ปกิณณกธรรม ตอนที่ 334


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๓๔

    สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า

    พ.ศ. ๒๕๔๗


    ผู้ฟัง จะแยกเจริญเป็นบางส่วนไม่ได้เลย

    ท่านอาจารย์ แยกอย่างไร

    ผู้ฟัง เช่น ถ้าเกิดเราเจริญวิรตี

    ท่านอาจารย์ เจริญอย่างไร เจริญวิรตี โดยที่ไม่มีเจตสิกอื่นเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง เช่น เรารักษาศีล

    ท่านอาจารย์ ก็มีเจตสิกเกิดมากมายเลย

    ผู้ฟัง แต่ตรงนี้ก็ถือว่าเราเจริญมรรคเพียง ๓ หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ มรรคมีองค์ ๘ ต้องมีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย มิฉะนั้นไม่ใช่มรรคมีองค์ ๘

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีศีลดี ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า เราละเป็นสมุจเฉท คือมีศีลดี มีศีลเป็นปกติ ตรงนี้ประกอบด้วยมรรคอะไรบ้าง

    ท่านอาจารย์ คนที่มีศีลดีมาก แต่ไม่มีปัญญา เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่มรรคมีองค์ ๘

    ผู้ฟัง ทีนี้อยากจะสอบถามท่านอาจารย์ว่า ประกอบด้วยมรรคองค์ใดบ้าง

    ท่านอาจารย์ ถ้าโดยมรรคปัจจัย วิตกเจตสิกก็มี

    ผู้ฟัง ก็มีสัมมาสังกัปปะ

    ท่านอาจารย์ คงจะไม่ต้องเอาชื่อมาลำดับ แต่ว่าความเข้าใจของเราต้องมั่นคง แล้วก็ต้องรู้ว่า มรรคมีองค์ ๘ คืออะไร แล้วก็อบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ เพื่ออะไร รู้อะไร เพราะว่าสภาพของเจตสิกก็เกิดในจิตทั่วๆ ไป มีกุศลหลายประเภท แต่ว่ากุศลไม่ใช่ว่าจะเป็นมรรคมีองค์ ๘ ทั้งหมด

    ผู้ฟัง ก็เข้าใจมาว่า เท่าที่เคยได้ยินได้ฟังมา มรรคมีองค์ ๘ เป็นสิ่งที่ควรเจริญให้มีขึ้น เพราะว่าเป็นหตุให้ถึงพระนิพพาน การที่ว่าจะเกิดพร้อมกันทั้ง ๘ เป็นไปได้ยากมาก

    ท่านอาจารย์ ยากเพราะว่าต้องเป็นโลกุตตรจิตเท่านั้น จึงจะพร้อมทั้ง ๘ ถ้าไม่ถึงโลกุตตระก็ไม่พร้อมทั้ง ๘

    ผู้ฟัง บางคนเท่าที่ฟังดูเมื่อกี้ ก็สืบเนื่องจากที่คุณเด่นพงศ์ ท่านก็บอกว่า เพื่อที่จะให้จิตสงบ ท่านก็คิดว่าจะหลีกเร้นไปสู่เรือนว่าง อะไรทำนองนี้ ซึ่งตรงนี้ ผมก็เห็นว่า เท่ากับว่าท่านก็เจริญมรรคแล้ว ก็คือท่านก็ตรึกที่ออกไปจากกาม ก็เลยคิดว่า มรรคองค์นี้ก็สามารถที่จะเจริญให้มีขึ้นได้ อันนี้ไม่ทราบผมเข้าใจผิดหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ต้องรู้ว่าขณะนั้นต้องเป็นสติปัฏฐาน ไม่ใช่วิรตีเจตสิก โดยที่ไม่ใช่เป็นไปในสติปัฏฐาน

    ผู้ฟัง แค่คิดอย่างเดียว

    ท่านอาจารย์ คิดอย่างไร

    ผู้ฟัง คิดว่าจะออกจากกาม คือคิดว่ากามนี้เป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นของที่หยาบ ไม่ดี ตรึกว่าอันนี้เป็นของไม่ดี

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นเป็นสติสัมปชัญญะหรือเปล่า นี่ต้องทราบ มิฉะนั้นก็อบรมเจริญไม่ได้

