แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 898


    ครั้งที่ ๘๙๘


    ชื่อว่าความยินดี ด้วยอรรถว่า พอใจ อธิบายว่า ทำให้อยาก

    มีความอยากอยู่เรื่อย อยากไม่รู้จักจบ เดี๋ยวอยากๆ นั่นเป็นลักษณะของความยินดีความพอใจที่เป็นโลภะ ไม่ใช่เมตตา

    ชื่อว่าความเพลิดเพลิน ด้วยอรรถว่า เป็นเหตุให้สัตว์เพลิดเพลินอยู่ในภพใดภพหนึ่ง หรือเพลิดเพลินเอง

    บางท่านกล่าวว่า เวลาฟังเรื่องการเจริญสติปัฏฐานแล้ว รู้สึกตรงกันข้ามกับความพอใจของตนที่เคยมี เพราะแม้ว่าจะฟังเรื่องการเจริญสติปัฏฐานก็ยังอยากเกิดอีก ทิ้งโลภะไปไม่ได้ เพราะว่าเป็นเรื่องของความอยากที่ทำให้สัตว์เพลิดเพลินอยู่ในภพใดภพหนึ่ง

    ชื่อว่าความกำหนัด ด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน ในข้อนั้น ตัณหาที่เกิดขึ้นครั้งเดียวในอารมณ์เดียว เรียกว่าความเพลิดเพลิน ที่เกิดอยู่บ่อยๆ เรียกว่า ความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน

    ที่ชื่อว่าความอยาก ด้วยอรรถว่า เป็นเหตุอยากอารมณ์ทั้งหลาย

    ไม่ใช่เพียงอยากข้าวอยากน้ำ แต่สารพัดอยาก ทุกขณะที่อยาก นั่นเป็นเรื่องของโลภะ ไม่ใช่เมตตา พอที่จะเห็นความต่างกันระหว่างโลภะกับเมตตาไหม ซึ่ง โลภะมีอยู่เป็นประจำ

    ที่ชื่อว่าความสยบ ด้วยอรรถว่า เป็นเหตุให้สัตว์สยบ โดยที่เป็นกิเลสมีกำลัง

    แพ้หรือชนะโลภะ ในชีวิตประจำวัน ไม่รู้ตัวเลยใช่ไหมว่าสยบอยู่ตลอดเวลา มีผู้ที่มีกำลังชักจูงไป มีอำนาจมากกว่า ให้เป็นไปตามความอยาก

    ที่ชื่อว่าความหมกมุ่น ด้วยอำนาจที่กลืนเอาไปเสียเสร็จสิ้น

    ในวันหนึ่งๆ ที่สติไม่ค่อยจะเกิดขึ้น ให้ทราบว่า ในขณะนั้นอะไรกลืนเอาไปเสียหมด แต่ถ้าขณะใดที่สติเกิดก็ให้ทราบว่า ขณะนั้นมีปัจจัยสะสมมาพอที่จะให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏบ้าง

    ที่ชื่อว่าความใคร่ ด้วยอรรถว่า เป็นเหตุให้สัตว์มุ่งหวังอย่างยิ่ง คือ ถึงความมุ่งหวังอย่างยิ่ง

    อะไรเป็นความหวังอย่างสูงสุดในชีวิตของแต่ละคน พิจารณาดีๆ ขณะนั้นเป็นความมุ่งหวังในกุศล หรือว่าในอกุศล ถ้าในอกุศล ก็เป็นตามลักษณะของโลภะนั่นเอง

    อีกอย่างหนึ่ง ที่ชื่อว่าความใคร่ เคโธ โดยความหมายว่า แน่นหนา ดังที่ตรัสไว้ว่า ความใคร่เป็นดังไพรสณฑ์ทึบ คือ เป็นป่าทึบ

    อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าปลิเคโธ ที่แปลไว้ว่า ความรักใคร่ ด้วยอรรถว่า เป็นความมุ่งหวังอย่างยิ่งโดยทุกส่วน

