แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 851


    ครั้งที่ ๘๕๑


    จบเรื่องของมรณานุสสติแล้ว ต่อไปจะเป็นเรื่องของกายคตาสติและ อานาปานสติ โดยนัยเดียวกัน คือ โดยนัยของผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งไม่ใช่จุดประสงค์ในการที่จะให้ระลึกรู้ส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ขน ผม เล็บ ฟัน หนัง จนกระทั่งจิตสงบเป็นขั้นๆ ถึงขั้นอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ หรือการที่ลมหายใจจะปรากฏ ผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานก็ไม่ได้มีความต้องการให้จิตสงบจนกระทั่งถึงอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิ แต่เป็นผู้ที่ศึกษารู้ลักษณะของสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลของลักษณะของลมที่ปรากฏที่กระทบว่า เป็นแต่เพียงรูปธรรมชนิดหนึ่งซึ่งไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    อย่าลืมว่า จุดประสงค์ไม่ใช่จะให้สงบ แต่เพื่อประโยชน์ที่จะให้หยั่งลงสู่อมตะ สามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท

    ถ. มรณานุสสติเป็นอารมณ์หนึ่งในอารมณ์ ๔๐ จุดประสงค์ของการเจริญ อารมณ์ทั้ง ๔๐ ทำให้ได้อุปจารสมาธิไม่ใช่หรือ

    สุ. ขณะนี้ถ้าระลึกถึงความตาย เป็นอุปจารสมาธิหรือเปล่า

    ถ. ก็ถ้าอารมณ์ยังไม่แนบแน่น ก็ยังไม่เป็น

    สุ. เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานเกิดขึ้นรู้ว่า ขณะนี้เป็นแต่เพียงสภาพที่คิดนึก ไม่ใช่รู้ลักษณะของปรมัตถ์ สติปัฏฐานสามารถที่จะรู้ชัดในสภาพที่เป็นสมมติสัจจะและปรมัตถสัจจะ ถ้าตราบใดยังไม่รู้ชัดไม่สามารถที่จะละความเข้าใจหรือการสำคัญตนว่าเป็นเราได้ ยังคงยึดถือสภาพธรรมนั้นด้วยความยินดี ด้วยความเห็นผิด หรือด้วยอัสมิมานะ

    ถ. บางคนพูดถึงความตายไม่ได้เลย กลัวความตายจะมาถึง อย่างนี้จะเจริญมรณานุสสติได้หรือเปล่า

    สุ. ไม่ได้ เพราะว่าจิตจะสงบได้ต้องประกอบด้วยปัญญา ซึ่งต้องเป็นกุศล

    ถ. ในพระสูตรครั้งก่อนกล่าวว่า เมื่อกลางคืนมาถึงก็พิจารณาว่าปัจจัยที่จะให้ความตายมานี้มีมากมาย มีงูกัดบ้าง ตะขาบกัดบ้าง ถูกมนุษย์ทำอันตรายบ้าง อมนุษย์ทำอันตรายบ้าง เพราะฉะนั้น ให้เจริญสติปัฏฐาน

    สุ. ซึ่งความจริง ไม่ใช่ให้คิดเล่นๆ ถ้าพิจารณาดูชีวิตของแต่ละท่าน ก็จะเห็นว่าเป็นความจริง เพราะบางท่านก็ถูกมนุษย์เบียดเบียนทำร้ายจนถึงแก่ชีวิต ซึ่งไม่มีใครรู้ว่า วันไหนจะเกิดขึ้น

    ถ. แต่พระสูตรนี้จะเกื้อกูลให้แก่ผู้ที่กลัวนรกทั้งหลายว่า ถ้าใครพิจารณาดูแล้วอกุศลธรรมของท่านยังมีอยู่ ปัจจัยที่จะไปสู่อบายยังมีอยู่ ก็รีบเจริญสติปัฏฐาน มีหนทางเดียวเท่านี้เองหรือ

    สุ. สำหรับผู้ที่เจริญกุศล จะไปเป็นเทวดาไม่ต้องกลัวหรือ ตราบใดที่ยังไม่รู้ชัดในสภาพของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็จะต้องมีสภาพธรรมที่เป็นทุกข์ คือ เกิดขึ้นแล้วดับไปอยู่เรื่อยๆ

    ถ. ผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน หรือผู้ที่ไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ส่วนใหญ่ถ้าจะไปเกิดเป็นเทวดา ไม่กลัว

