แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 629


    ครั้งที่ ๖๒๙


    ถ. วันนี้เป็นวันพระ ดิฉันเอารองเท้าของคนอื่นใส่เข้าไปในห้องน้ำ ดิฉันไม่ได้ขออนุญาตเจ้าของ และไม่ทราบว่าใครเป็นเจ้าของ ในขณะนั้นจิตของดิฉันก็ระลึกได้ว่า รับอุโบสถ ดังนั้น จะทำให้ผิดศีลหรือด่างพร้อยไหม แต่ดิฉันก็ระลึกรู้สภาพความหม่นหมองของจิตว่าผิดไปแล้ว ใส่รองเท้าของผู้อื่นเข้าไปในห้องน้ำ และก็นำมาไว้ที่เก่า

    อีกครั้งหนึ่งขณะที่ดิฉันรับอุโบสถ มารดาของดิฉันป่วยอยู่ที่โรงพยาบาล ก็ตามไป แต่พอไปถึงไม่มีที่พัก ต้องไปนอนที่นอนของโรงพยาบาลที่เขามีให้ ไม่ใช้นุ่น แต่เป็นที่นอนสูง ที่นอนใหญ่ และเป็นฟองน้ำ ดิฉันก็จำเป็นต้องนอน เพราะดิฉันกำลังป่วยอยู่ เป็นโรคความดันสูง อดนอนก็ไม่สมควร

    สุ. สภาพของจิตละเอียดมาก จะเห็นได้ว่า ความหวั่นไหวเป็นอกุศลเกิดขึ้นแล้วแน่นอน เพราะฉะนั้น เรื่องของกิเลสมีมากทีเดียว และก็วิจิตรต่างกันไปตามกาล ตามโอกาส ตามเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้น

    ท่านผู้ฟังมีวิปฏิสาร คือ ความเดือดร้อนใจที่ไม่ได้ขออนุญาตใช้รองเท้าของผู้อื่นเข้าไปในห้องน้ำ แต่เมื่อใช้เสร็จ ก็วางไว้ในที่เดิม ไม่ได้ลักขโมย แต่ใช้ในสิ่งที่ไม่ใช่ของท่านก็เกิดความเดือนร้อนใจ ในขณะนั้นเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งหวั่นไหว หรือเดือดร้อน ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งชีวิตก็จะต้องมีทั้งกิเลสอย่างแรง อย่างกลาง อย่างอ่อน เกิดขึ้นเป็นไปในสังสารวัฏฏ์มากมาย จะมานั่งวิตกกังวลเดือดร้อนก็ไม่มีประโยชน์อะไร แต่ประโยชน์ที่สุด คือ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งหวั่นไหวแล้วในขณะนั้น ซึ่งเป็นความเดือดร้อนใจว่า เป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง และก็อบรมเจริญปัญญาต่อไป แต่ถ้ายังระลึกถึงด้วยความเป็นตัวตน ก็ไม่มีประโยชน์อะไรทั้งสิ้น

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐานมีคุณประโยชน์อย่างยิ่งที่จะให้ละทันทีเมื่อระลึกรู้ว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรม จะเป็นกุศลหรืออกุศลก็ตามแต่ เกิดแล้วดับไปแล้ว หมดไปแล้ว ขณะนี้มีไหม ขณะนี้กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ศึกษาเดี๋ยวนี้ เปลี่ยนเรื่องเลย ไม่ต้องกังวล ไม่ต้องห่วงใย ในเมื่อได้ทราบโดยขั้นของการฟังแล้วว่า สภาพธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะฉะนั้น ถ้ายังคงข้องใจ ไปกังวลถึง นั่นแสดงถึงความเป็นตัวตน ความเหนียวแน่น ความเยื่อใยของความเป็นตัวตน ซึ่งยึดถือในอกุศลธรรมที่ได้ดับไปแล้วว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นเรา เพราะฉะนั้น หนทางเดียวที่ดีที่สุด คือ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เป็นการเจริญกุศลที่จะไม่หวั่นไหว ไม่ว่าจิตจะขุ่นข้องหมองใจขึ้นอีกในกาลข้างหน้า สติก็สามารถที่จะระลึกรู้ได้ว่า แม้ขณะนั้นก็ไม่ใช่ตัวตน

