แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 653


    ครั้งที่ ๖๕๓


    สุ. เห็นโทษของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ฟังดูเป็นเรื่องเป็นราวของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    โดยสมมุติ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นสัตว์ เป็นบุคคล และที่กล่าวว่าเห็นโทษของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ตามความเป็นจริง ก็เป็นแต่เพียงขั้นความเข้าใจ การฟัง การพิจารณาโทษเหล่านั้น แต่ไม่ใช่เป็นการประจักษ์ในลักษณะของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่จะกล่าวว่าประจักษ์ในโทษจริงๆ

    เพราะฉะนั้น ถ้าเพียงขั้นของความเข้าใจ และเห็นโทษในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็ยังไม่สามารถจะละความยินดีพอใจได้เป็นสมุจเฉท เพราะว่ายังไม่ได้ประจักษ์ในโทษจริงๆ คือ การไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป โทษที่แท้จริง คือ การเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรม แต่ถ้าขั้นพิจารณาในเหตุผล ก็ยังถือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้น เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

    ใน สิงคาลกสูตร พระผู้มีพระภาคทรงกล่าวถึงเรื่องทรัพย์สมบัติไว้มาก ซึ่งควรที่จะได้ทราบความหมายของทรัพย์ว่า มีความหมายว่าอย่างไรบ้าง

    ในภาษาบาลี ทรัพย์ หมายถึง ธนะก็มี หรือ วิตฺตก็มี หรือบางครั้งก็เรียกว่า รัตนะก็มี ที่เรียกว่าธนะนั้น แปลว่า ทรงไว้ ที่เรียกว่าวิตฺตนั้น แปลว่า เครื่องปลื้มใจ ที่เรียกว่ารัตนะ แปลว่า เครื่องยินดี

    โดยศัพท์ที่ว่า ธนะ ที่แปลว่า ทรงไว้นั้น มีอธิบายว่า ทรงไว้ซึ่งความสุขของคนทั้งหลาย หรือว่าทรงไว้ซึ่งชีวิตของคนทั้งหลาย เพราะว่าลองพิจารณาถึงความจริง ถ้าไม่มีทรัพย์ ย่อมไม่ได้ความสุขตามที่ปรารถนา

    ความสุขที่เกิดจากความปรารถนาสิ่งใดๆ ก็ตามในวันนี้ ในเรื่องที่เกี่ยวกับ โภคสมบัติ จะเห็นได้ว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีได้โดยทรัพย์ หรือทรงไว้ซึ่งชีวิตของคนทั้งหลาย ถ้าไม่มีทรัพย์จะมีข้าวปลาอาหาร จะมีเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม จะมีสิ่งที่จำเป็นต่อการที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ไหม ด้วยเหตุนี้ทรัพย์จึงหมายถึงธนะ คือ ทรงไว้ เพราะว่าทรัพย์เป็นเครื่องประคองความสุขและชีวิตของคนทั้งหลาย

    ความหมายของทรัพย์ที่เรียกว่า วิตฺต ซึ่งแปลว่า ความปลื้มใจนั้น ก็เพราะว่าทรัพย์ทั้งสิ้นย่อมทำให้เกิดความปลาบปลื้มใจ เป็นความอุ่นใจของผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์นั้น ตราบใดที่รู้ว่ายังมีทรัพย์อยู่ ก็รู้สึกมีความสบายใจ มีความอุ่นใจ ตัดความกังวลในเรื่องชีวิต ในเรื่องความเป็นอยู่ ในเรื่องโภคสมบัติได้

    ที่เรียกว่ารัตนะนั้น แปลว่า เครื่องยินดี ที่แปลว่าเครื่องยินดีก็เพราะว่า ทรัพย์ทั้งสิ้นล้วนเป็นสิ่งที่ให้เกิดความยินดีแก่ผู้ที่เป็นเจ้าของทั้งนั้น

