แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 854


    ครั้งที่ ๘๕๔


    ผู้ฟัง พูดถึงเรื่องการฟัง มีคนถามดิฉันว่า ทำไมยังต้องไปฟังอยู่ ที่บ้านก็มีเทป กลางคืนก็เปิดฟัง ตอนเช้าก็เปิดฟัง ดิฉันตอบว่า ดิฉันไปฟังแล้วมีความสุข ดิฉันมีความสุขด้วยการฟัง ขณะใดที่เราได้รับอย่างอื่น เช่น รับประทานอาหารหรือขนมที่ชอบใจ ก็จะรู้สึกว่า พอแล้ว อิ่มแล้ว แต่ธรรมนี้ไม่มีอิ่ม ดิฉันเคยสนทนาธรรมกับเพื่อนถึงตีสอง ตีสาม รู้สึกว่า พูดเรื่องอะไรก็ไม่มีความสุขเท่ากับพูดถึงเรื่องสภาวธรรมที่เป็นอยู่ในตัวตนของเราด้วยความเข้าใจ

    สุ. ขออนุโมทนาท่านผู้ฟัง ที่เป็นผู้ที่ไม่ประมาทกิเลส และไม่ประมาทการฟังธรรม โดยไม่คิดว่า เมื่อเข้าใจธรรมแล้วก็พอแล้ว ไม่ต้องฟังอีก ซึ่งบางท่านอาจจะคิดอย่างนั้น หรือว่าบางท่านอาจจะประมาทกำลังของกิเลส โดยที่บางครั้งบางขณะท่านมีความรู้สึกว่า ท่านเข้าใจธรรมแล้ว และก็รู้ว่าทุกคนจะต้องตาย ท่านก็ต้องตาย เพราะฉะนั้น เวลาที่ท่านเกิดป่วยไข้ได้เจ็บ หรือว่ามีความเข้าใจในธรรม ในขณะนั้น ท่านก็กล่าวว่า ท่านพร้อมที่จะตาย ดูเหมือนว่าท่านไม่หวั่นเกรงความตาย และพร้อมที่จะจากทุกคนไปจริงๆ แต่ว่าพอได้ข่าวลูกหลานญาติมิตรเดือดร้อน ท่านก็หวั่นไหววุ่นวาย ไม่สงบ ซึ่งนั่นเป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า ท่านพร้อมหรือยังที่จะจากทุกคนไป ด้วยความเข้าใจในสภาพธรรม ด้วยการรู้ว่าทุกคนมีกรรมเป็นของตน และเป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมทั้งหมด แต่ละขณะย่อมเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยตามปกติ ตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น เรื่องพูด เรื่องไม่กลัวตาย เรื่องคิดว่าพร้อมที่จะตาย ก็เป็นเพียงชั่วขณะ ตราบใดที่ปัญญายังไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมจนกระทั่งดับกิเลสได้เป็นลำดับ ก็ยังเป็นผู้ที่จะต้องไม่ประมาทในการเจริญกุศล จนกว่าจะเกิดปัญญาที่คมกล้าจริงๆ บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้าจริงๆ ถ้ายังไม่บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยบุคคล ก็ต้องอบรมเจริญปัญญาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะบรรลุเป็นพระอริยเจ้า และจนกว่าจะบรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์

    ผู้ฟัง เป็นความจริง กิเลสนี้มีกำลังมาก แม้แต่ผ้าขี้ริ้วก็เสียดาย บางครั้งจะหยิบผ้าที่เราเตรียมไว้เป็นผ้าขี้ริ้วมาใช้ ก็เสียดาย ใช้ผ้าผืนนี้ก่อน ใช้ผืนนี้ทีหลัง อะไรทำนองนี้ พอนึกถึงความตาย ดิฉันเคยมีสติระลึกรู้สภาพของความอาลัย แม้แต่ผ้านุ่งผ้าห่มที่ใช้แล้วซึ่งก็เก่าพอสมควร และเป็นของที่มีราคาเล็กน้อย แต่ก็ยังอาลัย ยังเสียดาย พอนึกถึงคำว่า ตาย ใจหายแวบเลย แต่โชคดีที่ได้ฟังคำสอน และสติเห็นความจริงเหล่านี้ ซึ่งเกิดขึ้นตามความเป็นจริง