    ถ. ความเดือดร้อนเป็นสภาพธรรมที่ไม่ดี แต่ก็มาจากสภาพธรรมที่ดี จะว่าดีหรือไม่ดี ขอให้อาจารย์พิจารณาดู ผู้ที่ใส่รองเท้าของผู้อื่นเข้าห้องน้ำ ถ้าไม่ใช่วันอุโบสถ หรือไม่ได้สมาทานอุโบสถศีล ก็ไม่เห็นเดือดร้อน แต่พอไปสมาทานอุโบสถศีลแล้ว ใส่รองเท้าของคนอื่นจึงเกิดความเดือดร้อน เพราะฉะนั้น ความเดือดร้อนเกิดจากการสมาทานอุโบสถศีล ความเดือดร้อนนี่จะดีหรือไม่ดี

    สุ. ความเดือดร้อน ถึงแม้จะไม่สมาทานอุโบสถศีลก็เดือดร้อนได้ ไม่ใช่วันอุโบสถไปใส่รองเท้าของคนอื่น ไปใช้ไม้จิ้มฟันของคนอื่นซึ่งเขาไม่ได้อนุญาต หรือนำกลับไปบ้าน ถึงแม้ไม่ใช่วันอุโบสถ ความเดือดร้อนก็มีได้

    ถ. อาจจะไม่มี เพราะวันนั้นไม่ได้สมาทานอุโบสถศีล ไม่ได้เสียใจว่า ศีลขาดไปแล้ว แต่เพราะการสมาทานอุโบสถศีล เมื่อไปใส่รองเท้าโดยไม่ได้ขออนุญาตเขา ก็เลยคิดว่าศีลของเราขาดไปแล้ว เดือดร้อนเพราะศีลขาด

    สุ. เป็น ๒ เรื่อง คือ เรื่องความเดือดร้อนเพราะใช้วัตถุที่เจ้าของไม่ได้ให้ ถึงแม้จะไม่ใช่วันอุโบสถก็เดือดร้อน ถ้าระลึกได้ว่าไปใช้ของบุคคลอื่น นั่นเป็นความเดือดร้อนตามธรรมดาซึ่งมีได้ แต่เมื่อได้รับอุโบสถศีลแล้ว ก็มีความเดือดร้อนเพิ่มขึ้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง คือ เป็นเรื่องของการที่ศีลอุโบสถจะขาดหรือไม่ เป็น ๒ เรื่อง ไม่ใช่เรื่องเดียว

    ถ. ดิฉันเคยฟังเรื่องอทินนาทาน องค์ของศีลที่หยิบเอาของของที่เขาไม่ได้ให้

    สุ. เอาไปเป็นของตน

    ถ. นี่คือสภาพธรรมชนิดหนึ่งที่เกิดกับดิฉันว่า มัวหมองเพราะไม่ได้ขออนุญาตเจ้าของ จิตก็เลยมัวหมอง และนึกถึงสภาพจิตที่มัวหมองนี้

    สุ. แล้วไปแล้ว หมดไปแล้ว ทางที่ดี คือ เห็นว่ายังมีกิเลสที่ละเอียดอยู่ ซึ่งทำให้กายวาจานี้ยังผิดพลาดอยู่เรื่อยๆ ก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมเพื่อที่จะได้ไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตน

    สำหรับจดหมายของพระคุณเจ้าฉบับนี้ ตอนต้นมีข้อความว่า ขอให้คุณโยมบรรยายถึงจริตว่า ผู้ใดจะมีจริตแตกต่างกันแค่ไหน ก็สามารถเจริญวิปัสสนาได้ผล จะเท่าเทียมกันไหม ในเมื่อทุกๆ จริตเจริญสติพร้อมๆ กัน

    สำหรับปัญหาข้อแรก มีข้อสงสัยไหมเรื่องจริต เพราะว่าทุกท่านมีทุกจริต แต่สำหรับการอบรมเจริญสมถภาวนาที่แยกอารมณ์กัมมัฏฐานให้เหมาะกับจริตต่างๆ นั้น เป็นเพราะไม่ใช่เรื่องของการรู้สภาพธรรมที่เกิดแต่ละขณะตามความเป็นจริง ที่จะละความไม่รู้ในสภาพธรรมที่ปรากฏ แต่มุ่งที่จะให้เกิดความสงบ ที่เหมาะสมกับแต่ละจริตเท่านั้น

