แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 643


    ครั้งที่ ๖๔๓


    ข้อความต่อไปมีว่า

    ครั้งนั้น เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกแล้วทรงถือบาตร และจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงราชคฤห์ ได้ทอดพระเนตรเห็นสิงคาลกคฤหบดีบุตร ซึ่งลุกขึ้นแต่เช้าออกจากกรุงราชคฤห์ มีผ้าชุ่ม มีผมเปียก ประคองอัญชลี นอบน้อมทิศทั้งหลาย คือ ทิศเบื้องหน้า ทิศเบื้องขวา ทิศเบื้องหลัง ทิศเบื้องซ้าย ทิศเบื้องล่าง ทิศเบื้องบนอยู่ แล้วได้ตรัสถามว่า

    ดูกร คฤหบดีบุตร ท่านลุกขึ้นแต่เช้าออกจากกรุงราชคฤห์ มีผ้าชุ่ม มีผมเปียกประคองอัญชลีนอบน้อมทิศทั้งหลาย คือ ทิศเบื้องหน้า ทิศเบื้องขวา ทิศเบื้องหลัง ทิศเบื้องซ้าย ทิศเบื้องล่าง ทิศเบื้องบนอยู่ เพราะเหตุอะไรหนอ ฯ

    สิงคาลกคฤหบดีบุตรกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คุณพ่อของข้าพระพุทธเจ้าเมื่อใกล้จะตายได้สั่งไว้อย่างนี้ว่า ดูกร พ่อ เจ้าพึงนอบน้อมทิศทั้งหลาย ข้าพระพุทธเจ้าสักการะ เคารพ นับถือ บูชาคำของคุณพ่อ จึงลุกขึ้นแต่เช้าออกจากกรุงราชคฤห์ มีผ้าชุ่ม มีผมเปียก ประคองอัญชลีนอบน้อมทิศทั้งหลาย คือ ทิศเบื้องหน้า ทิศเบื้องขวา ทิศเบื้องหลัง ทิศเบื้องซ้าย ทิศเบื้องล่าง ทิศเบื้องบนอยู่ ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร คฤหบดีบุตร ในวินัยของพระอริยเจ้า เขาไม่นอบน้อมทิศ ๖ กันอย่างนี้ ฯ

    สิงคาลกคฤหบดีบุตรกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในวินัยของพระอริยเจ้า ท่านนอบน้อมทิศ ๖ กันอย่างไร ขอประทานโอกาส ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ตามที่ในวินัยของพระอริยเจ้าท่านนอบน้อมทิศ ๖ กันนั้นเถิด

    การไหว้ของพระอริยสาวก กับการไหว้ของผู้ที่ไม่ใช่พระอริยสาวก ก็ต่างกัน

    ใน สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาสิงคาลกสูตร มีข้อความว่า

    บิดาของสิงคาลกมาณพเป็นคฤหบดีมหาศาล มีทรัพย์ที่ฝังไว้ถึง ๔๐ โกฏิ และเป็นอุบาสกโสดาบัน แม้ภรรยาของท่าน คือ มารดาของสิงคาลกมาณพ ก็เป็น พระโสดาบัน

    ชีวิตจริง ใครจะรู้ว่าใครเป็นพระโสดาบันหรือไม่เป็น สิงคาลกมาณพไม่รู้เลยว่า มารดาบิดาของท่านเป็นพระโสดาบัน และชีวิตตามความเป็นจริงก็คือ ความปรารถนาดีที่มารดาบิดามีต่อบุตร เนื่องจากมารดาบิดาเป็นพระโสดาบันแล้ว เพราะฉะนั้น ก็มีความปรารถนาที่จะให้บุตรได้เข้าถึงพระรัตนตรัย ได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบันด้วย แต่ว่าสำหรับบุตร คือ สิงคาลกมาณพนั้น เป็นคนที่ไม่มีความเลื่อมใส ไม่มีความศรัทธาในพระรัตนตรัยเลย ถึงแม้ว่ามารดาบิดาของท่านจะได้ กล่าวสั่งสอนอยู่เนืองๆ ว่า ลูกเอ๋ย เจ้าจงไปหาท่านพระธรรมเสนาบดี ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระมหากัสสปะ ท่านพระอสีติมหาสาวกทั้งหลายเถิด

    นี่คือความหวังดี เพราะว่าใครเลยจะได้มีโอกาสไปหาท่านธรรมเสนาบดี สารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระมหากัสสปะ หรือแม้ท่านพระเถระอื่นๆ ผู้ทรงคุณ ซึ่งสมัยนี้ไม่มีโอกาสที่จะได้พบท่านอีกแล้ว แต่ผู้ที่สะสมปัจจัยมาที่จะไม่เลื่อมใสศรัทธา แม้ว่ามีโอกาสก็ไม่เห็นประโยชน์เลย