    ผู้ฟัง ถ้าเกิดว่า เราคิดออกจากกาม ก็คงต้องมีสติประกอบร่วมด้วย

    ท่านอาจารย์ ขั้นไหน

    ผู้ฟัง ก็เป็นขั้นคิด

    ท่านอาจารย์ ขั้นคิดก็ไม่ใช่ขั้นสติปัฏฐาน

    ผู้ฟัง แต่คิดนี้ก็เป็นกุศล ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เป็น แต่ไม่ใช่สติปัฏฐาน

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นสติปัฏฐาน ต้องประกอบด้วยปัญญาอย่างเดียว

    ท่านอาจารย์ ต้องมีลักษณะของปรมัตถธรรม สภาพธรรมที่มีลักษณะเกิด และดับเป็นอารมณ์ มิฉะนั้นเพียงคิด ทุกคนก็รู้แจ้งอริยสัจธรรม

    ผู้ฟัง อย่างสติปัฏฐานที่เรียนในวันอาทิตย์ ก็สืบเนื่องมา ดูแล้วก็เป็นการคิดในเบื้องต้นทั้งนั้นเลย

    ท่านอาจารย์ ทุกคนห้ามความคิดไม่ได้เลย แต่จะต้องมีปัญญาที่สูงกว่าระดับขั้นคิด

    ผู้ฟัง ในเรื่องสติปัฏฐาน กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน นี้ก็คือ สติสัมปชัญญะระลึกรู้กาย สำหรับจิตตานุปัสสนา เวทนา อะไรที่เหลือ จะรู้สึกว่าจะปนกันไปหมดเลย ใช่ไหม เมื่อมีเวทนา เรารู้สึกว่า จิตเป็นอย่างไร สภาพที่สบายใจ ไม่สบายใจ ทั้งจิต ทั้งเวทนา ทั้งอะไร มันก็จะปนอยู่ไปพร้อมๆ กัน ไม่สามารถจะแยกกันได้ แล้วไม่จำเป็นต้องแยกด้วย ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าปนก็เป็นเรา ใช่ไหม ไม่ได้เป็นธรรม

    ผู้ฟัง เราคงไม่แยก จะรู้สึกไปเลย หมายความว่า ระลึกถึงจิตเลยก็คงได้ จะได้ไปหมด ยกเว้นกายานุปัสสนา เท่านั้นเอง เพราะทั้งจิต ทั้งเวทนา ทั้งธรรมา ก็จะรวมอยู่ในนั้น ไม่สามารถจะแยกได้

    ท่านอาจารย์ รวมอยู่ในไหน

    ผู้ฟัง รวมอยู่ในความรู้สึก ถ้าระลึกถึงจิต

    ท่านอาจารย์ ถ้าระลึกลักษณะของจิต จะรู้ว่าจิตต่างกับสภาพธรรมอื่น

    ผู้ฟัง เช่น รู้สึกไม่สบายใจ

    ท่านอาจารย์ ลักษณะที่ไม่สบายใจ มี ถ้าระลึกลักษณะที่กำลังเป็นสภาพที่ไม่สบายใจ ก็รู้ว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งต่างกับสภาพธรรมอื่น

    ผู้ฟัง แต่ก็เป็นทุกขเวทนาทางใจ

    ท่านอาจารย์ ต้องเอ่ยชื่อไหม จะเรียกภาษาอะไรดี

    ผู้ฟัง ถ้าระลึกรู้จิตขณะนั้นว่า เป็นความไม่สบายใจ ขุ่นใจ หรืออะไรทำนองนี้ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าคิดจะเรียก ใครกำลังคิด

    ผู้ฟัง ก็ตัวเองคิด

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่การรู้ลักษณะต่างๆ ด้วยสติสัมปชัญญะ ซึ่งจะทำให้เห็นความเป็นธรรมแต่ละอย่างในขณะนั้น

    ผู้ฟัง แต่ถ้าไม่คิดจะเรียกชื่อ ระลึกรู้เฉยๆ ระลึกรู้จิตขณะนั้น ขณะนั้นมันจะแยกประเภท คือไม่เหมือนกัน ใช่ไหม จะกราบเรียนถามแค่นี้ว่า มันต่างกัน

    ท่านอาจารย์ จิต ไม่ว่าจะเป็นจิตประเภทไหนก็เป็นสภาพที่รู้แจ้งลักษณะของอารมณ์

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ก็ลักษณะของเวทนา หรือธรรมา ก็จะไม่มาปะปนกับจิต ขณะนั้น

