แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 616


    ครั้งที่ ๖๑๖


    ถ. ที่มีผู้ถามเรื่องสติระลึกถึงโลภะ และอาจารย์บอกว่า โลภะกับศรัทธาเป็นสภาพธรรมที่ใกล้เคียงกัน แต่ว่าเท่าที่ปฏิบัติมานั้น เมื่อสติเกิดเรามักจะพิจารณารวมๆ ว่าเป็นสภาพรู้ หรือเป็นนามธรรม ถ้าเราเรียนปริยัติมาน้อย หรือไม่ได้เรียนมาเลย เราจะสามารถรู้ได้อย่างไรว่า สภาพธรรมนี้เป็นศรัทธา เป็นเมตตา เป็นกรุณา เป็นอะไรๆ ซึ่งมีมากมายจนจำไม่ได้ แต่ถ้าเราแค่ระลึกว่า เป็นสภาพรู้ เป็นสภาพนามธรรม อย่างนี้ ต่อไปเราสามารถที่จะรู้รายละเอียดแยกไปเองได้ไหม

    สุ. โดยมากจะเป็นการนึก ที่คิดว่ารู้แล้วว่าเป็นนามธรรม ถ้าไม่มีลักษณะจริงๆ ปรากฏแต่ละลักษณะให้รู้เฉพาะในขณะนั้นจริงๆ

    อย่างเวลานี้ โลภะเกิด กำลังปรากฏ มีลักษณะให้รู้ แต่ถ้ารวมๆ นึกไปถึงสภาพธรรมอื่นๆ ด้วย และรวมเป็นนามธรรม ก็ย่อมไม่ได้ศึกษาลักษณะของโลภะที่กำลังปรากฏ เฉพาะโลภะซึ่งกำลังปรากฏ

    เช่นเดียวกับทางตา มีสภาพธรรมทั้งการเห็นและการได้ยิน รวมๆ กันไปว่า เป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้เท่านั้นไม่ได้ เพราะว่านามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ ธาตุรู้ สีสันวัณณะที่ปรากฏทางตา ต่างกับนามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ ธาตุรู้เสียงซึ่งปรากฏทางหู เพราะฉะนั้น จะรวมกันว่า เห็นก็เป็นนามธรรม ได้ยินก็เป็นนามธรรมไม่ได้

    ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น ก็หมายความว่า ไม่ได้ระลึกที่จะศึกษารู้ลักษณะของธาตุรู้สีซึ่งกำลังเห็นทางตา ไม่ได้ศึกษารู้ลักษณะของธาตุรู้เสียงซึ่งกำลังได้ยินทางหู ซึ่งต่างกับการรู้สีทางตา เพราะฉะนั้น การศึกษาที่จะเป็นความรู้ชัดในนามธรรม ต้องในขณะที่นามธรรมแต่ละลักษณะปรากฏให้รู้ สติจึงจะเป็นสติปัฏฐาน เพราะว่าระลึกรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ซึ่งมีลักษณะต่างกัน โทสะเกิดขึ้น โลภะเกิดขึ้น ลักษณะของโทสะเป็นอย่างหนึ่ง ลักษณะของโลภะเป็นอย่างหนึ่ง

    เวลาที่โลภะเกิด สติระลึกศึกษาในลักษณะของโลภะ ตรงกันข้ามกับลักษณะของโทสะ เวลาที่โทสะเกิด สติระลึกศึกษารู้ลักษณะที่เป็นโทสะ ซึ่งขณะนั้นอาจจะเนื่องจากทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจก็ได้ เพราะฉะนั้น การที่กล่าวว่า สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ต้องมีลักษณะแต่ละอย่างปรากฏให้เป็นความรู้ชัด รวมๆ กันไปไม่ได้

    เวลานี้ทางตากับทางหู ลักษณะจริงๆ ของนามธรรมที่รู้สี เป็นธาตุที่เห็นสี ลักษณะของนามธรรมที่รู้เสียง เป็นธาตุที่รู้เสียง ที่จะให้รู้ว่าเป็นธาตุรู้จริงๆ ต้องในขณะที่กำลังรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด จึงจะรู้ว่า ธาตุรู้ อาการรู้แต่ละอย่างนั้น ไม่ใช่ตัวตน

    ถ. ขณะที่สติเกิดนั้น เมื่อพิจารณาไปนานๆ จะกลายเป็นว่า เราไปจดจ้องหรือเปล่า ผมมักจะเตือนตัวเองว่า เราไปจดจ้องหรือเปล่า

