แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 858


    ครั้งที่ ๘๕๘


    ธัม. ยกตัวอย่าง ในขณะนี้ สิ่งที่ท่านเห็นเดี๋ยวนี้เป็นอะไร เป็นสี ใช่ไหม แต่ปกติธรรมดาๆ เห็นแล้วคิด รู้ว่าเป็นคน เป็นพระ เป็นโยม เป็นผู้ชาย เป็นผู้หญิง และรู้สึกว่า เขากำลังคิดร้ายด้วย หรือว่าเขากำลังคิดดี ก็พอจะรู้ได้ ใช่ไหม และก็นึกทันทีได้ว่า เขามีอารมณ์ดี มีอารมณ์ไม่ดีอย่างไร พอจะนึกได้ ใช่หรือเปล่า ถ้ายิ้ม ก็คงมีอารมณ์ดี ถ้าหน้าบึ้งก็คงมีอารมณ์เสีย ซึ่งขณะนั้นชื่อว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตานั้นเป็นสภาพรู้หรือเปล่า คือ บอกว่าเขาโกรธ ดูแล้วก็คิดว่าเขาโกรธ อะไรโกรธ สีโกรธหรือเปล่า

    สีทำหน้าที่โกรธไม่ได้ แต่ในขณะนั้นคงคิดว่า สิ่งที่เราเห็นนั้น คือ โกรธเรา หรือโกรธคนอื่นก็แล้วแต่ สิ่งที่ปรากฏทางตาโกรธ แต่สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสี สีไม่ใช่โกรธ โกรธเป็นนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรม เรานึกถึงความโกรธได้ แต่ความโกรธของผู้นั้นไม่ได้ปรากฏทางตา เป็นนามธรรม แยกออกจากสีที่ปรากฏทางตา

    ไม่มีใครเห็นโกรธได้ ไม่มีใครเห็นความพอใจได้ เห็นเมื่อไรก็ต้องเห็นสีอย่างเดียว ไม่เห็นอย่างอื่น แต่มักจะคิดว่าเห็นหลายอย่าง และบางทีคิดว่าเห็นนามธรรมด้วย เห็นโกรธ เห็นความพอใจ เห็นหลายอย่าง เห็นปัญญาของเขา อะไรก็แล้วแต่ บางทีอาจจะทำให้เข้าใจว่า นามธรรมกับรูปธรรมปะปนกันเสมอในความคิดของเรา ปะปนกันละเอียดสักเท่าไรเอาไว้ก่อน บางทียกตัวอย่างยากหน่อย หมายความว่า ถ้ารูปธรรมเป็นอารมณ์ในขณะนั้น ปัญญาไม่หลงเข้าใจผิดว่ามีอย่างอื่นๆ ในรูปธรรมนั้น

    คือ ถ้าสีปรากฏ ปัญญาสามารถรู้สีตามความเป็นจริงว่า สีนั้นไม่ใช่อย่างอื่น นอกจากสี ไม่ปะปนกับอะไรอย่างอื่น ถ้าเราคิดว่าสีเป็นคน และเราคิดว่าคนเป็นสิ่งที่รู้อย่างนี้ รู้อย่างนั้น ก็ถือว่า เราคิดว่าสีทำหน้าที่รู้ได้ แต่สีทำหน้าที่รู้ไม่ได้ สีเป็นรูปธรรม รูปธรรมไม่รู้อะไรเลย ปรากฏทางตา

    เมื่อรู้สีตามความเป็นจริง ในขณะนั้นไม่คิดว่า ในสีนั้นมีอย่างอื่นนอกจากสี คือ สิ่งที่เคยคิดว่ารวมกับสีในขณะนั้นไม่คิดผิดว่ามีอะไรรวมกับสี สิ่งที่ปรากฏนั้นไม่ได้เป็นอย่างอื่นนอกจากสี สีนั้นไม่ได้เป็นคนซึ่งเดินได้ ซึ่งพูดได้ ซึ่งคิดได้ ซึ่งโกรธได้ พอใจได้ สีต้องเป็นสี แยกออกจากอย่างอื่นๆ ที่เคยเข้าใจผิดคิดว่ามีอยู่ในสีนั้น หรือว่าเป็นสีนั้น บางทีคิดว่า สีเป็นสิ่งที่เขาก็ไม่ได้เป็น เช่น คิดว่าสีเป็นคน สีเป็นสัตว์ แต่สีเป็นสี สีไม่เป็นสัตว์ ไม่เป็นบุคคล บางทีคิดว่า ในสีนั้นมีคน นี่คิดผิดอีกอย่างหนึ่ง บางทีคิดว่า สีมีอยู่ในคน ซึ่งก็เป็นการคิดผิดอีกอย่างหนึ่ง เข้าใจผิดหลายอย่าง

