แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 861


    ครั้งที่ ๘๖๑


    สำหรับอาการต่อไปของกาย คือ หนัง ภาษาบาลีว่า ตโจ มีคำอธิบายว่า

    คำว่า ตโจ ได้แก่ หนังหุ้มสรีระทั้งสิ้น อธิบายว่า เบื้องบน (คือ ข้างบนของผิวหนัง) มีสีดำ สีคล้ำ และสีเหลืองที่ปรากฏ ชื่อว่าผิวหนังทั้งนั้น (ไม่ว่าจะเป็นสีดำ หรือว่าสีเหลือง หรือว่าสีคล้ำ) ผิวหนังนั้นเมื่อลอกออกแม้จากสรีระทั้งสิ้น ย่อมมีประมาณเท่าเมล็ดพุทรา แต่เมื่อว่าโดยสีหนัง มีสีขาวอย่างเดียว ความที่หนังนั้นเป็นสีขาวนั้นย่อมปรากฏเพราะผิวถลอก ด้วยการกระทบเปลวไฟ และประหารด้วยเครื่องประหารเป็นต้น โดยสัณฐาน มีสัณฐานเหมือนสรีระเทียว (คือ หนังนี้หุ้มร่างกายอยู่ เพราะฉะนั้น โดยสัณฐานของหนัง ก็ย่อมมีรูปร่างสัณฐานเหมือนกับร่างกายของแต่ละคน) นี้เป็นเนื้อความย่อ ในคำว่าโดยสัณฐานนั้น

    แต่เมื่อว่าโดยพิสดาร (พึงทราบว่า หนังแต่ละส่วน ก็มีสัณฐานต่างๆ ที่จะทำให้เกิดความรู้สึกเป็นปฏิกูล หรือว่าเป็นความไม่งาม) หนังนิ้วเท้ามีสัณฐานเหมือน รังไหม หนังหลังเท้ามีสัณฐานเหมือนรองเท้าหุ้มเท้า หนังแข้งมีสัณฐานเหมือนใบตาลห่อภัตร (คือ ใบตาลห่ออาหาร) หนังขาอ่อนมีสัณฐานเหมือนไถ้ยาวเต็มด้วยข้าวสาร หนังตะโพกมีสัณฐานเหมือนแผ่นผ้ากรองน้ำเต็มด้วยน้ำ หนังหลังมีสัณฐานเหมือนหนังหุ้มโล่ หนังท้องมีสัณฐานเหมือนหนังหุ้มรางพิณ หนังอกโดยมากมีสัณฐานสี่เหลี่ยม หนังแขนทั้งสองมีสัณฐานเหมือนหนึ่งหนังหุ้มแล่งธนู หนังหลังมือมีสัณฐานเหมือนฝักมีด หรือมีสัณฐานเหมือนถุงโล่ หนังนิ้วมือมีสัณฐานเหมือนฝักกุญแจ หนังคอมีสัณฐานเหมือนเสื้อปิดคอ หนังหน้ามีช่องน้อยช่องใหญ่มีสัณฐานเหมือน รังตั๊กแตน หนังศีรษะมีสัณฐานเหมือนถลกบาตร

    นี่เรื่องของสมถภาวนา ซึ่งเป็นเรื่องยาก เพราะฉะนั้น ถ้าใครอยากจะบรรลุถึงฌานจิต หรือว่าอยากจะให้จิตสงบ แล้วก็จะพิจารณาถึงส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยไม่ต้องไปแสวงหากสิณ หรือไม่ต้องไปแสวงหาอสุภะ ก็จะได้ทราบว่า การที่จะให้จิตสงบโดยพิจารณาหนัง ท่านปฏิบัติกันอย่างไร

    อนึ่ง พระโยคาวจรผู้กำหนดหนังเป็นอารมณ์ พึงส่งญาณไปที่หน้า ตั้งแต่ ริมฝีปากบนขึ้นไป แล้วกำหนดหนังหุ้มหน้าก่อนเป็นครั้งแรก ถัดจากนั้นพึงกำหนดหนังที่กระดูกหน้าผาก จากนั้นพึงส่งญาณไปในระหว่างกะโหลกศีรษะ

