แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 863


    ครั้งที่ ๘๖๓


    เมื่อไม่ว่าจะเป็นการฟังเรื่องอะไร สติก็สามารถที่จะเกิดระลึกรู้สภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งเป็นสภาพรู้เสียง และเป็นสภาพรู้เรื่องซึ่งเป็นนามธรรม หรือว่าเป็นเสียงที่ปรากฏกับสภาพที่รู้เสียง หรือว่าในขณะที่กำลังคิดนึกถึงเรื่องที่ได้ยินได้ฟัง สติก็ยังเกิดขึ้นระลึกรู้ว่า แม้ขณะนั้นก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ว่าจะฟังเรื่องอะไร สติก็ยังเกิดระลึกรู้ได้ เพราะฉะนั้น การฟังเรื่องส่วนต่างๆ ของกายของทุกคนที่มีจริงๆ ซึ่งเป็นปฏิกูล ก็ย่อมเป็นเหตุหนึ่งที่จะเป็นปัจจัยปรุงแต่งให้มีการน้อมระลึกถึงส่วนต่างๆ ของกายโดยนัยของสมถภาวนาซึ่งจิตสงบ และโดยนัยของสติปัฏฐานซึ่งสามารถมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น จนกระทั่งบุคคลนั้นสามารถที่จะบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ก็ได้

    นี่คือประโยชน์ของการฟัง โดยเฉพาะเรื่องของสภาพธรรมที่ประชุมรวมกันที่เป็นกาย และอีกประการหนึ่ง การที่กายคตาสติเป็นบรรพหนึ่งในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน โดยเป็นปฏิกูลมนสิการนั้น ก็เพราะว่ากายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นบรรพที่แสดงอาการต่างๆ ของมหาภูตรูปที่เป็นธาตุ ๔ โดยสังเขป และโดยละเอียด โดยประการ ต่างๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่า การระลึกถึงส่วนต่างๆ ของกาย ไม่พ้นจากอาการของธาตุ ทั้ง ๔ เพราะฉะนั้น ก็เป็นอาการซึ่งปฏิกูลของธาตุดินและธาตุน้ำ

    โกฏฐาสต่อไป หรือส่วน อาการต่อไปของกาย อาการที่ ๘ คือ อัฏฐิ กระดูกทั้งหลาย มีข้อความว่า

    คำว่า อฏฺฐี ได้แก่ เว้นกระดูกฟัน ๓๒ ซี่ ที่เหลือเป็นกระดูกมีประมาณ ๓๐๐ ท่อน อย่างนี้คือ กระดูกมือ ๖๔ กระดูกเท้า ๖๔ กระดูกอ่อนติดเนื้อ ๖๔ กระดูกส้นเท้า ๒ กระดูกข้อเท้า ๒ กระดูกแข้ง ๒ กระดูกเข่า ๒ กระดูกขาอ่อน ๒ กระดูกสะเอว ๒ กระดูกสันหลัง ๑๘ กระดูกซี่โครง ๒๔ กระดูกอก ๑๔ กระดูกใกล้หทัย (หัวใจ) ๑ กระดูกไหปลาร้า (หรือที่เรียกว่า รากขวัญ) ๒ กระดูกสะบัก ๒ กระดูกแขน ๒ กระดูกแขนท่อนปลายข้างละ ๒ รวมเป็น ๔ กระดูกข้อมือ กระดูกหลังมือ กระดูกนิ้วมือ กระดูกคอ ๗ กระดูกขากรรไกร ๒ (คือ ขากรรไกรบนและขากรรไกรล่าง) กระดูกจมูก ๑ กระดูกตา ๒ กระดูกหู ๒ กระดูกหน้าผาก ๑ กระดูกกระหม่อม ๑ กระดูก (กะโหลก) ศีรษะ ๙

    ทั้งหมดนี้เป็นชิ้นส่วนต่างๆ เวลาที่เกิดอุบัติเหตุ หรือว่าแตกทำลายไป ย่อมเห็นความเปราะ ความแตก ความทำลายของสรีระร่างกาย ซึ่งเป็นไปอย่างง่ายเหลือเกิน แต่ตราบใดที่ยังประชุมควบคุมรวมกันอยู่และไม่ได้พิจารณา ก็ดูเหมือนว่า ร่างกายนี้คงทน มั่นคง แข็งแรง เป็นไปได้อีกนาน แต่สิ่งที่มองเห็นว่า เป็นไปได้อีกนานนี้ ก็เป็นแต่เพียงสิ่งที่เป็นชิ้นส่วนต่างๆ ควบคุมกันไว้ คงอยู่เพียงชั่วที่ยังไม่กระจัดกระจายออกจากกัน

