แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 893


    ครั้งที่ ๘๙๓


    ข้อความใน วิสุทธิมรรค สมาธินิทเทส พรหมวิหารนิเทส แสดงลักษณะ กิจ อาการที่ปรากฏ และเหตุใกล้ของพรหมวิหารทั้ง ๔ ว่า

    เมตตามีความเป็นไปโดยอาการประพฤติเกื้อกูล เป็นลักษณะ

    มีการน้อมเข้าไปซึ่งประโยชน์เกื้อกูลในสัตว์ เป็นรสะ คือ เป็นกิจ

    มีการบำบัดความอาฆาต เป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการปรากฏ

    มีการเห็นความที่สัตว์เป็นที่ชอบใจ คือ ไม่โกรธเคือง ไม่ขุ่นเคืองในขณะนั้น เป็นปทัฏฐาน คือ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

    มีการเข้าไปสงบพยาบาท เป็นสมบัติ

    มีการเกิดความเสน่หา เป็นวิบัติ

    เรื่องของจิตใจระวังยาก เพราะเคยชินกับการที่จะเป็นอกุศล ไม่โลภะ ก็โทสะ หรือโมหะ เพราะฉะนั้น เรื่องของกุศลที่จะอบรมเจริญให้มีมากขึ้นได้ จะต้องประกอบพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะที่รู้ลักษณะของจิตในขณะนั้นว่าเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล เพราะขณะใดที่มีความประพฤติเกื้อกูลจริงๆ ไม่ใช่ด้วยความพอใจ หรือว่าด้วยความเป็นพวกพ้อง ในขณะนั้นเป็นลักษณะของเมตตา มีการเห็นความที่สัตว์เป็นที่ชอบใจ คือ เป็นมิตร เป็นปทัฏฐาน เป็นเหตุใกล้ให้เกิด มีการเข้าไปสงบพยาบาท เป็นสมบัติ มีการเกิดความเสน่หา เป็นวิบัติ

    เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด และเป็นผู้ที่พิจารณาจริงๆ ในชีวิตประจำวันสามารถที่จะอบรมเจริญเมตตาจริงๆ พร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ รู้ลักษณะของเมตตาที่กำลังมี ที่กำลังปรากฏได้ เช่น ในขณะที่เห็นคนหนึ่งคนใด อาจจะเป็นคนแปลกหน้า อาจจะเป็นต่างชาติต่างภาษา ท่านรู้สึกอย่างไรในขณะนั้น มีความรู้สึกเหมือนเห็นมิตร เหมือนเห็นเพื่อน หรือเหมือนเห็นศัตรู ถ้าในขณะใดที่มีความรู้สึกเหมือนเห็นมิตร หรือเห็นเพื่อน ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใคร ขณะนั้นเป็นอาการปรากฏของเมตตา เพราะ มีการบำบัดความอาฆาต คือ ความขุ่นเคืองใจ หรือความ ไม่พอใจ เป็นอาการปรากฏ

    ถ้าท่านเห็นคนที่โกรธกัน กำลังทะเลาะกัน ท่านเป็นพวกคนหนึ่งคนใดหรือเปล่า ถ้าขณะนั้นท่านเป็นพวกคนหนึ่งคนใด ไม่ใช่เมตตา เป็นโลภะ มีความเสน่หาเป็นวิบัติ แต่ท่านสามารถจะมีความเป็นมิตรกับทั้ง ๒ คนที่กำลังโกรธกันได้ไหม ไม่ว่าใครจะประพฤติดีหรือใครจะประพฤติชั่ว เวลาที่ท่านเห็นบุคคลที่ประพฤติชั่ว ท่านก็มีความรู้สึกเอ็นดู เมตตา สงเคราะห์ สามารถที่จะทำประโยชน์เกื้อกูลกับบุคคลนั้นได้ นั่นคือลักษณะของเมตตาที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ไม่ใช่มีเห็นว่าเป็นโทษ ก็ขุ่นเคือง ซ้ำเติม ซึ่งเป็นการทำให้บุคคลนั้นเดือดร้อน นั่นไม่ใช่ลักษณะของเมตตา

