แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 872


    ครั้งที่ ๘๗๒


    ปกติทุกคนรู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า มีปัญญาที่จะบรรลุคุณธรรมได้ขั้นไหน ท่านที่ยังเป็นคฤหัสถ์อยู่ ยังเป็นปุถุชน ท่านฟังธรรมและศึกษาเพื่อที่จะให้เข้าใจสภาพที่ปรากฏ อบรมเจริญปัญญาเพื่อจะรู้สภาพธรรมที่ท่านสะสมมาตามความเป็นจริง เพื่อที่จะได้ไม่ยึดถือสภาพธรรมใดๆ ทั้งสิ้นที่เกิดกับท่านตามเหตุตามปัจจัย ไม่เห็นว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน

    ถ้าท่านมีศรัทธา สะสมมาที่จะสละอาคารบ้านเรือนอบรมเจริญปัญญาใน เพศของบรรพชิต ตามความเป็นจริงก็คือว่า มีปัจจัยที่ทำให้ท่านละเพศคฤหัสถ์สู่เพศบรรพชิต อบรมเจริญปัญญาในเพศนั้น แต่ส่วนการที่ท่านจะบรรลุคุณธรรมเป็น พระอรหันต์ได้หรือไม่นั้น ต้องเริ่มตั้งแต่เดี๋ยวนี้ เป็นพระโสดาบันได้หรือยัง ถ้ายังเป็นพระโสดาบันไม่ได้ วิปัสสนาญาณขั้นต่างๆ ถึงหรือยัง ตามความเป็นจริง เมื่อยังไม่ถึง สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตาได้แล้วหรือยัง ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจได้แล้วหรือยัง ชำนาญแล้วหรือยัง ละคลายความสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม พร้อมด้วยวิปัสสนาญาณแต่ละขั้นแล้วหรือยัง ถ้ายัง ท่านจะคิดถึงความหมายในอรรถกถาว่า ก็กุลบุตรผู้ใคร่จะเจริญกัมมัฏฐานนี้เพื่อบรรลุพระอรหัต เบื้องต้นต้องชำระศีล ๕ ให้บริสุทธิ์

    ท่านจะทำอย่างนี้ไหม เพราะว่าทุกคนก็อยากจะเป็นพระอรหันต์กันทั้งนั้น ฟังดูเหมือนกับว่าทุกคนไม่อยากจะให้มีกิเลสอะไรๆ เหลืออยู่เลย อยากจะหมดกิเลสจริงๆ คือ อยากเป็นพระอรหันต์จริงๆ แต่ถ้าอยาก ทุกคนอยาก และจะทำอย่างนี้ จะถึงความเป็นพระอรหันต์ได้ไหม ถ้ายังไม่เข้าใจว่า ข้อความนี้หมายความอย่างไร

    ไม่ใช่ให้เลือก แต่ให้รู้ตามความเป็นจริงว่า วันหนึ่งๆ ทำไมจึงหลงลืมสติกันมาก ชีวิตของปุถุชน ทุกคนจะบอกว่า วันหนึ่งๆ สติปัฏฐานเกิดน้อยมาก เพราะเป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมที่กาย หรือว่าเป็นลักษณะของความรู้สึกต่างๆ หรือว่าเป็นลักษณะของจิตต่างๆ หรือเป็นลักษณะของสภาพธรรมต่างๆ ที่กำลังปรากฏเฉพาะหน้า ซึ่ง ถ้ารู้ว่า เพราะเป็นผู้ที่มีอวิชชา โลภะ โทสะ และกิเลสทั้งหลายสะสมมาเนิ่นนานเหลือเกินในสังสารวัฏฏ์ เป็นปัจจัยให้หลงลืมสติ ผู้ที่ใคร่ในการที่จะอบรมเจริญปัญญาที่จะดับกิเลสจริงๆ ก็จะเป็นผู้ที่ฟังธรรมบ่อยๆ เนืองๆ เพื่อเป็นสังขารขันธ์ เป็นปัจจัยปรุงแต่งให้กุศลจิตเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ไม่ยึดถือสติว่า เป็นเราที่จะทำสติ หรือว่าเป็นเราที่จะเจริญสติปัฏฐาน แต่รู้ว่าสติเป็นอนัตตา เมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่รู้เหตุปัจจัยอย่างนี้ จะไม่ละทิ้งการฟังธรรม การพิจารณาธรรมให้เข้าใจขึ้นโดยไม่ต้องหวังว่า ประเดี๋ยวสติจะเกิด หรือว่าประเดี๋ยวสติจะไม่เกิด แต่ขณะใดที่สติเกิดขึ้น ผู้นั้นรู้ว่า สติไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงนามธรรมที่เกิดเพราะมีเหตุปัจจัย และระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ นี่เป็นหนทางที่จะทำให้ถึงความเป็นพระอรหันต์จริงๆ แต่ไม่ใช่ด้วยความมุ่งมั่นโดยการไม่รู้อะไรเลย อ่านพยัญชนะนี้แล้ว ก็จะทำกายคตาสติ

