แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 865


    ครั้งที่ ๘๖๕


    ถ. สภาวธรรม เราก้าวไปก้าวหนึ่ง หมายความว่าขันธ์ ๕ ดับไป ใช่ไหม สังขารขันธ์ ใช่ไหม

    สุ. ขันธ์ ๕ เกิดดับเร็วมากแม้ในขณะที่ยังไม่ได้ก้าวไป ทุกๆ ขณะ นามธรรมและรูปธรรมเกิดดับเร็วจนดูเหมือนไม่เกิดและไม่ดับ นั่นคือความเร็วอย่างยิ่งของความเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม

    ถ. ต้องฟังมากๆ จึงจะเข้าใจ วันหนึ่งๆ ผ่านไป ดับไปเรื่อย กำหนดไม่ทัน

    สุ. สาวกทั้งหลายขาดการฟังไม่ได้เลย สาวโก คือ ผู้ฟัง สวนะ คือ การฟัง สุตัง คือ เรื่องที่ฟัง

    อบรมเจริญสติ ไม่ได้หมายความว่า จะบังคับสติ หรือหวังจะให้สติเกิดในขณะหนึ่งขณะใด แต่เป็นผู้ที่รู้ตามความเป็นจริงว่า สติเป็นอนัตตา และขณะไหน สติเกิด ขณะไหนหลงลืมสติ และอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะที่สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรมหรือนามธรรมตามความเป็นจริง เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายและไม่เร็ว แต่เป็นเรื่องที่จะต้องอบรมเจริญขึ้น และปัญญาจะค่อยๆ รู้ขึ้น

    ถ. ธรรมที่เป็นโลกียธรรม กับธรรมที่เป็นโลกุตตรธรรม แยกกันได้ไหม อย่างตาเห็นรูป ธรรมที่เป็นโลกียธรรมเป็นอย่างไร

    สุ. คำว่า โลก หรือโลกียะ หมายความถึงสภาพธรรมที่เกิดดับ

    ถ. สภาวะทุกอย่าง เกิดดับอยู่ในตัวหรือเปล่า

    สุ. นิพพานเท่านั้นเป็นสภาพธรรมที่ไม่เกิดดับ เพราะฉะนั้น ขณะที่ไม่ได้มีนิพพานเป็นอารมณ์ ขณะที่นิพพานไม่ได้ปรากฏ สิ่งอื่นปรากฏ สิ่งอื่นทั้งหมดนอกจากนิพพาน เกิดขึ้นแล้วดับไป เป็นโลกียะ

    ถ. สังขารของพระอรหันต์ เกิดดับอยู่หรือเปล่า

    สุ. สังขารของพระอรหันต์ ได้แก่ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ใช่ไหม เพราะหมายความถึงสังขารธรรม ถ้าใช้คำว่าสังขาร ที่จะไม่เกิดดับนั้นไม่มีเลย ถ้าใช้คำว่า สังขาร หรือว่าเป็นลักษณะของ สังขารธรรมแล้ว ต้องเกิดดับทั้งนั้น มิฉะนั้นก็ไม่ชื่อว่า สังขารธรรม

    ถ. สภาวะที่เกิดดับของพระอรหันต์ ไม่มีกิเลสใช่ไหม

    สุ. ไม่มี เพราะดับกิเลสหมด

    ถ. จิตเกิดดับอยู่หรือเปล่า ของพระอรหันต์

    สุ. จิตเป็นสภาพรู้ ไม่ใช่เตรียมพร้อมไว้ที่ไหน แต่เมื่อมีปัจจัยจึงเกิดขึ้น และก็ดับไป เป็นสังขารธรรม นิพพานเท่านั้นไม่ใช่สังขารธรรม เพราะฉะนั้น นิพพานเท่านั้นที่ไม่เกิดดับ เมื่อทราบว่า นิพพานเท่านั้นที่ไม่ใช่สังขารธรรม นิพพานเท่านั้นที่ไม่เกิดดับ ฉะนั้น อย่างอื่นทั้งหมดนอกจากนิพพานก็ต้องเกิดดับ ไม่ว่าจะเป็นจิต หรือเจตสิก หรือรูป