    สำหรับสีของกระดูกทั้งหมดเหล่านี้มีสีขาว โดยสัณฐาน มีสัณฐานต่างๆ กัน จริงอยู่ บรรดากระดูกเหล่านั้น กระดูกปลายนิ้วเท้ามีสัณฐานเหมือนเมล็ดบัว กระดูกท่อนกลางถัดจากนั้นมามีสัณฐานเหมือนเมล็ดขนุน กระดูกท่อนโคนมีสัณฐานเหมือนบัณเฑาะว์ กระดูกหลังเท้ามีสัณฐานเหมือนกองหัวคล้าอันเขาทุบแล้ว กระดูกส้นเท้ามีสัณฐานเหมือนจาวตาลลอนเดียว กระดูกข้อเท้ามีสัณฐานเหมือนลูกสะบ้าที่เขาผูกติดกันไว้ที่เป็นที่ตั้งอยู่เฉพาะแห่ง กระดูกแข้งที่เข่านั้นมีสัณฐานเหมือนเขาโคปลายทื่อ กระดูกขาอ่อนมีสัณฐานเหมือนด้ามพร้า หรือด้ามขวานที่เขาถากหยาบๆ กระดูกสะเอวกับกระดูกขาอ่อนนั้น มีสัณฐานเหมือนผลมะงั่วใหญ่มีปลายปาดออก กระดูกสะเอวแม้สองเป็นของเนื่องเป็นอันเดียวกัน มีสัณฐานเหมือนเตาของนายช่างหม้อ แยกออกจากกันเหมือนคีมของนายช่างทอง กระดูกสะโพกตั้งอยู่ที่ปลาย มีสัณฐานเหมือนพังพานงูที่เขาจับคว่ำหน้า มีช่องน้อยช่องใหญ่ในที่ทั้ง ๗ แห่ง กระดูกหลังข้างในมีสัณฐานเหมือนห่วงแผ่นตะกั่วที่เขาตั้งซ้อนกันไว้ ภายนอกมีสัณฐานเหมือนลูกประคำในระหว่าง และระหว่างแห่งกระดูกสันหลังเหล่านั้น เป็นหนาม ๒ – ๓ อัน เช่นกับฟันเลื่อย

    บรรดากระดูกซี่โครง ๒๔ ซี่ กระดูกซี่โครงที่ไม่เต็มมีสัณฐานดังเคียวไม่เต็มเล่ม ที่เต็มมีสัณฐานดังเคียวเต็มเล่ม แม้ทั้งหมดมีสัณฐานดังปีกกางของไก่ กระดูกอก ๑๔ ชิ้นมีสัณฐานเหมือนซี่กรงเรือนคานหามเก่า กระดูกหทัยมีสัณฐานเหมือนแผ่นทัพพี กระดูกไหปลาร้า (ที่เรียกว่ารากขวัญ) มีสัณฐานเหมือนด้ามมีดเล่มเล็ก กระดูกสะบัก มีสัณฐานดังจอบของชาวสิงหลอันแหว่งไปข้างหนึ่ง กระดูกแขนมีสัณฐานเหมือนด้ามแว่น (คือ ด้ามกระจกเงา) กระดูกแขนท่อนปลายมีสัณฐานดังรากตาลคู่ กระดูกข้อมือมีสัณฐานดังห่วงแผ่นตะกั่วที่เขาเชื่อมติดกันตั้งไว้ กระดูกหลังมือมีสัณฐานดังกองหัวคล้าอันเขาทุบแล้วเหมือนกับหลังเท้า

    บรรดากระดูกนิ้วมือทั้งหลาย กระดูกท่อนโคนมีสัณฐานดังบัณเฑาะว์ กระดูกท่อนกลางมีสัณฐานดังเมล็ดขนุนไม่เต็ม กระดูกท่อนปลายมีสัณฐานเหมือนเมล็ดตุมกา กระดูกคอ ๗ มีสัณฐานดังแว่นหน่อไม้ไผ่ที่เขาเอาไม้เสียบตั้งไว้โดยลำดับ กระดูกขากรรไกรอันล่างมีสัณฐานดังคีมเหล็กของนายช่างเหล็ก อันบนมีสัณฐานดังเหล็กสำหรับขูด กระดูกหลุมตาและหลุมจมูกมีสัณฐานดังเต้าตาลอ่อนมีจาวตาลอันควักออกแล้ว กระดูกหน้าผากมีสัณฐานดังเปลือกสังข์ที่ตั้งคว่ำหน้า กระดูกจอนหูมีสัณฐานดังฝักมีดโกนของนายช่างกัลบก กระดูกที่หน้าผากและจอนหูติดกันเป็นแผ่น เบื้องบนมีสัณฐานดังท่อนแผ่นผ้าอันยับยู่ยี่เต็มหม้อ กระดูกกระหม่อมมีสัณฐานดังกะลามะพร้าวเบี้ยวอันเขาปาดหน้าแล้ว กระดูก (กะโหลก) ศีรษะทั้งหลายมีสัณฐานดังกะลาหรือกะโหลกของน้ำเต้าเก่าอันเขาเย็บติดกันตั้งไว้