    สำหรับข้อความที่ว่า เบื้องต้นต้องชำระศีล ๕ ให้บริสุทธิ์ ก็ควรที่จะได้พิจารณาด้วย เพราะถ้าอ่านข้อความในพระสูตรหลายพระสูตร ก็จะมีข้อความว่า ถ้าศีลไม่บริสุทธิ์ สติปัฏฐานก็เจริญไม่ได้

    ถ้าอ่านเพียงแค่นี้ ท่านก็คิดว่า ท่านต้องรักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์จริงๆ ก่อน จึงจะอบรมเจริญสติปัฏฐานหรือทำวิปัสสนา ถ้าอ่านเพียงเท่านี้ จะคิดว่าอย่างนี้ แต่ควรที่จะได้คิดถึงความจริงว่า แม้พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงเรื่องการชำระศีลให้บริสุทธิ์กับพระภิกษุทั้งหลาย ซึ่งจะเป็นการเกื้อกูลการเจริญสติปัฏฐาน แต่ก็ต้องพิจารณาว่า ปกติพระภิกษุทั้งหลายท่านเจริญสติปัฏฐานหรือเปล่า

    เวลาที่ท่านจะบวช ท่านเข้าใจเรื่องการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้ง อริยสัจธรรม และเห็นว่าสำหรับท่านการมีชีวิตครองเรือนเป็นการยากที่จะอบรมเจริญกุศลได้เต็มที่ดุจสังข์ขัด เพราะฉะนั้น ท่านต้องรู้หนทางแล้ว และท่านมีเหตุปัจจัยที่จะอบรมเจริญปัญญาในเพศของบรรพชิต เพราะฉะนั้น เมื่อบวชแล้ว พระภิกษุท่านทำอะไร

    ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ได้ดับขันธปรินิพพาน ทรงแสดงธรรมเกื้อกูลให้เข้าใจอริยสัจธรรม ๔ รู้ว่าอะไรเป็นทุกข์ สภาพธรรมใดที่เกิดปรากฏไม่เที่ยง ดับไป จึงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ธรรมใดเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ธรรมใดเป็นธรรมที่ดับทุกข์ และธรรมใดเป็นธรรมที่เมื่อเจริญแล้วเป็นหนทางที่จะดับทุกข์ได้ ท่านต้องมีความเข้าใจในการอบรมเจริญหนทางที่จะดับทุกข์ ซึ่งเป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น เมื่อท่านบวช ท่านเจริญสติปัฏฐาน แต่ว่าเมื่อยังเป็นผู้ที่ไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ก็ยังมีกิเลสที่มีกำลังเกิดขึ้นให้กระทำสิ่งที่ไม่ควรแก่เพศบรรพชิต ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงชี้ให้เห็นโทษ และได้ทรงบัญญัติสิกขาบท รวบรวมขึ้นเป็นพระวินัยปิฎก หลังจากที่พระผู้มีพระภาคทรงปรินิพพานแล้ว ก็ได้มีการรวบรวมสังคายนา