    ถ. อัตตา กับอนัตตา นี่ต่างกันใช่ไหม

    สุ. สภาพธรรมทั้งหลาย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน อัตตาเป็นความเห็นผิดที่เข้าใจว่า สภาพธรรมเป็นตัวตน

    ถ. สภาพที่เป็นอัตตา ก็เป็นอนัตตาด้วยใช่ไหม

    สุ. มิจฉาทิฏฐิ เป็นเจตสิกที่เป็นอกุศล เป็นอกุศลเจตสิก มีความเห็นผิดว่า อนัตตาเป็นอัตตา เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ เพราะไม่ใช่นิพพาน

    ถ. ถึงแม้ว่าสภาวะนั้นไม่ทราบตามความเป็นจริงว่า เป็นอนัตตา แต่สิ่งเหล่านั้นก็เป็นอนัตตา ใช่ไหม

    สุ. ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่มีธรรมสักอย่างเดียวซึ่งเป็นอัตตา

    ถ. การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ที่ว่าเป็นอัตตานี้ เป็นกรรมใช่ไหม

    สุ. หมายความว่า เป็นความเห็นผิด อกุศลเจตสิก มิจฉาทิฏฐิเกิดขึ้น เห็นอนัตตาเป็นอัตตา

    ถ. อย่างการตั้งใจเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ เป็นกรรม เป็นอัตตาหรือเปล่า

    สุ. แล้วแต่ว่าขณะนั้นมีความเห็นผิดหรือเปล่า สภาพธรรมเกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว ถ้าสติไม่เกิดตาม ไม่พิจารณา ย่อมไม่รู้ตามความเป็นจริง นอกจากเดา ขณะเมื่อครู่นี้เป็นกุศลหรืออกุศล ถ้าสติไม่เกิดตามรู้ลักษณะของสภาพที่ปรากฏ จะไม่รู้เลยว่าเป็นกุศลหรืออกุศล เพราะดับไปอย่างรวดเร็ว

    นี่เป็นประโยชน์ของการเจริญสติปัฏฐาน เพราะจะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏจริงๆ ไม่ใช่เพียงเดา หรือว่าคาดคะเน

    ถ. การพ้นผิด กับพ้นถูก ต่างกันอย่างไร

    สุ. ต่างกัน เพราะการพ้นผิดไม่ใช่การพ้นที่สามารถดับกิเลส หรือพ้นจากกิเลสได้จริงๆ

    ถ. แต่ทุกข์นั้นหมดไปไหม

    สุ. จะหมดได้อย่างไรในเมื่อยังมีเหตุของทุกข์ คือ กิเลสอยู่

    ถ. มิจฉาทิฏฐิสามารถที่จะพ้นได้ไหม

    สุ. ได้ ถ้าเจริญปัญญา ปัญญาสามารถที่จะดับมิจฉาทิฏฐิได้ ถ้าดับไม่ได้ก็ไม่มีพระพุทธเจ้า

    ถ. ปัญญาที่เห็นผิด

    สุ. ปัญญาที่เห็นผิด เป็นอย่างไร

    ถ. พ้นผิด

    สุ. พ้นผิดเป็นความเห็นผิด เข้าใจว่าพ้น ในขณะที่ไม่พ้นแต่เข้าใจว่าพ้น

    ถ. แต่สภาวะจริงไม่พ้น ใช่ไหม

    สุ. ไม่พ้น เป็นความเห็นผิด เป็นมิจฉาวิมุตติ เนื่องมาจากมิจฉาทิฏฐิ น่ากลัว ไม่พ้นก็คิดว่าพ้น

    สำหรับการที่จะพิจารณาส่วนต่างๆ ของกาย โดยอาการของกายคตาสติ อาการ ๓๒ จิตจะสงบได้เมื่อระลึกถึงส่วนต่างๆ ของกายของตน โดยนัยของ สมถภาวนาสามารถที่จะถึงอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิได้ แต่ไม่ใช่การระลึกถึงอาการของกายของบุคคลอื่น

