แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 895


    ครั้งที่ ๘๙๕


    คำว่า สัมมาสติ ทุกท่านก็รู้คำแปล สัมมา แปลว่าถูก แปลว่าชอบ สติ เป็นสภาพที่ระลึกรู้ เพราะฉะนั้น สัมมาสติ ท่านก็แปลได้ว่า ได้แก่ สภาพธรรมที่ระลึกชอบ ระลึกถูก ทุกคนรู้ความหมายนี้ แต่ว่าระลึกถูกอะไร ระลึกชอบอะไร

    กำลังเห็น รูปธรรมที่ปรากฏทางตาไม่ใช่นามธรรม ไม่ใช่สภาพรู้ สัมมาสติ ระลึกถูกลักษณะของนามธรรม เวลาที่ระลึกลักษณะที่เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ที่กำลังเห็น สัมมาสติระลึกถูกลักษณะของรูปธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ที่ไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ใช่อาการเห็น ไม่ใช่ธาตุเห็น ขณะนั้นเป็นสัมมาสติที่ระลึกถูก ระลึกชอบ ตรงตามลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    แต่ท่านท่อง เพราะคิดว่าท่านต้องท่อง ท่านผู้ใดที่คิดว่าต้องท่อง ท่านก็ท่อง แทนที่สัมมาสติจะเกิดขึ้นระลึกถูกตรงลักษณะของนามธรรม ระลึกถูกตรงลักษณะของรูปธรรม ซึ่งถึงแม้ว่าท่านจะได้ยินอย่างนี้บ่อยๆ สักร้อยครั้ง พันครั้ง หมื่นครั้ง แสนครั้ง สัมมาสติก็ไม่ได้เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม เพราะท่านคิดว่า ท่านจำเป็นต้องท่อง และเวลาที่ท่านยึดติดในความคิดที่เป็นแบบฉบับอย่างนี้ ท่านก็ท่องอยู่อย่างนั้น แต่ถ้าท่านพิจารณาสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่เป็นอนัตตา รู้ว่าความคิดที่คิดอย่างนั้นก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เพราะในขณะนั้นสัมมาสติยังไม่ได้ระลึกถูกตรงลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรม เป็นแต่เพียงขั้นคิดถึงเรื่อง ถึงลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ถ้ามีปัญญาที่พิจารณารู้อย่างนี้ ต่อไปแทนที่จะคิดถึงเรื่อง หรือท่อง ก็จะเป็นสัมมาสติขั้นที่ระลึกถูกลักษณะของนามธรรม หรือว่าระลึกถูกลักษณะของรูปธรรม

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เป็นกฎเกณฑ์ว่า ต้องท่อง แต่ให้รู้ว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย บังคับไม่ได้ที่จะไม่ให้ความคิดอย่างนี้เกิดขึ้น ซึ่งความคิดที่เกิดขึ้นอย่างนั้น ยังไม่ใช่สัมมาสติในมรรคมีองค์ ๘ จนกว่าจะมีสภาพธรรมที่ระลึกถูกลักษณะของนามธรรม ระลึกถูกลักษณะของรูปธรรม และสัมมาทิฏฐิก็จะพิจารณาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่สัมมาสติระลึก จนกว่าปัญญาจะรู้ชัดในลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ฉันใด ถ้าท่านมีความเข้าใจถูกต้องในเรื่องลักษณะของเมตตา วันหนึ่งๆ เห็นก็คิดแล้วถึงคนที่เห็น ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ชาติ ชั้นวรรณะ ภาษา หรือฐานะต่างๆ กิริยาอาการที่ปรากฏต่างๆ กัน ถ้าสติสัมปชัญญะระลึกรู้ลักษณะของจิตที่คิดในขณะนั้นจะรู้ว่า เป็นโลภมูลจิตที่คิด โดยปราศจากมานะ หรือว่าประกอบด้วยมานะ หรือว่าเป็นโทสมูลจิตที่คิด ประกอบด้วยความตระหนี่ หรือประกอบด้วยความริษยา ในขณะที่เห็นสัตว์นั้น บุคคลนั้น และ การอบรมเจริญ คือ การเกิดขึ้นบ่อยๆ เนืองๆ เพิ่มขึ้น

