แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 855


    ครั้งที่ ๘๕๕


    ถ. การเจริญวิปัสสนาดิฉันพอจะเข้าใจ คือ รู้สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นตามความเป็นจริง มีสติรู้ ไม่ใช่เรารู้ ก็รู้สึกว่าจะฟังง่ายหน่อย คือ เพียรระลึก แต่ก็ยังหลงลืมมากอยู่ แต่สมถภาวนารู้สึกว่าจะละเอียดไปกว่านั้น ยาก จะเป็นไปได้ไหม ดิฉันว่ายากกว่า

    สุ. ข้อความในพระไตรปิฎกมีว่า ผู้ที่อบรมเจริญความสงบ และสามารถที่จะบรรลุคุณธรรม คือ ฌานสมาบัติขั้นต่างๆ ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาก็สรรเสริญท่านผู้นั้นว่า เป็นการกระทำที่แสนยาก และสำหรับท่านที่อบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้โดยไม่ได้ประกอบด้วยฌาน ผู้ที่ได้อบรมฌานได้บรรลุฌานสมาบัติ ต่างๆ ก็สรรเสริญการอบรมเจริญปัญญาของท่านผู้นั้นว่า เป็นการกระทำที่แสนยาก

    ถ. ตกลงยากทั้งคู่ แต่การที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมโดยมีฌานจิตประกอบนั้นก็ยิ่งยากกว่า

    สุ. ถ้าจะต้องการผลทั้ง ๒ ประการ ก็ต้องยิ่งยาก มีท่านผู้ฟังถามว่า รายการนี้ไม่สอนเรื่องการปฏิบัติบ้างหรือ เพราะรู้สึกว่าจะเป็นแต่เรื่องการบรรยายและเป็นปริยัติ แต่ตามความเป็นจริง ถ้ามีความเข้าใจเรื่องของนามธรรมและรูปธรรม และเรื่องลักษณะของสติแล้ว จะมีปัจจัยที่สติจะเกิดขึ้นปฏิบัติธรรม กระทำกิจของสติ และปัญญาเกิดขึ้นพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ กระทำกิจของปัญญา เป็นการอบรมเจริญขึ้นของมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งได้แก่ เจตสิก ๘ ดวง เกิดขึ้นกระทำกิจบ่อยๆ เนืองๆ แต่ไม่ใช่เป็นตัวตน เป็นเรา ที่จะทำวิปัสสนา เพราะสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา

    ถ. เรื่องของมรณานุสสติ ใน วิสุทธิมรรค อ่านดูแล้วถ้าใครจะปฏิบัติคล้ายๆ กับให้นึกเอา ให้นึกว่าดุจเพชฌฆาตบ้าง ให้นึกว่าชีวิตนี้ การตายนี้ ไม่มีเครื่องหมายบ้าง การตายนี้ตายข้างนอกก็ได้ ตายข้างในก็ได้ และก็ให้นึกว่าการตาย ทุกๆ ขณะจิต อะไรๆ อีกตั้งหลายประการ ท่องมาไม่หมด คล้ายๆ กับว่า การท่องจำเป็นเหตุให้จิตสงบ อย่างนั้นใช่ไหม

    สุ. ไม่เกี่ยวข้องกับการจำ จำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะอยู่บนสวรรค์ หรือว่าในนรก ไม่ว่าในขณะกำลังเห็นบนสวรรค์หรือในนรก ได้ยินเสียงบนสวรรค์หรือในนรก สัญญาเจตสิกก็เป็นสภาพธรรมที่จำ เพราะฉะนั้น เมื่อสัญญาเจตสิกจำ และสืบต่อในจิตดวงต่อๆ ไป และก็สับสน มีการจำไม่รู้ว่ากี่ชาติในอดีตอนันตชาติ รวมทั้งในชาตินี้ด้วย เพราะฉะนั้น สัญญาก็จำสลับสับสนจนกระทั่งปรากฏเป็นอารมณ์ที่วิจิตรแปลกต่างๆ แต่ว่าขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพรู้ที่กำลังรู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้น ไม่ใช่การเจริญมรณสติ

    ถ. เพราะฉะนั้น ท่านพุทธโฆษาจารย์คงจะให้จำอย่างมั่นคง ไม่ให้สับสน ท่านจึงเขียนไว้ว่า การเจริญมรณานุสสตินี้ให้คิดว่า ดุจเหมือนเพชฌฆาต ให้คิดว่าตายทุกๆ ขณะจิต จะคิดแบบหนึ่งแบบใดก็คิดตลอดวัน ตลอดเดือน ตลอดชาติ จะได้ไม่สับสน จะทำให้จิตสงบได้ไหม