    สรุป คือ นำหลายอย่างมารวมกัน หรือให้เป็นหนึ่ง แต่ไม่ได้เป็นหนึ่ง สีเป็นสีอย่างเดียว ไม่มีอะไรอย่างอื่นในสี ไม่มีรูปธรรมอย่างอื่นในสี

    จับสีได้ไหม ไม่ได้ เพราะสภาพแข็งไม่มีอยู่ในสภาพสี เป็นคนละอย่าง ปรากฏคนละทาง ต้องแยกรูปออกจากรูปด้วย ไม่ใช่แยกรูปออกจากนามอย่างเดียว ถ้ายังคิดว่า สามารถจับสีได้ ก็ผิด

    สิ่งที่ปรากฏทางกาย เมื่อหยิบหนังสือขึ้นมา ไม่ใช่สี และบางทีคิดว่ามีนามด้วย บางทีคิดว่านิ้วของเรารู้สึกอะไรได้ แต่นิ้วของเราเป็นรูปธรรมต่างๆ ชนิด ไม่มีนามธรรมเลยในรูปธรรมนั้น ในขณะที่รู้สึกตรงนี้ ไม่ใช่นิ้วรู้สึก ไม่ใช่รูปธรรมสิ่งที่เราเห็นนั้นรู้สึก แต่เป็นสภาพรู้ซึ่งเป็นอีกอย่างหนึ่ง ไม่มีใครเห็นได้ เกิดขึ้นตรงนี้ แต่ไม่ใช่รูปธรรมที่เรายึดถือว่าเป็นนิ้วของเรา ต้องแยกรูปออกจากรูป นามออกจากนาม และรูปออกจากนาม นามออกจากรูป ขณะที่สติเกิดและปัญญาศึกษารู้ลักษณะที่ปรากฏ ขณะนั้นเรียกว่าแยกแล้วได้ อาจจะได้ แต่ไม่ชัด เพราะปัญญายังอ่อนๆ เริ่มที่จะฝึกแยก โดยรู้สิ่งเดียว สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ แยกแล้ว ใช่ไหม แต่ความจริงไม่ต้องแยก เพราะแยกกันอยู่แล้ว สีไม่ได้เป็นการเห็น การเห็นไม่ได้เป็นสี แต่เราไม่รู้แต่ละลักษณะตามความเป็นจริง ถ้ารู้แต่ละลักษณะตามความเป็นจริง ก็ไม่นำมารวมเป็นอย่างอื่นๆ

    ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)

    ธัม. รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ลักษณะเดียว รู้สีตรงสี ไม่ใช่กำลังรู้คน นั่นไม่ใช่สติปัฏฐาน ไม่ใช่รู้สีที่เป็นกลมๆ เมื่อคิดว่าสีเป็นกลมๆ ก็ไม่ได้รู้ตรงสี ไม่รู้เสียงที่เป็นเสียงสุนัข เพราะว่าไม่ตรงเสียงที่เป็นเสียง ไม่มีสุนัขในเสียง ต้องตรงลักษณะจึงจะแยกให้ชัดได้ ไม่สนใจในอย่างอื่นๆ ในขณะที่สติเกิดรู้ทางตา ไม่สนใจในอย่างอื่น ทิ้งหมด ทิ้งนามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ ทิ้งแข็ง ทิ้งเย็น ทิ้งเสียง รู้และศึกษาเฉพาะสีที่ปรากฏทางตาอย่างเดียว

    ถ. แยกรูป แยกนาม ผมเข้าใจว่า ขณะที่พิจารณารูปไปเรื่อยๆ จนกระทั่งรู้ชัดว่า รูปเป็นรูป เมื่อรู้ชัดว่าเป็นรูป รูปไม่ใช่นาม เพราะฉะนั้น เมื่อรู้ชัดอย่างนี้แล้ว ขณะนั้นเห็นรูปไม่ได้เข้าใจผิดว่า รูปนั้นเป็นนาม และเมื่อเห็นนาม ก็ไม่ได้เข้าใจผิดว่า นามนั้นเป็นรูป เมื่อปัญญารู้อย่างนี้ก็ชื่อว่า แยกรูป แยกนาม เป็นแบบนี้ใช่ไหม

