แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 875


    ครั้งที่ ๘๗๕


    ถ. รูปที่เป็นสภาวรูปกับรูปที่เป็นอสภาวรูป มีลักษณะแตกต่างกันอย่างไร

    สุ. สภาวรูป หมายความถึงรูปที่ประกอบด้วยภาวะ เป็นสภาพที่มีจริง มีลักษณะปรากฏ เช่น ปฐวีธาตุเป็นสภาวรูป มีภาวะ คือ มีลักษณะปรากฏในอาการที่แข้นแข็ง มีใครคิดว่า ความแข็ง สภาพที่แข็งไม่มีบ้าง

    ถ. อย่างกระทบสัมผัสกับโต๊ะ

    สุ. ไม่ใช่โต๊ะ กระทบสัมผัสสภาพที่แข็ง เป็นสภาวรูป เมื่อเข้าใจสภาวรูป ก็จะเข้าใจต่อไปถึงอสภาวรูป คือ ไม่ใช่รูปที่มีลักษณะสภาพของตนแยกต่างหากออกไปจากสภาวรูป เช่น ลักษณะที่เกิดขึ้น อุปจยะ ลักษณะที่เกิดสืบต่อ สันตติลักษณะที่เสื่อม ชรตา ลักษณะที่ดับ อนิจจตา ไม่ใช่มีลักษณะที่เกิดขึ้นมาลอยๆ แต่ต้องมีการเกิดขึ้นของสภาพที่แข้นแข็ง คือ ปฐวีธาตุ ขณะที่เกิดเป็นอุปจยะ ขณะที่เกิดสืบต่อเป็นสันตติ ขณะที่เสื่อมเป็นชรตา และขณะที่ดับของปฐวี คือ สภาพที่เป็นอนิจจตาของปฐวีนั่นเอง เพราะฉะนั้น ลักษณะทั้ง ๔ นั้น เป็นอสภาวรูป คือ ไม่ใช่รูปที่มีลักษณะสภาพของตนแยกออกต่างหากออกไปจากสภาวรูป แต่เป็นลักษณะของสภาวรูป ได้แก่ ลักขณรูป ๔ เป็นต้น ที่เป็นอสภาวะ

    ถ. อสภาวรูป รวมอยู่ในรูป ๒๘ หรือเปล่า

    สุ. รวม เพราะลักษณะที่เกิดมีจริง และขณะที่เกิดไม่ใช่ขณะที่ดับ ขณะที่สืบต่อไม่ใช่ขณะที่เสื่อม เพราะฉะนั้น เป็นลักขณะของภาวรูป ซึ่งสำหรับวิการรูป ๓ หรือวิญญัติรูป ๒ ก็เป็นอาการ หรือวิการของสภาวรูป ไม่ใช่แยกต่างหากไปจากสภาวรูป

    ถ. หมายความว่า อสภาวรูปต้องอิงอาศัยกับรูปที่มีสภาวะ

    สุ. เป็นเพียงลักษณะของสภาวรูป หรือเป็นอาการที่วิการของสภาวรูป ซึ่งอสภาวรูปทั้งหมดนั้นมี ๑๐ คือ ลักขณรูป ๔ วิการรูป ๓ วิญญัติรูป ๒ คือ กายวิญญัติรูป ๑ วจีวิญญัติรูป ๑ และอากาสรูป หรืออากาศธาตุ หรือปริจเฉทรูป อีก ๑ รวมเป็นอสภาวรูป ๑๐

    ถ. อากาศรูป เราสามารถสัมผัสได้มิใช่หรือ

    สุ. สัมผัสไม่ได้จึงเป็นอากาศ ไม่มีทางการที่จะไปสัมผัสกระทบถูกต้องอากาศธาตุได้

    ถ. สายลมที่มาสัมผัสผิวกาย

    สุ. ลม อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว เย็นหรือร้อน ไม่ใช่อากาศ

    สำหรับคำว่า กายคตาสติ โดยมากมักจะเข้าใจกันว่า หมายความถึงการระลึกถึงส่วนต่างๆ ของร่างกายโดยความเป็นปฏิกูลโดยนัยของสมถภาวนา คือ ทำให้จิตเกิดความสงบเท่านั้น พอพูดถึงกายคตาสติ ก็จะคิดถึงขน ผม ขน เล็บ ฟัง หนัง และส่วนต่างๆ ของกาย โดยคิดว่าเป็นอารมณ์ หรือว่าเป็นสมถกัมมัฏฐาน แต่นั่นไม่ใช่จุดประสงค์ที่สูงสุดของพระธรรมเทศนาที่พระผู้มีพระภาคทรงบำเพ็ญพระบารมีเพื่อที่จะตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง และทรงแสดงหนทางที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท

    เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า พระธรรมเทศนาทั้งหมดจุดประสงค์ก็เพื่อที่จะให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง โดยนัยของการเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งดิฉันได้เรียนให้ทราบตั้งแต่ต้นแล้วว่า ในการที่จะกล่าวถึงเรื่องของสมถภาวนานั้น จะกล่าวถึงสมถภาวนาโดยนัยที่เกื้อกูลแก่การเจริญสติปัฏฐานเท่านั้น และเมื่อท่านผู้ฟังทราบว่า พระธรรมเทศนานั้น จุดประสงค์เพื่อให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงโดยนัยของการเจริญสติปัฏฐานซึ่งเป็นวิปัสสนาภาวนา ก็จะเห็นว่า ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงกายานุปัสสนาสติปัฏฐานทั้งหมดตลอดทั้งบรรพว่า เป็นกายคตาสติ

    ใช้คำเดียวกัน คือ ในหมวดของมหาสติปัฏฐานสูตร ใช้คำว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน แต่ในที่อื่นๆ กายานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้น ทรงแสดงโดยพระธรรมเทศนาเป็นกายคตาสติ

    เพราะฉะนั้น กายคตาสติไม่ได้หมายถึงเฉพาะสมถกัมมัฏฐาน คือ การระลึกถึงผม ขน เล็บ ฟัน หนัง หรือว่าส่วนต่างๆ ของร่างกายเพื่อที่จะให้จิตสงบเท่านั้น แต่ว่าเป็นการระลึกถึงสภาพธรรมที่ปรากฏที่กายโดยประการทั้งปวง หรือว่าโดยประการต่างๆ คือ โดยนัยของกายานุปัสสนาสติปัฏฐานที่ทรงแสดงไว้ใน มหาสติปัฏฐาน ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้เห็นว่าเป็นการแยกกัน เพราะการอบรมเจริญ สติปัฏฐาน สติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่มีใครห้ามที่จะไม่ให้คิดถึงผมบ้าง ขนบ้าง เล็บบ้าง ฟันบ้าง หนังบ้าง ซึ่งปรากฏให้เห็น แต่ยังไม่ได้คิดถึงสภาพธรรมว่า ขณะที่เห็นผมก็ดี หรือขณะที่กระทบสัมผัสก็ดี ที่ว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมซึ่งเป็นกาย หรือเป็นส่วนต่างๆ ของกายนั้นเป็นอย่างไร และถ้าผู้หนึ่งผู้ใดจะมีปัจจัยที่จะระลึกถึงความเป็นปฏิกูลของผม ของขน ของเล็บ ของฟัน ของหนัง ในขณะนั้นก็ยังไม่ใช่สติปัฏฐาน แต่ผู้ที่เข้าใจถูกในเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน จะมีปัจจัยที่จะให้ระลึกรู้ลักษณะของกายที่เคยยึดถือว่า เป็นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ถูกต้องตามความเป็นจริงว่า ลักษณะที่ปรากฏนั้นเมื่อไม่ใช่กายแล้วมีสภาพเป็นปรมัตถธรรมอะไร

    ขอพูดถึงความเข้าใจทั่วๆ ไปก่อนว่า มีการอบรมเจริญภาวนา ๒ อย่าง คือ สมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา

    สำหรับผู้ที่เข้าใจเฉพาะเรื่องของสมถภาวนา เวลาที่ได้ยินเรื่องของอนุสสติ ๑๐ ซึ่งมีกายคตาสติด้วย เวลาที่กล่าวถึงกายคตาสติโดยนัยของสมถภาวนา หมายถึงการพิจารณาส่วนต่างๆ ของกาย คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง และส่วนอื่นๆ และเกิดความสงบโดยระลึกถึงสภาพที่เป็นปฏิกูล นั่นสำหรับผู้ที่มีความเข้าใจเฉพาะเรื่องของสมถภาวนา

    แต่สำหรับผู้ที่เข้าใจเรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะเข้าใจด้วยว่า การระลึกถึงส่วนต่างๆ ของกายที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐานทั้งหมด ซึ่งทรงแสดงว่าเป็นกายคตาสติ

    เพราะฉะนั้น คำว่า กายคตาสติ หมายถึงสติที่ระลึกเป็นไปในกายทั้งหมด ไม่ใช่แต่เฉพาะ ผม ขน เล็บ ฟัน หนังเท่านั้น โดยนัยของวิปัสสนา เพราะสภาพธรรมทั้งหลายที่มีจริงนี้ สติสามารถที่จะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นแล้วละการยึดถือว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้

