แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 879


    ครั้งที่ ๘๗๙


    ใน อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต ปสาทกรธัมมาทิบาลี พระผู้มีพระภาคได้ทรงสรรเสริญกายคตาสติเป็นอันมาก ซึ่งอย่าลืมว่า กายคตาสติไม่ได้หมายเฉพาะการระลึกถึงอาการ ๓๒ แต่หมายถึงกายานุปัสสนาสติปัฏฐานทั้งหมด

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ข้อ ๒๓๒

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อธรรมข้อหนึ่งบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีการแทงตลอดธาตุมากหลาย ย่อมมีการแทงตลอดธาตุต่างๆ ย่อมมีความแตกฉานในธาตุมากหลาย ธรรมข้อหนึ่งคืออะไร คือ กายคตาสติ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อธรรมข้อหนึ่งนี้แล บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีการแทงตลอดธาตุมากหลาย ย่อมมีการแทงตลอดธาตุต่างๆ ย่อมมีความแตกฉานในธาตุมากหลาย ฯ

    ระลึกที่กาย อ่อนหรือแข็ง ไม่ใช่ตัวตน เพราะเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งมีลักษณะเพียงอ่อนหรือแข็ง จึงเป็นธาตุชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน จะทำให้เป็นผู้ที่แทงตลอดธาตุมากหลาย และแตกฉานในธาตุมากหลาย

    เสียงเป็นธาตุหรือเปล่า

    ทั้งๆ ที่กำลังพิจารณา หรือว่ารู้ในลักษณะของธาตุดินที่อ่อนหรือแข็ง แต่ความอ่อนหรือความแข็งจะปรากฏตลอดไปไม่ได้ เมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะให้ร้อนปรากฏ แม้ว่าขณะนั้นไม่ได้พิจารณาหรือว่าน้อมนึกถึงความเป็นปฏิกูลของธาตุไฟหรือธาตุลมก็ตาม เพียงแต่ว่าเมื่อได้ฟังเรื่องของธาตุดิน ธาตุน้ำที่เป็นปฏิกูล ขณะที่รับประทานอาหาร ขณะที่ทำกิจการงาน ก็เห็นอาการของวาโยธาตุซึ่งเป็นผู้กระทำในขณะนั้น ไม่ว่ากิริยาอาการนั้นจะไหวไปอย่างไร แต่ธาตุนั้นก็ไม่ได้ปรากฏอยู่ตลอดเวลา ธาตุอื่นเมื่อมีปัจจัยก็เกิดขึ้นปรากฏได้

    หรือในขณะนี้ ถ้ามีการระลึกรู้ลักษณะของอ่อนหรือแข็งนิดหนึ่ง เสียงก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสัททธาตุ เป็นธาตุอีกชนิดหนึ่งปรากฏ เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นว่าไม่มีตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพลักษณะของธาตุแต่ละลักษณะ ไม่ว่าสภาพธรรมใดปรากฏ ก็รู้ว่าสภาพนั้นเป็นแต่เพียงธาตุชนิดหนึ่งๆ เท่านั้น จึงไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนทั้งหมด

    ข้อ ๒๓๓

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อธรรมข้อหนึ่งบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง ย่อมเป็นไปเพื่อทำสกทาคามิผลให้แจ้ง ย่อมเป็นไปเพื่อทำอนาคามิผลให้แจ้ง ย่อมเป็นไปเพื่อทำอรหัตตผลให้แจ้ง ธรรมข้อหนึ่งคืออะไร คือ กายคตาสติ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรมข้อหนึ่งนี้แล บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง ย่อมเป็นไปเพื่อทำสกทาคามิผลให้แจ้ง ย่อมเป็นไปเพื่อทำอนาคามิผลให้แจ้ง ย่อมเป็นไปเพื่อทำอรหัตตผลให้แจ้ง ฯ

    แสนที่จะธรรมดา คือ อ่อนหรือแข็งเท่านั้น ก็ยังทำให้โสตาปัตติผลให้แจ้ง สกทาคามิผลให้แจ้ง อนาคามิผลให้แจ้ง อรหัตตผลให้แจ้ง เป็นไปได้ไหม

