แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 654


    ครั้งที่ ๖๕๔


    ธนสูตรที่ ๑ และธนสูตรที่ ๒ ใน อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต มีข้อความเรื่องอริยทรัพย์ ซึ่งได้แก่ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ และปัญญา ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว กุศลทั้งหมดเป็นทรัพย์ที่แท้จริง อกุศลไม่ใช่ทรัพย์เลย และไม่นำมาซึ่งทรัพย์ทั้งปวงด้วย เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะเจริญกุศลได้ยิ่งขึ้นจะต้องอาศัยศรัทธา ถ้าปราศจากศรัทธาเสียแล้ว ก็ไม่สามารถอบรมเจริญกุศลให้ยิ่งขึ้น แม้แต่ศรัทธาในการฟังธรรมหรือในการปฏิบัติธรรม

    เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นต้องมีพืช ศรัทธาเปรียบเหมือนพืช ถ้าไม่มีพืช ย่อมปลูกข้าวหรือปลูกพืชพรรณใดๆ ไม่ได้ทั้งสิ้น ศรัทธาในการฟังพระธรรม เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ถ้าขาดศรัทธาในขั้นต้น คือ ในขั้นการฟัง ย่อมไม่สามารถประพฤติปฏิบัติตามได้

    โภคทรัพย์ กับปัญญา หรืออริยทรัพย์ ท่านจะเลือกอย่างไหน

    สำหรับผู้ที่มีชีวิตดำเนินไปในสังสารวัฏฏ์ที่ยังไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ก็คง อดไม่ได้ที่จะเอาทรัพย์เผื่อไว้ก่อนในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ถ้าเป็นผู้ที่มั่นคงจริงๆ จะไม่หวั่นไหว แม้จะเอาทรัพย์ที่มีอยู่ทั้งหมดมาแลกกับปัญญาที่เริ่มเข้าใจในพระธรรมและสามารถที่จะอบรมเจริญปัญญาให้ยิ่งขึ้น ท่านจะไม่หวั่นไหวเลย เพราะว่าท่านมีความมั่นคงในกุศล

    แต่ว่ากุศลก็มั่นคงยากเหลือเกิน ลองคิดดู ถึงแม้ว่าบางท่านอาจจะทำกุศล เจริญกุศล ปรารถนาที่จะอบรมปัญญาให้ยิ่งขึ้น แต่กระนั้นกิเลสก็ยังคงมีกำลัง เพราะว่ายังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท

    เพราะฉะนั้น ในบางขณะ ก็ยังปรารถนาบางสิ่งบางอย่างอยู่เรื่อยๆ มีไหมที่วันนี้จะปราศจากความปรารถนา ไม่มี ทั้งๆ ที่รู้ว่าปัญญาเป็นสิ่งประเสริฐ กุศลเป็น สิ่งประเสริฐ การอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นสิ่งประเสริฐ แต่กระนั้นทั้งๆ ที่ทราบอย่างนี้ อกุศลธรรมที่ได้สะสมมาก็มีปัจจัยเกิดขึ้น ทำให้มีความปรารถนาต้องการสิ่งนั้นบ้าง สิ่งนี้บ้าง ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว สิ่งที่ปรารถนาจะไม่พ้นจากทรัพย์ หรือว่าต้องอาศัยทรัพย์จึงจะสมปรารถนาได้

    ผู้ฟัง เรื่องทรัพย์และปัญญา ในเรื่องมโหสถ ก็เคยโต้เถียงกันมา ผมบวชเป็นพระก็เคยเทศน์ ข้างหนึ่งเป็นทรัพย์ ข้างหนึ่งเป็นปัญญา ก็ว่ากันไป ในที่สุดทั้งสองอย่างก็อาศัยซึ่งกันและกัน แม้พระผู้มีพระภาคท่านก็ตรัสไว้ อย่างอริยทรัพย์ ท่านก็ว่า ทรัพย์ทั้ง ๗ อย่าง ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ และปัญญา เรียกว่าเป็นทรัพย์ชนิดหนึ่ง เอาปัญญาไว้เป็นข้อที่ ๗ จะเป็นหญิงก็ดี ชายก็ดี ถ้ามีสิ่งทั้ง ๗ อย่างนี้ไม่จน และชีวิตของคนนั้นก็ไม่สูญเปล่า

