แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 889


    ครั้งที่ ๘๘๙


    ข้อความต่อไปมีว่า

    อนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ไว้ว่า

    ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นปฏิจจสมุปบาท ดังนี้

    ไม่ใช่ไปเห็นที่อื่น หรือว่าไม่ใช่ไปทำอย่างอื่น แต่ขณะใดที่มีการเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นปฏิจจสมุปบาท เพราะเป็นธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นเป็นไป

    ก็อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ใด อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ชื่อว่าปฏิจจสมุปปันนธรรมแล

    ความพอใจ ความอาลัย ความยินดี ความชื่นชอบในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้อันใด อันนั้นชื่อว่าทุกขสมุทัย

    ทุกขสมุทัย ยินดีพอใจทุกขณะที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น ที่ลิ้มรส ที่กระทบสัมผัส ที่คิดนึก

    การกำจัดความกำหนัดด้วยสามารถความพอใจ การละความกำหนัดด้วยสามารถความพอใจในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้อันใด อันนั้นชื่อว่าทุกขนิโรธแล

    ยังไม่ถึง แต่ว่ามีสภาพธรรมที่ดับความพอใจในอุปาทานขันธ์ ๕ ได้

    ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านี้แล คำสอนของ พระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมเป็นปาพจน์อันภิกษุทำให้มากแล้ว

    ต้องอบรม ต้องเจริญจริงๆ จึงจะสามารถรู้ชัดตามความเป็นจริงของพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง และย่อมรู้ด้วยว่า ท่านเป็นผู้ที่ได้กระทำให้มากแล้วในคำสอนของพระผู้มีพระภาค

    สำหรับทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ท่านพระสารีบุตรก็แสดงโดยนัยเดียวกัน

    ข้อความตอนท้ายของพระสูตรนี้ มีว่า

    ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวธรรมปริยายนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรแล้วแล

    จบ มหาหัตถิปโทปมสูตรที่ ๘

    ท่านผู้ฟังชื่นชมยินดีไหม ถ้าสติระลึกรู้ ก็ยิ่งเห็นชัดตามความเป็นจริงว่า พระธรรมที่ทรงแสดงเป็นความจริงทุกประการ

    ถ. ขอให้อธิบายซ้ำถึงปฏิจจสมุปบาท ตอนที่เกิดตัณหา หมายถึงการที่มีสติระลึกรู้ในสภาวะของตัณหาที่กำลังเกิด

    สุ. เวลานี้มีไหม ทุกอย่างที่มี สติสามารถที่จะระลึกได้

    ถ. จะชื่นชมยินดีได้ ก็ต้องฟังและเข้าใจด้วย ถ้ายังฟังไม่เข้าใจ สติไม่สามารถจะรู้ได้ ก็ชื่นชมยินดีไม่เต็มที่

    สุ. บางท่านพิจารณาแล้วเข้าใจ ชื่นชมยินดีเท่าที่พิจารณาและเข้าใจ แต่ถ้าสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ ก็ยิ่งจะชื่นชมยินดียิ่งขึ้น

    ถ. ขณะที่มีเสียงเกิดขึ้น มีความยินดีในเสียงนั้น และสติก็ระลึกรู้สภาพของความยินดี อย่างนี้ใช่ไหม

    สุ. ระลึกรู้ลักษณะของสังขารขันธ์ซึ่งไม่เที่ยง อาศัยเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น จะต้องเป็นขันธ์ใดขันธ์หนึ่งเสมอใน ๕ ขันธ์

    ถ. ความยินดีในกลิ่น ก็อย่างเดียวกัน

    สุ. แล้วแต่สติจะระลึกรู้ลักษณะของขันธ์ ว่าจะเป็นลักษณะของโลภะ หรือว่าลักษณะของโทสะ หรือว่าลักษณะของเจตนา หรือว่าลักษณะของวิริยะ หรือว่าลักษณะของสภาพธรรมใดๆ ที่กำลังปรากฏ สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพนั้น

