แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 659


    ครั้งที่ ๖๕๙


    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร คฤหบดีบุตร ภรรยาผู้เป็นทิศเบื้องหลัง อันสามีบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์สามีด้วยสถาน ๕ คือ จัดการงานดี ๑ สงเคราะห์คนข้างเคียงของสามีดี ๑ ไม่ประพฤตินอกใจสามี ๑ รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้ ๑ ขยันไม่เกียจคร้านในกิจการทั้งปวง ๑ ฯ

    นี่เป็นสภาพของธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ภรรยาใดจะอนุเคราะห์สามีด้วยสถาน ๕ คือ

    จัดการงานดี

    นั่นก็เป็นเพราะการสะสมอุปนิสสยปัจจัย ที่จะเกื้อกูลบุคคลที่ใกล้ชิดให้ได้รับความสะดวกสบาย

    และ สงเคราะห์คนข้างเคียงของสามีดี

    คนข้างเคียงหมายความถึงญาติ หรือมิตรสหายของสามี ขณะนั้นถ้าสติไม่เกิด จะรู้ไหมว่า เป็นผู้ที่สงเคราะห์ หรือไม่สงเคราะห์ในญาติ ในบุคคลที่ใกล้เคียง ซึ่งการที่จะดับกิเลสได้ ไม่ใช่ว่าโดยไม่รู้อะไรเลยตามปกติตามความเป็นจริง แต่ทุกขณะของการกระทำและคำพูดที่จะเกิดขึ้นเป็นไปอย่างไร เป็นความจริง เป็นสภาพธรรม ซึ่งสติจะต้องเกิดพร้อมกับการดำเนินชีวิตเป็นปกติจึงจะรู้ได้ว่า สภาพธรรมทั้งหมดแต่ละขณะ แม้แต่กุศล หรืออกุศลใดๆ ก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    ถ้าชีวิตจริงของท่านเป็นอย่างนี้ และสติก็ไม่เกิดเลย แต่คอยที่จะไปทำจิตให้สงบในสถานที่หนึ่งสถานที่ใด โดยหวังที่จะให้รู้ลักษณะเฉพาะบางนามธรรม บางรูปธรรมในขณะที่จิตกำลังสงบเท่านั้น และก็กลับมาเป็นผู้ที่ดำเนินชีวิตปกติในชีวิตประจำวันของท่านตามความเป็นจริง แต่ก็ยังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมในชีวิตปกติประจำวัน จะสามารถดับกิเลสได้อย่างไร

    เนื่องจากว่าชีวิตปกติประจำวัน เป็นปัจจัยของโลภะ ของโทสะ ของโมหะ ของมัจฉริยะ ของริษยา ของความเมตตา ของความกรุณา ของสภาพธรรมแต่ละอย่างที่แต่ละท่านสะสมมา ซึ่งเกิดขึ้นปรากฏตามความเป็นจริง ถ้าสติไม่เกิด ไม่ระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงตามปกติในชีวิตประจำวัน ย่อมไม่สามารถที่จะรู้แจ้งว่า สภาพธรรมทั้งหลายเหล่านั้นหาใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนใดๆ ไม่

    เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏโดยละเอียดจริงๆ โดยทั่วจริงๆ ไม่ว่าสภาพธรรมนั้นจะเป็นกุศลหรือเป็นอกุศลอย่างวิจิตร อย่างประณีตเพียงใดก็ตาม แม้แต่เวทนา ความรู้สึก ก็อาจจะเกิดสลับสับสนจนเกือบจะแยกไม่ออกเลยว่า เวทนาในขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศลอย่างไร และเมื่อสภาพของเวทนานั้นดับหมดไปแล้ว แม้ว่าจะตามใคร่ครวญถึงลักษณะของเวทนานั้น ก็ไม่สามารถที่จะบอกได้ว่า เวทนาขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศลอย่างไรกันแน่

    ที่เป็นอย่างนี้ ก็เพราะเหตุว่าสติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงในขณะที่สภาพธรรมนั้นกำลังปรากฏ และยังขาดการศึกษา การสังเกต การสำเหนียก รู้จริงๆ ว่า เวทนาใดเป็นกุศล เวทนาใดเป็นอกุศล เพราะแม้แต่เวทนาก็ต้องเป็นไปกับกุศลจิตและอกุศลจิต

    ถ. สมมุติว่า เรามีความสุขจากการกินอยู่หลับนอน หรืออะไรก็แล้วแต่ ร่างกายสบาย จิตใจผ่องใส ถ้าหากขณะนั้นไม่มีสติระลึกได้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง อย่างนี้ก็เป็นอกุศลใช่ไหม

