แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 890


    ครั้งที่ ๘๙๐


    ถ. โภชเนมัตตัญญุตา องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ฟังแล้วรู้สึกว่าปัญญาเกิดง่ายเหลือเกิน เพียงแต่รู้ประมาณในโภชนะว่า วันหนึ่งๆ อาหารสัก ๓ จาน ก็พอดี อยู่ได้ หรือบางคนบอกว่า อาหารสัก ๔ จาน ก็พอดี อยู่ได้ รู้แค่นี้ ก็เป็นปัญญาแล้ว ใช่ไหม

    สุ. ยัง จุดประสงค์ของการบริโภคเพื่ออะไร

    ถ. ประมาณก็หมายความว่า รู้ปริมาณ ผมคิดว่าอย่างนั้น คือ คงจะรู้ว่าวันหนึ่งๆ ปริมาณอาหารเท่าไรที่พอแก่ความต้องการของร่างกาย ถ้ารู้ปริมาณอย่างนี้ ก็ชื่อว่ารู้ประมาณในโภชนะแล้ว ใช่ไหม

    สุ. แต่บริโภคเพื่ออะไร เมื่อรู้ประมาณแล้ว

    ถ. ถ้าเป็นฆราวาส จุดประสงค์ คือ บริโภคเพื่ออิ่ม

    สุ. ขณะนั้นจะชื่อว่าปัญญาไหม ต้องการอิ่ม

    ถ. ผมก็ยังสงสัย ไม่น่าจะเป็นปัญญา

    สุ. เพราะฉะนั้น การฟัง หรือการศึกษาธรรมต้องพิจารณาต่อไป จนกระทั่งได้เหตุผลจริงๆ ว่า ขณะใดที่เป็นปัญญา ขณะใดไม่ใช่ปัญญา

    ถ. ผมสงสัยว่า แค่นี้ไม่น่าจะเป็นปัญญา แต่ในมาติกาท่านแสดงว่า องค์ธรรมได้แก่ปัญญาเจตสิก ทำให้ผมสงสัยว่า ปัญญาเกิดง่ายจริง

    สุ. ไม่ใช่เพียงที่จะรู้ว่า เพื่อที่จะให้อิ่ม แต่จะต้องรู้จุดประสงค์ของการบริโภคทุกครั้ง

    ถ. ข้อความในพระไตรปิฎกท่านก็กล่าวไว้ ไม่ได้กินเพื่อมัวเมา ไม่ได้กินเพื่อเล่น ไม่ได้กินเพื่อประเทืองผิว และให้พิจารณาว่า กินเพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์

    ส. นั่นจึงจะเป็นปัญญา

    ถ. ส่วนใหญ่ที่โต๊ะอาหาร ไม่ได้คิดอะไรทั้งนั้น แค่เพื่ออิ่ม ไม่ได้คิดว่า กินเพื่อเล่น ไม่ได้คิดว่า กินเพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ ไม่ได้คิดทั้งนั้น

    สุ. เพราะฉะนั้น พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงจึงเป็นประโยชน์เกื้อกูล แม้ในขณะที่จะบริโภคอาหาร เพื่อที่จะให้เป็นการบริโภคด้วยปัญญา หรือว่าด้วยกุศลจิต ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงเน้น ไม่ทรงโอวาท ไม่ทรงอนุสาสนี แม้ในเรื่องของการเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภค ท่านที่เคยบริโภคด้วยการหลงลืมสติ หรือว่าด้วยอกุศลจิต ก็ยังคงเป็นผู้ที่ประมาท มัวเมา และบริโภคด้วยอกุศลจิตต่อๆ ไป แต่เมื่อได้ฟังบ่อยๆ ก็จะเป็นปัจจัยให้สติเกิดขึ้นระลึกได้ แม้ในขณะที่ดำรงชีวิตประจำวัน ซึ่งจะขาดการบริโภคไม่ได้ และจะเป็นผู้ที่รู้จักประมาณในการบริโภค คือ รู้จักจุดประสงค์ที่แท้จริงของการบริโภคว่า บริโภคเพื่ออะไร