    ถ. กำลังปรากฏ

    สุ. เดี๋ยวนี้ อย่าลืม ทุกครั้งที่จะเป็นสติปัฏฐาน ต้องเดี๋ยวนี้ที่สภาพธรรมกำลังปรากฏ ทางตากำลังเห็น รู้อะไรบ้าง รู้รูป หรือรู้เวทนา หรือรู้สัญญา หรือ รู้สังขาร หรือรู้วิญญาณ

    สำหรับเรื่องของการอบรมเจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา บางครั้ง พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมโดยย่อตามควรแก่เหตุการณ์และอัธยาศัย และบางครั้งก็ทรงแสดงโดยละเอียด โดยกว้างขวาง เช่น ข้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมกับท่านพระราหุล ใน ขุททกนิกาย ราหุลสูตรที่ ๑๑ ข้อ ๓๒๘ ซึ่งทรงแสดงธรรมให้ท่านพระราหุลระลึกรู้ชีวิตประจำวัน

    พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า

    เธอย่อมไม่ดูหมิ่นบัณฑิต เพราะการอยู่ร่วมกันเนืองๆ แลหรือ การทรงคบเพลิงเพื่อมนุษย์ทั้งหลาย เธอนอบน้อมแล้วแลหรือ ฯ

    เป็นธรรมหรือเปล่า เหมือนการสนทนาธรรมดา แต่ทั้งหมดเป็นพระธรรมที่เกื้อกูล ดูเหมือนว่าไม่ได้ตรัสให้ท่านพระราหุลเจริญสติปัฏฐานเลย แต่ไม่มีที่พระผู้มีพระภาคจะไม่ทรงโอวาท หรืออนุสาสนีให้พระภิกษุทั้งหลายเจริญสติปัฏฐาน แม้ว่าท่านพระภิกษุทั้งหลายเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานแล้วก็ตาม ก็ยังจะต้องอาศัยพระธรรมที่จะเกื้อกูล ขัดเกลา ให้ท่านพระภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นระลึกได้ เช่นข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสถามท่านพระราหุลว่า เธอย่อมไม่ดูหมิ่นบัณฑิต เพราะการอยู่ร่วมกันเนืองๆ แลหรือ

    เป็นประโยชน์สำหรับท่านผู้ฟังบ้างไหม เคยดูหมิ่นใครบ้างไหม หรือไม่เคยเลย หรือบ่อยๆ โดยที่ไม่รู้ตัวว่าได้ดูหมิ่นไปแล้วด้วยกาย หรือด้วยวาจา ซึ่งเป็นอกุศลที่จะต้องละ จะต้องขัดเกลาให้เบาบาง ซึ่งถ้าสติไม่เกิดขึ้น ไม่ระลึก จะไม่รู้เลยว่า สภาพที่กำลังดูหมิ่นบุคคลอื่นนั้นเป็นอกุศล เป็นสภาพที่เป็นมานะ เป็นความถือตัว ยกตนและข่มผู้อื่น

    ชีวิตของท่านพระราหุลเป็นบรรพชิต ท่านก็อยู่ในวงล้อมของพระภิกษุทั้งหลายซึ่งเป็นบัณฑิต แต่แม้กระนั้นถ้ายังไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ก็ย่อมมีปัจจัยให้อกุศลจิตเกิดขึ้นทางกาย ทางวาจา ทางใจ มากบ้าง น้อยบ้าง ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แม้แต่สภาพของจิตใจที่ยกตนและข่มผู้อื่น ซึ่งเป็นการดูหมิ่น ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นอกุศลธรรมที่ควรที่จะขัดเกลา เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสเตือนท่านพระราหุลว่า เธอย่อมไม่ดูหมิ่นบัณฑิต เพราะการอยู่ร่วมกันเนืองๆ แลหรือ