    ผู้ที่สะสมความไม่เลื่อมใสในผู้ที่ควรเลื่อมใส มี แม้ในครั้งก่อนหรือในครั้งนี้

    เพราะฉะนั้น สิงคาลกมาณพที่ได้เคยสะสมความไม่เลื่อมใสในผู้ที่ควรเลื่อมใสมาแล้วก็คิดว่า ไม่ควรจะไปหาบุคคลอย่างเช่นพระธรรมเสนาบดี หรือท่านพระมหาโมคคัลลานะ และความคิดของสิงคาลกมาณพที่จะไม่ไป ก็เพราะคิดว่าถ้าไปหาพวกสมณะ ก็ต้องไหว้

    เพียงเท่านี้ก็ลำบากเสียแล้วสำหรับผู้ที่ไม่ได้สะสมปัจจัยมา ไม่มีศรัทธาที่จะไหว้ การไหว้นี้ไม่ใช่บังคับ แต่เป็นจิตที่เบา และผ่องใสจากอกุศล เพราะว่ามีความ นอบน้อมในผู้มีคุณ เมื่อกุศลจิตเกิดขึ้นก็เป็นปัจจัยให้มีการไหว้ หรือการแสดงความนอบน้อม แต่ผู้ที่ไม่เห็นว่าจะต้องนอบน้อม หรือจะต้องไหว้ ก็กลับเห็นเป็นความลำบากในการที่จะต้องไหว้ เพราะฉะนั้น สิงคาลกมาณพ ก็มีความคิดเห็นว่า เมื่อไปหาพวกสมณะก็ต้องไหว้ เมื่อก้มตัวลงไหว้ก็ปวดหลัง

    เป็นเรื่องที่ไม่เห็นคุณเลย ไม่ยอมสละอะไรทั้งนั้น แม้แต่การที่จะไหว้ก็คิดว่าจะเป็นการเสียประโยชน์หลายประการ คุกเข่าลงก็เจ็บเข่า เจ็บน่ะเจ็บแน่ และต้องนั่งกับพื้น เมื่อนั่งกับพื้น ผ้าก็หม่นหมอง เสียดายผ้าจะสกปรก จะเปื้อนเปรอะ และเมื่อสนทนากัน เกิดความคุ้นเคยกันขึ้นแล้ว ก็ต้องถวายจีวร บิณฑบาต เป็นต้น แก่ท่าน

    แทนที่จะคิดว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้ถวายสิ่งที่เป็นประโยชน์กับผู้ที่ทรงคุณ เพราะถ้าเกิดในภพอื่น ชาติอื่น มือที่จะไหว้นี้มีไหม ถ้าไม่ได้เกิดเป็นมนุษย์ แต่เกิดในอบายภูมิ เป็นสัตว์เดรัจฉาน ก็ไม่มีแม้แต่มือที่จะไหว้พระอริยเจ้า พระธรรมเสนาบดีสารีบุตร หรือพระโมคคัลลานะ หรือพระสงฆ์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้น เมื่อมีมือแล้ว แทนที่จะใช้มือ ใช้ร่างกายให้เป็นประโยชน์ในการเจริญกุศล ก็กลับกลัวว่า ถ้าไปสนทนาด้วยเกิดความคุ้นเคย นอกจากจะต้องกราบไหว้แล้ว ยังจะต้องถวายจีวร บิณฑบาต เป็นต้น

    เป็นความจริงหรือเปล่า สำหรับสิงคาลกมาณพคนเดียว หรือว่าสำหรับอีกหลายท่านที่สะสมเหตุปัจจัยมาที่จะคิดอย่างนี้

    กุศลควรเจริญ การขัดเกลากิเลสควรจะมีทุกขั้น ทุกประการ โดยเฉพาะกับผู้ที่ทรงคุณ ควรคิดว่า เป็นโอกาสพิเศษที่ได้มีโอกาสให้ท่านได้ใช้จีวร บิณฑบาต เพื่อชีวิตที่ประเสริฐของท่าน แต่ก็เกิดความเสียดายขึ้น สิงคาลกมาณพไม่รู้แม้แต่ว่าการที่เกิดเป็นบุตรของคฤหบดีมหาศาลนั้น เป็นผลของกุศลที่ได้กระทำมาแล้ว

    การเกิดเป็นบุตรของคฤหบดีมหาศาลเป็นผลของกุศลก็จริง แต่ถ้ายังมีการติดอย่างมากในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจแล้ว ก็ไม่สามารถสละแม้แต่จีวร บิณฑบาต เป็นต้น แก่ท่านเหล่านั้น ทั้งๆ ที่เป็นบุตรของคฤหบดีมหาศาลก็ยังเสียดาย และไม่เห็นประโยชน์ เพราะว่าสะสมการติดไว้มาก ไม่คิดว่าการสละแต่ละครั้งจะทำให้ละคลายกิเลสการติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะออกได้บ้าง แม้ว่าไม่เป็นสมุจเฉท แต่ก็ไม่เป็นการเพิ่มขึ้น เพราะว่าสามารถที่จะสละออกได้