    กายคตาสติมี ๒ ความหมาย สำหรับผู้ที่เข้าใจเรื่องของสมถภาวนาเท่านั้น ก็จะรู้ว่ากายคตาสติ หมายถึงการระลึกถึงส่วนต่างๆ ของกาย อาการ ๓๑ หรืออาการ ๓๒ ที่ระลึกแล้วสงบเพราะเห็นความเป็นปฏิกูล เป็นอนุสสติหนึ่งในอนุสสติ ๑๐ แต่สำหรับผู้ที่เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ไม่จำกัดกายคตาสติว่าเป็นเพียงการระลึกรู้ส่วนต่างๆ ของกายโดยอาการ ๓๑ หรืออาการ ๓๒ เท่านั้น แต่ไม่ว่าขณะใดที่สติระลึกเป็นไปในกาย ไม่ว่าจะเป็นที่ลมหายใจ ซึ่งเป็นบรรพหนึ่งของกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็เป็นกายคตาสติ เพราะฉะนั้น กายานุปัสสนาสติปัฏฐานทั้งหมดเป็นกายคตาสติ

    ขอกล่าวถึงข้อความในพระไตรปิฎก ที่แสดงให้เห็นว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงกายานุปัสสนาทั้งหมดว่า เป็นกายคตาสติ

    มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ กายคตาสติสูตร มีข้อความว่า

    ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ภิกษุมากด้วยกันกลับจากบิณฑบาต ภายหลังเวลาอาหารแล้ว นั่งประชุมกันในอุปัฏฐานศาลา เกิดข้อสนทนากันขึ้นในระหว่างดังนี้ว่า ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย น่าอัศจรรย์จริง ไม่น่าเป็นไปได้เลย เท่าที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ตรัสกายคตาสติที่ภิกษุเจริญแล้วทำให้มากแล้วว่า มีผลมาก มีอานิสงส์มากนี้ ข้อสนทนากันในระหว่างของภิกษุเหล่านั้น ค้างอยู่เพียงเท่านี้แล ฯ

    ถ้าไม่ได้อ่านพระสูตรนี้โดยตลอด ก็อาจจะคิดว่า คงหมายความถึงการระลึกถึงผม ขน เล็บ ฟัน หนัง โดยนัยของสมถภาวนาที่เป็นกายคตาสติ และบางท่านก็ได้พบข้อความบางตอนในวิสุทธิมรรคที่ว่า กายคตาสติเป็นธรรมที่ทรงแสดงหลังการตรัสรู้ เพราะฉะนั้น ก็คิดว่าการที่จะระลึกถึงส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้นนั้น ทรงแสดงหลังตรัสรู้ แต่เมื่อได้ทราบว่ากายานุปัสสนาสติปัฏฐานทั้งหมดพระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่าเป็นกายคตาสติ คือ สติที่ระลึกเป็นไปในกาย ก็จะหมดความสงสัยว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้น ทรงแสดงหลังจากที่ทรงตรัสรู้แล้ว ไม่ใช่หมายถึงการระลึกถึงผม ขน เล็บ ฟัน หนัง โดยนัยของสมถภาวนา

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากสถานที่ทรงหลีกเร้นอยู่ในเวลาเย็น เสด็จเข้าไปยังอุปัฏฐานศาลานั้น ครั้นแล้วจึงประทับนั่ง ณ อาสนะที่เขาแต่งตั้งไว้ แล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งประชุมสนทนาเรื่องอะไรกัน และพวกเธอสนทนาเรื่องอะไรค้างอยู่ในระหว่าง ฯ

    ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ณ โอกาสนี้ พวกข้าพระองค์กลับจากบิณฑบาต ภายหลังเวลาอาหารแล้ว นั่งประชุมกันในอุปัฏฐานศาลา เกิดข้อสนทนากันขึ้นในระหว่างดังนี้ว่า ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย น่าอัศจรรย์จริงไม่น่าเป็นไปได้เลย เท่าที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ตรัสกายคตาสติที่ภิกษุเจริญแล้วทำให้มากแล้วว่า มีผลมาก มีอานิสงส์มากนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อสนทนากันในระหว่างของพวกข้าพระองค์ได้ค้างอยู่เพียงเท่านี้ พอดีพระผู้มีพระภาคก็เสด็จมาถึง ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็กายคตาสติอันภิกษุเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรงดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า เธอย่อมมีสติหายใจออกมีสติหายใจเข้า เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว หรือเมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าหายใจออกสั้น หรือเมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้าสั้น สำเหนียกอยู่ว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวงหายใจเข้า สำเหนียกอยู่ว่า เราจักระงับกายสังขาร หายใจออก ว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจเข้า

