ปกิณณกธรรม ตอนที่ 330


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๓๐

    สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า

    พ.ศ. ๒๕๔๗


    ผู้ฟัง ในชีวิตประจำวัน มันมีเกิดขึ้นกับเรา แล้วเราเหมือนมีสิ่งอะไรที่เฝ้ารู้อยู่ภายในแล้วเหมือนว่าเฝ้าดูอยู่ตลอดเวลา

    อ.อรรณพ เป็นความคิดนึกตลอดเลย ใช้คำว่าเฝ้าก็ดี หรือใช้คำว่าดูก็ดี เป็นคิดทั้งนั้นเลย

    ผู้ฟัง ถ้าเราจะไปทำ ก็กลายเป็นโลภะ ใช่ไหม

    อ.อรรณพ ไม่ได้อีก ก็ทำไม่ได้ คือ ต้องฟัง แล้วก็ให้รู้ตามความเป็นจริงว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นธรรม จะเป็นธรรมชนิดหนึ่ง จะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม ก็รู้ให้ตรงขึ้น ตรงขึ้นว่า เป็นลักษณะของรูปธรรมหรือนามธรรม ต้องฟังอีกมากๆ

    ผู้ฟัง สิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเรา ไม่ว่าเราจะพอใจหรือไม่พอใจ มันก็เป็นธรรม เป็นเรื่องปกติ ไม่ต้องไปคิดถึง หรืออย่างไร

    อ.อรรณพ ไม่ต้องไปคิดถึงก็ไม่ได้ คิดก็เป็นธรรม คิดก็คิด พระพุทธเจ้าให้เรารู้ตามความเป็นจริงว่า ขณะนี้ธรรมใดกำลังปรากฏ คิดนึกก็เป็นธรรม เป็นเจตสิก เป็นวิตกเจตสิก ไม่ใช่เราอีกเหมือนกัน ได้เหตุได้ปัจจัย วิตกเจตสิกตัวนี้ก็เกิด ก็คิด ก็ระลึกรู้ ตามความเป็นจริงว่า วิตก หรือคิดนึกกำลังปรากฏอยู่ ระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏที่เป็นปัจจุบัน ขณะนั้นรู้ตรงตามความเป็นจริง ปัญญาเกิดว่า ไม่ใช่เรา เป็นแต่จิต หรือเจตสิก หรือรูป ๓ อย่างนี้ เป็นธรรม ๓ อย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่นเลย ต้องฟังอีกมากๆ

    ท่านอาจารย์ ขอสนทนาเพิ่มเติม ไม่เข้าใจว่า ทุกอย่างไม่ใช่เรา ใช่ไหม หรือเข้าใจแล้วว่า ไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง เข้าใจตามที่ท่านอาจารย์พูดว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นไม่ใช่เรา แต่ก็ยังเป็นตัวเราอยู่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ยังมีความทรงจำ ความคิดว่า เป็นเรา แต่ว่าเราจริงๆ อะไร ลองบอกมา เดี๋ยวนี้ ตรงนี้ อะไรเป็นเรา

    ผู้ฟัง บอกไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ อยู่ที่นี่ ตรงนี้ อะไรเป็นเรา ถ้ายังคิดว่า มีความเป็นเราอยู่ ก็พอที่จะบอกได้ว่า ขณะนี้อะไรเป็นเรา เดี๋ยวนี้เอง เดี๋ยวจะหายไปหมดเลย ไม่มีเราอีกแล้ว เมื่อกี้ก็ยังบอกว่ามีเราอยู่ เพราะฉะนั้น ขณะนี้เดี๋ยวนี้อะไรเป็นเรา

    ผู้ฟัง ยังเป็นตัวเราที่ยืนอยู่ตรงนี้

    ท่านอาจารย์ หมายความว่ารูปร่างกาย รูปเกิดขึ้นมาได้อย่างไร มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดต้องหมายความว่า มีสมุฏฐาน มีที่ก่อตั้งให้เกิดรูปนั้นๆ หรือถ้าเป็นนามธรรมก็ต้องมีเหตุมีปัจจัยให้นามธรรมเฉพาะแต่ละอย่างๆ เกิดขึ้น เช่น เราคิดว่าเราเห็น ความจริงธาตุเห็น สภาพเห็นเป็นนามธรรม แต่ว่าต้องอาศัยจักขุปสาท คือ ตา ถ้าไม่มีจักขุปสาท ไม่สามารถจะเห็นได้เลยในขณะนี้ เพราะฉะนั้น เห็นก็ไม่ใช่เราแล้ว ได้ยินก็ไม่ใช่เรา ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก ทั้งหมด ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าเป็นรูปธรรม ก็ไม่ใช่เรา มีสมุฏฐานที่ก่อตั้งให้รูปนั้นๆ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอยู่เรื่อยๆ