    แต่แม้ว่าขณะที่ยังไม่ได้ทรงดับขันธปรินิพพานก็ตาม ก็มีพระสูตรที่มีข้อความว่า ให้ชำระศีลให้บริสุทธิ์ แต่ไม่ได้หมายความว่า ชำระศีลให้บริสุทธิ์ก่อนแล้วจึงเจริญ สติปัฏฐาน แต่หมายความว่า แม้ท่านเหล่านั้นเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็ตาม แต่ก็ยังมีกิเลสที่มีกำลัง ที่กระทำกายวาจาที่ไม่สมควรกับเพศของบรรพชิต เพราะฉะนั้น จะต้องมีการสำนึกในสิ่งที่ไม่ควร และกระทำคืนให้เป็นผู้ที่บริสุทธิ์

    แต่ท่านผู้ฟังจะต้องไม่ลืมว่า ถ้าท่านพระภิกษุเหล่านั้นไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานแล้ว สติจะเกิดระลึกได้ไหมว่า ท่านได้ล่วงศีลข้อใดแล้วบ้าง และการที่ระลึกได้ว่า ได้ล่วงศีล ขณะนั้นเป็นกุศล เป็นสติ ซึ่งอาศัยการเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานจึงเห็นโทษของการล่วงศีล รู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมควรจริงๆ ไกลออกไปจากจุดประสงค์ของการบวชที่จะอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้แจ้งอริยสัจธรรมในเพศของบรรพชิต

    เวลาที่สติเกิด มีการระลึกได้ว่าล่วงศีล ก็ยังต้องอาศัยสติที่จะเห็นโทษ และรู้ว่า ควรจะต้องกระทำคืนให้บริสุทธิ์ มิฉะนั้นแล้วก็จะมีแต่ความกังวลใจ ขัดข้องใจ ซึ่งยากแก่การที่จะเห็นสภาพธรรมในขณะนั้นว่า ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    สำหรับคฤหัสถ์ ท่านเคยคิดผิดๆ ทำผิดๆ พูดผิดๆ และเดือดเนื้อร้อนใจบ้างไหม แม้ว่าคนที่ท่านกระทำกายวาจาอย่างนั้นอาจจะลืมไปแล้วก็ได้ แต่สำหรับ ตัวท่าน ท่านก็ยังเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะให้เกิดขึ้นอีก เป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่เมื่อมีเหตุปัจจัยก็อาจจะเกิดขึ้นอีกก็ได้ และเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็มีสติที่จะรู้ว่า สิ่งใดควร สิ่งใด ไม่ควร และเตือนตนเองให้กระทำในสิ่งที่ควร นี่สำหรับเพศของคฤหัสถ์

    แต่สำหรับพระภิกษุแล้ว ต้องกระทำตามพระวินัยบัญญัติ เพราะท่านได้แสดงเพศแล้วว่า จะอบรมเจริญปัญญารู้แจ้งอริยสัจธรรมในเพศที่เลิศ ในเพศที่บริสุทธิ์ คือ ในเพศบรรพชิต เพราะฉะนั้น สตินั่นเองที่ทำให้มีการระลึกได้ รู้ว่าล่วงศีล และควรจะชำระศีลให้บริสุทธิ์ แต่ไม่ได้หมายความว่า ใครก็ตามเดี๋ยวนี้ที่จะเจริญสติปัฏฐาน ก็ต้องไปรักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์ เพราะฉะนั้น จะต้องเข้าใจจริงๆ พิจารณาธรรมทั้งหมดให้สอดคล้องกัน เพื่อที่จะได้ไม่เข้าใจผิด

