แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 857


    ครั้งที่ ๘๕๗


    ถ. ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานมีเมตตา สงสารสัตว์ทั้งหลาย และก็พิจารณาว่า เมตตานั้นก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง กับผู้ที่ไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ก็สงสารเหมือนกัน แต่ไม่ได้รู้ว่าเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง สงสารทั้งคู่นี้ มีความต่างกันอย่างไร

    ธัม. ผู้ที่ไม่เจริญสติปัฏฐานเกิดเมตตาก็ตาม เกิดกรุณาก็ตาม กับผู้ที่เจริญสติปัฏฐานเกิดเมตตา เกิดกรุณา ก็เหมือนกัน ไม่ต่างกัน

    แต่ผู้เจริญสติปัฏฐานไม่หลง เข้าใจ เพราะไม่หลงลืม จึงเข้าใจได้ว่า ที่กำลังทำหน้าที่สงสาร เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ปนกับรูปธรรม ไม่ปนกับนามธรรมอื่นๆ ด้วย สภาพธรรมที่สงสาร ไม่มีใครเห็นได้เพราะว่าไม่ใช่สี ไม่มีทางที่จะได้ยินได้เพราะมไม่ใช่เสียง ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายไม่ได้ มีลักษณะของเขาเอง เกิดขึ้นในขณะนี้ และดับไปทันที ก่อนขณะนี้ยังไม่เกิด เดี๋ยวนี้เกิด และดับทันที ไม่ใช่ตัวตน ตัวตนดับหรือยัง เราถือว่าตัวตนไม่ดับ ยังอยู่ นั่งอยู่ ฟังธรรมได้ อาจจะเข้าใจอย่างนี้ก็ได้ แต่ธรรมดับ ธรรมจะเป็นตัวตนได้อย่างไร เมื่อครู่นี้ไม่มี เดี๋ยวนี้มี เดี๋ยวก็ไม่มี นี่ไม่ใช่ลักษณะของตัวตน แต่เป็นลักษณะของของจริง ซึ่งมีอยู่

    ลักษณะของตัวตน เป็นลักษณะที่เราคิดขึ้นมา เป็นลักษณะที่ไม่มีจริง เพราะว่าไม่มีอะไร ที่เมื่อครู่นี้มี เดี๋ยวนี้มี และก็ยังมี แต่จริงๆ ไม่มี สิ่งที่เกิดขึ้นปรากฏในขณะนี้เป็นของใหม่อาศัยของเก่าจึงเกิดขึ้นได้ เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว เป็นของใหม่แล้ว ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานไม่หลง ไม่เข้าใจผิดในสภาพธรรมที่ทำหน้าที่สงสาร ในขณะนั้นถ้าเกิดสติจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เรียกว่ากรุณา ถ้ากรุณาเกิดขึ้น หรือเมตตา ถ้าเมตตาเกิดขึ้น

    ค่อยๆ เข้าใจ ถ้าเป็นผู้ที่เริ่มต้น ก็ต้องเข้าใจไม่ชัดเจน แต่กำลังศึกษาเพื่อที่จะเข้าใจชัดเจน ถ้าสติเกิด ระลึกรู้นิดเดียว และสนใจที่จะคิดถึงเรื่องที่เกี่ยวกับที่เราคิดว่าเมื่อครู่นี้ปรากฏเกิดขึ้น ก็หลงลืมสติอีกแล้ว ไม่ใช่ทางที่จะรู้สภาพธรรมที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ถ้าต้องการรู้ตามสติและต้องการคิด ต้องการให้แน่ใจ ซึ่งผู้ที่แน่ใจ คือ พระโสดาบัน ไม่ใช่คนอื่น จะให้แน่ใจก่อนไม่ได้ ขณะที่พิจารณาเพื่อที่จะให้แน่ใจ คือ ต้องการคิดถึงสิ่งที่เมื่อครู่นี้ปรากฏว่าเป็นอะไรบ้าง ก็หลงอีกแล้ว เสียโอกาสที่จะรู้สภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏในขณะนั้น เพราะว่าลืมจุดประสงค์ ต้องการคิดถึงเรื่องสภาพธรรม แทนที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมอีกสภาพธรรมหนึ่งที่เกิดหลังจากสติดับไปแล้วเมื่อครู่นี้ เพราะสติที่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ก็ทนอยู่ไม่ได้ ไม่ใช่ของถาวร ไม่เที่ยง เมื่อมีเหตุปัจจัยให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้เมตตา สตินั้นต้องดับไปเหมือนกับเมตตาที่ดับไป เพราะว่าสติไม่ใช่ตัวตนเหมือนกัน เป็นนามธรรมอีกชนิดหนึ่ง ไม่ได้ทำหน้าที่สงสารใคร แต่ทำหน้าที่ไม่หลงลืม