    ถ้าเข้าใจอย่างนี้จริงๆ ก็จะน้อมมาไม่ว่าสภาพธรรมใดเกิดขึ้นก็ปรากฏ ก็รู้ว่า นั่นเป็นลักษณะของสภาพธรรม แล้วลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ก็ไม่มีเราที่จะไปบันดาล หรือว่าจะไปกั้นไม่ให้เกิดในเมื่อมีเหตุปัจจัยก็ต้องเกิด ความโศกเศร้าเสียใจต้องมี ทุกคน ไม่มีใครชอบเลย แต่เมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิด ใครไปทำให้เกิด ไม่อยากให้เกิดก็เกิด

    แสดงให้เห็นว่า ถ้าเราพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมไม่ว่าขณะใด จะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นธรรมแต่ละอย่าง แต่ถ้าขณะใดที่มีสภาพธรรมกำลังเกิด เช่นในขณะนี้ แต่ก็ไม่ได้พิจารณาลักษณะหนึ่งลักษณะใดเลย เพียงแต่ฟังรวมๆ ว่า ทุกอย่างไม่ใช่เรา เกิดขึ้นแล้วก็หมดไป มีลักษณะต่างๆ นี่คือฟังรวมๆ แต่ถ้าจะให้รู้ต้องรู้ทีละอย่าง ลักษณะทีละอย่างที่ปรากฏชัดเจนว่า ลักษณะนั้นต่างกับลักษณะอื่น แล้วก็จะเห็นความหลากหลายของธรรมในชีวิตประจำวัน ซึ่งแต่ก่อนความหลากหลายเป็นเราทั้งหมด แม้แต่ความคิด ก็คิดประหลาดๆ ก็มี ก็ไม่ใช่เรา ไม่อยากจะคิดอย่างนั้นก็คิด

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ถึงความคิดก็ยังยับยั้งไม่ได้ สิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ยิ่งยับยั้งไม่ได้เลย ความรู้สึกเจ็บปวด โรคภัยต่างๆ ไม่มีใครต้องการเลย แต่ก็จะต้องมีเหตุปัจจัยที่จะให้ความรู้สึกนั้นๆ เกิดขึ้น

    ถ้าเข้าใจเรื่องของสภาพธรรมจะเห็นความวิจิตรแต่ละข่าวที่ได้รับฟัง ไม่ว่าจะเป็นทางหนึ่งทางใดก็ตาม เรื่องราวของสภาพธรรมทั้งนั้น เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยต่างๆ ทั้งนั้น ยิ่งเห็นความเป็นปัจจัยว่า หลากหลายมาก ในแต่ละขณะไม่ซ้ำกันเลย แล้วไม่ใช่ของเก่ากลับมาเกิดด้วย สิ่งใดที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย สิ่งนั้นเกิดแล้วดับแล้วหมด จะไม่มีการกลับมาอีกเลย

    เพราะฉะนั้น ก็ต้องมีความเข้าใจที่มั่นคงว่า เป็นสภาพธรรม ถ้าศึกษาธรรม ก็ต้องเข้าใจความหมายของธรรม ต้องเข้าใจลักษณะของธรรม ต้องเข้าใจยิ่งขึ้นว่า เป็นธรรม ซึ่งไม่ใช่ของใคร ไม่มีใครเป็นเจ้าของ

    ผู้ฟัง การสืบต่อกับโลกมนุษย์กับบนสวรรค์ ก็ยังไม่หมดพระพุทธศาสนา แต่ถ้าบนสวรรค์ เวลานี้ไม่มี ผมเสียใจ มันมีแค่โลกมนุษย์ โอกาสสืบต่อ เราก็ควรเจริญมรรค เจริญผลให้เกิด เพื่ออนาคตข้างหน้าไม่ต้องทิ้งช่วงในการเจริญสติปัฏฐานที่ยาวนาน ผมเองผมก็ไม่ทราบว่า จุติแล้วจะไปไหน อาจจะไปลงอบายก็ได้ ถ้าสวรรค์ยังมีต่อ