    สุ. เรื่องของความคิดเป็นสิ่งที่ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ไม่มีใครที่จะหยุดคิดได้ ถ้าใครสอนว่า เจริญปัญญาต้องหยุดคิด ก็หมายความว่า ไม่รู้เหตุปัจจัยที่จะให้สภาพธรรมเกิดขึ้นคิด เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้รู้ลักษณะของจิตที่กำลังคิดว่า ขณะที่คิดนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ถ้าเป็นกุศลย่อมเป็นไปใน สมถภาวนา เช่น การฟังธรรม มีการคิด และเข้าใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ในขณะที่ฟังและเข้าใจ ในขณะนั้นจิตสงบ ไม่ใช่ให้อยู่เฉยๆ ไม่คิด และก็ให้สงบ เป็นไปได้ไหมอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้น แม้มรณสติก็เช่นเดียวกัน ไม่ใช่อยู่เฉยๆ ก็ให้สงบ แต่ว่าขณะใดที่ระลึกถึงความตาย สัมปชัญญะจะต้องมีในขณะนั้นที่จะรู้ตามความเป็นจริงว่า ขณะที่คิดเรื่องมรณสตินั้นเป็นกุศลจิตที่คิด หรือว่าเป็นอกุศลจิตที่คิด ถ้ากุศลจิตคิดเรื่อง มรณสติบ่อยๆ ความสงบก็ย่อมเกิดบ่อยๆ เพราะว่าเป็นกุศล

    ถ. การเจริญมรณานุสสติ การระลึกถึงความตาย ให้พิจารณาว่า ความตายจักมี ชีวิตินทรีย์จะขาด และพิจารณาตามความเป็นจริงว่า ชีวิตเราขาดได้ง่าย

    สุ. กำลังพูดอย่างนี้ พิจารณาหรือเปล่า

    ถ. จิตจะเกิดพร้อมกันไม่ได้

    สุ. กำลังพูดอย่างนี้ พิจารณาหรือเปล่า

    ถ. ไม่ได้พิจารณา

    สุ. เพราะฉะนั้น สงบหรือไม่สงบ

    ถ. ไม่สงบ

    สุ. ก็ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า ขณะนี้เพียงแต่พูด หรือเพียงแต่ท่อง ยังไม่ใช่การพิจารณา ยังไม่ใช่กุศลที่ตรึกไปด้วยความสลดสังเวช เพราะฉะนั้น คนที่จะเจริญสมถภาวนาต้องเป็นผู้ที่มีปัญญารู้ตามความเป็นจริงในสภาพของจิตที่กำลังคิด ไม่ว่าจะคิดอะไรก็ตาม ว่าขณะนั้นเป็นกุศลจิตที่สงบที่คิด หรือว่าเป็นอกุศลที่ไม่สงบ แต่กำลังคิด

    ถ. การพิจารณาและเกิดความสงบนี้ จะเป็นสติปัฏฐาน หรือการเจริญความสงบ

    สุ. ถ้าเพียงสงบ แต่ไม่ระลึกรู้ลักษณะของความสงบว่า ไม่ใช่ตัวตน ขณะนั้นไม่ใช่สติปัฏฐาน

    ถ. ถ้าหากว่าสงบแล้ว ระลึกรู้ได้ไหม

    สุ. ขณะที่สติปัฏฐานเกิด ย่อมรู้ในสภาพที่สงบว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ได้มีความต้องการที่จะสงบขึ้น ละโลภะ ความยินดีพอใจในสิ่งที่ยังไม่เกิด แต่มีการศึกษารู้ชัดในสภาพธรรมที่มีแล้ว ปรากฏแล้ว เกิดขึ้นแล้ว และละการยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นตัวตน เพราะเป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้นเอง

    ถ. ถ้าหากพิจารณาความสงบ และสงบยิ่งขึ้นไป

    สุ. ก็ไม่เป็นไร ปัญญาจะต้องรู้ว่า ไม่ว่าความสงบนั้นจะสงบสักเท่าไร ก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละขณะเท่านั้นเอง ไม่ใช่ตัวตนสักขณะเดียว

    ถ. การเจริญสติปัฏฐานที่บุคคลประพฤติปฏิบัติมา ถ้าบุคคลที่ประพฤติปฏิบัติมานั้นบรรลุคุณธรรม และไปเจริญสมถกัมมัฏฐานต่อ จะเรียกว่าบุคคลนั้นเจริญสมาบัติได้ไหม