    ถ้าเห็นกันนิดหน่อย ก็เคารพนอบน้อมกันดี แต่พอคุ้นเคยกันนานๆ เข้า เห็นอกุศลมากขึ้น ก็อาจจะเกิดความคิดดูหมิ่นได้ แม้แต่ผู้ที่เป็นภิกษุ

    พระราหุลกราบทูลว่า

    ข้าพระองค์ย่อมไม่ดูหมิ่นบัณฑิต เพราะการอยู่ร่วมกันเนืองๆ การทรงคบเพลิงเพื่อมนุษย์ทั้งหลาย ข้าพระองค์นอบน้อมแล้วเป็นนิตย์ ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    เธอละกามคุณ ๕ มีรูปเป็นที่รัก เป็นที่รื่นรมย์ใจ ออกบวชด้วยศรัทธาแล้ว จงกระทำที่สุดทุกข์เถิด เธอจงคบกัลยาณมิตร จงเสพที่นอนที่นั่งอันสงัดเงียบ ปราศจากเสียงกึกก้อง จงรู้จักประมาณในโภชนะ เธออย่าได้กระทำความอยากในวัตถุเป็นที่เกิดตัณหาเหล่านี้ คือ จีวร บิณฑบาต ที่นอน ที่นั่ง และปัจจัย เธออย่ากลับมาสู่โลกนี้อีก จงเป็นผู้สำรวมในปาติโมกข์และในอินทรีย์ ๕ จงมีสติไปแล้วในกาย จงเป็นผู้มากไปด้วยความเบื่อหน่าย จงเว้นสุภนิมิต อันก่อให้เกิดความกำหนัด จงอบรมจิตให้มีอารมณ์เป็นหนึ่ง ให้ตั้งมั่นดีแล้วในอสุภภาวนา จงอบรมวิปัสสนา จงละมานานุสัย แต่นั้นเธอจักเป็นผู้สงบ เพราะการละมานะเที่ยวไป ฯ

    ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคตรัสสอนท่านพระราหุลด้วยพระคาถาเหล่านี้เนืองๆ ด้วยประการฉะนี้แล ฯ

    จบ ราหุลสูตรที่ ๑๑

    พระสูตรบางครั้งก็สั้น ซึ่งทรงอนุเคราะห์ท่านพระราหุลด้วยการที่จะให้เป็นผู้ที่ละมานะโดยการที่อบรมวิปัสสนา และละความพอใจในรูปโดยการที่เว้นสุภนิมิต อันก่อให้เกิดความกำหนัด

    เธอจงคบกัลยาณมิตร

    นี่เป็นข้อแรกที่พระผู้มีพระภาคตรัสในพระสูตรนี้

    จงเสพที่นอนที่นั่งอันสงัดเงียบ ปราศจากเสียงกึกก้อง

    นี่คือความต่างกันของเพศคฤหัสถ์กับเพศบรรพชิต ซึ่งเพศคฤหัสถ์ก็สามารถที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกทาคามี เป็นพระอนาคามี และเป็น พระอรหันต์ได้ แต่เมื่อเป็นพระอรหันต์แล้ว จะไม่อยู่ครองเรือน เพราะว่าไม่มีอัธยาศัยที่จะแวดล้อมไปด้วยผู้ที่ยังหนาแน่นด้วยกิเลส เพราะฉะนั้น ท่านเหล่านั้นก็เสพที่นอน ที่นั่งอันสงัดเงียบตามวิสัยของบรรพชิต

    จงรู้จักประมาณในโภชนะ อย่าได้กระทำความอยากในวัตถุเป็นที่เกิดตัณหาเหล่านี้ คือ จีวร บิณฑบาต ที่นอน ที่นั่ง และปัจจัย