    สุ. สำหรับผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่กลัว เพราะมีโอกาสที่จะได้อบรมเจริญปัญญาต่อไป แต่ไม่ใช่ว่าให้ติด หรือว่าให้หวังผลของการรักษาศีล หรือว่าประพฤติพรหมจรรย์เพียงเพื่อจะให้ได้ไปเกิดเป็นเทวดา แต่ว่าการที่จะเกิดในภูมิเทวดาก็ดี ในภูมิมนุษย์ก็ดี เป็นโอกาสที่จะได้ฟังธรรมและอบรมเจริญปัญญายิ่งขึ้น

    สำหรับการระลึกถึงความตายของพระผู้มีพระภาค ย่อมจะเป็นประโยชน์ที่จะทำให้ท่านผู้ฟังเป็นผู้ที่ไม่ประมาท เพราะแม้แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็จะต้องมีความตายซึ่งเป็นปรินิพพาน แต่ไม่มีการเกิดอีก

    ใน ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร ข้อ ๑๐๗ - ข้อ ๑๐๘ มีข้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงโอวาท ก่อนการปรินิพพาน ๓ เดือน

    ข้อความมีว่า

    ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังอุปัฏฐานศาลา ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาจัดถวาย ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับนั่งแล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่าใดที่เราแสดงแล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ธรรมเหล่านั้น พวกเธอเรียนแล้ว พึงซ่องเสพ พึงให้เจริญ พึงกระทำให้มากด้วยดี โดยประการที่พรหมจรรย์นี้จะพึงยั่งยืน ดำรงอยู่ได้นาน เพื่อประโยชน์ของชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์ชนเป็นจำนวนมาก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ก็ธรรมที่เราแสดงแล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ... เหล่านั้นเป็นไฉน คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้แล ที่เราแสดงแล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ... ฯ

    ไม่ใช่ให้เจริญความสงบเฉยๆ แต่ว่าธรรมที่จะมีประโยชน์ที่สุด ที่เมื่อเรียนแล้วพึงซ่องเสพ พึงให้เจริญ พึงกระทำให้มากด้วยดี โดยประการที่พรหมจรรย์นี้จะพึงยั่งยืน ที่จะสืบต่อไปถึงอนาคต ก็คือการที่เป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ที่จะให้ พระสัทธรรมดำรงอยู่ได้นาน เพื่อประโยชน์ของชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขของชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย และอย่าลืมว่า ธรรมนี้เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ต้องเป็นปัญญาจริงๆ ที่จะเข้าใจเรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ตั้งแต่ขั้นของการฟัง ซึ่งจะเป็นปัจจัยให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และอบรมไปอีกเรื่อยๆ จนกว่าจะชำนาญ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเตือนภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนพวกเธอ สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม ความปรินิพพานแห่งตถาคตจักมีในไม่ช้า โดยล่วงไปอีกสามเดือนแต่นี้ ตถาคตก็จักปรินิพพาน ฯ

    เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงปลงอายุสังขาร ตลอดเวลาหลังจากนั้นแล้วพระผู้มีพระภาคทรงโอวาทเรื่องการเป็นผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานมากที่สุด ไม่ว่าจะเสด็จไป ณ ที่ใดก็ตาม ซึ่งท่านผู้ฟังก็ควรจะเห็นว่า เป็นกิจที่ควรกระทำอย่างยิ่งสำหรับ ท่านเองและสำหรับบุคคลอื่น สำหรับญาติมิตรสหายด้วย ที่จะอุปการะเกื้อกูลกันให้เป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน

    พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสพระคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

    คนเหล่าใด ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ทั้งพาล ทั้งบัณฑิต ทั้งมั่งมี ทั้งขัดสน ล้วนมีความตายเป็นเบื้องหน้า ภาชนะดินที่นายช่างหม้อกระทำแล้ว ทั้งเล็ก ทั้งใหญ่ ทั้งสุก ทั้งดิบ ทุกชนิด มีความแตกเป็นที่สุด ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็ฉันนั้น ฯ

    พระศาสดาได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

    วัยของเราแก่หง่อมแล้ว ชีวิตของเราเป็นของน้อย เราจักละพวกเธอไป เรากระทำที่พึ่งแก่ตนแล้ว ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท มีสติ มีศีลอันดีเถิด จงเป็นผู้มีความดำริตั้งมั่นดีแล้ว ตามรักษาจิตของตนเถิด ผู้ใดจักเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่ในธรรมวินัยนี้ ผู้นั้นจักละชาติสงสาร แล้วกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ดังนี้ ฯ

