แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 869


    ครั้งที่ ๘๖๙


    สำหรับการที่จะพิจารณาอาหารเก่า คือ อุจจาระ ก็คงไม่ใช่ขณะอื่น นอกจากขณะที่เห็นหรือถ่ายอุจจาระนั่นเอง ซึ่งข้อความใน สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา วิภังคปกรณ์ อธิบายรวมทั้งการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ มีข้อความว่า

    คำว่า อุจฺจารปสฺสาวกมฺเม ได้แก่ การถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ

    ปฏิกูลไหม น่าจะเห็นความเป็นปฏิกูล หรือว่าระลึกถึงสภาพความเป็นปฏิกูล เพื่อสติจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริงว่า ไม่มีตัวตนที่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ

    ในข้อนี้ ในการที่อาหารย่อยแล้ว เมื่อภิกษุไม่กระทำการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ เหงื่อทั้งหลายย่อมไหลออกจากสรีระทั้งสิ้น คือ ทั่วตัว

    เป็นทุกข์ไหม รับประทานอาหาร อาหารย่อยแล้ว แต่ไม่กระทำการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ผลก็คือ เหงื่อท่วมตัว เป็นความทุกข์อย่างยิ่ง

    นัยน์ตาทั้งหลายย่อมมืดมัว จิตย่อมไม่เป็นเอกัคคตา โรคทั้งหลายเหล่าอื่นย่อมเกิดขึ้น

    คือ ถ้าเป็นบ่อยๆ ก็เป็นเหตุให้เกิดโรค

    ก็แต่ว่าเมื่อภิกษุกระทำการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ เหตุทั้งปวงนั้นย่อมไม่มี

    คือ เป็นผู้ที่มีปกติ สบาย ไม่มีเหงื่อท่วมตัว หรือว่าเดือดร้อนกระสับกระส่าย

    เพราะฉะนั้น ในการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะนี้ ชื่อว่าเป็นประโยชน์ พึงทราบว่า เป็นสาตถกสัมปชัญญะ ด้วยสามารถแห่งประโยชน์นั้น

    สาตถกสัมปชัญญะ ไม่พ้นจากการรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์ในการดำรงชีวิต เพื่อที่จะได้อบรมเจริญปัญญา

    อนึ่ง เมื่อภิกษุนั้นกระทำการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะในที่อันไม่สมควร ย่อมต้องอาบัติ

    เห็นชีวิตประจำวันตามความเป็นจริงไหมว่า แม้แต่สถานที่ ก็ต้องเป็นที่ ที่สมควรด้วย ทั้งเพื่อไม่เป็นการถูกติเตียน ทั้งเพื่อสุขภาพอนามัยด้วย

    ความเสื่อมยศย่อมเจริญ ถ้ากระทำการถ่ายอุจจาระปัสสาวะในที่อันไม่สมควร อันตรายของชีวิตย่อมมี เมื่อภิกษุนั้นกระทำการถ่ายอุจจาระปัสสาวะในที่อันสมควร เหตุการณ์เหล่านั้นทั้งหมดย่อมไม่เกิด เพราะฉะนั้น คำนี้ ในคำว่า อุจฺจารปสฺสาวกมฺเม นี้ เป็นสัปปายะ พึงทราบว่าเป็นสัปปายสัมปชัญญะ ด้วยสามารถแห่งสัปปายะนั้น

    ให้ไปที่อื่นเพื่อเจริญสติปัฏฐานหรือเปล่า หรือว่าเป็นปกติในชีวิตประจำวันนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นสัปปายสัมปชัญญะ หรือสาตถกสัมปชัญญะ

    ในการถ่ายอุจจาระปัสสาวะนั้น พึงทราบว่า เป็นโคจรสัมปชัญญะ ด้วยสามารถแห่งการไม่เว้นจากกัมมัฏฐาน คือ สติปัฏฐานนั่นแหละ

