แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 631


    ครั้งที่ ๖๓๑


    ถ. วิปัสสนาปัญญา ใช้ปัจจุบันธรรม คือ เห็นเดี๋ยวนี้ ได้ยินเดี๋ยวนี้ ผมคิดว่าเป็นปัจจุบันอย่างเดียว แต่ฟังท่านอาจารย์กล่าว ดูเหมือนว่า ใช้อดีตมาร่วมด้วย เช่น เห็นแล้วก็มีการนึกถึงอดีต โดยปกติแล้ว จินตามยปัญญาต้องอาศัยอดีตธรรมทั้งหมด เช่น เราอ่านหนังสือ เราเห็นตัวหนังสือเดี๋ยวนี้ เราไม่ได้อ่านตัวหนังสือเดี๋ยวนี้ เราอ่านตัวหนังสือที่เราจำไว้ในอดีต เราอ่านสัญญา ท่านอาจารย์อื่นๆ กล่าวว่า ไม่ให้ยุ่งกับอดีต ให้ใช้เฉพาะปัจจุบันธรรม ผมสงสัยว่า ถ้าหากพิจารณาแต่เฉพาะปัจจุบันธรรมแล้ว เราจะไปทราบอะไรได้ ไม่รู้อะไรเลย

    สุ. ขอให้ศึกษาสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงว่า ขณะที่กำลังอ่านหนังสือ สัญญาที่กำลังจำได้เป็นปัจจุบันหรือไม่

    ถ. ระลึกถึงสัญญาเดี๋ยวนี้ หมายถึงว่าเป็นปัจจุบันหรือ

    สุ. ข้อความในอรรถกถา ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค สังคีติสูตร มีข้อความที่กล่าวถึงสภาพธรรมที่เป็นอดีตว่า หมายความถึงขณะที่พ้นภังคขณะ

    ภังคะ แปลว่า ดับ สภาพของจิตเกิดขึ้นและก็ดับไป ซึ่งแม้จะรวดเร็วอย่างนั้น ก็ยังสามารถที่จะต่างกันเป็น ๓ ขณะย่อย คือ ขณะที่เกิดเป็นอุปาทขณะ ขณะที่ตั้งอยู่ยังไม่ดับไปเป็นฐีติขณะ และขณะที่ดับเป็นภังคขณะ

    ขณะที่เกิด ไม่ใช่ขณะที่ดับ อุปาทขณะคือเกิด ยังไม่ได้ดับ

    ขณะที่ยังไม่ได้ดับ ไม่ใช่ขณะที่เกิด หรือขณะที่ดับ เพราะฉะนั้น ขณะที่ยังไม่ดับนี้ เป็นฐีติขณะ

    ขณะที่ดับ ไม่ใช่ขณะที่เกิด และไม่ใช่ขณะที่ตั้งอยู่ เป็นภังคขณะ

    เพราะฉะนั้น ในจิตขณะหนึ่งซึ่งเกิดดับมีสภาพต่างกันเป็น ๓ ขณะ คือ อุปาทขณะ ขณะที่เกิดขึ้น ฐีติขณะ ขณะที่ยังไม่ดับ และภังคขณะ ขณะที่ดับ

    ที่กล่าวว่า อดีต อดีตนั้นคือขณะใด

    สภาพธรรมใดก็ตามที่เป็นอดีต หมายความถึงขณะที่พ้นภังคขณะ ขณะที่ดับ เมื่อพ้นภังคขณะนั้นแล้ว เป็นอดีต

    สภาพธรรมใดเป็นอนาคต คือ ก่อนการเกิด

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นช่วงที่สั้นและสืบต่อกันอย่างรวดเร็วมาก ที่จะกล่าวว่า เป็นอดีต เป็นปัจจุบัน เป็นอนาคต