    ธัม. เหมือนกัน ไม่มีนามในรูป ไม่มีรูปในนาม แต่รู้หรือยัง

    ถ. การเจริญสติปัฏฐาน พิจารณาสี ตามที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า สีไม่รู้อะไร เราจับสีไม่ได้ เพราะฉะนั้น ขณะที่เราเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น เห็นพระพุทธรูป เห็นพื้น เห็นโต๊ะ เห็นเก้าอี้ ในขณะที่เรารู้ว่า เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ ขณะนั้นการเห็นนั้นดับไปแล้ว ถ้าเราจะพิจารณาในขณะนั้นที่ว่า เรารู้ว่าเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ ขณะนั้นก็เป็นเพียงนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรม ใช่ไหม

    ธัม. สภาพเห็น รู้ว่าสิ่งที่เห็นนั้นเป็นอะไรๆ ไม่ได้ เมื่อเข้าใจถูกว่า เห็นเป็นอย่างหนึ่ง รู้สี ไม่รู้สัณฐาน ไม่รู้ชื่อ ไม่รู้ความหมาย แต่ที่กำลังรู้ความหมายนั้น รู้ชื่อ หรือว่ารู้สัณฐาน ต้องเป็นอีกอย่างหนึ่ง เป็นเห็นไม่ได้

    เห็นทำหน้าที่เดียว คือ รู้สี โดยไม่คิดถึงความหมาย หรือว่าสัณฐานอะไรอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังรู้ความหมายต้องเป็นอีกขณะหนึ่ง เป็นนามธรรมอีกชนิดหนึ่ง มีลักษณะอีกอย่างหนึ่ง ลักษณะเห็นกับลักษณะคิด คนละลักษณะ รู้ว่า เป็นอะไร ต่างกับเห็น

    ถ. การปฏิบัติธรรมที่จะให้ละตัวตนได้ จำเป็นที่จะต้องรู้ถึงการเกิดดับของนามของรูปหรือไม่

    ธัม. ต้องรู้สิ่งที่เคยคิดว่าเป็นตัวตน จึงจะละความเข้าใจผิดว่า ตัวตนมีอยู่ เพราะไม่ใช่ว่าไม่มีตัวตน ไม่มีอะไร ถ้าไม่มีตัวตน ไม่มีเรา ก็ไม่มีโกรธ ไม่มียินดี ไม่มีเมตตา ไม่มีสี ไม่มีเห็น มีหลายอย่างสารพัด แต่ละอย่างนั้นเป็นแต่ละอย่าง ถ้าเป็นนาม มีลักษณะรู้ก็เป็นนาม ถ้ามีลักษณะไม่รู้ก็เป็นรูป แต่ไม่ใช่เรา ต้องรู้สิ่งที่เคยยึดถือว่าเป็นเราจึงจะเข้าใจว่า ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่เราอย่างไร เพราะรู้ว่าเป็นอะไร

    ถ. ไม่จำเป็นต้องรู้การเกิดดับใช่ไหม

    ธัม. เกิดดับของอะไร

    ถ. ของรูปของนาม

    ธัม. ของสิ่งที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ หรืออย่างอื่น

    ถ. ของสิ่งที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้

    ธัม. แล้วเดี๋ยวนี้มีอะไรปรากฏบ้าง

    ถ. สี ที่ปรากฏนี้เกิดขึ้น อย่างเห็นสี เห็นสิ่งต่างๆ แต่บางทีทั้งๆ ที่สีมี ก็ไม่เห็น กลับไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ อย่างนี้เรียกว่าสีดับหรือเปล่า

    ธัม. สีเกิดขึ้นแล้ว ดับ หรือไม่ดับ โยม

    ถ. ก็ไม่ทราบว่าจะเรียกว่าอย่างไร คือ ทั้งๆ ที่สีมีอยู่ แต่ไม่เห็น ไปได้ยิน ไปคิดเรื่องอื่น อย่างนี้เรียกว่าสีดับหรือเปล่า

    ธัม. ขณะที่จะรู้ลักษณะของสีว่าเที่ยงหรือไม่เที่ยง ต้องเป็นขณะที่สีปรากฏ จะรู้การเกิดขึ้นหรือการดับไปของสิ่งที่ไม่ปรากฏคือดับไปนานแล้ว หรือว่ายังไม่เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น ขณะนั้นที่ได้ยิน ไม่มีทางที่จะรู้การเกิดหรือการดับของสีได้ จะรู้การเกิดการดับของสีได้ก็แต่เฉพาะเมื่อรู้สี ไม่ใช่เมื่อเสียงกำลังปรากฏ และเมื่อเสียงกำลังปรากฏ ก็มีโอกาสที่จะรู้เสียงตามความเป็นจริงว่า เสียงเที่ยงหรือเปล่า เสียงเป็นอย่างไร