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่เห็นประโยชน์ของการสละออก แม้ว่าจะมีเงินมาก ก็ยังคิดว่าเป็นการเสียประโยชน์ แม้ว่ามารดาบิดาของสิงคาลกมาณพจะได้ว่ากล่าวสั่งสอนท่านอยู่จนตลอดชีวิตของท่านทั้งสอง ก็ไม่อาจที่จะให้เขาเข้าในพระศาสนาได้

    นี่คือชีวิตตามความเป็นจริง พระอริยเจ้าท่านก็มีชีวิตปะปนไปกับปุถุชนทั้งหลาย โดยฐานะของการเป็นมิตรสหายบ้าง หรือโดยฐานะของการเป็นมารดาบิดาและบุตรบ้าง และท่านก็มีความปรารถนาดีที่จะให้บุคคลอื่นรู้แจ้งอริยสัจธรรม หรือเมื่อเป็นบุตรของท่าน ท่านก็ปรารถนาที่จะให้เข้าถึงพระศาสนา แต่การสะสมของแต่ละบุคคลก็ต่างกันไป

    ในสมัยนี้ โดยฐานะของมารดาบิดาทั้งหลาย เมื่อท่านได้เข้าถึงพระธรรม ได้รู้คุณของพระธรรมแล้ว ท่านคงปรารถนาอย่างยิ่งที่จะให้บุตรของท่านได้เข้าถึง พระศาสนาด้วย แต่ว่าท่านจะกระทำได้หรือไม่ สำเร็จมากหรือน้อย นั่นต้องเป็นเรื่องของการสะสมมาของบุตรธิดาของท่านแต่ละคนด้วย

    แต่ก็จะเห็นได้ถึงความปรารถนา ความหวังดีอย่างสูงที่สุดในชีวิตของท่าน คือ เมื่อท่านได้เห็นคุณของพระศาสนา ก็ปรารถนาที่จะให้บุตรธิดาได้เข้าถึงพระศาสนาด้วย แต่ทุกคนมีการสะสมมาของตนเอง เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่ามารดาบิดาจะเป็นถึงพระอริยเจ้า ก็ยังไม่อาจให้บุตรของท่าน คือ สิงคาลกมาณพ ได้เข้าในพระศาสนาได้

    เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะสิ้นชีวิต มารดาบิดาของสิงคาลกมาณพก็ได้ให้โอวาทแก่บุตร ให้บุตรไหว้ทิศ ทั้งที่บุตรยังไม่สามารถที่จะเข้าใจความหมายของทิศที่ถูกต้องได้ โดยหวังว่าบุตรคงจะนอบน้อมทิศทั้งหลายจนกว่าพระผู้มีพระภาคหรือพระสาวกจะไปพบเข้า ก็จะมีการสอบถาม สนทนาธรรมกัน และในที่สุดก็คงได้แสดงความมุ่งหมายที่มารดาบิดาของท่านได้ให้บุตรไหว้ทิศว่า ที่มารดาบิดาของท่านมุ่งหมายให้บุตรของตนไหว้ทิศนั้นคืออย่างไร เมื่อบุตรสามารถเข้าใจความมุ่งหมายของมารดาบิดาที่ให้ไหว้ทิศแล้ว ก็คงจะรู้จักคุณของพระพุทธศาสนา และจะได้ทำบุญกุศลต่อไป

    ข้อความในอรรถกถาต่อไปมีว่า

    เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงตรวจดูสัตว์โลกในเวลาจวนสว่าง และทรงพระดำริว่า วันนี้จักแสดงธรรมอันเป็นวินัยของคฤหัสถ์แก่สิงคาลกมาณพ การแสดงธรรมนี้จะมีผลแก่มหาชนเป็นอันมาก

    ทุกท่านที่ฟังนี้ส่วนมากเป็นคฤหัสถ์ เพราะฉะนั้น มีวินัยของคฤหัสถ์เป็นเครื่องวัด เครื่องเทียบให้เห็นว่า กิเลสของท่านจะมีมากหรือมีน้อยประการใด ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริว่า การแสดงธรรมนี้จะมีผลแก่มหาชนเป็นอันมาก ทรงเห็นประโยชน์ว่า ธรรมประการใดจะเป็นประโยชน์แก่มหาชนเป็นอันมาก เพราะฉะนั้น พระสูตรนี้จะต้องเป็นประโยชน์มากแก่ท่านผู้ฟังทั้งหลาย เพราะว่าใน พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงวินัยของคฤหัสถ์ ซึ่งวินัยย่อมเป็นเครื่องวัดกิเลสว่า มีมากหรือน้อยเพียงไร และวินัยนั้นก็คือธรรมนั่นเอง