    ว่าโดยทิศของกระดูกทั้งหลาย เกิดแล้วในทิศทั้งสอง คือ ทั้งเบื้องบน และเบื้องล่าง ว่าโดยโอกาส คือที่ตั้ง ตั้งอยู่ทั่วสรีระทั้งสิ้น โดยไม่แปลกกัน แต่เมื่อว่าโดยแปลกกันในที่นี้ กระดูก (กะโหลก) ศีรษะทั้งหลายตั้งอยู่เฉพาะที่กระดูกคอทั้งหลาย กระดูกคอทั้งหลายตั้งอยู่ที่กระดูกสันหลังทั้งหลาย กระดูกสันหลังทั้งหลายตั้งอยู่ที่กระดูกสะเอวทั้งหลาย กระดูกสะเอวทั้งหลายตั้งอยู่ที่กระดูกขาอ่อนทั้งหลาย กระดูกขาทั้งหลายตั้งบนกระดูกเข่าทั้งหลาย กระดูกเข่าทั้งหลายตั้งอยู่บนกระดูกแข้งทั้งหลาย กระดูกแข้งทั้งหลายตั้งอยู่บนกระดูกข้อเท้าทั้งหลาย กระดูกข้อเท้าตั้งอยู่บนกระดูกหลังเท้าทั้งหลาย

    ว่าโดยปริจเฉท คือ กำหนดส่วนจากไหนถึงไหน ภายในกำหนดด้วยเยื่อในกระดูก ข้างบนกำหนดด้วยเนื้อ เบื้องปลายและที่โคนกำหนดซึ่งกันและกัน คือ แต่ละอัน

    นี่โดยความเป็นปฏิกูล คือ แทนที่จะเห็นเป็นรูปร่างที่สวยงามเป็นอันเดียว ก็กระจัดกระจายออกเป็นแต่ละส่วน และเห็นลักษณะที่ไม่งามของแต่ละชิ้น แต่ถ้าจะพิจารณาโดยความเป็นธาตุโดยนัยของสมถภาวนาก็ทราบว่า กระดูกทั้งหลายเหล่านี้เป็นธาตุดินซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้น กระดูกกะโหลกศีรษะที่ตั้งอยู่เฉพาะที่กระดูกคอ ก็ไม่รู้ว่าตนเองนั้นตั้งอยู่ที่กระดูกคอ หรือว่ากระดูกคอก็ไม่รู้ว่าเป็นที่ตั้งของกระดูกกะโหลกศีรษะ และกระดูกคอทั้งหลายตั้งอยู่ที่กระดูกสันหลังทั้งหลาย ซึ่งโดยความเป็นรูปธาตุ ไม่ใช่สภาพรู้ กระดูกคอทั้งหลายก็ไม่รู้ว่าตนเองนั้นตั้งอยู่ที่กระดูกสันหลังทั้งหลาย และกระดูกสันหลังทั้งหลายก็ไม่รู้ว่าเป็นที่ตั้งของกระดูกคอทั้งหลาย นี่โดยนัยของสมถภาวนา ซึ่งพิจารณาโดยความเป็นธาตุ

    แต่ถ้าโดยนัยของสติปัฏฐาน แม้ในขณะที่ฟัง ก็แล้วแต่ว่าสภาพใดปรากฏ ซึ่งขณะนั้นจะไม่มีลักษณะของความเป็นกระดูกรูปร่างสัณฐานต่างๆ แต่จะเป็นอาการปรากฏ คือ เป็นสภาพที่อ่อนหรือแข็ง และขณะนั้นสามารถที่จะรู้ว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป ไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    การฟังธรรม แล้วแต่ว่าจะมีปัจจัยในขณะไหนที่สติขั้นไหนจะเกิดขึ้น ขั้นที่ฟังและเข้าใจ เห็นความเป็นปฏิกูล และละความยินดีพอใจ ขณะนั้นเป็นความสงบ เป็นขั้นสมถะไม่ใช่สติปัฏฐาน หรือว่าในขณะนั้นสติปัฏฐานจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นธาตุ ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ใช่ตัวตน ก็แล้วแต่เหตุปัจจัย

