แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 658


    ครั้งที่ ๖๕๘


    ถ. ที่อาจารย์บอกให้ระลึกอยู่เสมอว่า ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล เรา เขา ทีนี้เวลาที่จะตายจริงๆ จะปฏิบัติอย่างไรที่จะให้เป็นกุศลก่อนตาย ขอให้อาจารย์ช่วยอธิบายให้ฟังด้วย

    สุ. เรื่องของกุศล ทำไมควรจะคิดตอนที่ใกล้จะสิ้นชีวิต ขณะนี้ไม่ควรหรือ ควรทุกขณะ ไม่ต้องรอจนถึงขณะนั้นแล้วจึงควร เรื่องของกุศลทั้งหมดเป็นสิ่งที่ดีงาม ไม่ต้องรอจนถึงก่อนจะสิ้นชีวิต แม้ในขณะนี้ก็ควร ถ้าเป็นไปได้ แต่ข้อสำคัญ เป็นไปได้อย่างใจหรือเปล่า

    ทราบว่า ควร ไม่อยากจะมีกิเลสเลย แต่กิเลสจะไม่เกิดขึ้นได้ไหม เพียงด้วยการคิดว่าควรเท่านั้น

    สติเกิดยากกว่าการหลงลืมสติ เพราะว่ากิเลสสะสมมามากเป็นปัจจัยให้หลงลืมสติมากกว่าที่สติจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น เมื่อทราบว่าสิ่งใดควร ก็ไม่รอ ควรเสียตั้งแต่เดี๋ยวนี้ เพราะไม่มีใครทราบว่า ความตายจะเป็นขณะไหน ชั่วขณะจิตต่อไปก็ได้ และจิตในขณะนี้จะเป็นกุศลหรืออกุศลก็แล้วแต่กรรมและการสะสมที่ได้สะสมมาที่จะเกิดขึ้นเป็นไป นี่เป็นเหตุที่ไม่ควรเป็นผู้ประมาทในการเจริญกุศลทุกประการ

    ทุกคนทราบว่า สติปัฏฐานเป็นกุศลที่ประเสริฐยิ่ง เพราะว่าเป็นการอบรมเจริญปัญญาที่จะทำให้รู้แจ้งแทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แต่ว่าวันหนึ่งๆ กุศลอื่นก็เกิดได้ง่ายกว่า และมากกว่าสติที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ และเมื่อทราบว่า การที่จะรู้แจ้งแทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏนั้นเป็นสิ่งที่แสนยาก เพราะฉะนั้น ก็ไม่ประมาทในการที่จะเจริญกุศลทุกประการ เพื่อที่จะเกื้อกูล สร้างเสริมปัญญาให้สามารถที่จะดับกิเลสได้โดยไม่ยากในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏ กำลังเกิดดับด้วย แต่อวิชชาปิดบังทำให้ไม่ประจักษ์ความเกิดดับของสภาพธรรมที่ปรากฏ และเมื่อทราบว่า อวิชชาหมายถึงสภาพความไม่รู้ในขณะนี้ที่กำลังไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ซึ่งถ้าขาดการศึกษา คือ การสังเกต น้อมไปที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้ว ก็ไม่มีเหตุปัจจัยที่จะทำให้ปัญญาขั้นรู้แจ้งแทงตลอดเกิดขึ้นได้เลย และเมื่อไม่สามารถที่จะให้สติเกิดได้ตามความปรารถนา ก็ต้องบำเพ็ญกุศลทุกประการ ทุกโอกาส เพื่อเป็นบารมีให้ถึงฝั่ง คือ การที่สามารถที่จะดับกิเลสได้โดยไม่ยาก หรือว่าเป็นการที่ปัญญาจะเกิดขึ้นรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏและละการยึดถือว่าเป็นตัวตน เพราะว่าได้ขัดเกลา ได้ละคลาย ได้เพิ่มพูนปัจจัยของกุศลที่จะทำให้ถึงฝั่ง คือ การดับกิเลสได้

    ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานทุกท่านทราบว่า มีกิเลสมาก ซึ่งก่อนที่จะเจริญสติปัฏฐานคิดว่า กิเลสไม่มาก แต่เมื่อเป็นผู้ละเอียดขึ้นก็เห็นความต่างกันของกิเลสที่สะสมมาว่า มีหลายระดับเหลือเกิน แม้แต่ขณะที่กำลังนั่งเฉยๆ ยังไม่พูด หรือไม่ได้ทำอกุศลใดๆ อกุศลก็เกิดแล้วถ้าขณะนั้นกุศลไม่เกิด ถ้าสติไม่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ขณะนั้นก็เป็นอกุศล ไหลไปสู่อารมณ์ภายนอกด้วยโลภะ และเก็บสภาพของอกุศลธรรมนั้นสะสมเป็นปัจจัยต่อไป ในจิตดวงต่อๆ ไป เป็นปัจจัยที่จะให้โลภะ โทสะ โมหะเกิดขึ้นบ่อยๆ เนืองๆ เพราะฉะนั้น ขาดการอบรมเจริญกุศลไม่ได้เลย และสำหรับกุศลทั้งหมดที่เจริญ ผู้ที่เห็นคุณค่าของปัญญาที่จะรู้แจ้งแทงตลอดที่จะดับกิเลสได้ ก็ไม่ได้มุ่งหวังผลอื่นเลย นอกจากเพียงเพื่อที่จะละคลายและดับกิเลสได้โดยไม่ยาก แต่ถ้าทำกุศลแล้วมุ่งหวังผลอย่างอื่น กุศลนั้นก็ไม่เป็นบารมีให้ดับกิเลสได้โดยไม่ยาก เพราะว่ายังมีความหวังในสิ่งอื่น แทนที่จะเป็นไปเพื่อการดับกิเลสเป็นสมุจเฉท

    ถ. สัตว์ที่กำลังหาที่เกิด ไม่ทราบว่า อยู่ในภูมิไหน

    สุ. หมายถึงผู้ที่จะต้องเกิดทั้งหมด นอกจากพระอรหันต์เท่านั้น

    ถ. คำนี้มาจาก ขุททกนิกาย พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเกี่ยวกับการแผ่เมตตา คือท่านตรัสว่า สัตว์ที่มีตัวยาว หรือใหญ่ สั้น หรือปานกลาง ที่เห็นแล้ว หรือยังไม่ได้เห็น ที่อยู่ที่ไกล หรืออยู่ที่ใกล้ สัตว์ที่เกิดแล้ว หรือสัตว์ที่กำลังหาที่เกิด ผู้ที่ยังไม่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ก็หมายความว่าเกิดแล้ว แต่ที่ว่ากำลังหาที่เกิด หมายความว่าอะไร

    สุ. เหมือนกัน เป็นคำพูดที่แสดงซ้ำ ย้ำให้เข้าใจว่า ผู้ที่เกิดแล้ว และยังไม่ได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ คือ ถ้าเกิดแล้ว เมื่ออบรมปัญญาจนกระทั่งบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ ก็ไม่ต้องเกิดอีก แต่สำหรับผู้ที่เกิดแล้ว และยังไม่บรรลุคุณธรรม ก็กำลังหาที่เกิด

    ถ. ผู้ที่เกิดแล้วดำรงชีวิตอยู่ แต่ยังไม่บรรลุคุณธรรม ก็คือ กำลังหาที่เกิด

    สุ. หมายความว่า เป็นผู้ที่ยังจะต้องเกิดอีก

    คามิกะ คำว่า สัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด บาลีว่า สัมภเวสี

    สุ. ข้อความใน สิงคาลกสูตร ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงหน้าที่ของมารดาบิดาต่อบุตร และหน้าที่ของบุตรต่อมารดาบิดา ถ้าไม่ใช่ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ท่านอาจจะคิดว่า ท่านมีความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาต่อบุตรธิดา หรือต่อมารดาบิดาของท่านมาก แต่ถ้าอบรมเจริญสติปัฏฐานแล้ว จะทราบลักษณะที่ต่างกันของกุศลธรรมและอกุศลธรรม

    ถ้าท่านมีความเมตตาต่อบุตรธิดาเสมอกับคนอื่นในบ้าน เช่น ขณะใดที่อยากจะให้บุตรธิดามีความสุข ความสะดวกสบายในการบริโภคอาหาร ในการที่จะได้รสอาหารต่างๆ ที่ประณีต ท่านมีความรู้สึกอย่างนั้นกับคนอื่นในบ้านที่ไม่ใช่บุตรธิดาโดยเสมอกันอย่างนั้นหรือไม่ ถ้าเป็นความเสมอกัน ก็เป็นกุศล แต่ถ้ามีความรักใคร่ผูกพันพอใจเป็นพิเศษในบุตรธิดายิ่งกว่าบุคคลอื่นในบ้านซึ่งไม่ใช่บุตรธิดา ก็แสดงว่า ในขณะนั้นต้องมีสภาพของโลภมูลจิตซึ่งเป็นความผูกพันในบุตรธิดา เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เป็นกุศลอันแท้จริง