    สติย่อมจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนในขณะใดได้ทั้งสิ้น

    ชื่อว่า อัตตา ผู้กระทำอยู่ซึ่งการถ่ายอุจจาระปัสสาวะในภายใน ย่อมไม่มี ก็แต่ว่าด้วยการแผ่ไปแห่งวาโยธาตุอันเกิดจากจิต การถ่ายอุจจาระปัสสาวะย่อมมี เหมือนอย่างว่า ฝีอันสุกแล้ว เพราะการแตกออกแห่งฝี น้ำเลือด น้ำหนองย่อมไหลออก โดยความที่ไม่มีใครต้องการให้ออก ฉันใด ภาชนะสำหรับใส่น้ำอันบุคคลใส่จนเต็มล้น น้ำย่อมไหลออก โดยความที่ไม่มีใครต้องการให้ไหลออก ฉันใด อุจจาระและปัสสาวะอันสั่งสมไว้แล้วในกระเพาะอุจจาระ ปกฺกาสย และกระเพาะปัสสาวะ วตฺถิมุตฺตํ ครั้นกำลังแห่งลมตั้งขึ้นแล้วย่อมออกไป ไม่มีใครทำให้ออกนอกจาก วาโยธาตุซึ่งมีกำลังตั้งขึ้น แม้โดยความที่ไม่ต้องการให้ออก ก็อุจจาระและปัสสาวะนี้ใดออกอยู่อย่างนี้ ย่อมไม่เป็นของภิกษุนั้น ไม่เป็นของตน และไม่เป็นของบุคคลอื่น ก็แต่ว่าอุจจาระและปัสสาวะนั้น ย่อมเป็นการไหลออกจากสรีระอย่างเดียวเท่านั้น

    ถามว่า เหมือนอะไร

    ตอบว่า เหมือนน้ำเก่า เมื่อบุคคลเทออกจากหม้อน้ำ น้ำนั้นย่อมไม่เป็นของตน ย่อมไม่เป็นของคนอื่น ย่อมเป็นสักว่าการปฏิบัติอย่างเดียวเท่านั้น พึงทราบว่า เป็นอสัมโมหสัมปชัญญะในการถ่ายอุจจาระปัสสาวะนี้ ด้วยสามารถการพิจารณาความเป็นไปด้วยประการฉะนี้

    ไม่มีตัวตน สัตว์ บุคคลเลยจริงๆ ทั้งเมื่ออยู่ภายในและเมื่อออกมาภายนอก และเมื่อพิจารณาร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นในขณะนี้หรือขณะไหน ถ้าสติระลึกลักษณะของรูป จะไม่พ้นจากอาการของมหาภูตรูปเลย แต่ถ้าไม่ใช่เป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน บางท่านก็อาจจะคิดว่า ในระหว่างที่ฟังนี้ท่านก็เข้าใจว่าไม่ใช่ตัวตน เป็นลักษณะอาการของธาตุต่างๆ เหมือนกับรู้แล้วว่า สภาพธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นรูปนั้น แท้ที่จริงก็ได้แก่มหาภูตรูป ๔ เวลาที่ฟังก็รู้สึกว่าเข้าใจ รู้แล้ว แต่ว่าในขณะที่ท่านบริโภคอาหารจริงๆ เคยมีบ้างไหมที่สติจะเกิดระลึกในขณะที่อ้าปากว่า ขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน และรูปที่เคลื่อนไหวไปนั้น เป็นไปได้เพราะวาโยธาตุที่เกิดเพราะจิต

    เริ่มตั้งแต่เคี้ยว กลืน จนกระทั่งแม้ในขณะที่ถ่ายอุจจาระปัสสาวะก็ตาม ในขณะนั้นถ้าปราศจากวาโยธาตุ อาหารเก่าที่อยู่ข้างในก็ไม่สามารถที่จะออกมาข้างนอกได้ และอาหารที่บริโภคเข้าไปที่เป็นอาหารใหม่ ลักษณะความเป็นปฏิกูลก็อย่างหนึ่ง แต่เวลาที่เป็นอาหารเก่า อาหารใหม่นั้นก็ถูกธาตุไฟเผา บดจนละเอียด และออกมาเป็นรูปลักษณะของกรีสัง คือ อาหารเก่า ซึ่งก็ต้องไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน ที่จะทำให้อาหารเก่านั้นออกมาได้ แต่ต้องเป็นวาโยธาตุภายในกายนั่นเอง ที่ทำให้อาหารเก่าออกมาได้

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรม มีสัญญา ความทรงจำ ที่จะเป็นเหตุให้ระลึกได้ในขณะที่บริโภคอาหาร ในขณะที่ถ่ายปัสสาวะ ในขณะที่ถ่ายอุจจาระ ซึ่งเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ก็จะทำให้จิตสงบโดยสมถภาวนา หรือสติปัฏฐานเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เท่านั้นเอง

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรมทั้งหมด ก็เพื่อให้คิดพิจารณาตาม เกิดความเข้าใจและไม่หลงลืมในขณะที่ร่างกายมีการเคลื่อนไหว และดำเนินชีวิตเป็นปกติในชีวิตประจำวัน