    ที่ชื่อว่าความข้องอยู่ โดยอรรถว่า เป็นเหตุให้สัตว์ติดอยู่

    ที่ชื่อว่าความจมลง โดยความหมายว่า จมลง

    ที่ชื่อว่าธรรมชาติผู้หลอกลวง โดยความหมายว่า ล่อสัตว์ไว้

    ที่ชื่อว่าธรรมชาติผู้ยังให้สัตว์เกิด โดยความหมายว่า เป็นเหตุให้สัตว์เกิดอยู่ในวัฏฏะ ดังที่ตรัสไว้ว่า ตัณหาย่อมยังบุรุษให้เกิด จิตของสัตว์นั้นย่อมพล่านไป

    ชื่อของตัณหามากมาย ยากที่จะจบ แต่ว่าลักษณะของตัณหาจริงๆ เป็นอย่างนั้นแต่ละลักษณะ แต่ละอาการที่ปรากฏ

    ที่ชื่อว่าธรรมชาติอันร้อยรัด โดยความหมายว่า สืบต่อไว้

    จริงอยู่ ธรรมชาตินี้ย่อมร้อยรัด คือ สืบต่อสัตว์ไว้ในวัฏฏะด้วยอำนาจจุติ และปฏิสนธิ เหมือนดังช่างชุนเอาท่อนผ้าเก่าชุนผ้าเก่าไว้ ฉะนั้น เหตุนั้นจึงตรัสว่า ธรรมชาติอันร้อยรัด

    ที่ชื่อว่าธรรมชาติอันกำซาบใจ ด้วยอรรถว่า เป็นเหมือนอย่างแม่น้ำมีกระแสเชี่ยว โดยความหมายว่า คร่ามา

    อีกอย่างหนึ่ง ที่ชื่อว่าสริตา ความกำซาบใจ โดยความหมายว่า ชุ่มใจ ดังที่ตรัสไว้ว่า โสมนัส ชุ่มใจ และถึงเสน่หา ย่อมมีแก่สัตว์

    ลักษณะของโลภะอาการอย่างนี้ในชีวิตประจำวันมีมากไหม บางท่านก็อ่านหนังสือนวนิยาย ดูละครโทรทัศน์ ดูหนัง มีความซาบซึ้งในละคร หรือว่าในหนังสือ นวนิยายต่างๆ ขณะนั้นเป็นลักษณะอาการหนึ่งของโลภะ ซึ่งชีวิตประจำวันของทุกท่านก็คงจะเป็นชีวิตที่ดูละครโทรทัศน์ หรือว่าอ่านนวนิยายต่างๆ ด้วย เพราะฉะนั้น ขณะนั้นให้ทราบว่า ความกำซาบใจ โดยความหมายว่า ชุ่มใจ เป็นลักษณะหนึ่งของโลภะ ขณะนั้นเมตตาหรือเปล่า จะเจริญเมตตาไหม เพราะว่าการอบรมเจริญเมตตาไม่ใช่ในขณะที่ท่อง แต่ขณะที่ระลึกได้ว่า อาการใดเป็นลักษณะของอกุศลจิต ไม่ใช่กุศลจิต จึงจะมีปัจจัยให้เมตตาเกิดขึ้นเป็นกุศลแทนที่จะเป็นอกุศล แต่ถ้าในขณะนั้นสติสัมปชัญญะไม่เกิด ก็สยบต่อโลภะ เป็นประจำ

    ที่ชื่อว่าวิสตฺติกา ที่แปลไว้ว่า ธรรมชาติอันซ่านไป ด้วยอรรถว่า แผ่ไป

    ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทั้งในละคร ในหนังสือ นวนิยาย ในบทกวี ในบทเพลง ไม่ว่าท่านจะมีความพอใจสะสมมาในทางไหน ก็ย่อมคล้อยไป และมีความรู้สึกซ่านไป แผ่ไปในอารมณ์ต่างๆ