    เมื่อทราบอย่างนี้ ทำอย่างไรจึงจะลดความผูกพันในบุตรธิดา หรือว่าในมารดาบิดาซึ่งเป็นอกุศล และก็เพิ่มธรรมที่เป็นกุศลยิ่งขึ้น ซึ่งถ้าสติไม่เกิดและปัญญาไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น หาความเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลไม่ได้ ก็ไม่มีหนทางที่จะดับความผูกพันในมารดาบิดา ในบุตรธิดาซึ่งเป็นอกุศล และก็เจริญธรรมที่เป็นกุศล คือ ความเมตตา กรุณา เสมอกันกับบุคคลอื่นได้

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ธรรมทั้งหมดที่เป็นฝ่ายกุศลจะเจริญงอกงามไพบูลย์ยิ่งขึ้น ก็ด้วยการเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน และปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมยิ่งขึ้น

    ขอกล่าวถึงข้อความใน สิงคาลกสูตร ต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร คฤหบดีบุตร อาจารย์ผู้เป็นทิศเบื้องขวา อันศิษย์พึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ ด้วยลุกขึ้นยืนรับ ๑ ด้วยเข้าไปยืนคอยรับใช้ ๑ ด้วยการเชื่อฟัง ๑ ด้วยการปรนนิบัติ ๑ ด้วยการเรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ ๑ ฯ

    ถ้าไม่ได้กระทำกิจอย่างนี้ ขณะนั้นก็เป็นอกุศล เพราะฉะนั้น สภาพของกุศลที่จะเกิดขึ้นเป็นปกติในชีวิตประจำวันต่อบุคคลทั้งหลายตามหน้าที่นั้น เป็นไปได้ เพราะว่าท่านจะต้องเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นอยู่เสมอโดยสถานต่างๆ หรือโดยทิศต่างๆ ซึ่งการประพฤติปฏิบัติต่อบุคคลเหล่านั้น แล้วแต่ว่าจิตในขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล

    สำหรับกิจที่บุคคลควรจะประพฤติปฏิบัติต่ออาจารย์ ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ผู้เป็นทิศเบื้องขวา หมายความถึงควรรับทักษิณาทาน คือ ของที่ควรให้ท่านด้วยความเคารพ ศิษย์พึงบำรุงอาจารย์ด้วยสถาน ๕ คือ

    ด้วยลุกขึ้นยืนรับ ๑

    ในขณะนั้นเป็นกุศลหรือเปล่า ความอ่อนน้อม ตรงกันข้ามกับความหยาบกระด้าง ความสำคัญตน ความถือตน ถ้าสติไม่เกิดจะรู้สภาพของจิตในขณะนั้นไหมว่าเป็นอย่างไร แต่ถ้าสติเกิด สามารถจะรู้ลักษณะของสภาพของจิตที่ละเอียดซึ่งเกิดดับสลับกันได้ บางครั้งเป็นกุศล บางครั้งก็เป็นอกุศลอย่างรวดเร็ว

    ถ. เรื่องอาจารย์กับศิษย์ หรือครูกับศิษย์ ในทางธรรมแล้วเป็นสิ่งที่ดีมาก การปฏิบัติดีมาก แต่ตามความเป็นจริง คนสมัยนี้ไม่ว่าศิษย์หรืออาจารย์ มักจะเห็นแก่อามิสมากกว่า เห็นแก่ตัวมากกว่า รู้สึกว่าไม่ตรงกับพระไตรปิฎก

    สุ. เรื่องของบุคคลอื่นจะเป็นอย่างไร ไม่สำคัญ แต่เรื่องของบุคคลที่อบรมเจริญกุศลที่จะต้องประพฤติปฏิบัติ และศึกษา สังเกต สำเหนียกจิตใจของตนเองว่า เป็นกุศลหรืออกุศล และประพฤติในสิ่งที่เป็นกุศล นั่นเป็นสิ่งที่สำคัญกว่า ส่วนบุคคลอื่นจะเป็นอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่แต่ละคนสะสมมาที่จะต้องเป็นอย่างนั้น

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร คฤหบดีบุตร อาจารย์ผู้เป็นทิศเบื้องขวา อันศิษย์บำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์ศิษย์ด้วยสถาน ๕ คือ แนะนำดี ๑ ให้เรียนดี ๑ บอกศิษย์ด้วยดีในศิลปวิทยาทั้งหมด ๑ ยกย่องให้ปรากฏในเพื่อนฝูง ๑ ทำความป้องกันในทิศทั้งหลาย ๑