    เพราะฉะนั้น ถ้าเมตตาเกิดในขณะที่เห็นบุคคลหนึ่ง และสามารถที่จะเกิดเวลาที่เห็นบุคคลอื่น หรือคิดถึงบุคคลอื่นในชีวิตประจำวัน นั่นคือเมตตาเกิดเพิ่มขึ้น เจริญขึ้น บ่อยขึ้น จนกว่าสามารถที่จะสงบได้จริงๆ

    ข้อสำคัญที่สุด สมถภาวนา คือ การอบรมเจริญความสงบ เพราะฉะนั้น ลักษณะของความสงบที่ประกอบด้วยเมตตา ต้องปรากฏให้รู้ในขณะนั้น ไม่ใช่นึกถึงคนอื่นแล้วเลื่อนลอย เลื่อนลอยมีลักษณะที่ปรากฏให้รู้แล้วว่าเป็นอกุศลในขณะนั้น ซึ่งแทนที่จะให้เป็นอกุศล ก็เจริญเมตตาโดยนึกถึงบุคคลนั้นด้วยเมตตา

    ถ. อาจารย์เปรียบเทียบกับการเจริญสติปัฏฐาน แรกๆ การท่องก็เป็นประโยชน์ เห็นครั้งหนึ่งก็ท่องว่า นี่สี เป็นสภาพที่ปรากฏได้ทางตา หรือท่องว่า นี่คือนามเห็น

    สุ. ขอประทานโทษ ไม่ใช่ว่าไม่มีประโยชน์ มีประโยชน์ แต่ไม่ใช่สัมมาสติ ในมรรคมีองค์ ๘ และไม่ใช่กฎเกณฑ์ว่าต้องท่อง เพราะถ้าเป็นกฎเกณฑ์ บางท่านก็ยึดติดทันที แทนที่สัมมาสติจะระลึกถูกลักษณะของนามธรรม ถูกลักษณะของรูปธรรม ท่านผู้นั้นก็ท่อง เพราะคิดว่าการท่องเป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้น ก็ท่องอยู่เรื่อยๆ

    ถ. ก็มีประโยชน์จริงๆ

    สุ. มีประโยชน์ แต่ต้องรู้ว่าเกิดเพราะเหตุปัจจัย ยังไม่ใช่สัมมาสติในมรรค มีองค์ ๘ และควรที่จะได้พิจารณาว่า อะไรมีประโยชน์กว่ากัน สัมมาสติที่เป็นสัมมาสติในมรรคมีองค์ ๘ ที่ระลึกถูกในลักษณะของนามธรรม ระลึกถูกในลักษณะของรูปธรรม ในขณะที่ไม่ใช่ท่อง นั่นมีประโยชน์กว่าหรือเปล่า

    ถ. แน่นอน แต่ว่าปัญญายังไม่ถึง

    สุ. ไม่ถึง แสดงว่ามีเหตุปัจจัยให้คิด แต่ในขณะนั้นปัญญาต้องรู้ด้วยว่า ยังไม่ใช่สัมมาสติในมรรคมีองค์ ๘ เพราะฉะนั้น ขณะใดมีปัจจัยที่จะให้สัมมาสติระลึกถูก ขณะนั้นจะทราบว่า ปัญญาที่จะอบรมเจริญขึ้นได้ คือ ในขณะที่สัมมาสติระลึกถูกลักษณะของนามธรรม หรือระลึกถูกลักษณะของรูปธรรม ซึ่งไม่ใช่ท่อง

    ถ. ถ้าท่องบ่อยๆ นานๆ จนสติเกิดบ่อยครั้ง มากครั้ง ก็พิจารณาของเขาเอง ด้วยความชำนาญของเขาเอง