    พูดถึงสติปัฏฐานของผู้ที่เจริญปัฏฐาน เปรียบเทียบกับเมตตาหรือกรุณาของใครก็แล้วแต่ ของผู้เจริญสติปัฏฐาน หรือของผู้ที่ไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ไม่เป็นไร เหมือนกัน แต่สติปัฏฐานกับเมตตา กับกรุณา ใครแสดงความสงสารมากกว่ากัน ความจริงขณะที่เจริญสติปัฏฐาน สงสารสัตว์โลกมากกว่าขณะที่เกิดกรุณา เพราะว่ากรุณาละกิเลสไม่ได้ สงสารอย่างเดียว เมตตาละกิเลสไม่ได้ เมตตาคิดถึงประโยชน์ของคนอื่น หวังประโยชน์ของสัตว์โลก แต่ไม่ได้ละกิเลส ส่วนสติทำให้มีโอกาสเจริญปัญญาซึ่งทำหน้าที่ละกิเลส เมื่อละกิเลสแล้ว หมายความว่า หน้าที่ครบแล้ว ต่อไปหลังจากปรินิพพานไปแล้ว จะไม่เบียดเบียนใครแน่ ช่วยมากที่สุดเท่าที่จะช่วยได้

    พระอรหันต์ช่วยมากกว่าผู้ที่สงสารเฉยๆ เกิดเมตตาเฉยๆ เพราะละเหตุที่ทำให้คิดไม่ดี พูดไม่ดี ทำไม่ดี คนอื่นๆ ยังไม่ละเหตุ และไม่ได้เจริญเหตุที่จะละเหตุด้วย ถ้าสงสารคนอื่นจริงๆ จะเจริญสติปัฏฐาน เจริญเมตตาด้วย เพราะสะสมมาที่จะเข้าใจประโยชน์ของเมตตา ไม่ใช่ว่าพอเห็นประโยชน์ของสติแล้ว ไม่เจริญธรรมขั้นอื่นๆ นั่นเป็นตัวตนที่เข้ามาบังคับอีกแล้ว เข้าใจผิด เพราะว่าเราไม่ได้สะสมมาที่จะเกิดแต่ สติปัฏฐาน ไม่เกิดกุศลธรรมอย่างอื่นๆ พอเข้าใจสติปัฏฐานก็ละกุศลขั้นอื่นๆ เพราะไม่มีประโยชน์เท่ากับสติ ไม่ได้

    แทนที่จะละกุศลขั้นอื่นๆ ก็จะเจริญกุศลขั้นอื่นๆ มากขึ้น มากกว่าเดิม เพราะว่าเมื่อเจริญสติปัฏฐาน สามารถที่จะรู้ตัวเองตามความเป็นจริงว่า มีกิเลสมากน้อยแค่ไหน จะรู้ว่ามีมากจริงๆ เมื่อเริ่มที่จะเห็น เริ่มที่จะเข้าใจว่ามีกิเลสมากเท่าไร ก็เป็นเหตุปัจจัยให้เจริญกุศลทุกๆ ขั้น ทุกๆ อย่างเท่าที่สามารถจะเจริญได้ เพราะถ้าไม่เกิดกุศล น่ากลัวมาก อันตรายมาก ไม่ใช่ไม่เป็นไร ไม่เป็นไรไม่ได้สำหรับอกุศล แต่ถ้าสติเกิดรู้อกุศล เรียกว่าไม่เป็นไรได้ เพราะสติเกิดแล้ว

