แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 602


    ครั้งที่ ๖๐๒


    ถ. อีกเรื่องหนึ่ง พระผู้มีพระภาคก่อนจะปรินิพพานได้บอกเป็นนิมิตแก่ท่านพระอานนท์ว่า ถ้าท่านพระอานนท์ทูลขอ พระผู้มีพระภาคก็จะอยู่ได้อีกตลอดกัป กัปในที่นี้หมายถึงอะไร ขออาจารย์ช่วยอธิบาย

    สุ. อายุกัป

    ถ. อายุกัปหมายถึงกี่ปี

    สุ. ๑๐๐ ปีในสมัยโน้น สำหรับท่านที่สนใจในการศึกษาธรรม ก็คงจะทราบว่า คำว่า กัป มีความหมายหลายอย่าง

    ถ้าเป็นมหากัป ก็นานมากทีเดียว ซึ่งอายุกัปมากขึ้นและก็ลดลงตามลำดับ เรื่อยๆ ทุกๆ ๑๐๐ ปี ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน อายุกัปในขณะนั้น ๑๐๐ ปี พอถึง ๑๐๐ ปีก็ลดลง ๑ ปี ๑๐๐ ปีลดลง ๑ ปี เพราะฉะนั้น อายุกัปในสมัยนี้ก็เพียง ๗๕ ปี หลังจาก ๒,๕๐๐ ปี

    สำหรับเรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐานในชีวิตประจำวัน หวังว่าท่านผู้ฟังคงจะไม่ใจร้อน ยิ่งเห็นอกุศลธรรมมากมายและละเอียด ก็ยิ่งจะรู้ว่า การอบรมเจริญ สติปัฏฐานเป็นเรื่องละเอียด และเป็นเรื่องที่จะต้องขัดเกลาอกุศลธรรมทั้งหลายให้เบาบางลงไปเท่าที่สติจะระลึกรู้ได้ แม้แต่ในเรื่องของความอ่อนน้อม ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์หรือเป็นบรรพชิต กิเลสที่มีอยู่มากในจิตใจ ก็ทำให้ไม่อ่อนน้อมเท่าที่ควรจะเป็น แม้แต่ในระหว่างบรรพชิต เช่น พระภิกษุบางรูปก็ไม่อ่อนน้อมต่อสงฆ์ ก็เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับอกุศลธรรมที่ยังมีอยู่ในจิตใจ ซึ่งทำให้แต่ละบุคคลมีความประพฤติปฏิบัติต่างๆ กันไป

    ขอกล่าวถึงการสังคายนาครั้งที่ ๑ ต่อไป เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังได้เห็นชีวิตของบุคคลต่างๆ ในครั้งนั้น ซึ่งท่านมีความคิดและการปฏิบัติในเรื่องของความนอบน้อมต่างกัน

    ข้อความต่อไป

    เรื่องพระปุราณเถระ

    ข้อ ๖๒๓

    สมัยนั้น ท่านพระปุราณะเที่ยวจาริกในชนบททักขิณาคิรี พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป คราวเมื่อพระเถระทั้งหลายสังคายนาพระธรรมและ พระวินัยเสร็จแล้ว ได้พักอยู่ในชนบททักขิณาคิรีตามเถราภิรมย์ แล้วเข้าไปหา พระเถระทั้งหลายที่พระวิหารเวฬุวันอันเป็นสถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ แล้วได้กล่าวสัมโมทนียะกับพระเถระทั้งหลาย แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระเถระทั้งหลายได้กล่าวกะท่านพระปุราณะผู้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งว่า

    ท่านปุราณะ พระเถระทั้งหลายได้สังคายนาพระธรรมและพระวินัยแล้ว ท่านจงรับรู้พระธรรมและพระวินัยนั้นที่พระเถระทั้งหลายสังคายนาแล้ว

    ท่านพระปุราณะกล่าวว่า

    ท่านทั้งหลาย พระเถระทั้งหลายสังคายนาพระธรรมและพระวินัยเรียบร้อยแล้วหรือ แต่ว่าข้าพเจ้าได้ฟัง ได้รับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคด้วยประการใด จักทรงไว้ด้วยประการนั้น ฯ

