แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 644


    ครั้งที่ ๖๔๔


    สำหรับกรรมกิเลส ๔ ที่พระอริยสาวกละแล้ว คือ ปาณาติบาต ๑ การฆ่าสัตว์ที่มีชีวิต ตรวจสอบพิจารณาได้ว่า การกระทำของท่านในชีวิตประจำวันใกล้หรือไกลกับการที่จะเป็นพระอริยสาวก ถ้ายังมีการฆ่าสัตว์อยู่ ก็ยังไกลมากทีเดียว นี่เป็นการแสดงถึงกิเลสซึ่งมีในชีวิตประจำวัน เป็นวินัยของคฤหัสถ์ เพราะว่าสำหรับคฤหัสถ์ที่เป็นอริยสาวกนั้น ท่านละปาณาติบาต ๑ อทินนาทาน ๑ กาเมสุมิจฉาจาร ๑ มุสาวาท ๑

    ชีวิตปกติตามความเป็นจริง ที่จะใกล้หรือไกลต่อการเป็นพระอริยเจ้า ถ้ายังมีเจตนาที่จะฆ่า นั่นก็ยังไกลมากทีเดียว บางครั้งก็งดเว้นได้ชั่วคราว แต่แล้วก็ถอยกลับไปสู่การฆ่าอีก ไม่แน่นอน ไม่เป็นสมุจเฉท เพราะว่ายังเป็นผู้ที่หนาแน่นด้วยกิเลสอยู่ แต่ถึงแม้ว่าจะเพียงความตั้งใจ หรือเจตนาที่จะละเว้น ก็ยังเป็นการดีกว่าที่จะไม่ตั้งใจเสียเลย เพราะถ้าตั้งใจแล้ว ก็ยังมีกำลังนิดหน่อยที่จะพยายามทำตามที่ตั้งใจ

    ถ้ามีเจตนาที่จะละเว้นการฆ่า ก็อาจจะทำให้ระลึกขึ้นได้เวลาที่คิดใคร่จะฆ่า แม้สัตว์เล็กสัตว์น้อย แต่ก็มีเจตนา เคยมีเจตนาที่สะสมมาแล้วที่จะละเว้น เพราะฉะนั้น ก็อาจจะเป็นปัจจัยทำให้เกิดการระลึกได้ที่จะเว้นในขณะนั้น แต่สภาพธรรมเป็นอนัตตา จะเว้นได้มากได้น้อยแล้วแต่เหตุการณ์ เพราะว่าบางครั้งสัตว์อาจจะตัวเล็กมาก แม้จะไม่มีความเพียรเท่าไร เพียงแต่ปัดนิดเดียวสัตว์นั้นก็ตายเสียแล้ว นี่เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นได้ว่า ผู้ที่จะละเว้นการฆ่าจริงๆ จะต้องมีกุศลจิตเกิดที่จะระมัดระวังแม้แต่ชีวิตของสัตว์เล็กสัตว์น้อย

    สำหรับอทินนาทานก็เช่นเดียวกัน ถ้าเป็นผู้ที่มุ่งที่จะขัดเกลากิเลส ก็ย่อมจะมีความระมัดระวังยิ่งขึ้น แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งอาจจะเคยขาดความระวัง แต่การเป็นผู้ที่มุ่งที่จะขัดเกลา ละคลายกิเลสให้เบาบางถึงความดับเป็นสมุจเฉท จะเป็นผู้ที่ประมาทไม่ได้เลย เรื่องใหญ่ก็เป็นเรื่องที่น่ากลัวสำหรับอทินนาทาน แต่เรื่องเล็กเรื่องน้อย ก็เป็นโทษเป็นภัยด้วย ที่ควรที่จะเห็นโทษ และเพิ่มความระมัดระวังยิ่งขึ้น

    สำหรับกาเมสุมิจฉาจารก็เช่นเดียวกัน และมุสาวาทด้วย แม้ในเรื่องเล็กน้อย ก็เป็นผู้ที่มีความมั่นคงขึ้นที่จะไม่กล่าวคำที่ไม่จริง แม้ว่าก่อนนี้อาจจะเห็นว่าเป็นความจำเป็นที่จะต้องกล่าว แต่ว่าเมื่อเจตนาที่จะงดเว้นมีมากขึ้น ก็จะมีสติเกิดขึ้นรู้ว่า แม้ว่าเป็นความจำเป็น ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้คำที่ไม่จริง อาจจะมีคำพูดอื่นซึ่งจะมีประโยชน์มากกว่าการที่จะให้กิเลสมีกำลังแรงถึงกับพูดคำที่ไม่จริง