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นมิตรกับทุกคน มีความรู้สึกสนิทสนมด้วยความจริงใจ ย่อมจะเป็นผู้มีกรุณาเวลาที่บุคคลทั้งหลายประสบความทุกข์เดือดร้อน และย่อมเป็น ผู้มีมุทิตาเวลาที่บุคคลอื่นประสบกับความสุขความเจริญและความสำเร็จ และถ้าไม่สามารถที่จะเกื้อกูลได้ หรือได้ทำประโยชน์เกื้อกูลแล้วแต่ไม่สำเร็จ บุคคลนั้นก็ยังเป็น ผู้ที่ไม่ขุ่นเคือง เพราะรู้ว่าแล้วแต่เหตุปัจจัยหรือกรรมของบุคคลนั้น ก็สามารถที่จะอบรมเจริญอุเบกขาได้

    สำหรับพรหมวิหารทั้ง ๔ เป็นธรรมที่เกื้อหนุนกรรมดีทั้งปวง เป็นคุณธรรมที่ทำให้ความดีทั้งหลายบริบูรณ์ได้ แม้แต่ในเรื่องของทานก็ไม่แบ่งแยกการให้เฉพาะบางพวก และยังเป็นผู้ที่ยังศีลให้บริบูรณ์ด้วยเมตตา สามารถที่จะให้อภัยทุกอย่างได้ ทำกุศลและไม่หวังผลตอบแทนใดๆ เพราะเห็นกรรมทั้งหลายด้วยการเจริญอุเบกขาภาวนา

    ถ. ดิฉันจะเรียนเรื่องเมตตาที่ดิฉันปฏิบัติมา เรื่องมด เราไม่อยากให้เขามากวนก็ใช้วิธีนี้ คือ นึกถึงว่าเราเป็นสัตว์โลกด้วยกัน โดยเอาน้ำตาลโรยให้ทาน มดบางประเภทชอบน้ำมัน ดิฉันก็เอาน้ำมันไปหยอดให้ทาน ไม่ใช่ว่าเราจะต้องไปซื้อใหม่ๆ ก็เอาน้ำมันที่ทอดปลา หรือที่เราไม่ใช้แล้วมาให้ โดยไม่นึกไม่ฝัน เขาไม่มากวนเราเลย อย่างบางบ้าน มดขึ้นตามโต๊ะอาหารมากๆ อย่างของดิฉันไม่ค่อยมี แม้แต่รอบบ้าน มดจะเดินอยู่รอบบริเวณบ้าน แต่ไม่เข้าบ้าน ทั้งๆ ที่มีทางที่จะเข้า และเราต้องเป็นคนสะอาดด้วย นี่จะเรียกว่า เมตตาที่เราแผ่ด้วยสติหรือเปล่า

    สุ. ในขณะนั้นมีเมตตากับสัตว์ที่อยู่เฉพาะหน้า คือ มด

    ถ. หมายถึงทั่วๆ ไป ดิฉันพูดถึงสาเหตุของเมตตาที่เราเริ่มระยะแรก

    สุ. ก่อนจะถึงสัตว์ทั้งปวงได้ ต้องเริ่มจากสัตว์ทั้งหลายที่ประสบ หรือที่อยู่เฉพาะหน้า แล้วแต่บุคคล บุคคลที่เป็นที่รัก ก็สามารถที่จะมีเมตตาแทนความเสน่หา หรือโลภะ หรือความรัก และถ้าเป็นบุคคลที่เป็นที่ชัง ขณะนั้นก็ปราศจากความอาฆาต พยาบาท หรือความขุ่นเคืองใจ มีความรู้สึกเปลี่ยนเป็นมิตร หรือเกื้อกูลประโยชน์

    ถ. สัตว์อีกชนิดหนึ่ง คือ หนู ซึ่งเป็นประเภทที่เราเบื่อที่สุด ดิฉันแผ่เมตตาแก่หนูแล้ว หนูก็ไม่เคยทำอันตรายทรัพย์สินของดิฉันเลย คนที่อยู่ด้วยกันเขาก็พยายามป้องกันทุกทาง แต่ก็โดนทำลายทุกอย่างที่เป็นของใช้ แต่ของดิฉัน ดิฉันแผ่เมตตาแล้ว ไม่ทำอันตรายของเราเลย และเวลามีเศษอาหารเราก็ไปกองให้เขากินเป็นส่วนเป็นสัด เวลาเราดักหนู ก็ใช้กรงดัก เราไม่ทำร้ายเขา เราเอาเขาไปปล่อย เขาก็ไม่ทำลายของเรา ที่พูดนี้ก็เพื่อให้เห็นว่า การแผ่เมตตานั้นได้ผล ทั้งที่ไม่คิดว่าจะได้ นี่ทำเฉพาะอย่าง ไม่ใช่ทั่วไป แต่ถ้าเราทำทั่วไปได้ ดิฉันคิดว่าคงจะเป็นกุศลมหาศาล