    วินัยก็เป็นสภาพธรรม และสภาพธรรมก็เป็นวินัย เพราะว่าเป็นเครื่องแสดงให้รู้ว่า สิ่งใดควรและสิ่งใดไม่ควร สำหรับผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานจะเห็นได้ว่า สติย่อมเกิดขึ้นอุปการะในชีวิตประจำวันที่จะให้ตรงตามวินัยของคฤหัสถ์ยิ่งขึ้น เพราะถ้าไม่เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ย่อมไม่มีการระลึกว่า สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร แต่เพราะว่าเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน มีการศึกษา สังเกต สำเหนียกที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏถี่ถ้วนขึ้น ละเอียดขึ้น ไวขึ้น เป็นปัจจัยอุปการะแก่สติขั้นอื่นๆ ซึ่งจะเกิดขึ้นระลึกรู้การกระทำทางกาย ทางวาจาว่า เป็นสิ่งที่ควรหรือไม่

    ข้อความต่อไปในสิงคาลกสูตร ท่านผู้ฟังจะได้ทราบถึงวินัยของคฤหัสถ์ว่าเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวท่านมากเพราะท่านผู้ฟังส่วนมากก็เป็นคฤหัสถ์ แต่โดยมากท่านมักจะสนใจสิ่งที่อยู่ไกลมาก เช่น มรรคผลนิพพาน โดยลืมว่า การที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้นั้น จะต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงเสียก่อน เพราะฉะนั้น ถ้าญาณ คือ ปัญญา ไม่เกิดขึ้น ไม่รู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน ก็ไม่ทำให้ท่านสามารถที่จะรู้แจ้งมรรคผลนิพพานได้ และไม่สามารถทำให้ทราบด้วยว่า ชีวิตของท่านแต่ละท่านซึ่งต่างกันไปแต่ละบุคคลนั้น ย่อมเป็นเพียงสภาพธรรมแต่ละลักษณะซึ่งเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยที่ได้สะสมมา

    ข้อความต่อไปมีว่า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร คฤหบดีบุตร ถ้าอย่างนั้น ท่านจงฟัง จงตั้งใจให้ดี เราจักกล่าว ฯ

    สิงคาลกคฤหบดีบุตรทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาค

    ได้ตรัสว่า

    ดูกร คฤหบดีบุตร อริยสาวกละกรรมกิเลสทั้ง ๔ ได้แล้ว ไม่ทำบาปกรรมโดยฐานะ ๔ และไม่เสพทางเสื่อมแห่งโภคะ ๖ อริยสาวกนั้นเป็นผู้ปราศจากกรรมอันลามก ๑๔ อย่างนี้แล้ว ย่อมเป็นผู้ปกปิดทิศ ๖ ย่อมปฏิบัติเพื่อชำนะโลกทั้งสอง และเป็นอันอริยสาวกนั้นปรารภแล้ว ทั้งโลกนี้และโลกหน้า เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก อริยสาวกนั้นย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ฯ

    กรรมกิเลส ๔ เป็นไฉน ที่อริยสาวกละได้แล้ว

    ดูกร คฤหบดีบุตร กรรมกิเลส คือ ปาณาติบาต ๑ อทินนาทาน ๑ กาเมสุมิจฉาจาร ๑ มุสาวาท ๑ กรรมกิเลส ๔ เหล่านี้ ที่อริยสาวกนั้นละได้แล้ว ฯ

    พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

    ปาณาติบาต อทินนาทาน มุสาวาท และการคบหาภรรยาผู้อื่น เรากล่าวว่า เป็นกรรมกิเลส บัณฑิตไม่สรรเสริญ ฯ

    เป็นเรื่องปกติธรรมดาในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นเครื่องวัดสภาพของจิตที่มีกิเลสว่า มีกิเลสกล้าหรือแรงที่จะกระทำกรรมด้วยกิเลสนั้นๆ หรือไม่ เพราะว่าผู้ที่เป็น พระอริยเจ้าละกรรมกิเลสทั้ง ๔ ได้แล้ว ไม่ทำบาปกรรมโดยฐานะ ๔ และไม่เสพทางเสื่อมแห่งโภคะ ๖ อริยสาวกนั้นเป็นผู้ปราศจากกรรมอันลามก ๑๔ อย่างนี้แล้ว แต่ผู้ที่ยังไม่ได้เป็นอริยสาวกก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า ท่านยังกระทำกรรม ที่ไกลต่อการที่จะเป็นพระอริยสาวกหรือไม่



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๕ ตอนที่ ๖๔๑ – ๖๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 43
    28 ธ.ค. 2564