แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 873


    ครั้งที่ ๘๗๓


    ถ. ผู้ที่จะท่องนั้น เขาก็ศึกษามาแล้ว เข้าใจแล้ว แต่ว่าผู้ที่ท่องจะพิจารณาโดยความเป็นปฏิกูลทุกครั้งเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ขณะที่ท่อง จุดมุ่งหมายก็เพื่อที่จะจำได้ว่า ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เพื่อที่จะให้คล่องปาก ขณะนั้นบางครั้งอาจจะไม่รู้สึกตัว หรืออาจจะไม่ได้พิจารณา ก็เป็นไปได้ ผมขอถามว่า ขณะที่ไม่ได้พิจารณาและไม่มีการรู้สึกตัว ขณะนั้นจิตเป็นกุศลหรือเปล่า

    อีกอย่างหนึ่ง เรื่องการเจริญสมถภาวนานั้น มีนิมิตเป็นขั้นต่างๆ มีตั้งแต่ บริกรรมนิมิต อุคคหนิมิต จนกระทั่งเป็นปฏิภาคนิมิต ผู้ที่จะเจริญสมถภาวนาได้ปฐมฌานจะต้องผ่านนิมิตทั้ง ๓ ขั้น ขณะที่ท่องโดยไม่มีการรู้สึกตัว และไม่ได้พิจารณา ขณะนั้นจะเป็นบริกรรมนิมิตได้ไหม

    สุ. เป็นกุศลหรือเปล่า ถ้าไม่เป็นกุศล ก็อย่าเป็นบริกรรมนิมิตเลย

    ถ. สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แต่ข้อปฏิบัติของท่าน ท่านก็แนะนำให้ท่อง ให้จำ และกำหนดว่า กี่วัน กี่เดือน กี่ชั่วโมง ให้ท่องทั้งวันทั้งคืนด้วย

    สุ. ขอประทานโทษ เรื่อง วจสา คือ การบอกโดยวาจานี้ เป็นหน้าที่ของอาจารย์ซึ่งท่านจะต้องบอกโดยสี โดยสัณฐาน โดยทิศ โดยโอกาส โดยปริจเฉท ซึ่งท่านผู้ฟังก็จะต้องเห็น หรือว่าพิจารณา น้อมไปโดยความเป็นปฏิกูลของอาการที่ต่างกันเป็นส่วนๆ ของธาตุดินและธาตุน้ำจริงๆ

    อย่างเช่น ถ้าพูดถึงเรื่องดี ยังสงสัยอยู่ว่าเป็นอย่างไร จะระงับความสงสัย และเป็นกุศลจิต สงบได้อย่างไร ในเมื่อยังมีความสงสัยอยู่ หรือพูดเรื่องม้าม เรื่องไต ก็ฟังมาเฉยๆ ยังไม่ได้มนสิการจริงๆ ที่จะให้เกิดความสงบเพราะพิจารณาความเป็นปฏิกูลได้ ยังไม่สิ้นความสงสัย เพราะฉะนั้น ขณะใดที่สงสัย ขณะใดที่ไม่รู้ ขณะนั้นไม่ใช่สงบ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    พึงสาธยายด้วยวาจา

    อ่านเพียงแค่นี้ ก็จะคิดว่าท่องเท่านั้น ใช่ไหม

    แต่ข้อความต่อไปมีว่า

    ก็ในปฏิกูลมนสิการกัมมัฏฐานนี้ แม้ภิกษุนั้นจะทรงพระไตรปิฎก ก็พึงทำการสาธยายด้วยวาจาก่อนในเวลาที่มนสิการ

    ขาดข้อความตอนหนึ่งตอนใดไม่ได้ ใช่ไหม

    เพราะเมื่อเธอผู้เดียวทำการสาธยายอยู่ กัมมัฏฐานย่อมปรากฏ

    ถ้าไม่มนสิการ จะปรากฏได้อย่างไร

    ถ. สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา บางครั้งอาจจะมนสิการก็ได้ บางครั้งขณะที่ท่องเร็วๆ ขณะนั้นอาจจะไม่ได้พิจารณาโดยความเป็นปฏิกูลก็ได้ เพราะจิตมุ่งที่จะจำได้

    สุ. ขอให้คิดถึงเด็กเล็กๆ ให้ท่องนี้เร็วมาก สภาพของจิตที่กำลังท่องต่างกันหรือเปล่า