    จุดประสงค์ของการเจริญสมถภาวนากับการเจริญวิปัสสนานั้นต่างกัน ทั้งในการอบรม ในข้อปฏิบัติ และในผลที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น เมื่อผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานทราบว่า ท่านเองก็มีจริตทุกอย่าง ราคจริต ความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะก็มีเป็นประจำ ถ้าไม่อบรมเจริญสติปัฏฐาน จะทราบไหมว่า ท่านมีความพอใจในรูป เสียง ในกลิ่น รส โผฏฐัพพะ อาจจะคิดว่าไม่มี แต่เวลาที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็ทราบได้ว่า ยังมีกิเลสอยู่ทุกประการ บางขณะก็เป็นความยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ บางขณะก็เป็นความยินร้าย คือ ไม่พอใจในสภาพที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ บางขณะก็เป็นความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    เพราะฉะนั้น มีกิเลสทุกอย่าง ทั้งราคจริต โทสจริต โมหจริต แต่เมื่อเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็มีพุทธิจริต คือ เป็นผู้ที่มีปัญญา รู้คุณ รู้ประโยชน์ของการที่จะระลึกศึกษาเพื่อให้เกิดความรู้ เพื่อดับความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ซึ่งผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานไม่เลือกว่าจริตของท่านเป็นอย่างไร แล้วแต่ว่าสติจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมขณะใด ก็ศึกษาเพื่อให้ปัญญารู้ชัดในสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้น ไม่ใช่มุ่งความสงบจึงจะได้ไปเลือกว่า ท่านมีจริตประเภทใดมาก ก็ไปแสวงหาอารมณ์ซึ่งเหมาะสำหรับที่จะให้ผู้ที่มีจริตอย่างนั้นสงบ นั่นเป็นเรื่องของสมถภาวนา

    สำหรับคำถามข้อที่ ๒ ก็เกี่ยวข้องกับคำถามข้อที่ ๑ ที่ว่า สมาธิสมถะกับ สมาธิวิปัสสนาแตกต่างกันอย่างไร และอานิสงส์ของทั้ง ๒ ประการนี้ เป็นอย่างไรบ้าง มีประโยชน์แตกต่างกันอย่างไร

    สมาธิเป็นสภาพที่ตั้งมั่นในอารมณ์ที่ปรากฏ ซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง ทำให้จิต แต่ละขณะรู้อารมณ์ได้ทีละ ๑ ขณะ ทีละ ๑ อารมณ์ เพราะฉะนั้น เวลาที่โลภะเกิดขึ้น เอกัคคตาเจตสิกซึ่งเกิดร่วมด้วยก็เป็นมิจฉาสมาธิ มีความตั้งมั่นพอใจในอารมณ์ที่ปรากฏ นั่นเป็นลักษณะของเอกัคคตาเจตสิกซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับโลภมูลจิต เพราะฉะนั้น ถ้าปัญญาไม่เกิดขึ้น จะแยกลักษณะของโลภะไม่ออก เป็นต้นว่า เวลาที่กำลังสบายใจ รู้สึกเหมือนสงบ อยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่เงียบปราศจากความเดือดร้อนใจ ปราศจากความกระวนกระวายใจ ปราศจากความกระสับกระส่ายที่จะไปแสวงหาอารมณ์อื่น เพราะว่าได้อารมณ์ที่พอใจแล้ว เพราะฉะนั้น ลักษณะของโลภะนี้มีมากมายหลายประการ และมีลักษณะที่ปรากฏต่างๆ กัน ทำให้ขณะที่ปัญญาไม่เกิดขึ้นระลึกรู้ตามความเป็นจริง เข้าใจผิดว่า ลักษณะของโลภะ ความยินดีพอใจนั้นเป็นกุศล นี่เป็นความละเอียดของสภาพธรรม

    ก่อนอื่นต้องทราบความหมายของสมาธิว่า สมาธินั้น ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง ถ้าขณะนั้นไม่ใช่การอบรมเจริญกุศลธรรมเพื่อละความยินดีพอใจ แม้ในความสงบ แม้ในธรรมชาติ ขณะนั้นก็ไม่ใช่การอบรมเจริญภาวนา

    ความสงบ คือ สมถภาวนานั้น หมายความถึงสงบระงับจากอกุศลธรรม เพราะฉะนั้น ต้องรู้สภาพของจิตว่า จิตในขณะนั้นเป็นโลภะ เป็นความยินดีพอใจ หรือเป็นความสงบแล้วจากความยินดีพอใจ

    ถ้าไม่มีการศึกษาโดยละเอียด ท่านที่เคยเจริญสมาธิก็คิดว่า จิตของท่านสงบ ซึ่งความจริงไม่ใช่สมถภาวนาเลย เพราะว่าจิตไม่ได้สงบจากอกุศล จึงไม่ใช่สมถภาวนา แต่สมาธิมีได้ เพราะว่าสมาธิคือความตั้งมั่นในอารมณ์เดียว