    สุ. โดยมากผู้ที่อบรมเจริญกุศล ก็จะมีศรัทธาและมีความมั่นคงขึ้นในศีล มีความละเอียดขึ้นในหิริโอตตัปปะ มีการสะสมการฟังเพื่อพิจารณาให้ได้ความเข้าใจในธรรมยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นสุตะ เป็นปัจจัยให้เกิดจาคะ การสละกิเลสยิ่งขึ้น แต่ถ้าตราบใดกิเลสยังมีกำลังอยู่ บางท่านแม้จะสละเป็นจาคะ แต่ก็ยังอดหวังผลที่เป็นโภคทรัพย์ไม่ได้ เพราะว่าอกุศลธรรมยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่ใคร่ที่จะอบรมปัญญาที่จะดับกิเลสจริงๆ ก็ควรที่จะได้พิจารณาสภาพจิตใจของท่านว่า มีความมั่นคงจริงๆ ในกุศลแค่ไหน แม้ในเรื่องของจาคะ การบริจาค ถ้าเป็นการบริจาคทรัพย์ในเรื่องของการสร้างสมปัญญา หรือว่าเป็นการสละทรัพย์เพื่อปัญญา ถ้าเป็นผู้ที่มั่นคงในการสะสมอุปนิสัยที่จะดับกิเลสจริงๆ ย่อมไม่มีใครสามารถที่จะยับยั้งจาคะของท่านได้ เพราะว่าความหวงแหนยังมี ความตระหนี่ก็ยังมี สำหรับผู้ที่ยังไม่เป็นพระอริยเจ้า แต่ว่าสำหรับผู้ที่มั่นคงในกุศลธรรม ในการที่จะดับกิเลส ถ้าเป็นเรื่องของปัญญา ย่อมไม่มีผู้ใดยับยั้งจาคะของท่านได้

    ส่วนเรื่องความหวงแหนหรือความตระหนี่ จะเป็นในเรื่องอื่น แต่ไม่ใช่ในเรื่องการสร้างสมปัญญา หรือในเรื่องของจาคะเพื่อปัญญา เพราะว่ากว่าจะได้ปัญญามานั้น แสนยาก ได้ทรัพย์ก็ยังไม่ยากเท่า แต่ปัญญาแต่ละขั้นที่จะได้ยากจริงๆ ถ้าเป็นพืชก็เป็นพืชที่ปลูกยาก และยังจะต้องทะนุบำรุงรักษาอย่างดีจึงจะเกิดผล อีกทั้งผลที่จะเกิดนั้นก็นานมากทีเดียว ตลอดในสังสารวัฏที่ผ่านมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันในขณะนี้ เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า ปัญญาเกิดยากแค่ไหน แม้ว่าจะได้เคยบำเพ็ญกุศลหลายประการมาแล้วในอดีตชาติและในปัจจุบันชาติ กุศลด้านอื่นก็ยังเกิดได้บ่อย แต่ว่าปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามปกติตามความเป็นจริง เกิดแล้วหรือยัง ปัญญาที่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ในขณะนี้ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าจะให้สละทรัพย์ในขณะนี้ ก็ยังไม่ยากเท่ากับการที่ปัญญาจะเกิดขึ้นประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ

    เพราะฉะนั้น กุศลจึงมี ๒ ประการ คือ กุศลที่เป็นบารมีที่จะให้รู้แจ้งอริย- สัจธรรม ดับทุกข์ได้เป็นสมุจเฉทไม่เกิดอีกเลย กับกุศลที่ไม่ใช่บารมี เพราะถึงแม้ว่าจะเป็นกุศล แต่ก็ยังหวังผลของกุศลที่ไม่ใช่ปัญญา อาจจะหวังการเกิดในสวรรค์ หรืออาจจะหวังการเกิดเป็นบุคคลที่มีความสุข ความสบาย มีทรัพย์สมบัติมาก ถ้าขณะนั้นยังมีความปรารถนาอย่างนั้นอยู่ แม้เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ผู้นั้นก็จะทราบความละเอียดของจิตใจได้ว่า บางขณะกิเลสเกิดขึ้นเป็นไปอย่างไร ยังมีความหวัง หรือว่ายังมีความปรารถนา ยังมีความต้องการในสิ่งอื่นที่ไม่ใช่เป็นการรู้แจ้งอริยสัจ-ธรรมหรือไม่