    สุ. อย่าคิดถึงเรื่องเวลาดีกว่า ว่านานหรือไม่นาน แต่เป็นการศึกษาจริงๆ ที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เหมือนอย่างการศึกษาทางโลก เวลาที่กำลังศึกษาที่จะให้เข้าใจ จะเป็นเลขคณิต หรือจะเป็นวิทยาศาสตร์ หรือจะเป็นวิชาหนึ่งวิชาใดก็ตาม ไม่คำนึงถึงเวลาใช่ไหมว่า ศึกษานานหรือว่าไม่นาน

    ความรู้ความเข้าใจเกิดขึ้นเมื่อไร ขณะไหนก็ได้ จะน้อยหรือจะมากเป็นเรื่องของอนัตตา ซึ่งปรากฏความเป็นอนัตตาว่า แล้วแต่สติจะเกิดขึ้นเมื่อไร สติจะเกิดขึ้นมากหรือน้อย จะระลึกรู้ลักษณะของนามใดรูปใด ทางไหน มากหรือน้อย ก็เป็นเรื่องของความเป็นอนัตตาจริงๆ ของสติ อย่างเวลาที่กำลังเห็น ในขณะนี้ สติของบางท่านอาจจะเกิดระลึก ศึกษา เมื่อระลึกแล้วต้องศึกษา อย่าเป็นระลึกแล้วรู้เลย เป็นไปไม่ได้ที่ว่า จะระลึกแล้วรู้เลยว่า ไม่ใช่ตัวตน

    กำลังเห็นนี่ ศึกษาจริงๆ ที่จะรู้ว่า ขณะที่เห็นเป็นธาตุรู้ เพื่อที่จะได้รู้ชัดว่า เมื่อเกิดความรู้ในธาตุรู้แล้ว จะไม่สับสนกับรูป คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา เวลานี้รูปที่ปรากฏทางตากับเห็น แยกกันไม่ออก ยังสับสนอยู่ว่า เห็นเป็นอย่างไร สิ่งที่ปรากฏทางตาต่างกับเห็นอย่างไร นี่เป็นความสับสน เพราะสติไม่ได้ระลึก แต่เวลาที่ระลึกในขณะที่กำลังเห็นนี้ ที่จะเป็นความรู้ คือ เริ่มจากการศึกษา ขณะที่กำลังเห็น ระลึกได้ รู้ว่า เป็นแต่เพียงธาตุรู้ เป็นแต่เพียงสภาพรู้ และขณะนี้เป็นสภาพที่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา นี่คือการศึกษาในสภาพเห็น ซึ่งเป็นนามธรรม ทวารหนึ่ง

    เวลาที่ได้ยิน ขณะที่กำลังได้ยินเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ในเสียงที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ต้องมีสภาพที่กำลังปรากฏ และก็มีการระลึกพร้อมกับการศึกษารู้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพรู้ เพื่อที่จะได้แยกได้ยินกับเสียงออกจากกัน เพราะถ้าสติไม่เกิด ก็เป็นความสับสนอีก แยกเสียงกับได้ยินไม่ออกอีก

    เพราะฉะนั้น ลักษณะของนามธรรมแต่ละอย่างจึงต่างกัน และสติก็จะรู้ชัดว่านามธรรมทางตานั้นเป็นอย่างหนึ่ง คือ เป็นสภาพรู้สีสันวัณณะที่ปรากฏทางตา นามธรรมที่เป็นสภาพรู้ทางหูก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ไม่ใช่อันเดียวกันแล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อลักษณะของสภาพธรรมไม่ใช่อย่างเดียวกัน สติและปัญญาสามารถที่จะแยกได้ ในภายหลังจึงประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมแต่ละลักษณะได้ สามารถที่จะประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ทางตา โดยปัญญารู้ว่าสภาพรู้ทางตาดับ ไม่ใช่รูปารมณ์ ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตาดับ เพราะว่าสติกำลังระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพเห็นซึ่งเป็นสภาพรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา

    ปัญญาสามารถที่จะรู้ว่า สภาพรู้เสียงดับ เพราะว่าขณะนั้นสติกำลังระลึกรู้ในธาตุรู้เสียง มีการได้ยิน และมีการระลึกได้ มีการศึกษาในธาตุรู้เสียงที่กำลังปรากฏ จึงประจักษ์ได้ว่า ธาตุรู้เสียง คือ สภาพที่ได้ยินดับ ไม่ใช่เสียงดับ