    ท่านอาจารย์ คุณเริงชัยคงไม่ได้หมายความว่า ให้มีหนังสือจารึกเป็นพระไตรปิฎก และอรรถกถาบนสวรรค์ เพราะเหตุว่าถ้ามีเพียงแต่หนังสือที่จารึกไว้ แล้วก็ไม่มีใครที่สามารถจะเข้าใจถูก แม้ในโลกมนุษย์ จะมีประโยชน์ไหม

    ผู้ฟัง ถ้าไม่มีจารึกไว้ การที่จะอ่านออกเขียนได้มันยิ่งยาก แต่ถ้ามีจารึกไว้แล้ว

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องไปอ่านออกเขียนได้บนสวรรค์ ไม่ต้องไปเข้าโรงเรียนใหม่ เพราะเหตุว่าจริงๆ แล้ว ผู้ที่เข้าใจธรรมสามารถที่จะพูดคุยสนทนากล่าวแสดงธรรมได้ แล้วสวรรค์ทุกชั้นก็มีพระอริยบุคคล เพราะฉะนั้น ก็ไม่น่าห่วง แต่สำหรับการที่จะห่วงว่ามีตำรา มีสมุด มีหนังสือเหมือนอย่างในโลกนี้ไหม ถ้ามีแต่เพียงตำรับตำรา และหนังสือโดยที่ว่าไม่มีการศึกษาให้เข้าใจสภาพธรรมจากตำรับตำรานั้น ก็ไม่มีประโยชน์เท่ากับ ได้ฟัง หรือว่าได้ร่วมสนทนากับผู้ที่เข้าใจสภาพธรรม ซึ่งบนสวรรค์มีพระอริยบุคคล

    ผู้ฟัง ตอนที่อาจารย์พูดก็อุ่นใจว่า บนสวรรค์เวลานี้ก็ยังมีการสนทนาธรรมกันอยู่ แล้วก็อบรมเจริญสติปัฏฐาน วิปัสสนา

    ท่านอาจารย์ ธรรมไม่ใช่เรื่องที่เราเพียงแต่จะอ่าน แล้วก็จะเข้าใจได้ แม้แต่คำว่า ผัสสายตนะ ๖ ชื่อก็ยาก นอกจากว่าจะเดา สำหรับผู้ที่ได้เคยฟังธรรมมาบ้างแล้วก็ทราบว่า ผัสสะ เป็นการกระทบ แต่ไม่ใช่ของแข็งกระทบกับของแข็ง เช่น แก้วกระทบกับโต๊ะ แก้วจะไม่รู้สึกอะไรเลย โต๊ะก็ไม่รู้สึกอะไรเลย การที่จะเข้าใจธรรมก็คือเข้าใจสภาวธรรมที่มี ซึ่งถ้าได้ศึกษามาบ้างแล้ว ก็จะทราบได้ว่า สภาพธรรมที่มีก็ต่างกันเป็น ๒ อย่าง คือ รูปธรรม มีจริงๆ แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย เช่น แข็ง หรือหวานหรือเปรี้ยว ขณะนั้นจะไม่มี แข็งรู้สึกอะไรไม่ได้ เปรี้ยวหวานก็รู้สึกอะไรไม่ได้ เสียงก็รู้สึกอะไรไม่ได้ แต่มีสภาวธรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งไม่มีใครรู้จัก เพราะว่าตั้งแต่เกิดมา สภาวธรรมนั้นเกิด แล้วก็ดับ เปลี่ยนแปลงตั้งแต่เกิดจนตาย ก็ไม่เคยรู้ว่า สภาวธรรมนั้นต่างหากที่เห็น แต่ว่าทุกครั้งที่เห็นก็เป็นเราเห็น เวลาที่บางครั้งเห็นแล้วดีใจ เสียใจ ลักษณะของสภาวธรรมก็คือ สภาพที่ดีใจ เป็นสุข หรือว่าเสียใจ เป็นทุกข์ แต่ก็ไม่รู้เลยว่าเป็นสภาวธรรม เป็นเราทั้งหมด