    คามิกะ ตามที่อาจารย์อธิบายถูกต้องแล้ว ธนะ ธนธาตุ แปลว่า ทรง สิ่งที่ทรงไว้ หรือวิตตะ เครื่องปลื้มใจ แต่อย่างธรรม ๗ ประการ พระผู้มีพระภาคท่านก็เรียกเหมือนกัน ท่านเรียกว่าเป็นทรัพย์ บาลีท่านว่า สทฺธาธนํ สีลธนํ หิริโอตฺตปฺปิยํ ธนํ สุตธนญฺจ จาโค จ ปญฺญา เว สตฺตมํ ธนํ แม้ปัญญาท่านก็เรียกว่าทรัพย์

    สุ. เพราะฉะนั้น ที่กล่าวว่า ทรัพย์ทั้งสิ้นล้วนเป็นสิ่งที่ให้เกิดความยินดีแก่ผู้เป็นเจ้าของทั้งนั้น หมายเฉพาะผู้ที่ยังยินดีในโภคทรัพย์หรือในโภคสมบัติ ซึ่งยังเป็นฆราวาส หรือคฤหัสถ์อยู่ แต่สำหรับผู้ที่เห็นโทษว่าเป็นเครื่องกังวล ก็ไม่ยินดีในทรัพย์ เพราะว่าไม่ใช่ทรัพย์ที่แท้จริง และท่านสามารถที่จะดำรงชีวิตดำเนินไปได้โดยที่ไม่ยินดีในทรัพย์อย่างเพศคฤหัสถ์ก็มี

    เพราะฉะนั้น ทรัพย์จึงมี ๒ อย่าง คือ โลกียทรัพย์ กับโลกุตตรทรัพย์ หรืออริยทรัพย์

    ทรัพย์ ๒ ประการ คือ โลกียทรัพย์ เป็นทรัพย์ของปุถุชน เป็นเครื่องปลื้มใจ เป็นเครื่องยินดีของปุถุชนที่ยังยินดีในโภคทรัพย์หรือโภคสมบัติอยู่ และอริยทรัพย์ ๗ ประการ เป็นทรัพย์ของพระอริยเจ้า

    ใน อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ธนสูตรที่ ๑ และสูตรที่ ๒ มีข้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของอริยทรัพย์ ๗ ประการ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ทรัพย์ ๗ ประการนี้ ๗ ประการเป็นไฉน ทรัพย์ คือ ศรัทธา ๑ ศีล ๑ หิริ ๑ โอตตัปปะ ๑ สุตะ ๑ จาคะ ๑ ปัญญา ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ทรัพย์คือศรัทธาเป็นไฉน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา คือ เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ฯลฯ เป็นผู้เบิกบาน เป็นผู้จำแนกธรรม นี้เรียกว่า ทรัพย์คือศรัทธา ฯ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ทรัพย์คือศีลเป็นไฉน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้เว้นจากการฆ่าสัตว์ ตลอดไปจนถึงเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท นี้เรียกว่า ทรัพย์คือศีล ฯ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ทรัพย์คือหิริเป็นไฉน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีความละอาย คือ ละอายต่อกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ละอายต่อการถูกต้องอกุศลธรรมอันลามก นี้เรียกว่า ทรัพย์คือหิริ ฯ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ทรัพย์คือโอตตัปปะเป็นไฉน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีความสะดุ้งกลัว คือ สะดุ้งกลัวต่อกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต สะดุ้งกลัวต่อการถูกต้องอกุศลธรรมอันลามก นี้เรียกว่า ทรัพย์คือ โอตตัปปะ ฯ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ทรัพย์คือสุตะเป็นไฉน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นพหุสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้สดับมามาก ทรงไว้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิซึ่งธรรมทั้งหลาย (ทิฏฐิที่นี้หมายถึงสัมมาทิฏฐิ ซึ่งเป็นปัญญา) อันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง นี้เรียกว่า ทรัพย์คือสุตะ ฯ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ทรัพย์คือจาคะเป็นไฉน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีใจอันปราศจากมลทิน คือ ความตระหนี่ อยู่ครองเรือน มีจาคะอันปล่อยแล้ว มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในทานและการจำแนกทาน นี้เรียกว่า ทรัพย์คือจาคะ ฯ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ทรัพย์คือปัญญาเป็นไฉน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญาที่กำหนดความเกิดและความดับ เป็นอริยะ ชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ นี้เรียกว่าทรัพย์ คือปัญญา