    สุ. ถ้าความรู้สึกนั้นไม่ประกอบด้วยความผ่องใสที่เป็นกุศลจิต ในทาน ในศีล ในภาวนา ในขณะนั้นต้องเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ สังเกตได้ว่า เวทนาประเภทไหนเกิดมาก ถ้าไม่สังเกตเลย ก็หมายความว่าเต็มไปด้วยความไม่รู้ และยึดถือความรู้สึกต่างๆ ว่า เป็นเรา เป็นตัวตน

    ในวันหนึ่งๆ ความรู้สึกมีมากมายเหลือเกิน แต่ขาดความสังเกตที่จะรู้ว่า เป็นแต่เพียงสภาพความรู้สึกแต่ละอย่างที่เกิดขึ้น บางครั้งเป็นกุศล บางครั้งเป็นอกุศล แต่ส่วนมากเป็นอกุศล เพราะว่าอกุศลธรรมย่อมมีปัจจัยเกิดขึ้นบ่อยกว่ากุศลธรรม เป็นต้นว่า ความยินดีพอใจที่ได้เห็นดอกไม้สวยๆ เป็นธรรมดาในชีวิตใช่ไหม เป็นความรู้สึกดีใจ เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ยับยั้งไม่ได้เลยที่จะไม่ให้อกุศลธรรมเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย

    เพราะฉะนั้น หนทางเดียวที่จะกั้นกระแสของอกุศลได้ คือ ระลึก ศึกษา รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ชั่วขณะนั้นเป็นกุศลที่กำลังรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ และลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏให้รู้ส่วนมากก็จะเป็นอกุศลมากกว่ากุศล

    บางท่านตั้งใจว่า จะไม่มุสาเลย เป็นความตั้งใจที่เป็นกุศล แต่เวลามีเหตุการณ์เกิดขึ้น มุสาแล้ว สติเกิดขึ้นรู้ด้วยว่า ขณะนั้นเป็นอกุศลที่มุสา แต่ถ้าไม่มุสา ก่อนที่จะมุสา สภาพของจิตเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ถ้าสติไม่เกิดก็ไม่รู้ แต่ให้ทราบว่า อกุศลหลั่งไหลไปสู่อารมณ์ที่ปรากฏตลอดเวลา ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่เป็นอกุศลที่เบา ที่อ่อน ที่ไม่มีกำลังแรง เพราะฉะนั้น อาการของความเศร้าหมองในสภาพที่เป็นอกุศลก็ไม่ปรากฏ

    ถ. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน อาจารย์บรรยายไม่บ่อย ได้ฟังน้อยมากอยากจะให้อาจารย์บรรยายให้บ่อยเหมือนกับนามรูปอื่นๆ

    สุ. เพราะฉะนั้น ไม่อยากที่จะให้ลืมการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรมในชีวิตประจำวัน สติปัฏฐานไม่ใช่เป็นนามธรรมและรูปธรรมอื่น แต่ขณะนี้ เดี๋ยวนี้ ขณะที่กำลังพูด กำลังคุย กำลังอ่านหนังสือ หรือกำลังไปเที่ยว กำลังรื่นเริงสนุกสนานด้วยประการใดก็ตาม หรือว่ากำลังกระทำกิจการงานอย่างหนึ่งอย่างใด ทั้งหมดเป็นสติปัฏฐาน และเป็นชีวิตประจำวันจริงๆ

    ถ้าไม่กล่าวถึงชีวิตประจำวัน ก็ดูเสมือนว่า สติปัฏฐานต้องไปรู้อื่น ซึ่งไม่ใช่นามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ แต่เพราะว่าสภาพธรรมที่กำลังปรากฏไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลทั้งหมด จึงต้องกล่าวถึงชีวิตประจำวันของแต่ละคนตามความเป็นจริง เพื่อที่จะไม่ให้สติหลงลืม แต่ให้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม แต่ละขณะตามความเป็นจริง

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร คฤหบดีบุตร ภรรยาผู้เป็นทิศเบื้องหลัง อันสามีบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์สามีด้วยสถาน ๕ เหล่านี้ ทิศเบื้องหลังนั้น ชื่อว่าอันสามีปกปิดให้เกษมสำราญ ให้ไม่มีภัย ด้วยประการฉะนี้ ฯ

    ในยุคนี้รู้สึกว่า ปัญหาครอบครัวจะมีมาก แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็คงจะช่วยลดปัญหาลงได้