    อาการต่อไปของปฐวีธาตุ ธาตุดิน อาการที่ ๒๐ คือ

    คำว่า มตฺถลุงฺคํ คือ มันสมอง ได้แก่ กองเยื่อที่ตั้งอยู่ภายในกะโหลกศีรษะ

    มันสมองนั้นทุกคนกำลังมี ไม่เคยเห็นว่าเป็นปฏิกูล ถ้าไม่ระลึกพิจารณาตามไปถึงมันสมองที่กำลังมีอยู่ในขณะนี้ว่า

    มันสมองนั้น ว่าโดยสี มีสีขาวดังสีกลุ่มดอกเห็ด แม้การกล่าวว่า มีสีดังสี นมสดที่ยังไม่แปรเป็นนมส้มก็ย่อมควร ว่าโดยสัณฐาน มีสัณฐานตามที่ตั้งอยู่ ว่าโดยทิศ เกิดแล้วในทิศเบื้องบน ว่าโดยโอกาส อาศัยรอยประสาน ๔ รอย ในระหว่างกะโหลกศีรษะตั้งรวมกันอยู่ ราวกะก้อนแป้ง ๔ ก้อนที่เขาตั้งรวมกันไว้ ว่าโดยปริจเฉท กำหนดด้วยพื้นภายในแห่งกะโหลกศีรษะด้วย โดยส่วนที่เป็นเยื่อในสมองด้วย นี้เป็นสภาคปริจเฉทของเยื่อในสมองนั้น แต่วิสภาคปริจเฉท ก็เป็นเช่นกับเกสา คือ ผม นั่นแหละ

    จบอาการของธาตุดิน ๒๐ อาการ ที่มีอยู่ในร่างกาย

    ขณะนี้ท่านผู้ฟังคงจะไม่สามารถเห็นมันสมอง หรือว่ากะโหลกศีรษะ อวัยวะส่วนต่างๆ ในร่างกายได้ แต่เคยเห็นรูปภาพใช่ไหม โดยเฉพาะในวงการแพทย์ แต่ว่าจิตใจในขณะที่กำลังดูรูปอย่างนั้น ต่างกับขณะที่กำลังพิจารณาตามโดยความเป็นปฏิกูล

    ถ้าเป็นในขณะที่กำลังตั้งใจที่จะศึกษา แม้ว่าจะเป็นรูปสีต่างๆ ซึ่งก็เป็นสีที่เป็นปฏิกูลนั่นเอง เมื่อลอกผิวออกไปแล้วจะเห็นจริงๆ ว่า สิ่งที่อยู่ในข้างในนั้นทั้งหมดเป็นปฏิกูล แต่เวลาที่ไม่ได้พิจารณาโดยสภาพธรรม มีความตั้งอกตั้งใจที่จะเข้าใจในวิชาการทางโลก ขณะนั้นสังเกตจิตหรือเปล่าว่าไม่สงบ ไม่ได้หมายความว่า เมื่อมีรูปภาพอย่างนั้นให้จิตเกิดขึ้นพิจารณาส่วนต่างๆ แล้วจะสงบ แต่การที่จะสงบหรือไม่นั้น สติที่เกิดขึ้นระลึกเป็นไปในความเป็นปฏิกูลจึงสงบ ถ้าไม่ระลึกเป็นไปในความเป็นปฏิกูล ก็ไม่สงบ

    เพราะฉะนั้น สภาพของจิตที่จะเป็นสมถภาวนาหรือว่าสติปัฏฐานนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งที่ปรากฏข้างนอก แต่ขึ้นอยู่กับสภาพของจิตในขณะนั้นว่า ประกอบด้วยปัญญา และสติที่เกิดขึ้นพิจารณาลักษณะของสิ่งที่ปรากฏในขณะนั้นอย่างไร โดย นัยของสมถะ หรือว่าโดยนัยของสติปัฏฐาน

    ถ. ทางวิทยาศาสตร์บอกว่า การคิดนึกเกิดจากสมอง แต่ทางพุทธศาสนา พระผู้มีพระภาคตรัสว่า การคิดนึกเป็นจิตและเจตสิก เพราะฉะนั้น เราจะพิสูจน์ได้อย่างไรว่า การคิดนึกเกิดจากจิต หรือเกิดจากสมองกันแน่

    สุ. จิตเป็นสภาพรู้ ที่ใช้คำว่า จิต หมายความถึงสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้อารมณ์ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง แสดงถึงลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงที่ปรากฏ เป็นปรมัตถ์ จะใช้คำว่า จิต หรือจะใช้คำว่า มโน จะใช้คำว่าอะไรก็ตามแต่ แต่ว่าเป็นธรรมซึ่งพิสูจน์ได้