    ชื่อว่าวิสตฺติกา ด้วยอรรถว่า ซึมซาบไป

    ชื่อว่าวิสตฺติกา ด้วยอรรถว่า ไพศาล

    ชื่อว่าวิสตฺติกา ด้วยอรรถว่า กระสับกระส่าย

    ชื่อว่าวิสตฺติกา ด้วยอรรถว่า ทำให้คลาดเคลื่อน

    ชื่อว่าวิสตฺติกา ด้วยอรรถว่า สังหารใจไปต่างๆ

    ซึ่งขณะนั้นไม่รู้ตัวเลยว่า โลภะกำลังสังหารใจ ทำให้จิตใจแปรปรวน และคลาดเคลื่อนไปในทางอกุศล

    ชื่อว่าวิสตฺติกา ด้วยอรรถว่า มีรากเป็นพิษ

    ชื่อว่าวิสตฺติกา ด้วยอรรถว่า มีผลเป็นพิษ

    ชื่อว่าวิสตฺติกา ด้วยอรรถว่า มีการบริโภคเป็นพิษ

    บางครั้งในอรรถกถาได้เปรียบเทียบลักษณะของโลภะว่า เหมือนกับรสของดินและน้ำ เวลาที่ปลูกพืชชนิดหนึ่งชนิดใดลงไป ทั้งรสของน้ำและรสของดินย่อมซึมซาบไปทุกส่วน ทั้งกิ่ง ต้น ใบ ดอก ผล ของต้นไม้นั้น ยากแก่การที่จะถ่ายถอน รวมทั้งความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนด้วย ซึ่งมีอยู่ในขณะที่มีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และในขณะที่คิดนึก ตลอดเวลา ซึมซาบไปทั่วหมดในขันธ์ทั้ง ๕ ในนามธรรมและในรูปธรรม เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาจะต้องเป็นเรื่องที่ละเอียด และเป็นเรื่องที่รู้จริง จนกระทั่งสามารถถ่ายถอนพิษซึ่งมีอยู่ที่ราก ที่ผล ที่ดอก ที่ต้น ที่ใบ ที่กิ่ง ทั้งหมด

    ก็หรือว่าตัณหานั้นแผ่ไป ชื่อว่าวิสตฺติกา ด้วยอรรถว่า แผ่ไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรม ตระกูล คณะ

    ท่านที่มีพวกพ้องหมู่คณะมาก ความรู้สึกของท่านที่มีต่อพวกพ้องหมู่คณะ เป็นอย่างไร นั่นคือลักษณะของความผูกพัน เป็นลักษณะของโลภะ ซึ่งแผ่ไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในธรรม ในตระกูล ในคณะ

    ที่ชื่อว่าธรรมชาติเหมือนเส้นด้าย ด้วยอรรถว่า เป็นธรรมชาติเหมือนเส้นด้ายผูกเต่า โดยความหมายว่า ให้ถึงความพินาศ ไม่ใช่ความเจริญ อันส่ายเสียซึ่งสุขให้พินาศ สมดังพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คำว่าธรรมชาติเหมือนเส้นด้ายนี้ เป็นชื่อแห่งความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน ดังนี้

    ที่ชื่อว่าธรรมชาติผู้ประมวลมา ด้วยอรรถว่า ยังสัตว์ให้ขวนขวายเพื่อประโยชน์แก่การได้เฉพาะซึ่งผลกรรมนั้นๆ

    จริงไหม นี่เป็นเรื่องที่จะต้องพิสูจน์ในชีวิตประจำวัน การกระทำแต่ละครั้งๆ มุ่งหวังสิ่งใดเป็นผล ถ้าเป็นด้วยอำนาจของโลภะ ย่อมเป็นทาสของการที่จะติดในผลนั้น ไม่สามารถที่จะพ้นจากความยินดีพอใจในผลนั้นได้

    ที่ชื่อว่าธรรมชาติเป็นเพื่อนสอง โดยความหมายว่า เป็นสหายโดยไม่ยอมให้เงยได้

    นอกจากนั้นยังมีข้อความที่ว่า

    ขึ้นชื่อว่าพวกพ้อง ที่จะเสมอด้วยกับตัณหาย่อมไม่มีแก่สัตว์ทั้งหลาย โดยความหมายว่า อาศัยกันอยู่เป็นประจำ