    ถ้าไม่มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มุ่งที่จะให้จิตสงบตั้งมั่นในอารมณ์เดียวแล้ว จิตตั้งมั่นในอารมณ์เดียวได้ แต่ถ้าปัญญาไม่เกิด ก็ต้องเป็นอกุศล เพราะว่าการอบรมเจริญภาวนาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสมถภาวนาก็ดี หรือวิปัสสนาภาวนาก็ดี เกิดเพราะปัญญา และต้องเกิดพร้อมกับปัญญาด้วย เพียงแต่ว่าเป็นปัญญาที่ต่างระดับขั้นกัน

    ปัญญาของการอบรมเจริญสมถภาวนานั้น เป็นปัญญาที่รู้ว่า จิตจะสงบจากความยินดียินร้ายได้อย่างไร นั่นเป็นการเจริญสมถภาวนา คือ มีปัญญารู้ว่า ลักษณะของสภาพจิตที่ประกอบด้วยกิเลสต่างกับลักษณะของจิตที่เป็นกุศล จึงสามารถที่จะเจริญสมถภาวนาได้ เพราะว่ามีความสงบพร้อมด้วยปัญญา

    แต่ถ้าไม่มีการศึกษาเลย ไม่รู้เลยว่าขณะใดจิตเป็นกุศล ขณะใดจิตเป็นอกุศล แต่มุ่งหน้าด้วยความต้องการที่จะสงบโดยที่ไม่ได้ศึกษา เพราะฉะนั้น ก็ปฏิบัติตามๆ กันไป ผลที่ปรากฏ คือ เป็นความไม่รู้ มีประสบการณ์ประหลาดเกิดขึ้น และก็ยังคงไม่รู้ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ขณะนั้นไม่ใช่การอบรมเจริญสมถภาวนา หรือวิปัสสนาภาวนาเลย

    ขอกล่าวถึงข้อความจากคำถามของท่านผู้หนึ่ง จากจังหวัดขอนแก่น ท่านเขียนมาว่า

    ขอทราบว่า คนเรานี้ในขณะปฏิบัติกัมมัฏฐาน เมื่อปฏิบัติมาแล้วหลายปี ต่อมาวันหนึ่ง ก็ได้เริ่มปฏิบัติกัมมัฏฐานประมาณ ๑๐ นาที มีความรู้สึกว่า ตัวเองได้ลอยต่ำลงๆ แต่พอจิตหวนกลับ ก็รู้สึกว่านั่งที่เดิม และในท่าสมาธิเหมือนเดิม อยากทราบว่าจิตผู้นี้เป็นอย่างไร (เมื่อรู้สึกว่าตัวเองลอยต่ำลง จิตก็ไม่รู้ว่าจะไปไหน)

    นี่ปฏิบัติอะไร ใช้คำว่า กัมมัฏฐาน แต่ปัญญาไม่มีเลย ไม่ว่าจะเป็นระดับขั้นใดทั้งสิ้น ถ้าเป็นปัญญาซึ่งรู้ประโยชน์ของความสงบจากโลภะ โทสะ โมหะ ขณะใดที่จิตเป็นอกุศล ขณะนั้นปัญญาเกิดขึ้นระงับอกุศลธรรมนั้น และก็เป็นกุศลแทน เช่น เวลาที่ความโกรธเกิดขึ้นมากเหลือเกิน ถ้าผู้นั้นมีปัญญาที่รู้ว่า ลักษณะนั้นเป็นความโกรธ ไม่ได้รู้ว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ซึ่งการที่จะรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลนั้น ต้องเป็นการอบรมเจริญวิปัสสนา เพราะฉะนั้น ถ้าเพียงแต่รู้ว่า ขณะนั้นเป็นโทสะ เป็นความโกรธ ซึ่งแรงมาก และผู้นั้นเห็นโทษ รู้ว่าสภาพที่โกรธนั้นเป็นอกุศลธรรม ก็เห็นโทษของอกุศล จิตก็สงบลงเป็นกุศลได้ ขณะนั้นเป็นสมถภาวนา ที่เป็นปัญญาซึ่งเห็นโทษของอกุศล และก็อบรมเจริญกุศล คือ เมตตาบ้าง หรืออาจจะเป็นกรุณา ที่จะทำให้จิตในขณะนั้นเป็นกุศล นั่นเป็นผู้ที่รู้ความต่างกันของ กุศลจิตกับอกุศลจิต จึงอบรมเจริญธรรมฝ่ายกุศลได้

    แต่ที่กล่าวว่า ไปปฏิบัติกัมมัฏฐาน โดยที่ไม่มีปัญญารู้ลักษณะของจิต หรือของกุศลธรรมหรืออกุศลธรรมเลย ผลที่ปรากฏจึงเป็นไปตามที่ท่านเขียนมาว่า วันหนึ่งก็ได้เริ่มปฏิบัติกัมมัฏฐาน ประมาณ ๑๐ นาที ก็มีความรู้สึกว่า ตัวเองได้ลอยต่ำลงๆ

