แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 622


    ครั้งที่ ๖๒๒


    ใน สารัตถปกาสินี อรรถกถาของ พรหมเทวสูตร มีข้อความตอนท้ายว่า

    ก็มารดาของพรหมเทวเถระนั้น แม้เห็นบุตรแล้ว ออกจากเรือน ต้อนรับบุตรแล้ว นิมนต์ให้เข้าไปภายในเรือน นิมนต์ให้นั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้แล้ว

    บทว่า อาหุตึ นิจฺจํ ปคฺคณฺหาติ ได้แก่ นางพราหมณีย่อมให้การบูชา คือ ให้ก้อนข้าวตลอดกาลเป็นนิตย์

    หมายความว่าให้แก่พรหม

    ก็ในวันนั้น ในเรือนนั้นมีพลีกรรมแก่พวกภูต เรือนทั้งสิ้นปูลาดด้วยของสดเขียว สวยงาม คือ ไม่ใช่ดอกไม้แห้ง แต่ต้องเป็นดอกไม้สดใบไม้สด เรือนทั้งสิ้นปูลาดด้วยของสดเขียว เกลี่ยข้าวตอก แวดล้อมด้วยทรัพย์และดอกไม้ ยกธงชัยและธงปฏัก คือ ธงที่มีชายแหลม ตั้งหม้อน้ำที่ต้มไว้ในที่นั้น ๆ ติดประทีปด้ามไว้ ประดับประดาด้วยของหอม เครื่องลูบไล้และพวงดอกไม้ เป็นต้น ได้มีกระเช้าของหอมที่เขาตั้งไว้โดยรอบ นางพราหมณีแม้นั้นลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ แล้วอาบน้ำด้วยน้ำหอม ๑๖ หม้อ ได้ประดับประดาด้วยเครื่องประดับทุกอย่าง ในครั้งนั้น นางนิมนต์พระมหาขีณาสพให้นั่งแล้ว ไม่ได้ถวายข้าวยาคูแม้เพียงทัพพีหนึ่ง คิดว่า เราจักเลี้ยงดูมหาพรหม จักให้มหาพรหมบริโภค ดังนี้แล้ว จึงบรรจุจานทองคำให้เต็มด้วยข้าวปายาส ผสมด้วย เนยใส น้ำผึ้ง และน้ำตาลกรวด เป็นต้น นางได้ประดับพื้นที่ด้วยของสดเขียวที่ภายหลังเรือน นางถือจานใบนั้นแล้วไปในที่นั้น วางก้อนข้าวปายาสไว้ในท่ามกลางมุมทั้ง ๔ ก้อนละมุม ใช้มือข้างหนึ่งหยิบก้อนข้าวปายาสก้อนหนึ่ง มีเนยใสไหลอยู่จนถึงข้อศอก

    เป็นอาหารที่ประณีตมาก เพราะว่าใช้เนยใสซึ่งเป็นอาหารที่ประณีต

    ข้อความต่อไปมีว่า

    แล้วคุกเข่าลงบนพื้นดิน แล้วกล่าวอัญเชิญพระพรหมให้บริโภคว่า

    ขอเชิญท่านมหาพรหมผู้เจริญจงบริโภค ขอให้ท่านมหาพรหมจงได้มา ขอให้มหาพรหมผู้เจริญจงอิ่มหนำ ดังนี้

    สำหรับพระพรหมเทวะผู้เป็นพระอรหันต์และเป็นบุตร นางพราหมณีไม่ได้ถวายข้าวยาคูแม้แต่สักทัพพีหนึ่ง แต่ได้เอาข้าวปายาสนั้นไปเชื้อเชิญท้าวมหาพรหมให้บริโภค และหวังที่จะให้ท้าวมหาพรหมได้อิ่มหนำ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    บทว่า เอตทโหสิ ได้แก่ ความคิดเช่นนี้ได้มีแล้วแก่ท้าวสหัมบดีพรหม ผู้สูดกลิ่นศีลของพระมหาขีณาสพ ซึ่งได้ท่วมท้นเทวโลก ฟุ้งขึ้นไปจนถึงพรหมโลก

    กลิ่นข้าวปายาสจะไปถึงพรหมโลกซึ่งแสนไกลไหม ไกลมากทีเดียว ระหว่างมนุษย์กับพรหมโลก เพราะฉะนั้น กลิ่นทั้งหลายในโลกมนุษย์ไม่ถึงพรหม นอกจากกลิ่นศีล คือ กลิ่นของคุณธรรมของผู้ที่ทรงความเป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้น ท้าวมหาพรหมก็สูดกลิ่นศีลของพระมหาขีณาสพซึ่งได้ท่วมท้นเทวโลก ฟุ้งขึ้นไปถึงพรหมโลก

