แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 888


    ครั้งที่ ๘๘๘


    ข้อความต่อไป

    ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า

    ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า ชนเหล่าอื่นจะพยายามทำร้ายภิกษุนั้น ด้วยอาการที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ คือ ด้วยการประหารด้วยฝ่ามือบ้าง ด้วยการประหารด้วยก้อนดินบ้าง ด้วยการประหารด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยการประหารด้วยศาตราบ้าง ภิกษุนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า กายนี้เป็นสภาพเป็นที่เป็นไปแห่งการประหารด้วยฝ่ามือบ้าง เป็นที่เป็นไปแห่งการประหารด้วยก้อนดินบ้าง เป็นที่เป็นไปแห่งการประหารด้วยท่อนไม้บ้าง เป็นที่เป็นไปแห่งการประหารด้วยศาตราบ้าง

    อนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ในพระโอวาทอันเปรียบด้วยเลื่อยดังนี้ว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม้หากว่า พวกโจรผู้มีความประพฤติต่ำช้า พึงตัดทอนอวัยวะใหญ่น้อยทั้งหลายด้วยเลื่อยอันมีด้ามสองข้างไซร้ ภิกษุผู้ที่ยังใจให้ประทุษร้ายในพวกโจรแม้นั้น ย่อมไม่เป็นผู้ชื่อว่าทำตามคำสอนของเราด้วยเหตุนั้น ดังนี้

    จะมีใครคิดอย่างนี้บ้างไหม กำลังถูกเบียดเบียนทางกายก็ระลึกได้ว่า เพราะมีกายซึ่งเป็นสภาพที่ เป็นไปแห่งการประหารด้วยฝ่ามือบ้าง ถ้าไม่มีกาย ใครจะมาทุบมาตีก็ไม่ได้ เพราะไม่มีสภาพธรรมที่รองรับการประหารด้วยฝ่ามือ แต่เมื่อมีกายเป็นปฐวีธาตุ ก็เป็นสภาพที่ เป็นไปแห่งการประหารด้วยฝ่ามือบ้าง เป็นที่เป็นไปแห่งการประหารด้วยก้อนดินบ้าง เพราะเขาคงไม่มุ่งหมายที่จะขว้างก้อนดินไปประทุษร้ายอากาศ แต่ต้องมีเจตนาที่จะใช้ก้อนดินประหารที่ที่สามารถรับการประหารด้วยก้อนดิน คือ กาย และแสดงว่าสติสามารถที่จะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริง เพราะท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า

    ภิกษุนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า กายนี้เป็นสภาพเป็นที่เป็นไปแห่งการประหารด้วยฝ่ามือบ้าง เป็นที่เป็นไปแห่งการประหารด้วยก้อนดินบ้าง

    ต่อไปนี้จะโกรธคนอื่นไหม ซึ่งขณะใดที่โกรธ ไม่เป็นผู้ชื่อว่าทำตามคำสอน ตอนนี้ทำยังไม่ได้ แต่อย่าใช้คำว่า ทำไม่ได้ เพราะถ้าค่อยๆ อบรมเจริญไป วันหนึ่งจะรู้สึกจริงๆ ว่า ทำไมเป็นไปได้อย่างนี้ เพราะสภาพธรรมทั้งหลายไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ความโกรธเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ฉันใด ความไม่โกรธก็เกิดขึ้นเพราะการอบรมเจริญเหตุปัจจัยที่จะไม่โกรธ ฉันนั้น

    ถ้าเป็นไปไม่ได้ พระผู้มีพระภาคจะไม่ทรงสอน จะไม่ทรงแสดง เพราะฉะนั้น ทรงแสดงธรรมด้วยประการทั้งปวงที่จะอุปการะเกื้อกูลประโยชน์แก่ผู้ประพฤติตาม คือ ไม่โกรธ จึงชื่อว่าผู้ทำตามคำสอนของพระองค์

    ข้อความต่อไป

    ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า

    อนึ่ง ความเพียรอันเราปรารภแล้ว จักเป็นคุณชาติไม่ย่อหย่อน สติอันเราเข้าไปตั้งไว้แล้ว จักเป็นคุณชาติไม่หลงลืม