    สำหรับการขัดเกลากิเลสก็มีหลายขั้น ในขั้นของศีลซึ่งได้ทรงบัญญัติเป็น พระวินัยแล้วก็ยังไม่พอ ยังต้องทรงแสดงธรรมเพื่อการขัดเกลาเรื่อยไป ตลอด ในชีวิตประจำวัน แม้ในการบริโภค ซึ่งท่านผู้ฟังไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือฆราวาส สติสามารถที่จะเกิดระลึกได้ก่อนที่จะบริโภคว่า ท่านบริโภคเพื่ออะไร

    ท่านที่ต้องการจะบริโภคเพื่อเล่น มีเหตุปัจจัยสะสมมาที่จะเกิดความต้องการอาหารที่จะบำรุงร่างกายเพื่อเล่น ขณะนั้นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นของจริงที่สติปัฏฐานจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนได้ เพราะสภาพธรรมทุกอย่างที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่มีใครรู้ได้ว่า จะมีปัจจัยปรุงแต่งให้สภาพธรรมเกิดเป็นไปอย่างไร หรือจะเป็นไปที่จะระลึกได้ว่า ขณะนี้เราจะไม่บริโภคเพื่อเล่น หรือจะเป็นสติปัฏฐานที่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งแม้มีความต้องการที่จะบริโภคเพื่อเล่น ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    แต่การบริโภคที่จะเป็นกุศล จะต้องละคลายขัดเกลาอกุศลหลายอย่าง เช่น ไม่ใช่เพียงแต่รู้ว่าไม่ใช่บริโภคเพื่อเล่นเท่านั้น แต่จะต้องไม่บริโภคเพื่อมัวเมา ซึ่งในอรรถกถามีข้อความว่า

    คำว่า ไม่ใช่เพื่อจะมัวเมา ความว่า มิใช่บริโภคเพื่อประโยชน์จะเพิ่มพูน ความเมา คือ มานะ และความเมาว่าเราเป็นชาย

    ในข้อนั้น พระราชา และมหาอำมาตย์ เป็นต้น ชื่อว่าบริโภคเพื่อต้องการจะมัวเมา เพราะคนเหล่านั้นย่อมบริโภคโภชนาหารอันประณีต มีโภชนาหารที่มี รสกลมกล่อม เป็นต้น เพื่อต้องการจะเพิ่มพูนความเมา คือ มานะ และความเมาว่า เราเป็นชายของตน ภิกษุนี้ไม่บริโภคเหมือนอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นชายทั้งหลายจะมีความเมา หรือมีมานะในขณะที่บริโภคอาหารอันประณีต อาหารที่มีรสกลมกล่อม

    ทำไมเฉพาะสำหรับผู้ชายที่จะเกิดความมัวเมาเวลาที่บริโภค ถ้าบริโภคอย่างนั้น ที่จะเป็นการ เพิ่มพูนความเมา คือ มานะ และความเมาว่าเราเป็นชาย

    เพราะดูเหมือนว่า ไม่ว่าผู้ชายหรือผู้หญิง ก็ต้องการบริโภคอาหารที่ประณีต ที่มีรสกลมกล่อมด้วยกันทั้งนั้น แต่ทำไมจึงกล่าวเฉพาะชายว่า เมาในความเป็นชาย แม้ว่าจะไม่ใช่ผู้ที่ทำอาหารเอง แต่เป็นผู้ใหญ่ ผู้ยิ่งใหญ่ในการที่จะบริโภคอาหารที่ประณีต ซึ่งผู้ที่เป็นมารดา หรือว่าภรรยา หรือว่าน้องสาวพี่สาวก็ตาม ย่อมเป็นผู้ที่จะประกอบอาหารเหล่านั้นให้ด้วยความประณีต ด้วยรสที่กลมกล่อม เพราะต้องการที่จะให้ผู้ที่เป็นหัวหน้าครอบครัวได้มีความสุขในการที่จะได้ลิ้มรสอาหารที่ประณีต เพราะฉะนั้น เวลาที่บริโภคอาหารที่ไม่ประณีตก็อาจจะไม่พอใจ แต่เวลาที่ได้บริโภคอาหารที่ประณีตก็จะมีความเมาในความสำคัญของตน ในความเป็นหัวหน้า ในความเป็นผู้ใหญ่ ในความเป็นชายของตน ในการเป็นผู้นำของครอบครัว ซึ่งควรที่จะได้บริโภคอาหารที่ประณีต ที่กลมกล่อมอยู่เรื่อยๆ ตามความคิดความเข้าใจของตน