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า สำหรับผู้ที่เป็นพระอริยเจ้าแล้ว ท่านละกรรมกิเลส ๔ เด็ดขาดเป็นสมุจเฉทไม่เกิดอีกเลย ส่วนผู้ที่ยังไม่ใช่พระอริยเจ้า ก็จะต้องพากเพียรที่จะละคลายให้เบาบาง จนกระทั่งสามารถที่จะดับได้เป็นสมุจเฉท

    ข้อความในอรรถกถา อธิบายความหมายของคำว่า กรรมกิเลส ว่าได้แก่ กิเลสอันเป็นตัวกรรม เพราะว่าผู้ที่มีกิเลสเท่านั้นที่ฆ่า กระทำปาณาติบาต ที่ถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้ ที่เป็นอทินนาทาน ที่ประพฤติผิดในกาม ที่เป็นกาเมสุมิจฉาจาร และที่กล่าวคำไม่จริง คือ มุสาวาท

    ถ้าผู้ที่เบาบางจากกิเลสแล้ว ถึงแม้ว่ากิเลสยังมีอยู่ ยังดับไม่หมด เพราะว่ายังไม่ใช่พระอรหันต์ แต่กิเลสนั้นก็ไม่มีกำลังที่จะให้กระทำกรรมซึ่งเกิดจากกิเลสนั้นได้ ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า ปาณาติบาต อทินนาทาน มุสาวาท และการคบหาภรรยาผู้อื่น เรากล่าวว่าเป็นกรรมกิเลส บัณฑิตไม่สรรเสริญ ฯ

    ถ. ปาณาติบาต ยังสัตว์ให้ตกล่วงไป อทินนาทาน ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ๒ อย่างนี้ใช้คนอื่นทำ ผิด เราฆ่าเอง หรือใช้ให้คนอื่นฆ่า ลักทรัพย์เอง หรือให้คนอื่นลัก ผิด แม้แต่กฎหมายอาญาก็ผิด แต่อีก ๒ ข้อหลัง กาเมสุมิจฉาจาร กับมุสาวาทใช้ให้คนอื่นไปทำ จะผิดมาถึงผู้ใช้หรือไม่

    สุ. จิตเป็นอย่างไรในขณะใช้ให้ผู้อื่นทำ เป็นกุศลหรืออกุศลในขณะที่ใช้ให้ผู้อื่นทำ

    ใน ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค อุทุมพริกสูตร พระผู้มีพระภาคตรัสกับนิโครธปริพาชก มีข้อความว่า

    ดูกร นิโครธะ บุคคลผู้มีตบะในโลกนี้ เป็นผู้สังวรแล้วด้วยสังวร ๔ ประการ ๔ ประการเป็นไฉน

    ดูกร นิโครธะ บุคคลผู้มีตบะในโลกนี้

    ๑. ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ใช้ผู้อื่นให้ฆ่าสัตว์ เมื่อผู้อื่นฆ่าสัตว์ ไม่เป็นผู้ดีใจ ฯ

    ๒. ไม่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ไม่ใช้ให้ผู้อื่นถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ เมื่อผู้อื่นถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ไม่เป็นผู้ดีใจ ฯ

    ๓. ไม่พูดเท็จ ไม่ใช้ผู้อื่นให้พูดเท็จ เมื่อผู้อื่นพูดเท็จ ไม่เป็นผู้ดีใจ ฯ

    ๔. ไม่เสพกามคุณ ไม่ใช้ให้ผู้อื่นเสพกามคุณ เมื่อผู้อื่นเสพกามคุณ ไม่เป็นผู้ดีใจ ฯ

    ถ. ขอบใจท่านอาจารย์ ผมเพิ่งรู้เดี๋ยวนี้เหมือนกัน ฟังพระเทศน์อุโบสถอะไรก็บอกว่า ฆ่าสัตว์ด้วยตนเอง ใช้ให้คนอื่นฆ่า ลักทรัพย์ด้วยตนเอง ใช้ให้คนอื่นลัก พอถึงกาเม หรือมุสา ไม่เห็นมีว่า ใช้ให้คนอื่นทำ

    ที่อาจารย์ว่าอย่างนี้ ผมเห็นด้วย คือ ต้องผิดเหมือนกัน ใช้ให้คนอื่นพูดเท็จ หรือให้ประพฤติผิดในกาม ก็ต้องผิดแน่

