แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 859


    ครั้งที่ ๘๕๙


    ถ. รู้สึกว่าสติยังอ่อนมากเหลือเกิน เพราะแต่ละวันอารมณ์มักจะเป็นไปกับเรื่องต่างๆ แต่ว่าบางครั้งก็มีรู้สึกทางหูบ้าง ทางตาบ้าง พิจารณาเป็นบางเวลา คิดว่าอาจจะเป็นสติที่เริ่มจะเกิดขึ้น

    ธัม. ไม่ทราบว่าพระโสดาบันเคยมีสติอ่อนๆ หรือเปล่า

    ถ. คิดว่าคงมีจุดเริ่มต้นเหมือนกัน

    ธัม. ถ้าเป็นอย่างนี้ คือ สภาพธรรมตามความเป็นจริงเป็นอย่างนี้ และจุดประสงค์ของเรา คือ อยากจะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง จะต้องยอมรับว่า สติอ่อน แต่ถ้าสติอ่อน เกิดน้อย คิดว่าไม่ใช่น้อย หรือว่าไม่พอใจที่เกิดน้อย ก็ไม่ตรงกับจุดประสงค์ที่เราบอกว่า ต้องการรู้สิ่งที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง

    เมื่ออ่อน ก็อ่อน สติรู้สติที่อ่อนนั้นได้ เพราะสติอ่อนๆ ก็เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง บางทีสติเกิดตามรู้ลักษณะของสติอ่อนๆ นั้นได้ เพราะไม่ใช่ตัวตน เมื่อรู้ลักษณะของสติอ่อนๆ นั้นตามความเป็นจริง ก็รู้ลักษณะอื่นๆ ที่เกิดขึ้นปรากฏต่อจากสติ อ่อนๆ นั้นที่ดับไปแล้ว ไม่ต้องสนใจในสติอ่อนว่า อ่อน หรือทำไมอ่อน หรือว่าทำไมน้อย ไม่ต้องถามว่า ทำไม เพราะว่าดับแล้ว

    อ่อน เพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่ว่าเพราะมีคนอื่นไม่ชอบเรา จึงทำให้สติเราอ่อน เราเองยังไม่ได้เจริญ ยังไม่ได้อบรมที่จะเกิดสติแข็งแรง เพราะเพิ่งเริ่มต้นจริงๆ

    ถ. เอามือวางไว้ที่เก้าอี้ สภาพธรรมที่เราสัมผัสที่เก้าอี้ สภาพธรรมที่เกิดขึ้น คิดว่า มีทั้งเย็น มีทั้งอ่อน ทั้งแข็งด้วย และมีเรารู้สึกด้วย รวมอยู่ด้วยกันทั้งหมด ถ้าเราจะพิจารณา โยนิโสมนสิการอย่างไร เมื่อสติเกิด

    ธัม. ทำไมต้องคิดอย่างนี้ ต้องรู้เฉพาะแข็งหรืออ่อน และขณะนั้นที่เกิดคิดขึ้นมาแล้วว่า มีอ่อน มีแข็งเกิดพร้อมๆ กัน ก็ต้องรู้สภาพคิดนั้น ถ้าพยายามรู้อย่างหนึ่งอย่างใด เจาะจงเฉพาะแข็ง หรือเฉพาะอ่อน หรือว่าต้องการแยกแข็งออกจากอ่อน รู้สึกว่าขณะนั้นสติไม่ได้เกิด เพราะจุดประสงค์ของสติ ไม่ใช่ว่าในขณะนี้ต้องการแยกเย็นออกจากแข็ง

    ถ. ไม่ได้คิดจะแยก แต่ว่าสภาพธรรมที่เกิดขึ้นนั้น อย่างไหนมีลักษณะที่เด่น หรือว่าแรง เช่น เย็นมาก เราก็จะรู้สึกในเรื่องเย็นมากกว่าในเรื่องแข็ง อย่างนั้นใช่ไหม

    ธัม. รู้แค่เย็น ไม่ต้องสนใจว่าเด่น หรือไม่เด่น

    ถ. ถ้าหากว่าสภาพเย็นนั้นปรากฏ ก็พิจารณาความรู้สึกอย่างนั้นเรื่อยๆ ต่อไปว่า เย็น ใช่ไหม หรือว่าอย่างไร