    นี่ไม่ใช่ความจริง และจิตในขณะนั้นเป็นความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เป็นโมหะ ไม่ใช่เป็นปัญญาเลย

    ข้อความที่ท่านเขียนต่อไปมีว่า

    พอจิตหวนกลับ ก็รู้สึกว่านั่งที่เดิม และในท่าสมาธิเหมือนเดิม อยากทราบว่าจิตผู้นี้เป็นอย่างไร

    นี่ไม่ใช่ปัญญาของตัวเองเลย เพราะฉะนั้น จะกล่าวว่าเป็นสมถภาวนา หรือว่าสมถกัมมัฏฐานได้ไหม จะกล่าวว่าเป็นวิปัสสนาภาวนา หรือวิปัสสนากัมมัฏฐาน ได้ไหม ก็ไม่ได้เลยทั้งสองประการ

    คำว่า กัมมัฏฐาน ไม่ใช่ว่าทำอะไรๆ ก็สมถะ หรือว่าจะทำอะไรๆ จิตก็จะสงบ ถ้าปัญญาไม่เกิดขึ้นรู้ความต่างกันของอกุศลธรรมและกุศลธรรมแล้ว อบรมเจริญภาวนาสักอย่างเดียวก็ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นวิปัสสนาภาวนา หรือสมถภาวนาก็ตาม

    เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ของสมาธิสมถะกับสมาธิวิปัสสนาต่างกันที่ว่า เวลาที่เจริญสมถภาวนาก็ด้วยปัญญาที่รู้ว่า จิตจะสงบระงับจากอกุศลได้อย่างไร ด้วยการที่ศึกษารู้ว่า อารมณ์ของสมถภาวนานั้นมี ๔๐ ซึ่งจะทำให้จิตไม่เป็นโลภะ โทสะ โมหะ และมีการตรึก ระลึกถึงอารมณ์นั้นบ่อยๆ และจิตสงบระงับขึ้น ในชีวิตประจำวัน ก็จะมีความสงบเล็กๆ น้อยๆ ตามสมควร

    แต่ถ้าผู้นั้นเห็นโทษของอกุศลมาก และอยากจะสงบระงับมากกว่านั้น ผู้นั้นย่อมหาโอกาส หาเวลา หาสถานที่ เพื่อที่จะให้จิตสงบจากอกุศลนานขึ้น แต่ต้องด้วยปัญญาที่รู้ว่า ขณะที่สงบบ้างเป็นบางเวลานั้น มีลักษณะแตกต่างกับขณะที่ไม่สงบ พร้อมสติสัมปชัญญะบริบูรณ์ ไม่มีการที่จะคิดว่า ตัวลอยขึ้นไป ลอยลงมา หรืออะไรอย่างนั้น นั่นไม่ใช่เรื่องปัญญา ถ้าเป็นปัญญาแล้ว ต้องรู้สภาพของจิตที่เป็นอกุศลที่ละเอียด และรู้ว่าถ้าจิตไม่ตั้งมั่นในอารมณ์ที่จะทำให้สงบขึ้นๆ แล้ว จิตย่อมจะน้อมไปสู่อกุศล

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่ได้อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมว่า ไม่ใช่ตัวตน เพียงแต่เห็นโทษของอกุศลธรรมเท่านั้น และเพียงแต่รู้วิธีที่จะสงบจากอกุศลธรรมเหล่านั้น เมื่อต้องการความสงบมากขึ้น ก็หาสถานที่ ศึกษาเรื่องของอารมณ์และวิธีการปฏิบัติที่จะให้จิตสงบประกอบด้วยสัมปชัญญะสมบูรณ์ โดยไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจซึ่งเป็นการอบรมเจริญปัญญาเพิ่มขึ้น นั่นจึงจะเป็นสมาธิของสมถภาวนา

    แต่ว่าสำหรับสมาธิของวิปัสสนาภาวนานั้น เกิดพร้อมกับสัมมาสติที่ระลึก สติเกิดขึ้นกระทำกิจระลึก และปัญญาก็ศึกษา เพื่อที่จะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง

    นี่เป็นความต่างกันของสมาธิที่เป็นสมถะ กับสมาธิที่เป็นวิปัสสนา และประกอบกับปัญญาคนละระดับขั้นด้วย มีปัญญาที่ประกอบต่างระดับกัน ต่างขั้นกัน



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๓ ตอนที่ ๖๒๑ – ๖๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 43
    28 ธ.ค. 2564