แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 625


    ครั้งที่ ๖๒๕


    ถ. ขั้นไหนถึงจะถึงพระโสดาบัน

    สุ. ถามเฉยๆ ไม่สามารถที่จะรู้ได้ อบรมเองจนเป็นความรู้ขึ้น ก็จะหมดความสงสัยไปเป็นขั้นๆ

    ความหมายของเสกขบุคคลจริงๆ คือ ผู้ที่เป็นพระอริยเจ้าขั้นพระโสดาบันบุคคลจนถึงอรหัตมรรคจิต รวมเป็น ๗ บุคคล และกัลยาณปุถุชน คือ ผู้ที่รู้ชัด ไม่หวั่นไหวในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมใดๆ นั่นคือผู้ที่ศึกษา

    สำหรับผู้ที่ปัญญายังไม่เกิดขึ้นรู้ชัด ยังคงหวั่นไหวอยู่ เป็นผู้ที่กำลังอบรมเจริญปัญญาเพื่อการที่จะเป็นเสกขบุคคล เพราะฉะนั้น ก็เหมือนกับคนซึ่งมีหนังสือด้วยกัน แต่ผู้ที่ยังไม่ใช่กัลยาณปุถุชนซึ่งมีความรู้เป็นวิปัสสนาญาณแล้ว ก็เหมือนคนที่ดูเท่านั้น แต่ยังไม่รู้ ไม่เข้าใจ แต่ขณะที่ดูก็มีความพากเพียร มีวิริยะ มีการศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่เห็น เพื่อที่จะได้เป็นผู้ที่มีความสามารถที่จะมีความรู้ถึงขั้นความเป็นผู้ที่ศึกษาได้ และไม่ได้ศึกษาอื่น ศึกษาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏโดยไม่เลือก อย่าลืม ไม่ได้ศึกษาอื่น แต่ศึกษาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏโดยไม่เลือกแม้ในขณะนี้ นี่คือความหมายของศึกษา เลือกไม่ได้

    สภาพธรรมตลอดชีวิต เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้นจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกสับสนอลเวงสักเท่าไร ดีใจปะปนกับเสียใจ ปะปนกับความตื่นเต้น ปะปนกับความหวั่นไหวระทึกใจสักเท่าไร ก็เป็นแต่เพียงลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยตามความเป็นจริงในขณะนั้น ซึ่งปัญญาจะต้องไม่หวั่นไหวที่จะเห็นว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรม จึงจะศึกษาในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏโดยสภาพความเป็นนามธรรมและรูปธรรม

    สำหรับขณะที่ยังไม่รู้ ยังพากเพียรที่จะรู้ว่าลักษณะของนามธรรมเป็นอย่างไร ลักษณะของรูปธรรมเป็นอย่างไร ขณะนั้นก็เป็นนามธรรมบ้าง เป็นรูปธรรมบ้าง น้อยเหลือเกิน และลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏจะชื่อว่าชัดไม่ได้ ในเมื่อเป็นความรู้ที่น้อยเหลือเกิน เพราะว่าเดี๋ยวรู้บ้าง เดี๋ยวไม่รู้บ้าง เดี๋ยวนามนี้รู้ เดี๋ยวนามอื่นไม่รู้อีกแล้ว เดี๋ยวหวั่นไหวอีกแล้ว เป็นความรู้ที่น้อยเหลือเกิน เป็นความรู้ที่น้อยมาก ถ้าเป็นความรู้จริงๆ เพิ่มขึ้นเป็นขั้นๆ แล้ว สติระลึกรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมไม่หวั่นไหว เมื่อระลึกแล้วรู้ในสภาพที่เป็นนามธรรม เพราะว่ากว่าจะรู้ได้ก็ต้องศึกษาพร้อมสติ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จนหมดความสงสัยในความหมายของคำว่า ศึกษาพร้อมสติ

    ไม่ใช่การคิด แต่เป็นการศึกษา รู้ความหมายว่า ศึกษาพร้อมสติที่ระลึกรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏนั้นคืออย่างไร ไม่หวั่นไหวจริงๆ ไม่ว่าสติจะเกิดระลึกรู้ หรือเวลาที่สติไม่เกิด หลงลืมสติ