    เพราะฉะนั้น ตามปกติตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวันสำหรับผู้เจริญสติปัฏฐานซึ่งเป็นผู้ที่ตรงและตรงยิ่งขึ้น จะรู้สภาพจิตของตนเองได้ละเอียดขึ้นว่า มีกิเลสเบาบาง หรือว่ากิเลสก็ยังคงมากแม้ว่าจิตจะเป็นกุศล หรือว่าเป็นผู้ที่ใคร่ในการดับกิเลส แต่แม้กระนั้นก็ยังมีความปรารถนาหรือความหวังในสิ่งอื่นซึ่งไม่ใช่ปัญญา

    ถ. ผมเข้าใจว่า กุศลทั้งหมดเป็นบารมี และบารมีก็มี ๓ ขั้น ที่อาจารย์กล่าวว่า กุศลที่ไม่ใช่บารมีนั้นคืออย่างไร

    สุ. ผู้ที่ไม่ได้ยินไม่ได้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเลย มีความยึดมั่นในตัวตน ไม่ได้รู้ว่า สภาพธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปแม้ในขณะนี้ ผู้ที่มีความเชื่ออย่างอื่น มีความเลื่อมใสอย่างอื่น มีความเข้าใจอย่างอื่น เป็นผู้ที่มีจิตใจเป็นกุศล แต่ไม่ได้เกิดความปรารถนาที่จะให้ปัญญารู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ เพราะฉะนั้น กุศลของบุคคลเหล่านั้นที่ไม่ได้ปรารถนาที่จะดับกิเลส ไม่ได้ปรารถนาที่จะสร้างสมปัญญาให้เจริญขึ้นที่จะประจักษ์สภาพธรรมตามความเป็นจริง กุศลเหล่านั้นจะนำมาซึ่งภพชาติ ซึ่งทำให้เป็นผู้ที่มีความสุขสบาย เป็นผลของกุศล แต่ว่าไม่สามารถดับกิเลสเป็นสมุจเฉทได้

    ผู้ที่มีความเชื่ออย่างอื่น มีความเข้าใจอย่างอื่นมีมาก จะกล่าวว่า กุศลเหล่านั้นเป็นบารมีไม่ได้ เพราะแม้แต่ผู้ที่เข้าใจแล้ว แต่ถ้าพิจารณาจิตใจโดยละเอียด บางครั้งมีความปรารถนาอะไร ยังไม่มีความมั่นคงพอที่จะสละทุกอย่างเพื่อปัญญา เพราะฉะนั้น ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า ในบางครั้ง ในบางขณะ ถ้าไม่เป็นไปเพื่อการสร้างสมปัญญาบารมีที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมแล้ว กุศลเหล่านั้นก็ไม่ใช่บารมี

    ถ. ผู้ที่สละวัตถุสิ่งของให้กับผู้อื่น ทำให้ภพชาติต่อๆ ไปได้เป็นใหญ่เป็นโต เช่น เป็นพระมหากษัตริย์ ซึ่งบางพระองค์มีวาสนามีบารมีสูง มีฝนตกตามฤดูกาล ทำให้ประชาชนมีความสุข อย่างนี้จะกล่าวว่าเป็นบารมีได้ไหม

    สุ. แล้วแต่ความหมายในภาษาที่ใช้ว่า ใช้ในทางพระธรรม หรือใช้ในความเข้าใจทั่วไป คำแปลในภาษาบาลี ก็เป็นความหมายเฉพาะในภาษาบาลีที่จะต้องใช้ให้ตรงกับความหมายของภาษาบาลี แต่สำหรับภาษาไทย หรือว่าภาษาอื่น แต่ละคำมีความหมายตรงหรือว่าใกล้เคียงกับภาษาบาลีมากน้อยอย่างไร ก็เป็นที่เข้าใจสำหรับ คนไทยที่ใช้ภาษาไทยนั้น