    บทว่า สํเวเชยฺยํ ได้แก่ พึงตักเตือน คือ พึงให้ประกอบในสัมมาปฏิบัติ มีคำอธิบายว่า ก็นางพราหมณีนี้ นิมนต์พระมหาขีณาสพซึ่งเป็นทักขิไณยบุคคลผู้เลิศให้นั่งแล้ว ไม่ได้ถวายข้าวยาคูแม้สักทัพพีหนึ่ง คิดอยู่ว่า เราจักให้ท้าวมหาพรหมบริโภค เที่ยวกระทำการพลีกรรมแก่ภูตอยู่ ดุจบุคคลทิ้งตาชั่งเสีย แล้วมาชั่งด้วยมือ ฉะนั้น ดุจบุคคลทิ้งกลองเสีย แล้วมาตีพุงฉะนั้น ดุจบุคคลทิ้งไฟเสีย แล้วมาเป่า หิ่งห้อย ฉะนั้น

    นี่คือบุคคลที่ไม่รู้คุณค่าของพระอรหันต์ กว่าจะอบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งสามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท ควรแก่การบูชาอย่างยิ่ง แต่เมื่อไม่รู้คุณค่าไม่เห็นว่า การประพฤติปฏิบัติกว่าที่จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์นั้นแสนยากยิ่ง ต้องอาศัยความอดทน ความเพียรอย่างไร ก็ไปบูชาบุคคลอื่น เช่น พรหม เพราะฉะนั้น จึงอุปมาเหมือนกับบุคคลทิ้งตาชั่งเสียแล้วมาชั่งด้วยมือ ดุจบุคคลทิ้งกลองเสียแล้วมาตีพุง ดุจบุคคลทิ้งไฟเสียแล้วมาเป่าหิ่งห้อย

    ซึ่งท้าวมหาพรหมก็ดำริว่า เราจักไปทำลายความเห็นผิดของนางเสีย ยกนางขึ้นเสียจากทางแห่งอบาย จะกระทำโดยประการที่ให้นางบริจาคทรัพย์ ๘๐ โกฏิไว้ในพระพุทธศาสนาแล้วขึ้นสู่ทางสวรรค์

    ข้อความต่อไปได้แสดงถึงระยะทางที่ไกลมาก ระหว่างมนุษย์โลกกับพรหมโลก ซึ่งมีข้อความว่า

    บทว่า ทูเร อิโต ความว่า ในที่ไกลจากที่นี้

    ซึ่งแสดงให้เห็นความห่างไกลของพรหมโลกกับมนุษย์โลก ด้วยอุปมาว่า

    จริงอยู่ ศิลาเท่าเรือนยอดตกจากพรหมโลก พึงถึงพื้นดินโดยเวลา ๔ เดือน อย่างนี้ พรหมโลกชั้นที่อยู่ต่ำกว่าพรหมโลกทั้งปวง ย่อมอยู่ในที่ไกลอย่างนี้

    นี่ย่อมอยู่ไกลกันมาก ขนาดศิลาเท่าเรือนยอดตกจากพรหมโลกกว่าจะมาถึงโลกมนุษย์นี้ก็ ๔ เดือน นี่สำหรับพรหมโลกที่อยู่ต่ำกว่าพรหมโลกชั้นสูงขึ้นไป เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า แสนไกลเกินกว่าที่จะคิดว่าจะติดต่อ หรือสนใจกันได้

    ตามธรรมดา ท่านย่อมจะติดต่อกับบุคคลผู้ใกล้ชิดมากกว่าคนที่ห่างไกล แต่พระพรหมอยู่ตั้งไกลแสนไกลอย่างนั้น จะมารู้เห็นเหตุการณ์สภาพชีวิตของท่าน ก็ย่อมเป็นสิ่งซึ่งไม่ควรแก่การสนใจของพระพรหม นอกจากเพื่อที่จะอุปการะ เช่น ท้าวสหัมบดีพรหมใคร่ที่จะอุปการะแก่นางพราหมณีผู้เป็นมารดาของท่านพระเถระ