    ถ. กำลังทำกิจการงาน หรือกำลังตื่นอยู่ เจริญสติปัฏฐานได้ เวลาหลับไปเจริญสติปัฏฐานได้ไหม

    สุ. ถ้าสติเกิด ก็ได้ทั้งนั้น ทั้ง ๖ ทวาร

    ถ. นอนหลับไป ผมเคยเจริญสติปัฏฐานในขณะที่หลับ

    สุ. ไม่ใช่ผมเคยเจริญ แต่เพราะสติเกิด

    ถ. ในฝัน เจริญสติปัฏฐานเหมือนอย่างปกติอย่างนี้เอง

    สุ. แล้วต่อไปก็จะต้องไม่แปลก ถ้าแปลกอยู่ ก็ยังหวั่นไหวอีก ต้องเป็นธรรมดาทั้งหมดจริงๆ เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมแต่ละทาง เป็นธรรมดาเพื่อละ ถ้ายังแปลกอยู่ ยังตื่นเต้นอยู่ ก็ยังไม่ละ จนกว่าจะเป็นธรรมดา สามัญลักษณะเมื่อไร เป็นธรรมดาเมื่อนั้น จึงจะละได้

    ขอตอบจดหมายของท่านผู้ฟัง ท่านเขียนมาจากบ้านเลขที่ ๑๔๔/๓ ซอยพาณิชยการธนบุรี จรัลสนิทวงศ์

    วันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๙

    เรียน อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ที่นับถือ

    ดิฉันได้ฟังธรรมที่ท่านอาจารย์บรรยายทางวิทยุกระจายเสียง จึงขอเรียนถามปัญหาธรรมสัก ๓ ข้อ

    ข้อ ๑ ความเลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างถูกต้องก็ดี ความที่ตนเองมีศีล ซึ่งจะเป็นศีล ๕ หรือศีลที่พระอริยะใคร่แล้วก็ดี ดิฉันคิดว่าศีลเป็นเครื่องช่วยในการปฏิบัติเจริญสติได้มากที่สุด ในเวลาปฏิบัติธรรม ดิฉันจะนับศีลที่ตัวเองมีอยู่ว่ามีสักกี่ข้อ นับดูก่อนที่จะเจริญสติบ้างในบางวัน จะถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรมได้ไหม

    ข้อ ๒ เรื่องสมาธิ สมาธิที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ถ้าดิฉันจะดูสมาธิของตนเองบ้าง ตามสมควรว่า ไม่ส่งซัดส่ายออกนอกจนเกินสมควร ทบทวนดูตนเองก่อนปฏิบัติบ้าง ในเวลาปฏิบัติบ้าง ก็พยายามอบรมตนเอง ฝึกให้อยู่ในกุศลธรรมไปด้วย จะถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรมได้ไหม

    ข้อ ๓. เรื่องสถานที่ปฏิบัติ หมายถึงที่อยู่อาศัย โดยธรรมชาติ ดิฉันเป็นคนเจ็บไข้ ที่อยู่คล้ายกุฏิเล็กๆ ถือเป็นปัจจัย ๔ ของดิฉันได้ไหม ดิฉันก็ดูเวทนาในตนเองบ้าง จะเห็นมากหรือน้อย หรือไม่เห็นเลยก็สุดแท้แต่ (ไม่ขอพูดถึงข้อเท็จจริงในการเห็น) จะถือเป็นการปฏิบัติได้ไหม

    ดิฉันไม่ได้หวังอะไรมาก แต่มีวัตถุประสงค์จะให้ตัณหาต่างๆ น้อยลง เพราะว่าความเจ็บไข้ในตนเองก็เป็นภาระแก่ดิฉันมากอยู่แล้ว

    ขอแสดงความนับถือ

    สุ. เรื่องการปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องละเอียดเพราะมีหลายขั้น ในขณะที่ให้ทานเป็นกุศลจิต เป็นการปฏิบัติธรรมที่เป็นกุศล เพราะว่าขณะนั้นเป็นการสละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่น แต่ส่วนมากที่ใช้คำว่า ปฏิบัติธรรม มักจะหมายความถึง การอบรมเจริญปัญญา เพราะฉะนั้น สำหรับคำถามข้อที่ ๑ ที่ท่านผู้ฟังถามเกี่ยวกับเรื่องของศีล เข้าใจว่าที่ท่านปฏิบัติอยู่ไม่ใช่สติปัฏฐาน