    การที่จะรู้การเกิดการดับ เป็นขั้นสูงของปัญญา เริ่มแรกต้องรู้ลักษณะของนามธรรมกับรูปธรรมก่อน โดยยังไม่รู้การเกิดและการดับของนามธรรมและรูปธรรมนั้น เพราะว่าปัญญายังไม่ได้อบรมถึงขั้นนั้น ถ้ายังไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั่วพอที่จะแยกออกจากกัน ซึ่งเป็นขั้นแรกของปัญญา ปัญญาขั้นสูงต่อไปจะเกิดไม่ได้ และจะรู้การดับของสิ่งที่ในขณะนั้นไม่ปรากฏ ก็ไม่มีทางที่จะรู้ได้ ต้องรู้เฉพาะสิ่งที่ปรากฏกับเราว่าเป็นอย่างไร เกิดหรือไม่เกิด ดับหรือไม่ดับ เที่ยงหรือไม่เที่ยง อย่างอื่นจะรู้ไม่ได้ เมื่อรู้ว่าสีที่เกิดขึ้นเดี๋ยวนี้ดับเดี๋ยวนี้ ก็สีอย่างอื่นที่ไม่ได้เห็นแต่สำคัญว่ามี ซึ่งถ้ามีก็ต้องดับเช่นเดียวกับสีที่เราพิสูจน์แล้วว่าดับ ไม่ต้องคิดถึงสีที่ไม่ปรากฏ เพราะขณะที่คิดถึงสีที่ไม่ปรากฏ ก็เลยโอกาสที่จะรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร อย่าลืมว่า นามเกิดดับเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าสีดับอย่างเดียว เห็นดับด้วย

    ถ. จากการศึกษาเรื่องรูปนามไม่เที่ยง เกิดแล้วดับนี้ ทำให้นึกถึงรูปนามอื่นที่อยู่นอกตัวว่า รูปนามเหล่านั้นเกิดดับหรือไม่

    ธัม. ใช่ แต่สิ่งที่จะพิสูจน์ ต้องเป็นนามธรรมกับรูปธรรมที่ปรากฏในขณะนี้กับตัวเรา ไม่ใช่กับคนอื่น เดี๋ยวนี้ ขณะนี้

    สี เดี๋ยวนี้พิสูจน์ได้ว่าสีนั้นเป็นอย่างไรตามความเป็นจริง แต่สีของเมื่อวานพิสูจน์ไม่ได้ เมื่อวานผ่านไปแล้ว สีของพรุ่งนี้ หรือสีที่จะปรากฏข้างหลัง ซึ่งท่านยังเห็นไม่ได้ ท่านพิสูจน์เรื่องสีนั้นไม่ได้ แต่สีที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้พิสูจน์ได้ ไม่ต้องเอาใจใส่ในสิ่งที่ไม่ปรากฏ เพราะสิ่งที่ไม่ปรากฏจะเป็นเรื่องเป็นราวกับเราอย่างเดียว จะไม่เป็นของจริงที่จะรู้ตามความเป็นจริงได้ ต้องรู้สิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริง ไม่ใช่อย่างอื่น ไม่ใช่สีที่ไม่เห็น

    ถ. รูปหรือนามที่เกิดดับนี้ คือ สีเกิดขึ้นได้เพราะมีนาม มีจิต

    ธัม. ใครบอกว่า สีเกิดขึ้นเพราะนาม

    ถ. ถ้าไม่มีจิต ก็เหมือนกับสีไม่มี ไม่มีอะไรไปรับรู้

    ธัม. สีไม่ปรากฏ ไม่ปรากฏ กับไม่มี เหมือนกันหรือเปล่า

    ถ. ก็คิดว่าคนละอย่าง

    ธัม. ถ้าเหมือนกัน ก็หมายความว่า ถ้าในทีนี้ไม่มีใคร ก็จะไม่มีรูปธรรม สักอย่างหนึ่งตลอดเวลาที่ไม่มีใครอยู่ แต่อย่าลืมว่า ปรากฏ กับมีอยู่ ไม่เหมือนกัน

    ปรากฏ หมายความว่าเป็นอารมณ์ของจิต แต่จิตไม่ได้ทำให้รูปเกิดขึ้น รูปเกิดขึ้นเพราะรูปบ้าง รูปเกิดขึ้นเพราะจิตบ้าง รูปก็เกิดขึ้นเพราะอาหารบ้าง รูปเกิดขึ้นเพราะกรรมบ้าง ไม่ใช่ว่าต้องรู้จึงจะให้รูปนั้นที่ถูกรู้เกิดขึ้น แต่รูปเกิดขึ้นเพราะกรรมก็ได้ เพราะอาหารก็ได้ เพราะอุตุก็ได้ แต่จะปรากฏได้เพราะถูกจิตรู้ จิตเกิดขึ้นรู้ลักษณะของรูปนั้นในขณะนั้น รูปนั้นจึงปรากฏได้