    จะเห็นได้ว่า ความคิดของแต่ละท่านนี้ต่างกัน สำหรับท่านพระอานนท์ แม้ว่าท่านเป็นพระอรหันต์ผู้ร่วมในการกระทำสังคายนา แต่เมื่อสงฆ์แสดงความประสงค์ประการใดที่จะให้ท่านกระทำ ท่านก็กระทำ เช่น ในเรื่องของการแสดงอาบัติทุกกฎ ท่านก็กระทำ แต่สำหรับท่านพระปุราณะ ถึงแม้ว่าท่านจะได้ทราบว่า พระเถระทั้งหลายสังคายนาพระธรรมและพระวินัยเรียบร้อยแล้ว แต่ท่านก็กล่าวว่า พระเถระทั้งหลายสังคายนาพระธรรมและพระวินัยเรียบร้อยแล้วหรือ แต่ว่าข้าพเจ้าได้ฟัง ได้รับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคด้วยประการใด จักทรงไว้ด้วยประการนั้น ฯ

    คามิกะ ที่อาจารย์กล่าวมานี้ ท่านปุราณะ ไม่ได้ปรากฏชื่อจริงๆ ปุราณะนี้แปลว่า คนหัวเก่า หรือหัวครึ ปุราณะ แปลว่า โบราณ ผมก็สดับตรับฟังมามากเหมือนกัน สงสัยว่าท่านเป็นพระอรหันต์หรือปุถุชน

    สุ. ในที่นี้ไม่ได้แสดงไว้

    คามิกะ สังเกตดูแล้ว คงไม่ใช่พระอรหันต์

    สุ. ถ้าเป็น ก็ต้องมีความเคารพต่อสงฆ์

    คามิกะ ถ้าจะพูดอย่างไม่เกรงใจ ท่านหัวดื้อ สงฆ์ตั้ง ๕๐๐ เขาทำสังคายนาเรียบร้อยแล้ว ยังไปคัดค้านอย่างนั้น ก็คงจะไม่ใช่พระอรหันต์ หรือ พระโสดาบันก็อาจจะไม่ถึง ผมนึกว่าอย่างนั้น แต่ที่อ่านมาไม่เคยพบ

    ปุราณะ ก็ไม่ได้บอกชื่อจริงว่าอะไร เพียงแต่เรียกว่า ปุราณะ แปลกันอย่างไม่เกรงใจ ก็พระหัวเก่าๆ อะไรอย่างนั้น

    สุ. ในที่นี้กล่าวว่า ท่านพระปุราณะพร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ รูป ชื่อเสียงไม่สำคัญ ถึงในปัจจุบันนี้ชื่อก็ไม่สำคัญ ท่านผู้ฟังจะมีจำนวนสักเท่าไรก็ตาม ชื่ออะไรบ้างก็ตาม ก็เป็นแต่เพียงสภาพนามธรรมและรูปธรรมซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปเพราะเหตุปัจจัย สภาพของโลภะเป็นโลภะ สภาพของโทสะเป็นโทสะ สภาพของปัญญาเป็นปัญญา สภาพของกุศลเป็นกุศล สภาพของอกุศลเป็นอกุศล

    เพราะฉะนั้น ที่นั่งกันอยู่มากหน้าหลายตาก็เป็นนามธรรมและรูปธรรม บางขณะกุศลธรรมก็เกิด เป็นกุศล บางขณะก็เป็นอกุศลธรรม ก็เป็นสภาพธรรมแต่ละขณะซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ชื่อไม่สำคัญ สำคัญที่ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเกิดขึ้นเป็นกุศลหรืออกุศลในแต่ละขณะ

    ถึงแม้ว่าท่านจะชื่อท่านพระปุราณะหรือชื่ออื่น ก็เป็นการแสดงเพียงสภาพนามธรรมซึ่งเป็นอกุศล ที่ขาดความนอบน้อมในสงฆ์ จึงกล่าวคำอย่างนั้นตามสภาพของจิตซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปในขณะนั้น เพราะฉะนั้น เมื่อศึกษาเรื่องสภาพธรรมแล้ว ก็จะเห็นสิ่งที่เคยยึดถือว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลทั้งหลายว่า ก็เป็นแต่เพียงธรรมแต่ละประเภทซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยทั้งสิ้น