    ถ. ขณะที่สติเกิด ถ้าเวลานี้สติเกิดขึ้น สภาพธรรมต่างๆ มีมากมาย เห็น ก็มี สีก็มี เสียงก็มี เย็น ร้อน อ่อน แข็งก็มี เราควรจะพิจารณาอย่างไรก่อน

    ธัม. ถ้าหลายๆ อย่างมีอยู่ หมายความว่า สติยังไม่เกิด เพราะเมื่อสติเกิดขึ้น หลายๆ อย่างไม่มี สติทำหน้าที่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ และสิ่งที่กำลังปรากฏไม่ใช่หลายๆ อย่าง ถ้าสีก็สี ถ้าเสียงก็เสียง ถ้านามธรรมชนิดหนึ่งชนิดใดก็ต้องเป็นเช่นนั้น ต้องเป็นได้ยิน ไม่ใช่เห็น ขณะที่สติเกิด ไม่มีหลายอย่าง ถ้าคิดว่า มีหลายอย่าง เป็นคนละขณะ บางทีสติเกิดก็ได้ และต่อมาเกิดคิดว่ามีหลายๆ อย่าง ถ้าเป็นอย่างนั้นขณะนั้นไม่ใช่สติปัฏฐาน

    เริ่มต้น ยากที่จะรู้ลักษณะของสติ เมื่อครู่นี้เกิดสติจริงๆ หรือเปล่า สะสมมาที่จะสงสัย ก็ต้องสงสัยตามที่สะสมมา จะไม่สงสัยไม่ได้ ถ้าเหตุปัจจัยพร้อมที่จะทำให้สงสัยในสติที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเมื่อครู่นี้ บังคับให้สติอยู่นานๆ ให้สติเกิดตามรู้สติ และทำให้ตัวเองเข้าใจตามที่ต้องการเข้าใจไม่ได้ ต้องมีขันติมาก

    ถ. ผมดีใจมากที่ได้เห็นพระ Alan กลับมาอีกครั้ง มาครั้งนี้ผมก็รู้สึกว่า ท่านพูดภาษาไทยได้ชัดเจน และฟังเข้าใจดี ผมรู้จักท่านมาพอสมควร ท่านเป็นพระชาวต่างประเทศ และท่านเข้าใจการเจริญสติปัฏฐานในแนวทางที่อาจารย์สุจินต์ได้สอนอยู่ รู้สึกว่าท่านเข้าใจได้ลึกซึ้ง

    ผมอยากจะเรียนถามท่านเรื่องสติปัฏฐาน คือ เรื่องสติจะเกิดหรือไม่เกิด ก็พอจะทราบได้ เนื่องจากพอจะเปรียบเทียบได้ว่า ในระหว่างที่มีสติกับหลงลืมสตินั้นจะต่างกัน แต่ว่าเท่าที่ปฏิบัติมาหลายปี ยังไม่เกิดปัญญาเลย คิดว่าคงโยนิโสมนสิการไม่ถูกต้องหรืออย่างไร ท่านช่วยอธิบายได้ไหม คือ เกิดสติ แต่รู้สึกว่าปัญญาจะยังไม่เกิด

    ธัม. โยมเองพอจะรู้ได้ไหมว่า ทำไมเจริญสติได้ แต่ปัญญาไม่เกิด โยมคิดอย่างไร โยมวินิจฉัยอย่างไร เคยพิจารณาหรือเปล่า ถ้าไม่เคยพิจารณา ไม่รู้จะแก้ปัญหานี้ได้เมื่อไหร่ เพราะตัวเองก็ต้องพิจารณาด้วย ไม่ใช่ว่าคนอื่นจะพิจารณาให้อย่างเดียว ถ้านานแล้วโยมรู้สึกว่า เกิดสติบ่อยหรือว่าเกิดสติบ้าง แต่ปัญญาไม่เจริญ เพราะเหตุไร โยมต้องพิจารณา โยมต้องมีความคิดบ้างในเรื่องนี้ มีไหม เพราะอะไรปัญญาไม่เจริญ