    แต่ถ้าเป็นเรื่องของพระธรรมที่จะต้องพูดถึงภาษาบาลี ก็ต้องให้ตรงกับความหมายในภาษาบาลี ไม่ให้คลาดเคลื่อนด้วย แต่ว่าคำใดที่ภาษาอื่นใช้ และก็มีความเข้าใจ ก็ใช้ได้สำหรับในภาษานั้น เพราะว่าภาษาอื่นๆ ไม่ใช่ภาษาบาลี ภาษาบาลีก็เป็นเรื่องของภาษาบาลีที่ผิดไม่ได้จากความหมายในภาษาบาลี สำหรับภาษาอื่นจะใช้คำใกล้เคียงคล้ายคลึง หรืออาจจะตรงกันข้ามอย่างไร ก็ต้องอนุโลมตามภาษาที่ใช้กันอยู่

    เช่น คำว่า มานะ ตามภาษาบาลีเป็นอกุศล ถ้าพูดถึงสภาพธรรมในภาษาบาลี มานะเป็นกุศลไม่ได้ แต่เป็นอกุศลธรรมที่จะต้องดับให้หมด เพราะว่าอกุศลธรรมทั้งหลายไม่ใช่สิ่งที่ควรเจริญ แต่ถ้าภาษาไทยจะใช้ในความหมายของความพากเพียรพยายาม ก็เป็นเรื่องของภาษาอื่นที่ใช้ ไม่เกี่ยวข้องกับภาษาบาลี ซึ่งก็จะต้องเป็นไปตามภาษาที่ใช้กันสำหรับแต่ละกลุ่มของบุคคลด้วย

    สำหรับท่านที่จะพิจารณาความหมายของกุศลที่เป็นบารมีและไม่ใช่บารมี ขอให้คิดถึงบุคคล ๒ ท่าน ไม่ว่าจะเป็นทาน หรือศีลก็ตาม ท่านหนึ่งกระทำไปด้วยความหวังผล คือ สวรรค์บ้าง หรือว่าการเกิดเป็นเศรษฐีมหาศาล เป็นกษัตริย์มหาศาล เป็นคฤหบดีมหาศาล เป็นพราหมณ์มหาศาล นั่นเป็นผลที่หวัง จะเป็นบารมีได้อย่างไร เพราะว่าความหวังอย่างนั้นไม่ทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่ทำให้ดับกิเลสเลย และผู้ที่มีความเชื่ออย่างอื่น มีความเข้าใจอย่างอื่น ก็มีจาคะ มีทาน มีศีล มีความหวังอย่างอื่นที่ไม่ใช่หวังการรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่หวังที่จะประจักษ์ความเกิดดับของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับอยู่ในขณะนี้ ไม่มีความเข้าใจอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จะให้กุศลของบุคคลนั้นเป็นบารมีไม่ได้

    แต่สำหรับผู้ที่ได้ฟังพระธรรมและก็รู้ว่า การที่จะประจักษ์สภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้เป็นสิ่งที่แสนยาก ยากเหลือเกิน อกุศลมีเหตุปัจจัยที่จะเกิดอยู่เนืองๆ เรื่อยๆ อกุศลจิตขั้นหยาบอาจจะเกิดน้อย แต่ว่าอกุศลอย่างกลางที่ทำให้จิตเศร้าหมอง ไม่บริสุทธิ์ หรือว่าอกุศลธรรมที่เบาบางกว่านั้นอีก ซึ่งยากที่จะรู้ได้ เช่น ในขณะนี้ ถ้าท่านจะคิดถึงแล้วก็เปรียบเทียบเป็นขั้นๆ เวลาที่นอนหลับ ทุกคนหลับ ไม่มีกายวาจาที่เป็นอกุศลเลย แต่ไม่ได้หมายความว่า คนที่นอนหลับนั้นปราศจากกิเลสอย่างละเอียด ซึ่งเป็นเชื้อที่ทำให้ทันทีที่ตื่นขึ้น อกุศลธรรมก็ไหลไปแล้วสู่อารมณ์ภายนอกที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และสะสมอยู่ในจิตเพิ่มพูนขึ้นทุกขณะ เป็นประหนึ่งศัตรูภายในที่ใกล้ชิดที่สุด เพราะว่าอกุศลธรรมทั้งหมดไม่ใช่สภาพธรรมที่ดีงาม แต่ว่าจะทำสิ่งที่ตรงกันข้าม ซึ่งเป็นการกระทำของศัตรูทีเดียวที่จะทำต่อบุคคลนั้น และเป็นศัตรูที่มีภัยมาก เพราะว่าเป็นศัตรูที่ใกล้ชิดที่สุด คือ เกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต ต้องปัญญาเท่านั้นที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง และดับอกุศลธรรมที่เกิดกับจิตนั้นได้

