แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 640


    ครั้งที่ ๖๔๐


    ขอตอบจดหมายของท่านผู้ฟังอีกท่านหนึ่ง ท่านเขียนมาจากโรงงานสุรา อยุธยา ข้อความมีว่า

    วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๙

    เรียน ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ที่เคารพ

    ผมผู้รับฟังการบรรยายแนวทางการเจริญสติปัฏฐานของท่านผู้หนึ่ง ซึ่งเคยเขียนมาถามปัญหาท่านอาจารย์บ้าง ใช้นามว่า ผู้รับฟังทางอยุธยา เมื่อประมาณ ๓ – ๔ ปีก่อน แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้เขียนมาอีกเลย แต่ถึงกระนั้นผมก็ติดตามฟังรายการของท่านตลอดมา ถ้าวันไหนบังเอิญติดธุระไม่สามารถที่จะฟังได้ วันนั้นรู้สึกว่าชีวิตมันขาดอะไรไปประการหนึ่ง นี่เป็นเรื่องจริง เพราะการฟังรายการของท่านได้ทั้งข้อคิดและได้ฟังพระธรรมจากพระโอษฐ์ของพระผู้มีพระภาค ซึ่งท่านได้นำมาออกอากาศให้ฟัง และรู้สึกอนุโมทนาในส่วนกุศลของท่านเป็นอย่างยิ่ง ผมพยายามที่จะมาหาท่านอาจารย์ด้วยตนเองสักครั้ง แต่ก็ยังไม่มีโอกาส ทั้งนี้เพราะต้องประกอบอาชีพเลี้ยงตัวและครอบครัว แต่หวังว่าถ้ายังมีชีวิตอยู่ คงมีโอกาสมาพบท่านอาจารย์จนได้

    ที่ผมเขียนมาในครั้งนี้นั้น ผมมีความประสงค์ที่จะสนับสนุนท่านประการหนึ่ง และประการที่ ๒ ก็ใคร่เสนอความคิดเห็นของผมซึ่งได้จากการฟังท่านอาจารย์ และจากการศึกษาในพระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับของกรมการศาสนามาประมาณ ๔ – ๕ ปี ในประการที่ ๒ นี้ ผมรู้สึกเกรงใจท่านอาจารย์เป็นอย่างยิ่งที่บังอาจ แต่ก็หวังว่าท่านอาจารย์คงจะยินดีรับฟัง และหวังว่าข้อคิดเห็นของผมนี้ ถ้าจะผิดพลาดด้วยประการ ใดๆ ก็ตาม หวังว่าท่านอาจารย์คงให้อภัย

    ในประการที่ ๑ ที่ว่า ผมขอสนับสนุนท่านอาจารย์นั้น ดังนี้คือ ในข้อที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า การเจริญสติปัฏฐานไม่จำกัดสถานที่ ไม่จำกัดอิริยาบถนั้น ข้อนี้เป็นจริง และถูกต้องตรงตามหลักฐานในมหาสติปัฏฐานสูตร และสูตรอื่นๆ อีก ซึ่งผมจะไม่ขอยกมาอ้างอิง เพราะคิดว่าอาจารย์คงทราบดีแล้ว ที่ว่าถูกต้องตรงกับมหาสติปัฏฐานสูตรนั้น ผมพิจารณาจากข้อที่พระองค์ตรัสว่า ยืน เดิน นั่ง นอน เหยียด คู้ และอื่นๆ พึงเป็นผู้มีสติ (เจริญสติได้) ดังนี้เป็นต้น

    ข้อพิสูจน์อีกข้อ คือ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ตัณหาเมื่อมันเกิดก็ย่อมเกิดที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ (สิ่งเป็นที่รักที่ชอบใจ) และอื่นๆ และเมื่อจะละตัณหาก็ละที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้ และอื่นๆ (ได้แก่สิ่งเป็นที่รักที่ชอบใจ) นี้แหละ

    ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่ง ตัณหา (โลภะ โทสะ โมหะ) มันเกิดขึ้นไม่จำกัดเวลา อิริยาบถ ไม่ว่ากลางคืนกลางวัน ไม่ว่าจะเป็นเช้า สาย บ่าย เย็น ค่ำ หรือไม่ว่าจะเป็นเวลายืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด นุ่งห่ม มันเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น ทีนี้เมื่อเกิดขึ้น เราไม่ดับเดี๋ยวนั้น แล้วจะไปดับเมื่อไร (การเจริญสติปัฏฐานเป็นการดับ) เปรียบเหมือนไฟไหม้บ้านอยู่ (ดังที่คำพูดของท่านผู้ฟังในห้องบรรยายของท่านอาจารย์เคยพูดครั้งหนึ่ง นานมาแล้ว) ถ้าเราไม่ดับไฟในขณะที่มันกำลังลุกไหม้อยู่แล้ว จะไปดับเมื่อไร จะรอให้ไฟไหม้บ้านหมดไปทั้งหลังหรือ ย่อมไม่เป็นวิสัย และเป็นไปไม่ได้ ผู้ที่รอให้ไฟไหม้บ้านไปเช่นนั้น ถ้าไม่ใช่คนสติเสียบ้าบอแล้ว คงไม่มีใครทำเช่นนั้นแน่นอน และก็เช่นเดียวกัน ในการเจริญสติปัฏฐานนั้น ก็ต้องเจริญในขณะไฟ คือ โลภะ โทสะ โมหะ กำลังลุกไหม้อัตภาพร่างกายและจิตใจอยู่นั่นแหละ จึงจะถูกต้องตามพระพุทธพจน์ในมหาสติปัฏฐานสูตรที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอิริยาบถบรรพไว้นั้น

    ในมหาสติปัฏฐานสูตร ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอิริยาบถบรรพไว้นั้น ความมุ่งหมายก็เพื่อให้เจริญสติทุกๆ อิริยาบถนั่นเอง และเพื่อมิให้ประมาท มิให้ละเว้นแม้แต่วินาทีเดียวเท่านั้น มิได้หมายความว่าให้ไปนั่งเพ่งดูท่านั่งดังที่ท่านทั้งหลายผู้ที่เรียกตัวเองว่าเป็นนักปฏิบัติ ซึ่งการกระทำนั้นถ้าพิจารณาดูแล้ว ผมเห็นว่าไม่เข้าหลักอะไรเลย จะเป็นสมถะก็ไม่ใช่ เพราะอารมณ์ของสมถะมีอยู่ ๔๐ (แต่การไปนั่งเพ่งดูท่านั่งอย่างนั้นเป็นลักษณะของสมถะ แต่อารมณ์ที่นำมาเพ่งไม่ใช่สมถะ)

    จะว่าเป็นวิปัสสนาก็ฟังไม่ได้อีก เพราะการเจริญวิปัสสนาท่านให้แยกรูป แยกนามออกเป็นขันธ์ ธาตุ อายตนะ อินทรีย์ เป็นเหตุเป็นปัจจัย (แต่นี่ปรากฏว่า ไปนั่งเพ่งดูความเป็นกลุ่มเป็นก้อนของท่านั่ง) เมื่อรู้ทัน ในเมื่อโลภะ โทสะ โมหะที่มันเกิดขึ้นในขณะที่ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นรู้รส กายรู้โผฏฐัพพารมณ์ ใจรู้ธรรมารมณ์ เป็นต้น

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า บางท่านปฏิบัติมาแล้ว (เข้าห้องปฏิบัติ) เป็นสิบๆ ปี ก็มี แต่ไม่ได้อะไรเลย ในขณะเข้าห้องปฏิบัติเห็นทุกข์ได้ชัดเจนเหลือเกิน พอออกจากห้องปฏิบัติกลับไม่เห็นไม่รู้อะไรเลย อย่างนี้ฟังไม่ขึ้น พระอริยเจ้าเห็นทุกข์แล้วกลับไม่เห็นอีกมีหรือ บางท่านมีศรัทธาเลื่อมใสใคร่จะปฏิบัติธรรมกับเขาบ้าง แต่ก็ปฏิบัติไม่ได้ เพราะห้องไม่ว่าง ไม่มีห้องบ้าง ยังสร้างไม่เสร็จบ้าง บังเอิญตายพอดีเลยอด ที่เป็นเช่นนี้ เกิดจากไม่เข้าใจในหลักปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคนั่นเอง