    ท่านอาจารย์ ถ้าใช้คำว่าสติสัมปชัญญะระลึกลักษณะของสภาพธรรม ต้องทีละลักษณะ

    ผู้ฟัง ทีละลักษณะ

    ผู้ฟัง เรื่องความเลื่อมใส เพราะเหตุว่าตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน เราจะไม่ทราบ อาจจะไม่ทราบความต่างกันของความเลื่อมใสที่เป็นกุศล แล้วก็อกุศล คือจะทราบได้อย่างไรว่า ความเลื่อมใสที่มีต่อพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นกุศล หรือว่าเป็นอกุศล อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก็น่าคิด คือ ถ้าพูดถึงชื่อ แยกออกได้ แต่ว่าจริงๆ แล้วเราเรียนเรื่องโลภะมากมาย เรียนเรื่องทิฏฐิ ความเห็นผิด เรียนเรื่องมานะ ความสำคัญตน เรียนเรื่องลักษณะของเจตสิกต่างๆ แม้แต่โทสะ เวลาเกิดขุ่นใจ มีใครบ้างที่ไม่รู้ลักษณะของโทสะ แต่เป็นเรา ลักษณะของโทสะไม่เปลี่ยน แต่ความเข้าใจในสภาพธรรมขณะนั้นเกิดขึ้น มี หรือไม่มี ถ้าไม่มีก็เป็นเรา แต่ถ้ามีก็รู้ว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง

    เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นไม่ใช่เราเอาชื่อไปใส่ว่า ขณะนี้เรากำลังรู้สภาพธรรมชื่ออะไร เลื่อมใสจะเป็นกุศล หรืออกุศล หรือเป็นเลื่อมใสหรือเปล่า แต่ว่าความตรง คือขณะที่สติสัมปชัญญะเกิด จะมีลักษณะของสภาพธรรมขณะนั้นจริงๆ ที่สติระลึก แล้วก็สามารถที่จะเข้าใจว่า ลักษณะนั้นเป็นธรรมชนิดหนึ่งก่อน ไม่มีการใส่ชื่อ ถ้าเป็นการนึกถึงชื่อก็คือเป็นเราอีก แต่มีการที่จะศึกษาลักษณะของสภาพธรรมว่า เป็นธรรมที่มีลักษณะอย่างนั้น เราสร้างขึ้นมาไม่ได้ เราไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ เพราะว่าเกิดแล้ว เกิดแล้วก็ต้องหมดไปด้วย เราก็จะไม่ให้หมดไปก็ไม่ได้ คือเข้าใจ ในความเป็นนามธรรม และรูปธรรมก่อน เพราะว่าสภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก ลักษณะที่กล่าวว่า เลื่อมใส ที่ใช้คำว่าเลื่อมใส แล้วก็ลักษณะที่สงสัยไม่รู้ว่าเลื่อมใสเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล ซึ่งตามความจริง ถ้าเป็นศรัทธาเจตสิก เป็นความผ่องใสของจิต ซึ่งจะเป็นอกุศลไม่ได้

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นก็หมายถึง ถ้าเกิดไม่ใช่สติปัฏฐาน ก็จะไม่รู้ จริงๆ ว่า ขณะนั้น เป็นศรัทธา หรือว่าเป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร เพราะว่าสภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก ขณะใดที่สติสัมปชัญญะไม่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด สภาพธรรมนั้นเกิดแล้วดับ เช่น ในขณะนี้ที่แข็ง กำลังปรากฏ ถ้าสติสัมปชัญญะไม่รู้ตรงลักษณะแข็ง ก็ผ่านไปเป็นเรื่องราวต่างๆ เป็นเก้าอี้ เป็นแก้วน้ำ เป็นโต๊ะ เป็นแว่นตา เป็นปากกา เป็นหลายอย่าง ลักษณะที่แข็งนั้น ไม่เคยที่จะรู้ว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แล้ววันนี้ก็มีการกระทบแข็ง เมื่อกี้นี้ก็มีการรับประทานอาหาร จับช้อนจับส้อม กระดาษเช็ดมืออะไรต่างๆ ไม่มีการรู้ลักษณะที่ปรากฏลักษณะที่แข็งที่กระทบว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งเลย