    เพราะฉะนั้น ท่านที่คิดจะติดต่อกับพระพรหมซึ่งแสนไกล ก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า จะติดต่อได้จริงหรือเปล่า และกลิ่นในโลกนี้ก็ไม่สามารถที่จะไปถึง พระพรหม เพราะไกลกันมาก ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นอาหาร กลิ่นธูป กลิ่นเทียน กลิ่นดอกไม้ของหอม เครื่องบูชาต่างๆ ก็ไม่สามารถที่จะไปถึงได้ แต่กลิ่นที่จะถึงได้ คือ กลิ่นศีล ซึ่งสำหรับผู้ที่ได้อบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ก็ย่อมจะมีกลิ่นศีล ที่สามารถจะให้พระพรหมได้รู้ในข้อประพฤติปฏิบัติที่ทรงคุณธรรมอย่างยิ่ง

    ข้อความต่อไปมีว่า

    บทว่า ยสฺสาหุตึ ได้แก่ นางพราหมณีได้บูชาพระพรหมองค์ใด โลกของ พระพรหมองค์นั้นอยู่ในที่ไกล บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยในคำนี้ว่า พฺรหฺมปถํ ทางของพรหม ได้แก่กุศลฌาน ๔ ได้ชื่อว่าทางของพรหม ส่วนวิบากฌาน ชื่อว่า ทางดำเนินชีวิตของพรหมเหล่านั้น

    นี่คือการที่จะรู้จักพรหมจริงๆ ว่า การที่จะปฏิสนธิเกิดเป็นพรหมได้ ก็ต้องด้วยเหตุ คือ การอบรมเจริญสมถภาวนาจนกระทั่งบรรลุถึงกุศลฌาน ทั้งรูปฌานและ อรูปฌาน ชื่อว่าทางของพรหม ส่วนเมื่อปฏิสนธิแล้ว ผลของกรรมทำให้ดำรงความเป็นพรหมอยู่จนกว่าจะสิ้นเหตุ คือ ผลของกุศลนั้น จึงจะจุติ และพรหมไม่ต้องอาศัยการบริโภคอาหาร ไม่ต้องหายใจ เพราะฉะนั้น วิบากของพรหมหรือว่าทางดำเนินชีวิตของพระพรหม ก็คือ ผลของกุศลฌานนั่นเอง ท้าวสหัมบดีพรหมกล่าวอย่างนี้ว่า

    เจ้าไม่รู้ทางของพรหมนั้น จะกระซิบไปทำไม จะบ่นเพ้อไปทำไม เพราะเหตุว่า พรหมทั้งหลายย่อมดำเนินชีวิตด้วยฌานที่เกิดแต่ปีติ ย่อมไม่บริโภคสิ่งที่เกิดจากหญ้านั้น (หมายความถึงข้าวต่างๆ เช่น ข้าวสาลี) ย่อมไม่เคี้ยวกินเยี่ยงโค ท่านอย่าลำบากด้วยเรื่องไม่ใช่เหตุเลย

    ถึงท่านจะตระเตรียมอาหารอย่างประณีตอย่างข้าวปายาส และมุ่งจะให้ พระพรหมได้บริโภคอย่างอิ่มหนำ พระพรหมก็ไม่ได้บริโภคอาหารอย่างมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย เพราะว่าการเกิดเป็นพรหมนั้น รูปของพรหมเป็นรูปที่ละเอียดมาก ไม่ต้องอาศัยอาหารเป็นคำข้าวอย่างในมนุษย์ และไม่ต้องมีทุกข์ที่จะเกิดเพราะลมหายใจ

    ที่เราเจ็บไข้ได้ป่วย ก็เนื่องจากด้วยลมหายใจด้วยประการหนึ่ง บางครั้งถ้าเกิดหายใจไม่สะดวก ก็เป็นความทุกข์ทรมานอย่างยิ่ง แต่สำหรับพรหมแล้ว ไม่มีความเดือดร้อนในเรื่องที่จะต้องบริโภคอาหาร หรือว่าจะต้องหายใจ เพราะเหตุว่าเป็นรูปที่ละเอียดมาก เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังที่เคยสนใจในพรหม หรือเคยถวายข้าวเพื่อที่จะให้พรหมอิ่มหนำ หรือบูชาพรหมด้วยของหอมต่างๆ จะได้ทราบว่า ไกลกันมาก ยากแก่การที่จะติดต่อ เพราะฉะนั้น ควรที่จะพึ่งกรรมของตนเอง ไม่ใช่พึ่งกรรมของบุคคลอื่น เพราะเหตุว่าถ้าท่านไม่ได้กระทำกุศลกรรมไว้ ก็ไม่มีใครสามารถจะช่วยท่านได้เลย