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร คฤหบดีบุตร มิตรผู้เป็นทิศเบื้องซ้าย อันกุลบุตรพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ ด้วยการให้ปัน ๑ ด้วยเจรจาถ้อยคำเป็นที่รัก ๑ ด้วยประพฤติประโยชน์ ๑ ด้วยความเป็นผู้มีตนเสมอ ๑ ด้วยไม่แกล้งกล่าวให้คลาดจากความจริง ๑ ฯ

    มิตรหรือเพื่อนนี่ขาดไม่ได้ เพราะฉะนั้น แต่ละท่านก็ต้องเป็นผู้กระทำกิจของมิตรต่อบุคคลอื่นได้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า มิตรเป็นทิศเบื้องซ้าย เพราะว่ามิตรเป็นผู้ที่ช่วยเหลือได้ในขณะที่มีกิจธุระจำเป็นต่างๆ เพราะถ้ามีมือขวามือเดียวก็คงทำกิจการงานไม่ถนัด หรือไม่สำเร็จไปด้วยดีตามความประสงค์ เพราะฉะนั้น แต่ละคนจะขาดมิตร คือ ผู้ที่ช่วยเหลือเกื้อกูลอุปการะกันไม่ได้

    ข้อความที่พระผู้มีพระภาคให้บำรุงมิตรด้วยสถาน ๕ คือ

    ด้วยการให้ปัน ๑

    เมื่อมีผู้ให้ ก็ต้องมีผู้รับ ถ้าขาดการให้การรับ ก็คงจะเป็นมิตรกันยาก ซึ่งการให้ก็มีหลายประการ ไม่ใช่ให้แต่วัตถุสิ่งของเท่านั้น สำหรับการรับก็เช่นเดียวกัน บางท่านอาจจะไม่ทราบว่า การที่ท่านไม่รับของของใครเลยนั้น เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล

    เคยเป็นผู้คิดที่จะไม่รับของของใครเลยบ้างไหม ดูเหมือนว่าเป็นกุศล แต่ในโลกนี้จะมีการให้ได้อย่างไรถ้าไม่มีการรับ และเมื่อคนหนึ่งคิดเสียแล้วว่าจะไม่รับ คนอื่นจะให้ได้ไหม ก็ให้ไม่ได้

    เพราะฉะนั้น เรื่องของการรับ ถ้าท่านผู้หนึ่งผู้ใดคิดที่จะไม่รับของของใครเลย ในขณะนั้นขอให้พิจารณาสภาพของจิตใจว่า เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล เพราะอะไรจึงไม่รับ มีความสำคัญตนหรือไม่ในขณะที่ไม่รับ หรือเป็นไปด้วยความเมตตากรุณาในบุคคลอื่น ไม่อยากให้เดือดร้อน ซึ่งคนที่เดือดร้อนก็คงจะไม่ให้ แต่จะเป็นฝ่ายรับ เพราะฉะนั้น คนที่จะให้ก็คงไม่เดือดร้อนจึงให้ได้ แต่ขณะที่ท่านไม่พร้อมที่จะรับอะไรของใครเลย ในขณะนั้นเป็นกุศล หรือว่าเป็นอกุศล

    เรื่องของอกุศล ถ้าไม่รู้ตามความเป็นจริงแล้ว ก็ไม่มีทางที่จะขัดเกลาออกได้ เพราะไม่เห็นว่าเป็นอกุศล แต่สภาพของความถือตน สำคัญตน หรือความเป็นผู้ที่มีมานะจะรู้ได้อย่างไรถ้าสติไม่เกิดขึ้นในขณะนั้นว่า สภาพของจิตเป็นเพราะอะไรที่ทำให้ไม่รับ ซึ่งถ้ารับก็จะเป็นปัจจัยให้ผูกไมตรีซึ่งกันและกันได้ เพราะฉะนั้น ควรจะรับไหม ทำให้คนอื่นสบายใจด้วยในการที่รับของๆ เขา ที่เขาคิดว่าจะเป็นประโยชน์กับท่าน มีความเป็นเพื่อนต่อกัน เพราะเป็นผู้ที่มีตนเสมอกัน คือ รับบ้าง ให้บ้าง ตามควรแก่โอกาส ไม่ใช่ว่าเป็นผู้สูงกว่าเสมอ โดยการเป็นเพียงแต่ผู้ให้ แต่ไม่ใช่ผู้รับ