    เพราะฉะนั้น เวลาหลับกับเวลาตื่น สภาพของกิเลสต่างกันแล้ว ผู้ที่นอนหลับซึ่งไม่ใช่พระอรหันต์มีกิเลสทุกคน พร้อมที่เมื่อตื่นขึ้นกิเลสอย่างหยาบอาจจะยังไม่ปรากฏทันที แต่ว่ากิเลสที่ปรากฏขึ้นไม่เหมือนกับขณะที่กำลังหลับ ซึ่งไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการลิ้มรส ไม่มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่มีการคิดนึกใดๆ เลย แต่ทันที่ตื่นแล้วเห็น มีกิเลสหรือยัง ถ้าไม่ทราบ ก็ดับกิเลสไม่ได้ เพราะว่าขณะนั้นมีกิเลสแล้ว ขณะที่กำลังนั่งอย่างนี้ ไม่ใช่ว่าจะมีกุศลจิตเกิดตลอดเวลา

    ขณะใดที่ไม่รู้ในสภาพธรรมตามความเป็นจริง และไม่ใช่กุศลธรรม ก็เป็นอกุศลที่บาง ที่เบา ที่ไม่แรง เพราะฉะนั้น ทำให้ไม่รู้สึกว่าจิตเป็นอกุศลแล้ว แต่เวลาที่จิตใจเกิดเศร้าหมอง ปรากฏความไม่แช่มชื่น ความกระสับกระส่าย ความกระวนกระวาย หรือความว้าเหว่ หรือความเป็นห่วงกังวล ขณะนั้นไม่ใช่ทุจริต ไม่ใช่ปาณาติบาต ไม่ใช่อทินนาทาน แต่ขณะนั้นความแรงของกิเลสก็ปรากฏเพิ่มขึ้นให้เห็นว่า เป็นสภาพจิตที่ไม่สบายเลย

    เพราะฉะนั้น อกุศลธรรมมีหลายขั้น ผู้ที่ไม่เข้าใจสภาพธรรม ไม่ได้ปรารถนาที่จะดับกิเลส ไม่ปรารถนาที่จะสะสมสร้างสมปัญญาให้เจริญขึ้นที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ทำกุศลครั้งใดไม่ว่าจะเป็นทาน ไม่ว่าจะเป็นศีล ก็ปรารถนาเพียงให้เกิดในสวรรค์ หรือปรารถนาที่จะให้ได้รับผลของกุศลที่เป็นทรัพย์สมบัติ อย่างนั้นจะเป็นบารมีได้อย่างไร

    ถ. ผมยังไม่เข้าใจ พระโพธิสัตว์ทุกๆ พระองค์ เวลาที่บำเพ็ญบารมีเพื่อจะตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านก็ต้องบำเพ็ญบารมี ๑๐ ทัศ มีตั้งแต่ทานบารมี จนกระทั่งอุเบกขาบารมี และที่ท่านบำเพ็ญทานก็ดี รักษาศีลก็ดี เหล่านั้นเรียกว่าบารมี แต่ถ้าบุคคลทั่วๆ ไป หรือว่าสาวก การให้ทาน การรักษาศีล ถ้าไม่ใช่เพื่อปัญญาแล้ว ไม่ใช่บารมีอย่างนั้นหรือ

    สุ. พระโพธิสัตว์หมายความถึงบุคคลใด

    คำว่า โพธิสัตว์ แสดงอยู่แล้วว่า เป็นผู้ที่ปรารถนาจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และก็ตั้งความปรารถนาต่อพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งพระองค์ใด เพื่อที่จะได้รับคำพยากรณ์ว่า จะเป็นพระโพธิสัตว์ที่จะตรัสรู้ต่อไปในสมัยใด มีพระนามว่าอะไร

    พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อยังไม่ตรัสรู้ ก็เป็นพระโพธิสัตว์ และได้พบ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ มามากในระหว่างที่ทรงบำเพ็ญบารมี ก่อนที่จะได้บรรลุคุณธรรมถึงความที่จะตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๖ ตอนที่ ๖๕๑ – ๖๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 43
    28 ธ.ค. 2564