    ผู้ฟัง ในครั้งพุทธกาล เท่าที่ผมจำได้มีอยู่ ๒ พรหม สหัมบดีพรหมที่มาอาราธนาพระผู้มีพระภาค กับพกาพรหมที่พระพุทธเจ้าขึ้นไปทรมาน นอกจากนั้นก็ไม่ได้ปรากฏในที่อื่น เป็นแต่เพียงกล่าวทั่วๆ ไป เรียกว่ามหาพรหมา เป็นต้น ความจริงคำว่า พรหม บางทีเขาก็เรียกว่า เทพ

    เทวกายา สมาคตา ศัพท์บาลีว่าอย่างนี้ กายท่านเรียกว่าหมู่ คือ หมู่ของเทพมาประชุมกันที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่

    สุ. จาก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค พรหมเทวสูตร คงจะตอบปัญหาของท่านผู้ฟังที่ถามว่า ในเมืองไทยมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากมาย เช่น เจ้าที่ พระภูมิ พระพรหม ท่านเหล่านี้มีจริงหรือ ช่วยได้จริงหรือ ถ้าเป็นจริง ทำไมชาติเราไม่เจริญเท่านานาประเทศซึ่งไม่ได้ดูหมอเข้าทรง แต่เขาเจริญรุ่งเรืองมาก ถ้าไม่ไหว้ไม่เซ่น จะมีโทษไหม

    ถึงเซ่นก็ไม่รู้ เพราะไกลมาก เพราะฉะนั้น ไม่มีโทษอะไรเลย ข้อสำคัญจะต้องระลึกรู้สภาพจิตของท่านว่า ท่านเซ่นเพื่ออะไร หวังอะไรไหม มีโลภะ มีความต้องการอะไรไหม แม้แต่นางพราหมณีที่อาบน้ำหอม ๑๖ หม้อ เตรียมเครื่องหอมต่างๆ ทุกอย่างเพื่อที่จะบูชาพรหม เพื่อที่จะให้พรหมบริโภค มีความหวัง มีความต้องการอะไรไหม หวังจะหมดกิเลสโดยการบูชาพรหมได้ไหม ในเมื่อปัญญาไม่เกิดขึ้น ไม่ระลึก ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง

    และถ้าจะหวังสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม ควรจะเป็นด้วยกรรมของตนเอง คือ กุศลกรรม ถ้าไม่ได้ทำกุศลกรรมไว้ ก็ไม่สำเร็จผลสมความมุ่งหมายใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ใช่ว่ากระทำอกุศลกรรมและก็ไปบูชาเซ่นสรวงสิ่งที่คิดว่าศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ หวังว่าจะได้รับผล นั่นเป็นความต้องการด้วยโลภะ ไม่รู้ในเหตุผลตามความเป็นจริง

    ขอกล่าวถึงข้อความที่ท้าวสหัมบดีพรหมได้กล่าวกับนางพราหมณี และได้สรรเสริญคุณของท่านพระพรหมเทวะที่ท่านเป็นพระอรหันต์ ซึ่งมีข้อความว่า

    ก็ท่านพระพรหมเทวะของท่านนั้น เป็นผู้หมดอุปธิกิเลส ถึงความเป็นอติเทพ ไม่มีกิเลสเป็นเครื่องกังวล มีปกติขอ ไม่เลี้ยงดูผู้อื่น

    พระอรหันต์ยิ่งกว่าเทพทั้งหลาย เป็นการดำเนินชีวิตที่บริสุทธิ์มากสำหรับผู้ที่สันโดษ มีปกติขอ ไม่เลี้ยงดูผู้อื่น ธรรมดาเวลากล่าวถึงผู้ที่ไม่เลี้ยงดูผู้อื่น ท่านก็คิดถึงพระภิกษุทั้งหลายซึ่งเป็นผู้ที่ไม่มีครอบครัวและไม่มีอาชีพที่จะไปเลี้ยงดูบุคคลอื่น แต่ข้อความในอรรถกถาได้อธิบายความหมายของการไม่เลี้ยงดูผู้อื่นว่า หมายความถึง ไม่ก่อให้เกิดขันธ์อื่นอีกในภพต่อๆ ไป ดังนั้น ถ้าบุคคลใดยังมีกิเลสอยู่ ชื่อว่าท่านยังเลี้ยงดูผู้อื่น เพราะเหตุว่าจะต้องมีนามขันธ์อื่น รูปขันธ์อื่นเกิดสืบต่อจากรูปขันธ์ นามขันธ์ที่ท่านยึดถือว่าเป็นตัวท่านในขณะนี้