    ขณะนี้ ถ้าท่านผู้ใดจะระลึกตามไปด้วย

    แล้วกำหนดหนังศีรษะ โดยการแยกหนังกับกะโหลกศีรษะที่เป็นอันเดียวกันออก เหมือนสอดมือเข้าไปในระหว่างบาตรกับถลกบาตร แต่นั้นพึงกำหนดหนังคอ จากนั้นก็พึงกำหนดหนังมือขวาโดยอนุโลมและปฏิโลม ลำดับนั้น ก็พึงกำหนดหนังมือซ้ายโดยนัยนั้นนั่นแหละ แต่นั้นก็พึงกำหนดหนังหลัง ครั้นกำหนดหนังนั้นๆ แล้ว ก็กำหนดหนังเท้าขวาโดยปฏิโลมและอนุโลม ลำดับนั้น ก็พึงกำหนดหนังเท้าซ้าย โดยนัยนั้นนั่นแหละ แต่นั้นพึงกำหนดหนังท้องน้อย หน้าท้อง ทรวงอก และที่คอ โดยลำดับนั่นเทียว ทีนั้นพึงกำหนดหนังใต้คาง ถัดจากหนังคอขึ้นมาถึงหนังริมฝีปากล่างเป็นที่สุด

    ตั้งแต่เบื้องบนริมฝีปากขึ้นไปตลอดจนถึงศีรษะ ลงไปตลอดจนกระทั่งถึงเท้า และก็ขึ้นมาข้างหน้าจนกระทั่งถึงหน้าท้อง ทรวงอก ที่คอ ใต้คาง ริมฝีปากล่างเป็นที่สุด จึงสำเร็จ

    เมื่อพระโยคาวจรกำหนดหนังใหญ่ๆ อยู่อย่างนี้ แม้หนังเล็กๆ ก็ย่อมปรากฏโดยทิศ เกิดแล้วในทิศทั้งสอง โดยโอกาส หุ้มสรีระทั้งสิ้นอยู่ โดยปริจเฉท เบื้องล่างกำหนดด้วยพื้นที่ตั้งอยู่ เบื้องบนกำหนดด้วยอากาศ

    ที่ทำอย่างนี้เพื่อที่จะถอดออกทั้งหมด ให้เป็นการพิจารณาหนังจริงๆ ว่า ถ้าจะลอกหนังออก ก็ต้องตั้งต้นจากเบื้องบนริมฝีปาก และค่อยๆ ถลกออกไปทางข้างหลัง และย้อนกลับมาข้างหน้าจนถึงเบื้องล่างของริมฝีปาก ก็จะเห็นความเป็นปฏิกูลของหนังโดยตลอด

    จะมีใครเจริญอย่างนี้ไหม

    เรื่องของสมถภาวนาเป็นเรื่องยาก สติระลึกทันทีที่ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจที่กำลังคิด หรือที่กำลังฟัง หรือแล้วแต่จิตขณะนั้นจะเป็นอย่างไร ก็รู้ว่าขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน นั่นคือจุดประสงค์สูงสุด

    เพราะถึงแม้ว่าจะได้ปฐมฌานจากการระลึกถึงส่วนต่างๆ ของกาย ก็ไม่รู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนในขณะที่เป็นปฐมฌาน หรือในขณะที่เห็น ในขณะที่ได้ยิน ในขณะที่ได้กลิ่น ในขณะที่ลิ้มรส ในขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกายตามปกติ

    ลองคิดดู กว่าฌานจิตจะเกิด ถึงแม้ว่าจะคิดอย่างนี้ พิจารณาอย่างนี้ โดยอนุโลมและปฏิโลม ความสงบของจิตจะเกิดขึ้นหรือไม่ และจะสงบได้ถึงแค่ไหน ก็ยังไม่ถึงฌานจิต เพราะฉะนั้น ผู้ที่ต้องการจะอบรมเจริญสมถภาวนาก่อนเพื่อที่จะให้สงบ และคิดว่าจะเจริญสติปัฏฐานภายหลัง ก็ลองคิดดูว่า เมื่อไหร่จิตจะสงบและเมื่อไหร่ความสงบจะมั่นคงขึ้นถึงอุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิที่จะเป็นฌานจิต ซึ่งบางท่านตลอดชีวิตก็ไม่ถึงฌานจิต