    สติปัฏฐานไม่มีการเตรียมตัวก่อน ไม่ใช่ว่าพอท่านจะปฏิบัติเจริญสติก็นับศีลเสียก่อนว่า ขณะนี้หรือวันนี้ก่อนที่จะปฏิบัตินี้มีศีลกี่ข้อ นั่นเป็นตัวตนที่กำลังนับ และที่กำลังจะเจริญสติ มีใครที่จะเจริญสติบ้างไหม สติจะเกิดหรือไม่เกิดไม่ได้อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาจริงๆ กำลังฟัง สติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กระทบ ที่สัมผัสปรากฏที่กาย ไม่มีใครบอกให้สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏที่กาย แต่อาศัยการฟังว่า สติเป็นสภาพที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมชนิดหนึ่งชนิดใด ลักษณะหนึ่งลักษณะใดที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็ได้

    บางท่านอาจจะเกิดระลึกรู้ลักษณะสภาพที่กำลังได้ยินในขณะนี้ น้อมไปที่จะรู้ว่า เป็นเพียงสภาพรู้ที่รู้เสียง หรือรู้สิ่งที่ปรากฏทางหูเท่านั้น สติจะเกิดเมื่อไร ขณะไหนก็ได้ แต่ไม่ใช่ว่าเตรียมสั่ง หรือว่าเตรียมพร้อม หรือว่าเตรียมรอ โดยการนับศีลก่อน นับแล้วสติไม่เกิดได้ไหม กำลังนับ ยังนับไม่หมดเลย ถ้าเป็นสติปัฏฐานจริงๆ สติเกิดได้ไหม ระลึกรู้ว่าที่นับที่คิดนั้นเป็นสภาพธรรมที่กำลังรู้คำ รู้เรื่อง นั่นจึงจะเป็นสติปัฏฐาน คือ มีปัญญาที่รู้ความเป็นอนัตตา รู้ลักษณะของสติซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นจึงระลึกรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่มีตัวตนที่จะไปเตรียมพร้อม จะไปรอคอย จะไปนับศีลก่อน และจึงจะเจริญสติ

    ผู้ฟัง ผู้ที่จะเจริญสติปัฏฐาน ปรารถนาจะได้นิพพานหรือปรารถนาจะรู้ลักษณะนามรูปที่ปราศจากตัวตน เจริญได้โดยที่ไม่ต้องเตรียมอะไร อยู่ที่ว่าผู้นั้นเข้าใจลักษณะของคำว่า รูปปรมัตถ์ นามปรมัตถ์ บัญญัติ และเข้าใจว่าสติมีสภาพอย่างไร ปัญญามีสภาพอย่างไร ฟังให้เข้าใจ ก็เจริญสติปัฏฐานได้

    สุ. หมายความว่า ไม่นับศีล ถ้ามีท่านที่นับก่อน จะแนะนำว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง ใช้คำว่า นับก่อน หรือตั้งเวลา หรือรอโอกาส เป็นสิ่งที่ผิดพลาดจริงๆ ถ้าผู้ใดปฏิบัติ เละแน่ ไม่มีปัญญาที่เห็นถูกต้อง เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้จริงๆ สติปัฏฐานที่อาจารย์บรรยายปกติจริงๆ ถ้าผิดปกติ ก็เป็นไปไม่ได้

    สุ. คงจะห้ามเขานับไม่ได้ แต่สติสามารถจะเกิดระลึกรู้แม้ในขณะที่นับว่า เป็นแต่เพียงสภาพที่คิด เพราะฉะนั้น ถ้าเขาจะไม่ได้นับศีล แต่ไปนับเงินนับทอง หรือว่านับอย่างอื่น กำลังค้าขาย กำลังซื้อขาย สติก็สามารถที่จะระลึกรู้ว่า แม้ขณะนั้นก็เป็นเพียงสภาพธรรมที่คิดเหมือนกัน สภาพคิดก็คิด คือรู้เรื่อง จะเป็นนับ ๑ ๒ ๓ หรือนับอะไรก็แล้วแต่