    ข้อความที่ว่า ก็กุลบุตรผู้ใคร่ที่จะเจริญกัมมัฏฐานนี้เพื่อบรรลุพระอรหัต

    ฟังดูเหมือนเลือก แต่ข้อความตอนนี้ ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ ก็เพราะว่าทุกคนห้ามความคิดไม่ได้ มีใครบ้างที่จะหยุดคิด ไม่คิดอะไร เป็นไปไม่ได้เลย อาจจะไม่รู้ตัวว่ากำลังคิดอะไร หรือว่าคิดเรื่องอะไรบ้าง หรือว่าอาจจะไม่ทราบว่า เรื่องที่คิดนั้นเป็นกุศลหรืออกุศลมากน้อยแค่ไหน ควรคิดหรือไม่ควรคิด แต่ทุกคนทราบว่า ไม่มีใครสามารถที่จะหยุดคิดได้ และสำหรับปุถุชนซึ่งเป็นผู้ที่สะสมอกุศลมาหนาแน่น เพราะฉะนั้น ความคิดของปุถุชนจะเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ท่านอาจจะคิดว่า ท่านไม่ได้คิดในเรื่องทุจริตกรรมที่จะให้ล่วงศีล แต่ว่าเพียงคิดโดยปราศจากการระลึกรู้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพของจิตที่เป็นกุศลหรืออกุศล ขณะนั้นก็จะไม่รู้ตามความเป็นจริงแล้วว่า จิตอะไรที่คิด เพราะไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลที่คิด

    โดยการศึกษาทราบว่า ถ้ากุศลจิตไม่เกิด อกุศลจิตก็เกิด เพราะฉะนั้น เมื่อไม่มีใครสามารถที่จะหยุดคิดได้ในหนึ่งๆ คิดกันเรื่อยๆ ตั้งแต่ตื่นลืมตาขึ้นมา แม้ในขณะนี้ก็ยังคิด เพราะฉะนั้น ส่วนใหญ่ถ้าไม่ใช่ขณะที่ฟังธรรม ไม่ใช่การพิจารณาธรรม ไม่ใช่เป็นเรื่องการศึกษาธรรมแล้ว ความคิดทั้งหมดนั้นย่อมเป็นอกุศล

    และวันหนึ่งๆ ไม่ใช่ว่าสติปัฏฐานจะเกิดบ่อย หรือไม่ใช่ว่าจะมีการคิดนึกระลึกถึงธรรมอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นธรรมข้อใดหมวดใดก็ตามที่เป็นประโยชน์ เช่น กายคตาสติ ระลึกถึงกาย สภาพของธาตุดินและธาตุน้ำที่เป็นปฏิกูลซึ่งปรากฏที่กายในขณะที่บริโภคอาหาร หรือในขณะที่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ เป็นต้น ถ้าไม่เคยฟังเลย จะไม่นึกถึงเลยว่า ขณะนั้นเป็นอาการของวาโยธาตุ ตั้งแต่เริ่มรับประทานอาหารไปจนกระทั่งถึงจากอาหารใหม่กลายเป็นอาหารเก่า ซึ่งจำเป็นที่จะต้องถ่ายออกจากร่างกายเพื่อที่จะให้ร่างกายดำรงอยู่ด้วยดี แต่พอฟังบ่อยๆ เข้า ชินเข้าในอาการ ๓๒ ย่อมมีปัจจัยที่จะให้เกิดระลึกเป็นไปในกุศลได้ นี่เป็นประโยชน์ของการฟังเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็นปฏิกูลที่กาย

    เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นประโยชน์อย่างนี้ พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงเพื่อที่จะให้บุคคลที่มีการฟังเสมอๆ มีปัจจัยที่จะให้คิดถึงความเป็นปฏิกูลขณะหนึ่งขณะใดก็ได้ในวันหนึ่งๆ แต่ไม่ใช่หมายความว่า มีความจงใจตั้งใจที่จะเจริญกัมมัฏฐานนี้ แต่ถ้าใครเห็นประโยชน์ยิ่งกว่านั้น และมีปัจจัยที่จะให้ระลึกถึงกัมมัฏฐานนี้บ่อยขึ้น มากขึ้น ก็มีวิธีที่จะทำให้จิตใจสงบขึ้นโดยนัยของสมถกัมมัฏฐาน ซึ่งมีข้อความว่า

    ก็กุลบุตรผู้ใคร่จะเจริญกัมมัฏฐานนี้เพื่อบรรลุพระอรหัต เบื้องต้นต้องชำระศีล ๕ ให้บริสุทธิ์ ตั้งอยู่ในศีลอันบริสุทธิ์ดีแล้ว ตัดปลิโพธที่มีอยู่ ยังปฐมฌานให้เกิดขึ้น ด้วยการเจริญปฏิกูลมนสิการกัมมัฏฐาน