    ไม่ใช่ไม่มีเหตุที่จะไม่โกรธเฉยๆ ขึ้นมาได้ แต่ต้องมี ความเพียรอันเราปรารภแล้ว จักเป็นคุณชาติไม่ย่อหย่อน และถ้าสติมีกำลัง จะไม่หลงลืม ย่อมเกิดระลึกได้ แล้วแต่กำลังของปัญญา และแล้วแต่ท่านจะบรรลุคุณธรรมเป็นบุคคลจำพวกใด

    กายอันเราให้สงบแล้ว จักเป็นสภาพไม่กระวนกระวาย จิตอันเราให้ตั้งมั่นแล้ว จักเป็นธรรมชาติมีอารมณ์เป็นอย่างเดียว คราวนี้การประหารด้วยฝ่ามือทั้งหลาย จงเป็นไปในกายนี้ก็ดี การประหารด้วยก้อนดินทั้งหลาย จงเป็นไปในกายนี้ก็ดี การประหารด้วยท่อนไม้ทั้งหลาย จงเป็นไปในกายนี้ก็ดี การประหารด้วยศาตราทั้งหลาย จงเป็นไปในกายนี้ก็ดี ตามทีเถิด คำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายนี้ เราจะทำให้จงได้ ดังนี้

    ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรม ย่อมไม่ตั้งอยู่ได้พร้อม ภิกษุนั้นย่อมสลดใจ ย่อมถึงความสลดใจ เพราะเหตุนั้นว่า ไม่เป็นลาภของเราหนอ ลาภไม่มีแก่เราหนอ เราได้ไม่ดีแล้วหนอ การได้ด้วยดีไม่มีแก่เราแล้วหนอ ที่เราระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึกถึง พระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรมไม่ตั้งอยู่ได้ด้วยดี ดังนี้

    แสดงความไม่เที่ยง ความไม่แน่นอนของการที่จะระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ โดยนัยที่เป็นสมถภาวนา หรือว่าโดยที่ปัญญายังไม่รู้ชัดใน สภาพธรรมที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉทถึงความเป็นพระอริยบุคคล ก็ย่อมเป็นผู้ที่หวั่นไหวอยู่ ดังข้อความที่ท่านพระสารีบุตรกล่าวต่อไปว่า

    หญิงสะใภ้เห็นพ่อผัวแล้ว ย่อมสลดใจ ย่อมถึงความสลดใจ (คือ ถึงความหวั่นไหว ไม่มั่นคง เกรงว่าตนเองจะทำความผิดพลาดประการต่างๆ ) แม้ฉันใด ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรม ไม่ตั้งอยู่ได้ด้วยดี ภิกษุนั้นย่อมสลดใจ ย่อมถึงความสลดใจ เพราะเหตุนั้น ฉันนั้นเหมือนกันแล

    เวลาที่ปัญญายังไม่มั่นคง ทุกท่านจะเห็นได้ว่า แม้ว่าจะระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็ไม่ใช่ว่าความโกรธนั้นจะดับหมดไป ไม่เกิดอีกเลย เวลาที่มีปัจจัยที่ความโกรธจะเกิดขึ้น ก็ย่อมเกิดขึ้น

    ข้อความต่อไป

    ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า

    ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่าเมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อย่างนี้ อุเบกขาอาศัยกุศลธรรม ย่อมตั้งอยู่ด้วยดีไซร้ ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้ปลื้มใจเพราะเหตุนั้น

    ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านี้แล คำสอนของ พระผู้มีพระภาคเป็นอันภิกษุทำให้มากแล้ว

    เมื่อไรถึงความเป็นอย่างนี้ ก็จะถึงความปลื้มใจว่า คำสอนทั้งหลายของ พระผู้มีพระภาค ท่านได้กระทำให้มากแล้ว ไม่ใช่เป็นผู้ที่ทอดธุระ หรือว่าเป็นผู้ที่ไม่เพียรพยายาม แต่เป็นผู้ที่อบรมเจริญกุศลทุกประการ จนกว่าสามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท อย่าคิดว่าไม่ได้ ขณะนี้ยังไม่ได้ แต่วันหนึ่งเมื่อมีเหตุพร้อมที่จะได้ ก็เป็นไปอย่างนั้น

