แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 847


    ครั้งที่ ๘๔๗

    สาระสำคัญ

    พิจารณาเห็นธรรมเป็นธรรม ๒ อย่างเนืองๆ โดยชอบ  ทวยตานุปัสสนาสูตร  สังฺ สฬา. อาสีวิสสูตร - อสรพิษ ๔ จำพวก


    ข้อความต่อไป

    ข้อ ๔๐๖

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าจะพึงมีผู้ถามว่า การพิจารณาเห็นธรรมเป็นธรรม ๒ อย่างเนืองๆ โดยชอบ จะพึงมีโดยปริยายอย่างอื่นบ้างไหม พึงตอบเขาว่า พึงมี

    นี่เป็นเรื่องการปฏิบัติธรรม ไม่ใช่ว่าบุคคลอื่นปฏิบัติ แต่ตัวท่านเองที่จะเข้าใจว่า การที่จะพิจารณาเห็นธรรมเป็นธรรม ๒ อย่างเนืองๆ ถ้ายังไม่ได้เริ่มพิจารณา ก็เริ่มที่จะพิจารณาธรรมทั้ง ๒ อย่างนี้เนืองๆ โดยชอบ

    ถ้าเขาถามว่า พึงมีอย่างไรเล่า พึงตอบเขาว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อิฏฐารมณ์ที่โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ที่หมู่สัตว์พร้อมทั้ง สมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์เล็งเห็นว่า เป็นสุข พระอริยะเจ้าทั้งหลายเห็นด้วยดีแล้ว ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงว่า นั่นเป็นทุกข์ นี้เป็นอนุปัสสนาข้อที่ ๑

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นอนุสสติ เคยเห็นว่าเป็นสุข ก็จะต้องรู้ว่านั่นไม่จริง นั่นเข้าใจผิด แต่ถ้าเห็นเป็นทุกข์ คือ พิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรม โดยไม่ใช่นึกว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้เป็นทุกข์ ไม่ใช่นึกอย่างนี้ แต่จะต้องประจักษ์ทุกข์ คือ ความเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เมื่อยังไม่ประจักษ์ ก็จะต้องเข้าใจ และเริ่มอบรมปัญญาที่จะให้เกิดขึ้นตามลำดับขั้นจนกว่าจะประจักษ์ได้ ไม่ใช่ว่าเมื่อไม่ประจักษ์ก็ทอดทิ้งการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ชัด นี้เป็นอนุปัสสนาข้อที่ ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นิพพานที่โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลกที่หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์เล็งเห็นว่า นี้เป็นทุกข์ พระอริยเจ้าทั้งหลายเห็นด้วยดีแล้ว ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงว่า นั่นเป็นสุข นี้เป็นอนุปัสสนาข้อที่ ๒

    ยังไม่อยากไปนิพพาน เพราะเวลานี้ยังไม่พร้อมที่จะดับการเกิดทั้งหมดไม่เกิดอีกเลย เพราะยังมีการพอใจในสิ่งที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น ที่ลิ้มรส ที่กระทบสัมผัส เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ใช่ปัญญาจริงๆ แม้จะเข้าใจว่าโลกนี้น่าเบื่อ ชีวิตนี้เป็นทุกข์ ทั้งลำบาก ทั้งน้อย ตั้งแต่เช้ามาก็มีเรื่องลำบากตั้งหลายเรื่องแล้ว เพียงเท่านี้ไม่สามารถที่จะดับภพชาติคือการเกิดได้ เพราะไม่ใช่การประจักษ์จริงๆ ในลักษณะของทุกข์ ของธรรมทั้งหลายที่เกิดดับ

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า พระอริยเจ้าทั้งหลายมีความเห็นตรงกันข้ามกับปุถุชน เพราะ นิพพานที่โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ที่หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์เล็งเห็นว่า นี้เป็นทุกข์ เพราะว่ายังไม่อยากจะถึง แต่ พระอริยะเจ้าทั้งหลายเห็นด้วยดีแล้ว ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงว่า นั่นเป็นสุข นี้เป็นอนุปัสสนาข้อที่ ๒

    ข้อความต่อไป

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมเป็นธรรม ๒ อย่างโดยชอบ เนืองๆ อย่างนี้ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว พึงหวังผล ๒ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ อรหัตตผลในปัจจุบันนี้ หรือเมื่อยังมีความถือมั่นเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี ฯ

    พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

    รูป เสียง กลิ่น รส ผัสสะ และธรรมารมณ์ ล้วนน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ มีประมาณเท่าใด โลกกล่าวว่ามีอยู่ อารมณ์ ๖ อย่างเหล่านี้ โลกพร้อมทั้งเทวโลกสมมติกันว่า เป็นสุข แต่ว่าธรรมเป็นที่ดับอารมณ์ ๖ อย่างนี้ ชนเหล่านั้นสมมติกันว่า เป็นทุกข์ ความดับแห่งเบญจขันธ์ พระอริยเจ้าทั้งหลายเห็นว่า เป็นสุข ความเห็นขัดแย้งกันกับโลกทั้งปวงนี้ ย่อมมีแก่บัณฑิตทั้งหลายผู้เห็นอยู่ ชนเหล่าอื่นกล่าววัตถุกามใดโดยความเป็นสุข พระอริยเจ้าทั้งหลายกล่าววัตถุกามนั้นโดยความเป็นทุกข์ ชนเหล่าอื่นกล่าวนิพพานใดโดยความเป็นทุกข์ พระอริยเจ้าทั้งหลายผู้รู้แจ้งกล่าวนิพพานนั้นโดยความเป็นสุข ท่านจงพิจารณาธรรมที่รู้ได้ยาก ชนพาลทั้งหลาย ผู้ไม่รู้แจ้งพากันลุ่มหลงอยู่ในโลกนี้ ความมืดตื้อย่อมมีแก่ชนพาลทั้งหลายผู้ถูกอวิชชาหุ้มห่อแล้ว ผู้ไม่เห็นอยู่ ส่วนนิพพานเป็นธรรมชาติเปิดเผยแก่สัตบุรุษผู้เห็นอยู่ เหมือนอย่างแสงสว่าง ฉะนั้น

    ชนทั้งหลายเป็นผู้ค้นคว้า ไม่ฉลาดต่อธรรม ย่อมไม่รู้แจ้งนิพพานที่มีอยู่ในที่ใกล้ ชนทั้งหลายผู้ถูกภวราคะครอบงำแล้ว แล่นไปตามกระแสภวตัณหา ผู้เข้าถึงวัฏฏะอันเป็นบ่วงแห่งมารเนืองๆ ไม่ตรัสรู้ธรรมนี้ได้โดยง่าย นอกจากพระอริยเจ้าทั้งหลาย ใครหนอย่อมควรจะรู้บท คือ นิพพาน ที่พระอริยเจ้าทั้งหลายตรัสรู้ดีแล้ว พระอริยเจ้าทั้งหลายเป็นผู้ไม่มีอาสวะเพราะรู้โดยชอบ ย่อมปรินิพพาน ฯ

    ข้อ ๔๐๗

    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้จบลงแล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจชื่นชมยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาค ก็และเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้อยู่ จิตของภิกษุประมาณ ๖๐ รูป หลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น ดังนี้แล ฯ

    จบ ทวยตานุปัสสนาสูตรที่ ๑๒

    ทั้งๆ ที่รู้อย่างนี้ เวลานี้ขันธ์ ๕ ก็มีครบ พร้อม แต่สติระลึกขันธ์หนึ่งขันธ์ใดหรือเปล่า หรือว่าทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทางหรือเปล่า ถ้ายังเป็นผู้ที่ไม่มั่นคงในการเจริญสติปัฏฐาน ก็จะต้องอาศัยการฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงพระมหากรุณาอนุเคราะห์แสดงไว้โดยประการต่างๆ โดยละเอียด ซึ่งใน สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค อาสีวิสวรรคที่ ๔ อาสีวิสสูตร มีข้อความว่า

    ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เหมือนอย่างว่า มีอสรพิษ ๔ จำพวกซึ่งมีฤทธิ์เดชแรงกล้า ถ้ามีบุรุษรักชีวิต ผู้ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์ ชนทั้งหลายพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า ดูกร ท่าน อสรพิษ ๔ จำพวกนี้ มีฤทธิ์เดชแรงกล้า ท่านพึงปลุกให้ลุกตามเวลา ให้อาบน้ำตามเวลา ให้กินอาหารตามเวลา ให้เข้าสู่ที่อยู่ตามเวลา เวลาใดอสรพิษทั้ง ๔ จำพวกนี้ ตัวใดตัวหนึ่งโกรธขึ้น เวลานั้นท่านก็จะพึงถึงความตาย หรือถึงทุกข์แทบปางตาย กิจใดที่ท่านควรทำ ก็จงทำกิจนั้นเสีย ฯ

    ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะไม่เข้าใจความหมายของคำว่า กิจใดที่ท่านควรทำ ก็จงทำกิจนั้นเสีย ขณะนี้ที่พึ่งอันแท้จริงไม่ใช่กุศลขั้นทาน ไม่ใช่กุศลขั้นศีล ไม่ใช่กุศลขั้นความสงบ แต่เป็นสติปัฏฐานที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเท่านั้น ที่เป็น กิจใดที่ท่านควรทำ ก็จงทำกิจนั้นเสีย

    อสรพิษ ๔ จำพวก ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ที่ท่านยึดถือว่า เป็นร่างกายของท่านตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า วันนี้อสรพิษ ๔ จำพวกนี่ยังไม่โกรธ ก็ยังไม่ขบกัดให้เดือดร้อน เป็นทุกข์ ยังอยู่ดี เพราะท่านรักอสรพิษทั้ง ๔ ตัวนี้ ปลุกให้ลุกตามเวลา ให้อาบน้ำตามเวลา ให้กินอาหารตามเวลา ให้เข้าสู่ที่อยู่ คือ นอนพักผ่อนตามเวลา แต่ให้เห็นภัย ให้เห็นโทษของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เวลาที่เกิดเจ็บป่วยขึ้น เกิดจากอะไร ถ้าไม่ใช่เกิดจากร่างกายซึ่งประกอบด้วยธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ซึ่งถ้าไม่เจ็บปวด ยังไม่ป่วยไข้ ก็ยังไม่เห็นโทษ จนกว่าจะมีผู้เตือนให้เห็นว่า ร่างกายซึ่งเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่ยึดถืออย่างมาก ที่ท่าน ปลุกให้ตื่นตามเวลา ให้อาบน้ำตามเวลา ให้กินอาหารตามเวลา ให้เข้าสู่ที่อยู่ คือนอนพักผ่อน ตามเวลา ด้วยความ หวงแหน ด้วยความพอใจ ยึดมั่นในร่างกายนี้ แท้จริงก็คือสิ่งที่จะทำให้เกิดทุกข์ เพราะไม่มีใครที่ไม่ถูกอสรพิษ ๔ จำพวกนี้ขบกัด คือ เวลาที่ป่วยไข้ได้เจ็บ ก็เพราะธาตุทั้ง ๔ นั่นเอง

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น บุรุษนั้นกลัวอสรพิษทั้ง ๔ จำพวกนั้น จึงหนีไปในที่อื่น ชนทั้งหลายพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า ดูกร ท่าน มีเพชฌฆาตผู้เป็นฆ่าศึกอยู่ ๕ คน ได้ติดตามมาข้างหลังท่าน พบท่านในที่ใดก็จะฆ่าท่านเสียในที่นั้น กิจใดที่ท่านควรทำ ก็จงทำกิจนั้นเสีย ฯ

    ทุกขณะผ่านไปโดยที่ไม่ได้อบรมเจริญปัญญา ถ้าสติไม่เกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาเพื่อให้เห็นโทษของขันธ์ ๕ ว่า เปรียบเสมือนเพชฌฆาต ๕ คนซึ่งติดตามมาข้างหลัง กำลังติดตามอยู่ทุกขณะ ทันเมื่อไรก็จะฆ่าให้ตายเมื่อนั้น หมดโอกาสที่จะได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน ถ้าไปเกิดในภูมิที่เป็นอบายภูมิ เพราะฉะนั้น ขณะนี้มีเพชฌฆาตผู้เป็นข้าศึก ๕ คน กำลังติดตามอยู่ทุกขณะ เวลานี้ยังไม่ทัน ใช่ไหม ยังมีโอกาสอยู่ เพราะฉะนั้น กิจใดที่ท่านควรทำ ก็จงทำกิจนั้นเสีย สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏลักษณะหนึ่งลักษณะใด ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ เพียงชั่วขณะเล็กๆ น้อยๆ ต่อไปท่านจะเห็นประโยชน์อย่างมากทีเดียวว่า ปัญญาที่คมกล้าจะมีได้ก็เพราะอาศัยสติที่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ เรื่อยๆ เนืองๆ บ่อยๆ เพราะถ้าสติไม่เกิด ปัญญาไม่มีวันที่จะเจริญขึ้น จนกระทั่งคมกล้าได้ แม้ว่าสติเกิดไม่มาก แต่ว่าสติก็เกิดจนกว่าปัญญาจะคมกล้า

    มีสติเกิดบ้างไหม เพชฌฆาต ๕ คนกำลังติดตามมาข้างหลัง ถ้าคิดว่ายังอยู่ไกล ก็เป็นผู้ที่ประมาท