    ใน อสัมปทานชาดก เอกนิบาต แสดงถึงเรื่องที่ท่านผู้ฟังอาจจะคิดว่า เล็กน้อย แต่ถ้าท่านพิจารณาเนื้อความแม้ว่าเป็นธรรมเล็กน้อย ก็จะเป็นประโยชน์สำหรับการที่จะศึกษารู้ลักษณะของสภาพจิตของท่านเองว่า ควรที่จะขัดเกลาอย่างไร

    เรื่องมีว่า

    ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคเสวยพระชาติเป็นสังขเศรษฐี ในกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ มีสมบัติ ๘๐ โกฏิ ในสมัยนั้น ท่านพระเทวทัตเกิดเป็นปิลิยเศรษฐี ในกรุงพาราณสี มีสมบัติ ๘๐ โกฏิเหมือนกัน เศรษฐีทั้งสองนั้นเป็นสหายทั้งที่ไม่เคยเห็นกันเลย ต่อมาภายหลังมีภัยใหญ่เกิดขึ้นกับปิลิยเศรษฐี ท่านเกิดยากจน ปิลิยเศรษฐีก็ได้พาภรรยาไปหาสังขเศรษฐี ซึ่งสังขเศรษฐีก็ได้ต้อนรับด้วยความยินดี ให้ที่กินที่อยู่ ที่พักอาศัยเป็นที่สบายทุกอย่าง พอล่วงไปได้ ๓ วัน ท่านสังขเศรษฐีก็ได้ถามท่าน ปิลิยเศรษฐีว่า การที่มานี้ด้วยประสงค์อะไร ปิลิยเศรษฐีก็ได้บอกว่า จะมาขอพึ่ง เพราะเหตุว่าทรัพย์สมบัติของตนพินาศหมดแล้ว สังขเศรษฐีก็เต็มใจมอบทรัพย์ให้ ๔๐ โกฏิ พร้อมทั้งสมบัติอื่นๆ และผู้คนบริวารเป็นอันมาก ปิลิยเศรษฐีก็ได้กลับไปอยู่ที่กรุงพาราณสี และก็ได้ตั้งตัวได้ เป็นมหาเศรษฐีขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

    ต่อมาอีกนาน ก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้สังขเศรษฐีนี้ยากจนลง ท่านก็คิดว่า ปิลิยเศรษฐีคงจะช่วยเหลือท่านบ้าง คงจะไม่ทิ้งท่าน เพราะเหตุว่าท่านได้เคยอุปการะปิลิยเศรษฐีไว้มาก ท่านก็ได้พาภรรยาไปที่กรุงพาราณสี แต่ว่าได้ให้ภรรยาพักรออยู่ที่ศาลานอกกรุงก่อน และท่านก็ได้ไปหาปิลิยเศรษฐี แต่ว่าปิลิยเศรษฐีไม่ต้อนรับปราศรัยท่าน ถามเพียงคำเดียวว่า มาเพื่อประสงค์อะไร ซึ่งสังขเศรษฐีก็ได้ตอบว่า มาเยี่ยม ปิลิยเศรษฐีก็ถามว่า พักที่ไหน สังขเศรษฐีก็ตอบว่า ยังไม่มีที่พัก ปิลิยเศรษฐีก็บอกเลยว่า ไม่มีที่จะให้พัก และได้ให้ผู้คนจัดข้าวสาร ๔ ทะนาน เป็นเสบียงให้ไปหุงต้มกินเอง และก็เชิญไปที่อื่น อย่าได้กลับมาหาอีก

    ซึ่งความจริงในวันนั้น ปิลิยเศรษฐีมีข้าวสาลีขึ้นฉางถึงพันเกวียน ไม่ควรที่จะให้ข้าวสารแก่เพื่อนเพียง ๔ ทะนานเท่านั้น เมื่อบ่าวไพร่คนนั้นได้นำข้าวสาร ๔ ทะนานไปห่อชายผ้าให้สังขเศรษฐี ก็ได้กระซิบบอกสังขเศรษฐีว่า สหายของท่านเป็นคนอกตัญญูเสียแล้ว

    ฝ่ายสังขเศรษฐีจึงคิดว่า เราควรจะรับข้าวสาร ๔ ทะนานนี้หรือไม่ ครั้งคิดอย่างนี้แล้ว ก็คิดต่อไปว่า ถ้าเราไม่รับข้าวสาร ๔ ทะนาน ก็ได้ชื่อว่า เราทำลายความเป็นมิตรก่อนเขา คนโง่เขลาทั้งหลายย่อมเสียความเป็นมิตรกัน เพราะไม่รับของเล็กน้อยที่มิตรให้ คิดแล้วก็รับข้าวสาร ๔ ทะนานไป แล้วได้กลับไปหาภรรยา