    กำลังอ่านหนังสือ ลองพิจารณาจริงๆ สัญญาที่เกิดในขณะที่กำลังจำ หรือรู้คำที่อ่านเป็นปัจจุบันหรือเปล่า มีสัญญาปัจจุบันที่กำลังอ่านหรือเปล่า ที่กำลังจำหรือเปล่า ที่กำลังรู้ กำลังเข้าใจ เป็นสัญญาปัจจุบันหรือเปล่า

    ถ้าไม่เป็นสัญญาปัจจุบัน ก็ไม่มีการจำ ไม่มีการรู้ในขณะนั้น

    สัญญาที่จำ เกิดขึ้นและดับไป ขณะที่กำลังอ่านนี้ ต้องมีสัญญาปัจจุบันเกิดดับ และก็เกิดดับๆ แต่ที่จะกล่าวว่า สัญญาขณะใดเป็นอดีต ก็คือขณะที่พ้นภังคขณะแล้ว สัญญานั้นเป็นอดีต

    ในขณะที่กำลังอ่านหนังสือ อย่าคิด หรืออย่าเข้าใจว่า ไม่มีปัจจุบันธรรม กำลังคิดก็เป็นปัจจุบัน เพราะถ้าไม่มีสภาพที่ตรึกหรือคิด เรื่องนั้นก็ไม่มี กำลังคิดถึงเรื่องอะไรก็ตาม เรื่องไม่ใช่ปรมัตถธรรม ไม่มีสภาพธรรม คิดถึงเรื่องบ้าน เป็นแต่เพียงการนึกถึงด้วยสัญญาความทรงจำเท่านั้น แต่จิตที่ตรึกหรือนึกเป็นปัจจุบัน เกิดขึ้นนึกถึงต้องเป็นปัจจุบันในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้น ก็จะทราบได้ว่า สภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อจากทางตา ก็ถึงทางใจ ทางใจก็เป็นปัจจุบันทางใจ ทางตาก็เป็นปัจจุบันทางตา สภาพธรรมที่ได้ยินทางหู ก็เป็นปัจจุบัน สภาพธรรมที่รู้คำก็เป็นปัจจุบันทางใจ เกิดขึ้นเป็นปัจจุบันในขณะนั้น

    การอบรมเจริญปัญญา รู้สภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง ไม่ใช่ว่าขณะที่คิด ขณะที่รู้เรื่องไม่ใช่ปัจจุบัน อะไรกำลังรู้เรื่อง ก็ต้องสภาพธรรมที่เกิดปัจจุบันรู้ ในขณะนั้นเป็นปัจจุบัน

    ถ. หมายถึงว่า สติระลึกได้ทั้งหมดใช่ไหม

    สุ. เมื่อเป็นของจริง ก็สามารถที่จะให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้นได้ อย่างทางตา เห็น ที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้จริงหรือเปล่า ถ้าต้องการจะรู้ของจริง จะไปรู้อื่นซึ่งไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยิน ไม่ใช่ได้กลิ่น ไม่ใช่ลิ้มรส ไม่ใช่การรู้โผฏฐัพพะ ไม่ใช่การคิดนึกต่างๆ จะชื่อว่าเป็นการรู้ของจริงไหม

    เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นต้องทราบว่า อะไรเป็นสภาพธรรมที่มีจริง กำลังเห็นในขณะนี้จริง แต่เมื่อไม่รู้ จึงต้องระลึกศึกษาที่จะให้เกิดความรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่สภาพรู้ เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้เท่านั้นเอง แต่สิ่งที่ปรากฏทางตาจะปรากฏได้ ต้องมีสภาพรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา คือ มีการเห็นสิ่งที่เห็นได้นั้น เพราะฉะนั้น การเห็นมีจริง สิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้มีจริง แต่เพราะความ ไม่รู้จึงไม่สามารถที่จะแยกออกได้ ฉันใด เวลาที่กำลังคิดนึก จะมีเรื่องราวปรากฏโดยที่ไม่มีการนึกถึงเรื่องนั้นได้ไหม เพราะฉะนั้น เมื่อนามธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ทางตาเป็นสภาพเห็น สติระลึกรู้ได้ฉันใด นามธรรมที่กำลังรู้ความหมายรู้เรื่องต่างๆ ก็เป็นของจริงที่สติสามารถจะระลึกรู้ได้ในสภาพที่กำลังคิดกำลังรู้เรื่องนั้นว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล จึงจะเป็นการไม่สงสัยในลักษณะของนามธรรม