    สุ. ข้อสำคัญกลัวโทษอะไร โทษของกิเลสที่น่ากลัว กลัวไหม โดยมากพอพูดถึงโทษ คิดถึงโทษที่เกิดจากการติเตียนของคนอื่น คนอื่นจะว่าไหม ถ้าเขาไม่เห็น ทำเสียหน่อยได้ไหม แต่ถึงเขาจะเห็นหรือไม่เห็นก็ตามกิเลสเกิดแล้ว น่ากลัวหรือเปล่า เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะดับกิเลส ไม่ได้พิจารณาบุคคลอื่นเป็นสำคัญ แต่ระลึกรู้ลักษณะสภาพของธรรมที่เกิดขึ้น ถ้าสภาพธรรมนั้นเป็นอกุศล เห็นโทษของอกุศลธรรมที่สะสมมาที่ยังมีอยู่ ยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท นี่เป็นโทษที่น่ากลัวมาก เพราะฉะนั้น ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง แม้ว่าจะไม่ทำเอง การใช้ให้ผู้อื่นทำ เกิดจากจิตที่มีกิเลสหรือไม่ หรือแม้ว่าไม่ได้ใช้ แต่ถ้าใครทำก็ดีใจ จิตในขณะนั้นเป็นกุศลธรรมหรือเป็นอกุศลธรรมอย่างไร นี่เป็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    อกุศลธรรมนั้นมีโทษ แม้ว่าจะเป็นอกุศลธรรมเพียงเล็กน้อยก็มีโทษ เพราะถ้ายังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท ก็จะสะสมเพิ่มพูนขึ้นจนกระทั่งมีกำลังกล้า สามารถที่จะกระทำอกุศลกรรม และจะทำให้เกิดวิบากที่เป็นผลได้

    วิบากซึ่งเป็นผลนั้นต้องมาจากเหตุ คือ กิเลสของตนเองที่มีกำลัง เพราะฉะนั้น โดยมากมักจะกลัวแค่วิบากซึ่งเป็นผล กลัวที่จะไม่ได้รับอารมณ์ซึ่งเป็นอิฏฐารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่ถ้าเหตุมี คือ กิเลสของตนเองยังมีมากอันเป็นเหตุให้กระทำอกุศลกรรม ก็เป็นเหตุให้เกิดอกุศลวิบาก

    เพราะฉะนั้น ควรจะกลัวเพียงอกุศลวิบาก หรือควรจะกลัวกิเลสของตนเองซึ่งมีกำลังที่เป็นเหตุให้กระทำอกุศลกรรมนั้นๆ เพราะเหตุว่าวิบากนั้นเป็นเพียงผล แม้ว่าคนอื่นจะติเตียน หรือว่าจะได้รับอกุศลวิบากด้วยตนเอง ก็เป็นผลของกิเลสซึ่งยังมีอยู่ ยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท

    พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง จะแสดงโดยละเอียดที่สุดเพื่อที่จะให้ผู้ฟังได้พิจารณาลักษณะสภาพของกิเลสอย่างละเอียด ซึ่งเป็นโทษ ตราบใดที่ยังมีอยู่ก็จะเป็นเชื้อเป็นปัจจัยให้กระทำอกุศลกรรม และก็จะได้รับโทษภัยนานาประการ

    ถ. เรื่องถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ สมมติว่า พวกที่งัดแงะหรือว่าปล้น ขโมยอะไรต่างๆ เหล่านี้ เมื่อขโมยแล้ว ก็ถูกจับเข้าคุกเข้าตะราง คนส่วนมากก็บอกว่า ขโมยนั้นเป็นเหตุ การเข้าคุกเข้าตะรางนั้นเป็นผล ถามว่า ที่เขากล่าวอย่างนั้น เขากล่าวผิดหรือกล่าวถูก การขโมยนั้นเป็นเหตุ การติดตะรางนั้นเป็นผล

    สุ. ใครจะทราบ เพราะว่ากรรมที่ให้ผลในปัจจุบันชาติก็มี ที่ไม่ได้ให้ผลในปัจจุบันชาติ แต่ให้ผลในชาติต่อไปก็มี ที่ไม่ได้ให้ผลในปัจจุบันชาติและชาติถัดไป แต่ว่าให้ผลในชาติต่อๆ จากนั้นไปอีกก็มี ไม่มีที่สิ้นสุด