    เพราะฉะนั้น แม้ว่าโดยนัยของสมถภาวนา จะเห็นได้ว่า ไม่มีการเลือก ไม่มีการเจาะจง แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะมีปัจจัยให้จิตเกิดขึ้นระลึกเป็นไปอย่างไร ก็เป็นไปอย่างนั้น อาจจะเป็นขั้นสงบ และก็อาจจะเป็นสติปัฏฐานที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริงก็ได้

    ไม่ว่าจะเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ไม่ใช่ให้เลือก และไม่ใช่ให้เจาะจง เมื่อมีความเข้าใจโดยตลอด โดยทั่ว ขณะที่กำลังสงบเพราะระลึกถึงส่วนของกระดูก ขณะนั้นสติอาจจะเกิดขึ้นพิจารณาเวทนา ความรู้สึกที่ปรากฏในขณะนั้นก็ได้ หรือว่าพิจารณาจิตในขณะนั้นก็ได้ ไม่มีการที่จะตั้งกฎเกณฑ์ว่า ต้องเป็นอย่างนั้น หรือว่าต้องเป็นกัมมัฏฐานนั้นเท่านั้น

    แม้การเจริญสมถภาวนา ไม่ว่าจะเป็นการระลึกถึงความไม่งามของซากศพ ซึ่งเป็นอสุภะ ถ้าผู้นั้นอบรมเจริญมาที่จะสงบโดยการระลึกถึงสี ไม่ว่าจะเป็นการระลึกถึงซากศพ หรือว่ากายคตาสติ การระลึกถึงส่วนต่างๆ ของกาย แต่วัณณะ คือ สีหนึ่งสีใดปรากฏ บุคคลนั้นก็เป็นผู้ที่จิตสงบเพราะวัณณกสิณ ไม่ใช่ว่าต้องเลือก ต้องเจาะจง หรือว่าต้องบังคับ แล้วแต่ว่าขณะนั้นมีปัจจัยที่จะให้จิตสงบอย่างไร จิตนั้นก็เกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้น โดยสมถภาวนา หรือว่าโดยสติปัฏฐานก็ได้

    อาการต่อไป คือ อัฏฐิมิญชัง อาการที่ ๙ ข้างในกระดูกก็ยังมีรูปธาตุ ซึ่งเป็นเยื่อในกระดูก เป็นอาการของธาตุดิน

    คำว่า อฏฺฐิมิญฺชํ ได้แก่ เยื่อในกระดูก ว่าโดยสี มีสีขาว ว่าโดยสัณฐาน เยื่อที่อยู่ภายในแห่งกระดูกใหญ่ๆ มีสัณฐานดังยอดหวายใหญ่ที่เขาลนไฟใส่เข้าไปในลำไม้ไผ่ เยื่อที่อยู่ภายในแห่งกระดูกเล็กๆ มีสัณฐานดังยอดหวายเล็กที่เขาลนไฟใส่เข้าไปในปล้องแห่งข้อไม้ไผ่ ว่าโดยทิศ เกิดแล้วในทิศทั้งสอง ว่าโดยโอกาส ตั้งอยู่เฉพาะในภายในแห่งกระดูก ว่าโดยปริจเฉท กำหนดด้วยพื้นภายในแห่งกระดูกทั้งหลาย

    อาการของธาตุดินอาการต่อไป คือ อาการที่ ๑๐ วักกัง ไต

    คำว่า วกฺกํ คือ ไต ได้แก่ ก้อนเนื้อ ๒ ก้อน มีขั้วเดียวกัน ว่าโดยสี มีสีแดงอ่อนดังสีเม็ดทองหลาง ว่าโดยสัณฐาน มีสัณฐานดังสะบ้าคู่ของเด็กๆ ทั้งหลาย หรือว่ามีสัณฐานดังผลมะม่วงแฝดที่มีขั้วเดียวกัน ว่าโดยทิศ เกิดแล้วในทิศเบื้องบน ว่าโดยโอกาส เป็นของติดกับเอ็นใหญ่อันมีรากเดียว ออกไปจากหลุมคอหน่อยหนึ่ง แล้วแยกเป็น ๒ เส้น โอบรอบเนื้อหัวใจตั้งอยู่ ว่าโดยปริจเฉท วักกะกำหนดโดยส่วนที่เป็นวักกะ นี่เป็นสภาคปริจเฉทของวักกะนั้น แต่วิสภาคปริจเฉท ก็เช่นเดียวกับเกสา นั่นแล