    ถ. ขณะใดที่ท่องไปด้วย พิจารณาไปด้วย มีการรู้สึกตัวด้วย ขณะนั้นเป็นกุศล ไม่มีปัญหา ไม่สงสัย แต่สงสัยว่า ขณะที่จิตมุ่งที่จะท่องจำให้ได้ แต่ไม่ได้พิจารณา ไม่มีการรู้สึกตัว ขณะนั้นจะถือว่าจิตเป็นกุศล และถือว่าเป็นบริกรรมนิมิต ได้ไหม

    สุ. ขณะใดที่รู้แน่ว่าเป็นกุศล ไม่สงสัย ขณะนั้นก็เพราะเป็นกุศลจึง ไม่สงสัย ใช่ไหม นี่ก็เป็นคำตอบได้ ขณะใดที่รู้แน่ว่าเป็นกุศลจึงไม่สงสัย เพราะเป็นกุศล

    ถ. แต่อีกขณะหนึ่ง อาจจะเป็นกุศล แต่ว่าไม่ชัด

    สุ. ถ้าไม่แน่ ไม่ชัด อาจจะ ก็เพราะไม่ใช่ลักษณะของกุศล จึงไม่แน่ ไม่ชัด และสงสัย เรื่องของการที่จะรู้จริงๆ ว่า ขณะใดเป็นกุศลจิต ขณะใดเป็นอกุศลจิต ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเป็นขณะที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะจริงๆ เพราะสติระลึกในลักษณะสภาพของจิตขณะนั้น และปัญญาต้องรู้ ต้องพิจารณา จึงจะสามารถที่จะรู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล แต่ถ้าอยู่ในตำรา เรื่องของกุศลจิตและอกุศลจิตทั้งหมดมีกี่ดวง เกิดขึ้นเพราะอะไร ประกอบด้วยเจตสิกเท่าไร ถ้าเป็นเรื่องที่อยู่ในตำรา ไม่ใช่ขณะที่สติสัมปชัญญะกำลังระลึกรู้จริงๆ ขณะนั้นจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่า โดยแท้จริงแล้ว ขณะหนึ่งๆ นั้น จิตเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เพราะไม่ใช่ตัวตนที่รู้ และไม่ใช่ขณะที่เพียงรู้เรื่อง แต่ต้องในขณะที่สภาพของจิตนั้นๆ ปรากฏเกิดขึ้น จึงต้องเป็นสติและสัมปชัญญะเท่านั้นที่จะรู้ได้

    เพราะฉะนั้น เรื่องของการอบรมเจริญปัญญาที่เป็นภาวนาไม่ใช่เรื่องรีบร้อน แต่ต้องเป็นการอบรมด้วยปัญญาจริงๆ ที่จะรู้ชัดว่า เป็นสมถะ หรือว่าเป็นวิปัสสนา

    ขอกล่าวถึงข้อความใน สัมโมหวิโนทนี ต่อไป เพื่อจะให้ท่านผู้ฟังเห็นว่าการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้า ไม่จำเป็นต้องบรรลุถึงฌานจิต

    ข้อความต่อไปในหัวข้อ พึงสาธยายด้วยวาจา มีว่า

    ... เพราะเมื่อเธอผู้เดียวทำการสาธยายอยู่ กัมมัฏฐานย่อมปรากฏ เหมือนพระเถระ ๒ รูป ผู้เรียนกัมมัฏฐานในสำนักของพระมหาเทวเถระ ผู้อยู่ใน มลยะประเทศ ได้ยินว่า พระมหาเทวเถระ อันพระเถระ ๒ รูปนั้นขอกัมมัฏฐานแล้ว ได้ให้ทวัตติงสาการบาลี (คือ เรื่องของผม ขน เล็บ ฟัน หนัง) โดยสั่งว่า ท่านทั้งหลายจงทำการสาธยายนี้ อย่างนี้ ตลอด ๔ เดือน

    อย่างนี้ คืออย่างไหน จะต้องอธิบายให้พระเถระทั้ง ๒ รูปนั้นทราบด้วย

    พระเถระทั้ง ๒ นั้น แม้มีนิกาย ๒ – ๓ นิกายเหล่านั้นคล่องแคล่วแล้วก็จริง ถึงอย่างนั้น เพราะความที่ตนมีปกติรับโอวาทโดยความเคารพ จึงได้สาธยายทวัตติงสาการตลอด ๔ เดือน ได้เป็นพระโสดาบันแล้ว

