แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 613


    ครั้งที่ ๖๑๓


    การที่จะดูถูกดูหมิ่นใคร ถ้าสะสมอกุศลมามาก ก็มีทางที่จะดูถูกดูหมิ่นได้ทั้งนั้น เช่น ดูหมิ่นกษัตริย์ว่าทรงพระเยาว์ บางท่านอาจจะคิดอย่างนั้น เพราะว่าสะสมอกุศล คือ มานะ ความสำคัญตน ความถือตนไว้มาก แต่สำหรับผู้ที่สะสมกุศลมาย่อมไม่คิดที่จะดูถูกดูหมิ่นใคร เพราะเห็นผลของกรรมว่า การที่บุคคลใดจะได้เสวยราชสมบัติแม้ว่าจะยังทรงพระเยาว์อยู่ก็ตาม การที่ได้เสวยราชสมบัตินั้น ต้องเป็นผลของความดี ของกรรมดีที่ได้กระทำไว้แล้วในอดีต เพราะฉะนั้น ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะนึกดูถูกดูหมิ่นใครด้วยประการต่างๆ ใดๆ ทั้งสิ้น

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    นรชนเห็นงูที่บ้านหรือที่ป่าก็ตาม ไม่พึงดูถูกดูหมิ่นว่าตัวเล็ก (เพราะเหตุว่า) งูเป็นสัตว์มีพิษ ย่อมเที่ยวไปด้วยรูปร่างต่างๆ งูนั้นพึงมากัดชายหญิงผู้พลั้งเผลอในบางคราว ฉะนั้น ผู้รักษาชีวิตของตนพึงงดเว้นการสบประมาทงูนั้นเสีย ฯ

    โดยมากท่านผู้ฟังกลัวงูตัวใหญ่มากกว่างูตัวเล็ก แต่ความจริงงูพิษถึงแม้ว่าจะเป็นงูที่ตัวเล็ก แต่ก็มีอันตรายมาก เพราะฉะนั้น เมื่อไม่ควรประมาทงูที่ตัวเล็ก ก็ไม่ควรนึกประมาทบุคคลใดซึ่งท่านอาจจะมีความรู้สึกว่า เสมือนกับงูตัวเล็กซึ่งไม่มีพิษ หรือไม่มีภัย แต่ความจริงแล้ว ทุกคนต้องมีความสำคัญ มีผลของกุศลและอกุศลตามควรที่ท่านไม่ควรจะดูหมิ่นเลย

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    นรชนไม่พึงดูถูกดูหมิ่นไฟที่กินเชื้อมาก ลุกเป็นเปลว มีทางดำ (ที่ที่มีไฟไหม้ย่อมเป็นทางดำ) ว่าเล็กน้อย เพราะว่าไฟนั้นได้เชื้อแล้วก็เป็นกองไฟใหญ่ พึงลามไหม้ชายหญิงผู้พลั้งเผลอในบางคราว ฉะนั้น ผู้รักษาชีวิตของตนพึงงดเว้นการสบประมาทไฟนั้นเสีย ฯ

    เรื่องของไฟเป็นเรื่องปกติซึ่งทุกท่านก็เห็นอันตรายว่า ไม่ควรประมาทเลย แม้ว่าจะเป็นไฟเพียงเล็กน้อย ก็สามารถเป็นไฟกองใหญ่และทำลายทำอันตรายได้มาก ฉันใด เรื่องของกิเลสแต่ละอย่างแต่ละขณะ ซึ่งบางท่านอาจจะคิดว่าเล็กน้อย ไม่ต้องขัดเกลาก็ได้ อย่างเรื่องของความถือตน ความสำคัญตน ความไม่นอบน้อมไม่อ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม ท่านอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่ให้ทราบว่า ลักษณะสภาพของมานะเป็นสภาพที่ละเอียดมาก ซึ่งมีอยู่เป็นประจำ มากหรือน้อยต่างกัน และที่จะดับได้เป็นสมุจเฉท ก็ต้องถึงความเป็นพระอรหันต์