    การที่จะให้เข้าใจแม้แต่คำซึ่งดูเหมือนไม่ยาก ผัสสายตนะ ๖ ก็ต้องรู้ว่าเป็นคำภาษาบาลี แต่ว่าหมายความถึง สภาวธรรมที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวันตั้งแต่เกิดจนตาย หนีไม่พ้นเลย ถ้าจะเข้าใจอย่างง่ายๆ ธรรมดา คือ การกระทบของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีใครเกิดมาแล้วไม่ได้กระทบอะไรทางตาบ้างไหม กระทบคำนี้อาจจะคิดว่า กระทบแบบของแข็งกระทบกัน แต่ไม่ใช่ กระทบ หมายความว่า เป็นสภาวะที่เป็นนามธรรมที่ขณะนี้ที่กำลังเห็น นี่เริ่มยากแล้ว ใช่ไหม แม้แต่คำว่าผัสสายตนะ คือขณะนี้ที่เห็น ตากับสิ่งที่ปรากฏ ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ ไม่สามารถที่จะเห็น แต่จิต สภาวะที่เป็นนามธรรมต่างหากที่เห็น เพราะว่ามีตากับสิ่งที่ปรากฏ

    การฟัง คือ สิ่งที่มีอยู่ที่ตัวเราทั้งหมด แต่ถ้าจะฟังให้เข้าใจก็คือว่า รู้ว่าขณะนี้เป็นอย่างนี้หรือเปล่า ขณะนี้กำลังเห็น เริ่มเข้าใจว่า ตาเห็นอะไรไม่ได้เลย แต่ตาสามารถกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วก็มีการเห็นเกิดขึ้น การเห็นก็คือสภาวธรรมที่มีจริง ซึ่งเคยเป็นเรา ตอนนี้ก็เข้าใจได้ว่าเป็นธรรมชนิดหนึ่ง

    ทางหูกำลังได้ยินเสียง ถ้าไม่มีเสียงกระทบหู จะไม่มีการได้ยินเลย แต่ในขณะที่กำลังได้ยิน เข้าใจให้ถูกต้องว่า หูไม่ได้ยินอะไร แล้วเสียงก็ไม่ได้ยินอะไร ทั้งหู และเสียงมีจริงๆ เป็นรูปธรรม แต่ขณะนี้เสียงปรากฏกับจิต หรือสภาวธรรมซึ่งสามารถได้ยินเสียงนั้นได้

    เพราะฉะนั้น ผัสสะก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ในขณะที่มีการเห็น ต้องมีผัสสะ เป็นสภาวธรรมที่กระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตา ขณะที่กำลังได้ยิน มีจิต แล้วก็มีสภาวธรรมที่กระทบกับเสียงที่ปรากฏทางหู

    การศึกษาต้องศึกษาตามลำดับด้วยความละเอียด ด้วยความไม่ประมาท ด้วยการเข้าใจสิ่งที่มีจริง ไม่ใช่โดยชื่อ แต่ว่าโดยลักษณะความเป็นจริงนั้นๆ แต่ว่าในขั้นที่จะอบรมเจริญปัญญา จนกระทั่งรู้จริงๆ ตามที่ได้ยินได้ฟังในขณะนี้ ก็ต้องเป็นจิรกาลภาวนา ต้องอบรมจนกระทั่งเป็นปัญญาของเราเอง ไม่ใช่เพียงตามคำพูด แล้วก็เห็นจริงเท่านั้นจบ ไม่ได้ เพราะยังไม่ได้ประจักษ์จริงๆ

    นี่ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่า พระสูตร พระวินัย พระอภิธรรมทั้งหมด ก็เป็นเรื่องของสภาวธรรมที่มีจริงทุกขณะที่สามารถจะค่อยๆ เข้าใจได้ แม้ว่าจะยาก เพราะว่าฟังดูแล้วเป็นอีกโลกหนึ่ง โลกของธรรม ซึ่งแต่ก่อนเป็นโลกของเรา ทั้งหมดตั้งแต่ตื่นจนหลับ เราทั้งนั้น แต่ว่าเวลาฟังธรรมก็จะได้เข้าใจว่า ที่เคยยึดถือว่า เป็นเรา ก็คือสภาพธรรมแต่ละอย่าง แม้แต่ผัสสะก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แต่ว่าจริงๆ แล้ว ได้ยินชื่อว่า ผัสสะกับอายตนะ แต่ให้ทราบว่า อายตนะ ที่ประชุม ที่ต่อ ที่ทำให้เกิดสภาพที่รู้ขึ้น เช่นในขณะนี้ มีการเห็นก็ต้องหมายความว่า มีตา หรือจักขุปสาท ถ้าไม่มีจักขุปสาทก็เห็นไม่ได้

    ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีเห็นขณะใด ตานั้นแหละเป็นอายตนะ คือต้องมี แล้วก็ผัสสะ เป็นนามธรรมที่กระทบกับสิ่งที่ปรากฏ จึงมีการเห็นเกิดขึ้น

    เวลานี้ทุกคนดูเหมือนว่าเห็นไม่มีอะไรเลย ขณะนี้คือเห็นธรรมดา แต่ผู้ที่ตรัสรู้ ทรงแสดงว่า เห็นมีอะไรบ้าง คือ ไม่ใช่มีสภาพเห็นอย่างเดียว แต่ต้องมีสภาพธรรมที่อาศัยกัน และกันเป็นปัจจัยทำให้จิตเห็นเกิดขึ้น ไม่ใช่มีแต่เพียงเห็นเท่านั้น ซึ่งเป็นนามธรรม แต่ต้องมีสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมอื่นๆ ที่เกิดด้วยกัน อาศัยกัน ทำให้การเห็นในขณะนี้เกิดขึ้น แล้วเห็นนี้ก็คือว่าจะต้องมีการประชุมของตากับสิ่งที่กำลังปรากฏ พร้อมทั้งผัสสะซึ่งเป็นสภาวธรรมที่กระทบกับอารมณ์ มิฉะนั้นจิตเห็นจะเกิดไม่ได้เลย

    จิตไม่ใช่ว่าจะสามารถรู้อะไรได้ โดยไม่อาศัยเหตุปัจจัย การที่จิตเป็นสภาพรู้ ต่างกับรูปธรรม เกิดขึ้นต้องมีเหตุปัจจัย เช่น ในขณะที่เรานอนหลับสนิท จิตไม่ได้อาศัยตา ขณะนั้นจึงไม่เห็น ไม่ได้อาศัยหูจึงไม่ได้ยิน ไม่ได้อาศัยจมูกจึงไม่ได้กลิ่น ไม่ได้อาศัยลิ้นรสก็ไม่ปรากฏ ไม่ได้อาศัยกายจึงไม่ได้รู้กระทบสัมผัสอะไร เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง และขณะนั้นก็ไม่ได้คิดนึกด้วย เพราะฉะนั้น ขณะนั้นก็เป็นจิตประเภทหนึ่งซึ่งก็ต้องมีผัสสะ ถ้ามีจิตแล้วต้องมีผัสสะ คือ สภาพธรรมที่เกิดกับจิต แล้วก็ต้องกระทบสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่ตลอดเวลา

    เพราะฉะนั้น ที่นี้มีทั้งผัสสะ ๖ ตา๑ หู๑ จมูก๑ ลิ้น๑ กาย๑ ใจ๑ พอเริ่มต้นก็เห็นว่ายากแล้ว ใช่ไหม คิดว่าจะฟังธรรมง่ายๆ อ่านแล้วก็เข้าใจเลย แต่จริงๆ แล้ว ถ้าอ่านพระสูตรด้วยตัวเอง ก็อาจจะมีความเข้าใจบ้างสำหรับผู้ที่พิจารณาไตร่ตรอง แต่ยังเป็นเรา จนกว่าจะเข้าใจถึงสภาวธรรมซึ่งเป็นปรมัตถธรรม เป็นอภิธรรม ถึงจะเข้าใจได้ว่า แท้ที่จริงแล้วเป็นสิ่งที่มีจริงทั้งหมด แล้วก็ไม่ใช่เราเลย เป็นอนัตตา หมายความว่าไม่เป็นของใคร ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