    จุดประสงค์ที่สูงสุด คือ สติปัฏฐาน ที่จะรู้สภาพธรรมว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จึงสามารถบรรลุความเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี หรือแม้พระอรหันต์ได้ ในขณะที่ได้ยิน ได้ฟัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกายคตาสติ หรือว่าเรื่องอะไรก็ตาม

    อาการต่อไปของกาย ซึ่งเป็นอาการของธาตุดิน อาการที่ ๑๒ คือ

    คำว่า ยกนํ ได้แก่ แผ่นเนื้อปลายเป็นแฉก คือ ตับ ตับนั้นโดยสี มีสีไม่แดงจัด สีมีแดงปนเหลืองเป็นพื้น ดังสีหลังกลีบดอกบัวโกมุท ว่าโดยสัณฐาน ที่โคนเป็นอันเดียวกัน ที่ปลายเป็นคู่ มีสัณฐานดังใบทองหลาง อนึ่ง ตับของคนมีปัญญาอ่อน เป็นแผ่นใหญ่แผ่นเดียวเท่านั้น ตับของคนมีปัญญาเป็นแผ่นเล็กๆ ๒ หรือ ๓ แผ่น ว่าโดยทิศ เกิดแล้วในทิศเบื้องบน ว่าโดยโอกาส คือที่ตั้ง อาศัยข้างขวาตั้งอยู่ภายในถันทั้งสอง ว่าโดยปริจเฉท ตับกำหนดโดยส่วนที่เป็นตับ นี้เป็นสภาคปริจเฉทของตับนั้น แต่วิสภาคปริจเฉทเป็นเช่นกับเกสานั่นแหละ คือ โดยความต่างกันว่า ตับไม่ใช่ขน ไม่ใช่ผม ไม่ใช่เล็บ ไม่ใช่ส่วนอื่นๆ เป็นต้น

    อาการต่อไป ซึ่งเป็นอาการของธาตุดิน อาการที่ ๑๓ คือ

    คำว่า กิโลมกํ คือ พังพืด อยู่ในตัวทั้งหมด ได้แก่ เนื้อหุ้ม ๒ ชนิด โดยแยกเป็นพังพืดที่ปกปิดและไม่ปกปิด พังพืดแม้ทั้ง ๒ ว่าโดยสี มีสีขาวดังสีท่อนผ้าทำด้วยเปลือกไม้ ว่าโดยสัณฐาน มีสัณฐานตามที่ตั้งอยู่ของตน ว่าโดยทิศ พังพืดที่ปกปิด เกิดในทิศเบื้องบน พังพืดที่ไม่ปกปิด เกิดในทิศทั้ง ๒ ว่าโดยโอกาส พังพืดที่ปกปิด ตั้งคลุมหทัยและไต พังพืดที่ไม่ปกปิด ตั้งคลุมเนื้อภายใต้หนังในสรีระทั้งสิ้น ว่าโดยปริจเฉท คือ กำหนดว่าจากไหนถึงไหน ภายใต้กำหนดด้วยเนื้อ เบื้องบนกำหนดด้วยหนัง เบื้องขวางกำหนดด้วยส่วนที่เป็นพังพืด

    อาการที่เป็นธาตุดินอาการต่อไป อาการที่ ๑๔ คือ

    คำว่า ปิหกํ คือ ม้าม ม้ามนั้น ว่าโดยสี มีสีเขียวคล้ำ

    ในตัวมีหลายสี สีต่างๆ แต่ว่าปฏิกูลหมด ไม่เหมือนสีของแก้วมณี เพชรนิลจินดา ไข่มุก

    ว่าโดยสัณฐาน มีสัณฐานดังลิ้นลูกโคดำ มีขั้วยาวประมาณ ๗ นิ้ว ว่าโดยทิศ เกิดแล้วในทิศเบื้องบน ว่าโดยโอกาส อาศัยตั้งอยู่ข้างบนแผ่นท้องข้างขวาแห่งหัวใจ เมื่อม้ามออกไปภายนอกโดยการประหารด้วยเครื่องประหาร ความสิ้นไปแห่งชีวิตของสัตว์ย่อมจะมี ว่าโดยปริจเฉท กำหนดแล้วโดยส่วนที่เป็นม้าม