    เพราะฉะนั้น สภาพของมานะเป็นสภาพที่ละเอียดมาก เป็นอกุศลที่ควรจะเห็นว่าเป็นอันตรายจริงๆ ซึ่งผู้ที่เห็นโทษภัยของอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย ย่อมขวนขวายที่จะละให้เบาบาง จนกระทั่งสามารถที่จะดับได้เป็นสมุจเฉท

    ข้อความต่อไปมีว่า

    (แต่ว่า) ป่าใดที่ถูกไฟไหม้จนดำไปแล้ว เมื่อวันคืนล่วงไปๆ พันธุ์หญ้าหรือต้นไม้ยังงอกขึ้นที่ป่านั้นได้ ส่วนผู้ใดถูกภิกษุผู้มีศีลแผดเผาด้วยเดช บุตรธิดาและ ปศุสัตว์ของผู้นั้นย่อมพินาศ ทายาทของเขาก็ย่อมไม่ได้รับทรัพย์มรดก เขาเป็นผู้ไม่มีเผ่าพันธุ์ ย่อมเป็นเหมือนตาลยอดด้วน ฯ

    ข้อความในพระสูตรนี้ หมายความถึงการดูหมิ่นผู้ที่ทรงคุณความดี ซึ่งเป็นโทษมาก อุปมาเหมือนไฟที่ไหม้ป่าแล้ว เวลาที่วันคืนล่วงไปๆ ก็ยังมีปัจจัยให้ต้นไม้ใบหญ้างอกงามขึ้นอีกได้ แต่ว่าผู้ใดที่ดูหมิ่นบุคคลผู้ทรงศีล ผู้นั้นย่อมได้รับโทษภัยเป็นอันมากด้วยอกุศลจิตของตนเองที่ทำให้สามารถดูถูกดูหมิ่นแม้ผู้ทรงคุณความดี เป็นผู้ที่ทรงศีล เพราะเหตุว่าลักษณะของผู้ที่ทรงคุณงามความดี หรือผู้ที่ทรงศีลนั้น ย่อมเป็นผู้ที่ไม่โอ้อวด คนใดก็ตามที่ไม่โอ้อวด คนอื่นอาจจะดูหมิ่นได้ว่าเป็นผู้เล็กน้อย เป็นผู้ที่ไม่มีความสำคัญ แต่ผู้ที่สะสมกุศลมาย่อมเห็นว่า ผู้ที่ทรงคุณความดีเท่านั้น เป็นผู้ที่ไม่ควรจะดูถูกดูหมิ่น เพราะเหตุว่ากรรมดีหรือความดีนั้นย่อมสำคัญกว่าสิ่งอื่น

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ฉะนั้นแล บุคคลผู้เป็นบัณฑิต พิจารณาเห็นงู ไฟ กษัตริย์ผู้ทรงยศ และภิกษุผู้มีศีลว่า เป็นภัยแก่ตน พึงประพฤติต่อโดยชอบทีเดียว ฯ

    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสจบลงแล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก บุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุจะได้เห็นรูป ฉันใด พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงธรรมโดยปริยายเป็นอันมาก ก็ฉันนั้นเหมือนกัน

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่า เป็นที่พึ่ง เป็นที่ระลึก ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณคมน์จนตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ

    ท่านผู้ฟังได้รับฟังพระภาษิตที่พระผู้มีพระภาคตรัสข้อความที่ได้กล่าวถึงแล้ว มีความรู้สึกเหมือนพระเจ้าปเสนทิโกศลหรือเปล่า พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเห็นคุณค่าในพระมหากรุณาของพระผู้มีพระภาคที่ทรงพร่ำสอนตักเตือนแม้ในเรื่องเล็กน้อย เช่น ในเรื่องของการไม่ดูหมิ่น ท่านผู้ฟังซึ่งฟังธรรมอาจจะคิดว่า ท่านอยากจะฟังธรรมขั้นสูงมาก แต่ท่านลืมพิจารณาสภาพธรรมที่เกิดปรากฏตามปกติในชีวิตประจำวัน แต่ขอให้ย้อนระลึกว่า สภาพธรรมใดซึ่งเกิดปรากฏเป็นปกติในชีวิตประจำวัน สภาพธรรมนั้นเป็นสภาพธรรมจริง ซึ่งควรระลึก ควรรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมนั้น