    ธัม. ต่อไปจะได้อย่างไรเพราะว่าดับไปแล้ว จะให้รู้สึกเฉพาะเย็น หรือว่าเฉพาะความรู้สึกเย็นต่อไป ก็แล้วแต่ว่าต่อไปอะไรจะเกิดขึ้น เพราะว่าขณะนี้เย็นปรากฏ ขณะต่อไปเย็นจะปรากฏหรือไม่ ใครบอกได้ ต่อมารู้สึกร้อนอาจจะปรากฏ หรือว่าเสียงปรากฏ หรือว่าสีปรากฏ หรือว่านึกคิดเกิดขึ้นว่า อ้อ นี่เป็นเย็น และ นึกคิดปรากฏ แล้วแต่ จะไม่มีการให้พิจารณาอย่างนี้ หรือว่าพิจารณาอย่างนั้น เพราะว่าพิจารณาสิ่งที่ปรากฏ ถ้าจะให้พิจารณาแบบหนึ่งแบบใด ก็ให้พิจารณาสิ่งที่ปรากฏ ถ้าพิจารณาสิ่งที่ปรากฏ ก็ไม่ต้องรู้ว่าจะต้องพิจารณาอะไรต่อไป เพราะต่อไปก็จะต้องเป็นสิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่อย่างอื่น

    ถ. ไม่ได้คิดจะพิจารณาต่อไป แต่ว่าเย็นปรากฏที่เกิดขึ้นจริงๆ ก็รู้สึกว่า จะพิจารณาเฉพาะเย็นเท่านั้น แต่ยังไม่ทราบว่า เกิดความรู้อะไรขึ้นมา ยังไม่ทราบว่าปัญญาอะไรเกิดขึ้นจากการพิจารณาสภาพเย็นหรือสภาพรู้ว่าเย็น เรายังแยกไม่ออกว่า เรารู้ว่าเย็น กับเย็น ทั้งๆ ที่มีของจริง แต่เราไม่สามารถแยกออกได้

    ธัม. ถ้าในขณะนั้นต้องการคิดถึงว่า เป็นเย็น หรือเป็นสภาพรู้เย็น ก็เลยลักษณะที่ปรากฏอีกแล้ว

    ถ. แต่ก่อนนั้นที่ศึกษาใหม่ๆ ถ้าเย็น มักจะท่องว่า เย็นเป็นรูป ความรู้สึกเย็นเป็นนาม แต่ระยะหลังนี้รู้สึกว่า ขณะที่ท่อง ก็ลืมพิจารณาสภาพที่เกิดขึ้นที่มือ ถูกไหม ขณะที่เราท่องว่า นี่เป็นรูป นั่นเป็นนาม แสดงว่าขณะนั้นเราลืมพิจารณาสภาพธรรมที่เกิดขึ้น

    ธัม. ขณะที่ท่อง ไม่ใช่ขณะที่รู้ลักษณะที่ปรากฏ แต่ว่ามีโอกาสที่จะรู้สภาพที่ท่องนั้นว่า เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ต้องรู้

    ถ. เพราะฉะนั้น ตอนหลังผมก็ไม่ท่อง พิจารณาเฉยๆ แต่ก็เหมือนกับว่าเราไม่ได้พิจารณาอะไรเลย ผมก็แปลกใจ แสดงว่าไม่ได้พิจารณาอะไรเลย เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า

    ธัม. ก็แล้วแต่ บางทีเป็นโมหะก็ได้ ตัวเองต้องค่อยๆ รู้ลักษณะของโมหะที่เกิดขึ้นด้วย เพราะทุกคนรู้เย็นที่ปรากฏ แต่ไม่ได้รู้เย็นที่เป็นรูปธรรม รู้เย็นที่เป็นแก้ว รู้เย็นที่เป็นน้ำแข็ง รู้เย็นที่ว่าเป็นเราหรือเป็นเขา ยังเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด มีตัวตนอยู่ บางทีอาจจะรู้เย็นที่มีอยู่ที่นี่ ยังเป็นเย็นที่อยู่ในบริเวณนี้ คือ ยังเป็นสถานที่ก็ได้ ยังเป็นที่นี่ที่เย็น ก็ยังไม่รู้ตรงลักษณะ ถ้าคิดว่าที่นี่มีเย็น ที่นี่เย็น แต่ขณะที่เย็นปรากฏจริงๆ ไม่ใช่ที่นี่ หรือที่โน่น ไม่รู้ที่ เพราะว่ารู้ลักษณะของเย็น ซึ่งไม่ใช่ที่ ถ้าจะรู้ว่า ที่ไหน ที่นี่ ที่โน่น ก็คิด แต่ไม่ใช่สติที่รู้แค่เย็น