    ข้อที่ว่า แนะนำดี หมายความถึงในการดำเนินชีวิตด้วย ไม่ใช่เพียงแต่ให้วิชาความรู้เท่านั้น เพราะถ้ามีแต่เพียงวิชาความรู้ที่เป็นอาชีพ แต่ขาดความประพฤติหรือการดำเนินชีวิตที่ดี ที่ถูกต้อง ความรู้ในวิชาอาชีพก็อาจจะนำมาซึ่งความเสื่อมหรือความพินาศได้

    บอกศิษย์ด้วยดีในศิลปวิทยาทั้งหมด

    ในสมัยก่อนได้ทราบว่า มีอาจารย์ที่ท่านหวงความรู้ แต่ถ้าเป็นในทางธรรมแล้ว จะเห็นได้ว่า การที่แต่ละบุคคลจะสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้นั้น แสนยาก ไม่จำเป็นที่จะต้องมีการหวง หรือว่ามีการไม่ปรารถนาให้บุคคลอื่นได้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะถึงแม้ว่าจะรู้หนทาง แต่การปฏิบัติจริงๆ ที่จะดำเนินไปจนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมและดับกิเลสได้จริงๆ นั้น แสนยาก ซึ่งถ้าใครเจริญได้ ก็เป็นสิ่งที่ควรอนุโมทนาอย่างยิ่ง เพราะว่าเป็นสิ่งที่ยากจริงๆ เพราะฉะนั้น สำหรับในเรื่องของธรรม ก็ไม่เหมือนกับเรื่องของทางโลก

    ยกย่องให้ปรากฏในเพื่อนฝูง

    นี่ก็เช่นเดียวกัน แต่ละท่านสะสมมาที่จะมีความสามารถเป็นเลิศ หรือว่าเป็นพิเศษในแต่ละด้าน ซึ่งทุกท่านก็ควรที่จะสนับสนุนร่วมกันที่จะให้แต่ละบุคคลได้มีความสามารถที่ดีเด่นจริงๆ ที่จะเป็นประโยชน์แก่พระศาสนา เพราะว่าบุคคลเดียว ไม่สามารถที่จะเป็นผู้เลิศได้ในทุกทาง

    ทำความป้องกันในทิศทั้งหลาย

    การที่ครูอาจารย์แนะนำในสิ่งที่ดี ทั้งในทางอาชีพหรือในทางการดำเนินชีวิต ก็ย่อมเป็นเหตุให้ศิษย์ได้รับลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ซึ่งเนื่องมาจากการให้วิชาความรู้ของครูอาจารย์ทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ การที่ครูอาจารย์ให้ความรู้แก่ศิษย์ จึงเป็นการทำการป้องกันในทิศทั้งหลาย ไม่ให้ได้รับภัยจากทิศทั้งหลาย ไม่ว่าศิษย์จะไปสู่ที่ใดก็ตาม

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร คฤหบดีบุตร อาจารย์ผู้เป็นทิศเบื้องขวา อันศิษย์บำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์ศิษย์ด้วยสถาน ๕ เหล่านี้ ทิศเบื้องขวานั้น ชื่อว่าอันศิษย์ปกปิดให้เกษมสำราญ ให้ไม่มีภัยด้วยประการฉะนี้ ฯ

    นี่เป็นชีวิตปกติประจำวันของแต่ละท่าน ซึ่งข้ามไม่ได้ในหน้าที่ต่างๆ ที่จะต้องปฏิบัติต่อทิศต่างๆ ไม่ใช่ว่าทรงแสดงไว้ แต่ว่าชีวิตตามความเป็นจริงของท่าน ท่านไม่ขัดเกลา ไม่เจริญกุศลให้ยิ่งขึ้น

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร คฤหบดีบุตร ภรรยาผู้เป็นทิศเบื้องหลัง อันสามีพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ ด้วยยกย่องว่าเป็นภรรยา ๑ ด้วยไม่ดูหมิ่น ๑ ด้วยไม่ประพฤตินอกใจ ๑ ด้วยมอบความเป็นใหญ่ให้ ๑ ด้วยให้เครื่องแต่งตัว ๑ ฯ