    การที่วันหนึ่งๆ มีเห็นบ้าง ได้ยินได้ ได้กลิ่นบ้าง ไม่ใช่ด้วยความอยากของเรา ไม่ใช่ว่าอยากเห็นก็จะเห็น คนตาบอดอยากเห็นก็ไม่เห็น คนที่หูหนวกไม่มีโสตปสาท อยากได้ยินก็ไม่ได้ยิน เพราะฉะนั้น ทั้งหมด ธรรมเป็นอนัตตา ซึ่งจะต้องมีเหตุปัจจัยเฉพาะอย่างที่สมควรจึงจะเกิดขึ้นได้ ก็จะเริ่มเข้าใจเรื่องของผัสสายตนะว่า เป็นเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งกระทบสิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา สิ่งที่กำลังปรากฏทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    ผู้ฟัง เราฟังธรรม แต่เราไม่เข้าใจสภาพธรรมจริงๆ เพราะว่าเราทำใจไม่ได้ แล้วก็โวยวายลั่นเลย ทำไมหนูมันมาตายได้อย่างไร ทั้งๆ ที่หนูมันก็ไม่ได้อยากมาตายตรงที่เราทำงาน แต่ว่าตรงนี้ คือเราไม่เข้าใจ เราไม่เข้าใจด้านนี้ แต่เราได้ฟัง แต่เราไม่เข้าใจสภาพธรรมตรงนี้ คือที่จริง เราอาจจะเฉยๆ ก็ได้ แต่ว่าโวยวาย แล้วก็ทั้งดูดทั้งเช็ดทุกอย่าง กลิ่นมันก็ไม่ไป เป็นห้องแอร์ มันก็อยู่อย่างนั้น ก็เลยมาเล่าให้ฟัง

    ท่านอาจารย์ เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องจริง เป็นสัจธรรมทั้งหมด ไม่ว่าจะโวยวาย หรือว่าจะเฉย หรือจะได้กลิ่นหนูที่ตายแล้ว หรือว่าจะได้กลิ่นอะไร ก็เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นสภาวธรรมทั้งหมด เพราะฉะนั้น เราฟังธรรม เพื่อเราจะเข้าใจทุกสิ่งที่มีจริง ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะของสิ่งที่น่าพอใจ หรือไม่น่าพอใจ

    อ.อรรณพ สำหรับหนูเมื่อกี้ที่มาเล่าเรื่องหนูให้ฟัง ถ้ารู้ตามความเป็นจริง มันก็มีสิ่งที่ปรากฏทางจมูก ทำให้หนูต้องได้รับ ในนี้บอกว่า ย่อมได้รับทุกข์หนักมาให้ เพราะว่าเราไม่รู้ตามความเป็นจริง เป็นจิตที่ยังไม่ได้ฝึก ยังไม่ได้อบรม ยังไม่ได้คุ้มครอง ยังไม่ได้รักษา เพราะฉะนั้น ก็ย่อมนำทุกข์หนักมาให้ แต่ถ้าค่อยๆ อบรมว่า มันเป็นเพียงธรรม ถ้าปรากฏทางจมูก ก็เป็นวิบาก ถ้าเป็นจิต ฆานวิญญาณก็เป็นวิบาก ซึ่งเราจะต้องได้รับ คนอื่นเขาต้องมากมาย เขาไม่เห็นมาได้กลิ่น เพราะเราอยู่ในห้องนั้น ก็ต้องค่อยๆ รู้ตามความเป็นจริงขึ้น คำว่า คุ้มครองก็ดี ฝึกฝนก็ดี รักษาสำรวมเหล่านี้ พวกนี้เป็นพยัญชนะที่จะเกื้อกูลให้เราเข้าใจสภาพธรรมมากขึ้นแต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เป็นตัวเป็นตนที่จะไปฝึก จะไปรักษา หรือจะไประวังอะไรทั้งนั้น เป็นเรื่องความเข้าใจธรรม ฟังธรรมจนเข้าใจ สติเกิด ปัญญารู้ ความเข้าใจนั้นจะปฏิบัติเป็นสังขารขันธ์ปฏิบัติหน้าที่ของเขา ค่อยๆ เป็นคุ้มครอง เป็นรักษา เป็นสำรวม เป็นฝึกฝน มันเป็นของมันอยู่แล้ว เราไม่ต้องไปเป็นตัวเป็นตนที่จะไปทำอย่างนั้น