    เมื่อภิกษุนั้นไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่อย่างนี้ ย่อมละความดำริพล่านที่อาศัยเรือนเสียได้ เพราะละความดำริพล่านนั้นได้ จิตอันเป็นไปภายในเท่านั้นย่อมคงที่ แน่นิ่ง เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุก็ชื่อว่าเจริญกายคตาสติ ฯ

    เพราะฉะนั้น เวลาได้ยินคำว่า กายคตาสติ อย่าคิดว่า เป็นเพียงการระลึกถึงส่วนต่างๆ ของกายที่เป็นการระลึกถึงผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น แต่ละลักษณะ และเกิดความสงบ เพราะไม่ว่าจะเป็นการระลึกถึงกาย หรือสภาพธรรมที่ปรากฏที่กายทั้งหมดนั้นเป็นกายคตาสติ แม้แต่การระลึกถึงลมหายใจก็เป็นการระลึกถึงส่วนของกาย

    การอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่จำกัด และไม่เจาะจง แต่ว่ามีลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ที่กำลังปรากฏ แล้วแต่สติจะระลึก ถ้าสติระลึกที่กายที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ที่กำลังปรากฏ จะระลึกถึงกายที่เคยเข้าใจว่าเป็นผม หรือว่ากายที่เข้าใจว่าเป็นลมหายใจก็ได้ เพราะว่าทั้งหมดนั้น แต่ละส่วน แต่ละลักษณะ ก็เป็นส่วนต่างๆ ของกายนั่นเอง แต่เมื่อระลึกแล้ว ต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏที่กายตามความเป็นจริง จึงจะเป็นกายคตาสติ ที่มีผลมาก ที่มีอานิสงส์มาก

    ขณะนี้มีพร้อมที่กาย ผมมี ขนมี เล็บมี ฟันมี หนังมี ลมหายใจมี ถ้าสติระลึกที่กาย รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏที่กาย ก็จะเพิกถอนความสำคัญว่า เป็นผม เป็นขน เป็นเล็บ เป็นฟัน เป็นหนัง หรือเป็นลมหายใจออก เพราะลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏที่กายจะเป็นอื่นไปจากปฐวีธาตุ สภาพธรรมที่อ่อนหรือแข็ง เตโชธาตุ สภาพธรรมที่เย็นหรือร้อน และวาโยธาตุ สภาพธรรมที่ตึงหรือไหว ไม่ได้

    ขณะนี้เอง สภาพธรรมมีจริงทนต่อการพิสูจน์ เมื่อมีการระลึกที่กายจะเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดก็ตาม สภาพธรรมที่ปรากฏจริงๆ จะพ้นจากเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ไม่ได้ ไม่ว่าจะเคยเห็นว่าสภาพนั้นเป็นลมหายใจ หรือว่าเป็นผม เป็นขน เป็นเล็บ เป็นฟัน เป็นหนังก็ตาม

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงที่ปรากฏและละการยึดถือว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลนั้น ต้อง โดยไม่เลือก

    ใน มัชฌิมนิกาย มหาราหุโลวาทสูตร มีข้อความว่า ครั้งหนึ่งที่ท่าน พระราหุลเป็นปัจฉาสมณะติดตามพระผู้มีพระภาคบิณฑบาต พระผู้มีพระภาคทรงโอวาทท่านพระราหุล ท่านพระราหุลก็ไม่บิณฑบาตต่อ กลับไปสู่กุฎี เจริญสมณธรรม ท่านพระสารีบุตรเห็นท่านพระราหุลกำลังนั่งนิ่งๆ สงบ ก็ให้ท่านพระราหุลเจริญ อานาปานสติ ในตอนเย็นท่านพระราหุลก็ได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลถามว่า อานาปานสตินั้นเจริญอย่างไร จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก

    ซึ่งใน ปปัญจสูทนี อรรถกถามหาราหุโลวาทสูตร มีข้อความว่า

    มีคำถามว่า เพราะเหตุไรพระผู้มีพระภาคผู้อันท่านพระราหุลทูลถามถึง อานาปานสติ จึงตรัสรูปกัมมัฏฐาน

    ท่านพระราหุลกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเรื่องการเจริญอานาปานสติว่า เจริญอย่างไรจึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก แต่พระผู้มีพระภาคก็ตรัสเรื่องของปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ การระลึกรู้ลักษณะของดิน น้ำ ไฟ ลม ที่ปรากฏตามความเป็นจริง แทนที่จะตรัสถึงการเจริญเฉพาะอานาปานสติ ด้วยเหตุนี้ข้อความใน ปปัญจสูทนี จึงมีคำถามว่า เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคผู้อันท่านพระราหุลทูลถามถึงอานาปานสิต จึงตรัสรูปกัมมัฏฐาน



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๘๘ ตอนที่ ๘๗๑ – ๘๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 81
    28 ธ.ค. 2564