    การอบรมเจริญปัญญานั้น เพื่อละความสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ความคิดเป็นนามธรรมหรือเปล่า การเห็นเป็นนามธรรมหรือเปล่า เมื่อการเห็นเป็นนามธรรมสติระลึกรู้ได้ การคิดซึ่งเป็นนามธรรม สติก็ระลึกรู้ได้เหมือนกัน ทำไมจะห้าม หรือป้องกันไม่ให้สติไประลึกรู้นามธรรมที่คิด ในเมื่อนามธรรมที่เห็น มีสิ่งต่างๆ สีสันวัณณะต่างๆ เป็นอารมณ์ สติสามารถที่จะระลึกรู้ว่าเป็นเพียงสภาพรู้เพราะฉะนั้น นามธรรมที่คิด มีเรื่องต่างๆ เป็นอารมณ์ สติก็ย่อมสามารถที่จะรู้ว่า ขณะที่คิดก็เป็นเพียงนามธรรมที่เป็นสภาพรู้

    เห็นเป็นนามธรรม สติระลึกรู้ได้ฉันใด คิดนึกเป็นนามธรรม สติก็ระลึกรู้ได้ในลักษณะของนามธรรมนั้น จึงจะหมดความสงสัยในสภาพของนามธรรม

    นามธรรมทางตาก็เห็น นามธรรมทางหูก็ได้ยิน นามธรรมทางใจก็คิดนึกตรึกเรื่องราวต่างๆ แต่ก็เป็นนามธรรม ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    ต้องละเอียดมากทีเดียว และต้องให้รู้แน่ด้วยว่า นามธรรมเป็นสภาพที่มีจริง ไม่ใช่ตัวตน ปัญญาสามารถรู้ได้ ถ้าปัญญาไม่สามารถรู้ลักษณะของนามธรรมได้ ก็ ไม่ต้องมีการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่ต้องมีการอบรมเจริญปัญญาให้เกิดขึ้น แต่เพราะว่านามธรรมไม่ใช่ตัวตน มีลักษณะแต่ละอย่าง จึงสามารถที่จะอบรมเจริญปัญญาให้รู้ชัดในลักษณะของนามธรรมแต่ละอย่างนั้นตามความเป็นจริงได้

    ถ้าไม่ให้อ่านหนังสือ ไม่ให้คิด ไม่ให้พูด จะรู้ได้อย่างไรว่า ขณะที่พูด ขณะที่อ่าน ขณะที่คิด ก็เป็นแต่เพียงนามธรรม ไม่ใช่ตัวตน วันไหนจะรู้ได้ในลักษณะของนามธรรม ในเมื่อเว้นนามนั้น เว้นนามนี้ เพราะฉะนั้น ก็ยังคงเป็นที่ตั้งของความสงสัยอยู่เรื่อยๆ ว่า ลักษณะนั้นเป็นอะไร ใช่นามธรรมหรือไม่ใช่นามธรรม

    ถ้าไม่คิดถึงคำอะไรเลย จะมีเรื่องราวต่างๆ ปรากฏได้ไหม เพราะฉะนั้น การคิดนึกเป็นแต่เพียงนามธรรม ซึ่งถ้าผู้ใดกล่าวว่ารู้ไม่ได้ หมายความว่าผู้นั้นไม่ได้อบรมปัญญาที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เมื่อไม่รู้ จึงกล่าวว่ารู้ไม่ได้