    ปัญญาต้องรู้ชัดจริงๆ ต้องเป็นการอบรมที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และเป็นความรู้ที่เพิ่มขึ้น ก่อนที่จะประจักษ์การเกิดดับ

    ถ้าความรู้ยังไม่เพิ่มขึ้น อย่าคิดว่าจะประจักษ์ความเกิดดับอะไรได้ อาจจะเข้าใจว่าประจักษ์แล้ว แต่แม้แต่ปัญญาก็ยังไม่เกิดขึ้นรู้ว่า นามธรรมทางตาเป็นอย่างไร ต่างกับนามธรรมทางหูอย่างไร ถ้ายังไม่รู้อย่างนี้ จะเข้าใจว่าประจักษ์การเกิดดับแล้ว ก็ย่อมไม่ตรงต่อสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    เรื่องการรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงเป็นเรื่องที่ยาก เพราะว่าสภาพธรรมเป็นสิ่งที่ละเอียดมาก แต่ว่าสามารถที่จะอบรมปัญญาให้คมกล้าได้ในวันหนึ่ง

    สำหรับความละเอียดของสภาพธรรม การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และการคิดนึกต่างๆ ทางใจ ที่มีอยู่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน แต่ว่าเกิดดับสลับกันอย่างเร็วมาก พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่อง วิถีจิต ซึ่งหมายความถึงขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก

    โดยสภาพของจิต จิตเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ ถ้ามีจิต จะไม่มีอารมณ์ปรากฏให้จิตรู้ไม่ได้ เมื่อมีสภาพรู้ ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ แต่ว่าจิตบาง ขณะบางครั้ง ก็ไม่ใช่วิถีจิต ถ้าขณะใดที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่รู้อารมณ์ทางใจ ขณะนั้น ถึงแม้ว่าจิตจะเกิดขึ้นกระทำกิจรู้อารมณ์ แต่ก็ไม่ปรากฏว่าอารมณ์ที่จิตรู้นั้นคืออะไร

    เมื่อปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น จะต้องมีการรู้อารมณ์ในขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดด้วย จะกล่าวว่ามีแต่ปฏิสนธิจิตโดยไม่มีอารมณ์ของปฏิสนธิจิตในขณะปฏิสนธิไม่ได้ แต่ก็ไม่มีใครในที่นี้ที่จำได้ หรือรู้ได้ว่า ขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดมีอารมณ์อะไร เพราะฉะนั้น เวลาที่ปฏิสนธิจิตเกิดแม้ว่าจะรู้อารมณ์ แต่ไม่ใช่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา คือ การเห็นในขณะนี้ ไม่ใช่การได้ยินเสียงอย่างในขณะนี้ ไม่ใช่การได้กลิ่น ไม่ใช่การลิ้มรส ไม่ใช่การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส หรือไม่ใช่การคิดนึกเป็นเรื่องราวต่างๆ ทางใจ เพราะฉะนั้น ขณะนั้น สภาพของจิต เป็นจิตที่ไม่ใช่วิถีจิต เป็นจิตที่พ้นวิถี แต่จิตนั้นต้องมีอารมณ์

    เมื่อปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นดับไปแล้ว ระหว่างที่ยังไม่มีการเห็น เพราะถ้าเป็นการเกิดในครรภ์ของมารดาก็ยังไม่มีจักขุปสาท ยังไม่มีโสตปสาท เพราะฉะนั้น ยังไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ยังไม่รู้อารมณ์ต่างๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่จะมีการรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายในภายหลัง

    เพราะฉะนั้น เมื่อปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นและดับไปแล้ว ก็มีจิตอื่นเกิดดับสืบต่อ ยังไม่ถึงการสิ้นชีวิตไป โดยที่ยังไม่มีการเห็น ยังไม่ได้ยิน ยังไม่ได้กลิ่น ยังไม่ลิ้มรส ยังไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ยังไม่รู้อารมณ์ทางใจ แต่ต้องมีจิตซึ่งเกิดดับสืบต่อจากปฏิสนธิจิต กระทำภวังคกิจ คือ สืบต่อดำรงภพชาติ โดยขณะนั้นไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย ไม่ได้คิดนึกประการใดทางใจเลย แต่จิตก็เกิดดับสืบต่อเป็นภวังค์ต่อจากปฏิสนธิ แม้ในขณะนี้ ก่อนการได้ยิน ก่อนการเห็น ก่อนการได้กลิ่น ก่อนการลิ้มรส ก่อนการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ก่อนการคิดนึก จะต้องมีภวังคจิตเกิดดับสืบต่อหลายขณะทีเดียว