    และถ้าท่านมีความฝักใฝ่ตั้งใจเจริญเพียงสมถภาวนาที่จะให้สงบยิ่งขึ้น ขณะนั้นจะไม่มีการระลึกได้ที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามปกติเลย เพราะเหตุใด เพราะเมื่อตื่นขึ้นใจของท่านก็ มุ่งไปที่ความสงบ ลืมที่กำลังเห็น ที่กำลังได้ยิน ที่กำลังได้กลิ่น ที่กำลังลิ้มรส ที่กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ที่กำลังคิดนึกตามปกติ และเมื่อไรสติปัฏฐานจะเกิดขึ้นพิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น ในชาตินี้มีโอกาสได้เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน แต่จะยังไม่รู้ลักษณะสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ควรจะทำอย่างไร

    ถ้าเป็นในชาติที่ไม่มีโอกาสได้ฟัง หรือได้มีโอกาสที่จะอบรมเจริญความเข้าใจในการเจริญสติปัฏฐานให้ยิ่งขึ้น ในชาตินั้นก็ควรจะเป็นโอกาสของการเจริญกุศลขั้นอื่นๆ รวมทั้งกุศลที่เป็นความสงบของจิตด้วย แต่ถ้าเป็นในภพชาติที่มีโอกาสที่จะได้ฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน และเข้าใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องอบรมอีกมาก แต่ว่าไปเสียเวลา เสียโอกาส โดยไปฝักใฝ่ในการเจริญความสงบ ซึ่งไม่อาจจะถึงฌานจิตในชาตินั้นก็เป็นได้ ทำให้จิตฝักใฝ่อยู่เฉพาะในเรื่องของความสงบ ลืมพิจารณาสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    จริงไหม สำหรับท่านที่เคยติดในเรื่องของสมาธิ จะเห็นได้ว่า มีความต้องการที่จะให้จิตจดจ้องอยู่ที่อารมณ์เดียว เพราะเข้าใจว่าขณะนั้นสงบ และไม่สนใจที่จะให้เกิดสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏแล้วตามความเป็นจริงทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งรู้ยาก และควรจะอบรมในภพชาติที่สามารถจะกระทำได้

    สำหรับอาการที่กาย อาการที่ ๖ คือ ชิ้นเนื้อ ภาษาบาลีว่า มังสัง

    คำว่า มํสํ ได้แก่ ชิ้นเนื้อ ๙๐๐ เนื้อนั้นแม้ทั้งปวงโดยสี มีสีแดงเช่นกับดอกทองกวาว โดยสัณฐาน เนื้อปลีน่อง (คือ แข้ง) มีสัณฐานเหมือนข้าวห่อด้วยใบตาล เนื้อขาอ่อนมีสัณฐานเหมือนลูกหินบด เนื้อสะโพกมีสัณฐานเหมือนขอบเตา เนื้อหลังมีสัณฐานเหมือนแผ่นงบตาล เนื้อสีข้างทั้งสองมีสัณฐานเหมือนการฉาบทาด้วยดินเหนียวบางๆ ในท้องยุ้งข้าว เนื้อถันทั้งสองมีสัณฐานเหมือนก้อนดินเหนียวอันเขาผูกแขวนไว้ เนื้อแขนทั้งสองมีสัณฐานเหมือนหนูใหญ่ที่อันเขาถลกหนังกระทำให้เป็น ๒ ตอนตั้งไว้แล้ว

    เมื่อพระโยคาวจรกำหนดเนื้อหยาบๆ อย่างนี้ แม้เนื้อละเอียดก็ย่อมปรากฏ ว่าโดยทิศ เกิดแล้วในทิศทั้งสอง ว่าโดยโอกาส ตั้งฉาบทากระดูกมีประมาณ ๓๑๐ ท่อน ว่าโดยปริจเฉท เบื้องล่างกำหนดด้วยพื้นที่ตั้งอยู่ที่ร่างแห่งกระดูก เบื้องบนกำหนดด้วยหนัง เบื้องขวางกำหนดซึ่งกันและกันแต่ละชิ้น นี้เป็นสภาคปริจเฉทของเนื้อนั้น