    ถ. ผมเข้าใจว่า จำนวนครั้งที่สติเกิดน่าจะน้อยไป ทำให้ปัญญายังไม่เกิด หรือว่ายังไม่มากพอ ขณะที่สติเกิดนั้นปัญญาต้องเกิดตาม หรือว่าสติเกิดอย่างเดียวก็ได้ อย่างไหนจึงจะถูกต้อง

    ธัม. โยม ปัญญาเคยเกิดหรือเปล่า

    ถ. ผมคิดว่า ปัญญาขั้นภาวนายังไม่น่าจะเกิด

    ธัม. แต่ปัญญาเคยเกิดหรือเปล่า

    ถ. ก็อยากให้ปัญญาเกิดเหมือนกัน

    ธัม. ปัญญาถ้าเกิดแล้ว จะมีลักษณะอย่างไร จึงจะรู้ว่าปัญญาเกิดแล้ว มีลักษณะปรากฏเป็นอย่างไร จึงจะบอกได้ว่า อ้อ นี่คือ ปัญญาเกิดแล้ว

    ถ. ปัญญาขั้นแรก คือ ปัญญาที่รู้ความแตกต่างระหว่างนามธรรมกับรูปธรรม ใช่ไหม ผมก็ได้เจริญสติมานานพอสมควร แต่ผมก็ยังรู้สึกว่า ยังไม่สามารถจะแยกนามธรรมและรูปธรรมออกได้

    ธัม. เจริญพร โยมไม่สามารถแน่นอน แต่ปัญญาที่เจริญมาถูกต้อง สามารถที่จะแยกนามออกจากรูปได้ ตามเหตุปัจจัย ตามเหตุผล แต่ถ้าโยมคอยนามรูปปริจเฉทญาณเกิด รู้สึกว่าจะต้องคอยนาน และอาจจะผิดหวัง เพราะการเริ่มต้น ไม่ใช่จะรู้ว่า กำลังเจริญปัญญา เพราะเกิดรู้นามธรรมแยกออกจากรูปธรรมได้แล้ว นี่เป็นญาณขั้นสูงแล้ว ไม่ใช่ปัญญาขั้นธรรมดา รู้ชัดแล้ว เป็นญาณ

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่เริ่มเจริญสติปัฏฐาน จุดประสงค์ คือ เจริญปัญญาพิจารณาลักษณะที่กำลังปรากฏ ต้องเข้าใจด้วยว่า ปัญญาที่เริ่มต้นนั้นยังไม่เป็น นามรูปปริจเฉทญาณ จะมีลักษณะเหมือนนามรูปปริจเฉทญาณไม่ได้ จะรู้ชัดเจนในลักษณะของนามว่าไม่ใช่รูป รูปไม่ใช่นาม ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าคอยปัญญาประเภทนี้ และคิดว่าปัญญายังไม่เกิด ก็ไม่ถูก เพราะปัญญาที่จะเกิดเริ่มต้น ไม่ใช่เป็นญาณ แต่ต้องเป็นปัญญาที่เข้าใจไม่ชัด

    ถ. ถ้าเป็นปัญญาขั้นเห็นความแตกต่างของนามรูป เป็นปัญญาขั้นสูงแล้วใช่ไหม

    ธัม. เรียกว่าสูง เพราะว่าชัด แต่ความจริงไม่สูงเท่าไร เป็นญาณเริ่มต้น แต่ชัด ปัญญาที่เราจะเจริญขึ้นให้เป็นญาณ ยังไม่ได้เป็นญาณ แต่เป็นปัญญาเหมือนกัน เป็นปัญญาขั้นหนึ่งแต่ไม่ใช่ญาณ จึงไม่ทำหน้าที่แยกนามออกจากรูป รู้ชัดในความต่างกันระหว่างนามกับรูป ยังไม่ถึงขั้นนั้น