    เพราะฉะนั้น ในขณะนี้นามขันธ์รูปขันธ์เกิดที่ท่านยึดถือว่าเป็นตัวท่าน เมื่อกิเลสยังมี ก็ชื่อว่าท่านยังเลี้ยงดูผู้อื่นข้างหน้าในอนาคต ซึ่งเมื่อจุติไปแล้ว สิ้นชีวิตไปแล้ว ก็จะต้องมีการเกิดอีก มีนามธรรม มีรูปธรรม มีขันธ์อื่นนอกจากขันธ์นี้ จึงยังชื่อว่า เป็นผู้เลี้ยงดูผู้อื่น

    ผู้ที่ชื่อว่าเลี้ยงดูผู้อื่นนั้น คือ ผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ กิเลสนั้นเองทำให้เลี้ยงดูผู้อื่น เพราะว่าเมื่อจุติแล้วก็จะต้องปฏิสนธิ มีการเกิดสืบต่อเป็นบุคคลอื่น ตลอดเรื่อยๆ ไป ทุกภพทุกชาติ

    สำหรับคำถามอีกข้อหนึ่งที่ว่า การเจริญกัมมัฏฐานเท่าที่ทราบจากญาติ ขนาดไปอยู่ที่สำนักปฏิบัติแห่งหนึ่ง พระท่านบอกว่า คนนี้จะเจริญกัมมัฏฐานได้ดี แต่เมื่อกลับมากลายเป็นคนซึมๆ เงียบๆ

    นี่เป็นเพราะเหตุว่าไม่ได้ศึกษาข้อปฏิบัติให้เกิดปัญญาของท่านเอง หลายท่านคิดว่า เมื่อท่านจะเจริญกัมมัฏฐาน ใช้คำว่าเจริญกัมมัฏฐาน แต่ก็ยังไม่ทราบว่า กัมมัฏฐานคืออะไร เจริญอย่างไร ก็ไปสู่สถานที่หรือสำนักปฏิบัติด้วยหวังว่า จะประพฤติตามคำที่ได้รับคำบอกเล่าว่าให้ทำอย่างนั้น หรือให้ประพฤติอย่างนี้ แต่ไม่ใช่เป็นการแสดงหนทางข้อปฏิบัติให้เกิดความเข้าใจสำหรับผู้ที่ปฏิบัติเอง เพราะฉะนั้น ปัญญาก็ไม่เกิดขึ้น แม้ในเบื้องต้น ก็ไม่ทราบว่าปฏิบัติเพื่ออะไร ถ้าเพื่อให้ปัญญาเกิดขึ้น แต่ยังไม่ทราบว่า ปัญญาที่จะเกิดขึ้นรู้อะไร เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ปัญญาของผู้ปฏิบัติเลย เพราะว่าไม่ได้มีการชี้แจงแสดงเหตุผลของข้อปฏิบัติให้ผู้ที่จะปฏิบัติได้เกิดความเข้าใจเสียก่อนว่า ปฏิบัติเพื่ออะไร ปัญญารู้อะไร และข้อปฏิบัติอย่างไรที่จะเป็นการอบรมให้ปัญญาสามารถที่จะเกิดขึ้นรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้

    เมื่อผู้ปฏิบัติไม่ศึกษาแม้ในหนทางปฏิบัติให้ได้เหตุผลของตนเองว่า เป็นหนทางที่ถูกต้อง มุ่งแต่เพียงจะไปปฏิบัติ จะไปทำตามที่ได้รับคำสั่งเท่านั้น ผลก็คือ ปัญญาไม่เกิด พร้อมกันนั้นอาจจะทำให้เข้าใจผิดในสภาพธรรมได้ เป็นผู้ที่ไม่เป็นปกติ ซึ่งก่อนไปก็ไม่ใช่เป็นคนที่ซึมๆ เงียบๆ แต่เมื่อไปแล้ว เพราะว่าไม่ใช่เป็นผู้ที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เมื่อกลับมาแล้ว จึงกลายเป็นคนที่ซึมๆ เงียบๆ ผิดจากปกติ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๓ ตอนที่ ๖๒๑ – ๖๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 43
    28 ธ.ค. 2564