    นี่คือชีวิตตามความเป็นจริง ท่านผู้ใดในขณะนี้เกิดจะนึกถึง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง อาจจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ไหม

    ขณะไหนก็ได้ในการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่ได้มีกำหนดกฎเกณฑ์ว่า ต้องอย่างนี้เสียก่อน หรือว่าขณะนั้นไม่ได้ ขณะนี้ไม่ได้ ในขณะที่ฟังธรรมไม่ว่าพระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงธรรมเรื่องอะไร ผู้ฟังบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยบุคคล บางท่านเป็นพระโสดาบัน บางท่านเป็นพระสกทาคามี บางท่านเป็นพระอนาคามี บางท่านเป็นพระอรหันต์ เรื่องเดียวกัน และไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นเรื่องมหาสติปัฏฐาน เพราะท่านเหล่านั้นเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานแล้ว เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะฟังธรรมอะไร หรือจะสาธยาย หรือจะมนสิการอะไร ปัญญาที่ได้อบรมเจริญแล้วสามารถที่จะเกิดขึ้น รู้แจ้งอริยสัจธรรมในขณะนั้นได้ แต่การที่ทรงแสดงเรื่องของสมถภาวนาไว้ ก็เพราะปกติไม่มีใครสามารถที่จะหยุดคิดได้

    เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ แทนที่จะให้อวิชชาและอกุศลทั้งหลายเป็นปัจจัยให้เกิดการคิดที่เป็นไปในอกุศลทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงเรื่องของกุศลทั้งหลาย ทั้งการที่จะให้จิตสงบ ทั้งการอบรมเจริญปัญญาเพื่อเป็นปัจจัยสำหรับเมื่อไม่สามารถที่จะหยุดคิด ก็ให้คิดด้วยกุศลจิตที่เป็นไปในความสงบ และปัญญาที่เกิดจากการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมในขณะนั้นตามความเป็นจริงได้

    อาการของธาตุน้ำต่อไป อาการที่ ๓๐ คือ สิงฆานิกา น้ำมูก

    คำว่า สิงฺฆานิกา ได้แก่ น้ำไม่สะอาดที่ไหลออกจากมันสมอง น้ำมูกนั้น โดยสี มีสีดังเยื่อในเม็ดจาวตาลอ่อน โดยสัณฐาน มีสัณฐานตามที่ตั้งอยู่ โดยทิศ เกิดในทิศเบื้องบน

    ขณะนี้ คือ ขณะที่จะสาธยาย ซึ่งก่อนที่จะสาธยายคำว่า สิงฺฆานิกา หรือว่า น้ำมูก จะต้องรู้ในอาการที่เป็นปฏิกูลของน้ำมูกจริงๆ ก่อน ไม่ใช่ปากเปล่าโดยไม่รู้ลักษณะที่เป็นปฏิกูล และต้องรู้โดยละเอียดด้วย เพื่อให้จิตสามารถที่จะนึกได้นาน นึกได้ชัด และเห็นความเป็นปฏิกูลจริงๆ

    โดยสัณฐาน มีสัณฐานตามที่ตั้งอยู่ โดยทิศ เกิดในทิศเบื้องบน โดยโอกาส ตั้งอยู่เต็มโพรงจมูก แต่มิได้ขังอยู่ในที่นั้นทุกเมื่อ ก็แลเมื่อใดสัตว์ทั้งหลายร้องไห้ หรือเป็นผู้มีธาตุกำเริบอันเกิดขึ้นด้วยอาหารอันแสลง หรือฤดู คือ อุตุ เปลี่ยนแปลง เมื่อนั้นมันสมองที่ถึงความเป็นเสมหะเสีย คือ บูดเน่า จึงเคลื่อนจากภายในศีรษะ หยั่งลงตามช่องเพดานข้างบนมาตั้งอยู่เต็มโพรงจมูก หรือย่อมไหลออกไป เปรียบเหมือนคนห่อนมส้มด้วยใบบัว แล้วเอาหนามแทงข้างล่าง ทีนั้นน้ำเหลวใสของนมส้ม ก็จะไหลออกตามช่องนั้น แล้วพึงตกไปภายนอก ฉะนั้น

    ก็พระโยคีผู้กำหนดน้ำมูกเป็นอารมณ์ พึงกำหนดด้วยสามารถแห่งน้ำมูกที่ตั้งอยู่เต็มจมูกแล