    สุ. แต่พระอริยบุคคลซึ่งเป็นพระอรหันต์โดยไม่ได้ฌานก็มี หมายความว่า อะไรเป็นสิ่งที่ประเสริฐสุด ความสงบเท่านั้น หรือว่าการรู้ชัดในสภาพธรรมจนสามารถที่จะดับกิเลสบรรลุคุณธรรมยิ่งขึ้นจากการเป็นพระโสดาบัน สู่ความเป็นพระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์

    ถ. ความสงบ กับความไม่สงบ อย่างไหนดีกว่ากัน

    สุ. ความไม่สงบเป็นอกุศล ไม่ดีแน่

    ถ. ถ้าอย่างนั้น เจริญความสงบแล้ว พิจารณาไปด้วยจะได้ไหม

    สุ. ถ้าเจริญปัญญา จะมิดีกว่าหรือ แล้วแต่ว่าจะสงบหรือไม่สงบก็ไม่ใช่เรา ไม่ดีกว่าที่จะต้องการความสงบก่อนหรือ

    ถ. ความสงบนี้ เมื่อสงบแล้วพิจารณา กับไม่สงบแล้วพิจารณา อย่างไหนจะชัดเจนกว่ากัน

    สุ. ขึ้นอยู่กับปัญญา ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับความสงบ สงบจนถึงขั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะ ซึ่งเป็นอรูปฌานที่ ๔ แต่ถ้าไม่ได้อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็ไม่สามารถที่จะละความยึดถือเนวสัญญานาสัญญายตนฌานซึ่งสงบยิ่งนั้นว่า ไม่ใช่เรา

    ถ. บุคคลผู้เข้าสมาบัติไม่ครบ ๘ นี้ จะเรียกว่าสมาบัติได้ไหม

    สุ. ได้ แต่ละขั้นก็เป็นสมาบัติแต่ละขั้น

    วันนี้เป็นโอกาสดีที่พระคุณเจ้าธัมมธโรภิกษุ ท่านได้เดินทางมาจากจังหวัดลำปาง ท่านศึกษาภาษาบาลีที่วัดท่ามะโอ ทุกท่านคงเคยได้ฟังพระคุณเจ้าธัมมธโร ครั้งหนึ่งแล้วเมื่อประมาณปีกว่าๆ

    ท่านเป็นผู้ที่มีความรู้ และมีความสามารถในการแสดงธรรม ทั้งภาษาไทยด้วย ท่านเพิ่งกลับจากประเทศศรีลังกา ซึ่งท่านได้กระทำกิจพระศาสนาที่ประเทศศรีลังกา เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาอย่างยิ่งของชาวศรีลังกา

    ดิฉันขอกราบนมัสการอาราธนาพระคุณเจ้า เจ้าค่ะ

    ธัม. อาตมาเป็นนักเรียนทางธรรม คือ เป็นนักเรียนชีวิต ถ้ามีใครมีปัญหาเกี่ยวกับการเจริญสติปัฏฐาน อยากจะถามก็เชิญ

    ถ. กราบนมัสการ ผมมีปัญหาข้องใจ วันนี้ไปฟังธรรมจากตำหนักสมเด็จ วัดมหาธาตุ อาจารย์ท่านบรรยายเรื่องการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน บรรยายไปๆ ถึงตอนที่ว่า ปัญญาแก่ก็ไม่ดี สติมากก็ไม่ดี ปัญญามากก็ไม่ดี ผมไม่เข้าใจจริงๆ

    ธัม. ไม่ทราบว่า เข้าใจคำถามหรือยัง แต่สำหรับสติไม่มีทางที่จะมากไปได้ นี่เป็นหลัก สำหรับอย่างอื่นๆ รู้สึกว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับขั้นของธรรมต่างๆ เป็นเรื่องละเอียด ผู้ที่มีปัญญาขั้นที่ได้มาจากการฟังธรรม จากการดูหนังสือ แต่ไม่มีศรัทธาในการเจริญสติปัฏฐาน รู้สึกว่าศรัทธายังไม่พอ ไม่อยากจะเรียกว่าปัญญาเกินไป แต่ศรัทธาไม่พอ

    ความจริงปัญญาเป็นสิ่งที่เข้าใจยาก รู้สึกว่าจุดประสงค์ของผู้ที่สนใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน คือ เจริญปัญญานั่นเอง ถ้าต้องการเจริญปัญญา แต่ไม่รู้จักปัญญา ไม่เข้าใจว่าปัญญาเป็นอย่างไร รู้สึกว่าเจริญยากหน่อย