    เป็นอย่างนี้หรือเปล่าในชีวิตประจำวัน ต้องให้ทำอาหารที่ประณีต รสกลมกล่อมให้บริโภค และเวลาบริโภคก็บริโภคด้วยความเมา คือ มานะ

    นอกจากนั้น จะต้องบริโภคเพื่อจะไม่ประเทืองผิว ซึ่งมีข้อความว่า

    คำว่า ไม่ใช่เพื่อที่จะประเทืองผิว ความว่า มิใช่บริโภคเพื่อต้องการจะประเทืองสรีระ ในข้อนั้น หญิงแพศยา หญิงแม่บ้าน และสาวชาววัง เป็นต้น ย่อมดื่มเนยใสและน้ำอ้อยเป็นธรรมดา เพราะคนเหล่านั้นย่อมบริโภคโภชนาหารแต่น้อย อ่อนสนิท ด้วยตั้งใจอยู่ว่า ด้วยการบริโภคอย่างนี้ ทรวดทรงของเราจักดำรงอยู่ด้วยดี ผิวพรรณในสรีระจักผ่องใส ภิกษุนี้ไม่บริโภคเหมือนอย่างนั้น

    เมื่อเป็นภิกษุแล้ว จะต้องมีสติระลึกได้ที่จะขัดเกลากิเลส พ้นจากสภาพของการมีชีวิตอย่างคฤหัสถ์ ข้อนี้ก็สำหรับผู้หญิง คือ ไม่ใช่เพื่อจะประเทืองผิว

    ข้อความต่อไป คือ ไม่บริโภคเพื่อจะให้อ้วนพี ข้อความในอรรถกถามีว่า

    ไม่ใช่เพื่อจะให้อ้วนพี ความว่า มิใช่บริโภคเพื่อต้องการจะให้มังสะ คือ เนื้อในสรีระอ้วนพี

    ในข้อนั้น พวกทาสที่เป็นนักมวยปล้ำ และมวยหมัด เป็นต้น ย่อมยังมังสะในสรีระให้พ่วงพีด้วยโภชนาหาร มีปลาและเนื้อ เป็นต้น อันสนิทดี ด้วยหมายใจว่า ด้วยการบริโภคอย่างนี้ มังสะของเราจักล่ำสัน เพื่อประโยชน์แก่การที่จะทนการต่อยตีได้ ดังนี้ ส่วนภิกษุนี้ไม่บริโภคเหมือนอย่างนั้น

    ต้องคิดหลายอย่างจริงๆ คือ ไม่ใช่เพื่ออย่างนั้น และไม่ใช่เพื่ออย่างนี้ หรือ แม้มิใช่เพื่อจะให้อ้วนพี ต้องการแข็งแรงที่จะต่อสู้ ที่จะเป็นผู้ชนะ หรือว่าเป็นผู้ที่สามารถจะทนต่อการต่อยตีได้ แต่การที่จะเป็นกุศลในการที่จะบริโภคด้วยปัญญาที่ระลึกได้นั้น ต้องเพียงเพื่อให้กายนี้ดำรงอยู่ได้ ไม่ใช่เพื่อเหตุอื่น หรือเพื่อให้ชีวิตินทรีย์เป็นไป หรือเพื่อบำบัดความหิว เพราะความหิวที่เกิดขึ้นเนื่องจากไม่ได้บริโภคอาหารเป็นปัจจัยนั้น ชื่อว่าวิหิงสา ความเบียดเบียน เพราะฉะนั้น ไม่ควรที่จะต้องทรมานกายด้วยความหิว เพราะไม่เป็นประโยชน์อะไรเลย ซึ่งเวลาที่ความหิวเกิดขึ้น ก็เป็นการเบียดเบียนร่างกาย

    นอกจากนั้นจะต้องระลึกได้ว่า เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ คือ ไตรสิกขา ซึ่งพระศาสนาทั้งสิ้น ทั้งศีล ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา หรือในการอบรมเจริญสติปัฏฐานนั้น ชื่อว่าพรหมจรรย์ เพราะฉะนั้น การบริโภคนี้ เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ เพื่อให้มีชีวิตอยู่ด้วยดีในการที่จะอบรมเจริญปัญญาให้เกิดขึ้น