    ข้อ ๒๓๔

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อธรรมข้อหนึ่งบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญแห่งปัญญา ย่อมเป็นไปเพื่อความไพบูลย์แห่งปัญญา ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาใหญ่ ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญามาก ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาไพบูลย์ ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาลึกซึ้ง ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาสามารถยิ่ง ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญากว้างขวาง ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มากด้วยปัญญา ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาว่องไว ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาเร็ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาร่าเริง ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาแล่น ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาคม ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาชำแรกกิเลส ธรรมข้อหนึ่งคืออะไร คือ กายคตาสติ …

    ฟังดูปัญญามีมากเหลือเกิน และเวลานี้ปัญญาอะไร ปัญญาขั้นไหน น้อยหรือมาก เมื่อยังน้อยอยู่ ก็ไม่ทราบว่า แท้ที่จริงแล้วปัญญามีมากมายแล้วแต่การสะสมของแต่ละท่าน ถ้ายังไม่ได้อบรมเจริญปัญญาย่อมไม่ทราบว่า ตัวท่านนี้จะประกอบด้วยปัญญาอะไรบ้าง เพราะมีปัญญามากหลายอย่าง เช่น เป็นผู้มีปัญญาใหญ่ เป็นผู้มีปัญญาลึกซึ้ง เป็นผู้มีปัญญาสามารถยิ่ง เป็นผู้มีปัญญากว้างขวาง เป็นผู้มีปัญญาว่องไว เป็นผู้มีปัญญาร่าเริง เป็นผู้มีปัญญาแล่น เป็นผู้มีปัญญาคม เพราะฉะนั้น เรื่องของปัญญาที่จะเกิดขึ้นข้างหน้ามีอีกมาก เมื่อได้อบรมเจริญแล้ว จริงๆ

    ข้อ ๒๓๕

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ชนเหล่าใดไม่บริโภคกายคตาสติ ชนเหล่านั้นชื่อว่าย่อมไม่บริโภคอมตะ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ชนเหล่าใดบริโภคกายคตาสติ ชนเหล่านั้นชื่อว่าย่อมบริโภคอมตะ ฯ

    ถ้าไม่ระลึกรู้ลักษณะของอ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหวที่กาย ไม่บริโภคอมตะ ไม่มีทางที่จะถึงการไม่เกิด เพราะไม่รู้แม้ลักษณะสภาพของธาตุที่มีจริงๆ ที่ปรากฏที่กาย ซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    ข้อ ๒๓๖

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กายคตาสติอันชนเหล่าใดไม่บริโภคแล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นไม่บริโภคแล้ว ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กายคตาสติอันชนเหล่าใดบริโภคแล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นบริโภคแล้ว ฯ

    ข้อความคล้ายคลึง แต่ว่าเน้นความต่างกัน

    ข้อ ๒๓๗

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กายคตาสติของชนเหล่าใดเสื่อมแล้ว อมตะของชนเหล่านั้นชื่อว่าเสื่อมแล้ว ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กายคตาสติของชนเหล่าใดไม่เสื่อมแล้ว อมตะของชนเหล่านั้นชื่อว่าไม่เสื่อมแล้ว ฯ

    ดูเหมือนซ้ำ แต่มีประโยชน์สำหรับเป็นการเตือนให้ระลึกรู้ลักษณะของกายขณะนี้ทันที เห็นประโยชน์จริงๆ ว่า จะต้องบริโภค จะต้องอบรม จะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏที่กายในขณะนี้เอง

    ข้อ ๒๓๘

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กายคตาสติอันชนเหล่าใดเบื่อแล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นเบื่อแล้ว ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กายคตาสติอันชนเหล่าใดชอบใจแล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นชอบใจแล้ว ฯ

    แม้ในขณะที่ฟังนี้เอง ท่านเป็นบุคคลไหนใน ๒ บุคคล ระลึกรู้ลักษณะที่กาย ไม่เบื่อที่จะระลึกรู้ลักษณะของเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว บ่อยๆ เนืองๆ

    ข้อ ๒๓๙

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ชนเหล่าใดประมาทกายคตาสติ ชนเหล่านั้นชื่อว่าประมาทอมตะ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ชนเหล่าใดไม่ประมาทกายคตาสติ ชนเหล่านั้นชื่อว่าไม่ประมาทอมตะ ฯ

    นี่คืออนุสาสนี คือ พระธรรมที่ทรงพร่ำสอน แม้ในเรื่องเดียวกัน ทรงเน้น และทรงใช้พยัญชนะต่างๆ เพื่อที่จะให้มีการระลึกได้ และเห็นประโยชน์ของแม้ขณะหนึ่งที่สติจะเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง

    ข้อ ๒๔๐

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กายคตาสติอันชนเหล่าใดหลงลืม อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นหลงลืม ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กายคตาสติอันชนเหล่าใดไม่หลงลืม อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นไม่หลงลืม ฯ

    เห็นประโยชน์จริงๆ หรือยัง แต่พระผู้มีพระภาคก็ยังทรงแสดงต่อไปอีก เพื่อเกื้อกูลจริงๆ

    ข้อ ๒๔๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กายคตาสติอันชนเหล่าใดไม่ซ่องเสพแล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นไม่ซ่องเสพแล้ว ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กายคตาสติอันชนเหล่าใดซ่องเสพแล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นซ่องเสพแล้ว ฯ

    ต้องบ่อยๆ เดี๋ยวท่านจะคิดว่า พอแล้ว ระลึกแล้ว วันนี้ระลึกหลายครั้งแล้ว แต่ก็ยังไม่พอ จนกว่าปัญญาจะใหญ่ ปัญญาจะลึกซึ้ง ปัญญาจะแล่น ปัญญาจะคม

    ข้อ ๒๔๒

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กายคตาสติอันชนเหล่าใดไม่เจริญแล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นไม่เจริญแล้ว ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กายคตาสติอันชนเหล่าใดเจริญแล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นเจริญแล้ว ฯ

    ข้อ ๒๔๓

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กายคตาสติอันชนเหล่าใดไม่ทำให้มากแล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นไม่ทำให้มากแล้ว ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กายคตาสติอันชนเหล่าใดทำให้มากแล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นทำให้มากแล้ว ฯ

    ข้อ ๒๔๔

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กายคตาสติอันชนเหล่าใดไม่รู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นไม่รู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กายคตาสติอันชนเหล่าใดรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง ฯ

    ถ้าไม่รู้กายคตาสติ คือ สภาพธรรมที่กาย ก็ไม่สามารถที่จะรู้อมตะ คือ สภาพธรรมที่ไม่ตาย เพราะไม่เกิด ไม่ใช่หวังที่จะรู้แจ้งนิพพาน โดยไม่รู้ลึกซึ้งถึงสภาพของธาตุซึ่งอ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหวที่ปรากฏที่กาย

    ข้อ ๒๔๕

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กายคตาสติอันชนเหล่าใดไม่กำหนดรู้แล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นไม่กำหนดรู้แล้ว ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กายคตาสติอันชนเหล่าใดกำหนด รู้แล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นกำหนดรู้แล้ว ฯ

    ข้อ ๒๔๖

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กายคตาสติอันชนเหล่าใดไม่ทำให้แจ้งแล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นไม่ทำให้แจ้งแล้ว ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กายคตาสติอันชนเหล่าใดทำให้แจ้งแล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นทำให้แจ้งแล้ว ฯ

    เอกนิบาต ๑,๐๐๐ สูตร จบบริบูรณ์

    ด้วยการสรรเสริญการเจริญกายคตาสติ ซึ่งหมายถึงกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

    สงสัยไหมว่า ถ้าจะเจริญเพียงการระลึกรู้ลักษณะของธรรมที่ปรากฏที่กาย จะทำให้รู้แจ้งธาตุอื่นๆ ซึ่งเป็นนามธาตุได้หรือไม่

    ถ. ที่ว่า กายคตาสติที่เจริญมากแล้ว ย่อมเป็นผู้ที่รู้แจ้งธาตุเป็นอันมาก ธาตุที่เคยได้ยิน ก็มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม หรือว่าจะเกี่ยวกับธาตุ ๑๘

    สุ. ทั้งหมด

    ถ. หมายความว่า การที่ตาเห็นรูป ตานี้ชื่อว่าจักขุธาตุ และสิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นรูปธาตุ และสิ่งที่รู้ก็เป็นจักขุวิญญาณธาตุ เพราะฉะนั้น เวลาที่มีการกระทบสัมผัส ตาสัมผัสรูป หรือว่ามีการเห็นเกิดขึ้น แสดงว่าเป็นการรู้แจ้งธาตุไปแล้ว

    สุ. ระลึกรู้ เป็นการซ่องเสพ กระทำให้มาก

    ถ. ขอให้อธิบายคำว่า ธาตุ ๑๘ ทีละทวาร จะได้เข้าใจคำว่า รู้แจ้งธาตุเป็นอันมาก

    สุ. การอธิบายโดยนัยของการเจริญสติปัฏฐาน จะทำให้เข้าใจชัดมากกว่าการกล่าวถึงชื่อของธาตุ ๑๘