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ทรัพย์ ๗ ประการนี้แล ฯ

    ทรัพย์ คือ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ และปัญญาเป็นที่ ๗ ทรัพย์เหล่านี้มีแก่ผู้ใด เป็นหญิงหรือชายก็ตาม บัณฑิตเรียกผู้นั้นว่า เป็นผู้ไม่ยากจน ชีวิตของผู้นั้นไม่เปล่าประโยชน์ เพราะฉะนั้น ท่านผู้มีปัญญา เมื่อระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึงประกอบศรัทธา ศีล ความเลื่อมใส และการเห็นธรรม ฯ

    จบสูตรที่ ๖

    ความจริงแล้ว อริยทรัพย์ ๗ นี้ เป็นทรัพย์จริงๆ เพราะว่าเป็นธรรมที่เป็นกุศล ทรัพย์ทั้งหลายที่แต่ละท่านจะได้มา ถ้าไม่มีกุศลกรรมที่ทำไว้ในอดีตแล้ว ไม่มีปัจจัยที่จะได้ ไม่ใช่ว่าการกระทำทุจริตเป็นเหตุให้ได้ทรัพย์ แต่ต้องเป็นกุศลกรรมเท่านั้นซึ่งนำมาซึ่งทรัพย์ทั้งปวง แต่ว่าทรัพย์ที่เป็นอริยทรัพย์ซึ่งจะทำให้ผู้มีทรัพย์เหล่านี้บรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอริยเจ้า จะต้องประกอบด้วยทรัพย์ซึ่งเป็นศรัทธา ๑ ศีล ๑ หิริ ๑ โอตตัปปะ ๑ สุตะ ๑ จาคะ ๑ ปัญญา ๑ ถ้าขาดศรัทธาแล้ว ย่อมไม่มีการแม้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ ซึ่งงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถพร้อมทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง

    พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้มีมาก แต่ถ้าขาดศรัทธา ย่อมจะไม่มีการฟัง ไม่มีการศึกษาพระธรรมที่ทรงแสดงไว้โดยละเอียด อาจจะเห็นว่า ยากไป บางท่านก็กล่าวว่า สูงไป ลึกซึ้งไป ละเอียดเกินไป และบางท่านก็ไม่เห็นประโยชน์ในการที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเรื่องของสภาพธรรมตามความเป็นจริงทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ดูเหมือนว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่เข้าใจแล้ว แต่ผู้ที่ศึกษาจะทราบได้ว่า ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ท่านเคยคิดหรือเคยเข้าใจแล้ว แต่เป็นเรื่องที่จะต้องศึกษา จนกว่าจะประจักษ์สภาพธรรมตามความเป็นจริงที่ปรากฏให้รู้ได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งเมื่อประจักษ์สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง จะทำให้หมดความสงสัยในสภาพธรรมที่เกิดแล้ว ปรากฏแล้วในอดีต และที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

    เพราะฉะนั้น ศรัทธานี้เป็นขั้นต้นของอริยทรัพย์ แม้แต่การที่สติจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ถ้าสติยังไม่เกิด ก็หมายความว่า ศรัทธาที่จะระลึกศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏยังไม่มี แต่ถ้าขณะใดที่สติระลึกได้ ขณะนั้น ศรัทธาเกิดพร้อมกับสติในการที่จะศึกษา สังเกต พิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ และศรัทธาที่ได้ศึกษาพระธรรมจะเป็นเหตุให้ท่านน้อมไปสู่การเป็นผู้มั่นคงในศีล ซึ่งเป็นอริยทรัพย์หนึ่งในอริยทรัพย์ ๗ เพราะว่าอกุศลจิตเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะ เหตุปัจจัย แต่ถ้าไม่มีกำลังแรงจะไม่เป็นเหตุให้กระทำอกุศลกรรม

