แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 891


    ครั้งที่ ๘๙๑


    ข้อความใน อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต คิลานวรรคที่ ๓ คิลานสูตร มีว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้เมือง เวสาลี ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้นในเวลาเย็น เสด็จเข้าไปที่ศาลาภิกษุไข้ ได้ทรงเห็นภิกษุรูปหนึ่งที่ทุรพล เป็นไข้ แล้วประทับนั่งบนอาสนะที่เขาตบแต่งไว้ ครั้นแล้วได้ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการ ย่อมไม่ละภิกษุบางรูปที่ทุรพล เป็นไข้ เธอนั้นพึงหวังผลนี้ คือ จักทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ต่อกาลไม่นานเลย ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นว่า ไม่งามในกาย ๑ (คือ อสุภภาวนา) มีความสำคัญว่าเป็นของปฏิกูลในอาหาร ๑ (คือ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ซึ่งก็จะทำให้เป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ) มีความสำคัญว่าไม่น่ายินดีในโลกทั้งปวง ๑ (คือ ในทั้งขันธ์ ๕ นามธรรมและรูปธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏแล้วก็ดับไป) พิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวง ๑ มีมรณสัญญาปรากฏขึ้นด้วยดี ณ ภายใน ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ ย่อมไม่ละภิกษุบางรูปที่ทุรพล เป็นไข้ เธอนั้นพึงหวังผลนี้ คือ จักทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ต่อกาลไม่นานเลย ฯ

    จบ สูตรที่ ๑

    พระสูตรนี้ไม่ได้ทรงแสดงเรื่องของการเจริญเมตตา หรือการเจริญอานาปานสติ ดังเช่นที่ได้แสดงกับท่านพระราหุล ใน มหาราหุโลวาทสูตร เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะเป็นผู้ที่เลือก หรือว่าจะเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาทุกขั้น ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ บางขณะปัญญาขั้นการระลึกถึงสภาพธรรมที่ทำให้จิตสงบ เช่น พิจารณาเห็นความไม่งามในกาย หรือว่าเห็นว่าไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวง หรือว่ามีมรณสัญญาปรากฏขึ้นด้วยดี หรือว่าขณะนั้นมีเหตุปัจจัยที่เมตตาจะเกิดขึ้น

    ท่านยังไม่ใช่ภิกษุ หรือว่าบุคคลที่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมในชาตินี้ได้ หรือว่าท่านจะเป็นผู้มีปัญญารู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ในชาตินี้ คนอื่นจะรู้ หรือว่าตัวท่านรู้ ต้องเป็นผู้ที่ตรง และต้องเป็นผู้ที่รู้อริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริงว่า ถ้าปัญญาไม่เกิดขึ้นรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ยังไม่ใช่ผู้ที่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมในชาตินี้ได้ เพราะฉะนั้น ในชาตินี้จะต้องเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาทุกประการโดยไม่เลือก ไม่ใช่จะเลือกว่า จะเจริญแต่อานาปานสติ หรือว่ากายคตาสติ หรือว่าอสุภภาวนาเท่านั้น

    ถ. การเจริญวิปัสสนามีทิฏฐิ ๒ อย่าง ตัณหาจริตกับทิฏฐิจริต ผู้ที่เจริญสมถภาวนา มีทิฏฐิตั้ง ๖ เพราะฉะนั้น ต้องเลือก มิฉะนั้น นิมิตจะไม่เกิด

    สุ. ผู้ที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้ามี ๒ ประเภท คือ ผู้ที่สามารถจะอบรมเจริญสมถภาวนาจนกระทั่งถึงขั้นฌานและรู้แจ้งอริยสัจธรรม กับผู้ที่ไม่สามารถจะอบรมความสงบให้มั่นคงถึงขั้นฌาน แต่สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะฉะนั้น จะเป็นบุคคลไหน

    ถ. เป็นบุคคลที่ได้ฌาน และบรรลุเป็นพระอริยบุคคลด้วย

    สุ. เมื่อไร

    ถ. ยิ่งเร็วยิ่งดี

    สุ. มีข้อความกล่าวไว้ว่า แม้แต่ในการที่จะเป็นผู้เจริญกายคตาสติโดยการท่อง ซึ่งหมวดแรก คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง จนกว่าจะคล่องแคล่ว และเป็นผู้ชำนาญตลอดทั้ง ๓๒ กอง หรือ ๓๒ โกฏฐาส ๓๒ อาการนั้น สำหรับบางท่าน ตลอดชีวิตก็ยังไม่ได้