    เมื่อพูดมาถึงตรงนี้ ผมอดที่จะอนุโมทนาในกุศลเจตนาของท่านอาจารย์ไม่ได้ ที่ท่านอาจารย์ได้กรุณาอธิบายแนวทางเจริญสติปัฏฐานให้บรรดาพุทธศาสนิกชนบางพวกได้หูตาสว่างขึ้น อย่างน้อยก็ผมคนหนึ่งที่ได้รับความสว่างจากท่านอาจารย์ ผมขอสนับสนุนท่านอาจารย์ด้วยหลักธรรมมาเพียงคร่าวๆ เท่านี้ เพราะถ้าจะเขียนมากไป ก็จะรบกวนเวลาของท่านอาจารย์มากเกินไป ฉะนั้นจึงขอยุติในข้อสนับสนุนท่านอาจารย์เพียงเท่านี้

    ในประการที่ ๒ ที่ว่า ผมใคร่เสนอความคิดเห็นของผมนั้น คือ ผมมีความเห็นว่า การปฏิบัติธรรมเพื่อให้บรรลุมรรคผลนิพพานนั้นมี ๒ ทาง คือ สมถะและวิปัสสนา หมายความว่าทั้งสมถะและวิปัสสนาทั้ง ๒ อย่างนี้ เป็นไปเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพานเหมือนกัน เว้นแต่สมถะนั้นแบ่งออกเป็น ๒ คือ ที่เป็นโลกียะอย่างหนึ่ง และโลกุตตระอย่างหนึ่ง ที่เป็นโลกียะนั้นเป็นไปเพื่ออุบัติในรูปภูมิและอรูปภูมิ ส่วนที่เป็นโลกุตตระนั้นเป็นไปเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน ซึ่งเมื่อพระโยคาวจรมีความอุตสาหพยายามเต็มที่แล้วย่อมได้บรรลุมรรคผลนิพพานพร้อมๆ กับบรรลุฌานนั้นเอง แต่วิธีการพิจารณาต่างกันกับฌานโลกีย์ คือ ฌานโลกีย์มีอารมณ์ ๔๐ เพ่งไปให้ใจแนบนิ่งอยู่ในอารมณ์นั้นๆ ส่วนที่เป็นโลกุตตระนั้นเป็นไปเพื่อออกไปจากโลกนำไปสู่นิพพาน เพื่อละทิฏฐิ เพื่อบรรลุภูมิเบื้องต้น สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย แล้วบรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน เป็นทุกขา เป็นสุขขา ประกอบด้วยวิตก วิจาร ปีติ สุขอยู่ในสมัยใด ในสมัยนั้น ผัสสะ เวทนา และอื่นๆ (วิเขปะ) ย่อมเกิดขึ้น (ข้อความนี้ผมคัดมาจากพระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม ๕๖ อภิธรรมปิฎกข้อ ๑๙๖ – ๒๗๔)

    ซึ่งเมื่อพิจารณาตามข้อความดังกล่าวนี้แล้ว จะเห็นได้ว่า โยคาวจรบุคคลผู้หวังที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานนั้น ท่านยกเอาขันธ์ ธาตุ อายตนะ และอื่นๆ ขึ้นมาพิจารณาโดยความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั่นเอง จนกระทั่งได้บรรลุมรรคผลนิพพาน พร้อมทั้งได้บรรลุฌานสมาบัติด้วย ส่วนวิปัสสนาล้วนๆ นั้น พระโยคาวจรพึงเจริญโดยตามนัยของอิริยาบถบรรพในมหาสติปัฏฐาน ยกเอาขันธ์ ธาตุ ขึ้นมาพิจารณา ไม่จำกัดสถานที่ ไม่จำกัดเวลา และอิริยาบถ เจริญสติสัมปชัญญะได้ตลอดเวลา ผมรบกวนเวลาของท่านอาจารย์มามากแล้ว รู้สึกเกรงใจ จึงยุติแต่เพียงนี้

    ขอให้ท่านอาจารย์จงเจริญในธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป ถ้าผิดพลาดด้วยประการใด หวังว่าคงได้ความอภัย