    ต่อจากนั้น ท่านพระสารีบุตรได้แสดงธรรมกับภิกษุทั้งหลาย เป็นการเกื้อกูลต่อท่านพระภิกษุทั้งหลาย ข้อ ๓๔๖ มีข้อความว่า

    ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อากาศอาศัยไม้และอาศัยเถาวัลย์ ดินเหนียวและหญ้าแวดล้อมแล้ว ย่อมถึงความนับว่าเป็นเรือน ฉันใด ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อากาศอาศัยกระดูกและอาศัยเอ็น เนื้อและหนังแวดล้อมแล้ว ย่อมถึงความนับว่า รูป ฉันนั้นเหมือนกันแล

    ในตอนต้นท่านพระสารีบุตรกล่าวถึงธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เวลาที่มีการประหัตประหารเกิดขึ้น ก็ให้รู้สภาพของธาตุดิน ซึ่งเป็นธาตุที่รองรับการประหัตประหารทั้งหลาย ต่อจากนั้นท่านพระสารีบุตรก็ได้กล่าวถึง อากาศธาตุ เพื่อที่จะให้เห็นความว่างเปล่าจากสาระ เพราะลักษณะของอากาศธาตุนั้นไม่ใช่ลักษณะของธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม

    และที่เคยยึดมั่นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อย่าลืมว่า มีอากาศธาตุซึ่งว่างเปล่าจากธาตุเหล่านี้ แต่เพราะอาศัยธาตุเหล่านี้มาประชุมรวมกัน มาหุ้มห่อแวดล้อมอากาศธาตุ จึงถึงความนับว่ารูป หรือว่าร่างกาย ที่ยึดถือว่าเป็นตัวตนของเรา ฉันนั้นเหมือนกัน

    ข้อความต่อไป ท่านพระสารีบุตรแสดงให้เห็นถึงการเกิดขึ้นแต่ละขณะของจิต ซึ่งจะต้องประกอบด้วยเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น เป็นสภาพธรรมที่ว่างเปล่าจากสาระ จริงๆ คือ ถ้าเพียงปราศจากเหตุปัจจัยแล้ว สภาพที่กำลังปรากฏในขณะนี้ย่อมจะปรากฏไม่ได้เลย ถึงความว่างเปล่าจริงๆ แต่เพราะมีเหตุปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมเกิดขึ้นปรากฏ จึงหลงยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏโดยลืมว่า ถ้าปราศจากเหตุปัจจัย ย่อมจะไม่มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้

    ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า

    ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า จักษุอันเป็นไปในภายใน เป็นของไม่แตกทำลายแล้ว (คือ เกิดขึ้นและยังไม่ดับไป) และรูปทั้งหลายอันเป็นภายนอกย่อมไม่มาสู่ครองจักษุ ทั้งความกำหนดอันเกิดแต่จักษุและรูปนั้นก็ไม่มี ความปรากฏแห่งส่วนแห่งวิญญาณอันเกิดแต่จักษุและรูปนั้น ก็ยังมีไม่ได้ก่อน

    นี่เป็นข้อความที่ท่านผู้ฟังศึกษาในพระอภิธรรมปิฎก หรือว่าอภิธัมมัตถสังคหะ ถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดการเห็น ซึ่งจะต้องประกอบด้วยจักขุปสาท ๑ รูปารมณ์ ๑ และปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดก่อนปัญจวิญญาณ คือ เกิดก่อนการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ซึ่งข้อความในพระสูตรมีว่า หากว่าจักษุอันเป็นไปในภายใน เป็นของไม่แตกทำลายแล้ว หมายความว่า ที่การเห็นในขณะนี้มี กำลังเห็น จะต้องอาศัยการเกิดขึ้นของจักขุปสาท ในขณะที่จักขุปสาทนั้นยังไม่ดับไป