    แม้ว่าเป็นบรรพชิต ก็ยังมีความต้องการในจีวร ในบิณฑบาต ในที่นอน ที่นั่ง และในปัจจัย ก็ย่อมจะมีความพอใจ มีความต้องการ มีความอยากได้ต่อๆ ไปถึงวัตถุอื่นๆ เพิ่มขึ้น เพราะโลภะจะไม่มีวันหยุด หรือว่าไม่มีวันเต็ม เพราะฉะนั้น เมื่อมีความพอใจในจีวร บิณฑบาต ที่นอน ที่นั่ง และปัจจัยอื่นๆ แล้ว ความพอใจนั้นจะเจริญเติบโตก้าวไปสู่ความต้องการในวัตถุอื่นๆ ด้วย ซึ่งไม่ใช่การมุ่งหมายที่จะขัดเกลากิเลสในเพศของบรรพชิต

    ถ. ตัณหา เวลาที่จะเกิด เกิดจากผัสสะใช่ไหม

    สุ. ใช่

    ถ. มีบางคนกล่าวว่า การอยู่เฉยๆ ไม่มีกิเลส ถูกไหม การอยู่เฉยๆ ที่ไม่มีผัสสะ เป็นไปได้ไหม

    สุ. ไม่มีผัสสะ ก็ไม่มีอะไรปรากฏ ไม่มีอะไรเกิดขึ้นได้

    ถ. อย่างปุถุชนที่ไม่มีสติ ผัสสะอย่างนั้นต่างกับผัสสะที่มีสติอย่างไร

    สุ. ต่างกัน เพราะเวลาที่หลงลืมสติ สติเจตสิกไม่ได้เกิดร่วมในขณะที่ผัสสะกระทบอารมณ์

    ถ. ถ้าไม่มีผัสสะ ตัณหาก็ไม่เกิด ใช่ไหม

    สุ. ถ้าไม่มีผัสสะเกิด จะไม่มีอะไรเกิดเลย

    ถ. ตามธรรมดา ผัสสะเกิดไหม

    สุ. กำลังเกิดอยู่ทุกขณะ ไม่ว่างเว้นเลย เกิดและดับไปๆ อยู่เรื่อยๆ

    ถ. เพราะความไม่รู้ใช่ไหมจึงเกิด

    สุ. แล้วแต่ว่าจะเป็นผัสสะที่เกิดกับอกุศลจิตหรือกุศลจิต หรือกิริยาจิต หรือโลกุตตรจิต

    ถ. วิธีเข้าไปดับผัสสะ ทำอย่างไร

    สุ. ไม่มีตัวตนเข้าไปดับ แต่ปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงจนบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ เวลาที่จุติจิตของพระอรหันต์ดับไปแล้ว ไม่มีปัจจัยให้ผัสสะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น สภาพธรรมใดๆ ที่เป็นนามธรรมก็ไม่เกิด หลังจากที่พระอรหันต์จุติแล้ว

    ถ. เพราะฉะนั้น กิเลสทั้งหลายไม่ใช่ปัจจัยให้เกิดผัสสะ

    สุ. เวลาที่จะศึกษาสภาพธรรมต้องศึกษาโดยประเภท และโดยขณะจิต เพราะไม่ใช่มีแต่ผัสสะที่เป็นอกุศลเท่านั้น ผัสสะที่เป็นกุศลก็มี และไม่ใช่มีแต่ผัสสะที่เป็นกุศลและอกุศลเท่านั้น ผัสสะที่เป็นกิริยาก็มี ผัสสะที่เป็นวิบากก็มี

    ถ. บุคคลที่ยังไม่ได้บรรลุอรหันต์ ผัสสะที่เป็นกิริยามีไหม

    สุ. มี ๒ ขณะ คือ เวลาที่ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิด กับเวลาที่มโนทวาราวัชชนจิตเกิด

    ถ. เป็นอย่างไร

    สุ. เป็นกิริยาอเหตุกผัสสะ

    ถ. ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ใช่ไหม

    สุ. ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดก่อนจักขุวิญญาณ คือ เกิดก่อนการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส

    ถ. เมื่อตัณหาเกิดจากเวทนาแล้ว ก็ดับไปใช่ไหม

    สุ. ทุกอย่างที่เป็นสังขารธรรมดับ สังขารธรรมที่เกิดแล้วไม่ดับไม่มีเลย

    ถ. การดับโดยสภาวะ กับการมีปัญญาพิจารณาดับ ต่างกันอย่างไร

    สุ. ปัญญารู้สภาพที่เป็นสามัญลักษณะของสังขารธรรม คือ สภาพที่ เกิดดับ แม้ปัญญาที่รู้ก็ดับ เพราะปัญญาก็เป็นสังขารธรรม จึงไม่ใช่ตัวตน เป็นอนัตตาทั้งหมด

    ถ. คนที่บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยบุคคลแล้ว สามารถดับกิเลสตามขั้นได้แล้ว ปัญญาที่รู้แล้วนั้น สามารถรู้อีกได้ไหม

    สุ. ปัญญารู้ทุกอย่างตามขั้นของปัญญา ปัญญาไม่ใช่อวิชชา

    ถ. และที่ดับ ปัญญาดับไปด้วย ใช่ไหม

    สุ. ปัญญาเป็นสังขารธรรม ปัญญาเกิดขึ้นแล้วต้องดับไป

    ถ. ปัญญาเป็นกุศลหรืออกุศล

    สุ. ปัญญาที่เป็นอกุศลไม่มีเลย โดยชาติ มีปัญญาที่เป็นกุศล หรือเป็นวิบาก หรือเป็นกิริยา โดยภูมิ เป็นกามาวจร หรือรูปาวจร หรืออรูปาวจร หรือ โลกุตตระ ธรรมเป็นเรื่องละเอียด อย่าใช้คำถามกว้างๆ ที่จะครอบคลุมไปทั้งหมด ไม่ได้ ต้องเจาะจงแต่ละลักษณะ แต่ละขณะ แต่ละทวาร

    พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระราหุลว่า จงรู้จักประมาณในโภชนะ ซึ่งผู้ที่บวชเป็นภิกษุสามเณร เป็นผู้ที่บริโภคอาหารเพียงภายในก่อนเที่ยง ก็ควรจะเป็นผู้ที่รู้จักประมาณในโภชนะมากกว่าฆราวาสที่บริโภคทั้งวันตามความต้องการอยู่แล้ว แต่ถึงแม้ว่าจะได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ หรือว่าบรรพชาเป็นสามเณรแล้วก็ตาม พระผู้มีพระภาคก็ยังตรัสกับภิกษุสามเณรทั้งหลายว่า จงรู้จักประมาณในโภชนะ ซึ่งควรจะรวมทั้งฆราวาส ผู้ที่ใคร่จะขัดเกลากิเลสให้ละคลายลงเท่าที่สามารถจะกระทำได้

    ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า เรื่องของกิเลสเป็นเรื่องที่มากมายตลอดเวลา ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และสำหรับทางลิ้นซึ่งเป็นการลิ้มรส ไม่ว่าจะในวัยไหนทั้งสิ้น ก็ยังเป็นผู้ที่มีความติดหรือความพอใจในรส จนบางท่านไม่รู้จักประมาณในการบริโภค ด้วยเหตุนี้ถึงแม้ว่าจะมีศรัทธา บรรพชาอุปสมบทเป็นเพศบรรพชิตแล้วก็ตาม พระผู้มีพระภาคก็ยังตรัสให้เป็นผู้ที่รู้จักประมาณในโภชนะ ซึ่งควรที่จะได้ทราบว่า การรู้จักประมาณในโภชนะนั้นขณะไหน เพื่อที่ท่านผู้ฟังเองแต่ละครั้งที่บริโภคอาหารจะระลึกได้ว่า ในขณะที่บริโภคมื้อนั้นเป็นผู้ที่รู้จักประมาณในโภชนะ คือ ในการบริโภค หรือยัง