    กำลังของกิเลสมีมากจริงๆ มากที่สุดเลย เพราะฉะนั้น ดิฉันคิดว่า การอ่านในโลกนี้ไม่มีอะไรที่จะประเสริฐเท่ากับการอ่านจิตของตัวเองที่เปลี่ยนไปอย่างโน้น เปลี่ยนมาเป็นอย่างนี้ และการนินทาใครก็สู้นินทาตัวเองไม่ได้ เมื่อก่อนนี้เรารู้จักแต่คนอื่น คนนั้นเป็นอย่างนั้น คนนี้เป็นอย่างนี้ ไม่เคยที่จะหันมาดูจิตของตัวว่า เดี๋ยวนี้กำลังเป็นอย่างไร ซึ่งการอ่านจิตตัวเองอำนวยประโยชน์แก่การดำเนินชีวิตอย่างมหาศาลจริงๆ

    สุ. ขอกล่าวถึงผลของการเจริญมรณสติ ซึ่งจะเป็นการจบเรื่องของมรณสติ

    ข้อความใน วิสุทธิมรรค ได้แสดงผลของมรณสติว่า เมื่อระลึกถึงความตายแล้ว กุศลจิตเกิด คือ สงบ ปราศจากโลภะ ปราศจากโทสะ ปราศจากโมหะ และสงบขึ้นๆ ซึ่งการระลึกถึงความตายนั้น ย่อมสามารถทำให้จิตสงบถึงอุปจารสมาธิ แต่ไม่ถึงอัปปนาสมาธิ คือ ไม่เป็นฌานจิต เพราะอารมณ์คือการระลึกถึงความตายนั้นเป็นเพียงอารมณ์ที่เป็นที่ตั้งแห่งความสลดเท่านั้น แต่เวลาที่ใฝ่ใจบ่อยๆ ระลึกถึงความตายบ่อยๆ ในขณะนั้นนิวรณธรรมทั้ง ๕ คือ ความยินดีพอใจในกาม ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นต้น ย่อมสงบ

    ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า โดยนัยของการเจริญสมถภาวนานั้น เป็นการละโลภะ ซึ่งต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาจริงๆ ที่จะรู้ว่า วันหนึ่งๆ ถ้าขณะใดกุศลจิตไม่เกิด ขณะนั้นส่วนมากแล้วเป็นโลภมูลจิต แม้เพียงการคิด จะคิดเรื่องอะไรก็ตาม ก็ไม่ใช่เรา เป็นโลภมูลจิตคิด มีความยินดี ต้องการคิดในเรื่องที่คิดจึงเป็นโลภมูลจิต

    เห็น ไม่รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่น่าหน่าย น่าคลาย เป็นทุกข์ เพราะเป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นกระทำกิจเห็น และไม่เที่ยง เมื่อไม่รู้อย่างนี้ ไม่หน่าย ไม่คลาย ขณะนั้นแสดงว่า มีความยินดี มีความพอใจในเห็นที่กำลังเห็น และยังต้องการเห็นสิ่งอื่นอีกตลอดไป ใช่ไหม ไม่มีใครที่ไม่อยากจะเห็น หรือว่า พอแล้ว ไม่ต้องมีการเห็นอีกก็ดี หรือก็ได้ ไม่ได้มีปัญญาที่รู้อย่างนั้น เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ โลภะมากมาย ซึ่งสำหรับผู้ที่อบรมเจริญสมถภาวนานั้น ละโลภะ เพราะรู้ว่าถ้าขณะใดจิตไม่ระลึกเป็นไปในอารมณ์ที่จะให้เป็นกุศลจิตที่สงบแล้ว โลภะย่อมเกิด

    แต่สำหรับการอบรมเจริญวิปัสสนา มีการละโมหะ คือ อวิชชา ละความไม่รู้ ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ละแต่โลภะ หรือโทสะ แต่ละโมหะ คือ ความไม่รู้ ความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เช่น ทางตาที่กำลังเห็น ได้ยินได้ฟังมาก็มากแล้วว่าไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ แม้ว่าจะฟังอย่างนี้ต่อไปอีกหลายสิบปี หลายสิบชาติ เป็นกัปๆ ก็เพื่อที่จะให้มีสัญญา การจำที่มั่นคงในลักษณะ ในเรื่องของการเห็นที่กำลังเห็นว่า ไม่ใช่ตัวตน เป็นเพียงสภาพรู้ เป็นธาตุรู้