    สุ. ชำนาญในการคิด แต่ไม่ใช่ชำนาญที่สติจะระลึกถูกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม

    ถ. ถ้าสติเกิดมากแล้ว ขณะที่คิดก็รู้ว่า เป็นเพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง รู้ได้เหมือนกัน

    สุ. ไม่ควรที่จะเข้าใจว่า เป็นสิ่งที่จะต้องกระทำ แต่ควรจะเข้าใจให้ถูกว่า ขณะที่คิดเกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย จะคิดอย่างไรก็ตาม เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และปัญญารู้ต่างหากว่า นี่ไม่ใช่สัมมาสติที่ระลึกถูกในลักษณะของนามธรรมหรือในลักษณะของรูปธรรม ปัญญาที่รู้อย่างนี้ พิจารณาอย่างนี้ เข้าใจอย่างนี้ จะเป็นปัจจัยให้สัมมาสติระลึกถูกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม แต่ถ้าท่องไปเฉยๆ อยู่เรื่อยๆ และคิดว่าขั้นการท่องมีประโยชน์ เมื่อเห็นว่า เป็นประโยชน์อย่างนี้แล้ว จะไม่มีสัมมาสติที่ระลึกถูกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม

    ถ. ถ้าท่องบ่อยๆ จนกระทั่งสติเกิดบ่อยขึ้น วันหนึ่งจะรู้ได้ว่า สัมมาสติต้องเกิดขึ้นได้

    สุ. ท่อง หรือพิจารณารู้ว่า ขณะที่กำลังท่องไม่ใช่สัมมาสติที่ระลึกถูก

    ถ. เมื่อท่องไปบ่อยๆ ทีแรกๆ ไม่ใช่ว่าวันหนึ่งๆ ท่องได้หลายๆ ครั้ง ก็หลงลืมกันไปเรื่อย ขณะที่ท่องได้ ขณะนั้นแสดงว่า ไม่ได้หลงลืม ขณะนั้นมีสติแล้ว จึงท่องได้

    สุ. แต่ไม่ใช่สัมมาสติในมรรคมีองค์ ๘

    ถ. ใช่ แต่ว่าขั้นแรก สติเมื่อเกิดบ่อยเข้าๆ ขณะที่ท่อง ขณะนั้นเขาก็ระลึกได้ว่า ลักษณะที่ท่องก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง สัมมาสติก็จะเกิดต่อไป

    สุ. แทนที่ท่านจะเสียเวลานานในการท่อง สัมมาสติเริ่มระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม แม้ว่าจะยังไม่ชัด แม้ว่าจะยังไม่ตรง แม้ว่าจะยังไม่ถูก แต่ก็เริ่มที่จะน้อมไปรู้ลักษณะของนามธรรมโดยที่ในขณะนั้นไม่ใช่ท่อง ย่อมดีกว่าที่จะคิดว่า ต้องท่องเสียก่อน หรือดีกว่าที่จะไปยึดติดว่า ท่องมีประโยชน์ แล้วแต่สติจะเกิด ถ้าเป็นสติที่เป็นสัมมาสติที่สามารถระลึกถูกลักษณะของนามธรรม ขณะนั้นดีที่สุดแล้ว

    ถ. แน่นอน ถ้าระลึกได้ พิจารณาได้ว่า สภาพที่ปรากฏนั้นเป็นรูปหรือ เป็นนาม เป็นปัญญาอีกขั้นหนึ่ง แต่ผู้ที่ปฏิบัติใหม่ๆ ปัญญาขั้นนี้ยังไม่ถึง