    เพราะฉะนั้น เวลาที่ฟังก็รู้ว่า เป็นธรรม แต่เวลาที่ลักษณะนั้นปรากฏ ไม่ได้เข้าใจในความเป็นธรรมของสภาพธรรมนั้น ด้วยเหตุนั้นจึงต้องเริ่มจากการเป็นผู้เข้าใจถูกว่า ขณะไหนหลงลืมสติ และขณะไหนสติระลึกลักษณะของสภาพที่มีจริงๆ เป็นปกติ แต่ไม่เคยระลึก สภาพธรรมตามปกติขณะนี้ทุกอย่างที่สติสัมปชัญญะจะเกิดระลึกได้ แล้วก็เข้าใจถูกในขณะนั้น โดยที่ไม่ต้องนึกถึงชื่อ

    ผู้ฟัง เรียนถามอีกคำถามหนึ่ง เมื่อเช้าท่านอาจารย์ได้พูดถึงว่า การที่มีความเห็นตรงตามที่ทรงแสดงเท่านั้น แล้วก็จบ แล้วก็ไม่พอ จะมีความหมายว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เห็นว่าเป็นธรรมไง เห็นตอนนี้ที่ฟัง แต่ไม่ได้เห็นลักษณะที่กำลังปรากฏทางตา ต่างกับลักษณะที่ปรากฏทางหู ลักษณะนั้นสั้นมาก แล้วก็ระลึกบ่อยๆ ถึงจะรู้ว่าลักษณะนั้นเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น จะห้ามไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ หรือจะพยายามให้เกิดก็ไม่ได้ แล้วแต่ว่ามีปัจจัยที่สติสัมปชัญญะจะเกิดก็เกิด ขณะนั้นก็รู้ว่า มีลักษณะของสภาพธรรมเป็นอารมณ์ แล้วก็จริงๆ ทุกอย่างจะตรงตามที่ทรงแสดงทุกประการ เมื่อปัญญาเจริญขึ้น การเกิดดับก็เป็นความจริง ขณะใดที่สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดปรากฏ ขั้นฟังเข้าใจถูก สิ่งนั้นต้องเกิด ขณะนี้ที่เห็น จิตเห็นต้องเกิด ถ้าจิตเห็นไม่เกิด กำลังนอนหลับสนิท สิ่งนี้จะปรากฏไม่ได้ เพราะฉะนั้น สภาพธรรมใดที่ปรากฏ อย่างแข็ง ถ้าแข็งไม่เกิดขึ้น จะมีลักษณะแข็งปรากฏได้อย่างไร ใครจะไปหาแข็งพบ ใครจะไปรู้แข็งได้ แต่เพราะเหตุว่าลักษณะที่แข็งเกิดขึ้น แล้วต้องมีการปรากฏเมื่อกระทบกับกายปสาท เป็นปกติ แต่เวลาที่เป็นสติสัมปชัญญะ คือ ระลึกตรงลักษณะแข็ง แล้วก็เริ่มมีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูกว่า ขณะนั้นมีแต่ลักษณะนั้นเท่านั้น อย่างอื่นไม่มี เพื่อที่จะคลายอัตตสัญญา ความทรงจำในสิ่งที่เกิดแล้วดับ แล้วไม่ปรากฏ แต่ก็ยังคงยึดถือว่า ยังมีอยู่ เช่น ร่างกายทั้งตัวตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ความจริงเป็นรูปซึ่งทยอยกันเกิดขึ้น และทยอยกันดับไป รูปใดที่ไม่ปรากฏ รูปนั้นเกิดแล้วดับแล้ว เพราะมีเหตุปัจจัยที่ให้เกิดก็เกิด แล้วก็ดับไป แต่ว่าไม่ได้ปรากฏ แต่รูปใดก็ตามที่ปรากฏ กว่าจะรู้ว่ารูปนั้นเกิดแล้วดับ ก็ต้องเป็นการอบรมที่เริ่มตั้งแต่เข้าใจถูกว่า ขณะนี้ไม่ใช่การประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรม เพียงแต่ว่ามีปัจจัยให้สภาพธรรมเกิดปรากฏ แล้วก็ไม่รู้ในความเกิดขึ้น และในความดับไปของสภาพธรรมนั้น

    ด้วยเหตุนั้นจึงต้องอาศัยการฟังให้เข้าใจธรรม คือ สิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน แล้วก็ค่อยๆ รู้ว่า ขั้นฟังยังไม่ใช่ขั้นที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏกับสติสัมปชัญญะ ต่อเมื่อใดสติสัมปชัญญะเกิด ลักษณะของสภาพธรรมขณะนั้น เหมือนเดิม แต่สติระลึก แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจว่าขณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง จนกระทั่งทุกอย่างเป็นธรรม

