แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 638


    ครั้งที่ ๖๓๘


    การที่จะได้บรรลุคุณธรรมอะไรบ้าง ก็ควรที่จะได้สอบสวนตนเองว่า ท่านต้องการคุณธรรมอะไร ต้องการจะบรรลุเป็นโสดาบันโดยปัญญาไม่ได้รู้อะไรเลย เพียงแต่ให้ได้ชื่อว่าเป็นพระโสดาบันเท่านั้น หรือว่าท่านจะเป็นผู้ตรง เพราะว่าการเป็นพระโสดาบันนั้น หมายความถึงความเจริญของปัญญาถึงขั้นที่จะดับกิเลส คือ การยึดถือสภาพธรรมเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ไม่เกิดอีกเลย

    ทางตา พระโสดาไม่สงสัยในลักษณะของสภาพเห็น กับสิ่งที่เพียงปรากฏ และในการรู้ความหมายของสิ่งที่ปรากฏไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ พระโสดาบันไม่สงสัย เพราะว่าได้อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม

    ที่ถามว่า ไม่ฆ่ามด ฆ่ายุง ซึ่งก่อนนั้นเคยฆ่า จะได้บรรลุคุณธรรมอะไรบ้าง

    ตามความเป็นจริง จะต้องสอบสวนใคร่ครวญพิจารณาด้วยตนเองว่า ทำไมถึงไม่ฆ่า ที่ไม่ฆ่าเพราะอะไร รู้หรือเปล่า หรือเกิดไม่อยากจะฆ่าเท่านั้น หรือเพราะอยากเป็นพระโสดาบัน เพราะได้ทราบมาว่าพระโสดาบันท่านไม่ฆ่า ก็เลยจะไม่ฆ่า

    เมื่อปัญญาเกิดขึ้น ย่อมละอวิชชาและกิเลสเป็นลำดับ การที่จะคิดริษยา การที่จะคิดเบียดเบียนคนอื่นให้เดือดร้อนย่อมไม่มี จะมีได้อย่างไรเมื่อประจักษ์แจ้งในเหตุในผลในลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่มีปัจจัยที่เกิดขึ้นเป็นไปต่างๆ ทั้งฝ่ายกุศลและอกุศล และฝ่ายธรรมที่เป็นผล คือ วิบากเพราะฉะนั้น ก็ย่อมจะไม่มีปัจจัยที่จะให้มีเจตนาฆ่าเกิดขึ้นได้

    แต่ถ้าโดยลักษณะที่ว่า เคยนั่งกำหนดพองหนอ ยุบหนอ แล้วเกิดปีติ ทำจิตใจให้สบายดี แล้วหลังจากนั้นมดยุงก็ไม่ฆ่า

    ไม่ได้กล่าวถึงปัญญา ความรู้ลักษณะของสภาพธรรมเลย เพราะว่าไม่ได้อบรมเจริญความรู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามปกติตามความเป็นจริง

    สำหรับคำถามข้อ ๓ ที่ถามว่า พอมีทุกข์ร้อนอะไรเกิดขึ้นแก่จิตใจ เจริญสติปัฏฐานในอิริยาบถต่างๆ ตามที่อาจารย์สุจินต์บรรยาย ทุกข์ที่เกิดแก่จิตนั้นก็หายได้จริง แสดงว่าสติปัฏฐานเมื่อเจริญแล้ว กำจัดอภิชฌาและโทมนัสได้จริงตามที่พระองค์บอก เมื่อมีทุกข์เกิดขึ้นจะไปนั่งคู้บัลลังก์ หลับตา แก้ทุกข์ก็ไม่ทัน เพราะยังไม่ถึงเวลา และไม่มีเวลาจะทำ ถึงทำเข้าจริง ก็ทำได้เล็กๆ น้อยๆ ประเดี๋ยวก็เลิกทำ ไม่ทันดับทุกข์ที่เกิดขึ้น สู้เจริญอย่างอาจารย์สุจินต์บอกไม่ได้ ได้ผลดี ทันกับทุกข์ที่เกิดขึ้น และทำได้ทุกเวลา ไม่ต้องเวลาไปนั่งเข้าที่ ซึ่งในขณะนั้นทุกข์ก็กัดกินอย่างพอแรง