    สุ. ผู้ที่ปฏิบัติใหม่ๆ มีหลายอัธยาศัย เพราะฉะนั้น ถ้าได้เข้าใจให้ถูกต้องว่า สัมมาสติมีลักษณะอย่างไร แม้ว่าในตอนแรกๆ ยังไม่ชำนาญ ยังไม่คล่อง แต่ก็ยังรู้ลักษณะที่จะน้อมไประลึก เพื่อที่จะรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมที่กำลังเห็น หรือที่กำลังได้ยิน แม้ว่ายับยั้งการคิดไม่ได้ แต่อย่าไปยึดถือว่าเป็นประโยชน์จนกระทั่งเป็นกฎเกณฑ์ว่า จะต้องคิดมากๆ เพื่อที่จะได้เป็นสัมมาสติในภายหลัง

    ผู้ฟัง ผมฟังแล้วรู้สึกว่า เป็นการอยากได้ปรมัตถ์ แต่ว่าพลาดไปได้บัญญัติ โดยเข้าใจว่าบัญญัติเป็นปรมัตถ์ ที่บอกว่าท่อง ฟังแล้วเหมือนกับว่า ยังเข้าใจภาวะของสัมมาสติไม่พอ เหมือนกับที่ว่า เห็นหนอ เห็นหนอ ยุบหนอ พองหนอ ท่องทำนองนี้ ท่องให้ตายก็ยังเป็นบัญญัติอยู่วันยังค่ำ ผิดเป้าหมายของการเจริญ สติปัฏฐาน และถ้าคลาดเคลื่อนจากทางนี้ไป เข้าใจว่าจะไปไกล แต่ไปเพียงเล็กน้อย เพราะฉะนั้น ที่หวังปรารถนาจิตที่มีเมตตา หรือเป็นกุศล จิตที่เป็นกุศลเกิดได้แสนยากจริงๆ เพราะถ้าจิตที่เป็นกุศลเกิดขึ้นแล้ว ผมมักจะเห็นในสติปัฏฐาน ถ้าไม่เห็นใน สติปัฏฐานก็ยากที่จะตัดสินว่า ขณะไหนเป็นกุศล ขณะไหนเป็นอกุศล

    ถ. ที่อาจารย์บรรยาย ต้องมีสาเหตุจากการได้ยิน ได้ฟัง อะไรต่างๆ นี้ เป็นสาเหตุ ถ้าคนไม่มีสติ ได้ยินโดยมากก็ขาดสติ ตัวอย่างเช่น ผมนั่งรถมา รถมอเตอร์ไซค์วิ่งแซงหน้าแซงหลัง ได้ยินเสียงแล้วหนวกหู ความโกรธเกิดขึ้น ไม่มีเมตตา แต่เมื่อสติเกิดขึ้น นึกขึ้นว่า ขออย่าให้เขาไปชนอะไรเลย เป็นลักษณะของเมตตาที่เราอบรมไว้ แม้กระทั่งได้ยิน ได้เห็น อะไรพวกนี้ ต้องประกอบด้วยสติ มิฉะนั้น ความเมตตาก็ไม่เกิด

    สุ. เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญความสงบ อย่างเมตตาภาวนา เป็นต้น จะต้องประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ และข้อสำคัญ คือ ต้องพิจารณาตามความเป็นจริงว่า ถ้าเมตตาไม่สามารถจะเกิดได้กับบุคคลหนึ่ง จะไปถึงขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

    ใน วิสุทธิมรรค มีชัดเจนเรื่องของการแผ่เมตตา ซึ่งขอกล่าวถึงการอบรมเจริญเมตตาจนกระทั่งบรรลุอัปปนาแล้ว ข้อความมีว่า