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ครั้งนั้นแล บุรุษนั้นกลัวอสรพิษทั้ง ๔ จำพวก และกลัวเพชฌฆาตผู้เป็นข้าศึกทั้ง ๕ คนนั้น จึงหนีไปในที่อื่น ชนทั้งหลายพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า ดูกร ท่าน มีเพชฌฆาตคนที่ ๖ ซึ่งเที่ยวไปในอากาศ เงื้อดาบติดตามมาข้างหลังท่าน พบท่านในที่ใดก็จะตัดศีรษะของท่านเสียในที่นั้น กิจใดที่ท่านควรทำ ก็จงทำกิจนั้นเสีย ฯ

    ทรงเตือนอยู่ตลอดเวลา กิจใดที่ท่านควรทำ ก็จงทำกิจนั้นเสีย

    สำหรับเพชฌฆาตคนที่ ๖ ได้แก่ นันทิราคะ ความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งเป็นศัตรูที่ปรากฏเหมือนมิตร เพราะให้แต่ความยินดีพอใจเกิดขึ้น ไม่ว่าอะไรจะปรากฏ ไม่ให้หน่าย ไม่ให้ทิ้ง ไม่ให้เห็นโทษ แต่ให้เพลิดเพลินไว้ ให้ยินดีไว้ ให้พอใจไว้ แม้ว่าสภาพธรรมนั้นจะไม่เที่ยงเลย การเห็นไม่เที่ยง การได้ยินไม่เที่ยง สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่เที่ยง รูปไม่เที่ยง เสียงไม่เที่ยง กลิ่นไม่เที่ยง รสไม่เที่ยง โผฏฐัพพะไม่เที่ยง แม้ว่ารู้ว่าไม่เที่ยง แต่นันทิราคะก็ยังให้หลงเพลิดเพลินยินดี นี่เป็นเพชฌฆาตคนที่ ๖ เงื้อดาบติดตามมาข้างหลังท่าน เพราะคอยที่จะให้เกิดทุกข์ขึ้น แต่ในขณะที่กำลังพอใจนั้นจะไม่เห็นว่า เป็นเหตุที่จะให้เกิดทุกข์ได้

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ครั้งนั้น บุรุษนั้นกลัวอสรพิษทั้ง ๔ จำพวกซึ่งมีฤทธิ์เดชแรงกล้า กลัวเพชฌฆาตผู้เป็นข้าศึกทั้ง ๕ และกลัวเพชฌฆาตคนที่ ๖ ซึ่งเที่ยวไปในอากาศเงื้อดาบอยู่ จึงหนีไปในที่อื่น เขาพบบ้านร้างเข้า จึงเข้าไปสู่เรือนร้างว่างเปล่าหลังหนึ่ง ลูบคลำภาชนะว่างเปล่าชนิดหนึ่ง ชนทั้งหลายพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า ดูกร ท่าน มีโจรทั้งหลายคอยฆ่าชาวบ้าน เข้ามาสู่บ้านร้างนี้เสมอ กิจใดที่ท่านควรทำ ก็จงทำกิจนั้นเสีย ฯ

    เมื่อกลัวอสรพิษ ๔ จำพวก กลัวข้าศึกทั้ง ๕ คน และกลัวเพชฌฆาตคนที่ ๖ ก็หนีไปสู่เรือนร้างว่างเปล่าหลังหนึ่ง ลูบคลำภาชนะว่างเปล่าชนิดหนึ่ง ซึ่งชนทั้งหลาย ก็ได้มากล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า ดูกร ท่าน มีโจรทั้งหลายคอยฆ่าชาวบ้าน เข้ามาสู่บ้านร้างนี้เสมอ สำหรับเรือนร้างว่างเปล่าหลังหนึ่ง ได้แก่ อายตนะภายใน ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    เวลาที่ไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการลิ้มรส ไม่มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่มีการคิดนึก ก็ดูคล้ายๆ กับเป็นเรือนร้างว่างเปล่า ไม่มีอะไรปรากฏเลย แต่ว่าบุรุษนั้น เข้าไปในเรือนร้างว่างเปล่าหลังหนึ่ง ลูบคลำภาชนะว่างเปล่าชนิดหนึ่ง มีอารมณ์ที่ปรากฏอยู่เสมอ แต่อารมณ์นั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่เที่ยงถาวร ที่เป็นประโยชน์สุขอันแท้จริง และก็ยังมีโจรทั้งหลายคอยฆ่าชาวบ้านเข้ามาสู่บ้านร้างนี้เสมอ