    ข้อความต่อไป

    ข้อ ๖๒๔

    ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ได้กล่าวกะพระเถระทั้งหลายว่า

    ท่านเจ้าข้า เมื่อจวนเสด็จปรินิพพาน พระผู้มีพระภาคตรัสกะข้าพเจ้าอย่างนี้ว่า ดูกร อานนท์ ถ้าเช่นนั้น เมื่อเราล่วงไปแล้ว สงฆ์จงลงพรหมทัณฑ์แก่ภิกษุฉันนะ

    ท่านพระฉันนะเป็นผู้ติดตามพระผู้มีพระภาค ตอนที่พระผู้มีพระภาคเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ คือ จากพระราชวังไป และภายหลังนายฉันนะก็ได้บวช แต่ก็ไม่มีความนอบน้อม หรือไม่มีความอ่อนน้อมเลย เป็นผู้ที่ทะนงตน ถือตัวว่าเป็นผู้ที่ใกล้ชิดและเป็นผู้ที่ได้ติดตามพระผู้มีพระภาคเมื่อคราวที่พระองค์เสด็จออกจากพระราชวัง เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีความยำเกรงต่อสงฆ์ ไม่ว่าใครจะกล่าวสอน หรือว่าชี้แจงอย่างไร พระภิกษุฉันนะก็ไม่ปฏิบัติตาม ไม่เชื่อฟัง เพราะฉะนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคจวนจะเสด็จปรินิพพาน ก็ได้ตรัสกับท่านพระอานนท์ว่า เมื่อพระองค์ล่วงไปแล้ว สงฆ์จงลงพรหมทัณฑ์แก่ภิกษุฉันนะ

    พระเถระทั้งหลายกล่าวว่า

    ท่านอานนท์ ท่านทูลถามพระผู้มีพระภาคหรือว่า พระพุทธเจ้าข้า ก็พรหมทัณฑ์เป็นอย่างไร

    พระอานนท์ตอบว่า

    ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าทูลถามพระผู้มีพระภาคแล้วว่า พรหมทัณฑ์เป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร อานนท์ ภิกษุฉันนะพึงพูดตามปรารถนา ภิกษุทั้งหลายไม่พึงว่ากล่าว ไม่พึงสั่งสอน ไม่พึงพร่ำสอนภิกษุฉันนะ

    ท่านพระเถระทั้งหลายกล่าวว่า

    ท่านอานนท์ ถ้าเช่นนั้น ท่านนั้นแหละจงลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ

    พระอานนท์ปรึกษาว่า

    ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าจะลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะได้อย่างไร เพราะเธอดุร้าย หยาบคาย

    พระเถระทั้งหลายกล่าวว่า

    ท่านอานนท์ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงไปกับภิกษุหลายๆ รูป

    ท่านพระอานนท์รับเถระบัญชา แล้วโดยสารเรือไปพร้อมกับภิกษุหมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ถึงเมืองโกสัมพี ลงจากเรือ แล้วได้นั่ง ณ โคนไม้แห่งหนึ่งใกล้ พระราชอุทยานของพระเจ้าอุเทน ฯ

    ท่านอาจจะสงสัยว่า พระธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้จะมีประโยชน์เกื้อกูลอย่างไรบ้างกับการเจริญสติปัฏฐาน เพราะว่าการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นการระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงของชีวิต ในแต่ละภพ ในแต่ละชาติ เพราะฉะนั้น ก่อนที่ท่านผู้ฟังจะบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ เช่น ท่านพระอรหันต์ทั้งหลายที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ท่านก็ย่อมไม่ทราบเลยว่า ชีวิตของท่านจะวนเวียนไป และมีสภาพที่จะเป็นอุบาสกบ้าง อุบาสิกาบ้าง ภิกษุบ้าง ภิกษุณีบ้าง ชาติหนึ่งชาติใดในลักษณะอย่างใด เพราะฉะนั้น ชีวิตที่มีปรากฏในพระไตรปิฎกทั้งหมดแสดงให้เห็นถึงสภาพธรรมตามความเป็นจริงของแต่ละบุคคล ซึ่งบางท่านก็ได้อบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งสามารถที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉทถึงความเป็นพระอรหันต์ แต่บางท่านก็ยัง ท่านอาจจะเป็นผู้มีความเห็นผิดในครั้งที่ได้พบพระผู้มีพระภาค ที่ปรากฏในพระไตรปิฎก

    เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ ในปัจจุบันนี้ ท่านก็จะยังคงอยู่ในสังสารวัฏฏ์ เป็นภพหนึ่งชาติหนึ่ง แล้วแต่ว่าจะเป็นบุคคลหนึ่งบุคคลใด แต่สำหรับผู้ที่ได้พบ และมีความเข้าใจถูก แต่ยังไม่บรรลุคุณธรรม ท่านก็จะมีภพชาติต่างๆ กันไป แต่ว่าไม่ปรากฏในพระไตรปิฎก เหมือนชีวิตของบุคคลทีซึ่งได้พบพระผู้มีพระภาคและปรากฏในพระไตรปิฎก

    เรื่องของชีวิตต่างๆ ที่ท่านจะได้รับฟังจากพระไตรปิฎก ท่านก็จะเห็นได้ว่า แม้ในขณะที่ท่านรับฟัง พระผู้มีพระภาคก็ทรงเน้นเรื่องของการเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่เรื่องสมาธิ เพราะถ้าเป็นเรื่องสมาธิแล้ว ก็จะไม่มีการศึกษาในเรื่องของพระธรรมต่างๆ ที่ปรากฏ เช่น ในเรื่องของการสังคายนาและในเรื่องของการนอบน้อมต่อสงฆ์ แต่ผู้ที่เข้าใจแล้ว ทราบได้เลยว่า ไม่ว่าจะเป็นข้อความตอนใดทั้งหมด แม้ในขณะที่ฟัง ก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มีการรู้เรื่อง มีความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น หรือความรู้สึกเป็นอทุกขมสุข คือ ไม่ทุกข์ ไม่สุข เป็นสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง

    ข้อความต่อไป

    เรื่องพระเจ้าอุเทน

    ข้อ ๖๒๕

    ครั้งนั้น พระเจ้าอุเทนกับพระมเหสีประทับอยู่ในพระราชอุทยานพร้อมด้วย ข้าราชบริพาร พระมเหสีของพระเจ้าอุเทนได้สดับข่าวว่า พระคุณเจ้าอานนท์ อาจารย์ของพวกเรานั่งอยู่ที่โคนไม้แห่งหนึ่งใกล้พระราชอุทยาน จึงกราบทูลพระเจ้า อุเทนว่า

    ขอเดชะ ข่าวว่าพระคุณเจ้าอานนท์อาจารย์ของพวกหม่อมฉัน นั่งอยู่ที่โคนไม้แห่งหนึ่งใกล้พระราชอุทยาน พวกหม่อมฉันปรารถนาจะไปเยี่ยมพระคุณเจ้าอานนท์ พระเจ้าข้า

    พระเจ้าอุเทนตรัสว่า

    ถ้าเช่นนั้น พวกเธอจงเยี่ยมพระสมณะอานนท์เถิด

    ลำดับนั้น พระมเหสีของพระเจ้าอุเทนได้เข้าไปหาท่านพระอานนท์ แล้วถวายอภิวาท นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ท่านพระอานนท์ชี้แจงให้พระมเหสีของพระเจ้า อุเทนผู้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา

    ครั้งนั้น พระมเหสีของพระเจ้าอุเทนอันท่านพระอานนท์ชี้แจงให้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงแล้วด้วยธรรมีกถา ได้ถวายผ้าห่ม ๕๐๐ ผืนแก่ท่าน พระอานนท์ ครั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระอานนท์แล้ว ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาท ทำประทักษิณ แล้วเข้าไปเฝ้าพระเจ้าอุเทน ฯ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๑ ตอนที่ ๖๐๑ – ๖๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 43
    28 ธ.ค. 2564