    สภาคปริจเฉท หมายความว่า กำหนดโดยไตด้วยกัน เป็นอาการเดียวกัน วิสภาคปริจเฉท คือ กำหนดโดยต่างกันว่า ไตไม่ใช่หัวใจ ไม่ใช่ผม ไม่ใช่ขน เป็นต้น

    นี่เป็นส่วนที่ยากที่จะเห็น เพราะฉะนั้น ก็ยากที่จะระลึก แต่พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงไว้สำหรับบุคคลผู้มีศรัทธาที่จะระลึกถึงสิ่งที่ทำให้จิตสงบจากโลภะ หรือความยินดีพอใจในกายของตน ซึ่งยังมีชีวิตอยู่

    อาการต่อไป เป็นอาการของธาตุดิน อาการที่ ๑๑ หทยํ ปฏิกูลไหม หัวใจ

    คำว่า หทยํ ได้แก่ เนื้อหัวใจ เนื้อหทัยนั้น ว่าโดยสี มีสีแดงดังสีหลังกลีบปทุม ว่าโดยสัณฐาน มีสัณฐานดังดอกบัวตูมที่เขานำกลีบข้างในออกคว่ำไว้ เนื้อหทัยนั้น ภายนอกเกลี้ยง แต่ภายในเช่นเดียวกับภายในแห่งลูกบวบขม เนื้อหทัยของผู้มีปัญญาทั้งหลายเป็นดั่งดอกบัวแย้มบานหน่อยหนึ่ง ของคนมีปัญญาอ่อนทั้งหลายดังเช่นดอกบัวตูมนั่นเทียว

    อนึ่ง ภายในของเนื้อหัวใจนั้นเป็นหลุมมีประมาณจุเม็ดบุนนาค โลหิตมีประมาณกึ่งฟายมือขังอยู่ มโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุอาศัยวัตถุนั้นย่อมเป็นไป ก็เลือดนั้นๆ ในที่นั้นของคนมีราคะจริตมีสีแดง ของคนมีโทสจริตมีสีดำ ของคนมีโมหะจริตเป็นเช่นกับสีน้ำล้างเนื้อ ของคนมีวิตกจริตมีสีเหมือนดังน้ำต้มผักถั่วพู ของคนมีสัทธาจริตมีสีเหมือนดังดอกกรรณิการ์ ของคนมีปัญญาจริตสะอาดผ่องใส ไม่ขุ่นมัว ขาวบริสุทธิ์ มีสีรุ่งเรือง ย่อมปรากฏเหมือนมณีมีค่าที่เขาชำระมลทินออกแล้ว

    ว่าโดยทิศ เกิดแล้วในทิศเบื้องบน ว่าโดยโอกาส ตั้งอยู่เฉพาะใกล้ท่ามกลางแห่งถันทั้งสองในภายในแห่งสรีระ ว่าโดยปริเฉท กำหนดโดยส่วนที่เป็นเนื้อหัวใจ นี่เป็นสภาคปริจเฉทของเนื้อหัวใจนั้น แต่วิสภาคปริจเฉท เป็นเช่นเดียวกับเกสานั่นแหละ

    ถ. ยุคนี้วิทยาศาสตร์ก้าวหน้า ผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ เขาตัดหัวใจเก่าออกมา นำของใหม่ใส่เข้าไป ก็ยังอยู่ได้ ถ้าเป็นอย่างที่อาจารย์อ่าน ก็คงจะตัดมโนทวารทิ้งไป น่าจะตาย ใช่ไหม

    สุ. นั่นโดยบัญญัติ แต่ว่าโดยปรมัตถ์ เวลาที่เกิด โดยเฉพาะที่เป็นมนุษย์เกิดในครรภ์ ในขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดพร้อมกับรูปที่เกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย ๓ กลาป หรือ ๓ กลุ่ม ในขณะนั้น รูปเล็กมาก ยังไม่ปรากฏส่วนของมันสมอง ยังไม่ปรากฏก้อนของหัวใจ ใช่ไหม เพราะว่าเล็กนิดเดียว ซึ่งในขณะนั้นก็มีจิตเกิดดับ

    ถ. เคยเห็นในข่าว เขาตัดหัวใจออกไป

    สุ. ตอนแรกที่เพิ่งเกิด มีรูปหัวใจหรือยัง

    ถ. หัวใจถูกตัดออกและเปลี่ยนใหม่ ผมยังแคลงใจสงสัยว่า ทำไมจึงเป็นอย่างนั้นได้ คนไม่ตายด้วย อาการยังเป็นปกติทุกอย่าง



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๘๗ ตอนที่ ๘๖๑ – ๘๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 81
    28 ธ.ค. 2564