    สุ. ที่ใช้คำว่า แผ่เมตตา หมายความว่ามีเมตตากับสัตว์บุคคลที่ประสบ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นที่รัก หรือว่าเป็นที่ชัง หรือว่าเฉยๆ

    แผ่ได้ คือ เมตตาสามารถจะเกิดได้ ที่ใช้คำว่า แผ่ คือ เมตตาเกิดได้กับบุคคลทั้งหลายที่ประสบ ที่อยู่เฉพาะหน้า

    ถ. ดิฉันก็พยายามแผ่กับบุคคลที่เราชังเหมือนกัน

    สุ. ขอประทานโทษ โดยมากเวลาใช้คำว่า แผ่ บางคนคิดว่าต้องไกลออกไป กว้างออกไป แต่ที่จริง แผ่ คือ เมตตาสามารถเกิดขึ้นในขณะที่พบกับบุคคลที่เป็นที่รัก หรือว่าเป็นที่ชัง หรือว่าบุคคลที่เฉยๆ และสามารถจะเกิดได้บ่อย เพราะฉะนั้น เวลาที่นึกถึงบุคคลใด ก็นึกถึงด้วยเมตตา แม้แต่กายหรือวาจาก็เป็นไปด้วยเมตตาในชีวิตประจำวัน แต่ว่าอย่าไปคิดถึงทิศที่กว้างใหญ่ ทางขวาง ทางล่าง ทางบน เหนือโลกอะไรต่างๆ โดยที่ว่าในชีวิตประจำวันไม่ได้เกิดเมตตาเลย

    ถ. สงสัยว่า จิตดับ ๑๗ ขณะ รูปจึงจะดับ ขณะย่อยก็ ๕๑ ขณะ แต่ผมมาพิจารณาวิปัสสนาญาณที่ ๔ ท่านบอกว่า รูปนามดับพร้อมกัน ดูเหมือนจะขัดกัน

    สุ. หมายความถึงการประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรม ใช่ไหม

    ถ. ใช่ ทำไมต่างกัน ที่ว่าจิต ๑๗ ขณะ หรือ ๕๑ ขณะย่อยดับไป รูปจึงจะดับ แต่พออุทยัพพยญาณ นามรูปดับพร้อมกันเลย

    สุ. เรื่องของการศึกษาธรรม ศึกษาจากพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงและทรงประจักษ์ ปัญญาต่างกัน พระธรรมที่ทุกท่านได้ศึกษาโดยเฉพาะ อภิธรรมปิฎก หรืออภิธัมมัตถสังหคะ ซึ่งเป็นเรื่องของสภาพปรมัตถธรรม เป็น พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตามที่ทรงประจักษ์ เพราะฉะนั้น ปัญญาของผู้ที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมที่เป็นสาวก ย่อมต่างกับปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทโธ

    ที่ทรงแสดง ทรงแสดงถึงขณะจิตที่เกิดดับ ในบุคคลหนึ่งจะมีจิต ๒ ขณะเกิดพร้อมกันไม่ได้ ลองพิจารณาตั้งแต่ต้น จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในบุคคลหนึ่งๆ จะมีจิตเกิดขึ้นเพียงขณะเดียวและดับไป จะไม่มีจิตเกิด ๒ ขณะ ๓ ขณะพร้อมๆ กัน แต่เวลาที่ยังไม่ได้ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรม ขณะนี้กำลังเห็นด้วย และกำลังได้ยินด้วย จริงหรือไม่จริง

    ถ. เห็นก็ส่วนหนึ่ง ได้ยินก็ส่วนหนึ่ง

    สุ. นั่นเป็นขั้นการศึกษาธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงและทรงประจักษ์ว่า ในบุคคลหนึ่งจะมีจิตเกิดขึ้นเพียงขณะเดียว แต่ขณะนี้ เห็นกับได้ยินพร้อมกัน หรือเปล่า กำลังเห็นกับกำลังได้ยินในขณะนี้ เห็นดับไปหรือยัง