    อาการของธาตุดิน อาการที่ ๑๕ คือ

    คำว่า ปปฺผาสํ คือ ปอด เนื้อปอดแยกออกจะเป็นท่อนเนื้อ ๓๒ ปอดนั้นว่าโดยสี มีสีแดงดังสีผลมะเดื่อที่ไม่สุกเกินไป ว่าโดยสัณฐาน มีสัณฐานดังท่อนขนมหนาที่เขาตัดไม่เสมอกัน สีซีดเผือด เพราะความที่ปอดนั้นกระทบกับเตโชธาตุอันเกิดจากกรรมพุ่งขึ้นไป ว่าโดยทิศ เกิดแล้วในทิศเบื้องบน ว่าโดยโอกาส คือที่ตั้ง ตั้งห้อยคลุมหัวใจและตับในระหว่างแห่งถันทั้งสอง ในภายในสรีระ ว่าโดยปริจเฉท กำหนดโดยส่วนที่เป็นปอด นี้เป็นสภาคปริจเฉทของปอดนั้น

    อาการของธาตุดินอาการที่ ๑๖ คือ

    คำว่า อนฺตํ คือ ไส้ใหญ่ ได้แก่ ลำไส้ที่หักทบไปมาในที่ ๒ แห่ง สำหรับของบุรุษยาว ๓๒ ศอก ของสตรียาว ๒๘ ศอก ไส้ใหญ่นั้นๆ ว่าโดยสี มีสีขาวดังสีน้ำตาลกรวดหรือปูนขาว ว่าโดยสัณฐาน มีสัณฐานดังงู มีศีรษะอันขาดแล้วที่เขาวางขดไว้ในรางเลือด ว่าโดยทิศ เกิดแล้วในทิศทั้ง ๒ โดยโอกาส ตั้งอยู่ภายในสรีระอันเป็นที่สุดแห่งคอหอยและทวารหนัก เพราะความที่ลำไส้ใหญ่นั้น ในเบื้องบนที่คอหอยและเบื้องล่างที่ทวารหนักเนื่องเป็นอันเดียวกัน โดยปริจเฉท กำหนดโดยส่วนที่เป็น ไส้ใหญ่ นี้เป็นสภาคปริจเฉทของไส้ใหญ่นั้น แต่วิสภาคปริจเฉท เป็นเช่นกับเกสานั่นแหละ

    อาการต่อไปของธาตุดินอาการต่อไป คือ อาการที่ ๑๗

    คำว่า อนฺตคุณํ คือ ไส้น้อย ได้แก่ ไส้ที่พันในที่ขนดไส้ใหญ่ทั้งหลาย ไส้น้อยนั้น โดยสี มีสีขาวดังสีรากจงกลนี โดยสัณฐาน มีสัณฐานดังรากจงกลนีนั่นแหละ โดยทิศ เกิดในทิศทั้ง ๒ โดยโอกาส ไส้น้อยนั้นพันขนดไส้ใหญ่ยึดกันไว้โดยความเป็นอันเดียวกัน เหมือนสายพานของเครื่องยนต์ยึดตัวเครื่องยนต์ไว้ ในเวลาเป็นที่ดึงไปแห่งเครื่องยนต์ของนายช่างผู้กระทำการงานทั้งหลาย มีการเจาะและตัดเป็นต้น ตั้งอยู่ในระหว่างขดไส้ใหญ่ในที่ ๒ แห่ง ราวกะเชือกเส้นเล็กๆ ที่เขาเย็บติดขนดเชือกสำหรับเช็ดเท้าฉะนั้น โดยปริจเฉท กำหนดโดยส่วนที่เป็นไส้ใหญ่ นี้เป็นสภาคปริจเฉทของ ไส้เล็กนั้น แต่วิสภาคปริจเฉท เป็นเช่นกับเกสานั่นแหละ

    อาการต่อไปของธาตุดิน คือ อาการที่ ๑๘

    คำว่า อุทริยํ คือ อาหารใหม่

    ทุกท่านรับประทานอาหารเสมอ และไม่ค่อยจะเห็นความเป็นปฏิกูลของอาหาร แต่ว่าอาหารที่รับประทานนั้น เมื่อเข้าไปข้างในแล้วปฏิกูลมาก ถ้าได้พิจารณาแล้ว จะเห็นจริง