    ว่าโดยปริจเฉท กำหนดโดยส่วนที่เป็นน้ำมูก นี้เป็นสภาคปริจเฉทของน้ำมูก ส่วนวิสภาคปริจเฉท เช่นกับผมนั่นแหละ

    จริงใช่ไหม น้ำมูกไม่ได้มีอยู่ตลอดเวลา เวลานี้ถ้าใครสุขภาพดี ไม่ได้ร้องไห้ หรือว่าไม่มีธาตุกำเริบประการหนึ่งประการใด มีน้ำมูกในโพรงจมูกไหม ไม่มี แต่ว่าเมื่อใดที่ธาตุกำเริบ หรือร้องไห้ เมื่อนั้นมันสมองที่ถึงความเป็นเสมหะเสียก็เคลื่อนจากภายในศีรษะ หยั่งลงตามช่องเพดานข้างบนมาตั้งอยู่เต็มโพรงจมูก อึดอัดๆ หายใจก็ไม่สะดวกเวลาที่เป็นอย่างนี้ หรือย่อมไหลออก ก็เป็นสิ่งที่จะพิจารณาได้ เวลาที่มีน้ำมูกเป็นอารมณ์ ก็กำหนดโดยส่วนที่เป็นน้ำมูกที่ตั้งอยู่เต็มจมูก

    อาการของธาตุน้ำ อาการที่ ๓๑ คือ ลสิกา ไขข้อ

    คำว่า ลสิกา ได้แก่ ไขลื่น เป็นมัน เช่นกับน้ำมันหล่อลื่นที่มีกลิ่นสาป เหม็นสางภายในข้อต่อของร่างกาย

    อยู่ข้างในเสียจนมิดชิด กลิ่นจึงไม่ปรากฏ แต่เมื่อใดออกมา หรือว่าเปิดเผยออกมา กลิ่นย่อมจะปรากฏให้เห็นความเป็นปฏิกูลด้วย

    ไขข้อนั้น ว่าโดยสี มีสีดังยางดอกกรรณิการ์ โดยสัณฐาน มีสัณฐานตามที่ตั้งอยู่ โดยทิศ เกิดในทิศทั้งสอง โดยโอกาส ตั้งอยู่ภายในข้อต่อ ๑๘๐ แห่ง ซึ่งทำกิจ คือ ฉาบทาข้อต่อกระดูกทั้งหลายให้สำเร็จอยู่ ก็ไขข้อนั้นของผู้ใดมีน้อยไป เมื่อ ผู้นั้นลุกขึ้น นั่งลง ก้าวไปข้างหน้า ถอยกลับมาข้างหลัง คู้ เหยียด กระดูกทั้งหลายจะลั่นดังกฏะๆ เหมือนคนเที่ยวดีดนิ้วมือ และสำหรับคนที่มีไขข้อน้อย เมื่อเดินทางไกลแม้ประมาณโยชน์หนึ่ง หรือ ๒ โยชน์ วาโยธาตุก็จะกำเริบ ร่างกายย่อมเป็นทุกข์ แต่ของผู้ใดมีมาก กระดูกทั้งหลายย่อมไม่ส่งเสียงดังกฏะๆ ในเวลาลุกขึ้น และนั่งลง เป็นต้น เมื่อเดินทางไกลวาโยธาตุก็ไม่กำเริบ ร่างกายก็ไม่เป็นทุกข์

    ท่านที่ยังไม่ชรา ยังไม่ได้ยินเสียงกฏะๆ ตามข้อ แต่ให้ทราบว่า ไขข้อนี้ที่มีอยู่ เป็นธาตุน้ำซึ่งทำให้ร่างกายดำเนินไปด้วยดี แต่ถ้ามีน้อยไปจะได้ยินเสียงแน่ๆ ไม่ว่าจะลุกขึ้น นั่งลง ก้าวไปข้างหน้า ถอยกลับมาข้างหลัง