    หรือว่าทางหู ขณะที่ได้ยิน เป็นปกติประจำวัน เป็นเพียงสภาพรู้เสียง เป็นธาตุรู้เสียงเท่านั้นเอง แต่กว่าจะรู้ชัดในลักษณะของธาตุรู้ สภาพรู้ ซึ่งไม่ว่าจะรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา หรือรู้เสียงที่ปรากฏทางหู รู้เรื่องต่างๆ ที่คิดนึก รู้อารมณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ที่วิจิตรแปลกประหลาดสักเพียงไรก็ตาม ขณะนั้นก็ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพรู้ เป็นธาตุรู้เท่านั้นเอง กว่าจะประจักษ์จริงๆ ในอรรถ ในลักษณะของ ธาตุรู้ สภาพรู้ ต้องอาศัยการฟังพระธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าหลายๆ พระองค์ พร้อมกับการอบรมเจริญสติปัฏฐาน จนกว่าจะค่อยๆ รู้ขึ้น

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญวิปัสสนานั้น เป็นการละทั้งโลภะ ทั้งโทสะ และโมหะ

    ท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ท่านเล่าประสบการณ์ในชีวิตของท่านว่า ท่านเคยสลบ ไม่รู้สึกตัว แต่ยังไม่สิ้นชีวิต จุติจิตยังไม่เกิดขึ้น แต่ท่านไม่มีความรู้สึกว่าเป็นตัวของท่านที่เคยมีรูปร่างอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นแต่เพียงความรู้สึกว่า ได้เดินทาง จะใช้คำว่า ล่องลอยก็คงจะได้ ไปอย่างรวดเร็ว ไปสู่สถานที่ต่างๆ ที่ไม่ใช่ที่เดิม ไม่ใช่ที่เก่า เพราะฉะนั้น ในความรู้สึกของท่าน ท่านก็สงสัยว่า ขณะนั้นเป็นอะไร

    นี่ไม่ใช่การรู้ชัดว่า สภาพรู้เป็นเพียงธาตุรู้ เป็นอาการรู้ ไม่ว่าจะรู้อะไรทั้งสิ้น ไม่ว่าจะในขณะที่กำลังเห็นทางตาขณะนี้ ได้ยินเสียงที่กำลังปรากฏทางหูขณะนี้ หรือว่าจะเป็นการคิดนึก จะเป็นความฝัน หรือไม่เหมือนฝัน แต่ว่าเหมือนอย่างอื่นซึ่งเป็นการรู้อารมณ์อื่นที่วิจิตร ที่แปลก ที่ต่างจากอารมณ์ที่เคยรู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายในโลกนี้ แต่อย่าลืมว่า ถ้าสติเกิด ขณะนั้นปัญญาจะรู้ชัดว่า ธาตุรู้ สภาพรู้กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏเท่านั้นเอง ไม่มีความสงสัยว่า เป็นเราที่กำลังรู้ในสิ่งที่แปลกประหลาด หรือว่าเป็นเราซึ่งไม่ใช่ร่างกายนี้ที่อยู่ ณ สถานที่อื่น และไม่คิดว่าเป็นเราที่กำลังล่องลอยไปอย่างรวดเร็ว ขณะนั้นเต็มไปด้วยความรู้สึกว่าเป็นเรา แม้ว่าจะไม่ใช่ร่างกายอันเก่า แต่ก็ยังเป็นเรา เป็นตัวตน เป็นเรานั่นเอง ขณะนั้นห่างไกลจากการที่จะรู้ว่า สภาพรู้หรือธาตุรู้กำลังรู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏเท่านั้น

    ทุกขณะที่เห็น ไม่ว่าจะเป็นในชาตินี้ หรือในชาติก่อนๆ ในอดีตอนันตชาติ สัญญา จำ เกิดขึ้นพร้อมจิตทุกขณะ จำทุกอย่างที่เห็น ที่ได้ยินทุกขณะไป ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    มีใครที่ไม่เคยเกิดในนรก เวลาที่อยู่ในนรก สัญญาจำอะไร มีใครที่ไม่เคยเกิดในสวรรค์ ขณะที่เกิดในสวรรค์ สัญญาจำอะไร