    ต่อไป อาการของกาย อาการที่ ๗ คือ เอ็น ภาษาบาลีว่า นหารู

    คำว่า นหารู ได้แก่ เอ็น ๙๐๐ เอ็นแม้ทั้งหมดเมื่อว่าโดยสี มีสีขาว ว่าโดยสัณฐาน มีสัณฐานต่างๆ ก็บรรดาเอ็น ๙๐๐ เหล่านี้ เอ็นใหญ่ 60 ที่รึงรัดกาย หยั่งลงแล้วอย่างนี้ คือ เอ็นใหญ่รัดสรีระตั้งแต่ส่วนเบื้องบนแห่งคอ หยั่งลงแล้วข้างหน้าหทัย ๕ เส้น หยั่งลงแล้วข้างหลังหทัย ๕ เส้น ข้างขวา ๕ เส้น ข้างซ้าย ๕ เส้น แม้รึงรัดมือข้างขวา หยั่งลงแล้วข้างหน้ามือ ๕ เส้น ข้างหลังมือ ๕ เส้น แม้รึงรัดมือข้างซ้าย ก็ฉันนั้น แม้รึงรัดเท้าข้างขวา หยั่งลงแล้วข้างหน้าเท้า ๕ เส้น ข้างหลังเท้า ๕ เส้น แม้รึงรัดเท้าข้างซ้าย ก็ฉันนั้น เอ็นทั้งหมดนี้ชื่อว่า ทรงไว้ซึ่งสรีระ

    ถ้าไม่มีเอ็นผูกไว้จะเป็นอย่างไร ร่างกายนี้ก็ต้องไม่เป็นรูปเป็นร่างอะไรเลย แต่ที่เห็นว่าทรงอยู่เป็นปกติดี ก็เพราะมีเอ็นรัดเนื้อและกระดูกไว้ ซึ่งจะขาดแตกทำลายลงเมื่อไรได้ทั้งสิ้น ซึ่งเมื่อนั้นร่างกายนี้ย่อมกระจัดกระจายเป็นส่วนต่างๆ ไม่ควบคุมประชุมรวมกันที่จะให้เห็นว่างาม หรือว่าเที่ยง หรือว่าเป็นสุข

    เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยการประชุมของส่วนต่างๆ ของกายจริงๆ จึงจะให้เห็นว่า เป็นสภาพซึ่งเป็นตัวตน หรือว่าเป็นเรา

    เอ็นเหล่านั้นแม้ทั้งหมด มีสัณฐานเหมือนหมู่ต้นคล้า (ลักษณะเหมือนต้นกก) ก็เอ็นเหล่าอื่นปกครองสรีรรูปเทศนั้นๆ ตั้งอยู่ คือ เอ็นนี้ก็แบ่งเป็นพวกๆ พวกใหญ่ เรียกว่า กัณฑรา คือ เอ็นใหญ่ซึ่งเป็นราก และ เอ็นเหล่าอื่นที่เล็กกว่านั้นมีสัณฐานเหมือนเส้นด้ายหยาบ และที่เล็กลงไปกว่านั้นก็มีสัณฐานเหมือนตีนนก หรือว่าเอ็นที่ศีรษะก็มีสัณฐานเหมือนตาข่ายร่างแหคลุมศีรษะทารก เอ็นหลังมีสัณฐานเหมือนอวนเปียกที่เขาตากไว้ในแดด เอ็นทั้งหลายที่เหลือตามอวัยวะใหญ่น้อยนั้นมีสัณฐานเหมือนเสื้อตาข่ายที่เขาใส่ในสรีระ ว่าโดยทิศ คือ เกิดแล้วในทิศทั้ง ๒ ว่าโดยโอกาส ตั้งติดกระดูกทั้งหลายในสรีระทั้งสิ้น เบื้องล่างกำหนดโดยพื้นที่ตั้ง เบื้องบนกำหนดกระดูก ๓๐๐ ท่อน เบื้องบนกำหนดโดยประเทศที่ตั้งอยู่จรดเนื้อและหนังเบื้องบน เบื้องขวางกำหนดซึ่งกันและกัน แต่ละอย่างก็เป็นสภาคปริจเฉทแห่งเอ็นเหล่านั้น