    จบ ภาณวารที่สาม ฯ

    ถ. สำหรับตัวผมเอง เรื่องความตาย สุคติไม่กลัว เพราะว่ามีโอกาสเจริญ สติปัฏฐานได้ แต่ถ้าไปอบาย ผมนึกถึงเรื่องเต่าตาบอด เป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะเมื่อเราไปอบายแล้ว ไม่ใช่ว่าไปชาติเดียวก็กลับมาสู่สุคติ แต่จะไม่กลับมาเหมือนเต่า ตาบอด จะกลับเมื่อไรก็ไม่รู้ ๑๐๐ ปีจะโผล่หัวขึ้นมาสวมเสวียนหม้อครั้งหนึ่ง มิหนำซ้ำยังตาบอด เราจะพิจารณาเรื่องนี้ได้อย่างไร กลัวอย่างนี้ ทุกข์ก็มากด้วย เขาจะจับไปแกง ไปฆ่า ทุกข์ก็มาก ก็มาพิจารณา เป็นไปได้อย่างนั้นจริงหรือ คิดขึ้นมากลัวทุกที กลัวจะไปอบาย อายุของมนุษย์นี้ก็น้อยนัก แม้แต่ขั้นการศึกษาก็ยังไม่แตกฉานเท่าที่ควร เรื่องการเจริญสติปัฏฐานได้บ้าง ไม่ได้บ้าง รู้บ้าง ไม่รู้บ้าง ถ้าไปอบายแล้วลองคิดดูว่าจะแค่ไหน คิดแล้วจึงกลัว จึงเร่งการศึกษา แม้การเจริญสติปัฏฐานก็ไม่ลดละ ผมเคยเพียรเจริญสติปัฏฐานเหมือนอย่างที่อาจารย์เคยอ่านที่ว่า มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว มีสติในการเจริญสติปัฏฐาน เคยมีความเพียรอย่างนี้ ขณะนั้นก็รู้เวทนา รู้จิตที่เปลี่ยนไปมา รู้อารมณ์ทางใจ รู้ทางปัญจทวารบ้าง แต่อยู่ได้ไม่นาน

    สุ. ขณะนั้นต่างกับขณะที่สติเกิดขึ้นระลึกตามปกติ ใช่ไหม

    ถ. ขณะที่มีอารมณ์เช่นนี้ ก็กลัวจริงๆ และเร่งการเจริญสติปัฏฐาน เพราะพิจารณาเห็นแล้วว่า เป็นอย่างนั้นจริงๆ

    สุ. การเจริญสติปัฏฐาน เร่งได้ไหม

    ถ. เร่งในที่นี้ หมายความว่าเร่งศึกษา ฟัง และพิจารณานามรูปให้มากขึ้น แทนที่จะหลงลืมสติมาก ช่วยให้มีสติ ศึกษาและพิจารณาให้มากขึ้น

    สุ. เพราะฉะนั้น กว่าสติจะเกิดขึ้นตามปกติ ต้องเข้าใจความต่างกัน

    ถ. การที่จะมีสติเกิดขึ้นจริงๆ ปัญญาเกิดขึ้นเห็นภาวะของนามรูป แสนยาก

    สุ. จะค่อยๆ ง่ายขึ้น

    ถ. ปกติพิจารณากิเลสของเรา เวลาที่เกิดขึ้นที่จะท่องว่า สัตว์ทั้งหลายอย่าเบียดเบียนกัน เวลาเรามีกิเลสเกิดขึ้นจริงๆ เบียดเบียนแล้ว เรื่องนี้เรื่องจริง เพราะผมเคยเป็นบ่อยๆ บางครั้งเราประสบอารมณ์ที่ดีบ้าง อารมณ์ที่เลวร้ายบ้างที่ทำให้เราต้องขุ่นมัว ต้องเศร้าหมอง บางทีกลับถึงบ้านแล้วนั่งคิดพิจารณาถึงเหตุการณ์ต่างๆ มียุงมารบกวน กวนประสาทเหลือเกิน คิดว่าจะฆ่าให้หมดทั้งประเทศไทย คิดอย่างนี้ก็ยังมี แม้การเจริญสติและการศึกษาเราก็ทำมาแล้ว จะเป็นเต่าตาบอดก็ตรงนี้ น่ากลัวแค่ไหน ลองคิดดู

    สุ. เพราะฉะนั้น สภาพธรรมเกิดขึ้นตามความเป็นจริง ให้เห็นความจริงว่า การดับกิเลสนั้นยาก ไม่ใช่ง่าย ซึ่งจะต้องสะสมอบรมเจริญไปเรื่อยๆ และอบรมเจริญกุศลทุกประการด้วย มิฉะนั้นแล้วไม่มีทางที่จะดับกิเลสได้เลย