    ญาติพี่น้องที่ใกล้ชิดสนิทสนมคุ้นเคยกัน พบปะกันบ่อยๆ แต่ว่าใครที่จะอยู่ใกล้ยิ่งกว่าญาติสนิทมิตรสหาย คือ อยู่เป็นประจำ ธรรมชาตินั้น คือ ตัณหา ซึ่งอยู่ประจำใจ

    เวลาที่ไม่ได้ฟังธรรม หรือสติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นอะไรอยู่ด้วย มีธรรมชาตินั้นอยู่ด้วยเป็นประจำ คุ้นเคยสนิทสนมยิ่งกว่า ญาติมิตรพวกพ้องทั้งหลาย

    ด้วยเหตุนั้นจึงตรัสว่า

    บุรุษมีตัณหาเป็นเพื่อนสอง ท่องเที่ยวไปอยู่ สู่ความเป็นอย่างนี้ และความเป็นอย่างอื่น สิ้นกาลนาน ย่อมไม่พ้นสังสาระไปได้

    ที่ชื่อว่าปณิธาน ด้วยอำนาจตั้งจิตไว้ในอารมณ์

    เป็นประจำ ไม่ว่าจะคิดถึงอารมณ์อะไร ขณะนั้นก็มีความยินดีพอใจที่จะคิดถึง นึกถึงอารมณ์นั้น เพราะเป็นธรรมชาติที่ตั้งจิตไว้ในอารมณ์

    คำว่า ธรรมชาติผู้นำไปสู่ภพ ได้แก่ ธรรมชาติเปรียบเหมือนเชือกประจำภพ

    ถูกผูกไว้แล้วทุกคนๆ ไม่ได้พ้นเชือกนั้นไปได้เลย ไม่ว่าจะไปสู่ภพไหน ก็ไปตามเชือกที่ผูกไว้

    จริงอยู่ สัตว์ทั้งหลายถูกธรรมชาติเปรียบเหมือนเชือกประจำภพนี้ จูงไปสู่สถานที่ที่ปรารถนาแล้ว ที่ปรารถนาแล้ว เหมือนอย่างโคทั้งหลายที่ถูกเชือกล่ามคอไว้ ฉะนั้น

    ท่านผู้ฟังปรารถนาจะเกิดที่ไหน บางท่านก็จับจองด้วยอำนาจความพอใจ จะไปสู่ที่นั่นได้หรือเปล่าก็ยังไม่ทราบ แต่มีความยินดี พอใจ หวังแล้วจะไปสู่ที่นั้น เพราะบางท่านปรารถนาจะเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แต่ขณะใดที่เกิดในสวรรค์ ชั้นดาวดึงส์ ก็ไม่รู้ตัวว่า เหมือนโคถูกเชือกล่ามและจูงไปสู่ภพดาวดึงส์นั่นเอง ไม่ว่าจะไปสู่ที่ไหนทั้งสิ้น ไปตามเชือก คือ กำลังของความยินดีพอใจทั้งสิ้น

    ชื่อว่าวนํ ด้วยอรรถว่า เกี่ยวพันติดอารมณ์นั้นไว้

    ชื่อว่าวนํ ด้วยอรรถว่า วิงวอนร้องขอไว้

    ชื่อว่าวนํ ด้วยอรรถว่า ตัณหาเหมือนป่า โดยด้วยความหมายว่า ยังอนัตถะและทุกข์ให้ตั้งขึ้น