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวว่า สติจะเกิดขณะไหน อย่างไรก็ได้ อย่างสมมติว่า ตอนนี้ ใกล้วันแม่ หรือวันนี้เป็นวันแม่แห่งชาติ ก็จะมีเพลงพระคุณของแม่ เปิดอยู่บ่อยๆ เช่น แม่นี้มีบุญคุณอันใหญ่หลวง ที่จริงฟังเพลงตรงนั้น มันกับเกิดระลึกถึงพระคุณของคุณแม่ได้ เพราะฉะนั้น อย่างที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า จะเกิดตรงไหนก็ได้แม้แต่ฟังเพลงอยู่ อย่างนี้ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรม ก็จะเห็นได้ว่าหนีไม่พ้นธรรม ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน แต่ว่าข้อสำคัญก็คือว่าเป็นผู้ที่ตรง ที่จะรู้ว่า ธรรมที่แต่ละคนมีเป็นธรรมฝ่ายดี หรือเป็นธรรมฝ่ายไม่ดี ซึ่งถ้าไม่ได้ศึกษาโดยละเอียด เราก็จะเข้าใจผิด คิดว่า เราคงจะมีธรรมฝ่ายไม่ดีเพียงเล็กน้อย ไม่เห็นจะมีอะไร ไม่ได้พูดปด ไม่ได้ลักทรัพย์ ไม่ได้ทำอะไรที่จะผิดศีล แต่แม้ว่ากายวาจาจะไม่ได้ไหวไปกระทำทุจริต แต่ใจขณะนั้นเป็นกุศล หรืออกุศล ถ้าศึกษาโดยละเอียดก็จะรู้จักตัวเองตามความเป็นจริง แล้วก็จะมีความเข้าใจ แล้วก็สามารถที่จะอบรมธรรมฝ่ายดีเพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง บางคนไม่ชอบฟังธรรม เขาคงคิดว่า ธรรมไม่มีค่า แล้วช่วยให้เขาร่ำรวยไม่ได้ เขาเลยหาเงินอย่างเดียว เลยไม่สนใจธรรม ไปทำสิ่งที่ไม่เป็นสาระเสียมากกว่า

    ท่านอาจารย์ เพราะไม่รู้จักธรรม ก็เลยไม่ต้องการธรรม แต่ถ้ารู้จักว่า ธรรมคืออะไร ไม่มีอะไรที่มีค่าสูงเท่าธรรมได้เลย แล้วโดยเฉพาะเป็นการตรัสรู้ และการทรงแสดงของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้คนซึ่งเหมือนกับคนตาบอดที่ไม่เห็นอะไรตามความเป็นจริงเลย สามารถที่จะค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่มีอยู่ ถูกต้องตามความเป็นจริง เพราะว่าจริงๆ แล้ว ทำไมเราเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แล้วเราชอบ หรือเราชัง เพราะความไม่รู้ว่า ขณะนั้นเป็นเพียงชั่วขณะที่ธรรมเกิดขึ้นมีลักษณะต่างๆ กันแล้วก็ดับไป เช่น กำลังเห็นในขณะนี้ เห็นไม่ใช่ความคิด นี่เราไม่เคยรู้เลย แต่ถ้ารู้ว่า เวลาที่เห็นแล้วชอบหรือชังมาจากการเห็น เราก็ยังรู้ว่า เราไม่สามารถที่จะบังคับบัญชาอะไรได้เลย แม้แต่คำว่า อนัตตา เพียงบอกว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล รับฟัง แต่ว่าเห็นครั้งใดก็เป็นเรา แล้วอย่างนี้จะไม่ให้หวั่นไหวหรือ เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เพราะเหตุว่าไม่ได้ฝึกฝน ไม่ได้มีความเข้าใจที่ถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรม

    เพราะฉะนั้น เป็นธรรมดาที่คนที่กราบไหว้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีความเลื่อมใสในพระองค์ แต่ไม่ศึกษาพระธรรม ก็เพียงแต่มีศรัทธาที่จะบูชาผู้ที่เข้าใจว่า เป็นผู้ที่สูงสุด ไม่มีผู้ใดเสมอเหมือนในทั้งพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณ แต่ผู้ที่กราบอาจจะไม่ได้ทราบถึงพระคุณของพระองค์ เพราะฉะนั้น ก็บูชาในฐานะที่ว่า เป็นผู้เลิศ และบางท่านก็อาจจะขอเลย พอกราบทีก็ขอ เหมือนกับว่าพระองค์สามารถที่จะบันดาลทุกสิ่งทุกอย่างให้ได้ แต่ถ้าศึกษาธรรมแล้ว สิ่งใดๆ ก็ตามที่ได้มาด้วยเหตุ ก็เป็นสิ่งที่หมดไป ไม่ยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นลาภ ไม่ว่าจะเป็นยศ ไม่ว่าจะเป็นสุข ไม่ว่าจะเป็นสรรเสริญ ไม่มีสิ่งใดที่เที่ยง หรือยั่งยืนเลย

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 98
    23 มี.ค. 2567