    อาการต่อไป คือ อาการที่ ๓๒ มุตฺตํ น้ำปัสสาวะ

    น้ำปัสสาวะ โดยสี มีสีดังน้ำด่างถั่วมาส คือ ถั่วเขียวชนิดหนึ่ง โดยสัณฐาน มีสัณฐานดังน้ำที่อยู่ภายในหม้อน้ำอันเขาปิดปากตั้งไว้ โดยทิศ เกิดในทิศเบื้องต่ำ โดยโอกาส ตั้งอยู่ภายในกระเพาะปัสสาวะ ถุงกระเพาะปัสสาวะท่านเรียกชื่อว่า กระเพาะปัสสาวะ ในที่ไรเล่าน้ำปัสสาวะจากสรีระย่อมไหลเข้าไป แต่ทางเป็นที่เข้าไปของน้ำปัสสาวะนั้นย่อมไม่ปรากฏ ย่อมปรากฏแต่ทางเป็นที่ออกไป เปรียบเหมือน น้ำโสโครกย่อมไหล คือ ซึมเข้าไปในหม้อเกลืออันปิดปากที่เขาตั้งแช่ไว้ในแอ่ง น้ำโสโครก แต่ทางเป็นที่เข้าไปแห่งน้ำโสโครกนั้น ย่อมไม่ปรากฏฉันนั้นนั่นแหละ อนึ่ง ที่ไรเล่าเต็มแล้วด้วยน้ำมูตร ความขวนขวายของสัตว์ทั้งหลายว่า พวกเราจักกระทำปัสสาวะดังนี้ ย่อมมี ซึ่งสัตว์ทั้งหลายย่อมเกิดความขวนขวายว่า พวกเราจักกระทำปัสสาวะ

    เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ถ้าเต็มแล้ว ทุกคนต้องกระทำกิจ ไม่สามารถจะเก็บไว้ต่อไป เพราะหม้อน้ำเต็มแล้วก็ต้องไหลออกฉันใด น้ำปัสสาวะก็ฉันนั้น

    โดยปริจเฉท กำหนดภายในกระเพาะปัสสาวะ และส่วนที่เป็นปัสสาวะ นี้เป็นสภาคปริจเฉทของน้ำปัสสาวะนั้น แต่วิสภาคปริจเฉท เป็นเช่นเดียวกับเกสานั่นแหละ

    จบ อาการ ๓๒

    นี่เป็นอาการต่างๆ ของธาตุดินและธาตุน้ำ ซึ่งแสดงความเป็นปฏิกูล แต่ถ้ายังไม่มีโรคภัยเกิดขึ้น ก็ยากที่จะเห็นความเป็นปฏิกูล แม้แต่น้ำมูกก็ไม่ปรากฏให้เห็น น้ำลาย เสมหะ ก็ไม่ปรากฏ แต่ถ้ามีการเจ็บไข้ได้ป่วย สภาพความเป็นปฏิกูลก็จะปรากฏมากขึ้นตามอาการของโรค แล้วแต่ว่าท่านจะเป็นโรคร้ายแรงอย่างไร

    ขุททกนิกาย ติกนิบาตชาดก ชาดกที่ ๓ กายนิพพินทชาดก ข้อ ๔๗๘ – ข้อ ๔๘๐ มีข้อความที่กล่าวถึง ความเป็นปฏิกูลของร่างกาย เวลาที่มีโรคภัยเกิดขึ้นปรากฏ

    ข้อความมีว่า

    เมื่อเราถูกโรคอย่างหนึ่งถูกต้อง ได้เสวยทุกขเวทนาอย่างสาหัส อันทุกข์เวทนาเบียดเบียนอยู่ ร่างกายนี้ก็ซูบผอมลงอย่างรวดเร็ว ดุจดอกไม้ที่ทิ้งตากแดดไว้ที่ทราย ฉะนั้น

    ข้อความต่อไป เป็นข้อความที่แสดงว่า เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ก็ทำให้ระลึกถึงความจริงได้ว่า

    รูปร่างอันไม่น่าพอใจ ถึงการนับว่าน่าพอใจ ที่ไม่สะอาด สมมติว่าเป็นของสะอาด เต็มด้วยซากศพต่างๆ ปรากฏแก่คนพาลผู้ไม่พิจารณาเห็น ว่าเป็นของ น่าพอใจ

    ขณะใดที่พอใจในร่างกายนี้ครั้งหนึ่ง ก็รู้ตัวว่าเป็นคนพาล เพราะไม่พิจารณาเห็นรูปร่างอันไม่น่าพอใจ ก็ถึงการนับว่าน่าพอใจ กว่าจะเป็นบัณฑิตจะต้องอบรมเจริญปัญญามากจริงๆ ที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๘๘ ตอนที่ ๘๗๑ – ๘๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 81
    28 ธ.ค. 2564