    และสำหรับธรรมขั้นสูงจริงๆ ก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติในชีวิตประจำวันนั่นเอง เช่น ในเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานนั้น เป็นการระลึกรู้สภาพธรรมที่เกิดปรากฏตามปกติในชีวิตประจำวันตามความเป็นจริง ที่ปัญญาจะเกิดจนกระทั่งสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ไม่ใช่รู้แจ้งสภาพธรรมอื่น ต้องรู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังเกิดปรากฏในขณะนี้ และเมื่อได้อบรมปัญญาจนคมกล้า ปัญญานั้นก็สามารถที่จะแทงตลอดในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นมานะ หรือไม่ว่าจะเป็นกุศลธรรม ปัญญาสามารถที่จะประจักษ์ในความไม่ใช่ตัวตน ในความเกิดขึ้น ในความดับไปได้ เพราะฉะนั้น พระธรรมทั้งหมดที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เป็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวันตั้งแต่ขั้นต้นจนถึงขั้นสูงที่สุด คือ การรู้แจ้งอริยสัจธรรม

    สำหรับเรื่องของการอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม ก็มีแต่คุณ หาโทษไม่ได้เลย ท่านลองคิดดูว่าท่านชอบใคร ท่านเอ็นดูใคร ท่านเคารพนับถือในใคร ก็ต้องในผู้ที่มีความอ่อนน้อม ไม่ใช่ในผู้ที่หยาบกระด้างถือตน เพราะฉะนั้น ความอ่อนน้อมซึ่งเป็นกุศลจิต ย่อมเป็นที่รัก ย่อมไม่มีภัย

    ถ้าท่านคิดว่า การที่ท่านจะอ่อนน้อมต่อใครๆ ก็ตาม จะเป็นเหตุให้บุคคลนั้นได้ใจ มีความประพฤติหรือว่ามีการกระทำที่ไม่เหมาะสม ขอให้ทราบว่า ไม่ใช่เพราะความอ่อนน้อมของท่านที่ทำให้บุคคลนั้นเป็นอย่างนั้น แต่เป็นเพราะกิเลสของบุคคลนั้นเองที่สะสมมาที่จะประพฤติทางกาย ทางวาจาในทางที่หยาบกระด้าง ไม่สมควร คือ ในทางยกตนข่มบุคคลอื่น หรือว่าในทางโอ้อวดต่างๆ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องการอ่อนน้อมของท่านที่ทำให้บุคคลอื่นมีความประพฤติทางกาย ทางวาจาที่ไม่สมควร แต่เป็นอกุศลธรรมของบุคคลนั้นเองที่ได้สะสมมา

    ถ. ความสงสัยของพระเจ้าปเสนทิโกศล คนสมัยนี้ก็มีมาก ไม่ใช่แต่ในครั้งก่อนเท่านั้น คือ ผู้ที่ไม่เข้าใจข้อปฏิบัติ ไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ก็สงสัยกันทั้งนั้น แม้กระทั่งทุกวันนี้ คนส่วนใหญ่สงสัยในพระไตรปิฎกว่า นี่เป็นคำสอนของพระผู้มีพระภาคจริงหรือไม่ บางคนก็เชื่อในพระสูตรพระวินัยว่าเป็นพระพุทธพจน์ แต่ พระอภิธรรมนี้ไม่ใช่พระพุทธพจน์ เพราะฉะนั้น ถ้าบุคคลใดที่ไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ความคิดความเห็นต่างๆ ย่อมเป็นไปได้ และไม่มีที่สิ้นสุดด้วย จะหาอะไรตัดสินก็ไม่มี ไปถามใครๆ คนนี้ก็บอกว่าใช่ คนนั้นก็บอกว่าไม่ใช่ ไม่รู้จะไปเชื่อใคร และถ้าใช้ความคิดความเห็นในครั้งสมัยพุทธกาล ครูทั้ง ๖ แต่ละคนก็น่าเกรงขาม เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงทั้งนั้น และอย่างที่พระเจ้าปเสนทิโกศลสงสัยนั่นแหละ เขามีชื่อเสียงมานาน มีอายุมากด้วย เป็นผู้น่าเกรงขามกันทั้งนั้น ถ้าไม่รู้จักข้อปฏิบัติที่พระองค์ทรงแสดงไว้ ความสงสัยก็ไม่มีที่สิ้นสุด