    ประการที่ ๘ ส่วนของกาย อาการที่ ๘ คือ กระดูก ภาษาบาลีว่า อัฏฐิ

    สงบบ้างไหม ตอนนี้ถึงกระดูก สงบบ้างหรือเปล่า หรือว่ายังไม่สงบเลย ยากไหม สมถภาวนา อย่าลืมถึงความยาก เพราะว่าหลายท่านคิดว่า เมื่อไม่ใช่วิปัสสนา ก็เป็นสมถะ แต่ไม่จริง ขึ้นอยู่กับกุศลจิตที่เกิดในขณะนั้น พร้อมสัมปชัญญะที่จะรู้ว่า พิจารณาถูกต้องไหม พิจารณาโดยนัยอย่างไร ถ้าเพียงท่อง คือ บริกรรมว่า ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง จะโดยภาษาไทยหรือภาษาบาลีก็ตาม ซึ่งการที่จะให้จิตสงบนี้ ท่านต้องเริ่มจากการท่องเป็นวันๆ เป็นเดือนๆ จนกว่าจะคล่อง ไม่ลืมอาการ ๓๒ นี้โดยลำดับ พร้อมกันนั้นก็จะต้องนึกถึงส่วนต่างๆ อาการต่างๆ แต่ละลักษณะโดยลำดับ จนกว่าจะคล่องจริงๆ

    และการที่จะระลึกนี้ ไม่ใช่เพียงแต่จะท่องเฉยๆ และก็คิดว่า คล่องแล้ว แต่เวลาที่ระลึกถึงสภาพอาการที่ปรากฏจริงๆ ของส่วนต่างๆ จะต้องรู้ด้วยว่า ขณะนั้นระลึกด้วยจิตที่สงบหรือเปล่า ซึ่งจะต้องเป็นปัญญาขั้นสัมปชัญญะในขั้นของสมถะ ที่สามารถจะรู้ความต่างกันของจิตที่สงบและจิตที่ไม่สงบ นี่เป็นแต่เพียงเบื้องต้น

    ถ. การเจริญสมถภาวนานั้น มีนิมิตอยู่ ๓ นิมิต คือ บริกรรมนิมิต อุคคหนิมิต และปฏิภาคนิมิต การเจริญกายคตาสตินี้ บริกรรมนิมิต คือ การคิดถึงผม ขน เล็บ ฟัน หนัง และก็คิดถึงลักษณะของผม โดยกลิ่น โดยสี โดยสัณฐาน ต่างๆ นี้ ชื่อว่า บริกรรมนิมิต ใช่ไหม

    สุ. ขอกล่าวถึงวิธีที่ท่านใช้ปฏิบัติในครั้งก่อน ใน อรรถกถา มีข้อความว่า

    ต้องทำการสาธยายก่อนโดยการท่องในหมวด ๕ แรก คือ ใน ตจปัญจกกัมมัฏฐาน คือ การบริกรรมเพียงเฉพาะ ๕ เริ่มด้วยผม ขน เล็บ ฟัน หนัง นั่งทำการสาธยายตลอดกึ่งเดือนทีเดียวเฉพาะ ๕ อย่างนี้ โดยอนุโลมตลอด ๕ วัน และโดยปฏิโลมตลอด ๕ วัน คือ หนัง และทวนกลับไปจนถึงผมตลอด ๕ วัน และโดยอนุโลมและปฏิโลมตลอด ๕ วัน ต่อจากนั้นจะต้องไปถึงวักกปัญจกกัมมัฏฐาน คือ หมวด ๕ ต่อๆ ไป จนครบทั้ง ๑๐ ตลอดกึ่งเดือน และต่อไปอีกเรื่อยๆ ซึ่งขณะนั้นก็เป็นแต่เพียงการสาธยายเท่านั้นเอง

    ในการทำการสาธยายตลอด ๖ เดือนนั้น โกฏฐาส คือ ส่วนต่างๆ ย่อมปรากฏแก่ภิกษุผู้มีอุปนิสัยถึงพร้อมแล้ว ผู้มีปัญญา ผู้กำลังเรียนกัมมัฏฐานนั้น นั่นแหละ แต่ว่าย่อมปรากฏแก่ภิกษุบางพวก

    ไม่ใช่ว่าทุกคนจะต้องเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ไม่ได้หมายความว่า พอนึกถึงก็จะมีนิมิตเกิดขึ้นทันที