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะทราบได้ ต้องเป็นผู้ที่รู้ผลของกรรมว่า กรรมใดให้ผลในชาตินี้ หรือว่าผลที่ได้รับในชาตินี้เป็นผลของกรรมในชาตินี้ หรือว่าเป็นผลของกรรมในชาติก่อน หรือว่าเป็นผลของกรรมในชาติโน้นๆ ซึ่งไม่มีผู้ใดสามารถจะบอกได้เลย นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ถ. ผลจะต้องมาจากเหตุ เหตุกับผลจะต้องตรงกัน แต่ผู้พูดนี้ เขาพูดด้วยความคิดนึกของเขาเอง ตามปกติแล้ว ขโมย ผลก็ต้องเป็นทรัพย์สินของตนจะต้องวิบัติ ซึ่งเหตุกับผลไม่ตรงกัน เพราะฉะนั้น ผมคิดว่า คำพูดที่เขาพูดกันไม่ถูกแน่ เพราะว่าเหตุกับผลไม่ตรงกัน

    สุ. ถ้าอยู่ในคุก ทรัพย์สินก็ต้องวิบัติได้ใช่ไหม ตนเองไม่สามารถไปควบคุมดูแลได้

    ใครล่ะจะไม่มีทรัพย์สิน ก็ต้องมีบ้าง มากน้อยต่างกัน เหตุกับผลตรงกัน อย่างการเบียดเบียนประทุษร้ายบุคคลอื่น หรือว่าการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตการทรมานต่างๆ เป็นอกุศลกรรม เพราะฉะนั้น ผล คือ ได้รับอกุศลวิบาก ที่ทรงแสดงไว้ คือ เป็นผู้ที่นอกจากจะเกิดในอบายภูมิแล้ว เศษของกรรมนั้นทำให้เกิดเป็นมนุษย์ เป็นผู้ที่มีอายุสั้น หรือว่าเป็นผู้ที่มีโรคมาก ทรงแสดงไว้อย่างนี้ แต่ใครจะทราบว่าขณะที่กำลังมีโรคมากเดี๋ยวนี้ เป็นผลของกรรมในชาตินี้ หรือว่าเป็นผลของกรรมในชาติก่อน หรือว่าเป็นผลของกรรมในชาติโน้นๆ ไม่มีใครสามารถจะบอกได้ถ้าผู้นั้นไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งกรรมก็มีมากทั้งในปัจจุบันชาติและในชาติก่อนๆ และผลที่ได้รับในขณะนี้ ใครจะทราบว่าเป็นผลของกรรมไหน แต่ผลของอกุศลกรรมต้องเป็นอกุศลวิบาก ผลของกุศลกรรมก็ต้องเป็นกุศลวิบาก ตรงตามเหตุผล

    ผู้ฟัง ขอบพระคุณท่านอาจารย์ที่กรุณาให้หมั่นเจริญสติ พยายามเจริญสติบ่อยๆ คือ ระหว่างตรอกบ้านดิฉัน เขาฆ่ากัน และคนที่ถูกฆ่าเป็นนักเลงเกเรก่อความเดือดร้อนให้ชาวบ้านแถวนั้น ซึ่งความจริงถ้าหากใครเขาบอกว่า ดีแล้ว ตายเสียได้ก็ดี สาธุ เพราะถ้าอยู่ก็เดือดร้อนแก่คนนั้นคนนี้เหลือเกิน แต่ผู้ที่เจริญสติแล้ว ก็เห็นอกุศลจิตของตนเองในการตายของเขานั้น ความจริงเราไม่ได้ประโยชน์ เขาก็ไม่เคยทำให้เราเดือดร้อน แม้ผู้ที่กล่าวก็ไม่เคยได้รับความเดือดร้อน แต่คนอื่นเดือดร้อนหลายๆ คน ซึ่งถ้าไม่เจริญสติแล้ว จะไม่เห็นอกุศลจิตของตัวเองขณะที่กล่าวคำนั้นออกมา และคำกล่าวที่คนอื่นเขากล่าวออกมา ถ้าบังเอิญเราไปได้ยินเราก็รู้ว่า เขากล่าวด้วยอกุศลจิต และเราก็ได้ตรวจดูจิตของตัวเองว่า ได้มีความยินดีในการตายของเขาไหม

    สุ. พระผู้มีพระภาคตรัสกับสิงคาลกคฤหบดีบุตรที่ว่า อริยสาวกละกรรมกิเลสทั้ง ๔ ได้แล้ว ไม่ทำบาปกรรมโดยฐานะ ๔ และไม่เสพทางเสื่อมแห่งโภคะ ๖ อริยสาวกนั้นเป็นผู้ปราศจากกรรมอันลามก ๑๔ อย่างนี้