    แต่ผู้ที่รู้แล้ว ไม่มีท่านใดเลยที่จะกล่าวว่ารู้ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นรูปอะไร นามอะไร ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า เป็นมหาสติปัฏฐาน เป็นสติปัฏฐาน สติสามารถที่จะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมที่เกิดดับ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนได้

    ถ. ดิฉันได้รับประโยชน์จากพระสูตรที่ท่านอาจารย์เคยยกมาพูด เรื่องภิกษุรูปหนึ่งที่ท่านไปอาบน้ำ และได้กลิ่นดอกอุบล มีเทวดามาเตือนว่า ท่านเป็นขโมย ท่านก็บอกว่าคนที่เขาขุดเหง้าบัวไป ตัดดอกบัวไป ทำไมไม่ว่าเขา แต่สำหรับท่านเพียงแต่ได้กลิ่นดอกอุบลเฉยๆ ทำไมจึงมาว่าท่านเป็นขโมย เทวดาองค์นั้นท่านเปรียบเทียบว่า พระภิกษุนั้นเป็นผู้สะอาด มีอะไรมาถูกต้องนิดเดียว ก็เป็นของสกปรกได้ จะเปรียบกับคนที่ขุดรากบัว เหง้าบัวไม่ได้

    ดิฉันก็เคยผิดอย่างนี้ คือ ดิฉันไปรับศีลอุโบสถที่วัด ข้างศาลามีต้นโมก มีกลิ่นหอม ดิฉันก็เคยขโมยเหมือนพระรูปนั้น คือ ได้กลิ่นแล้วไม่ได้สติ เมื่อได้ฟังท่านอาจารย์พูดถึงเรื่องภิกษุรูปนั้นแล้ว ตั้งแต่นั้นมาดิฉันก็พยายามสำรวมระวังอินทรีย์ของตัวเองในเรื่องเกี่ยวกับกลิ่น เพราะดิฉันชอบ ไม่ใช่ชอบอย่างเดียว คิดต่อไปด้วยว่า อยากจะนำไปปลูกที่บ้าน นี่เป็นความจริงในชีวิตของดิฉัน

    สุ. ขออนุโมทนา ก็คงเป็นตัวอย่างให้ท่านอื่นได้เห็นความหนาแน่นของกิเลส ซึ่งวันหนึ่งก็จะดับได้เป็นสมุจเฉท ถ้าได้อบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง

    จะเห็นได้ว่า กิเลสที่มีอยู่แล้ว ชวนให้เกิดกิเลสอื่นต่อๆ ไปอยู่เรื่อยๆ ความพอใจในกลิ่นดอกโมก ก็ชวนให้คิดที่จะเอาไปปลูก ซึ่งเมื่อมีการริเริ่มแล้ว ก็ชวนต่อไปอีกเรื่องต่างๆ ที่จะทำให้เกิดกิเลสทั้งหลาย

    เพราะฉะนั้น พระธรรมทั้งหมดที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ผู้ใดน้อมมาใส่ตน พิจารณาเปรียบเทียบที่จะรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นแล้ว ย่อมได้ประโยชน์ คือ การขัดเกลากิเลส พร้อมทั้งการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นของจริงตามปกติเสียจนยากที่จะรู้ได้ ความยาก ยากเพราะว่า ช่างเป็นของจริงตามปกติ แสนที่จะธรรมดา จนยากแก่การที่จะประจักษ์แจ้งรู้ชัดตามความเป็นจริงได้

