม่มีความรู้ขั้นฟัง สุตตมยญาณ จินตามยญาณก็ไม่มี ภาวนามยญาณก็ไม่มี แต่ขณะที่มี ต้องมีความเข้าใจถูกว่า ไม่ใช่เราขั้นคิดได้ แต่ว่าไม่ใช่เราจริงๆ ขั้นประจักษ์แจ้ง ต้องเป็นอีกระดับหนึ่ง

    เพราะฉะนั้น ก็จะคิดว่าพระพุทธเจ้าทรงประมวลความคิดต่างๆ แล้วก็ทรงแสดงธรรม แต่ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ขณะที่ตรัสรู้ ไม่มีคำใดๆ เลย แต่สามารถที่จะใช้คำบัญญัติทั้งหลายประกาศลักษณะของสภาพธรรมให้แจ่มแจ้ง ให้บุคคลอื่นสามารถที่จะรู้ได้ ด้วยพระปัญญาที่เหนือบุคคลใดๆ ทั้งสิ้น

    ผู้ฟัง อยากให้ท่านอาจารย์อธิบายตรงที่กล่าวบอกว่า ถ้าไม่ได้คิด สังขารไม่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ เมื่อวานนี้ก็พูดถึงของที่อยู่ต่อหน้า ก็หาใหญ่เลย ไม่เห็นว่า อยู่ต่อหน้า ทั้งๆ ที่อยู่ต่อหน้า ถ้าไม่คิดว่าเป็นสิ่งนั้น สิ่งนั้นก็ไม่ปรากฏ

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้น ความหมายของคำว่า ขอบเขตของสีในขณะที่สิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏ จะมีขอบเขตของมันไหม ไม่ใช่สัณฐาน แต่ขอบเขตของสี

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เราจะใช้ชื่อได้หลายชื่อ ใช้คำว่าสีก็ได้ หรือว่าจะใช้คำว่าวรรณ แสง สว่าง นิภา หรือว่า อะไรก็ได้ ที่กำลังปรากฏ แต่เราจำเป็นจะต้องคิดไหมว่า ขอบเขตอยู่ที่ไหน อย่างไร

    ผู้ฟัง ไม่ต้องคิด แต่ความเป็นจริงมันมีอย่างนั้นหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ความเป็นจริง คือ เป็นสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง ดิฉันมาสนใจเรื่องขอบเขต เพราะดิฉันคิดว่า หลังจากที่เห็นแล้ว การที่จะเป็นสัณฐานอะไร อยู่ที่ว่า สิ่งที่ปรากฏตอนแรก ว่ามีขอบเขตแค่ไหน

    ท่านอาจารย์ มีอีกหลายอย่างที่คุณบงไม่ได้นึกถึงในห้องนี้ แต่ สิ่งนั้นก็ปรากฏทางตา

    ผู้ฟัง การศึกษาธรรมเพียงแต่อ่านก็อ่านจบ แต่จะเข้าใจหรือไม่ว่า ความหมายคืออะไร

    ท่านอาจารย์ ตัวอย่างคือ ปุริสสสูตร ฟังดูเหมือนไม่มีอะไร พระพุทธเจ้าทำไม่ทรงแสดงเท่านี้เหล่า แค่ว่า ดูกรมหาบพิตร ธรรม ๓ อย่างแลเมื่อเกิดบังเกิดขึ้นภายในของบุรุษ ย่อมบังเกิดขึ้นเพื่อความไม่เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่สบาย ธรรม ๓ อย่าง คือ ๑ โลภะ ๒ โทสะ ๓ โมหะ แค่นี้เอง ง่ายๆ ฟังดูเหมือนใครๆ ก็รู้ ใช่ไหม เพราะฉะนั้น จะชื่อว่าเราเข้าใจสูตรนี้ได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าเพียงผ่านไป ก็คือว่าได้ความรู้แค่ว่าธรรม ๓ อย่าง คือ ๑ โลภะ ๒ โทสะ ๓ โมหะ เมื่อเกิดขึ้นก็เพื่อความไม่เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่สบาย แต่ว่าจริงๆ ธรรม ๓ อย่าง เป็นเรา หรือเปล่า ใช้คำว่าธรรม ๓ อย่าง ชื่อบอกอยู่แล้วว่า ธรรม

    เราเข้าใจความเป็นธรรมของทั้งโลภะโทสะโมหะแค่ไหน เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับว่าเราจะอ่านเผินๆ แล้วเหมือนกับเราเข้าใจ ไม่มีอะไรในพระไตรปิฎกที่เราไม่เข้าใจ คิดอย่างนั้น เพราะว่าจากสูตรนี้เป็นต้น แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียด แม้แต่ธรรม เราเข้าใจแค่ไหน แล้วธรรม ๓ อย่าง คือโลภะ โทสะ โมหะ เวลาเกิดขึ้น เกิดที่ไหน เกิดเมื่อไร ดับหรือเปล่า เกิดขึ้นได้อย่างไร เกิดขึ้นโดยอาศัยทางตา หรือโดยอาศัยทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ แล้วเป็นธรรมอย่างไร นี่ก็แสดงว่าเราคงจะต้องศึกษา ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียด เราก็คงจะไม่ผ่านไป

    ผู้ฟัง ขอเพิ่มเติมให้นิดหน่อย ธรรมที่เกิดขึ้น โลภะ โทสะ โทหะ ในพระไตรปิฎก ในสูตรอื่นมีบอกว่า ถ้าธรรม ๓ อย่างนี้เกิดขึ้น อย่างใดอย่างหนึ่งจะทำให้ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง มีแสดงไว้อย่างนั้น แต่ในนี้ก็อย่างหนึ่ง จริงๆ พระสูตรนี้ ถ้าจะขยายความ เอาพระสูตรอื่นมาพูดถึง มากเลย นี่เท่ากับจบพระไตรปิฎก

    ผู้ฟัง สิ่งที่กำลังปรากฏ ท่านอาจารย์จะบรรยายทุกครั้ง แล้วก็เกือบตลอดไป คำว่าปกติ บางครั้งก็ได้บรรยาย บางครั้งก็ไม่ได้บรรยาย ปกติวิสัยที่นี่ ก็คือ ทั่วๆ ไป ถ้าไม่ปกติแล้วมันจะเกิดตัวตน ใช่ไหม เป็นกุศโลบาย หรือจะเป็นวิธีการ หรือจะเป็นอะไร มันก็เกิดเป็นตัวตน อาจารย์อธิบายในลักษณะที่ผมฟัง เป็นอย่างนี้ใช่ไหม

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 98
    23 มี.ค. 2567