    ข้อความใน อัฏฐสาลินี อรรถกถาพระธัมมสังคณีปกรณ์ สุตตันติกทุกนิกเขปกถา ข้อ ๑๓๕๕ วินิจฉัยในนิทเทสแห่งความเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ คือ

    คำว่า พิจารณาโดยแยบคายบริโภคอาหาร คือ รู้ด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา แล้วจึงบริโภคอาหารด้วยอุบาย คือ ด้วยความฉลาด

    บางท่านกำลังจะบริโภค หลงลืมสติ ขาดการพิจารณา หรือบางท่านบริโภคตั้งแต่เด็กจนกระทั่งถึงบัดนี้ อาจจะยังไม่ได้บริโภคด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา แล้วจึงบริโภคอาหารด้วยอุบาย ซึ่งผู้ที่จะมีปัญญาระลึกได้ และพิจารณาในการบริโภคอาหารนั้น ข้อความในอรรถกถามีว่า

    บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงอุบายนั้น จึงตรัสว่า ไม่ใช่เพื่อจะเล่น ดังนี้ เป็นต้น

    สำหรับการบริโภคซึ่งไม่ใช่เพื่อที่จะเล่น มีคำอธิบายว่า

    ในพระพุทธวจนะนั้น คำว่า ไม่ใช่เพื่อจะเล่น ความว่า มิใช่บริโภคเพื่อต้องการจะเล่น

    บางท่านอาจจะคิดว่า ท่านไม่บริโภคเพื่อจะเล่น แต่บางท่านบริโภคเพื่อต้องการจะเล่น เพราะข้อความอธิบายว่า

    ผู้ที่จะเล่นก็คือ นักเต้น นักรำ และนักกระโดดสูง เป็นต้น ชื่อว่าย่อมบริโภคเพื่อต้องการจะเล่น

    การบริโภคอาหารเป็นเรื่องสำคัญสำหรับบุคคลเหล่านั้น เพราะจะต้องมีร่างกายที่สามารถที่จะเต้น จะรำ หรือว่าจะกระโดดสูง เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ของการบริโภคของบุคคลเหล่านั้นจึงบริโภคเพื่อต้องการจะเล่น นักกีฬาก็เหมือนกัน บริโภคเพื่อต้องการจะเล่น

    ข้อความต่อไปมีว่า

    เพราะเมื่อบริโภคโภชนาหารใด การเล่น กล่าวคือ การฟ้อน การขับร้อง การเล่นกาพย์ และการเล่นโศลก ย่อมถนัดจัดเจนอย่างยิ่ง

    แม้แต่ในการใช้เสียง ก็ต้องมีอาหารพิเศษที่จะบำรุง หรือว่ามีจุดประสงค์ในการบริโภคอาหารนั้นเพื่อจะเล่นสิ่งเหล่านั้น เพราะย่อมทำให้ ถนัดจัดเจนอย่างยิ่ง

    เพราะฉะนั้น

    คนเหล่านั้นย่อมแสวงหาโภชนาหารนั้นโดยไม่เป็นธรรม โดยไม่สม่ำเสมอ แล้วบริโภค ก็ภิกษุนี้ ย่อมไม่บริโภคเหมือนอย่างนั้น

    แสดงว่าชีวิตของบรรพชิตกับชีวิตของคฤหัสถ์นั้นต่างกันมาก เพราะชีวิตของบรรพชิตจะขาดการพยายามที่จะขัดเกลาอกุศลไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นในการบริโภค ก็ตาม จะต้องไม่ลืมว่า แม้ในขณะที่บริโภคนั้น ไม่ใช่เพื่อจะเล่น



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๘๙ ตอนที่ ๘๘๑ – ๘๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 81
    28 ธ.ค. 2564