    ขณะที่เกิดในนรก ไม่รู้ว่าไม่ใช่ตัวตนที่อยู่ที่นั่น เป็นแต่เพียงสภาพนามธรรมที่กำลังรู้อารมณ์ต่างๆ ในนรก ในภูมินั้น หรือว่าในขณะที่อยู่ในสวรรค์ก็ไม่ได้รู้ว่า ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพรู้ ธาตุรู้ ที่กำลังรู้อารมณ์ที่ปรากฏ จะเป็น ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ มีการเห็นวิมานแก้วผลึก เพชรนิลจินดาต่างๆ ซึ่งเป็นอารมณ์ที่ประณีตในสวรรค์ ก็ไม่ใช่เรา

    แต่ว่าสัญญาจำทุกอย่าง และก็จำอย่างสับสน ตกแต่งต่อเติมทุกอย่างที่จะให้มีสภาพของอารมณ์ต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นความวิจิตร เป็นความแปลก เป็นความต่าง แต่ไม่ใช่เรื่องที่จะติด หรือจะตื่นเต้น เพราะแท้ที่จริงแล้ว สติสามารถจะเกิดขึ้นได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น รู้ชัดในอรรถ ในลักษณะของสภาพรู้ที่กำลังรู้อารมณ์ที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า สำหรับการอบรมเจริญสมถะนั้นเป็นการละโลภะ แต่ว่าสำหรับการอบรมเจริญปัญญานั้น เป็นการละโลภะ โทสะ โมหะ

    ใน วิสุทธิมรรค กล่าวถึงผลของการเจริญมรณสติ มีข้อความว่า

    ก็แลภิกษุผู้ตั้งมั่นประกอบมรณานุสสตินี้ ย่อมเป็นผู้ไม่ประมาทเป็นนิจ ย่อมได้สัญญาเป็นเหตุหน่ายในภพทั้งปวง

    จุดประสงค์ของการฟังธรรม เพื่อความเข้าใจถูก เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เพียงฟังแล้วผ่าน แต่จะต้องพิจารณาด้วยถึงข้อความที่ว่า ก็แลภิกษุผู้ตั้งมั่นประกอบมรณานุสสตินี้ ย่อมเป็นผู้ไม่ประมาทเป็นนิจ ย่อมได้สัญญาเป็นเหตุหน่ายในภพทั้งปวง

    นี่เป็นผลของการเจริญวิปัสสนา ไม่ใช่เป็นผลของการเจริญสมถะ ถ้าเป็นผลของการเจริญสมถะ สงบยิ่งขึ้น แต่ว่าสามารถจะสงบได้เพียงขั้นอุปจารสมาธิ ไม่ถึงอัปปนาสมาธิ และไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละลักษณะซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยต่างๆ กัน เพราะฉะนั้น สำหรับ ภิกษุผู้ตั้งมั่นประกอบมรณานุสสตินี้ ย่อมเป็นผู้ไม่ประมาทเป็นนิจ ย่อมได้สัญญาเป็นเหตุหน่ายในภพทั้งปวง

    และที่จะหน่ายในภพทั้งปวงได้ มีหนทางเดียวเท่านั้น คือ เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน

    ข้อความต่อไป

    ละความใคร่ในชีวิต ย่อมเป็นผู้ติเตียนความชั่ว ไม่เป็นผู้มากด้วยการสั่งสม เป็นผู้ปราศจากความตระหนี่อันเป็นเครื่องหมองในบริขารทั้งหลาย แม้ความสำคัญหมายว่าไม่เที่ยง ย่อมถึงความชำนาญแก่ท่าน

    พยัญชนะนี้เป็นผลของการเจริญวิปัสสนา ที่ว่า แม้ความสำคัญหมายว่า ไม่เที่ยง ย่อมถึงความชำนาญแก่ท่าน เพราะถ้าเพียงเจริญสมถภาวนา คือ ความสงบ จะไม่มีสัญญาสำคัญหมายว่าไม่เที่ยง