    สภาพธรรมที่เป็นสภาพรู้ มีหรือไม่มีในขณะนี้ ขณะที่เห็น ไม่ได้มีการนึกถึงคำว่ามันสมอง ใช่ไหม ขณะนี้ที่กำลังเห็น มีสภาพเห็น ไม่ได้นึกถึงคำว่ามันสมอง ขณะนี้กำลังได้ยิน คือ กำลังรู้เสียง เสียงปรากฏเพราะมีสภาพที่รู้เสียง เพราะฉะนั้น เสียงปรากฏกับสภาพที่รู้เสียง ไม่มีคำว่ามันสมอง มีแต่เสียงซึ่งปรากฏแล้วกับสภาพที่รู้เสียง แต่เรื่องที่ว่า เพราะมันสมอง หรือเพราะอะไรทั้งหมด เป็นเรื่องการคิด การนึก แต่ไม่ใช่การรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้

    ทางตากำลังเห็น ไม่ได้คิดเรื่องมันสมองก็เห็น ทางหูได้ยิน ไม่ต้องคิดถึงเรื่องมันสมองก็ได้ยิน เพราะฉะนั้น อะไรจะเป็นของจริงกว่ากันที่ว่า จิตเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ขณะนี้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ แม้คำว่า มันสมอง ขณะนั้นก็เป็นจิตที่รู้คำที่คิด เพราะฉะนั้น มันสมองจะรู้อารมณ์ได้ไหม ในเมื่อมันสมองเป็นรูป ไม่ใช่เป็นนาม

    ถ. ได้ยินว่า มีนักวิทยาศาสตร์บางคนใช้ไฟฟ้าจี้มันสมองของคนตาย ถ้าจี้จุดนี้ นิ้วมือจะกระดิก จี้จุดนั้นเท้าจะกระดิก เป็นต้น ฉะนั้น การเคลื่อนไหว ต่างๆ ก็เกิดจากมันสมองสั่งงาน เป็นอย่างนั้นใช่ไหม

    สุ. ถ้าเอาฟืนไฟใส่เข้าไป ก็กระดิกได้เหมือนกัน บางทีถึงกับลุกขึ้นนั่งได้ โดยนักวิทยาศาสตร์ไม่จำเป็นจะต้องบอกว่า ตอนนั้นไปจี้จุดอะไรของร่างกาย

    สภาพรู้เป็นนามธรรม ในขณะที่มันสมองไม่ใช่นามธรรม

    สภาพที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ให้รู้ได้ในลักษณะอาการนั้นๆ เป็นรูปธรรม ถ้ากระทบสัมผัสมันสมอง จะอ่อนหรือจะแข็ง ถ้าดูด้วยตาก็เป็นสี เพราะฉะนั้น มันสมองไม่ใช่สภาพรู้แน่นอน

    อย่าลืม ธรรมพิสูจน์ได้ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่พิสูจน์จริงๆ หรือยัง

    เวลานี้การเห็นมี ได้ยินก็มี กำลังได้ยิน เสียงก็มี เสียงไม่ใช่ได้ยิน ได้ยินเป็นสภาพที่รู้เสียง ไม่ใช่เสียง พิสูจน์จริงๆ แล้วหรือยังที่จะรู้ว่า สภาพรู้มีจริง สภาพรู้ทางตา สภาพรู้ทางหู สภาพรู้ทางจมูก สภาพรู้ทางลิ้น สภาพรู้ทางกาย สภาพรู้ทางใจ แต่โดยมากมักจะคิดถึงเรื่องอื่น

    คิดเรื่องมันสมอง คิดเรื่องอื่นๆ โดยที่ไม่ได้พิสูจน์ลักษณะของการเห็นที่กำลังเห็นในขณะนี้ หรือการได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส การคิดนึก ซึ่งอะไรควรจะพิสูจน์มากกว่ากัน อะไรเป็นสภาพที่พิสูจน์ได้จริงกว่ากัน ไม่ใช่เป็นแต่เพียงความคิดนึกต่างๆ หรือเรื่องหน้าที่กิจการงานของมันสมอง หรืออวัยวะต่างๆ ในร่างกาย นั่นเป็นเรื่องที่จิตกำลังคิดนึก กำลังเป็นสภาพรู้ที่รู้เรื่อง รู้คำ