    เพียงเท่านี้ท่านผู้ฟังก็ถอยกลับแล้ว ใช่ไหม เพราะพอได้ยินว่า ตัดปลิโพธที่มีอยู่ ต้องรู้ด้วยว่าเพื่ออะไร ยังปฐมฌานให้เกิดขึ้นด้วยการเจริญปฏิกูลมนสิการกัมมัฏฐาน

    ทำฌานให้เป็นบาท เริ่มตั้งวิปัสสนา

    ถ้าเข้าใจตามพยัญชนะนี้ ก็ไม่มีวันที่จะได้กระทำการเจริญวิปัสสนา ใช่ไหม เพราะปฐมฌานยังไม่เกิด แต่อย่าลืมจุดประสงค์ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติที่ระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏที่กาย เพื่อให้เห็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น สำหรับการอบรมเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่การมุ่งหวังที่จะให้ถึงปฐมฌาน แต่ว่ามุ่งที่จะให้ปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    เพราะฉะนั้น สำหรับท่านที่สามารถจะถึงปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน และอรูปฌานขั้นต่างๆ ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพานมีเป็นจำนวนมาก แต่บุคคลในสมัยนี้ ต้องรู้จักตนเองตามความเป็นจริงว่า ท่านจะสามารถบรรลุความเป็นพระอริยเจ้าพร้อมด้วยฌานจิต หรือว่าไม่สามารถที่จะบรรลุความเป็นพระอริยเจ้าพร้อมกับฌานขั้นต่างๆ เพราะไม่ใช่วิสัยของท่านที่จะสามารถบรรลุคุณธรรมขั้นพระอริยเจ้าพร้อมด้วยฌานจิต เพราะฉะนั้น ท่านจะเอาประโยชน์อย่างไหน เป็นพระอริยบุคคลได้ เป็นพระโสดาบันได้ โดยแม้ไม่ต้องบรรลุปฐมฌาน

    แต่สำหรับท่านที่สามารถจะบรรลุได้ ท่านจะเจริญอย่างนี้ คือ

    ยังปฐมฌานให้เกิดขึ้นด้วยการเจริญปฏิกูลมนสิการกัมมัฏฐาน ทำฌานให้เป็นบาท เริ่มตั้งวิปัสสนา ก็พึงเรียนเอาในสำนักของกัลยาณมิตรผู้บรรลุพระอรหัต หรือ ในพระอนาคามิผล เป็นต้น รูปใดรูปหนึ่ง โดยกำหนดอย่างต่ำที่สุด แม้ผู้เป็น ตันติอาจารย์ (อาจารย์ผู้สอนพระพุทธพจน์) ซึ่งชำนาญในพระบาลีพร้อมทั้ง อรรถกถา

    อย่าลืม ไม่ใช่ใครก็ได้ อ่านเอา แต่ว่าต้องในสำนักของกัลยาณมิตรผู้บรรลุ พระอรหัต หรือในพระอนาคามิผล รูปใดรูปหนึ่ง โดยกำหนดอย่างต่ำที่สุด แม้ผู้ที่เป็นตันติอาจารย์ คือ อาจารย์ผู้สอนพระพุทธพจน์ ซึ่งชำนาญในพระบาลีพร้อมทั้งอรรถกถา ต้องรู้ลักษณะสภาพของจิตที่สงบและจิตที่ไม่สงบ และรู้หนทางที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะจริงๆ ที่สามารถจะเป็นเหตุให้จิตสงบขึ้นได้

    แต่เมื่อไม่ได้กัลยาณมิตรเช่นนั้น ในวิหารเดียวกัน พึงไปยังที่อยู่ของท่าน แล้วเรียนเอาเถิด