    ที่ชื่อว่าความเยื่อใย เนื่องด้วยความเสน่หา

    ที่ชื่อว่าความห่วงใย ด้วยอรรถว่า ห่วงใยด้วยอำนาจกระทำความอาลัย

    ไม่มีใครทราบว่า ท่านจะจากโลกนี้ไปเมื่อไร แต่ให้คิดถึงกำลังของตัณหาซึ่งเป็นความอาลัยที่ไม่อยากจะจากโลกนี้ไป ความอาลัยในทรัพย์สมบัติ ความติด ความพอใจในทรัพย์สมบัติ แม้แต่ในขณะที่ใกล้จะตาย ผู้ที่ใกล้จะตายอย่างที่สุด แม้ว่าจะไม่มีกำลังวังชา ไม่มีเรี่ยวแรงที่จะลุกขึ้นหยิบจับวัตถุทรัพย์สินสิ่งใดบริจาคให้เป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่น แต่ในความรู้สึกของผู้นั้น ทรัพย์สมบัติซึ่งแม้ไม่มีโอกาสจะจับ ก็ยังยึดถือว่าเป็นของเรา ทั้งๆ ที่ไม่มีเรี่ยวแรงกำลังวังชาที่จะลุกขึ้นไปหยิบ ไปจับ ไปครอบครอง แต่ความอาลัย คือ ใจซึ่งยึดถือทรัพย์สมบัติเหล่านั้น ไม่หมด ในขณะนั้นยังคงเห็นว่าเป็นของเราอยู่ แม้แต่ร่างกายซึ่งกำลังจะจากโลกนี้ไป ก็ยังเป็นตัวของเรา หรือว่ากายของเรา ถ้าปัญญาไม่รู้จริงๆ ว่า ไม่มีสักอย่างเดียวซึ่งจะยึดถือว่า เป็นของเราได้

    ลองขอสมบัติจากคนที่ใกล้จะตาย จะให้ไหม มีท่านผู้หนึ่งเล่าให้ฟังว่า ลูกของท่านกำลังจะสิ้นชีวิต ใส่แหวนไว้วงหนึ่ง ท่านก็ลองใจ ลองขยับแหวนนั้นดู ปรากฏว่าลูกของท่านกำไว้แน่น แม้ว่ากำลังจะจากโลกนี้ไปแล้ว

    นี่คือความอาลัยจริงๆ ซึ่งไม่สามารถที่จะพ้นไปได้ ถ้าไม่ได้อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้จริงๆ ว่า ไม่ควรที่จะยึดถือสิ่งใดว่าเป็นของเรา หรือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน

    ที่ชื่อว่าความผูกพัน ด้วยอรรถว่า ผูกพันไว้ในอารมณ์เฉพาะแต่ละอย่างๆ อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าความผูกพัน หรือพวกพ้องเฉพาะ แม้ด้วยอรรถว่า เป็นพวกพ้องเฉพาะแต่ละอย่าง โดยความหมายว่า เป็นญาติ

    ที่ชื่อว่าการหวัง เพราะการหวังอารมณ์ทั้งหลาย ความว่า เพราะท่วมทับ และเพราะบริโภคไม่เข้าถึงความอิ่มเสียเลย

    ที่ชื่อว่าธรรมชาติผู้กระซิบ ชปฺปา ด้วยอรรถว่า ยังสัตว์ทั้งหลายให้กระซิบอย่างนี้ว่า นี้ของฉัน นี้ของฉัน ดังนี้ หรือว่า สิ่งนี้คนโน้นให้แก่เรา สิ่งนี้ก็ให้

    นี่คือของฉันๆ นี่ก็ของฉัน นั่นก็ของฉัน ตลอดเวลา นั่นคือลักษณะของตัณหา ซึ่งเป็นธรรมชาติผู้กระซิบ

    ชื่อว่าอาวรณ์ ด้วยอรรถว่า กางกั้นกุศลธรรมทั้งหลาย

    ชื่อว่าเครื่องปิดบัง เกี่ยวกับปิดบังไว้

    ชื่อว่าเครื่องผูก ด้วยอรรถว่า ผูกสัตว์ไว้ในวัฏฏะ

    ชื่อว่าอุปกิเลส ด้วยอรรถว่า เข้าไปหาจิตแล้วให้เศร้าหมอง คือ กระทำให้เศร้าหมอง

    ชื่อว่าอนุสัย ด้วยอรรถว่า นอนเนื่อง โดยความหมายว่า ถึงความสามารถ

    ชื่อว่าปริยุฏฐาน ด้วยอรรถว่า เกิดขึ้นกลุ้มรุมจิต อธิบายว่า ยึดการประพฤติกุศลไว้โดยไม่ยอมให้เกิดขึ้น