    ถ. ผมก็ไม่หวังถึงขั้นนั้น ที่ปฏิบัติมาประจำวัน ยกตัวอย่างเช่น ทางหู ทางโสตทวาร ขณะที่ได้ยิน มีสติเกิดขึ้นนั้น ผมเข้าใจว่า พิจารณาเป็นเสียงน่าจะพิจารณาง่ายกว่าการที่จะพิจารณาว่าได้ยินนั้นเป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ คือ รูปธรรมจะพิจารณาง่ายกว่านามธรรม ทางตาก็เหมือนกัน ขณะที่เห็นนี้ ผมพิจารณาว่า สิ่งที่เห็นนั้นเป็นรูปธรรม รู้สึกว่าจะพิจารณาง่ายกว่าสภาพเห็นที่เป็นนามธรรม

    ธัม. พิจารณาเป็นเสียง ไม่ทราบเป็นอย่างไร คือ ทำให้สิ่งที่ปรากฏเป็นเสียง พิจารณาเป็นเสียง หรืออย่างไร พิจารณาแบบไหน จึงจะเรียกว่า พิจารณาเป็นเสียง

    ถ. ผมพิจารณาว่า เป็นสิ่งที่ปรากฏอย่างหนึ่งทางหู คล้ายๆ กับว่า เป็น สิ่งที่ไม่มีชีวิต เป็นสิ่งที่เป็นเสียงทั่วๆ ไป ผมอธิบายไม่ถูก คือ เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง สมมติว่าเกิดเสียง ได้ยินเสียงคนพูด หรือว่าได้ยินเสียงรถก็ดี เสียงนกร้องก็ดี ถ้าหากมีสติเกิดขึ้น ก็พิจารณาว่า เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งจริงๆ แต่ถ้าจะพิจารณาว่าเป็นนามธรรม เป็นสภาพที่รู้ อะไรอย่างนี้ ผมเข้าใจว่า ยากกว่า อย่างนั้นถูกต้องหรือเปล่าไม่ทราบ

    ธัม. ก็นามธรรมละเอียดกว่ารูปธรรม และมักจะมองข้าม เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ นามธรรมมี นามธรรมทำหน้าที่ทุกๆ ขณะ ทำให้มีอารมณ์ปรากฏต่อนามธรรมนั้น ถ้าไม่มีนามธรรม ไม่มีอะไรปรากฏเลย ทุกขณะมีอารมณ์ปรากฏ เพราะทุกขณะนามธรรมเกิดขึ้นทำหน้าที่แล้วก็ดับไป

    นามธรรมมีอยู่ทุกๆ ขณะ ทำหน้าที่รู้ทุกขณะตั้งแต่เกิดมา คือ ยังไม่เคยปราศจากสภาพรู้ ชินกับสภาพรู้นั้นมาก จนกระทั่งอยากรู้สภาพนามธรรม คล้ายๆ กับว่าเป็นของแปลกเหลือเกิน อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ไปหา คิดดู แต่เดี๋ยวนี้กำลังทำหน้าที่ กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏ ซึ่งไม่ใช่เรา แต่เราคิดว่าเป็นเรา คิดว่าเข้าใจแล้ว เมื่อการรู้ในขณะนี้เป็นเรา นามธรรมอยู่ที่ไหน ก็ต้องหา นี่เรียกว่ามองข้ามจริงๆ มองข้ามสิ่งที่อยู่ใกล้ชิดที่สุด กำลังทำหน้าที่รู้สี สีจึงปรากฏได้ ทำหน้าที่นามธรรมอีกชนิดหนึ่ง คือ ทำหน้าที่รู้เสียง เสียงจึงไปปรากฏได้ จึงกำลังปรากฏอยู่เดี๋ยวนี้ เพราะสภาพรู้มีอยู่ ความจริงไม่ใช่ของไกล หรือของรู้ยาก แต่เข้าใจผิด