    อย่างกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรืออีกพยัญชนะหนึ่งที่ทรงใช้คือ กายคตาสติ หมายถึงสติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏที่กาย และพิจารณารู้ตามความเป็นจริง จะทำให้เพิ่มความรู้ในแต่ละธาตุยิ่งขึ้น ทั่วขึ้น มากขึ้น เช่นรู้ว่า สภาพรู้อ่อนที่กำลังปรากฏไม่ใช่ลักษณะอ่อนที่ปรากฏให้รู้ ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ลักษณะอ่อนมีจริง ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่วัตถุ สิ่งใดเลย เป็นแต่เพียงสภาพอ่อน เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งปรากฏกับสภาพที่รู้อ่อน เพราะฉะนั้น ผู้อบรมเจริญสติปัฏฐานเพิ่มความรู้ในลักษณะของสิ่งที่เป็นรูปธรรม และสิ่งที่เป็นนามธรรม ค่อยๆ รู้เพิ่มขึ้น

    ขณะนั้นมีความรู้สึกอย่างไร ขณะที่กำลังรู้อ่อน รู้สึกเฉยๆ หรือว่ารู้สึกเป็นสุข หรือว่ารู้สึกเป็นทุกข์ การที่สติระลึกรู้ลักษณะของธาตุที่อ่อน และรู้ลักษณะของนามธรรมซึ่งรู้อ่อน ภายหลังก็จะรู้ลักษณะของความรู้สึกที่เกิดในขณะนั้น ซึ่งก็เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ไม่ใช่มีเพียง ๑๘ ธาตุตามที่ประมวลไว้ ในพระสูตรทุกอย่างเป็นธาตุทั้งหมด โลภธาตุ โทสธาตุ โมหธาตุ อโลภธาตุ อโทสธาตุ อโมหธาตุ อิสสาธาตุ มัจฉริยธาตุ เจตสิกทั้งหมดเป็นแต่ละธาตุ รูปทั้งหมดก็เป็นแต่ละธาตุ สภาพของจิตแต่ละอย่างก็เป็นลักษณะแต่ละธาตุ เพราะฉะนั้น จึงเป็นการรู้แจ้งธาตุมาก

    ถ. ตามตำราในวิสุทธิมรรค คล้ายๆ กับว่า การท่องเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ที่เจริญสมถภาวนา เช่น ในกายคตาสติ ท่านบอกว่า ผู้ที่เริ่มเจริญกายคตาสติต้องท่อง และในอานาปานสติ ผู้ที่จะเจริญใหม่ๆ ต้องนับ วิธีนับมี ๒ แบบ คือ นับช้า กับนับเร็ว และทั้ง ๒ แบบนี้ ไม่ให้นับต่ำกว่า ๕ เกินกว่า ๑๐ ซึ่งท่านก็กล่าวไว้ว่า การท่องไม่ใช่อารมณ์กัมมัฏฐานทั้ง ๔๐ แต่เป็นอุบายเพื่อให้จิตมีงานทำ เมื่อจิตมีงานทำแล้ว จะไม่นึกไปในอารมณ์อื่น จิตก็จะอยู่กับลมหายใจได้นานๆ เพราะฉะนั้น ท่านเห็นว่า การนับนี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ที่เจริญอานาปานสติ

    สุ. ฟังดูว่าการเจริญสมถภาวนาเป็นเรื่องต้องนับ ใช่ไหม ต้องสงบดีกว่าไหม ควรจะเป็นต้องสงบ หรือว่าต้องนับ

    ถ. ก่อนจะสงบได้ เพราะจิตอยู่ที่ลมหายใจ และจิตจะอยู่ที่ลมหายใจได้ ก็ต้องนับ เป็นอย่างนั้น

    สุ. เวลานี้ลมหายใจปรากฏหรือเปล่า

    ถ. เวลานี้ไม่ปรากฏ

    สุ. นับแล้วจะปรากฏไหม

    ถ. นับแล้ว ถ้าตั้งใจ ก็ปรากฏ

    สุ. ที่เรียกว่าลมหายใจปรากฏ ต้องปรากฏที่กระทบที่ช่องจมูก หรือ เบื้องบนริมฝีปาก จึงจะเป็นลมหายใจที่ปรากฏ ไม่ใช่ลมอื่น



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๘๘ ตอนที่ ๘๗๑ – ๘๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 81
    28 ธ.ค. 2564