    ถ. นั้นก็จริง แต่เรื่องท่องผมยังคิดว่า เป็นบริกรรมนิมิต เพราะว่าการทำสมถภาวนาต้องผ่านนิมิตทั้ง ๓ ตั้งแต่บริกรรมนิมิต อุคคหนิมิต จนกระทั่งถึง ปฏิภาคนิมิต จึงจะได้ฌานจิต

    สุ. ดูเหมือนว่า บริกรรมนิมิตจะเป็นสิ่งที่แค่เอื้อม คือ เพียงแต่รู้คำและท่องเท่านั้นก็เป็นบริกรรมนิมิตแล้ว แต่การอบรมเจริญสมถภาวนาเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ ขอยกมากล่าวเฉพาะเรื่องของการเจริญกายคตาสติ ซึ่งมีข้อความว่า

    แม้ผู้ที่เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก ก็ยังจะต้องเริ่มท่องตั้งแต่กองแรก คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ก่อนที่จะต่อไปถึงอาการที่ ๓๒

    แสดงให้เห็นถึงเหตุผลว่า ผู้ที่จะอบรมเจริญความสงบให้มั่นคง จะต้องมีจิตที่สงบในขณะที่ระลึกถึงลักษณะของส่วนต่างๆ ของกาย เพราะถ้าเพียงแต่ท่องว่า ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง โดยอนุโลม และโดยปฏิโลมกลับมา เท่านั้นเอง ก็เป็นสิ่งที่ ไม่ยาก ใช่ไหม แต่การที่จิตจะสงบในขณะที่ท่องนั้นยาก เพราะฉะนั้น แม้ บริกรรมนิมิต ก็อย่าคิดว่าจะได้โดยเร็ว เพราะว่านี่เป็นการเริ่มท่อง และต้องท่องไปให้ครบให้ตลอด ซึ่งต้องท่องโดยอนุโลม และโดยปฏิโลม เป็นกองๆ ไป ตั้งแต่กองของปฐวีธาตุ และกองของอาโปธาตุ แต่ทำไมจะให้เป็นบริกรรมนิมิตเสียโดยเร็ว คล่องหมดหรือยัง ทั้งโดยอนุโลมและโดยปฏิโลม

    ถ. ตั้งแต่เมื่อไรจึงเรียกว่า บริกรรมนิมิต

    สุ. ในขณะที่กำลังท่อง ต้องรู้ว่าจิตสงบ หรือไม่สงบ ถ้าท่องเฉยๆ ไม่ใช่บริกรรมนิมิตแน่นอน และในขณะที่ไม่ได้นึกถึงสัณฐาน โอกาส ที่ตั้ง หรือว่าลักษณะของส่วนต่างๆ ของกายที่เป็นปฏิกูลแต่ละอย่าง ขณะนั้นยังไม่สามารถที่จะระลึกถึงด้วยจิตที่สงบได้

    ถ. ขณะที่ท่อง ขณะนั้นจะนึกถึงสัณฐาน นึกถึงโอกาส นึกถึงปฏิกูลต่างๆ ก็นึกไม่ถึง

    สุ. เพราะฉะนั้น ต้องเริ่มตั้งแต่เห็น สำหรับกองแรก คือ ผม ต้องมีผม จริงๆ ที่พิจารณาอยู่

    ถ. จิตเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ จะไปรู้อารมณ์หลายๆ อย่างในขณะจิตเดียวกัน จะไปรู้ได้อย่างไร

    สุ. ไม่ใช่หลายๆ อย่าง ท่องไปทีละอย่าง ระลึกถึงไปทีละอย่าง ทีละอาการ จนกระทั่งจิตสงบแล้ว จนกระทั่งคล่องทีละกอง ทีละหมวด จนกระทั่งในที่สุดความชำนาญนั้นสามารถที่จะเพียงนึกถึงคำว่า ผม ก็จะตลอดต่อไปถึงคำว่า มุตฺตํ คือ ปัสสาวะ โดยไม่พลาด โดยไม่ผิด และโดยรวดเร็ว ทันทีที่นึกถึงผมก็จะถึงมุตฺตํทันที หมายความว่า สามารถที่จะตลอดไปจนถึงอาการที่ ๓๒ ได้ เมื่อเริ่มคิดถึงอาการที่ ๑ ความคล่องแคล่ว หรือความชำนาญ ต้องเป็นอย่างนั้น