    ถ. การสาธยายที่ท่องๆ นั้น เมื่อท่องไปๆ นิมิตอย่างใดอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นเรียกว่า อุคคหนิมิต ใช่ไหม

    สุ. สำหรับส่วนต่างๆ จะปรากฏทีละอย่าง ที่จะเป็นอุคคหนิมิต ไม่ใช่ทั้ง ๕ อย่าง

    ถ. ที่ปรากฏขึ้นมาอย่างหนึ่งอย่างใด ที่ปรากฏนั้นชื่อว่า อุคคหนิมิต ใช่ไหม

    สุ. ถ้าปรากฏพร้อมกับจิตที่สงบมั่นคงแล้ว เป็นอุคคหนิมิต แต่ถ้ายังไม่มั่นคง ก็เป็นบริกรรมนิมิต เพราะปรากฏบ้าง ไม่ปรากฏบ้าง

    ถ. บริกรรมนิมิต หมายถึงขณะที่สาธยาย ขณะนั้นเรียกว่า บริกรรมนิมิต ใช่ไหม

    สุ. และน้อมนึกถึงส่วนต่างๆ ด้วย แต่ตัวนิมิตจริงๆ ยังไม่ปรากฏ เพราะ บางทีแทนที่จะปรากฏเป็นนิมิต กลับปรากฏเป็นวรรณะ คือ เป็นสี ไม่ใช่หมายความว่า พอบริกรรมถึงผม ขน เล็บ ฟัน หนังแล้ว ลักษณะของส่วนหนึ่งส่วนใดจะปรากฏ บางทีไม่ปรากฏเลย มีแต่วรรณะ คือ สี ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น สำหรับท่านผู้นั้น ท่านมีการสะสมมาที่จะสงบโดยการระลึกถึงวัณณกสิณ ซึ่งคำว่า วัณณกสิณ ไม่ได้หมายความแต่เฉพาะเอาสีต่างๆ มาทำเป็นวง และให้ระลึกโดยความสงบ แต่แม้ในขณะที่ระลึกถึงส่วนต่างๆ ของกาย น้อมไปที่จะให้เกิดนิมิตในอาการหนึ่งอาการใด แต่ว่าอาการหนึ่งอาการใดไม่ปรากฏเป็นนิมิตขึ้นมามีแต่เพียงสีเท่านั้นปรากฏ เพราะฉะนั้น สำหรับท่านผู้นั้นต้องเปลี่ยนเป็นวัณณกสิณ เพราะจิตสงบ ซึ่งเป็นเพราะอัธยาศัยที่ได้สะสมมาที่จะสงบด้วยการระลึกถึงสี

    ถ. เมื่อท่องไปจนกระทั่งคล่องปาก ชำนาญแล้ว พิจารณาหนังว่า หนังหน้าแข้งเหมือนอะไร หนังหน้าท้องเหมือนอะไร ขณะที่คิด ขณะนั้นยังเป็นบริกรรมนิมิตหรือเปล่า

    สุ. เป็นบริกรรมนิมิต

    ถ. ขณะที่คิดทั้งหมดเป็นบริกรรมนิมิต ส่วนเมตตาพรหมวิหาร คือ ขณะที่คิดถึงว่า สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงมีความสุข ไม่มีทุกข์ อะไรพวกนี้ ก็เป็นบริกรรมนิมิตด้วย ใช่ไหม

    สุ. ขณะนั้นต้องเป็นบริกรรม และสำหรับพรหมวิหาร ๔ เป็นกัมมัฏฐานที่ไม่มีนิมิต

    ถ. แต่ก็มีเครื่องหมายที่ว่า จะต้องมีปฏิภาคนิมิต ถ้าไม่มีปฏิภาคนิมิตแล้ว ปฐมฌานเกิดขึ้นไม่ได้

    สุ. ไม่ได้หมายความว่า ทุกกัมมัฏฐานต้องมีปฏิภาคนิมิต กัมมัฏฐานที่เป็นสมถภาวนา ๔๐ บางกัมมัฏฐานไม่มีนิมิต เพราะฉะนั้น ปฏิภาคนิมิตก็ไม่มี



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๘๗ ตอนที่ ๘๖๑ – ๘๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 81
    28 ธ.ค. 2564