    นี่เป็นความสังเกตของพระคุณเจ้า ที่ว่า พอมีอะไรทุกข์ร้อนอะไรเกิดขึ้นแก่จิตใจ เจริญสติปัฏฐานในอิริยาบถต่างๆ ทุกข์ที่เกิดนั้นหายได้จริง แต่นี่ไม่ใช่จุดประสงค์ของการที่จะให้ทุกข์หาย จุดประสงค์ คือ รู้สภาพของทุกข์ คือ ความเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น อย่าให้เกิดความต้องการที่จะให้ทุกข์หายไปเป็นเครื่องอิงอาศัยที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม มิฉะนั้นแล้วก็จะเจริญสติเฉพาะเวลาที่เกิดความทุกข์ขึ้น ส่วนเวลาที่เป็นสุข เวลาสนุกสนาน เวลาเบิกบาน ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น จะรู้ได้อย่างไรว่า ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลเลย เป็นแต่เพียงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่ต่างกันตามเหตุตามปัจจัยเท่านั้น

    เพราะฉะนั้น ที่พระคุณเจ้าเขียนมาว่า แสดงว่าสติปัฏฐานเมื่อเจริญแล้ว กำจัดอภิชฌาและโทมนัสได้จริงตามที่พระองค์บอก ยังเผินไป ยังไม่พอ ข้อสำคัญคือรู้อะไร อย่าเพิ่งพอใจในผลอย่างอื่น อย่าเพิ่งคิดว่า นั่นเป็นผลของการเจริญสติปัฏฐาน เพราะว่าผลของการเจริญสติปัฏฐานจริงๆ ต้องเป็นปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏโดยสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน คือ สภาพที่เป็นนามธรรมไม่ใช่รูปธรรม สภาพที่เป็นรูปธรรมไม่ใช่นามธรรม

    ที่กล่าวว่า การที่จะไปเข้าที่ ถึงทำเข้าจริงก็ทำได้เล็กๆ น้อยๆ ประเดี๋ยวก็เลิก ทำ ไม่ทันดับทุกข์ที่เกิดขึ้น จริงไหม วันหนึ่งๆ จะเข้าที่ได้บ่อยไหม เทียบกับปกติธรรมดา ถ้าปัญญาเกิดแล้ว ถึงออกมาปัญญาก็ต้องเกิด เรื่องอะไรปัญญาจะไปเกิดเฉพาะเวลาเข้าที่ ออกมานอกที่ปัญญาไม่เกิด มีที่พิเศษสำหรับปัญญาที่จะเกิดเฉพาะตอนเข้าที่ ซึ่งนั่นไม่ใช่ลักษณะของปัญญา

    ถ้าเป็นปัญญาจริง รู้ลักษณะของสภาพธรรมแล้ว จะเปลี่ยนให้เป็นความไม่รู้ เป็นไปไม่ได้ และการเข้าที่ จะมีได้บ่อยไหม เพราะว่าทุกคนต้องมีธุรกิจ มีกิจการงานในชีวิตประจำวัน แล้วแต่ชีวิตของแต่ละท่านสะสมมาที่จะเป็นอย่างไร ก็จะต้องมีธุระการงาน หน้าที่ ภาระต่างๆ ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ถ้าท่านยังมีภาระ มีกิจธุระที่จะต้องทำ ก็เข้าที่ได้น้อยนิดเดียว และถ้าเข้าที่แล้วปัญญาเกิดเฉพาะตอนเข้าที่ ออกนอกที่แล้วปัญญาไม่เกิด ก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลย ปฏิบัติอย่างนั้น ไม่ใช่ปัญญาที่สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ จะทำให้ปัญญาสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงตามปกติได้

    ผู้ฟัง จดหมายของพระคุณเจ้ารูปนี้ รู้สึกว่า ท่านพอใจในข้อปฏิบัติของ ยุบหนอ พองหนอ และพอใจในข้อปฏิบัติที่อาจารย์ได้บรรยายไปแล้วด้วย คือ ข้อปฏิบัติทั้งสอง ท่านก็เห็นว่าดี เพราะท่านได้กล่าวในจดหมายว่า ขณะที่นั่งวิปัสสนา นั่งไปสักพักหนึ่งก็ไม่ตบยุง ในเมื่อทุกขเวทนาเกิดขึ้น ท่านก็มาพิจารณาทุกขเวทนา ทุกขเวทนานั้นก็ได้บรรเทา แสดงว่าท่านพอใจในข้อปฏิบัติทั้งสอง ซึ่งมีมากทีเดียว เช่น รายการวิทยุทุกวันนี้ เขาฟังทุกๆ รายการตั้งแต่เช้าจนมืด ถามว่ารายการไหนดี ก็ตอบว่า ดีทั้งนั้น ซึ่งคำตอบอย่างนี้มีมากมาย