    ตัวเองต้องรู้ว่า ขณะที่เกิดสติรู้เย็น มีแต่สติ หรือว่าหลังจากสติดับไปแล้ว ไม่มีอย่างอื่นบ้างไหม บางทีไม่มีโลภะ หรือไม่มีโมหะ หรืออย่างอื่นๆ ก็แล้วแต่ ที่พิจารณาเย็น แต่ไม่ใช่ปัญญา บางทีต้องการรู้เย็นนานๆ นั่นอาจจะเรียกว่าพิจารณาได้ แต่ไม่ใช่ปัญญาพิจารณา คือ คิดถึงเย็นด้วยจิตประเภทอื่นๆ ที่ไม่เป็นกุศลจิตก็ได้ แล้วแต่

    ตัวเองต้องรู้ตัวเอง คนอื่นบอกไม่ได้ว่า ต้องเป็นอย่างนี้ อย่างนั้น มีหลายอย่างเกิดขึ้น ใกล้ชิดกัน รู้ยาก แต่เมื่อรู้เย็น ไม่ใช่รูปธรรมอย่างอื่นๆ และไม่ใช่สภาพรู้เย็น แค่เย็นอย่างเดียว อยากจะบอกว่า เป็นลักษณะของสติ แต่เข้าใจผิดได้ง่าย

    ถ. รูปอ่อนกับรูปแข็ง บางครั้งไม่ปรากฏลักษณะชัดเจน จะว่าอ่อนก็ไม่ใช่ จะว่าแข็งก็ยังไม่ชัด เช่น ที่นอนที่บรรจุนุ่นไว้แน่นๆ ไม่อ่อนมาก บางครั้งก็เหมือนว่าแข็ง แต่ก็ยังอ่อนกว่ากระดาน จะพิจารณาว่าอ่อนหรือแข็งดี

    ธัม. ปัญหาอยู่ที่ว่า ถ้ามีคนอื่นถามว่า แข็งหรืออ่อน ก็ไม่รู้ว่าจะตอบว่าอย่างไร แข็งก็ไม่ใช่ อ่อนก็ไม่ใช่ นั่นไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน อยากจะเรียกชื่อ อยากจะแบ่งให้เป็นแข็งแน่นอน หรืออ่อนแน่นอน แต่ไม่ต้องแบ่ง ไม่ต้องใส่ชื่อที่ถูกต้อง เพราะแข็งหรืออ่อนก็เป็นธาตุดินเหมือนกัน ธาตุดินไม่ใช่เรา ถ้าพยายามจะนึกให้ออกว่า แข็งหรืออ่อนกันแน่ ก็ไม่ได้เจริญสติ ไม่ได้ใส่ใจในลักษณะในขณะนั้น แต่ต้องการเป็น ๑ ใน ๒ ต้องการตัดสินว่า จะเรียกว่าอะไรดี อะไรถูก แข็งน้อยหรือว่าอ่อนมาก อ่อนน้อยหรือแข็งมาก ไม่รู้จะเรียกอย่างไรถูก นั่นไม่ใช่ขณะที่เจริญ สติปัฏฐาน ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานไม่สนใจที่จะบอกได้ถูกว่า อ่อนแน่หรือแข็งแน่ ไม่สำคัญ

    ถ. สภาพตึงไม่ค่อยปรากฏ ช่วยยกตัวอย่างสภาพเคร่งตึง

    ธัม. ยกขึ้นมาแสดงอย่างไร ไม่ใช่เย็น ไม่ใช่ร้อน ไม่ใช่แข็ง ไม่ใช่อ่อน แต่ปรากฏทางกาย ยังไม่ปรากฏ ไม่เป็นไร แต่ถ้าไม่ใช่เย็นร้อน ไม่ใช่อ่อนแข็ง และปรากฏทางกาย คือ ไม่ใช่ทางตา ไม่ใช่ทางหู ไม่ใช่ทางจมูก ไม่ใช่ทางลิ้น จะเป็นอะไร