    ก็พระโยคีนั้นมีใจไปร่วมกับเมตตา ด้วยสามารถปฐมฌานเป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง แผ่ไปทั่วทิศหนึ่งอยู่ ทั่วทิศที่ ๒ ก็เหมือนกัน ทั่วทิศที่ ๓ ก็เหมือนกัน ทั่วทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน ทั้งทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง และทิศกว้าง ก็แผ่ไปโดยนัยนี้ พระโยคีแผ่ไปตลอดโลก ซึ่งมีสัตว์ทุกหมู่เหล่า โดยความเป็นผู้มีตนอยู่ในสัตว์ ทุกจำพวก ในที่ทุกสถาน ด้วยทั้งใจที่ไปร่วมกับเมตตาอันไพบูลย์ อันถึงความเป็นใหญ่หาประมาณไม่ได้ ไม่มีเวร ไม่มีความคับแค้นอยู่ ก็อัปปนาอันมีกิริยาต่างๆ นี้ ย่อมสำเร็จเฉพาะแก่ท่านผู้มีจิตถึงอัปปนาแล้ว ด้วยสามารถปฐมฌานเป็นต้นเท่านั้น

    ข้อความต่อไปอธิบายถึงการแผ่โดยเจาะจงและการแผ่โดยไม่เจาะจงว่า การแผ่โดยเจาะจงมีลักษณะอย่างไร การแผ่โดยไม่เจาะจงมีลักษณะอย่างไร

    ข้อความต่อไป เป็นหัวข้อว่า วิกุพพนาสำเร็จแก่ผู้ได้อัปปนาจิต

    วิกุพพนา คือ การประกอบด้วยเมตตาอาการต่างๆ

    ก็แหละวิกุพพนานี้ ย่อมสำเร็จเฉพาะแก่ผู้มีจิตที่บรรลุอัปปนาแล้ว ฉันใด แม้คำที่ท่านสารีบุตรกล่าวไว้ในปฏิสัมภิทาว่า เมตตาเจโตวิมุตติที่แผ่ไปไม่เจาะจงโดยอาการ ๕ เมตตาเจโตวิมุตติที่แผ่ไปเจาะจงโดยอาการ ๗ เมตตาเจโตวิมุตติที่แผ่ไป ทั่วทิศโดยอาการ ๑๐ ดังนี้ ก็พึงทราบว่า ย่อมสำเร็จแก่พระโยคีผู้มีจิตที่บรรลุ อัปปนาแล้วเหมือนกัน ฉันนั้น

    ข้อความต่อไป กล่าวถึงการแผ่เมตตาไม่เจาะจงโดยอาการ ๕ ซึ่งมีข้อความว่า

    ขอสัตว์ทั้งปวง จงไม่มีเวร ไม่มีความคับแค้น ไม่มีความลำเค็ญ อยู่เป็นสุข รักษาตนเถิด

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญกุศลเป็นเรื่องที่ละเอียด ถ้าเป็นเรื่องอบรมเจริญเมตตา ผู้ที่จะอบรมเจริญเมตตาจะต้องรู้ว่า ตัวท่านมีเมตตาขนาดไหน หรือว่ายังขาดเมตตาอยู่มาก ก็ค่อยๆ อบรมให้เพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อยๆ จริงๆ จนกระทั่งท่านสามารถจะรู้ว่า คนที่เคยเป็นที่รักก็ดี หรือคนที่เคยเป็นที่ชังก็ดี หรือคนที่เป็นที่เฉยๆ ก็ดี ซึ่งท่านอาจจะเคยคิดด้วยความไม่สนใจ ไม่เอาใจใส่ในบุคคลนั้น แต่เวลาที่เมตตาเจริญขึ้น ไม่ว่าในขณะที่เห็น ในขณะที่ได้ยิน หรือว่าในขณะที่นึกถึงบุคคลหนึ่ง บุคคลใด จิตที่คิดถึงบุคคลนั้น ประกอบด้วยเมตตาพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะจริงๆ

    นี่เป็นการอบรมเจริญกุศลที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะที่จะรู้ตามความเป็นจริงว่า เริ่มละคลายอกุศลที่ประกอบด้วยโลภะและอกุศลธรรมอื่นๆ ซึ่งย่อมเกิดเมื่อปราศจากเมตตา แต่ต้องเริ่ม โดยการที่ไม่ว่าจะนึกถึงใครระลึกได้ว่า ขณะนั้นจิตเป็นเมตตาหรือเป็นอกุศล หรือว่าขณะที่เห็นใครก็ตามเริ่มระลึกได้ว่า เป็นอกุศลหรือว่าเป็นจิตที่เมตตา เป็นสภาพธรรมที่เกิดจริงๆ มีสัตว์ มีบุคคลที่ปรากฏจริงๆ ทางตาที่เห็น ทางหูที่ได้ยิน หรือว่าทางใจที่คิดนึก

    ถ. ถ้าเราเดินไปบนถนน เดินสวนกับคนที่ไม่รู้จัก เราจะทำจิตให้มีเมตตายาก จะมนสิการอย่างไร

    สุ. เวลาที่เห็นเพื่อน กับเห็นศัตรู ความรู้สึกต่างกันไหม

    ถ. ต่างกัน

    สุ. เพราะฉะนั้น เหมือนเห็นเพื่อน เป็นผู้ที่มีไมตรี มีอาการที่อ่อนโยน

    ถ. เห็นคนที่ไม่รู้จักกัน

    สุ. พร้อมที่จะเกื้อกูล ที่จะนำประโยชน์ให้

    ถ. เขาไม่ได้เดือดร้อนอะไร

    สุ. เวลานั้นไม่มี แต่พร้อมที่จะเกื้อกูล หรือว่านำสิ่งที่เป็นประโยชน์สุขไปให้ แค่นี้ยังทำยาก ใช่ไหม

    ถ. ทำยาก

    สุ. เพราะฉะนั้น เริ่มจากตรงนี้ จนกว่าจะง่ายขึ้น จนกว่าจะเพิ่มขึ้น นี่เป็นการเริ่มจริงๆ และจะมีประโยชน์มาก

    ถ. ถ้าเราเห็นคนที่ไม่รู้จัก เราก็นึกในใจว่า ขอให้บุคคลนี้จงเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน ไม่เห็นจะมีความเสียหายอะไร

    สุ. เวลาที่ท่อง ขณะนั้นจิตกำลังรู้คำ ซึ่งขณะที่กำลังรู้คำ กับขณะที่กำลังประกอบด้วยเมตตา มีความรู้สึกเหมือนเป็นเพื่อนกับบุคคลนั้นโดยที่ไม่ต้องท่องเป็นคำ อย่างไหนจะเป็นสภาพของเมตตาที่ปรากฏจริงๆ

    ถ. แน่นอน ขณะที่มีความเป็นเพื่อนนั้นเป็นเมตตาจริงๆ แต่เขาผู้นั้นก็ไม่ได้มีความเดือดร้อนอะไร และไม่ต้องการความช่วยเหลืออะไรจากเรา จะให้เรามีจิตที่ประกอบด้วยเมตตากับเขานั้น ปฏิบัติไม่ถูก

    สุ. จะทราบได้อย่างไร เขาอาจจะหกล้มลงไปตรงนั้นก็ได้ ของที่เขาถืออาจจะตกลงไปก็ได้ อะไรอาจจะเกิดขึ้นก็ได้

    ถ. ถ้าเขาล้ม หรือของเขาตก ขณะนั้นเราช่วยเขาได้ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะ เราก็ช่วยเขาได้ แต่ถ้าไม่มีอะไรเกิดขึ้น จะทำอย่างไร จะโยนิโสอย่างไร

    สุ. ขอประทานโทษ เวลานี้ทุกท่านกำลังนั่งอยู่ที่นี่ ยังไม่มีอาการป่วยไข้ ได้เจ็บอะไรเลย แต่ความรู้สึกในใจของท่าน เวลาที่เห็นแต่ละท่านที่นั่งอยู่นี้ มีความรู้สึกเป็นมิตรด้วย ในขณะนั้นก็เป็นจิตที่ประกอบด้วยเมตตาแล้ว



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๙๐ ตอนที่ ๘๙๑ – ๙๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 81
    28 ธ.ค. 2564