แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 862


    ครั้งที่ ๘๖๒


    ถ. แต่ว่าพรหมวิหาร เจริญสูงสุดได้ถึงปัญจมฌาน

    สุ. สำหรับอุเบกขาพรหมวิหารเท่านั้นที่ถึงปัญจมฌาน

    ถ. อย่างไรก็แล้วแต่ พรหมวิหารทั้ง ๔ จะต้องถึงปฐมฌานทั้งหมด เพราะฉะนั้น ผู้ที่ได้ปฐมฌานก็จะต้องผ่านปฏิภาคนิมิต ถ้าไม่มีปฏิภาคนิมิตจะถึงปฐมฌานไม่ได้

    สุ. ปฏิภาคนิมิตของพรหมวิหารเป็นอย่างไร ในเมื่อพรหมวิหารไม่มีนิมิต

    ถ. ผู้ที่เจริญพรหมวิหาร มีเมตตา เป็นต้น ท่านก็เจริญไป แผ่เมตตาไปจนกระทั่งถึงขีดสุด ซึ่งตอนนั้นเรียกว่า สีมสัมเภท คือ เจริญไปถึงสีมสัมเภท

    สีมสัมเภทท่านอุปมาเหมือนบุคคล ๔ คน มีตัวเองคนหนึ่ง ศัตรูคนหนึ่ง คนที่รักคนหนึ่ง และมีคนที่ไม่รักไม่ชังคนหนึ่ง บุคคลทั้ง ๔ ท่านสมมติว่า มีโจรมาขอคนใดคนหนึ่งจะเอาไปบูชายัญ ถ้าผู้เจริญเมตตาพรหมวิหาร ชี้คนใดคนหนึ่งแม้กระทั่งชี้ตัวเองให้โจรนำไปบูชายัญ ขณะนั้นก็ยังไม่ถึงสีมสัมเภท ขณะนั้นยังไม่ได้ปฏิภาคนิมิต ต้องวางเฉย ถ้าโจรมาขอคนใดคนหนึ่ง ไม่ออกปากให้ โจรจะเอาใครไปก็เอาไป ขณะนั้นชื่อว่า ได้สีมสัมเภท ก็สงเคราะห์เข้าเป็นปฏิภาคนิมิต

    สุ. สงเคราะห์ ใช่ไหม ไม่ใช่ว่ามีปฏิภาคนิมิตจริงๆ เหมือนอย่างกัมมัฏฐานอื่นๆ เพราะกัมมัฏฐานที่มีปฏิภาคนิมิตเป็นอารมณ์ในกัมมัฏฐาน ๔๐ มีเพียง ๒๒ กัมมัฏฐานเท่านั้น คือ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อานาปานสติ ๑ กายคตาสติ ๑ รวมเป็น ๒๒ กัมมัฏฐานที่มีปฏิภาคนิมิตเป็นอารมณ์ ซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับการที่จะให้จิตสงบ

    ถ. ท่านกล่าวว่า พระโยคาวจรเจริญปฐวีกสิณ เห็นว่าปฐวีกสิณกับตนเป็นอันเดียวกัน แต่สักกายทิฏฐิส่วนใหญ่ยึดถือร่างกายขันธ์ ๕ ภายในนี้ว่าเป็นตน กสิณต่างๆ นี้เป็นของภายนอก ผมคิดว่าไม่มีใครยึดถือว่าเป็นตน

    สุ. แข็งนี้ไม่ใช่เราหรือ อ่อนนี้ไม่ใช่เราหรือ เย็นนี้ไม่ใช่เราหรือ

    ถ. ก็เฉพาะแข็งในตัวเท่านั้นว่า เป็นเรา

    สุ. คำว่า กสิณ ไม่ได้หมายความถึงดวงกลมๆ ที่ไปนั่งเพ่งจ้อง แต่คำว่า กสิณ หมายความถึง ทั้งปวง เพราะฉะนั้น ปฐวีกสิณ หมายถึงดินทั้งปวง หรือจะเป็นวัณณกสิณ เช่น สีเขียว ก็เขียวทั้งปวง สีแดง โลหิตกสิณ ก็แดงทั้งปวงที่มีอยู่ที่กาย เวลานั้น ถ้าจิตสงบและเกิดนิมิต เป็นการเห็นสีที่ส่วนหนึ่งส่วนใดของกาย ขณะนั้นก็ชื่อว่า วัณณกสิณ หรือว่าโลหิตกสิณ