    สุ. ขอกราบนมัสการพระคุณเจ้า ที่เมตตาอนุเคราะห์แสดงธรรม ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในวันนี้ เจ้าค่ะ

    เรื่องของสมถภาวนาข้อต่อไป สำหรับอารมณ์ของสมถกัมมัฏฐานมี ๔๐ ที่ได้กล่าวถึงแล้ว คือ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ และอนุสสติ ๑๐ ซึ่งกล่าวถึงแล้ว ๘ ประการ คือ พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ เทวตานุสสติ อุปสมานุสสติ และมรณานุสสติ ที่ยังเหลืออยู่ คือ กายคตาสติ และ อานาปานสติ ในหมวดของอนุสสติ ๑๐

    และพรหมวิหาร ๔ อรูปกัมมัฏฐาน ๔ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ การระลึกถึงความเป็นปฏิกูลของอาหาร และจตุธาตุววัฏฐาน ๑ การกำหนดธาตุ โดยนัยของ สมถภาวนา รวมทั้งหมดเป็นสมถกัมมัฏฐาน ๔๐

    สำหรับสมถกัมมัฏฐานที่เหลือ คือ อนุสสติอีก ๒ ได้แก่ กายคตาสติ การระลึกถึงส่วนต่างๆ ของกายแล้วเกิดความสงบจากโลภะ โทสะ โมหะ และ อานาปานสติ การระลึกถึงลมหายใจแล้วจิตสงบ รวมทั้งสมถกัมมัฏฐานที่เหลือ คือ พรหมวิหาร ๔ ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ และจตุธาตุววัฏฐาน ๑ ทั้งหมดนี้จะขอกล่าวรวมกันไป โดยนัยของพระธรรมที่ พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎก ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ไม่แยกกับการเจริญสติปัฏฐาน

    ไม่ว่าจะทรงแสดงเรื่องของความสงบขั้นต่างๆ โดยการเจริญกสิณ หรืออสุภะ หรืออนุสสติ หรือการระลึกถึงความตาย การระลึกถึงส่วนต่างๆ ของกาย การระลึกถึงลมหายใจ หรือว่าเวลาที่ควรแก่การที่จะเกิดเมตตา ควรแก่การที่จะเกิดกรุณา ควรแก่การที่จะเกิดมุทิตา คือ ยินดีด้วยในความสุขของผู้อื่น และอุเบกขา หรือการระลึกถึงอาหาร และมีความรู้สึกเป็นปฏิกูล ก็ทำให้ละคลายความติดในรสอาหาร หรือการระลึกถึงธาตุที่ปรากฏที่กาย โดยอาการของธาตุดินซึ่งแข้นแข็ง ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ทั้งหมดนี้พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงแสดงเพียงเพื่อให้จิตสงบ แต่ว่าได้ทรงแสดงธรรมที่ประกอบด้วยการอบรมเจริญปัญญาซึ่งเป็นโพธิปักขิยธรรม ที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ตลอดทุกพระสูตร ไม่ว่าท่านผู้ฟังจะอ่านในพระสูตรไหนก็ตาม ถ้าเป็นเรื่องการเจริญความสงบในเบื้องต้น จะเห็นได้ว่า ไม่ได้สิ้นสุดเพียงแค่การเจริญความสงบจนกระทั่งถึงฌานขั้นต่างๆ จนกระทั่งถึงอรูปฌานขั้นสูงสุด คือ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน แต่จะต้องประกอบด้วยปัญญา ซึ่งเป็นโพธิปักขิยธรรมที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมด้วย

    เรื่องของการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม เป็นเรื่องละเอียด เป็นเรื่องที่เป็นอนัตตา ไม่ใช่จะเกิดได้ตามความต้องการ แต่เป็นเรื่องของสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งตั้งแต่ขั้นของการฟัง ขั้นของการพิจารณา ขั้นที่เกิดความเข้าใจ ขั้นที่สติจะเกิดขึ้น เป็นสติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ในขณะนี้ตามปกติตามความเป็นจริง