    แล้วแต่ว่าจะพบบุคคลใด

    บรรดาวิธีการเหล่านั้น การชำระศีล ๕ ให้หมดจด ปลิโพธ การตัดปลิโพธ และวิธีการเข้าไปสู่สำนักของอาจารย์แม้ทั้งหมดนั้น ข้าพเจ้า (คือ ท่านพระพุทธโฆษาจารย์) กล่าวไว้โดยพิสดารแล้วในปกรณ์วิสุทธิมรรค เพราะฉะนั้น พึงทราบกิจนั้น โดยนัยที่กล่าวแล้วในปกรณ์วิสุทธิมรรคนั้นนั่นแหละ

    เรื่องของการเข้าไปสู่สำนักของอาจารย์ และการตัดปลิโพธ เป็นเรื่องที่ละเอียด ที่ต้องกระทำด้วยกุศลจิตที่จะรู้ว่า สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร

    สำหรับการที่จะเริ่มเจริญกายคตาสติ มีข้อความว่า

    วจสา คือ บอกโดยวาจา มี ๓ วิธี คือ

    ก็อาจารย์ผู้บอกกัมมัฏฐาน พึงบอกโดยวิธีการ ๓ อย่าง คือ สำหรับภิกษุที่เรียนกัมมัฏฐานตามปกติ ในวาระที่เธอมานั่งแล้ว อาจารย์พึงให้เธอทำการสาธยายครั้งหนึ่ง หรือสองครั้ง แล้วจึงบอก

    ไม่ใช่ว่าท่องไปเฉยๆ แต่จะต้องมีการอธิบายด้วย ซึ่งการอธิบายก็จะไม่พ้น จากเรื่องของการพิจารณาในสภาพความเป็นปฏิกูลต่างๆ เพื่อที่จะให้จิตสงบ

    สำหรับภิกษุผู้ที่ต้องการจะอยู่ในสำนักเรียนเอากัมมัฏฐาน อาจารย์พึงบอกในเวลาที่เธอมาแล้ว มาแล้ว

    คือ แล้วแต่ว่าจะไปสู่อาจารย์ขณะไหน ถ้าอยู่ในสำนักเดียวกัน อาจารย์ก็บอกในขณะที่ผู้นั้นไปหา

    สำหรับภิกษุผู้ต้องการจะเรียนแล้วไปที่อื่น อาจารย์พึงบอกกัมมัฏฐาน อย่าให้ยุ่งยาก อย่าให้สงสัย โดยไม่ทำให้พิสดารเกินไป และไม่ย่อเกินไป

    นี่จะต้องเป็นผู้ที่รู้หนทางจริงๆ เพราะเป็นผู้ที่ได้อบรมแล้ว เจริญแล้ว รู้ความต่างกันของกุศลจิตและอกุศลจิตแล้ว จึงสามารถที่จะรู้ว่า อย่าให้ยุ่งยาก อย่าให้สงสัย ไม่ทำให้พิสดารเกินไป และไม่ย่อเกินไปสำหรับแต่ละบุคคลนั้นคืออย่างไร

    ถามว่า เมื่อจะบอก อาจารย์พึงบอกอย่างไร

    ตอบว่า พึงบอกอุคคหโกสล ๗ อย่าง และมนสิการโกสล ๑๐ อย่าง ใน ๒ อย่างนั้น อาจารย์พึงบอกอุคคหโกสล ๗ อย่าง อย่างนี้คือ วจสา (โดยวาจา) มนสา (โดยใจ) วณฺณโต (โดยสี) สณฺฐานโต (โดยสัณฐาน) ทิศโต (โดยทิศ) โอกาสโต (โดยโอกาส) ปริจเฉทโต (โดยปริจเฉท)

    ไม่ใช่ท่องเฉยๆ แม้แต่ในขั้นต้น และลำดับไปแต่ละอย่าง แต่ละอาการ คือ สำหรับผม มีลักษณะอย่างไร ตั้งอยู่ในทิศไหน เป็นต้น และยังมีข้อความอีกมาก แต่ก็ต้องเป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา พิจารณาจนกระทั่งรู้ความต่างกันของจิตที่เป็นอกุศล ไม่สงบ กับจิตที่เป็นกุศลแล้ว จิตที่สงบยิ่งขึ้น



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๘๘ ตอนที่ ๘๗๑ – ๘๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 81
    28 ธ.ค. 2564