    เรื่องของการเจริญปัญญาเป็นเรื่องที่ละเอียด และกว้างขวางมากสำหรับบุคคลที่มีอัธยาศัยต่างๆ กัน เพราะบางท่านเวลาที่พิจารณาบริกรรมด้วยกสิณประเภทหนึ่งประเภทใด แต่เวลาที่จิตเกิดสงบมีความมั่นคงขึ้น จะมีนิมิตของสี อาจจะเป็นภายใน หรือว่าอาจจะเป็นภายนอกก็ได้ อย่างที่ร่างกายก็มีสีต่างๆ ที่จะไม่มีสีสันวัณณะปรากฏทางตานั้นเป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นภายนอกที่มีผิวหนัง หรือว่าเป็นภายในที่ร่างกาย เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ว่าจะเห็นสีของไต ของตับ ของเลือด เห็นสีของหทยะ คือ หัวใจ หรืออะไรก็ตามแต่ ในขณะนั้นถ้าจิตสงบ นิมิตก็ต้องเป็นวัณณกสิณ เพราะในขณะนั้นสีปรากฏเป็นเหตุให้จิตสงบ ไม่ใช่จำกัด แต่กว้างขวางมาก

    การที่ใช้ดินทำให้เป็นวง เพื่อจะเตือนให้ระลึกถึงดินทั้งปวง การใช้สีหนึ่งสีใดทำเป็นวงกลม เพื่อจะเตือนให้ระลึกถึงสีหนึ่งสีใด และสงบ เพราะตามความเป็นจริง ถ้าระลึกที่เพียงสีนั้นเท่านั้น ย่อมไม่เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นใครๆ ในโลกนี้ นอกจากเป็นเพียงสี เมื่อเป็นเพียงสีเท่านั้น จิตย่อมสงบได้ ถ้ามนสิการด้วยความแยบคาย

    แต่ที่ไม่สงบ เพราะไม่ใช่เป็นเพียงสี ยังเป็นสีโดยสัณฐานต่างๆ รูปร่างต่างๆ ความพอใจนี้ พอใจในสัณฐานแห่งสีที่ปรากฏ ถ้าเป็นเพียงสีเดียวเท่านั้น ไม่เป็นอะไรไปได้เลย เพราะว่าไม่มีสัณฐานของอะไรเลย ไม่มีสัณฐานของวัตถุซึ่งเป็นที่ตั้งของความยินดีพอใจ ไม่มีสัณฐานของสัตว์บุคคลซึ่งเป็นที่ตั้งของความยินดีพอใจ เพราะฉะนั้น ความยินดีพอใจย่อมเกิดไม่ได้ เวลาที่ปรากฏเป็นแต่เพียงสี

    ถ. ประสบการณ์ของผมในเรื่องการพิจารณาอาหาเรปฏิกูล ปกติผมขับรถ ผมมักจะเจอสุนัขหรือแมวถูกรถทับ เนื้อแดงๆ ก็มักจะนึกถึงก๋วยเตี๋ยวเนื้อสดๆ ที่เราชอบ เคยรับประทาน ก็เหมือนๆ กัน หรือว่าเราไปทางน้ำ เราเจอซากศพสุนัขที่ลอย เหมือนเนื้อเปื่อยจริงๆ ผมก็คิดพิจารณาตัวเองรู้สึกว่า ไม่น่าจะเป็นกุศลจิตเกิดขึ้น และถ้าพิจารณาในเรื่องความสงบในแง่ของการเจริญสมถะ รู้สึกว่า ยิ่งห่างไกลมาก จะเป็นไปได้หรือเปล่า

    สุ. ขออนุโมทนา ที่เป็นผู้ที่รู้ลักษณะสภาพของจิตตามความเป็นจริง ซึ่งจะต้องประกอบด้วยสัมปชัญญะ เพราะว่าจิตจะสงบหรือไม่สงบ ต้องแล้วแต่ปัจจัยที่จะเกิดขึ้นในขณะนั้น เนื่องจากบางครั้งเห็นแล้วรังเกียจ ในขณะนั้นไม่ใช่สงบแน่นอน หรือถ้าจะใช้คำว่า ปฏิกูล หรืออสุภะ ความไม่งามของสิ่งที่ปรากฏ เช่น ซากศพของสุนัขเน่าลอยอยู่ในแม่น้ำ ในขณะที่เห็นทันทีจะมีความรู้สึกเป็นอสุภะ คือ ไม่งาม และในขณะที่เห็นว่าไม่งามขณะนั้น ไม่ใช่หมายความว่าจะต้องเป็นกุศลจิต อาจจะเกิดโทสะ ความไม่พอใจ ความขุ่นเคืองใจในขณะนั้น หรือว่าอาจจะเป็นการระลึกถึงสภาพของกาย ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วเป็นปฏิกูล หรือไม่งามอย่างนั้น และจึงสงบ