    นอกจากนั้น มีการพิจารณาว่า บริโภคเพื่อจะกำจัดเวทนาเก่าด้วย สำหรับเวทนานั้นมี ๒ ตอน คือ ก่อนที่จะบริโภค ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นชื่อว่าเวทนาเก่า และเมื่อบริโภคแล้ว มีความทุกข์เกิดขึ้นด้วย ทุกข์นั้นชื่อว่าเวทนาใหม่ เพราะฉะนั้น ควรจะบริโภคด้วยสติที่ระลึกได้ว่า จะกำจัดเวทนาเก่าเสีย และจะไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้นด้วย

    เวลาที่บริโภคแล้ว ไม่ใช่ว่าจะสบายเสมอไป อาจจะมีทุกขเวทนาเกิดหลังจากที่บริโภคแล้วได้ ซึ่งเวลาที่บริโภคมากเกินไปทำให้เกิดทุกขเวทนาขึ้นนั้น ชื่อว่าเวทนาใหม่

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีสติระลึกได้ ระลึกได้ว่า จักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้นด้วย จึงบริโภคไม่มากเกินไป

    และจะเป็นผู้ที่บริโภคเพื่อการดำรงอยู่แห่งชีวิตด้วยความไม่มีโทษ เพราะถ้าเป็นการแสวงหาที่ไม่ชอบธรรม การบริโภคที่ได้มาโดยวิธีที่ไม่ชอบธรรม ชื่อว่ามีโทษ แต่สำหรับการบริโภคที่ไม่มีโทษ โดยชอบธรรม สำหรับผู้ที่เป็นภิกษุซึ่งเป็นผู้รับ มีข้อความว่า

    การแสวงหาโดยธรรมนั้น ต้องเป็นในขณะที่เมื่อรับไว้ พิจารณาโดยชอบธรรม แล้วบริโภคตามสมควร นั่นจึงชื่อว่าสิ่งที่ไม่มีโทษ

    เพราะว่าชีวิตของบรรพชิตในการแสวงหาอาหารที่จะบริโภค ไม่เหมือนกับชีวิตของคฤหัสถ์ ชีวิตของบรรพชิตในขณะที่แสวงหาด้วยการบิณฑบาต ไม่ใช่เป็นการกระทำที่เป็นโทษ เพราะฉะนั้น การมีโทษในการบริโภคนั้น ต้องขณะที่เมื่อเป็นผู้รับไว้ไม่พิจารณาแล้วบริโภคจึงมีโทษ แต่ถ้ารับไว้พิจารณาโดยชอบธรรมแล้วบริโภคตามควร ชื่อว่าไม่มีโทษ

    โทษของการบริโภคอาหาร ข้อความในอรรถกถามีว่า

    บุคคลบางคนกระทำในสิ่งที่ไม่มีโทษเลย ให้เป็นสิ่งที่มีโทษ

    สำหรับพระภิกษุ เพราะท่านเป็นผู้ที่แสวงหาอาหารโดยชอบธรรม คือ โดยบิณฑบาต แต่แม้กระนั้น บุคคลบางคนกระทำในสิ่งที่ไม่มีโทษเลย ให้เป็นสิ่งที่มีโทษเกิดขึ้น

    เพราะทำไปด้วยเข้าใจว่า เราได้มาเอง แล้วก็บริโภคเกินประมาณ เมื่อไม่สามารถจะให้อาหารนั้นย่อยได้ ย่อมลำบากด้วย อาเจียนออกมา และท้องถ่าย เป็นต้น ภิกษุทั่ววัดต้องช่วยขวนขวายในการปฏิบัติร่างกาย และหายา เป็นต้น และเมื่อถูกถามว่า นี่อะไรกัน ก็พากันกล่าวคำว่า ท้องของท่านองค์โน้นน่ะซิ ดังนี้ เป็นต้น ต่างก็พากันตำหนิติเตียนว่า ท่านองค์นี้มีปกติอย่างนี้แล แม้ตลอดกาลเป็นนิตย์ ช่างไม่รู้จักประมาณท้องของตนเลย บุคคลเช่นนี้ชื่อว่ากระทำในสิ่งที่ไม่มีโทษเลย ให้เป็นสิ่งที่มีโทษ