    ถ. ใน วิสุทธิมรรค เวลาท่อง ท่านมี ๒ วิธี คือ ท่องเร็ว กับท่องช้า จุดประสงค์ที่ท่องช้า คือ ให้นึกถึงสภาพของผม สภาพความเป็นปฏิกูล สภาพของที่ตั้ง โอกาสของเขาอยู่ที่ไหน ที่ท่องช้าจุดประสงค์อยู่ที่นี่ใช่ไหม

    สุ. ก่อนที่ฌานจิตจะเกิด ผู้ที่ท่องจนคล่อง จนชำนาญแล้ว เวลาที่มีนิมิตปรากฏ เวลาที่นึกถึงผมตลอดไปทันทีถึงมุตฺตํ อาการทั้ง ๓๒ ปรากฏในขณะที่นึกถึง แต่ละอย่างๆ โดยรวดเร็ว อุปมาเหมือนกับผู้ที่มองเห็นพวงมาลัยซึ่งร้อยด้วยดอกไม้ ๓๒ สี ปกติมีมาลัย ๔ สี ๕ สี ๗ สี แต่ถึงแม้ว่าจะมีถึง ๓๒ สี ผู้เห็นก็เห็นทั้ง ๓๒ สี ในขณะนั้น ฉันใด ผู้ที่มีความคล่องจริงๆ เวลาที่นิมิตเกิดขึ้น นึกถึงผม ตลอดไปจนถึงมุตฺตํ อาการทั้ง ๓๒ อาการต้องปรากฏโดยรวดเร็ว นี่ยังไม่ถึงอัปปนา ยังไม่เป็นฌานจิต เป็นแต่เพียงนิมิตเกิดขึ้น

    ถ. ข้ออุปมาของอาจารย์ก็อีกแบบหนึ่ง ใน วิสุทธิมรรค ท่านมีข้ออุปมาอาการ ๓๒ เหมือนกับต้นมะพร้าว ๓๒ ต้น ลิงก็อยู่บนต้นมะพร้าว และเขาก็ไล่ลิง ผ่านไปต้นไม้ต้นที่ ๑ ที่ ๒ จนกระทั่งต้นที่ ๓๒ และถอยกลับมา ไล่ไป ไล่มา จนกระทั่งลิงเหนื่อย พักอยู่ที่ต้นใดต้นหนึ่ง ขณะนั้นหมายความว่า มีอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งใน ๓๒ อารมณ์ และเพ่งอยู่ที่อารมณ์นั้นๆ นั่นก็เป็นข้ออุปมาอย่างนั้น

    สุ. นั่นเป็นข้อต่อไป ขั้นต้นต่อจากขั้นท่องจนคล่อง เวลาที่นิมิตปรากฏ นิมิตจะปรากฏอย่างรวดเร็ว ซึ่งอุปมาเหมือนกับการปรากฏของมาลัยที่ร้อยด้วยดอกไม้ ๓๒ สี จากนั้นจึงจะถึงขั้นต่อไป ซึ่งจะเป็นอัปปนาสมาธิ หรือว่าเป็นขั้นของฌานจิต ก็ต่อเมื่อขณะที่นึกถึงอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดแล้ว อาการที่เป็นปฏิกูลของอารมณ์นั้นชัดเจนกว่าอันอื่น จึงจะมีเฉพาะนิมิตของอันนั้นเป็นอารมณ์ ซึ่งเป็นขั้นอัปปนาสมาธิ ที่เป็นขั้นฌานจิต แต่ว่าทีแรก อาการทั้ง ๓๒ ต้องปรากฏก่อน

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่อาการทั้ง ๓๒ จะปรากฏพร้อมกัน

    ถ. เบื้องต้นที่ว่า บริกรรมนิมิต ขณะที่ท่องจะต้องมีสติสัมปชัญญะ จึงจะชื่อว่าเป็นบริกรรมนิมิต ใช่ไหม