    โดยความเคารพ

    ผู้รับฟังชาวอยุธยา

    สุ. สำหรับประการที่ ๒ ที่ท่านใคร่เสนอความคิดเห็นของท่านว่า การปฏิบัติธรรมเพื่อให้บรรลุมรรคผลนิพพานนั้น มี ๒ ทาง คือ สมถะและวิปัสสนา

    นี่เป็นความหวังที่สูงมาก คือ ทั้งบรรลุมรรคผลนิพพาน และบรรลุฌานสมาบัติ ทั้ง ๒ อย่างนี้ ยากที่จะถึงได้ ที่จะบรรลุได้ เมื่อผลต่างกัน เหตุก็ต้องต่างกันด้วย เพราะฉะนั้น ผล ต้องการอะไร ก็เจริญเหตุให้ตรงกับผลนั้น ถ้าต้องการให้จิตสงบตั้งมั่น ไม่ให้รู้ลักษณะของรูปธรรมและนามธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย มุ่งให้จิตตั้งมั่นที่อารมณ์ที่จะทำให้เกิดความสงบถึงขั้นอัปปนาสมาธิ ปัญญาก็ไม่เกิดขึ้นที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามปกติตามความเป็นจริงในขณะนั้นๆ

    เพราะฉะนั้น ต้องการผลอย่างไร ถ้าต้องการผล คือ ปฐมฌาน ก็ต้องเจริญเหตุ คือ ความสงบจากการที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามปกติตามความเป็นจริง

    เมื่อผลคือปฐมฌาน การเจริญเหตุก็จะต้องให้ตรง คือ ต้องเป็นการเจริญสมถภาวนา ไม่ใช่การศึกษา สังเกต ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น เรื่องของการปฏิบัติ เป็นเรื่องที่จะต้องเป็นไปด้วยปัญญาจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นการเจริญสมถภาวนา หรือการเจริญวิปัสสนาภาวนาก็ตาม ถ้าไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้องในการเจริญสมถภาวนาแล้ว ก็ย่อมไม่บรรลุปฐมฌาน หรือถ้าไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้องในการเจริญวิปัสสนาแล้ว ก็ย่อมไม่บรรลุมรรคผล ส่วนผู้ใดจะได้บรรลุธรรมทั้ง ๒ ประการ คือ ทั้งสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนาด้วย ผู้นั้นก็ต้องมีการสะสมในการเจริญสมถภาวนาอย่างถูกต้อง และมีการสะสมในการอบรมเจริญวิปัสสนาภาวนาอย่างถูกต้องด้วย จึงสามารถที่จะบรรลุได้ทั้ง ๒ ประการ

    แต่แม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน พระภิกษุทั้งหลายที่ได้บรรลุมรรคผลนิพพานพร้อมทั้งบรรลุฌานสมาบัติด้วย ก็มีจำนวนน้อยกว่าผู้ที่ได้บรรลุเพียงมรรคผลนิพพานเท่านั้น ตามความเป็นจริง ถ้ายังไม่เจริญวิปัสสนา ยังไม่เจริญสติปัฏฐานแล้ว จะไม่ทราบเลยว่า ท่านมีการสะสมมาที่จะให้จิตสงบเป็นสมถะ และสติก็สามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ไม่ยึดถือในธรรมที่สงบนั้น ในสภาพของจิตเจตสิกที่สงบแต่ละขั้นว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

    เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เมื่อเป็นเรื่องที่ละเอียดและเป็นเรื่องที่ยากทั้ง ๒ ประการ ท่านจะปฏิบัติประการใด ท่านยังคงต้องการที่จะเจริญสมถภาวนาเสียก่อนให้จิตสงบ และในขณะที่กำลังเจริญสมถภาวนานั้น ไม่ได้เจริญปัจจัยที่จะให้ปัญญาเกิดขึ้นประจักษ์แจ้งแทงตลอดในสภาพความไม่เที่ยงของนามธรรมและรูปธรรม ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะว่าไม่มีการสังเกต สำเหนียก ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