    ซึ่งภรรยาก็เสียใจร้องไห้เมื่อได้ทราบเรื่อง แล้วกล่าวว่า รับข้าวสาร ๔ ทะนานนี้มาทำไม ข้าวสาร ๔ ทะนานนี้ จะสมกับเงิน ๔๐ โกฏิของเราแล้วหรือ สังขเศรษฐีก็ได้ปลอบว่า ที่รับข้าวสาร ๔ ทะนานนี้มา ก็เพื่อที่จะรักษาความเป็นมิตรของฝ่ายเราไว้ ด้วยคิดว่า ความเป็นมิตรของคนไม่มีปัญญาย่อมเสียไป เพราะไม่รับของเล็กน้อย

    บ่าวไพร่ของสังขเศรษฐีที่สังขเศรษฐีให้กับปิลิยเศรษฐีไป ได้ทราบข่าว ก็ได้รับสังขเศรษฐีไปพักที่บ้าน ปรนนิบัติรับใช้ด้วยข้าวปลาอาหารที่ประณีต แล้วได้พากันไปร้องทุกข์ต่อพระเจ้าพาราณสี พระเจ้าพาราณสีตรัสให้เศรษฐีทั้งสองไปเฝ้า ทรงซักถาม เมื่อทรงทราบแล้ว ก็ได้ถอดปิลิยเศรษฐีออกจากตำแหน่ง ให้ริบทรัพย์สมบัติทั้งหมดให้แก่สังขเศรษฐี ซึ่งสังขเศรษฐีก็รับเฉพาะเงิน ๔๐ โกฏิ กับบ่าวไพร่ซึ่งเป็นของตนเท่านั้น นอกนั้นก็คืนให้กับปิลิยเศรษฐี แล้วท่านก็ได้กลับไปตั้งตัว เป็นเศรษฐีที่กรุงราชคฤห์จนสิ้นอายุ

    ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ต้องมีความอดทนเพียงไรสำหรับสังขเศรษฐีที่จะรับข้าวสาร ๔ ทะนานแทนเงิน ๔๐ โกฏิ แต่เป็นกุศลจิตที่คิดอย่างนั้น เพราะฉะนั้น แต่ละท่านจะเห็นได้ว่า บางท่านมีเพื่อนน้อย บางท่านมีเพื่อนมาก เพราะอะไร เพราะ กุศลจิตหรืออกุศลจิต ถ้าเห็นความสำคัญของเพื่อน เพราะว่าท่านมีจิตใจดี ท่านก็มีมิตรสหายมาก แต่ถ้าท่านเป็นผู้ที่เอาเปรียบ หรือว่ามีการถือตัว ไม่ทำตัวเสมอกับเพื่อนฝูง ขาดความเมตตา ท่านก็จะมีเพื่อนน้อย เพราะว่าท่านขาดไมตรี ขาดความอดทน และประกอบด้วยมานะที่ไม่กระทำตนเสมอกับบุคคลอื่นด้วย

    ด้วยเจรจาถ้อยคำเป็นที่รัก ๑

    คำพูดสำคัญไหม เป็นเพื่อนกัน แต่ถ้าใช้ถ้อยคำผิดหูนิดเดียว โกรธเสียแล้ว ไม่เป็นเพื่อนเสียแล้ว นี่เป็นชีวิตจริงๆ และขณะนั้นจะเป็นกุศลหรืออกุศลอย่างไร สติ ก็จะต้องระลึกรู้ตามความเป็นจริง อย่าข้ามไปที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม บรรลุนิพพานโดยไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง

    ถ้าท่านจะเป็นผู้ที่กล่าววาจาที่ไม่ไพเราะนั้นเอง ก็เป็นเพราะเหตุปัจจัย หรือท่านอาจจะได้ยินคำจากเพื่อนซึ่งเป็นคำหยาบคาย ทำให้รู้สึกระคายหู ทอนกำลังความรักหรือความสนิทสนมรักใคร่ที่มีต่อกัน ซึ่งไม่น่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไปได้เลย ในขณะนั้น ก็เป็นชีวิตจริง ที่สติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ นั่นแหละ จนกว่าปัญญาจะรู้ชัดจริงๆ ว่า แม้ขณะนั้นก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ตามปกติตามความเป็นจริง



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๖ ตอนที่ ๖๕๑ – ๖๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 43
    28 ธ.ค. 2564