    ที่กล่าวถึงแล้ว คือ ๔ อย่างต้น เป็นกรรมกิเลส ๔ คือ ปาณาติบาต ๑ อทินนาทาน ๑ กาเมสุมิจฉาจาร ๑ มุสาวาท ๑

    สำหรับไม่ทำบาปกรรมโดยฐานะ ๔ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    อริยสาวกไม่กระทำบาปกรรมโดยฐานะ ๔ เป็นไฉน ปุถุชนถึงฉันทาคติย่อมทำกรรมอันลามก ถึงโทสาคติย่อมทำกรรมอันลามก ถึงโมหาคติย่อมทำกรรมอันลามก ถึงภยาคติย่อมทำกรรมอันลามก ฯ

    ดูกร คฤหบดีบุตร ส่วนอริยสาวก ย่อมไม่ถึงฉันทาคติ ย่อมไม่ถึงโทสาคติ ย่อมไม่ถึงโมหาคติ ย่อมไม่ถึงภยาคติ ท่านย่อมไม่ทำกรรมอันลามกโดยฐานะ ๔ เหล่านี้

    พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

    ผู้ใดประพฤติล่วงธรรมเพราะความรัก ความชัง ความกลัว ความหลง ยศของผู้นั้นย่อมเสื่อมดังดวงจันทร์ในข้างแรม ผู้ใดไม่ประพฤติล่วงธรรมเพราะความรัก ความชัง ความกลัว ความหลง ยศย่อมเจริญแก่ผู้นั้นดุจดวงจันทร์ในข้างขึ้น ฯ

    นอกจากอกุศลกรรมทั้ง ๔ คือ ปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร และมุสาวาทแล้ว ท่านผู้ฟังควรจะได้พิจารณาถึงชีวิตประจำวันซึ่งเป็นไปตามกำลังของกิเลสประการอื่นด้วย คือ ท่านกระทำกรรมที่ถึงฉันทาคติ ลำเอียงไม่ตรงเพราะความรัก หรือด้วยโทสาคติเพราะความชัง หรือด้วยโมหาคติเพราะความหลง หรือด้วยภยาคติเพราะความกลัวบ้างหรือไม่ เพราะเหตุว่าอคติทั้งหมดย่อมเกิดจากโลภะ โทสะ โมหะ

    และสำหรับปุถุชนนั้น ย่อมเป็นผู้ที่ไม่ประจักษ์ ไม่รู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงว่า อกุศลธรรมเป็นอกุศลธรรม ตรงกันข้ามกับกุศลธรรม กุศลธรรมเป็น ผู้ตรง ไม่เอียง ไม่ว่าจะด้วยโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ ด้วยความรักหรือความชัง ก็ตามแต่ แต่ขณะใดที่จิตเป็นอกุศลเพราะไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ผู้นั้นย่อมจะกระทำกรรมเพราะโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง เมื่อเกี่ยวข้องกับบุคคล ต่างๆ

    ในชีวิตประจำวันเป็นไปไม่ได้เลยที่ท่านจะไม่เกี่ยวข้องกับใคร เพราะฉะนั้น ควรที่จะพิจารณาด้วยว่า เมื่อเกี่ยวข้องกับบุคคลใดก็ตาม มีการกระทำที่เป็นอคติ คือ เป็นกรรมที่ไม่เป็นธรรมซึ่งไม่ควรกระทำ ที่เป็นไปด้วยความรัก หรือความชัง หรือความหลง ความกลัวบ้างหรือไม่

    เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า โลภะเกิดขึ้นขณะใด พิจารณาดูว่า ขณะนั้นเป็นกรรมที่ไม่ควรกระทำเพราะกระทำไปด้วยฉันทาคติหรือไม่ เวลาที่โกรธเกิดขึ้น กระทำกรรมสิ่งใดก็ให้พิจารณาว่ากรรมนั้นเกินสมควร ไม่สมควร ไม่เป็นธรรม เพราะแรงของโทสะหรือไม่ นี่เป็นชีวิตประจำวัน ซึ่งพระอริยสาวกทั้งหลายไม่กระทำบาปกรรมโดยฐานะ ๔ เพราะว่าท่านเห็นสภาพธรรมตรงตามลักษณะของสภาพธรรมนั้น สภาพธรรมใดเป็นอกุศลก็เป็นอกุศล ไม่ควรเจริญ สภาพธรรมใดเป็นกุศลก็เป็นกุศล ควรเจริญ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๕ ตอนที่ ๖๔๑ – ๖๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 43
    28 ธ.ค. 2564