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ช่วยขยายความตรงที่ว่า สภาพธรรมถ้าไม่เกิดขึ้นก็ไม่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ จริงไหม แค่นี้ อย่างเสียง ถ้าไม่เกิด เสียงจะปรากฏได้ไหม นั่นคือเสียง กลิ่น ถ้าไม่เกิด กลิ่นนั้นจะปรากฏได้ไหม ทุกอย่างแม้แต่สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาก็ ต้องเกิด ถ้าไม่เกิดก็ไม่ปรากฏ ถ้าไม่เกิดแล้ว อะไรจะมาปรากฏได้โดยไม่เกิด แต่สิ่งที่ปรากฏ เพราะเกิดขึ้น จึงได้ปรากฏ ให้รู้ว่าลักษณะนั้นเป็นอย่างนั้น เช่นโกรธ ถ้าโกรธไม่เกิด ลักษณะของโกรธอยู่ที่ไหน เสียง ถ้าไม่เกิด ลักษณะของเสียงอยู่ที่ไหน แต่เมื่อเสียงปรากฏ ก็ลืมเข้าใจความจริงว่า เสียงเกิดจึงปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ปัญญาจริงๆ ที่เป็นการรู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรม สามารถจะเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง ต้องประจักษ์การเกิดดับซึ่งเป็นทุกขอริยสัจจะ จึงสามารถที่จะรู้แจ้งลักษณะของนิโรธอริยสัจจะ คือ นิพพานได้ ถ้ายังไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ก็ยังคงมีเรา แล้วก็ยึดถือทุกสิ่งทุกอย่างว่า เป็นเรา ไม่เห็นว่า เป็นธรรม

    ผู้ฟัง เมื่อกี้กล่าวถึงโลภะเป็นนายช่างผู้ก่อสร้าง ทีนี้อยากจะขอความหมายว่า นายช่างผู้ก่อสร้างคืออะไร แล้วถ้าเราไม่ต้องการนายช่างผู้ก่อสร้าง จะทำอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เวลานี้ มีความพอใจในอะไรบ้าง ตราบใดที่ยังไม่หมดความพอใจในสิ่งใด ก็ยังต้องมีสิ่งนั้นอยู่ พอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในขันธ์ ในทุกอย่าง เมื่อยังมีความพอใจอยู่ ก็เป็นเหตุที่จะให้เกิดสิ่งนั้นๆ

    ผู้ฟัง ถ้าว่าเราไม่ต้องการช่างก่อสร้าง ทำอย่างไร ถึงจะให้หมดไปได้

    ท่านอาจารย์ ปัญญาอย่างเดียว

    ผู้ฟัง เรื่องนี้รู้สึกว่าจะแยกกันยาก ระหว่างการเกิดสติปัฏฐานกับการคิดนึก คือตัวเองไม่เคยเกิดเหมือนกัน ก็เลย ยังแยกไม่ออก ก็เลยมีปัญหาสงสัย คือจะทราบได้อย่างไรว่า สติปัฏฐานเกิดเมื่อไร หรือว่าเป็นเรื่องที่เราคิดนึกเอาเองว่า สติเกิด เราถึงเริ่มที่จะสงสัยมาตลอด

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นเรื่องที่จะต้องค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพราะเหตุว่าธรรมไม่ใช่สิ่งที่เราได้ฟังเพียงครั้งเดียว แล้วเราก็สามารถที่จะเข้าใจได้ โดยเฉพาะสำหรับพระสูตรนี้ ก็จะเห็นความต่างกันของบุคคล ๒ บุคคล คือ บุคคลหนึ่ง ชนพวกใดหลงลืม หรือว่าลืมเลือน ธรรมที่ได้ฟัง มีใครบ้างไหม ที่จำได้หมด พระสูตรที่กล่าวถึง ที่ได้อ่านไปแล้วเมื่อกี้นี้ ไม่ยาว แต่ว่ามีใครจำได้หมดไหม หรือว่าแม้แต่จะเพียงคิดถึงประโยคหนึ่งประโยคใด ด้วยความถูกต้องทั้งหมด ตามที่ได้ยินได้ฟัง ก็เป็นสิ่งที่ยาก

    เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า เรื่องของธรรมเป็นเรื่องที่กว่าจะถึง การที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ว่า เป็นธรรม ก็ต้องอาศัยการฟัง จนกระทั่งเป็นการไตร่ตรอง พิจารณา รอบคอบ ถี่ถ้วน แล้วก็เป็นปัญญาของตนเอง เมื่อไรที่เป็นปัญญาของตนเองก็ จะไม่ลืมสิ่งที่ได้ไตร่ตรองแล้ว พิจารณาแล้ว แต่แม้อย่างนั้นก็ยังมีอีกระดับหนึ่งคือว่าแม้จะได้ยินได้ฟังว่า ขณะนี้เป็นธรรม จะได้ยินบ่อย สำหรับผู้ที่แสวงหาธรรม ก็ไม่รู้ว่า จะหาธรรมที่ไหน อ่านหนังสือธรรมที่บุคคลอื่นเขียนก็แล้ว หรือว่าอ่านพระไตรปิฎกด้วยตัวเองก็แล้ว แต่ขณะใดที่ไม่เข้าใจว่า ขณะนี้เอง สิ่งใดๆ ก็ตามที่มีจริงในชีวิตประจำวัน เช่น ขณะที่กำลังเห็น เป็นธรรม ถ้ายังไม่เข้าใจอย่างนี้ การฟังธรรมทั้งหมดก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร เพราะว่าหาธรรมไม่เจอ คิดว่าธรรมอยู่ในหนังสือ แต่ถ้ามีการฟัง แล้วก็รู้ว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมี ทรงตรัสรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวันทุกขณะ โดยที่คนอื่นไม่สามารถที่แม้จะเดา หรือว่าคาดคะเน หรือว่าคิดเองได้ เพราะว่าไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    เพราะฉะนั้น ถ้าฟังธรรมแล้วก็เข้าใจว่า ธรรมก็คือสิ่งที่กำลังปรากฏ ตามปกติในขณะนี้เอง ทางตากำลังเห็น มีจริง เป็นธรรม นี่เราจะหลงลืมไหม ต่อไปเราอาจจะลืมคิดว่า ทางตาในขณะนี้เป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงๆ แต่ว่าปัญญาของเราเพียงเท่าที่ได้ฟัง แค่นี้ ไม่สามารถที่จะแทงตลอดถึงลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของใคร เป็นธรรม

    เพราะฉะนั้น เมื่อได้ยินคำว่า ธรรม ต้องเข้าถึงอรรถ หรือความหมายของธรรมว่า เป็นสิ่งที่มีจริง แต่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ มีจริงเมื่อไร ขณะที่กำลังปรากฏ ถ้าสิ่งนั้นไม่เกิดขึ้นจะปรากฏได้ไหม ที่เราจะค่อยๆ ไตร่ตรองถึงสิ่งที่มีเป็นปกติ แล้วก็จะเข้าถึง อรรถว่า พระธรรมที่ทรงแสดง ทรงแสดงให้ผู้ฟัง ไตร่ตรองเอง พิจารณาตามความเป็นจริง จนกระทั่งเป็นปัญญาของตนเองตามลำดับขั้น ไม่ใช่เพียงแต่เชื่อ หรืออ่าน แล้วคิดว่าต้องเป็นตามตัวหนังสือ แต่ว่าจะต้องไตร่ตรองรอบคอบว่า สภาพธรรมในขณะนี้เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า แล้วก็ข้อความทั้งหมดที่ทรงแสดงไว้ เมื่อเป็นความจริงต้องสอดคล้องกันทั้งหมด จะค้านกันไม่ได้ แต่ว่าผู้ที่จะศึกษาจนกระทั่งสามารถที่จะเข้าใจธรรมที่ทรงแสดงไว้ ๔๕ พรรษา ต้องทราบว่า เป็นสิ่งซึ่งเป็นวิสัยของใคร เพราะว่านอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ยังมีพระอรหันตสาวกที่สืบทอดคำสอนสืบๆ ต่อมา จนถึงกาลสมัยซึ่งถ้าไม่ได้ยินได้ฟัง ไม่ได้ศึกษาด้วยความศรัทธา ด้วยการเห็นประโยชน์จริงๆ เราก็จะเผินมาก แล้วก็คิดว่าเราได้อ่านธรรมแล้ว เราได้ศึกษาธรรมแล้ว หรือว่า เข้าใจว่าเราได้ปฏิบัติธรรมแล้ว แต่ทั้งหมด ประโยชน์สูงสุดที่ได้รับจากพระธรรมที่ทรงแสดง ๔๕ พรรษาด้วยพระมหากรุณาก็คือ ให้เราไตร่ตรองสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง จนเป็นปัญญาของเราเอง แต่ประโยชน์สูงสุดที่จะมีได้จากการศึกษาธรรมก็คือ เป็นความเห็นถูก ความเข้าใจถูกที่เพิ่มขึ้น ยิ่งศึกษา ยิ่งค่อยๆ เข้าใจธรรมถูกต้องขึ้น เพิ่มขึ้นว่า ขณะนี้เป็นธรรม แล้วก็ไม่ลืม ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ทางตาที่กำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ ทั้ง ๒ อย่างนี้ จริง เป็นธรรม แต่ว่าเป็นธรรมที่ต่างลักษณะกัน คือธรรมอย่างหนึ่งไม่สามารถที่จะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น และธรรมอีกอย่างหนึ่งมีจริงๆ กำลังเห็น กำลังได้ยิน นี่ก็เป็นธรรม