    เพราะฉะนั้น เรื่องของความสงบเป็นเรื่องละเอียด เป็นเรื่องที่จะต้องประกอบด้วยสัมปชัญญะจริงๆ และถ้าไม่สงบ ก็อย่าไปหลอกตัวเองว่าสงบ อย่างเช่น เวลาเห็นกระดูกกะโหลกศีรษะ ถ้าเกิดกลัว ก็อย่าหลอกตัวเองว่า นี่เป็นอสุภกัมมัฏฐาน เพราะฉะนั้น สงบ นั่นไม่ใช่ ต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อลักษณะสภาพนั้นตามความเป็นจริง

    ถ้ารังเกียจก็เป็นอกุศล ถ้ากลัวก็เป็นอกุศล ต่อเมื่อใดที่ระลึกถึงบ่อยๆ และความสงบค่อยๆ เกิดขึ้น เมื่อนั้นจึงจะรู้ว่า มนสิการอย่างไร พิจารณาอย่างไรจึงสงบ แต่ถ้ายังไม่สงบ ก็ต้องยังไม่สงบ หรือว่าจะเป็นเรื่องของขน ผม เล็บ ฟัน หนัง รวมทั้งเนื้อ เอ็น กระดูกต่างๆ ที่กล่าวถึงแล้ว ก็เหมือนกัน ในขณะที่ฟัง หรือว่าในขณะที่เห็น และเกิดความไม่สงบ หรือเกิดความรังเกียจขึ้น ในขณะนั้นก็ต้องรู้ว่า ไม่ใช่กุศลจิต ยังไม่ใช่เป็นการมนสิการด้วยปัญญาที่จะทำให้เกิดความสงบขึ้นได้ เพราะว่าใกล้ชิดกันมาก ใช่ไหม โดยศัพท์ที่ใช้ คำว่า ปฏิกูลก็ดี หรือคำว่า อสุภะก็ดี ไม่ใช่สิ่งที่ใครๆ จะพอใจเลย อะไรที่เป็นปฏิกูล รังเกียจทันที หรือว่าอะไรที่ไม่งาม เป็นอสุภะ ก็รังเกียจ ไม่ชอบใจทันที นี่เป็นอัธยาศัยที่คุ้นเคย ที่สะสมมาเป็นอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้น กว่าจะเปลี่ยนจากการที่ระลึกอย่างไรในสิ่งที่เป็นปฏิกูล และเกิดความสงบด้วยปัญญานั้น ก็จะต้องทราบว่า การที่จะละทั้ง ๒ คือ ความยินดีในสิ่งที่น่ายินดี และความยินร้ายในสิ่งที่น่ารังเกียจ ก็โดยการเจริญสติปัฏฐาน สามารถที่จะละได้ทั้ง ๒ ประการ

    บางท่านอาจจะมีความชำนาญ เพียงละความยินดี ด้วยการระลึกถึงความไม่น่ายินดี แต่ว่าไม่สามารถที่จะละความรังเกียจได้ หรือบางท่านก็อาจพิจารณาละความรังเกียจได้ แต่ยังไม่สามารถที่จะละความยินดีได้ในสิ่งที่น่ายินดีได้ เพราะฉะนั้น หนทางเดียวที่สามารถจะละได้ทั้ง ๒ คือ ด้วยการเจริญสติปัฏฐาน