    อย่างทางตา ที่ว่า เห็นเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ส่วนการที่จะรู้ความหมาย รู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร ไม่ใช่การเห็นทางตา แต่เป็นการตรึกนึกถึงรูปร่างของสิ่งที่เห็นทางตา เป็นเรื่องทางใจแล้ว แต่ไม่หมดสงสัย เพราะว่านั่นเป็นความเข้าใจขั้นการฟังหรือขั้นการศึกษา เพราะฉะนั้น การศึกษาจริงๆ ที่จะให้รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ต้องเป็นการศึกษาพร้อมสติ จึงสามารถที่จะแยกได้ว่า ทางตาเพียงเห็น ส่วนการตรึกนี่ไม่ใช่ทางตาแล้ว แต่เมื่อไม่ได้หลับตาลงไป ก็เห็นอยู่อย่างนี้ ทางใจก็รู้สิ่งที่ปรากฏต่อไปเลย โดยที่ทางตาก็ไม่ได้ดับไป นี่แสดงถึงความรวดเร็วของสภาพธรรม ซึ่งผู้ที่จะรู้ได้ต้องเป็นผู้ละเอียดจริงๆ ที่จะสังเกตรู้ว่า การตรึกนึกถึงรูปร่างต้องมี ถ้าไม่มีการตรึกถึงรูปร่าง จะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นอะไร นี่เป็นความรวดเร็วของสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อกัน แต่เมื่อเป็นของจริง ปัญญาที่เกิดขึ้น วันหนึ่งก็ย่อมรู้ชัดในสภาพธรรมซึ่งกำลังเกิดดับสืบต่อกันอยู่ในขณะนี้

    เพราะฉะนั้น ที่ถามว่า นามทางตาเป็นอย่างไร ทางใจเป็นอย่างไร ทางหูเป็นอย่างไร ทางใจเป็นอย่างไร ก็จะรู้ชัดได้เวลาที่กำลังเห็นตามปกติอย่างนี้ และสติก็ระลึกตามปกติ พร้อมทั้งศึกษารู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอย่างหนึ่ง สภาพรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอย่างหนึ่ง สภาพที่ตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐานเป็นอย่างหนึ่ง เป็นการที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง จนชิน จนชัด จนเร็ว จนละคลาย จนประจักษ์แจ้งความเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมได้ และเป็นชีวิตปกติธรรมดา ซึ่งแต่ละขณะวิจิตรต่างๆ กันไปตามการสะสม

    ปัญญาที่เข้าใจเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานในวันนี้ ก็ต่างกับปัญญาครั้งแรกที่เพิ่งจะเริ่มได้ยินได้ฟัง นี่เป็นการเสริมสร้างเหตุปัจจัยของสภาพธรรมแต่ละขณะซึ่งเปลี่ยนไปเรื่อยๆ และก็ไม่ใช่ขณะเดียวกัน การเห็นเมื่อวานนี้กับวันนี้ ก็ไม่ใช่สภาพธรรมอันเดียวกัน สิ่งที่ปรากฏทางตาขณะก่อนกับขณะนี้ ก็ไม่ใช่รูปเดียวกัน เป็นลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อกัน

    ถ. ในมงคล ๓๘ ประการนั้น มีอยู่ประการหนึ่ง ท่านกล่าวว่า ความสำรวมจากการดื่มน้ำเมา หมายความว่าอย่างไร

    สุ. เว้นการดื่มน้ำเมา

    ถ. ผมคิดว่าหมายถึง เวลาจะดื่มเหล้าก็ให้มีความสำรวม

    สุ. สำรวมแล้ว ดื่มไหม

    ถ. ขณะที่ดื่มนั้น สำรวมได้

    สุ. และจะดื่มไหม

    ถ. ดื่ม

    สุ. บางท่านก็อาจจะดื่ม บางท่านก็อาจจะไม่ดื่ม ตามการสะสม ซึ่งเรื่องของการละกิเลสไม่ใช่ว่าพอรู้เรื่องสติปัฏฐานวันนี้ พรุ่งนี้เป็นพระโสดาบันบุคคล ไม่ดื่มเลย เป็นไปไม่ได้ แต่ละขณะที่จะเกิดขึ้นคาดคะเนไม่ได้ ไม่รู้ล่วงหน้าด้วยว่าอะไรจะเกิดขึ้น ตามการสะสมที่ว่า เมื่อเกิดปรากฏแล้วจึงรู้ได้ว่า ที่เกิดแล้วเพราะสะสมมาจึงได้เกิดขึ้นเป็นอย่างนี้