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมไม่ใช่ใจร้อน หรือว่ารีบร้อนที่จะเข้าใจให้หมดทุกอย่าง แต่ว่าในขณะที่ได้ฟัง มีธรรมที่กำลังปรากฏ ให้ค่อยๆ พิจารณา ให้ค่อยๆ เข้าใจถูก จนกระทั่งเป็นความเข้าใจของเรา เมื่อเข้าใจส่วนใดจริงๆ ก็จะไม่ลืมในส่วนนั้น แต่จะเห็นได้ว่า ธรรมมากมายจริงๆ ทั้งๆ ที่ธรรมที่ปรากฏในชีวิตประจำวันก็มีเพียงแค่ทางตา เห็น แต่เรื่องราวที่ติดตามสิ่งที่เห็นมากมายเหลือเกิน โดยที่ไม่รู้ว่า ขณะใดที่เห็น ขณะนั้นไม่ใช่คิดนึก

    นี่คือความละเอียดที่จะต้องเห็นว่าเมื่อเป็นอนัตตาแล้ว ทุกอย่างทั้งหมดในชีวิต ตั้งแต่เกิดจนตายทุกชาติ เป็นธรรมซึ่งเป็นอนัตตา ความคิดก็เป็นอนัตตา คือเป็นชั่วขณะ ที่เมื่อเห็นแล้วก็คิดถึงสิ่งที่เห็น หรือขณะที่กำลังได้ยิน ได้ยินเสียงแล้วก็คิดถึงเรื่องราว ของคำที่ได้ยิน ตลอดไปจนกระทั่งถึงทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แม้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่ปรากฏก็ยังคิด

    นี่คือธรรมทั้งหมดเลย เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเข้าใจธรรมอย่างนี้ถูกต้อง วันนี้ที่ได้ยินได้ฟัง แล้วต่อไปก็ได้ยินอีก ได้ฟังอีกบ่อยๆ ก็จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น ก็สามารถที่จะรู้ได้ว่า แต่ละครั้งที่ได้ยินได้ฟัง เป็นเรื่องธรรมหรือเปล่า เป็นธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นเหตุเป็นผล เป็นความถูกต้องของธรรมนั้นๆ ไหม ก็จะทำให้มีความเข้าใจธรรมขึ้น แต่ก็ยังลืมเลือน ถ้าไม่ใช่ผู้ที่แทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรม

    จะเห็นความต่างกันของผู้ที่ตั้งแต่เริ่มฟัง จนกระทั่งผู้ที่ได้อบรมเจริญปัญญาขึ้น จนกระทั่งถึงผู้ที่ไม่ลืมเลือน เพราะเหตุว่าได้ประจักษ์แจ้งแทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรม ตรงตามที่ได้ยินได้ฟังทุกอย่าง นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งเมื่อเข้าใจแล้ว แล้วก็ฟังต่อไปเรื่อยๆ ก็จะถึงขณะที่จะทำให้เห็นความต่างของขณะที่หลงลืมกับขณะที่ไม่หลงลืม ซึ่งก็ได้แก่สติสัมปชัญญะ ที่กำลังรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่สำหรับท่านผู้ฟังใหม่ๆ คงจะยังไม่ถึงขณะนั้น เพียงแต่ว่าให้เริ่มรู้ว่า การศึกษาธรรม ประโยชน์สูงสุดที่จะติดตามไปได้ คือปัญญา

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 98
    23 มี.ค. 2567