    เวลาที่ท่านมีอาหารรสดี ได้มาโดยชอบธรรม อย่าทำให้เป็นสิ่งที่มีโทษเกิดขึ้น โดยการบริโภคเกินประมาณ ถ้ากระทำโดยการที่ไม่มีโทษ คือ บริโภคพอประมาณ ย่อมเป็นการอยู่โดยผาสุก

    ข้อความในอรรถกถาต่อไปกล่าวถึง การบริโภคของพราหมณ์ ๕ คน

    คือ พราหมณ์ชื่ออาหารหัตถกะ ๑ พราหมณ์ชื่ออลังสาฏกะ ๑ พราหมณ์ชื่อตัตถวัฏฏกะ ๑ พราหมณ์ชื่อกากมาสกะ ๑ พราหมณ์ชื่อภุตตวมิตกะ ๑ ไม่ชื่อว่าเป็นการอยู่โดยผาสุก เพราะพราหมณ์ทั้ง ๕ นี้ เป็นพราหมณ์ที่กินมาก ไม่สามารถที่จะลุกขึ้นได้ตามธรรมดาของตน พูดว่าช่วยฉุดมือที ดังนี้ ชื่อว่าอาหารหัตถกะ

    ใครก็ตามที่บริโภคจนลุกขึ้นไม่ไหว มีไหม ถ้ามีก็จะเหมือนพราหมณ์ที่ชื่อว่า อาหารหัตถกะ

    ส่วนพราหมณ์อีกคนหนึ่ง พราหมณ์คนที่แม้ลุกได้ ก็ไม่สามารถจะนุ่งผ้าสาฎกได้ ชื่อว่าอลังสาฏกะ

    พราหมณ์คนที่ไม่สามารถจะลุกได้ กลิ้งเกลือกอยู่ตรงนั้นเอง ชื่อว่าตัตถวัฏฏกะ

    พราหมณ์คนที่บริโภคล้นถึงทวารปาก จนฝูงกาจะอาจจับจิกได้ ชื่อว่า กากมาสกะ

    พราหมณ์คนที่ไม่สามารถจะใช้ปากกั้นไว้ได้ อาเจียนอยู่ตรงนั้นเอง ชื่อว่า พุตตวมิตกะ

    มีไหมอย่างนี้ คงจะหายาก เป็นผู้ที่ไม่รู้จักประมาณจนถึงอย่างนี้

    แต่การบริโภคอย่างไร จึงจะชื่อว่าพอดี มีข้อความในอรรถกถาว่า

    ภิกษุไม่กระทำเหมือนอย่างนั้น ย่อมบริโภคด้วยตั้งใจว่า และการอยู่โดยผาสุกจะมีแก่เรา ดังนี้ ข้อที่ท้องยังพร่องอยู่จากคำข้าว ๔ – ๕ คำ ชื่อว่าการอยู่โดยผาสุก ก็เมื่อภิกษุบริโภคเพียงเท่านี้แล้วดื่มน้ำ อิริยาบถย่อมเป็นไปโดยสะดวก เพราะฉะนั้น พระธรรมเสนาบดี คือ ท่านพระสารีบุตร จึงกล่าวอย่างนี้ว่า ยัง ๔ – ๕ คำ ก็งดฉัน แล้วดื่มน้ำ เท่านี้พอแล้ว สำหรับภิกษุผู้บำเพ็ญเพียร

    และสำหรับทุกท่านด้วย ซึ่งจะเป็นผู้ที่อยู่โดยผาสุก เพราะเป็นผู้ที่รู้จักประมาณในการบริโภค เป็นประโยชน์เกื้อกูลสำหรับในการบริโภคมื้อต่อไป ถ้าไม่ลืม ระลึกได้ว่า เพียง ๔ – ๕ คำที่จะอิ่ม ก็ควรที่จะงด และดื่มน้ำ

    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องการรู้จักประมาณในโภชนะแม้แก่ภิกษุผู้อาพาธ ซึ่งในการแสดงพระธรรมที่ทรงเกื้อกูลแก่พระภิกษุทั้งหลาย บางครั้งไม่ได้ทรงแสดงถึงอารมณ์ของสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนาทั้งหมด แต่ว่าทรงแสดงบางประเภท และบางอารมณ์ ตามโอกาส ตามความเหมาะสมแก่อัธยาศัย และตามควรแก่เหตุการณ์



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๘๙ ตอนที่ ๘๘๑ – ๘๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 81
    28 ธ.ค. 2564