    อาหารใหม่ ได้แก่ อาหารที่กินแล้ว ดื่มแล้ว เคี้ยวแล้ว ลิ้มแล้ว มีอยู่ในท้อง อาหารใหม่นั้น โดยสี มีสีดังอาหารที่กลืนกินเข้าไปภายใน โดยสัณฐาน มีสัณฐานดังข้าวสารที่เขาใส่ไว้หย่อนๆ ในผ้ากรองน้ำ ที่เรียกว่าไถ้ โดยทิศ เกิดแล้วในทิศเบื้องบน โดยโอกาส ตั้งอยู่ในท้อง ซึ่งมีคำอธิบายว่า เป็นอวัยวะที่ปิดลำไส้ เป็นเช่นกับโปงที่เกิดตรงกลางผ้าเปียกที่เขารวบชายรวมกันไว้ ชื่อว่าท้อง อุทร ภายนอกเกลี้ยง ภายในเป็นของปฏิกูล เช่นกับผ้าห่อเศษเนื้อ และผ้าซับระดูที่เปื้อนแล้ว แม้การกล่าวว่า ในภายในแห่งอุทรนั้น เป็นเช่นกับในภายในของขนุนละมุดก็ควร กิมิชาติ คือ หนอนทั้งหลาย แยกเป็น ๓๒ ตระกูล มีพยาธิไส้เดือน พยาธิตัวกลม พยาธิเสี้ยนตาล พยาธิปากแหลม พยาธิตัวแบน พยาธิเส้นด้าย ดังนี้ ด้วยประการฉะนี้ เป็นต้น

    ถ้าไม่มีอาหารใหม่ที่ไปรวมๆ กันอยู่ในท้องซึ่งปฏิกูล พยาธิทั้งหลายเหล่านี้ คงจะไม่มีที่เกิด แต่เพราะอาหารที่เข้าไปสู่ลำไส้และไปสู่ท้องแล้ว ก็เป็นปฏิกูล เป็นปัจจัยให้พยาธิต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้น

    เกลื่อนกล่นมากมาย เที่ยวไปเป็นหมู่ อาศัยอยู่ในอุทร พยาธิเหล่าใด ครั้นเมื่ออาหารมีน้ำและข้าวเป็นต้น ไม่มีอยู่ ก็จะกระวนกระวาย กระเสือกกระสนไป ย่อมทำลายเนื้อที่อาศัยอยู่ แต่ในเวลาที่กลืนกินอาหารมีน้ำและข้าวเป็นต้น ก็จะพากันอ้าปากตะลีตะลาน ยื้อแย่งคำข้าวที่กลืนเข้าไป ครั้งแรกๆ ๒ – ๓ ครั้ง อุทรใด เป็นเรือนเกิด เป็นวัจจกุฎี (เป็นที่ถ่าย เป็นส้วม) เป็นโรงป่วย เป็นสุสานของกิมิชาติเหล่านั้น มีอยู่ในอุทรนั้น

    อาหารมีน้ำและข้าวเป็นต้น มีประการต่างๆ เป็นของแหลกละเอียดแล้ว ด้วยสาก คือ ฟัน พลิกกลับไปมาด้วยมือ คือ ลิ้น เกลือกกลั้วผสมด้วยน้ำลาย ในขณะนั้นก็มีคุณสมบัติแห่งสี กลิ่น และรส เป็นต้น ไปปราศแล้ว

    คือ หมดความน่าดู เวลาที่บดแล้วด้วยฟัน กลับไปกลับมาด้วยมือ คือ ลิ้น ในปาก และเกลือกกลั้วผสมด้วยน้ำลาย ในขณะนั้น ทั้งสี กลิ่น และรส ก็เป็นอัน ปราศไปจากความเป็นสิ่งที่น่าพอใจ

    เป็นเช่นกับรากสุนัข ตกไปในลำคอแล้ว ก็เป็นของเกลือกกลั้วด้วยน้ำดี เสมหะ และลม เดือดขึ้นแล้วด้วยกำลังแห่งความร้อนของไฟในท้อง