    ข้อความต่อไป

    ก็โดยแนวนั้นเอง ความหมายเป็นทุกข์ และความหมายมิใช่ตน ย่อมปรากฏ ผู้ไม่ได้เจริญมรณสติ ในเวลาใกล้ตายย่อมถึงความพรั่นพรึง งมงาย ดุจถูกเนื้อร้าย หรือยักษ์ หรืองู หรือโจร หรือเพชฌฆาตครอบงำโดยฉับพลัน ฉันใด ผู้เจริญ มรณสติไม่พึงเหมือนอย่างนั้น เป็นผู้ไม่พรั่นพรึง เป็นผู้ไม่งมงาย ทำกาละ ถ้ายังไม่ได้บรรลุนิพพาน ก็ย่อมมีสุคติไปในเบื้องหน้า

    ข้อความนี้แสดงถึงการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพราะสมถภาวนานั้นไม่เป็นเหตุที่จะให้บรรลุนิพพาน

    เพราะเหตุนั้นแล ผู้มีปัญญาพึงทำความไม่ประมาทในมรณสติ ซึ่งมีผลมากอย่างนี้ ในกาลทุกเมื่อเทอญ

    เมื่อมีความเข้าใจเรื่องของการเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ข้อความนี้ ย่อมหมายความถึง การะลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏซึ่งเป็นสติปัฏฐานนั่นเอง

    ถ. การนึกถึงความตายว่า ย่อมมีแก่เราทุกคนเป็นแน่แท้ ไม่มีใครจะพ้นจากความตายไปได้ อย่างนี้จะเป็นสมถภาวนา หรือวิปัสสนา

    สุ. เป็นท่อง

    ถ. แต่ถ้าเป็นสมถภาวนา

    สุ. สงบ ละโลภะ ความหวงแหน ความตระหนี่ ละโทสะ ความผูกโกรธ ความอาฆาต ความพยาบาท ละมานะ ความสำคัญตน ละอกุศลทั้งหลายในขณะนั้น จึงชื่อว่าสงบ

    ถ. ดิฉันขอคำอธิบายเรื่องการเจริญสมถภาวนาที่เป็นไปอย่างถูกต้อง

    สุ. ต้องมีสัมปชัญญะ คือ ประกอบด้วยปัญญาที่จะรู้ว่า ขณะที่ระลึกนั้นเป็นเพียงท่อง หรือว่าสงบ ถ้าสงบจะต้องละความหวงแหน ละความผูกโกรธ ละความริษยา ละความสำคัญตน ละอกุศลทั้งหลายในขณะนั้น และแม้ว่าจะตรึกระลึกถึงความตายในลักษณะประการต่างๆ ก็ย่อมน้อมนึกด้วยสภาพของจิตที่เป็นกุศล ที่ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งผู้ที่จะสงบได้ต้องเป็นผู้ที่ประกอบด้วยสัมปชัญญะ ไม่ใช่เป็นผู้ที่เพียงท่อง

    เพราะฉะนั้น เรื่องของการอบรมเจริญสมถภาวนา ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาสามารถรู้ขณะจิตในขณะนี้ว่า เป็นกุศลหรืออกุศล แต่ที่ไม่ใช่สติปัฏฐาน ไม่ใช่วิปัสสนา เพราะไม่ได้รู้ชัดในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน

    เวลาที่เกิดความโกรธขึ้น ทุกคนรู้ในลักษณะของความโกรธ ความหยาบกระด้าง ความรู้สึกไม่แช่มชื่น ความขุ่นเคือง ไม่ใช่สภาพที่เป็นสุข แต่ขณะนั้นเป็นเรา เราโกรธ ไม่ได้รู้ลักษณะแท้ๆ ว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง มีลักษณะอย่างนั้น ต่างกับสภาพนามธรรมอื่นๆ

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสมถภาวนา ปัญญาขั้นสมถะที่สงบ รู้ชัดในลักษณะของจิตที่กำลังเป็นไปในขณะนั้นว่า เป็นกุศลหรืออกุศล จึงต้องประกอบด้วยสัมปชัญญะ ด้วยเหตุนี้การอบรมเจริญสมถภาวนาไม่ง่าย

    ถ. ถ้าอย่างนั้น การเจริญสมถภาวนาก็ยากกว่าวิปัสสนาภาวนา

    สุ. ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ผู้ที่บรรลุคุณธรรมเป็น พระอริยเจ้าโดยที่ไม่ได้ฌานจิต มีมากกว่าผู้ที่บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้าที่ประกอบด้วยฌานจิต



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๘๖ ตอนที่ ๘๕๑ – ๘๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 81
    28 ธ.ค. 2564