    ถ. ดับไปแล้ว

    สุ. ดับไปแล้วโดยคิด หรือโดยประจักษ์

    ถ. พูดไปครั้งหนึ่ง ก็ดับไปครั้งหนึ่ง พูดใหม่ก็เกิดอีก

    สุ. นั่นคิด หรือประจักษ์จริงๆ ว่า กำลังเห็นนี้ดับไป ไม่มีเห็นเลยในขณะที่ได้ยิน เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า โดยความเข้าใจรู้ว่าเป็นอย่างนั้น แต่ที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ และก็ได้ยิน เวลาที่ได้ยิน ผู้ที่ประจักษ์สภาพธรรมตามความเป็นจริงจะไม่มีเห็นปะปนอยู่ในสภาพที่กำลังรู้เสียง นั่นคือการประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรม แต่ในขณะนี้ เห็นดับหรือเปล่า ในขณะที่ได้ยิน กำลังได้ยินเสียงที่ปรากฏ หรือว่ายังเห็นอยู่ตามธรรมดา ยังไม่ได้ปรากฏว่าการเห็นนี้ดับไปเลย

    ถ. ได้ยินครั้งหนึ่ง แล้วก็ดับ

    สุ. นั่นโดยเข้าใจ แต่ตามความเป็นจริง คือ การประจักษ์แจ้ง

    ถ. นั่นก็ไปยึดเอา

    สุ. มิได้ กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ อะไรดับ

    ถ. เห็นก็ดับไป

    สุ. ดับจริงๆ หรือเข้าใจตามที่ทรงแสดงว่าเห็นต้องดับ

    ถ. อาจารย์ให้ตอบอย่างนั้น แปลว่า ก็ยังมีอยู่

    สุ. ยังมีอยู่ เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญปัญญา และสามารถที่จะรู้ลักษณะของนามธรรม ยังไม่ประจักษ์ความเกิดดับ อย่าเพิ่งประจักษ์ แต่ให้เข้าใจว่าความรู้จะต้องเกิดขึ้นตามลำดับขั้น ทั้งๆ ที่จิตนี้ไม่ได้เกิดพร้อมกัน ๒ หรือ ๓ ขณะ แต่แม้กระนั้น สติยังสามารถระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตที่ปรากฏตามความเป็นจริง ในอรรถกถาแสดงว่า ปลายนิ้วชี้ไม่สามารถที่จะแตะปลายนิ้วชี้ได้ ถูกไหม แตะนิ้วอื่นได้ แต่ปลายนิ้วชี้จะแตะปลายนิ้วชี้เองไม่ได้ เหมือนกับจิตซึ่งเกิดขึ้นขณะเดียวๆ ในคนหนึ่งๆ แต่แม้กระนั้นความเกิดดับอย่างรวดเร็วของจิตซึ่งสืบต่อกัน มีอาการที่ปรากฏให้สติระลึกรู้ลักษณะของจิตต่างๆ กัน ก่อนที่จะประจักษ์ความเกิดดับ

    แต่ผู้ที่เป็นสาวก จะไม่ประจักษ์สภาพธรรมดังที่พระผู้มีพระภาคทรงประจักษ์ คือ เป็นขณะจิต เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะประจักษ์ว่า นามธรรมและรูปธรรมเกิดดับ ต้องรู้ว่าลักษณะของนามธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนนั้น เมื่อปรากฏ ปรากฏอย่างไรก่อน

    เวลานี้นามธรรมกำลังเห็น เป็นสภาพรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ในจิต ๘๙ ประเภท หรือจิต ๘๙ ดวง จักขุวิญญาณดวงเดียวเท่านั้นจริงๆ ซึ่งสามารถกระทำกิจเห็นได้ เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ที่ทุกคนกำลังเห็น ได้แก่ จักขุวิญญาณดวงเดียว ในจิตซึ่งเกิดดับสืบต่อสลับกันหลายดวง แต่เมื่อยังมีอาการเห็น สติก็สามารถที่จะระลึกรู้สภาพที่กำลังเห็นว่า เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ เพื่อที่วันหนึ่งเมื่อรู้ชัดจริงๆ ลักษณะของนามธรรมจะปรากฏความเป็นนามธรรม ปรากฏจริงๆ ไม่มีรูปร่าง ไม่มีสีสันวัณณะ ไม่ใช่รูปธรรม ไม่ใช่สี ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่กลิ่น เป็นเพียงธาตุรู้