    ที่จะวิรัติ ก็ต้องมีการสะสมที่จะเว้น และที่จะไม่วิรัติ ทั้งๆ ที่ระลึกยังดื่ม ก็เป็นเรื่องของการอบรมเจริญการวิรัติขั้นสมุจเฉท ด้วยปัญญาที่จะต้องประจักษ์สภาพธรรมที่เป็นอริยสัจธรรมเสียก่อน เป็นพระโสดาบันเสียก่อน จึงจะวิรัติได้เป็นสมุจเฉทจริงๆ

    ถ. ผมสงสัยว่า จะเป็นมงคลได้อย่างไร ขณะที่มีการสำรวมแล้วก็ดื่มน้ำเมา ก็การดื่มน้ำเมานี่ผิดศีล

    สุ. สำรวมดี หรือไม่สำรวม สองท่านมีการสะสมมาที่จะดื่ม ท่านหนึ่งมีการสะสมที่จะสำรวม คือ ระลึกรู้ด้วย อีกท่านหนึ่งไม่มีการสะสมที่จะสำรวม หรือระลึกรู้ มีเพียงการสะสมที่จะดื่มเท่านั้น อย่างไหนจะดีกว่ากัน ขณะที่สำรวมนั้นต้องเป็นมงคล แต่ไม่ใช่ขณะที่ดื่มเป็นมงคล ต้องแยกกัน

    ถ. แยกกันตรงนี้

    สุ. แน่นอน แยกกันทุกขณะ ละเอียดจริงๆ ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาต้องเป็นผู้ละเอียด ปัญญาต้องรู้ละเอียด ถ้ารู้ไม่ละเอียด ก็กระจัดกระจายสภาพธรรมแต่ละลักษณะซึ่งเกิดดับสืบต่อกันไม่ได้

    ถ. จะต้องแยกกัน ตอนสำรวม กับตอนที่ดื่ม ขณะที่สำรวมนั้นเป็นมงคล

    สุ. แน่นอน ดีกว่าผู้ที่สะสมมาที่จะดื่มโดยไม่สำรวม โดยที่ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม

    ไม่มีใครซึ่งศึกษาวันนี้ รุ่งขึ้นเป็นพระโสดาบัน เป็นไปไม่ได้เลย กว่าจะขัดเกลา กว่าปัญญาจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมทีละเล็กทีละน้อยเพิ่มขึ้น ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ กว่าจะไม่หวั่นไหว ไม่ว่านามอะไร รูปอะไรทั้งสิ้น กว่าที่จะสามารถแทงตลอดในความไม่ใช่ตัวตน ในความไม่เที่ยงของสภาพธรรมได้ ก็ต้องอบรมเจริญปัญญา ซึ่งเป็นปัญญาที่รู้จริง โดยสภาพธรรมที่ปรากฏเป็นของจริงให้รู้ จึงจะชื่อว่าปัญญารู้จริง

    ถ้าสิ่งที่ปรากฏไม่ใช่ของจริง จะชื่อว่าปัญญาไม่ได้ เป็นความเข้าใจผิดคิดว่าเป็นปัญญา แต่ไม่ใช่ปัญญา เช่น ท่านที่ไปปฏิบัติกัมมัฏฐานและรู้สึกว่าตัวลอยขึ้นลอยลง นั่นไม่ใช่ของจริง ไม่ใช่ปัญญา เพราะว่าไม่ได้รู้ลักษณะสภาพธรรมที่เป็นจริง

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ไม่ใช่เรื่องประสบการณ์แปลกประหลาด แต่เป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งเกิดดับตามความเป็นจริง จึงจะเป็นปัญญาที่ รู้จริงๆ ได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๔ ตอนที่ ๖๓๑ – ๖๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 43
    28 ธ.ค. 2564