    เพราะฉะนั้น ขณะใดที่มีการวิรัติจากทุจริต ขณะนั้นหมายความว่า มีศรัทธาในการที่จะวิรัติทุจริตในขณะนั้นด้วย แม้ในขณะที่วิรัติทุจริต บางท่านอาจจะไม่ทราบว่า เกิดศรัทธาพร้อมกับการวิรัติทุจริตในขณะนั้น การวิรัติทุจริตจึงเป็นไปได้ พร้อมกันนั้นก็มีทั้งหิริและโอตตัปปะ คือ การเห็นโทษภัยความน่ากลัวของอกุศลจิตและอกุศลกรรม และมีความรังเกียจในอกุศลจิต ในอกุศลกรรมในขณะนั้นด้วย

    ในขณะที่กระทำทุจริต ที่ทุจริตกรรมจะสำเร็จลงไปได้ ขณะนั้นไม่มีหิริ ไม่มีความรังเกียจ ไม่มีความละอายในบาปในโทษของอกุศลกรรมนั้นเลย และก็ไม่มีความหวั่นเกรงกลัวในโทษภัยของอกุศลกรรมของอกุศลจิตในขณะนั้นด้วย ซึ่งถ้าไม่เจริญสติก็ไม่เห็นสภาพธรรมเหล่านี้เลย แต่ถ้าเจริญสติ แม้ลักษณะของหิริ ความรังเกียจ ความละอายในอกุศลธรรมนั้นก็ปรากฏได้ในขณะที่วิรัติทุจริตนั้นๆ หรือแม้โอตตัปปะ ความเห็นภัย ความเห็นโทษ ความเห็นอันตรายของอกุศลจิตในขณะนั้น ก็เกิดพร้อมกับในขณะที่วิรัติทุจริตในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะทำให้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้นได้ สติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมใดๆ ที่กำลังปรากฏในขณะนั้นได้ ไม่มีผู้ใดสามารถจะไปบังคับว่า อย่ารู้หิริ หรืออย่ารู้โอตตัปปะที่กำลังมีในขณะนั้น เพราะว่าเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสังขารขันธ์ และสังขารขันธ์ก็มีมาก เพราะฉะนั้น แล้วแต่ว่าขณะนั้นสภาพของสังขารขันธ์ใดปรากฏ สติก็ระลึกรู้ตรงลักษณะของสังขารขันธ์นั้นของเจตสิกนั้น ซึ่งมีลักษณะอย่างนั้น มีกิจการงานอย่างนั้น

    อย่างความตระหนี่ บางท่านกล่าวว่า ท่านคิดจะให้ เพียงความคิด แต่มือไม่หยิบไปให้จริงๆ ก็ยังอยู่เรื่อยๆ แต่ก็คิดที่จะให้ ขณะนั้นถ้าสติเกิดระลึกรู้ลักษณะของมัจฉริยะ อะไรทำให้ยังไม่ให้ ความที่ยังตระหนี่ ยังยินดี ยังพอใจ ยังไม่สละ มีอยู่ในขณะนั้น ตรงกันข้ามกับในขณะที่หยิบยกยื่นให้ ในขณะนั้นเป็นอีกลักษณะหนึ่ง ซึ่งหมายความถึงความสามารถที่จะสละวัตถุนั้นได้ แต่ขณะใดที่ยังไม่หยิบ ยังไม่ยก ยังไม่ยื่น ยังไม่ให้ ขณะนั้นถ้าสติเกิด ก็จะเห็นลักษณะของสภาพธรรมที่หยุดยั้งการหยิบยกยื่นให้ว่า เป็นสภาพธรรมที่ยังไม่อาจที่จะสละได้ในขณะนั้น เพราะฉะนั้น สภาพธรรมทั้งหลายสามารถที่จะปรากฏให้รู้ได้