    ถ. ข้อความในพระไตรปิฎก ใน ขุททกนิกาย อานาปานกถา ท่านกล่าวว่า ผู้เจริญอานาปานสติ มีลมหายใจออกยาวก็รู้ หายใจเข้ายาวก็รู้ เรื่อยไปจนกระทั่งหายใจออกสั้น หายใจเข้าสั้นก็รู้ ตอนสุดท้าย ท่านสรุปว่า กายปรากฏ ไม่ใช่สติ สติปรากฏด้วย เป็นตัวสติด้วย บุคคลผู้พิจารณากายนั้นด้วยสตินั้น ด้วยญาณนั้น ชื่อว่า พิจารณากายในกาย และในหมวดเวทนาก็ว่า ถ้าเวทนาปรากฏ ไม่ใช่สติ ในหมวดจิต ถ้าจิตปรากฏ ไม่ใช่สติ ในหมวดธรรม ก็ธรรมทั้งหลายปรากฏ ไม่ใช่สติ สติปรากฏด้วย เป็นตัวสติด้วย บุคคลผู้พิจารณาธรรมทั้งหลายด้วยสตินั้น ด้วยญาณนั้น บุคคลนั้นชื่อว่า พิจารณาธรรมในธรรม

    ข้อความมีอยู่อย่างนี้ ทำให้มีความสงสัยอยู่หลายประการ คือ ทำไมท่านต้องบอกว่า กายปรากฏ ไม่ใช่สติ ถ้าท่านไม่บอกว่า กายไม่ใช่สติ ผู้ที่เจริญอานาปานสติอาจจะเข้าใจผิดได้ว่า เห็นกายนั้นเป็นสติ เห็นสติเป็นกาย อย่างนั้น ใช่ไหม

    สุ. นี่เป็นความละเอียดสำหรับปัญญาที่จะต้องรู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง โดยที่ว่า รู้ว่าขณะใดหลงลืมสติ ต่างกับขณะที่มีสติ นั่นคือ สติปรากฏ

    ถ. ถ้ากายปรากฏ ในนี้เขาบอกว่า กายปรากฏ กายในทีนี้ หมายถึง ลมหายใจ ลมหายใจปรากฏ ไม่ใช่สติ ก็แน่นอน ลมหายใจต้องไม่ใช่สติ สติก็ไม่ใช่ลมหายใจ ทำไมท่านจึงต้องย้ำอย่างนี้ด้วย

    สุ. ไม่ใช่ย้ำ แต่เป็นความจริงอย่างนั้น ในขณะนั้น ความจริงมีอย่างไร ทรงแสดงตามความจริงอย่างนั้น ในขณะนั้น

    ถ. ก็ความจริงนั้นแน่นอน

    สุ. พระธรรมวินัยทั้งหมด เป็นการแสดงธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น เวลาที่ผู้ใดรู้ความจริง ก็รู้จริงตามที่ทรงแสดง ไม่ผิดกัน

    ถ. ขณะที่ลมหายใจปรากฏ ผู้เจริญสติปัฏฐานก็ต้องรู้ว่า เป็นลมหายใจ ไม่ใช่สติ

    สุ. ขอประทานโทษ คนที่ยังไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ก็รู้ว่าหายใจ ใช่ไหม

    ถ. ใช่

    สุ. สติเกิดหรือยัง

    ถ. ผู้ที่ไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน สติไม่เกิด

    สุ. ทั้งๆ ที่รู้ว่าหายใจ ทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นลมหายใจ ทั้งๆ ที่รู้ว่าลมหายใจกระทบ แต่ขณะนั้นสติไม่ได้ระลึกรู้ในสภาพที่เป็นกายว่า เป็นแต่เพียงรูปของลมหายใจที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น แม้ในขณะนั้นหลงลืมสติก็ได้

    ขณะที่เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็งกระทบ และไม่รู้ว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ก็หมายความว่า ขณะนั้นหลงลืมสติ ไม่รู้ว่าเย็น ร้อน อ่อน แข็งนั้นไม่ใช่ตัวตน ฉันใด เวลาที่หายใจ ใครหายใจเข้ายาว สั้น หรือว่าเบา หนักอย่างไร คนที่ทำโยคะ ก็มีการกำหนดพิจารณารู้ลมหายใจ แต่ไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ว่า สภาพนั้นไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะปรากฏ และสติระลึกรู้ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนของลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น

    นี่เป็นความต่างกันของข้อปฏิบัติอื่น หรือว่าการเจริญสมาธิแบบอื่น ซึ่งไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน

    ถ. ข้อความต่อไปมีว่า บุคคลผู้พิจารณากายนั้นด้วยสตินั้น บุคคลนั้นชื่อว่า พิจารณากายในกาย

    สุ. นี่เป็นการเจริญสติปัฏฐานแน่นอน ไม่ใช่เป็นการปฏิบัติสมาธิแบบโยคะ หรือว่าแบบอื่นๆ เพราะรู้ความต่างกันของขณะที่สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของรูปที่กาย ที่เป็นลมหายใจตามความเป็นจริง