    จักขุปสาทเป็นรูปที่เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน เป็นธรรมที่ก่อตั้งให้ จักขุปสาทเกิดขึ้น ใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ใครจะอยากให้มีจักขุปสาทหรือไม่อยากให้มีจักขุปสาทก็ตาม แต่กรรมเป็นสมุฏฐาน เป็นปัจจัยที่ก่อตั้งให้จักขุปสาทเกิดและดับไปอยู่เรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ที่กำลังเห็นขณะนี้ ต้องอาศัยการเกิดขึ้นของจักขุปสาทที่ยังไม่ดับไปเป็นปัจจัยหนึ่ง แต่ถ้ามีเพียงจักขุปสาทซึ่งเกิดและยังไม่ดับ แต่ว่ารูปารมณ์ คือ รูปทั้งหลายอันเป็นภายนอก ย่อมไม่มาสู่ครองจักษุ คือ ไม่มีการกระทบกัน เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจักขุปสาทเกิดและยังไม่ดับไปก็ตาม การเห็นก็เกิดขึ้นไม่ได้

    ท่านพระสารีบุตรได้แสดงถึงปัจจัย ๓ ที่เป็นการเกิดขึ้นของจักขุวิญญาณ ซึ่งโดยมากในอภิธัมมัตถสังคหะจะมีปัจจัย ๔ คือ จักขุปสาท ๑ รูปารมณ์ ๑ แสงสว่าง ๑ และมนสิการ คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑

    ในพระสูตรนี้ ท่านพระสารีบุตรแสดงปัจจัย ๓ เว้นแสงสว่าง ถูกต้องไหม ตามความเป็นจริง ในห้องมืด มีจักขุปสาท เมื่อลืมตาขึ้นมีรูปารมณ์ปรากฏ แต่ว่าไม่สามารถที่จะเห็นส่วนละเอียดเป็นสัณฐานต่างๆ เพราะปราศจากแสงสว่าง แต่การเห็นมี หรือใครไม่เห็นเลย เพราะฉะนั้น มีการเห็น ด้วยเหตุนี้ท่านพระสารีบุตรแสดงการเกิดขึ้นของจักขุวิญญาณอย่างละเอียดว่า ถ้ามีปัจจัยเพียงอย่างเดียว ขาดปัจจัย ๒ อย่าง การเห็นก็เกิดไม่ได้ ด้วยข้อความว่า

    หากว่าจักษุอันเป็นไปในภายใน เป็นของไม่แตกทำลายแล้ว และรูปทั้งหลายอันเป็นภายนอกย่อมไม่มาสู่คลองจักษุ ทั้งความกำหนดอันเกิดแต่จักษุและรูปนั้นก็ ไม่มี (คือ ปัญจทวาราวัชชนจิตไม่เกิดขึ้น) ความปรากฏแห่งส่วนแห่งวิญญาณอันเกิดแต่จักษุและรูปนั้น ก็ยังมีไม่ได้ก่อน

    ต่อไป ถึงแม้ว่าจะมีปัจจัย ๒ อย่าง จักขุวิญญาณก็เกิดไม่ได้ เพราะปัจจัย ไม่ครบที่จะให้จักขุวิญญาณเกิด

    ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า

    ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่าจักษุอันเป็นไปในภายใน เป็นของไม่แตกทำลายแล้ว และรูปทั้งหลายอันเป็นภายนอกย่อมมาสู่คลองแห่งจักษุ (คือ มีรูปารมณ์กระทบ) แต่ความกำหนดอันเกิดแต่จักษุและรูปนั้นไม่มี ความปรากฏแห่งส่วนแห่งวิญญาณอันเกิดแต่จักษุและรูปนั้น ก็ยังมีไม่ได้ก่อน

    ต้องพร้อมทั้ง ๓ ปัจจัย ซึ่งท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า

    ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย แต่ว่าในกาลใดแล จักษุอันเป็นไปในภายใน เป็นของไม่แตกไม่ทำลายแล้ว และรูปทั้งหลายอันเป็นภายนอกย่อมมาสู่คลองจักษุ ทั้งความกำหนดอันเกิดแต่จักษุและรูปก็ย่อมมี (ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้น) ในกาลนั้น ความปรากฏแห่งส่วนแห่งวิญญาณอันเกิดแต่จักษุและรูปนั้น ย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล สภาพธรรมแต่ละขณะเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยเท่านั้น เมื่อปราศจากเหตุปัจจัย จะไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย

    ต่อจากนั้น ท่านพระสารีบุตรแสดงลักษณะของรูป ซึ่งเป็นเพียงสภาพธรรม ชนิดหนึ่งที่ไม่ควรยึดถือว่าเป็นตัวตน ด้วยข้อความว่า

    รูปแห่งสภาพที่เป็นแล้วอย่างนั้นอันใด รูปนั้นย่อมถึงความสงเคราะห์ในอุปาทานขันธ์ คือ รูป

    เวลานี้ที่กำลังเห็น เพียงอาศัยจักขุปสาทที่เกิดและยังไม่ดับไป และรูปที่ยังไม่ดับกระทบกับจักขุปสาท และปัญจทวาราวัชชนจิตเกิด รูปที่กำลังปรากฏ ที่หลงใหล หรือที่ยึดถือว่าเป็นเรา เป็นเขา เป็นตัวตน เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ จึงมีปรากฏได้ เพียงชั่วขณะนั้นเท่านั้น และก็ดับไป นั่นเป็นลักษณะธรรมดา สามัญลักษณะของรูปทั้งหลาย ซึ่งเกิดขึ้นปรากฏและก็ดับไป

    เวทนาแห่งสภาพที่เป็นแล้วอย่างนั้นอันใด เวทนานั้นย่อมถึงความสงเคราะห์ในอุปาทานขันธ์ คือ เวทนา

    เวลาที่เห็นแล้วเกิดพอใจ ไม่พอใจ ไม่รู้เลยว่า เป็นเพียงเวทนา สงเคราะห์ในอุปาทานขันธ์ คือ เวทนา เพราะยึดถือทันทีว่า เรารู้สึก เป็นเราที่รู้สึก เพราะฉะนั้น จึงเป็นอุปาทานขันธ์ แต่แท้จริงแล้ว อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นและก็ดับไป

    สัญญาแห่งสภาพที่เป็นแล้วอย่างนั้นอันใด สัญญานั้นย่อมถึงความสงเคราะห์ในอุปาทานขันธ์ คือ สัญญา

    ทุกท่านกำลังจำในสิ่งที่เห็น ลืมว่าเป็นเพียงสัญญาขันธ์ และเป็นอุปาทานขันธ์ เพราะยึดถือว่าเราจำ แต่แท้ที่จริงแล้ว สัญญาที่กำลังจำในสิ่งที่ปรากฏ อาศัย เหตุปัจจัยเกิดขึ้นและก็ดับไป

    สังขารแห่งสภาพที่เป็นแล้วอย่างนั้นเหล่าใด สังขารเหล่านั้นย่อมถึงความสงเคราะห์ในอุปาทานขันธ์ คือ สังขาร

    ไม่ว่าผัสสะ หรือเจตนา หรือเจตสิกใดๆ ก็ตาม ซึ่งเกิดกระทำกิจรู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏก็เป็นสังขารขันธ์ เป็นอุปาทานขันธ์ เพราะยึดสังขารทั้งหมดว่าเป็นเรา

    วิญญาณแห่งสภาพที่เป็นแล้วอย่างนั้นอันใด วิญญาณนั้นย่อมถึงความสงเคราะห์ในอุปาทานขันธ์ คือ วิญญาณ

    ทุกขณะที่เห็น ได้ยิน กำลังได้ยินขณะนี้ เป็นสภาพของวิญญาณ ซึ่งเป็นอุปาทานขันธ์ เพราะยึดถือว่าเป็นเราเห็น เราได้ยิน เป็นต้น

    ภิกษุนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ได้ยินว่า การสงเคราะห์ การประชุมพร้อม หมวดหมู่แห่งอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ ย่อมมีได้ ด้วยประการอย่างนี้

    แต่ไม่ใช่ว่า ไม่เจริญสติปัฏฐานแล้วจะรู้ได้ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า แม้ขณะที่กำลังเห็น แม้ขณะที่กำลังได้ยิน ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานแล้ว ย่อมรู้ชัดอย่างนี้แต่ละขณะตามความเป็นจริง แต่ละลักษณะ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๘๙ ตอนที่ ๘๘๑ – ๘๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 81
    28 ธ.ค. 2564