    นี่เป็นทิศอีกทิศหนึ่ง ไม่ว่าท่านจะอยู่ ณ ที่ใด มีทิศเบื้องหน้า มีทิศเบื้องขวา มีทิศเบื้องหลัง ผู้ที่อยู่ร่วมกับท่าน ถ้าท่านไม่อบรมเจริญกุศล อกุศลธรรมก็จะเพิ่มพูนมากขึ้น แต่ถ้าท่านประพฤติในทางที่ถูก ในทางที่เป็นกุศล ก็ย่อมจะทำให้ขัดเกลากิเลสได้ยิ่งขึ้น เช่น ทิศเบื้องหลังของสามี คือ ภรรยา คงจะไม่ใช่ทิศที่ไม่สำคัญ เพราะว่าต้องอยู่ร่วมกันไปในสังสารวัฏฏ์ที่ยาวนาน แต่ละภพ แต่ละชาติ ไม่ว่าท่านจะเกิดเป็นใคร จะมีกี่ทิศแวดล้อม ท่านก็จะต้องประพฤติในสิ่งที่ควรต่อทิศต่างๆ เหล่านั้นด้วย

    ในพระไตรปิฎก พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ภรรยา คือ ผู้ที่บุรุษเลี้ยง เป็นทิศเบื้องหลัง เพราะว่าเป็นผู้ที่ตามหลังสามี ซึ่งสามีก็จะต้องบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ

    ด้วยยกย่องว่าเป็นภรรยา ๑

    วิธีที่จะยกย่องทำอย่างไร ทั้งกาย ทั้งวาจา ไม่ลืมที่จะต้องมีกายวาจาที่เป็นการยกย่องภรรยาด้วย ด้วยคำพูดที่อ่อนหวาน ใช้คำที่ยกย่อง ไม่ให้รู้สึกน้อยใจ หรือกระทบกระเทือนใจ หรือว่าเป็นที่อับอายขายหน้าต่อบุคคลอื่น และด้วยไม่ดูหมิ่น

    นี่เป็นสิ่งที่สำคัญ

    ในอรรถกถามีเรื่องหนึ่งใน นิบาตชาดก ซึ่งมีเนื้อความว่า

    มีพระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่งได้หญิงขัดสน ซึ่งเก็บพุทราขายเลี้ยงชีพคนหนึ่งมาเป็นอัครมเหสี อยู่มาวันหนึ่งมีผู้นำพุทราไปถวายพระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าแผ่นดินก็รับพุทรานั้นไปเสวย แต่ขณะที่กำลังเสวยอยู่นั้น อัครมเหสีคนนั้นก็ได้ทูลถามขึ้นเป็นเชิงสัพยอกว่า

    ลูกอะไรสีแดงๆ ที่พระองค์เสวยนี้

    พอพระเจ้าแผ่นดินได้ทรงฟังคำว่า ลูกอะไรแดงๆ เท่านั้น ก็ทรงพิโรธ และตรัสตอบด้วยคำที่ดูถูกดูหมิ่นต่อชาติตระกูลของอัครมเหสีว่า

    ไม่รู้หรือว่า ลูกแดงๆ นี่แหละเป็นลูกพุทรา ที่เจ้าเก็บขายเมื่อเป็นเด็กหัวกร้อน อยู่โน้น มาบัดนี้ลืมเสียแล้วรึ เราเลี้ยงเจ้าอีกต่อไปไม่ได้แล้ว

    นี่เป็นชีวิตปกติประจำวัน อาจจะเกิดกับใครในวันไหน ขณะไหนก็ได้ แล้วแต่กิเลสที่ได้สะสมมาเป็นปัจจัยที่จะให้เกิดขึ้น

    ขณะนั้นพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายได้เสวยพระชาติเป็นพระราชครูของ พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้น อยู่ในที่เฝ้านั้นด้วย ได้ทูลเตือนขึ้นว่า

    ข้าแต่มหาราชเจ้า เมื่อพระองค์ทรงยกย่องให้เป็นอัครมเหสีแล้ว ก็เป็นอันว่า พระองค์ได้ทรงยกย่องให้มีฐานะสมควรแก่พระองค์แล้ว ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นเช่นนี้ พระเจ้าข้า

    ซึ่งคำทูลของพระราชครูนั้น ทำให้พระเจ้าแผ่นดินรู้สึกพระองค์ว่าผิด จึงได้ทรงขอขมาต่ออัครมเหสีนั้น แล้วไม่ทรงดูถูกดูหมิ่นด้วยชาติตระกูล ยศ ศักดิ์ สมบัติ บริวาร ความรู้ และคุณธรรมอีกต่อไป

    นี่เป็นชีวิตประจำวัน ซึ่งจะเกิดขึ้นเป็นไปอย่างไร ก็แล้วแต่การสะสมของกุศลและอกุศล



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๖ ตอนที่ ๖๕๑ – ๖๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 43
    28 ธ.ค. 2564