    ผู้ฟัง อย่างผมเป็นช่างเฟอร์นิเจอร์ การติดตั้งบางชิ้นลำบากประณีตมาก ต้องใช้ความคิดมาก ผมก็เจริญสติได้ปกติ เพราะอะไร เพราะว่าขณะที่คิดว่า จะปะติดปะต่ออย่างไรจึงจะประณีต สติผมก็เกิดตามระลึก รู้นามที่กำลังรู้บัญญัติ สติเกิดได้ทุกโอกาส ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ผู้ปฏิบัติต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า รูปปรมัตถ์คืออะไร นามปรมัตถ์คืออะไร ถ้าตรงนี้ไม่เข้าใจแล้ว เลิกดีกว่า อย่าไปปฏิบัติ อย่าไปเข้าสำนัก ไม่มีอะไรดีหรอก

    สุ. เป็นเรื่องความละเอียด เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะต้องพิจารณาถึงความละเอียดของปัญญาที่จะต้องใคร่ครวญในเหตุผลว่า การอบรมเจริญปัญญานั้น คือ การอบรมสภาพธรรมที่สามารถรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้

    ความคิดห้ามไม่ได้ จะนับหรือจะคิด หรือจะทำอะไรก็แล้วแต่ เป็นสิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้น สติสามารถที่จะเกิดขึ้นรู้ว่า ขณะนั้นเป็นแต่เพียงสภาพคิด

    สภาพคิด เห็นไม่ได้ ได้ยินไม่ได้ สภาพคิดเป็นธรรมที่เมื่อเกิดขึ้นขณะใดก็คิดเท่านั้นเอง ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน แม้ความคิดก็เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยที่ได้สะสมมา เพราะฉะนั้น แต่ละท่านก็มีสภาพธรรมที่ท่านสะสมมาเฉพาะตนๆ ซึ่งเป็นเหตุให้การอบรมเจริญสติปัฏฐานต้องเป็นไปตามธรรมชาติ ตามปกติที่ท่านสะสมมาจริงๆ แต่ถ้าท่านไปทำเหมือนอย่างคนอื่น ย่อมไม่สามารถที่จะรู้ชัดในความเป็นปกติของท่านที่มีปัจจัยจึงเกิดขึ้นตามความเป็นจริงได้

    สำหรับปัญหาข้อที่ ๒ ท่านถามเรื่องเกี่ยวกับสมาธิ มีผู้ฟังท่านใดจะแสดงความเห็นไหม

    ผู้ฟัง เรื่องสมาธิผมไม่มีความรู้มาก แต่เรื่องเจริญสติปัฏฐาน ไม่ต้องมีเวลาอะไรทั้งสิ้น มีอยู่อย่างหนึ่ง เจริญสติปัฏฐานมีอุบายได้เพื่อการจะให้รู้ชัด อุบายอย่างไร คือ พิจารณาดูที่เขาว่า นามปรมัตถ์ รูปปรมัตถ์ ของจริงเป็นอย่างไร อย่างที่อาจารย์เคยบรรยายว่า รูปปรมัตถ์ทางกายบ้าง ทางหูบ้าง ทางลิ้นบ้าง เราจะพิจารณาอย่างไรถึงจะรู้ว่า รูปนี้เป็นปรมัตถ์ ผมพิจารณาอย่างนี้ ตัดบัญญัติออก เหลือแต่ของจริง รูปแข็งทางกาย ผมจะเทียบให้ฟัง ลักษณะที่แข็งของจริง รูปแข็ง ของจริงย่อมปรากฏให้รู้ได้ รู้ชัดในนามและรูป ผมใช้คำว่า อุบาย เอามือไปวางบนโต๊ะ ก็รู้ว่าโต๊ะนี้แข็ง คำว่าโต๊ะนี้ตัดทิ้ง ตัดบัญญัติออกให้หมด มีแต่ลักษณะที่ปรากฏจริงๆ และผมก็ระลึกลักษณะที่ปรากฏ ผมระลึกอย่างนั้น ปัญญาก็เกิด รู้ชัดในขณะนั้นจริงๆ