    ถ. ผมก็ว่าผมเข้าใจผิด เพราะจะว่าไม่มี ก็ไม่ใช่ ความจริงสภาพรู้นี้มี ถ้าเราไม่รู้ก็เป็นไปไม่ได้ ใช่ไหม ได้ยิน ได้ยินต้องมีแน่ เห็นก็มี ความจริงปฏิเสธไม่ได้ คิดตามเหตุผล มีแน่นอน

    ธัม. หนังสือเล่มนี้ ไม่ได้เกิดความรู้สึกที่หนังสือว่า มีนิ้วกำลังจับเราอยู่ เพราะว่ามีแต่รูปธรรม นามธรรมไม่เกิดที่หนังสือ หนังสือไม่รู้สึกอะไร ไม่เห็นอะไร ไม่ได้ยินอะไร ไม่รู้เรื่อง เป็นรูปธรรมล้วนๆ แต่ละอย่างเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แต่เดี๋ยวนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏอยู่ เพราะไม่ได้มีรูปธรรมอย่างเดียวที่เรายึดถือว่าเป็นเรา มีนามธรรมด้วย จึงมีอารมณ์ต่างๆ กำลังปรากฏอยู่

    ถ. ผมเข้าใจตามเหตุตามผลว่า มี แต่ต้องคิดเสียก่อน จึงจะเข้าใจ

    ธัม. แน่นอนโยม ไม่คิด จะเจริญสติปัฏฐานไม่ได้ ต้องเป็นผู้คิด

    ไม่ทราบว่าในห้องนี้มีใครไม่เป็นผู้คิด เคยไม่คิดบ้างไหม อาจจะคิดว่า บางทีไม่คิด แต่หายาก ขณะที่ไม่คิด คิดตลอดเรื่อยๆ แต่คิดถูกหรือคิดผิด เมื่อคิดไม่ถูกก็เจริญสติปัฏฐานไม่ได้ สติปัฏฐานอาศัยคิดถูก คิดถูกในเรื่องหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานต้องคิดถูก ฟังแล้วพิจารณา คิดถูก เข้าใจถูก เข้าใจขั้นคิด และเข้าใจขั้นสูงๆ กว่านั้นอีก ไม่ใช่ว่าข้ามขั้น คือ เข้าใจผิด คิดผิดจากปริยัติ แต่ปฏิบัติได้ ไม่มีทาง เพราะว่าปฏิบัติหมายความว่าอย่างไร หมายความว่า พิสูจน์ปริยัติ

    เมื่อครู่นี้โยมบอกว่า รูปธรรมรู้ง่าย ไม่ทราบว่าง่ายจริงๆ หรือเปล่า ถ้าเสียงปรากฏก็รู้ง่ายกว่า เพราะว่าได้ยินไม่ปรากฏ รู้ยากที่สุดเพราะไม่ปรากฏ ขณะนั้นที่เสียงกำลังปรากฏ อาจจะเรียกว่าง่ายได้ เพราะปรากฏ แต่รู้ถูกหรือรู้ผิด รู้มากหรือรู้น้อย รู้ละเอียดหรือรู้คร่าวๆ ก็แล้วแต่

    ขณะนี้ไม่ได้มีแค่เสียง สภาพรู้มีด้วย สภาพรู้คือได้ยิน ในขณะนี้มีอยู่ทั้ง ๒ อย่าง ลักษณะต่างกัน จะรู้เสียงชัด รู้ลักษณะของเสียงชัดเจน โดยยังไม่รู้ลักษณะของสภาพรู้เสียง รู้สึกว่าเป็นไปไม่ได้ ยิ่งรู้สภาพของรูปธรรมตามความเป็นจริง ย่อมเป็นเหตุปัจจัยทำให้จำเป็นต้องรู้นามธรรม ค่อยๆ รู้นามธรรมด้วย และรู้นามธรรมดีขึ้น ทำให้รู้รูปธรรมดีขึ้นด้วย เพราะว่าสิ่งที่ปรากฏ ถ้าเป็นรูปธรรม ทำให้เข้าใจว่า ไม่ใช่นามธรรมอย่างไร



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๘๖ ตอนที่ ๘๕๑ – ๘๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 81
    28 ธ.ค. 2564