    ถ. คำว่า กายนั้นกับด้วยสตินั้น กายนั้นหมายถึงลมหายใจ

    สุ. ที่ปรากฏ ที่เป็นอารมณ์ของสติ ที่สติกำลังระลึกรู้

    ถ. ด้วยสตินั้น ขณะที่สติเกิดพร้อมกับปัญญาในขณะนั้น อย่างนั้นหรือ

    สุ. ใช่ เป็นเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานตามปกติตามความเป็นจริง ซึ่งตรงกับข้อความในพระไตรปิฎก ขณะใดที่สติเกิดจะต้องมีสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งสติกำลังระลึกรู้ ถ้าเป็นลมหายใจ ไม่ใช่ขณะที่หลงลืมสติ หรือไม่ใช่ขณะที่เพียงแต่รู้ว่ามี ลมหายใจ ซึ่งไม่ใช่ลักษณะของสติปัฏฐาน แต่เวลาที่เป็นสติปัฏฐาน ต้องเป็นขณะที่ไม่หลงลืมที่จะรู้สภาพของลมหายใจที่กระทบ ที่ปรากฏ และรู้ว่าขณะนั้นสติกำลังระลึกรู้ในสภาพนั้น ในอาการนั้น และพิจารณารู้ว่า สภาพนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    ขอกล่าวถึงกายคตาสติ โกฏฐาส หรืออาการต่อๆ ไป ซึ่งท่านผู้ฟังควรจะได้พิจารณาถึงประโยชน์ของการฟังกายคตาสติ คือ การระลึกถึงส่วนต่างๆ ของกายที่มีอยู่ในขณะนี้ว่า สภาพที่เป็นปฏิกูลของส่วนที่เป็นร่างกายที่แบ่งแยกอาการออกเป็นอาการของธาตุดิน ๒๐ อาการ หรือ๒๐ ส่วน และเป็นอาการของธาตุน้ำ ๑๒ ส่วนนั้น ก็เพื่อที่จะให้เห็นความเป็นปฏิกูลของแต่ละส่วน เพราะถ้าไม่แบ่งแยกกระจัดกระจาย ตัดออกเป็นชิ้นส่วนต่างๆ ย่อมไม่เห็นความเป็นปฏิกูล ซึ่งเวลาที่กำลังควบคุมรวมกันอยู่ และมีหนังหุ้มไว้โดยรอบ ย่อมไม่มีใครสามารถที่จะเห็นความเป็นปฏิกูลจริงๆ ของกายที่อยู่ที่ตัวของทุกท่านในขณะนี้ตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น การที่จะตัดส่วนต่างๆ ของกายให้เห็นสภาพที่เป็นปฏิกูล ย่อมเป็นประโยชน์ในการที่จะระลึกรู้ถึงความเป็นปฏิกูลจริงๆ ของกายของแต่ละบุคคล ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า กายคตาสติ การระลึกถึงความเป็นปฏิกูลของส่วนต่างๆ ของกาย ไม่เหมือนกับอสุภกัมมัฏฐาน ๑๐ ที่เป็นการระลึกถึงความเป็นอสุภะ ความไม่งามของซากศพซึ่งเป็นร่างกายที่ปราศจากจิตใจ ปราศจากชีวิตแล้ว แต่ปฏิกูลมนสิการ การระลึกถึงส่วนต่างๆ ของกายที่เป็นอาการ ๓๒ นี้ เป็นการระลึกถึงส่วนต่างๆ ของกายของผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ ไม่ใช่การระลึกถึงส่วนต่างๆ ความไม่งามของซากศพ เพราะฉะนั้น จำเป็นต้องระลึกถึงส่วนต่างๆ เป็นแต่ละส่วนจริงๆ

    ซึ่งในครั้งก่อนๆ ตั้งแต่ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน และเมื่อปรินิพพานแล้ว ก็มีผู้ที่สามารถบรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์โดยการฟัง หรือว่าโดยการสาธยายส่วนต่างๆ ของกาย ซึ่งเป็นอาการ ๓๒ เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน จะเข้าใจได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นการฟังเรื่องอะไร สติสามารถที่จะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และสามารถที่จะรู้แจ้งแทงตลอดในสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนจนกระทั่งสามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๘๗ ตอนที่ ๘๖๑ – ๘๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 81
    28 ธ.ค. 2564