    ทุกท่านเห็นสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา เพราะมีจิตเห็นซึ่งเป็นจักขุวิญญาณทำกิจเห็น ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นจักขุวิญญาณที่เกิดขึ้นกระทำกิจเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งก่อนเห็นแต่ละขณะต้องมีภวังคจิตมากมาย

    และเวลาที่ผัสสเจตสิกเกิดกับจิต กระทบสิ่งที่ปรากฏทางตา เริ่มที่จะรำพึง หรือน้อมไปสู่อารมณ์ที่ปรากฏทางตา จิตในขณะนั้นทำกิจอาวัชชนะ ได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต หมายความว่า ยังไม่ทันเห็นเลย เป็นภวังค์อยู่เรื่อยๆ เกิดดับสืบต่อเป็นภวังค์อยู่เรื่อยๆ จากนั้นจิตที่เกิดขึ้นรำพึงถึงอารมณ์ที่กระทบทางตา เป็น ปัญจทวาราวัชชนจิต ยังไม่เห็น และก็ดับไป ต่อจากนั้น จักขุวิญญาณเกิดขึ้น เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเพียงขณะเดียว และก็ดับไป

    ต่อจากนั้น เป็นจิตที่รับสิ่งที่ปรากฏทางตา รู้ต่อจากจักขุวิญญาณ จิตนั้นกระทำกิจสัมปฏิจฉันนะ คือ รับอารมณ์ไว้ด้วยดี และดับไป จากนั้นสันตีรณจิต เกิดขึ้น กระทำกิจพิจารณารู้อารมณ์ที่ปรากฏและดับไป โวฏฐัพพนจิตเกิดต่อ กระทำกิจมนสิการอารมณ์ ซึ่งแล้วแต่ว่าปัจจัยที่สะสมมาจะทำให้เกิดกุศลจิตหรืออกุศลจิตต่อไป เมื่อโวฏฐัพพนะกระทำกิจและดับไปแล้ว ชวนจิตเกิดต่อ เป็นสภาพที่ชอบหรือไม่ชอบในอารมณ์ที่ปรากฏ จะเป็นโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิต หรือโมหมูลจิต เกิดดับสืบต่อกัน ๗ ขณะ หลังจากนั้น เป็นจิตที่รับรู้อารมณ์ต่อจากชวนะ เป็น ตทาลัมพนะอีก ๒ ขณะ และก็เป็นภวังค์อีกมากมาย

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า สภาพธรรมที่ปรากฏเสมือนไม่ดับในขณะที่กำลังเห็นในขณะนี้ แท้ที่จริงแล้ว จิตเกิดดับสลับกันมาก ด้วยเหตุนี้สภาพธรรมที่ปรากฏจึงเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เมื่อมีการเห็นทางตาแล้ว ทางใจก็รับรู้ จดจำสิ่งที่เห็น รูปร่างสัณฐานที่ปรากฏ และก็ยึดถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เกิดขึ้นทางมโนทวารวิถี ทางใจ ทำให้เกิดเป็นเรื่องราว ความยินดียินร้ายต่างๆ

    จักขุทวารวิถีเกิดขึ้นรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ดับไป มีภวังคจิตเกิดมากคั่น มี มโนทวารรับรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาต่อ มีภวังคจิตเกิดมากคั่นต่อ และก็อาจจะมีวิถีทางตาเกิดอีก หรือว่ามีวิถีทางหูเกิดสลับ

    นี่เป็นการแสดงธรรมโดยละเอียด เพื่อที่จะให้ผู้ฟังไม่เข้าใจผิด ไม่คิดว่า สามารถระลึกรู้สภาพธรรมได้โดยง่าย และประจักษ์ความเกิดดับได้โดยง่าย เพราะว่าแม้สภาพธรรมซึ่งกำลังเกิดดับสืบต่ออยู่ในขณะนี้ สำหรับผู้ที่ไม่ได้อบรมเจริญปัญญาแล้ว อวิชชาปิดบังไม่ให้เห็นสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง เช่น ในขณะนี้ ทุกครั้งที่เห็น ก็เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุสิ่งของต่างๆ และถ้าไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง จะแยกได้อย่างไรว่า สิ่งที่ปรากฏทางตานั้น ไม่ใช่ขณะที่รู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอะไร

    นี่เป็นสิ่งที่จะต้องอบรมเจริญปัญญา ขณะนี้ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา เพื่อจะให้เห็นความต่างกันว่า ขณะที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่ขณะที่รู้ความหมายของสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะว่าการรู้ความหมายนั้น ต้องเป็นทางมโนทวาร ไม่ใช่ทางจักขุทวาร

    เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ฟังเป็นผู้ที่ไม่ประมาท รู้ว่าสภาพธรรมที่ปรากฏนี้เป็นของจริงที่สามารถจะระลึกรู้ได้ ก็ต้องศึกษา โดยการสังเกต สำเหนียก จนสามารถแยกสภาพธรรมที่ปรากฏเสมือนกับติดกันแน่นออกจากกันได้ จึงจะเป็นการรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะ ตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ จริงๆ

    เช่น ทางหู ได้ยิน กับรู้ความหมาย คนละขณะ ขณะที่ได้ยินเสียงก็เพียงได้ยินเท่านั้นแล้วก็ดับไป ก่อนที่จะรู้ความหมาย มีช่องว่างระหว่างการได้ยินกับการรู้ความหมายหลายขณะจิต จิตเกิดดับสืบต่อทางโสตทวารวิถี และก็เป็นภวังคจิต เป็นมโนทวารวิถี รู้ความหมายของเสียงที่ได้ยิน แต่ความรวดเร็วนี้เสมือนกับว่า ทันทีที่ได้ยินก็รู้ความหมายเลย

    เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นสภาพธรรมที่ได้ยิน ก็เป็นสภาพธรรมที่ได้ยิน เมื่อเป็นการตรึก ระลึกถึงความหมาย ก็ไม่ใช่ขณะที่ได้ยินแล้ว ขณะที่กำลังเข้าใจคำ เข้าใจความหมาย ต้องมีสภาพธรรมที่ตรึก หรือนึกถึงความหมายนั้นในขณะนั้น จึงเข้าใจในความหมายนั้น และที่ว่าเข้าใจในความหมาย ก็จะต้องมีการตรึกนึกถึงความหมาย ซึ่งไม่ใช่เป็นการได้ยิน

    ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็โดยนัยเดียวกัน เช่น เห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ต้องเห็นก่อน และก็ตรึกถึงสัณฐานรูปร่างของสิ่งที่เห็น จึงจะรู้ว่า สิ่งที่เห็นเป็นอะไร ถ้าในขณะนี้ปราศจากการตรึกถึงรูปร่างสัณฐาน จะไม่มีการรู้เลยว่า สิ่งที่ปรากฏเป็นอะไร สำหรับทางหู ลองไม่ตรึก คือ ไม่นึกถึงความหมาย ก็จะไม่เข้าใจว่า คำนั้นหมายความว่าอะไร หรือเสียงที่ได้ยินหมายความว่าอะไร

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐาน โดยการระลึกเพื่อที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว ดูเสมือนสภาพธรรมที่ติดกันแน่นมาก ออกจากกันได้เป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างแล้ว จึงจะประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้

    แต่ถ้ายังไม่เจริญปัญญา ที่จะรู้จักลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะ ตรงตามลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ แล้ว ไม่มีทางที่จะประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของธรรมใดๆ ทั้งสิ้น

    บางท่านอาจจะปฏิบัติแบบที่จะให้จิตสงบ และก็จะประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรม เป็นไปไม่ได้เลย เพราะแม้ความรู้ที่จะรู้ว่า ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏต่างกันอย่างไร ก็ยังไม่เกิดขึ้น เมื่อยังไม่รู้ว่าสภาพธรรมที่ปรากฏต่างกันอย่างไร และจะประจักษ์การเกิดดับ ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

    ต้องเป็นปัญญาที่ได้อบรมจนกระทั่งรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะตามความเป็นจริง จนชิน จนละคลายความยึดถือความยินดีพอใจที่จะเห็นว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้ว นั่นจึงจะประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมได้จริงๆ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๒ ตอนที่ ๖๑๑ – ๖๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 43
    28 ธ.ค. 2564