    การที่สภาพธรรมเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยตามความเป็นจริงเพราะปรากฏให้เห็นแล้ว และสติระลึกได้ เป็นประโยชน์ เพราะจะได้เห็นสภาพธรรมที่สะสมมาตามความเป็นจริงว่า ขณะนั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่เกิดขึ้น แต่สติไม่ค่อยจะมีกำลังที่จะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น ใช่ไหม แต่ถ้าค่อยๆ อบรมไปโดยปกติ โดยธรรมดา โดยธรรมชาติจริงๆ วันหนึ่งปัญญาสามารถที่จะคมและรู้ชัดได้จริงๆ ว่า ขณะนั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่อย่าลืมว่า ต้องทั้ง ๖ ทาง จะเว้นทางหนึ่งทางใดไม่ได้ ในขณะนี้ที่กำลังเห็น เว้นไม่ได้ ถ้าเว้นก็ยังคงเป็นเราที่เห็น

    ถ. สำหรับผู้ที่จะบรรลุ จะต้องผ่านญาณนี้มาก่อน ใช่ไหม

    สุ. ญาณไหน

    ถ. ที่ว่ากลัวภัยต่างๆ

    สุ. ไม่ นั่นเป็นอกุศล ไม่ใช่ปัญญา

    ถ. วิปัสสนาญาณ

    สุ. ถูก วิปัสสนาญาณนั้น เป็นการเห็นภัย เห็นโทษด้วยปัญญา แต่ไม่ใช่ด้วยความกลัว อย่าเอาอกุศลเป็นกุศล

    ถ. ต่างกันอย่างไร

    สุ. ต่างกัน เพราะความกลัวไม่ใช่ปัญญา ขณะที่ปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ ซึ่งประกอบด้วยอุเบกขาเวทนาหรือโสมนัสเวทนา แต่ไม่ใช่โทมนัสเวทนา ไม่ใช่ความกลัว ไม่ใช่ความตกใจ

    เพราะฉะนั้น เรื่องของวิปัสสนาญาณไม่ใช่เป็นเรื่องธรรมดาอย่างที่ชาวบ้าน นึกกลัวอะไรขึ้นมา และจะกล่าวว่า ขณะนั้นเป็นวิปัสสนาญาณ ไม่ได้

    ถ. ถ้าเช่นนั้น กลัวหรือไม่กลัว ก็ไม่เป็นประโยชน์

    สุ. ไม่มีประโยชน์ เป็นอกุศล

    ถ. อย่างไม่รู้ว่า ชาติหน้า ชาติก่อน หรืออะไรมี บางคนไม่ทราบ เป็นอย่างไร

    สุ. แต่ละขณะจิต แต่ละขณะ ขณะใดที่เป็นโลภะขณะนั้นก็ไม่ใช่โทสะ ขณะใดที่เป็นมหากุศลขณะนั้นก็ไม่ใช่อกุศล

    ถ. สำหรับมรณานุสสติ ผมรู้สึกว่า ขณะที่ได้รับอิฏฐารมณ์ หรือโลกธรรมในทางที่ดี จะได้ลาภ ได้ยศ สรรเสริญ หรือสุขก็ดี ที่มากๆ ผมมักจะรู้สึกว่า เราก็จะต้องตาย ผมมักจะมีความรู้สึกอย่างนี้ ไม่ทราบว่าจะเป็นมรณสติหรือเปล่า

    สุ. และเราก็จะต้องตาย ขณะนั้นจิตใจเป็นอย่างไร

    ถ. ผมสงสัยว่า นี่เป็นมรณานุสสติหรือเปล่า แต่ผมเข้าใจวันนี้เองที่อาจารย์กล่าวว่า ขณะที่มรณานุสสติเกิดนั้น ทำให้เรามีสติขึ้น อย่างนี้ ต่อไปเมื่อผมเกิดมรณานุสสติแล้ว ผมก็จะเจริญสติ อย่างนี้จะถือว่าเป็นการตั้งใจไปหรือเปล่า จะเกิดขึ้นเองได้หรือเปล่า

    สุ. ธรรมดาสติไม่ใช่ตัวตน อาศัยเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น ไม่ใช่ตัวตนที่ว่า อยากให้สติเกิดเมื่อไรสติก็เกิด เพราะฉะนั้น ปัญญาที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง คือรู้ว่า เมื่อระลึกอย่างนั้นแล้ว สติเกิดเป็นสติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจหรือเปล่า



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๘๖ ตอนที่ ๘๕๑ – ๘๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 81
    28 ธ.ค. 2564