    สุ. ก็เป็นพระมหากรุณาของพระผู้มีพระภาคที่ทรงแสดงธรรมโดยละเอียด แม้แต่ในขั้นต้น คือ ให้เป็นผู้ที่ขัดเกลา แม้การยกตน แม้การข่มผู้อื่น โดยที่ว่าอย่าไปดูหมิ่นใคร ให้ศึกษาสภาพธรรม และมีความเข้าใจในเหตุผล ในการปฏิบัติที่ถูกต้องโดยไม่ดูหมิ่นใครดีกว่าไหม ใครจะเป็นอย่างไรก็ตามแต่ จะสอนว่าอย่างไรก็ตามแต่ ก็ไม่จำเป็นต้องดูหมิ่น เพราะว่าขณะนั้นจิตเป็นอกุศล แต่ผู้ศึกษาก็พิจารณาด้วยตนเองว่า ข้อปฏิบัติใดมีเหตุผล ก็ประพฤติปฏิบัติในข้อธรรมที่มีเหตุผลโดยไม่ดูหมิ่นบุคคลอื่น

    ถ. คำถามของพระเจ้าปเสนทิโกศลนั้น ก็เป็นที่น่าคิดอยู่ เพราะถ้ามองดูตามสายตา พวกครูทั้ง ๖ ก็น่าจะเก่งกว่าหรือดีกว่า อย่างนี้ว่าดูหมิ่นก็คงจะใช่ เพราะไปเชื่อถือครูทั้ง ๖ และพระผู้มีพระภาคอายุก็น้อย คุณธรรมต่างๆ แค่ไหนก็ยังไม่รู้ ผมสงสัยว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลท่านไม่ได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคล แต่ท่านเจริญ สติปัฏฐานหรือเปล่า

    สุ. ไม่มีกล่าวไว้ แต่ข้อสำคัญที่สุด คือ พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงธรรมให้พระเจ้าปเสนทิโกศลเข้าใจ และเห็นว่าไม่ควรที่จะให้อกุศลจิตเกิด เพราะฉะนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงได้ตรัสว่า ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก บุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูป ฉันใด พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงธรรมโดยปริยายเป็นอันมาก ก็ฉันนั้นเหมือนกัน คือ ไม่ว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลจะสงสัยเรื่องอะไร พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงธรรมให้พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงหายสงสัยในธรรมประการนั้นๆ คือ ไม่ควรดูหมิ่นภิกษุแม้ว่าจะเป็นผู้ใหม่ หรือว่าเป็นผู้ที่มีอายุน้อยโดยกำเนิด

    สำหรับบุคคลที่มีปรากฏในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ก็คงจะมีตลอดมาตามกาลสมัย

    อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปุคคลสูตร ข้อ ๒๑๓ มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๙ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๙ จำพวกเป็นไฉน คือ พระอรหันต์ ๑ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อความเป็นพระอรหันต์ ๑ พระอนาคามี ๑ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล ๑ พระสกทาคามี ๑ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งสกทาคามิผล ๑ พระโสดาบัน ๑ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล ๑ ปุถุชน ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๙ จำพวกเหล่านี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ

    ท่านก็มีชีวิตดำเนินไปปะปนกันอยู่ที่ ๙ บุคคล ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพานย่อมมีมาก คือ ผู้ที่เป็นพระอรหันต์ก็มีมาก ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อความเป็น พระอรหันต์ก็มีมาก ท่านผู้ที่เป็นพระอนาคามีบุคคลก็มีมาก ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผลก็มีมาก ท่านผู้ที่เป็นพระสกทาคามีบุคคลก็มีมาก ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งสกทาคามิผลก็มีมาก ท่านผู้ที่เป็นพระโสดาบันบุคคลก็มีมาก ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผลก็มีมาก ปุถุชนก็มีมาก

    ในสมัยนี้ใครจะมีมากกว่ากัน ซึ่งแต่ละสมัยปุถุชนก็ต้องมีมากกว่า

    ท่านผู้ที่หมดกิเลสแล้ว ท่านผู้กำลังปฏิบัติเพื่อที่จะให้หมดกิเลส ผู้ที่เป็นปุถุชน แต่ละชีวิตก็ดำเนินชีวิตไป ปะปนกันไปในระหว่างผู้ที่หมดกิเลส ผู้ที่ปฏิบัติธรรมเพื่อการรู้แจ้งอริยสัจธรรม และผู้ที่เป็นปุถุชน แต่ว่าบุคคลใดควรจะเป็นอาหุเนยยบุคคล คือ ผู้ควรของคำนับ

    อังคุตตรนิกาย อาหุเนยยสูตร ข้อ ๒๑๔ มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๙ จำพวกนี้ เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรกระทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ๙ จำพวกเป็นไฉน คือ พระอรหันต์ ๑ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อความเป็น พระอรหันต์ ๑ พระอนาคามี ๑ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล ๑ พระสกทาคามี ๑ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งสกทาคามิผล ๑ พระโสดาบัน ๑ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล ๑ โคตรภูบุคคล ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๙ จำพวกเหล่านี้แล เป็นผู้ควรของคำนับ ... เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ฯ

    จบ สูตรที่ ๑๐

    จบ สัมโพธวรรคที่ ๑

    แม้ว่าจะมีบุคคลมากมายหลายประเภทในโลก แต่ผู้ที่ควรแก่การคำนับ ควรแก่การต้อนรับ ควรแก่การทำบุญ ควรแก่การกระทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ก็มี ๙ บุคคลนี้

    ถ. โคตรภูบุคคลหมายความถึงบุคคลประเภทไหน

    สุ. ผู้ที่กำลังจะบรรลุอริยสัจธรรม ข้ามจากความเป็นปุถุชนสู่ความเป็น พระอริยเจ้าก่อนที่โสตาปัตติมรรคจิตจะเกิด แน่นอนว่าจะต้องเป็นพระโสดาบัน เมื่อจิตนี้เกิดและดับไปแล้ว โสตาปัตติมรรคจิตเกิดต่อ เพราะฉะนั้น เป็นผู้ที่แน่นอนที่ควรแก่การต้อนรับ ควรแก่การคำนับ ควรแก่การกระทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก

    สำหรับในยุคนี้สมัยนี้ ยากเหลือเกินที่ท่านจะทราบว่า บุคคลใดเป็นพระอริยเจ้า ไม่มีทางที่จะทราบได้แน่นอนว่าบุคคลใดเป็นพระอรหันต์ หรือเป็นพระอนาคามีบุคคล หรือเป็นพระสกทาคามีบุคคล หรือเป็นพระโสดาบันบุคคล ถ้าท่านเองยังไม่บรรลุคุณธรรมนั้นๆ แต่กระนั้นก็ตาม บุคคลใดที่กระทำการนอบน้อมต่อผู้ที่ควรนอบน้อม คือ พระอริยเจ้า เช่น พระอรหันต์ แม้ว่าจะไม่เห็นก็เป็นกุศล เพราะว่าขณะนั้นจิตน้อมระลึกถึงบุคคลซึ่งดับกิเลสหมด ไม่มีกิเลสเกิดได้อีกเลย



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๒ ตอนที่ ๖๑๑ – ๖๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 43
    28 ธ.ค. 2564