    ท่านที่มีความเข้าใจถูกในเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน จะเห็นได้ว่า เป็นเรื่องที่จะต้องอบรมเจริญไม่ใช่เพียงตลอดชีวิตนี้ แต่เป็นกัปๆ จนกว่าปัญญาจะถึงความสมบูรณ์ที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    บางท่านอาจจะคิดว่า ช่างเป็นหนทางที่ไกลมาก ยาวเหลือเกิน แต่ถ้าคิดถึงการขึ้นภูเขาสูงๆ ท่านจะเห็นได้ว่า ต้องใช้เวลาที่นานมาก และต้องก้าวไปทีละก้าวๆ จนกว่าจะถึงด้วยความยากลำบาก เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมจะต้องยากกว่านั้นไหม เพราะไม่ใช่เป็นทีละก้าว แต่เป็นทีละขณะจิต ขณะนี้จิตเกิดดับทางตารวดเร็วมาก ทางหูที่กำลังได้ยิน ที่กำลังเข้าใจ จิตก็เกิดดับอย่างรวดเร็วมาก ทีละขณะ ผ่านไปแล้ว เกิดขึ้นเป็นกุศล หรือว่าอกุศล

    ถ้าเกิดขึ้นเป็นกุศล เป็นไปในการฟังเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน หรือว่าเป็นสติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะที่กำลังฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน ก็เป็นหนทางที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม

    แต่ถ้าเป็นกุศลขั้นอื่น ไม่ว่าจะเป็นขั้นทาน หรือขั้นศีล หรือขั้นความสงบ ถึงแม้ว่าจิตจะสงบมั่นคงขึ้นโดยนัยของการเจริญสมถภาวนา จนกระทั่งถึงฌานจิตขั้นสูงที่สุด คือ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ซึ่งเป็นอรูปฌานยากแก่การที่จะถึง แต่แม้อย่างนั้น ก็ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมที่กำลังเกิดดับตามปกติตามความเป็นจริงด้วยความสงบขั้นนั้น แต่ต้องเป็นการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้

    จิตเกิดดับอย่างรวดเร็วมาก ซึ่งตามปกติในชีวิตประจำวันย่อมเป็นอกุศล น้อยครั้งที่จะเป็นกุศล และก็น้อยครั้งด้วยที่จะเป็นสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น ขอให้คิดถึงหนทางจริงๆ ว่า จะไกลสักแค่ไหนที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะต้องเป็นการอบรมเจริญปัญญาทีละขณะจิต ทีละก้าวก็ยังดูมาก ในการเดินทางไปทีละก้าว ก้าวสั้น ก้าวยาว แต่ว่าทีละขณะจิต ในขณะที่ก้าวไป จิตเกิดดับมากมายทีเดียว และการที่จะอบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรม ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานเองย่อมรู้ว่า ขณะจิตของท่านซึ่งเกิดพร้อมสติที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ ตรงลักษณะที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ กี่ขณะจิตแล้ว

    ถ้ายังไม่มีสักขณะจิตเดียว ก็จะต้องอบรมไปจนกว่าจะเป็นทีละขณะ ๒ ขณะเรื่อยๆ ไป จนกว่าปัญญานั้นสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

    และถึงแม้ว่าพระผู้มีพระภาคจะได้ทรงแสดงกุศลประการต่างๆ ในขั้นของทาน ในขั้นของศีล ในขั้นของการอบรมความสงบของจิต แต่ว่าไม่ใช่จุดประสงค์เพียงเพื่อให้สงบอย่างมั่นคงถึงขั้นฌานต่างๆ แต่เพื่อที่สติจะเกิดขึ้นได้ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะมีข้อความในพระไตรปิฎกที่กล่าวถึงกายคตาสติโดยนัยของการเจริญสมถภาวนา หรือว่าข้อความในอรรถกถาที่กล่าวถึงการเจริญกายคตาสติ คือ การระลึกถึงส่วนต่างๆ ของกายเพื่อที่จะให้เกิดกุศลจิต แต่ก็อย่าลืมว่า จุดประสงค์นั้นไม่ใช่เพื่อประการอื่น แต่เพื่อแม้ในขณะนั้นนั่นเอง สติก็สามารถที่จะเกิดขึ้นเป็นสติปัฏฐาน ที่จะรู้ในลักษณะสภาพของจิตที่กำลังสงบ หรือว่ากำลังพิจารณากายส่วนต่างๆ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๘๖ ตอนที่ ๘๕๑ – ๘๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 81
    28 ธ.ค. 2564