    ไม่ว่าอาหารนั้นจะแข็ง หรือว่าจะเป็นสิ่งที่เคี้ยวยากสักเท่าไรก็ตาม แต่ไฟ คือ เตโชธาตุในท้อง สามารถที่จะย่อย ที่จะบด จนกระทั่งละเอียดได้

    เป็นของเกลื่อนกล่นด้วยกิมิชาติ ปล่อยอยู่ซึ่งต่อมและฟองในเบื้องบนเรื่อยๆ

    เวลาที่ธาตุไฟเผาย่อยอาหารที่อยู่ในท้อง จะทำให้มีต่อมเป็นฟองเกิดขึ้นข้างบนอยู่เรื่อยๆ มีท่านผู้ใดเคยฟังเสียงท้องร้องบ้างไหม ขณะนี้ลองเอาหูของท่านไปแนบอยู่ที่ท้องของใครก็ได้ เพราะท่านไม่สามารถแนบที่ท้องของตนเองได้ จะเป็นท้องของ บุตรหลาน เพื่อนฝูงมิตรสหาย ก็ลองดู มีเสียงอยู่ตลอดเวลา มีธาตุไฟซึ่งเผาย่อยอาหารต่างๆ ทำให้มีต่อมและฟองในเบื้องบนอยู่เรื่อยๆ

    ถึงซึ่งความเป็นขยะ และความเป็นของน่ารังเกียจด้วยกลิ่นเหม็นอย่างยิ่ง ตั้งอยู่ เปรียบเหมือนเมื่อฝนเม็ดหนาตกอยู่ในฤดูแล้ง (ฤดูร้อน) กลุ่มของซากศพชนิดต่างๆ จำเดิมแต่ปัสสาวะ อุจจาระ ท่อนหนัง ท่อนกระดูก เอ็น น้ำลาย น้ำมูก โลหิต อันน้ำพัดไปตกลงในแอ่งน้ำครำ (น้ำโสโครก) ที่ประตูบ้านของคนจัณฑาล ผสมกับน้ำตมและโคลน โดยกาลล่วงไป ๒ – ๓ วัน ก็มีกิมิชาติ (หนอน) เกิดแล้ว เดือดขึ้น เดือดขึ้นแล้วด้วยความร้อน ด้วยกำลังแห่งแสงแดด ปล่อยอยู่ซึ่งต่อมและฟองในเบื้องบน มีสีเขียวคล้ำ เป็นของน่ารังเกียจด้วยกลิ่นเหม็นอย่างยิ่ง ถึงซึ่งความเป็นรูปไม่ควรเข้าใกล้ ไม่ควรเข้าไปใกล้ ไม่ควรเพื่อเห็น

    มีใครอยากดูบ้างไหม ฝนตก และในที่ที่ฝนตก มีทั้งอุจจาระ ปัสสาวะ ท่อนกระดูก เอ็น น้ำลาย น้ำมูก โลหิต ซึ่งน้ำพัดตกลงไปในแอ่งน้ำครำ และที่ประตูบ้านของคนจัณฑาล ซึ่งก็คงจะมีของที่เป็นปฏิกูลมากมาย เป็นขยะมากมาย ผสมกับ น้ำตม โคลน และถูกแดดเผา มีฟองขึ้นข้างบน มีสีเขียวคล้ำ เป็นของน่ารังเกียจ ด้วยกลิ่นเหม็นอย่างยิ่ง ถึงซึ่งความเป็นรูปไม่ควรเข้าไปใกล้

    ข้างนอกมีไหม ตามถนนหนทาง ซอกเล็กตรอกน้อย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากจะเข้าไปใกล้ ไม่ควรเพื่อเห็น ไม่มีใครอยากจะดู ที่ไม่อยากจะเข้าไปใกล้ คือ ไม่อยากกระทบ ไม่อยากสัมผัสแตะต้อง และไม่อยากเห็นด้วย แม้ฟังก็ไม่อยากฟัง ใช่ไหม ไม่อยากได้ยินได้ฟังเรื่องอย่างนี้ ที่ทำให้มีความรู้สึกรังเกียจเกิดขึ้น



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๘๗ ตอนที่ ๘๖๑ – ๘๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 81
    28 ธ.ค. 2564