    สุ. อยากจะให้ตัดคำว่า ผมระลึกอย่างนั้น

    ถ. แล้วผมจะเอาอะไรมาเป็นบัญญัติในการพูด

    สุ. สติเกิดระลึก ไม่ใช่ผมระลึก

    ถ. สติเกิดระลึก คำนี้ถูก แต่ว่าคนเราจะพูดกัน อย่างพระพุทธเจ้าจะเทศน์ธรรม ต้องอาศัยบัญญัติใส่ลงไปในปรมัตถ์ ยกบัญญัติขึ้นมาพูด จึงจะพูดเข้าใจ แต่จะหาบัญญัติในปรมัตถ์ไม่มี สมมติว่า นี่นาฬิกา ขอให้อาจารย์ตอบว่า นาฬิกาในโลกนี้มีไหม ของจริงที่ปรากฏมีไหม

    สุ. อะไรปรากฏ สภาพธรรมอะไรที่ปรากฏ

    ถ. คำว่า นาฬิกาเป็นบัญญัติธรรม เป็นปรมัตถ์ที่ปรากฏมีไหม

    สุ. ถ้าไม่คิด จะมีคำปรากฏไหม อยู่เฉยๆ ไม่คิด คำว่า นาฬิกา จะปรากฏไหม

    ถ. เปรียบเทียบว่า นี่เป็นความเข้าใจของผม บัญญัติเป็นสิ่งที่ถูกต้องไม่ได้ ผมถูกต้องนาฬิกาไม่ได้ ผมไม่ได้ถูกต้องนาฬิกา ลักษณะที่แข็งต่างหากไม่ใช่นาฬิกา นาฬิกาถูกต้องไม่ได้

    สุ. คิดถึงคำ นา ฬิ กา ได้ไหม

    ถ. คิดถึง นา ฬิ กา เป็นคำ นามรู้ทางใจครับ รู้รูป รู้บัญญัติ รู้ได้สารพัดทางใจ ไม่ว่าอะไรรู้ได้หมด จะรู้วิชาการทางโลกก็รู้ได้ รู้หมด รู้บัญญัติเป็นตัวตน รู้ได้หมด ของจริงๆ นาฬิกานี้ไม่มี

    สุ. คิดถึงคำว่า นา ฬิ กา ได้ไหม

    ถ. ได้ มี

    สุ. ถ้าไม่คิด คำว่า นาฬิกา จะมีไหม

    ถ. ไม่มี

    สุ. ก็เป็นคำตอบอยู่แล้วว่า คำไม่ใช่สภาพธรรม แต่ว่ามีการคิด การตรึกด้วยความทรงจำ เพราะฉะนั้น เวลาที่อบรมเจริญปัญญาจึงสามารถรู้ได้ว่า เสียงที่ได้ยินไม่ใช่สภาพรู้ และไม่ใช่สภาพที่คิดถึงความหมายด้วย เพราะว่าเวลานี้กำลังมีความเข้าใจความหมายเป็นปกติ ตามปกติจริงๆ เพราะฉะนั้น สติก็เป็นปกติ คือ ระลึกถึงสภาพธรรมที่ปรากฏตรงตามปกติ คือ ไม่ได้คิดถึงคำ แต่ระลึกรู้ว่า ที่คิดนั้นเป็นแต่เพียงสภาพคิด นี่คือการที่จะไม่สะดุ้งสะเทือนว่า เป็นตัวตนที่คิด

    ถ. พูดถึงเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน อาจารย์ก็ได้พูดไปแล้วมากมาย ผู้ที่จะเจริญสติปัฏฐาน ก่อนอื่นจะต้องได้ฟัง เมื่อฟังเข้าใจแล้วก็ค่อยเจริญ ก่อนที่จะเจริญสติปัฏฐานจะต้องรู้จักว่า ลักษณะของการมีสติกับลักษณะของการหลงลืมสตินั้นต่างกันอย่างไร ซึ่งท่านทั้งหลายก็คงรู้บ้างแล้ว เพราะอาจารย์ได้พูดไปแล้วบ่อยครั้ง

    แต่ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานนั้น เมื่อมีสติเกิดขึ้น แต่แล้วไม่ได้ใส่ใจในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง และก็ปล่อยให้หลงลืมสติต่อไป อยากทราบว่า ขณะนั้นอินทรีย์ทั้ง ๕ ได้ประกอบกับจิตครบหรือยัง ขาดอะไรบ้าง

    สุ. ไม่ครบ ขาดปัญญา เพราะว่าไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๓ ตอนที่ ๖๒๑ – ๖๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 43
    28 ธ.ค. 2564