    ปัญญามีหลายขั้น ปัญญาที่จะละกิเลสต้องเป็นปัญญาที่เจริญในขณะนี้ ต้องค่อยๆ รู้สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ไม่ใช่ขณะอื่น ถ้าเข้าใจผิด ก็คิดว่าปัญญาไม่เกี่ยวกับขณะนี้ แต่ขณะอื่นต่อไปจะรอให้เกิด นี่เข้าใจผิด เจริญปัญญาที่จะละกิเลสยังไม่ได้ ต้องเกี่ยวกับขณะนี้ เดี๋ยวนี้ ฟังเพื่อที่จะเข้าใจ เพื่อที่จะเกิดสติระลึกรู้ และพิจารณาศึกษาเข้าใจในลักษณะของธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ โดยลักษณะสภาพธรรมปรากฏอยู่แล้ว ไม่ต้องหามาจากไหน ไม่ต้องทำให้เกิดขึ้น ไม่ต้องทำให้ปรากฏ จะหนีจากธรรมไม่ได้ ประสบทุกๆ ขณะเฉพาะหน้า หนีไม่พ้น

    เดี๋ยวนี้ธรรมล้วนๆ ที่จะต้องรู้ สิ่งที่ยังไม่รู้จะต้องรู้ ถ้าจุดประสงค์เป็นอย่างอื่น หมายความว่าจุดประสงค์ไม่ใช่การเจริญปัญญาที่จะละกิเลสได้ บางทีอาจจะคิดว่าต้องการละกิเลส แต่เป็นความต้องการอย่างเดียวก็ได้ เพราะยังไม่เข้าใจว่ากิเลสเป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง ต้องการละ แต่อาจจะเป็นความต้องการมากกว่าความเข้าใจ เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจกิเลส ต้องเข้าใจโทษของกิเลส เป็นกิเลสเพราะอะไร เพราะมีโทษ โทษเป็นอย่างไร

    ไม่ทราบว่าจุดประสงค์ของท่าน เกี่ยวกับขณะนี้ เดี๋ยวนี้ไหม รู้สึกว่าเราต้องถามตัวเองบ่อยๆ ว่า จุดประสงค์ในชีวิตเป็นอย่างไร คิดว่าจะลืมบ่อยๆ ไม่มีสติก็ลืมแน่ เดี๋ยวนี้จุดประสงค์ในชีวิต ต้องการอะไรในชีวิต ถ้าจุดประสงค์ต้องการละกิเลสเป็นสมุจเฉท หมายความว่าปรินิพพานเป็นจุดประสงค์ ถ้าสำเร็จจุดประสงค์เดี๋ยวนี้จะเป็นอย่างไร คือ ปรินิพพานเดี๋ยวนี้ พร้อมหรือยังไม่ทราบ

    ต้องถามตัวเอง จุดประสงค์เป็นอย่างไรจริงๆ ปัญหาที่ถามมา อาจจะตอบไม่ได้อย่างละเอียดตามที่ท่านถาม เพราะว่าเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้างในคำถาม แต่ความจริงอาตมาอยากจะสนทนาเรื่องธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ถ้ามีคำถามที่ตรงกับจุดประสงค์ก็คงจะตอบได้

    ถ. กระผมมีความสงสัยเกี่ยวกับเรื่องของอานาปานสติกัมมัฏฐาน ซึ่งเป็นบรรพแรกของมหาสติปัฏฐานสูตร รู้สึกว่ายังเข้าใจไม่ถูก ยังเข้าใจไขว้เขว ไม่ทราบว่าจะจับเอาตอนไหนที่จะเป็นอารมณ์ของมหาสติปัฏฐาน หรืออารมณ์ของวิปัสสนา

    ธัม. โยมต้องการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ หรือต้องการจะรู้สิ่งที่ยังไม่ปรากฏ

    ถ. ต้องการรู้สิ่งที่ปรากฏ

    ธัม. เพราะถ้าต้องการสิ่งที่ไม่ปรากฏ ก็ประมาทขณะนี้ ประมาทปัจจุบันขณะนี้ ขณะนี้สติไม่เกิด ปัญญาไม่เจริญ เพราะว่าสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ไม่สนใจที่จะรู้ ไม่เห็นประโยชน์ของสติที่จะเกิดขณะนี้ ที่จะรู้สิ่งที่เกิดขึ้นปรากฏโดยเหตุปัจจัยพร้อมอยู่แล้วจึงเกิดขึ้นปรากฏได้ โดยไม่ต้องให้เกิดขึ้น ไม่ต้องให้ทำอะไรเลย เพราะว่าสภาพธรรมทำหน้าที่ของสภาพธรรมแต่ละอย่างอยู่แล้วในขณะนี้เอง



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๘๖ ตอนที่ ๘๕๑ – ๘๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 81
    28 ธ.ค. 2564