    ถ. ไม่ทราบว่ารูปเกิดดับ และสภาพเกิดดับเป็นอย่างไร แต่ที่แน่ๆ คือ บางทีจิตไปรับอารมณ์อย่างนั้นบ้าง รับอารมณ์อย่างนี้บ้าง เมื่อมีรูป อาจจะไปเกิดกับรูปนั้นรูปนี้ เพราะฉะนั้น จึงทำให้สงสัยว่า รูปนั้นมีการเกิดดับหรือเปล่า แต่ว่าจิตเกิดดับแน่ เชื่ออย่างนั้น

    ธัม. อย่ารีบเร่งไปรู้ถึงการเกิดดับ เพราะว่าต้องรู้สภาพที่จะเกิด สภาพที่จะดับเป็นอย่างไร สภาพที่จะเกิด สภาพที่จะดับนี้ ต้องเป็นสภาพของนามธรรมกับรูปธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งเมื่อยังแยกออกจากกันไม่ได้ ไม่ต้องพูดถึงการเกิดและการดับ

    ต้องขั้นแรกก่อน ไม่ใช่ขั้นมหาวิปัสสนาก่อนและวิปัสสนาอ่อนๆ ทีหลัง แต่ ต้องอ่อนๆ ก่อน และแข็งแรงขึ้นต่อๆ มา

    เริ่มต้นต้องฟังมากๆ ถามมากๆ และพิจารณาด้วย และอย่าคิดว่าพอ เราไม่ใช่ผู้เริ่มต้นแล้ว เพราะว่าต้องเริ่มต้นใหม่ทุกขณะ เดี๋ยวนี้ต้องเริ่มต้นใหม่ เกิดสติใหม่ รู้สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นปรากฏในขณะนี้ ถ้าถือว่าเราไม่ใช่เริ่มต้นแล้ว ก็เข้าใจผิด ผู้ที่ไม่ใช่ผู้เริ่มต้น อาจจะกล่าวว่า พระอรหันต์ไม่ใช่ผู้เริ่มต้นก็ได้ เพราะว่าท่านไม่ต้องเจริญกุศลแล้ว กิเลสหมดแล้ว แต่ถ้ายังไม่ใช่พระอรหันต์ก็ต้องเริ่มต้นใหม่ รู้สิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริง แม้พระอรหันต์ก็รู้ตามความเป็นจริงเหมือนกัน แต่หน้าที่ จบแล้ว

    โยม ไม่ทราบว่าเมื่อกำลังคิดเรื่องนี้ สติเคยเกิดบ้างหรือไม่ เพราะว่าเมื่อคิดถึงเรื่องนี้ ไม่ใช่ตัวตน เป็นธรรม เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยที่สะสมมาจึงคิดอย่างนั้น เรื่องนั้น บางทีลืมว่า คิดถึงเรื่องสติปัฏฐานก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ต้องรู้ลักษณะ สงสัยก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ผู้ที่ไม่สงสัยต้องเป็นพระโสดาบันแล้ว ถ้าไม่ใช่พระโสดาบัน ก็ไม่ได้ละเหตุที่จะทำให้เกิดสงสัยได้ แต่มักจะต้องการเป็นพระโสดาบันก่อน เป็นแล้วจะค่อยๆ เจริญ สติปัฏฐาน เพราะไม่สงสัย

    ไม่มีใครชอบสงสัย แต่ต้องกล้ามาก เพราะผู้ที่จะเป็นพระโสดาบัน เป็นผู้ที่ ไม่ว่าจะเกิดสงสัยก็ไม่หวั่นไหว ตลอดมา แต่ค่อยๆ เจริญสติรู้แม้ลักษณะของสงสัย ซึ่งมีจริง เป็นของจริง ไม่ใช่ว่าสงสัยแล้วไม่ใช่ของจริงที่จะต้องไม่รู้ ต้องรู้สงสัย แต่มักจะเกิดไม่พอใจในสงสัย กังวลไม่อยากจะสงสัย นี่ไม่ใช่เหตุที่จะละสงสัย คือ กังวลถึงความสงสัย แต่ต้องรู้แม้สงสัย จึงจะรู้นามธรรมกับรูปธรรมทั่วไป และวันหนึ่งก็จะไม่สงสัย



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๘๖ ตอนที่ ๘๕๑ – ๘๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 81
    28 ธ.ค. 2564