    ขอให้คิดถึงความหมาย อรรถของนามธรรม ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีจริง และไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่เสียง เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งเป็นเพียงธาตุรู้ หรือสภาพรู้ ลักษณะของนามธรรม หรือธาตุรู้นี้จะปรากฏทางมโนทวาร ในขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่ยังไม่ดับ ใช่ไหม

    เพราะฉะนั้น ที่ว่ารูปดับ หมายความว่า เมื่อถึงปัญญาขั้นที่ประจักษ์ว่า ไม่ใช่ตัวตนที่รู้รูปดับ ในขณะนั้นสภาพที่กำลังรู้รูปดับก็ดับด้วย เพราะสภาพรู้กำลังดับ และรูปก็กำลังดับ แต่ว่ายังไม่ปรากฏให้เห็นอาการดับ หรือให้เห็นลักษณะที่เป็นธาตุรู้ หรือสภาพรู้ จนกว่าปัญญาจะละเอียดขึ้น ทั่วขึ้น และปรากฏตามความเป็นจริง

    เรื่องของพรหมวิหารภาวนาที่ได้กล่าวถึงแล้ว คือ เมตตาภาวนา ซึ่งทุกท่านควรเป็นผู้ไม่อิ่ม คือ ไม่พอในการอบรมเจริญกุศล ถ้ารู้สึกตัวว่ามีอกุศลมากมาย แต่ถ้าไม่รู้สึกตัว บางท่านก็คิดว่า พอแล้ว ทานได้กระทำพอแล้ว หรือว่าศีลที่รักษาอยู่เป็นปกติประจำก็พอแล้ว แต่นั่นยังไม่พอ ถ้ารู้ว่ายังมีอกุศลอีกมากมายที่ต้องขัดเกลา

    ใน อัฏฐสาลินี อรรถกถาพระธัมมสังคณีปกรณ์ ซึ่งเป็นคัมภีร์แรกของ พระอภิธรรมปิฎก มีข้อความ พระบาลีนิทเทส อสันตุฏฐิตาทุกะ คือ ไม่รู้จักอิ่มในกุศลธรรม

    ไม่ทราบว่าท่านผู้ฟังเริ่มมีความรู้สึกอย่างนี้หรือไม่ คือ ไม่พอ ท่านคิดว่าท่านทำกุศลแล้ว แต่ก็ยังไม่พอ ควรที่จะได้ทำกุศลให้ยิ่งขึ้นๆ

    ข้อ ๑๓๗๘ - ข้อ ๑๓๗๙ มีข้อความว่า

    บทว่า ความไม่รู้จักอิ่มในกุศลธรรมนั้น มีนิทเทสว่า ความพอใจยิ่งๆ ขึ้นไปของบุคคลผู้ไม่รู้จักอิ่มในการเจริญกุศลธรรมทั้งหลาย

    บทว่า ความไม่ท้อถอยในความพยายาม มีนิทเทสว่า ความเป็นผู้กระทำโดยเคารพ ความเป็นผู้กระทำติดต่อ ความเป็นผู้กระทำไม่หยุด ความเป็นผู้ประพฤติ ไม่ย่อหย่อน ความเป็นผู้ไม่ทิ้งฉันทะ ความเป็นผู้ไม่ทอดธุระ การเสพ การเจริญ การกระทำให้มาก เพื่อความเจริญแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย

    ซึ่งทุกท่านก็ทราบตัวของท่านแต่ละบุคคลตามความเป็นจริงว่า ได้กระทำอย่างนี้มากน้อยตามอัธยาศัย ตามเหตุปัจจัยเพียงไร

    มีข้อความวินิจฉัยว่า

    คำว่า ความพอใจยิ่งๆ ขึ้นไป ได้แก่ ความพอใจพิเศษขึ้นไป จริงอยู่ บุคคลบางคนในโลกนี้ แต่แรกทีเดียวก็ถวายปักขิกภัต (อาหารที่ถวายในวันปักษ์) บ้าง (วันปักษ์ หมายความถึง ๒ อาทิตย์ต่อครั้งหนึ่ง) สลากภัต (อาหารที่ถวายโดยวิธีจับสลาก) บ้าง อุโปสถิกภัต (อาหารที่ถวายในวันอุโบสถ) บ้าง ปาฏิปทิกภัต (อาหารที่ถวายในวันปาฏิบท) บ้าง (วันปาฏิบท คือ วันแรมหนึ่งค่ำ)



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๙๐ ตอนที่ ๘๙๑ – ๙๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 81
    28 ธ.ค. 2564