    หรือว่าเมื่อได้อ่านพระสูตร หรือพระอภิธรรม ท่านระลึกถึงสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่ท่านสะสมมาหรือเปล่าว่า ท่านมีความสามารถที่จะบรรลุปฐมฌานไหม เพราะว่าในบางพระสูตรกล่าวถึงผู้ที่ได้อบรมเจริญสมถภาวนา บรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ปัญจมฌาน และยังมีความสามารถถึงกับน้อมจิตที่สงบนั้นไปฝึกหัดจนสามารถระลึกชาติได้ นอกจากนั้นยังสามารถรู้จุติปฏิสนธิของสัตว์ทั้งหลายได้ อีกทั้งยังสามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉทด้วย

    เมื่อท่านอ่านพระสูตรที่มีข้อความอย่างนี้ ย้อนระลึกถึงการสะสมของท่านตามความเป็นจริงในชาตินี้ภพนี้ว่า ท่านสามารถจะบรรลุปฐมฌานได้ไหม ทุติยฌานได้ไหม ตติยฌานได้ไหม จตุตถฌานได้ไหม ปัญจมฌานได้ไหม จะระลึกชาติได้ไหมอย่างถูกต้อง ถอยจากขณะนี้เรื่อยไปแต่ละขณะจนถึงปฏิสนธิของชาตินี้ จนถึงจุติของชาติก่อน ทีละชาติไปเป็นลำดับ สามารถที่จะรู้จุติปฏิสนธิของสัตว์ทั้งหลายได้ไหม ตามความเป็นจริง ถ้าได้ ท่านก็มีปัจจัยที่สะสมมาที่สติพร้อมที่จะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะสภาพความสงบของจิตและก็ไม่ยึดถือว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลทั้งสิ้น ไม่ว่าจิตของท่านจะถึงขั้นปฐมฌาน หรือทุติยฌาน หรือตติยฌาน หรือจตุตถฌาน หรือปัญจมฌาน หรือแม้ขณะที่กำลังระลึกชาติ สติก็สามารถระลึกรู้สภาพธรรม และละการยึดถือ จึงสามารถที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานพร้อมกับฌานสมาบัติได้

    ท่านมีความสามารถอย่างนั้นหรือเปล่า ตามความเป็นจริงในปัจจุบันชาติ ชาติก่อนๆ ก็ไม่มีใครทราบว่า ใครจะเคยอบรมสมถภาวนามามากน้อยประการใด เพราะว่าสังสารวัฏฏ์นี้ยาวนานมากทีเดียว ไม่มีการที่จะรู้ได้ว่า ในภพก่อนๆ ท่านเคยเป็นบุคคลใด เคยเจริญสมถภาวนามา หรือว่าสติปัฏฐานมามากน้อยประการใด แต่สมถภาวนาที่ได้เคยอบรมมาแล้วในชาติก่อน ถ้าไม่เกิดตอนใกล้จะจุติ ก็ไม่เป็นปัจจัยที่จะให้ปฏิสนธิในพรหมโลก

    เพราะฉะนั้น ผลของการเกิดเป็นมนุษย์ในชาตินี้ภพนี้ เป็นผลของกุศลขั้นทาน ขั้นศีล เป็นกุศลขั้นกามาวจร ซึ่งไม่ใช่ขั้นรูปฌานและอรูปฌาน แม้ว่าจะเคยอบรมเจริญสมถภาวนามาแล้ว เคยได้ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ปัญจมฌานในชาติก่อนๆ โน้นมามากสักเท่าไรก็ตาม แต่เพราะเหตุว่ากิเลสยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท ก็มีปัจจัยที่จะให้เกิดในภพนี้ ในกามาวจรภูมิ มีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส พร้อมด้วยกิเลสซึ่งเพิ่มขึ้นๆ อยู่ทุกขณะที่กุศลจิตไม่เกิด ทำให้ไม่สามารถที่จะได้บรรลุความสงบของจิตขั้นสมถภาวนาที่เป็น ฌานได้

    เพราะฉะนั้น ชาตินี้ ภพนี้ จะเจริญอะไร จะอบรมอะไร สภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มีอยู่ตลอดเวลา ระลึก ศึกษา และเพิ่มความรู้ในลักษณะของสภาพธรรมขึ้นบ้างหรือยัง



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๔ ตอนที่ ๖๓๑ – ๖๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 43
    28 ธ.ค. 2564