    อริยทรัพย์ ๗ ประการ คือ ศรัทธา ๑ ศีล ๑ หิริ ๑ โอตตัปปะ ๑ นอกจากนั้นยังมีสุตะ การเป็นผู้ที่ฟังมาก เป็นผู้ที่เป็นพหุสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ที่ได้สดับมาก ทรงไว้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ คือ สัมมาทิฏฐิซึ่งธรรมทั้งหลาย

    สิ่งที่จะพิสูจน์ว่า ท่านเป็นพหูสูต คือ ผู้ที่ทรงสุตะ หรือว่าสั่งสมสุตะ เป็นผู้ที่ได้สดับมามากน้อยเท่าไร ก็คือ ในขณะที่ฟัง ถ้าฟังแล้วทรงไว้ จำได้ เข้าใจแจ่มแจ้ง หรือว่าสามารถที่จะพิจารณา มนสิการธรรมที่ได้ฟังได้กว้างขวางออกไปอีก ได้ไกล ได้ลึกลงไปอีก นั่นย่อมแสดงถึงการเป็นผู้ที่เคยสะสมสุตะมามาก

    พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง และผู้ฟังได้ฟังในครั้งที่ ๑ จะต่างกับครั้งที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ และในครั้งต่อๆ ไป แม้ว่าจะเป็นข้อความเดียวกัน แต่ว่าอาศัยการสั่งสมทรงไว้ซึ่งสุตะ การฟังแล้วไม่ลืม ทรงไว้ และก็เคยมนสิการ เคยพิจารณาข้อความนั้นๆ จนกระทั่งสามารถที่จะเกิดความเข้าใจกว้างขวาง แยบคายขึ้นอีก ไกลออกไปอีก และลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปอีก ก็จะทำให้ทราบว่า เป็นพหุสูต คือ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ที่สดับมามาก และก็ทรงไว้ คล่องปาก ขึ้นใจ จนถึงสามารถที่จะแทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ ซึ่งธรรมทั้งหลาย

    อย่างสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่ลืมว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล นี่คือ การสะสมสุตะ ทรงไว้ ระลึกได้ และยังสามารถที่จะแทงตลอดในสภาพธรรมนั้นด้วยถ้ามีการฟังบ่อยๆ ไม่มีความเข้าใจผิดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ โดยการฟัง และโดยการระลึก โดยการศึกษาตามสุตะที่ได้สั่งสมไว้ จะทำให้ประจักษ์ในลักษณะของสภาพธรรมตรงตามที่ได้ศึกษา ข้อสำคัญคือ ต้องตรง นี่คือประโยชน์ของการเป็นผู้ที่สะสมสุตะ หรือการฟังมามาก มิฉะนั้นแล้ว การฟังก็ไม่มีประโยชน์ ถ้าไม่ได้ประจักษ์สภาพธรรมตรงตามที่ได้ทรงแสดงไว้

    แม้ลักษณะของจิต หรือเจตสิก หรือรูปแต่ละลักษณะ ทรงแสดงไว้อย่างไร ผลคือ ผู้ที่แทงตลอดสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริงสามารถที่จะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมนั้นตรงตามลักษณะของสภาพธรรมที่ได้ทรงประจักษ์และได้ทรงแสดงไว้ มิฉะนั้นแล้ว การสะสมสุตะก็ไม่มีประโยชน์เลย ถ้าไม่สามารถที่จะแทงตลอดในสภาพธรรมที่ได้ศึกษา ที่ได้ฟังมาแล้ว



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๖ ตอนที่ ๖๕๑ – ๖๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 43
    28 ธ.ค. 2564