    สำหรับคำอุปมาที่พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาว่า โจรทั้งหลายคอยฆ่าชาวบ้าน เข้ามาสู่บ้านร้างนี้เสมอนั้น ได้แก่ อายตนะภายนอก ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ซึ่งไม่เที่ยง และเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น ใครติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในธัมมารมณ์ ก็เท่ากับติดทุกข์ เพราะไม่ว่าจะมีความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในธัมมารมณ์สักเท่าไรก็ตาม ผลที่แท้จริงซึ่งจะได้รับการติดการพอใจนั้น คือ ความทุกข์จากการพลัดพรากจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ เพราะรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ที่จะไม่พลัดพรากไปนั้น ไม่มี

    มีใครบ้างที่ไม่พลัดพรากจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วพลัดพรากอยู่ทุกขณะ แต่ถ้ายังไม่ปรากฏการแตกทำลาย การสูญเสีย การพลัดพราก ก็ดูเหมือนว่าจะไม่มีการจาก ไม่มีการพลัดพรากเลย แต่ตามความเป็นจริงแล้วพลัดพรากอยู่ทุกขณะ

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ครั้งนั้น บุรุษนั้นกลัวอสรพิษทั้ง ๔ กลัวเพชฌฆาตทั้ง ๕ กลัวเพชฌฆาตคนที่ ๖ และกลัวโจรผู้คอยฆ่าชาวบ้าน จึงหนีไปในที่อื่น เขาไปพบห้วงน้ำใหญ่แห่งหนึ่ง ฝั่งข้างนี้น่ารังเกียจ เต็มไปด้วยภัยอันตราย ฝั่งข้างโน้นเป็นที่เกษมปลอดภัย เรือแพ หรือสะพานที่จะข้ามไปฝั่งโน้น ไม่มี ฯ

    ครั้งนั้น บุรุษนั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า ห้วงน้ำนี้ใหญ่นัก ฝั่งข้างนี้เป็นที่น่ารังเกียจ เต็มไปด้วยภัยอันตราย ฝั่งข้างโน้นเป็นที่เกษมปลอดภัย เรือแพหรือสะพานที่จะข้ามไปฝั่งโน้นก็ไม่มี ผิฉะนั้น เราควรจะมัดหญ้า กิ่งไม้ และใบไม้ ผูกเป็นแพ เกาะแพนั้นพยายามไปด้วยมือและด้วยเท้า ก็พึงถึงฝั่งโน้นได้โดยความสวัสดี

    ครั้นแล้ว บุรุษนั้นทำตามความคิดของตน ก็ว่ายข้ามฟากถึงฝั่งข้างโน้นแล้ว เป็นพราหมณ์ขึ้นบกไป ฯ

    ท่านผู้ฟังเห็นห้วงน้ำใหญ่หรือยัง เวลานี้อยู่ที่ไหน อยู่ในห้วงน้ำหรือเปล่า

    อยู่ในห้วงน้ำ คือ ความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในโผฏฐัพพะ ถ้าตราบใดยังไม่คิดที่จะข้ามฝั่ง ก็ยังคงจมอยู่ หรือติดอยู่ในฝั่งข้างที่เป็นที่น่ารังเกียจ แต่เมื่อไม่เห็นว่าน่ารังเกียจ อยากจะพ้นไหม ก็ยังไม่อยากที่จะพ้น จนกว่าจะเห็นว่า ฝั่งข้างนี้เป็นที่น่ารังเกียจ เต็มไปด้วยภัยอันตราย ฝั่งข้างโน้นเป็นที่เกษมปลอดภัย เรือ แพ หรือสะพานที่จะข้ามไปฝั่งโน้นก็ไม่มี

    จะใช้อย่างอื่นได้ไหม ใช้วิธีอื่น หนทางอื่น พึ่งบุคคลอื่นได้ไหม ไม่ได้เลย ผิฉะนั้น เราควรจะมัดหญ้า กิ่งไม้ และใบไม้ ผูกเป็นแพ เกาะแพนั้น พยายามไปด้วยมือและด้วยเท้า

    ขอให้คิดถึงความอดทนที่จะข้ามจากฝั่งข้างนี้ไปฝั่งข้างโน้น จะต้องใช้ความพยายามอย่างมาก ด้วยมือและด้วยเท้า ก็พึงถึงฝั่งโน้นได้ โดยความสวัสดี ครั้นแล้ว บุรุษนั้นทำตามความคิดของตน ก็ว่ายข้ามฟากถึงฝั่งข้างโน้นแล้ว เป็นพราหมณ์ขึ้นบกไป ฯ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๘๕ ตอนที่ ๘๔๑ – ๘๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 81
    28 ธ.ค. 2564