    เวลาที่โลภะเกิด จะทำกุศลไหวไหม ไม่ว่าจะเป็นไปในทาน หรือศีล หรือ ความสงบ หรือว่าสติปัฏฐาน เวลานั้นมีเครื่องกั้น มีเครื่องปิดบัง ไม่ให้กุศลจิตเกิด ตามที่ทรงอุปมาว่า พวกโจรปล้นในหนทาง หรือว่าพวกนักเลงดักในหนทาง กำลังเดินอยู่ในหนทาง ในมรรคมีองค์ ๘ แต่ถึงกระนั้นก็มีพวกโจรปล้นในหนทางนั้น คือ บรรดาอกุศลทั้งหลาย มีโลภะ เป็นต้น เปรียบเหมือนพวกนักเลงดักในหนทาง ไม่ยอมที่จะให้ไปสู่จุดหมายโดยราบรื่น

    ตัณหาเหมือนเถาวัลย์ ด้วยอรรถว่า เปรียบดังเถาวัลย์ โดยความหมายว่า พันไว้รอบ และยังแตกแขนงตั้งอยู่ด้วย

    ชื่อว่ารากเหง้าแห่งทุกข์ ด้วยอรรถว่า เป็นมูลแห่งวัฏฏทุกข์.

    ชื่อว่าแดนเกิดแห่งทุกข์ ด้วยอรรถว่า ทุกข์นั้นเกิดจากนี้

    ที่ชื่อว่าบ่วง ด้วยอรรถว่า เปรียบเหมือนบ่วง โดยความหมายว่า ผูกไว้ ดุจบ่วงแห่งมาร

    ชื่อของตัณหามีมากมาย ยังไม่จบ และคงจะพบในที่ต่างๆ อีกมาก แม้ที่นำมากล่าวก็ยังไม่ครบทั้งหมดตามที่ได้แสดงไว้ใน อัฏฐสาลินี ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็น พระมหากรุณาคุณของพระผู้มีพระภาคที่ทรงแสดงลักษณะของธรรมโดยละเอียด แม้แต่โลภะ หรือตัณหา ถ้าไม่ทรงแสดงธรรมไว้โดยละเอียดจริงๆ จะไม่ทราบว่า แม้แต่เพียงความรู้สึกเล็กๆ น้อยๆ เช่น ความอาลัย ความผูกพัน ความรักพวกพ้องเหล่านี้ ก็เป็นลักษณะของอกุศลธรรม ที่เป็นสภาพของโลภะ

    ปรมัตถโชติกา อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ นิธิกัณฑ์ มีข้อความซึ่งอุปมาพระผู้มีพระภาคที่ทรงแสดงธรรมเกื้อกูลแก่สัตว์โลกโดยละเอียดว่า พระองค์ทรงเปรียบเหมือนพ่อค้าที่ขายสินค้า ซึ่งพรรณนาคุณประโยชน์ของสินค้าที่ขายนานาประการ เพื่อที่จะให้คนฟังเห็นประโยชน์ และซื้อสินค้านั้นไป

    พระองค์ทรงแสดงเรื่องกุศลธรรมไว้มาก และทรงแสดงชี้แจงเรื่องอกุศลธรรมทั้งหมดไว้โดยละเอียดเพื่อที่จะให้เห็นโทษของอกุศล และเห็นคุณของการอบรมเจริญกุศล โดยให้ผู้ฟังได้พิจารณาบ่อยๆ เนืองๆ มากๆ โดยประการทั้งปวง เพื่อที่จะเป็นปัจจัยให้กุศลจิตเกิดขึ้น แต่พระมหากรุณาของพระองค์มากมายกว่าพ่อค้าที่พรรณนาคุณประโยชน์ของสินค้า เพราะมิได้ทรงมุ่งหวังสิ่งใดเพื่อพระองค์เอง นอกจากเพื่อประโยชน์ของผู้ฟังที่จะให้เกิดศรัทธา เกิดกุศลจิตตามลำดับขั้นเท่าที่ควรจะเป็นไปได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๙๐ ตอนที่ ๘๙๑ – ๙๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 81
    28 ธ.ค. 2564