    สุ. พร้อมทั้งรู้ในความเป็นปฏิกูลของอาการแต่ละอาการด้วย เพราะฉะนั้น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง อย่าเพียงท่องเฉยๆ การอบรมเจริญสมถภาวนา ทุกประการเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก แม้แต่ในเรื่องของพรหมวิหาร ๔ ซึ่งเริ่มด้วย เมตตาพรหมวิหาร ก็เป็นเรื่องที่ละเอียด ซึ่งจะขอกล่าวถึงต่อจากข้อความใน อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ ติกวรรคที่ ๑ ราคสูตร ข้อ ๓๗๘ ที่แสดงให้เห็นว่า ในบางครั้งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม ย่อมาก

    ข้อความมีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้ ๓ ประการเป็นไฉน คือ ราคะ ๑โทสะ ๑ โมหะ ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้แล ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการ อันภิกษุพึงให้เจริญเพื่อละธรรม ๓ ประการเหล่านี้ ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน คือ อสุภะ ๑ อันภิกษุพึงให้เจริญเพื่อละราคะ เมตตา ๑ อันภิกษุพึงให้เจริญเพื่อละโทสะ ปัญญา ๑ อันภิกษุพึงให้เจริญเพื่อละโมหะ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้ อันภิกษุพึงให้เจริญเพื่อละธรรม ๓ ประการนี้แล ฯ

    จบ สูตรที่ ๑

    ย่อมาก เรื่องของโลภะ โทสะ โมหะ เป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนเห็นว่า เป็นอกุศลที่ควรละ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสให้เจริญอสุภะเพื่อละราคะ เจริญเมตตาเพื่อละโทสะ เจริญปัญญาเพื่อละโมหะ

    ย่อที่สุด แต่ว่าจะเจริญอย่างไร เป็นเรื่องที่ละเอียด ที่จะต้องเจริญจริงๆ จึงจะสามารถละราคะ โทสะ และโมหะได้

    เช่น ในการละราคะโดยการเจริญอสุภะ ความหมายของอสุภะ คือ เห็นสิ่งที่ไม่งามตามความเป็นจริงว่าเป็นสิ่งที่ไม่งาม เพราะฉะนั้น สำหรับอสุภะนั้นรวมถึงซากศพซึ่งเป็นอสุภะและกายคตาสติ คือ การระลึกถึงส่วนที่ไม่งามต่างๆ ของกาย ของผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่นี่เอง เพราะไม่ได้มีโอกาสบ่อยที่จะเห็นซากศพซึ่งเป็นอสุภะ แต่ร่างกายที่มีอยู่ตลอดเวลาและใกล้ชิดที่สุดนี้ ถ้าได้ฟังพระธรรมที่ทรงแสดงถึงความเป็นปฏิกูลของส่วนต่างๆ ของกาย ความเป็นอสุภะของส่วนต่างๆ ของกายจริงๆ ย่อมมีปัจจัยที่สติจะระลึกถึงความไม่งามของส่วนต่างๆ ของกาย และจิตสงบ เป็นกุศล

    แต่อย่ารีบร้อนที่จะไปถึงไหนก็ไม่ทราบ โดยที่จิตที่สงบไม่ได้เกิดขึ้น แม้แต่ในขั้นของการท่อง ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ หรือแม้แต่ข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสให้ภิกษุเจริญเมตตาเพื่อละโทสะ ก็อย่ารีบร้อนที่จะท่อง โดยไม่รู้ว่าขณะจิตนั้นเป็นเมตตาจริงๆ หรือเปล่า เพราะโดยเพียงการท่อง แต่สติสัมปชัญญะไม่เกิด ไม่รู้จริงๆ ว่า ในขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล อสุภะก็เจริญไม่ได้ เมตตาก็เจริญไม่ได้ และปัญญาก็เจริญไม่ได้

    เพราะฉะนั้น การเจริญสมถภาวนา และการเจริญสติปัฏฐานซึ่งเป็นการเจริญวิปัสสนาภาวนา เป็นเรื่องที่ละเอียด และต้องเป็นการอบรมเจริญปัญญาที่พร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ ไม่เหมือนกุศลขั้นทานและขั้นศีล