    อาการต่อไป อาการของธาตุน้ำ ซึ่งเป็นอาการที่ ๒๑ ของอาการ ๓๒ คือ

    คำว่า ปิตฺตํ ได้แก่ น้ำดี ๒ อย่าง น้ำดีที่อยู่ในฝัก คือ อยู่ในถุงอย่างหนึ่ง และน้ำดีที่ไม่อยู่ในถุงอย่างหนึ่ง บรรดาน้ำดีทั้ง ๒นั้น น้ำดีที่อยู่ในถุง โดยสี มีสีดังน้ำมันมะซางข้น น้ำดีที่ไม่อยู่ในถุง มีสีดังดอกพิกุลแห้ง น้ำดีแม้ทั้ง ๒ นั้น โดยสัณฐาน มีสัณฐานตามที่ตั้งอยู่ โดยทิศ น้ำดีที่อยู่ในถุงเกิดในทิศเบื้องบน น้ำดีนอกจากนี้เกิดในทิศทั้ง ๒ โดยโอกาส น้ำดีที่ไม่อยู่ในถุง เว้นที่เป็นที่เว้นจากเนื้อของเกสา โลมา นขา ทันตา และหนังที่แข็งและแห้ง ซึมซาบแล้วในสรีระที่เหลือ เหมือนหยาดน้ำมันตกลงในน้ำแผ่ไปฉะนั้น เมื่อน้ำดีกำเริบแล้ว นัยน์ตาทั้งหลายย่อมเหลือง ย่อมหมุนไป คือ เวียนศีรษะ ตัวย่อมหวั่นไหว คือ กระสับกระส่าย ดีที่อยู่ในถุง อาศัยเนื้อตับในระหว่างหทัยและปอด ตั้งอยู่ในฝักน้ำดี น้ำดีนี้เมื่อกำเริบแล้ว สัตว์ทั้งหลายย่อมเป็นบ้า ย่อมมีจิตวิปลาส ละทิ้งหิริโอตตัปปะ กระทำสิ่งที่ไม่ควรกระทำ กล่าวสิ่งที่ไม่ควรกล่าว และย่อมคิดสิ่งที่ไม่ควรคิด โดยปริจเฉท กำหนดโดยส่วนที่เป็นน้ำดี นี้เป็นสภาคปริจเฉทของน้ำดีนั้น แต่วิสภาคปริจเฉท เป็นเช่นกับเกสานั่นแหละ

    มีใครรู้จักน้ำดีบ้างไหม หรือว่ารู้จักแต่ชื่อ ซึ่งตามที่ได้ทรงแสดงไว้มี ๒ ชนิด และที่ไม่อยู่ในถุง คือ ไม่อยู่ในฝัก ก็ซึมซาบอยู่ทั่วสรีระ เว้นส่วนที่เป็นเกสา โลมา นขา ทันตา และหนังที่แข็งและแห้ง

    ถ้าเจริญสติปัฏฐานต้องรู้จักน้ำดีไหม

    เป็นแต่เพียงธาตุที่ปรากฏเมื่อกระทบกาย ถ้าปรากฏจะไม่พ้นจากลักษณะของธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม แต่ไม่ใช่ธาตุน้ำ

    โดยนัยที่ทรงแสดงการเจริญสมถภาวนา แสดงลักษณะของธาตุดินและธาตุน้ำ แต่โดยนัยของการเจริญสติปัฏฐาน ธาตุน้ำไม่ปรากฏเมื่อกระทบกาย นี่เป็นความต่างกัน เพราะเรื่องของสมถภาวนานั้นเป็นเรื่องของความคิด การตรึก การพิจารณา ยังเป็นเรื่องของสมมติบัญญัติ ว่าเป็นผม เป็นขน เป็นเล็บ เป็นฟัน เป็นหนัง เป็นเลือด เป็นเนื้อ เป็นกระดูก เป็นน้ำดี หรือว่าเป็นอาการของธาตุน้ำที่ปรากฏ โดยการที่สามารถจะเห็นได้ว่าเป็นลักษณะของธาตุน้ำ

    แต่ธาตุน้ำจริงๆ ไม่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะทางตา สีสันวัณณะต่างๆ กำลังปรากฏ ไม่ใช่ธาตุน้ำ ทางหู เสียงปรากฏ ไม่ใช่ ธาตุน้ำ ทางจมูก กลิ่นปรากฏ ทางลิ้น รสเท่านั้นที่ปรากฏ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๘๗ ตอนที่ ๘๖๑ – ๘๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 81
    28 ธ.ค. 2564