    สำหรับเรื่องของการมีสติสัมปชัญญะในขณะที่เจริญกุศลขั้นความสงบ ซึ่งเป็นสมถภาวนา ก็ได้กล่าวถึงบ้างแล้ว สำหรับกัมมัฏฐาน ๔๐ ซึ่งเป็นสมถกัมมัฏฐาน อารมณ์ที่ทำให้จิตสงบ ที่ได้กล่าวถึงแล้ว คือ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อนุสสติ ๑๐ ซึ่งได้แก่ พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ ศีลานุสสติ จาคานุสสติ เทวตานุสสติ มรณานุสสติ กายคตาสติ อานาปานสติ อุปสมานุสสติ ส่วนสมถกัมมัฏฐานที่เหลืออีก ๑๐ ได้กล่าวถึงรวมๆ กันไปบ้างแล้ว ได้แก่ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัฏฐาน ๑ คือ การพิจารณาธาตุทั้ง ๔ เพราะฉะนั้น ยังคงเหลือพรหมวิหาร ๔ และ อรูปฌาน ๔

    สำหรับอรูปฌาน ๔ ต้องเป็นผู้ที่อบรมเจริญความสงบมั่นคงจนได้ถึง รูปปัญจมฌาน คือ ฌานขั้นที่ ๕ จึงจะสามารถเจริญอรูปกัมมัฏฐานขั้นต่อไปได้

    สำหรับกัมมัฏฐานที่เหลือ คือ พรหมวิหาร ๔ เริ่มด้วยเมตตาพรหมวิหาร เป็นเรื่องที่ละเอียด และเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงให้อบรมเจริญเป็นอันมาก เพราะผู้ที่อบรมเจริญเมตตาภาวนาแล้ว ย่อมเกื้อกูลพรหมวิหารอื่นๆ เช่น ย่อมไม่เป็นผู้ที่เบียดเบียนบุคคลอื่น และย่อมเป็นผู้ที่สามารถยินดีด้วยในความสุขของบุคคลอื่นได้ แต่ถ้าผู้ใดที่ขาดเมตตา และไม่ได้อบรมเจริญเมตตา ก็ย่อมจะเป็นผู้ที่เบียดเบียนบุคคลอื่นได้ หรือว่าไม่อาจจะยินดีด้วยกับความสุขของบุคคลอื่นได้ เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญเมตตาเป็นธรรมที่เกื้อกูลอุปการะ ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้มาก และเป็นเรื่องที่ละเอียดที่ควรจะได้พิจารณา

    สำหรับท่านที่อาจจะเคยท่อง เวลาที่ท่านเจริญเมตตา ท่านมักจะท่องว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง ในตำรามี ท่านกล่าวว่า ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง จงเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีทุกข์ มีความสุข บริหารตนอยู่เถิด

    สุ. สัตว์ทั้งปวงเลย ใช่ไหม

    ผู้ฟัง นี่แปลเป็นไทย ที่เขาท่องเป็นบาลีก็มีว่า สัพเพ สัตตา อะเวรา โหนตุ อัพพะยาปัชฌา โหนตุ อะนีฆา โหนตุ สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ แต่บาลีเรายังไม่ค่อยรู้ความหมายนัก ภาษาไทยเรารู้ความหมายดี เพราะฉะนั้น ผมจึงท่องเป็นภาษาไทยว่า ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง จงเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีความทุกข์ มีความสุข บริหารตนอยู่เถิด

    ขณะที่ท่องผมคิดว่า ขณะนั้นมีสติ บางครั้งเราท่องไปๆ หยุดท่องเมื่อไรเราก็ไม่รู้ ท่องไปอาจจะถึง ๓ ครั้ง ๕ ครั้ง ๘ ครั้ง ส่วนใหญ่ก็หลงลืมไปทางนึกคิด คิดไปถึงเรื่องโน้นบ้าง เรื่องนี้บ้าง แต่ว่าสักครู่หนึ่งก็นึกขึ้นมาได้ว่า เรากำลังท่องอยู่ ทำไมไปนึกคิดถึงเรื่องโน้นเรื่องนี้ ขณะที่ระลึกได้ว่า การท่องนี้หายไป ขณะนั้นก็เป็นสติแล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อมีสติ ก็ตั้งต้นท่องกันใหม่ ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง จงเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๙๐ ตอนที่ ๘๙๑ – ๙๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 81
    28 ธ.ค. 2564