    การบรรยายธรรมของพระพุทธเจ้าทุกวันนี้มีมาก ที่ยกหัวข้อของพระผู้มีพระภาคขึ้นมาตั้ง แต่อธิบายตามความคิดความเห็นของตนเอง ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ปฏิบัตินั้นไขว้เขวได้ ไม่ตรง อีกอย่างหนึ่ง จดหมายทั้ง ๒ ฉบับนั้น มีคำว่า ทำ ฉบับแรกก็ถามว่าเจริญสติปัฏฐานทำอย่างไร ให้อาจารย์บอกว่าจะทำอย่างไร ฉบับของพระท่านก็ถามว่า การบรรลุอริยสัจธรรมจะต้องทำอย่างไร ซึ่งอาจารย์ก็ได้อธิบายไปแล้ว แก้ไขชี้แจงไป แต่อาจารย์อธิบายได้นิ่มนวลมาก ใช้คำว่ายังไม่ตรง แต่ผมอยากจะพูดว่า ถ้าตราบใดที่ใช้คำว่า ทำ ก็หมายถึงว่าข้อปฏิบัติของท่านนั้นยังไม่ถูก ผู้ที่ปฏิบัติถูกแล้ว จะไม่ใช้คำว่า ทำ เพราะว่าธรรมทั้งหลาย มีนามธรรม เป็นต้น นามธรรมนี้ไม่มีรูปร่างที่จะมาจับตรงนี้ใส่ตรงโน้น พระผู้มีพระภาคทรงให้อบรมอินทรีย์ ๕ อินทรีย์ ๕ เป็นเจตสิก ๕ ดวง ซึ่งไม่มีรูปร่างสัณฐานที่จะมาจับรวมกันใส่รวมกัน เพราะฉะนั้น ในพระไตรปิฎกทั้งหมดไม่มีคำว่า ทำ ถ้าใครผู้ใดใช้คำว่า ทำวิปัสสนาหรือนั่งวิปัสสนา ผู้นั้นปฏิบัติผิด ผมพูดตรงๆ อย่างนี้ พูดนุ่มนวลอ้อมค้อมไม่ค่อยจะเป็น

    จากข้อความในจดหมายของพระคุณเจ้าฉบับนี้ ข้อปฏิบัติที่อาจารย์อธิบายไปนั้นท่านก็ว่าดี ข้อปฏิบัติของยุบหนอพองหนอท่านก็ว่าดี แสดงว่าท่านแยกข้อปฏิบัติที่ถูกหรือที่ผิดนั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผมอยากจะให้ท่านทั้งหลายควรจะฟังให้มาก เข้าใจในพยัญชนะและอรรถให้ละเอียดก่อนแล้วจึงนำไปปฏิบัติ จึงจะมีหวังในการปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘ ได้ถูกต้อง

    สุ. ข้อความในจดหมายของพระคุณเจ้าตอนหนึ่ง แสดงถึงความเห็นถูกในการที่จะเป็นผู้ที่มีปกติเจริญปัญญา ข้อความมีว่า เมื่อมีทุกข์เกิดขึ้น จะไปนั่งคู้บัลลังก์ หลับตาแก้ทุกข์ก็ไม่ทัน เพราะยังไม่ถึงเวลา และไม่มีเวลาจะทำ ถึงทำเข้าจริง ก็ทำได้เล็กๆ น้อยๆ ประเดี๋ยวก็เลิกทำ ไม่ทันกับทุกข์ที่เกิดขึ้น

    ขณะนี้ถ้าท่านผู้ใดมีจิตใจกระสับกระส่าย กระวนกระวาย ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้ทันที จะทำให้รู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ละคลายการยึดถือสภาพธรรมที่กระสับกระส่ายกระวนกระวายเดือดร้อนได้ ไม่เดือดร้อนแล้ว เพราะเป็นแต่เพียงลักษณะของสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น ไม่ต้องรอไปเข้าที่เสียก่อน จึงจะดับความกระวนกระวายกระสับกระส่ายเดือดร้อนใจในขณะนี้ เพราะว่าไม่ทันแล้ว กว่าจะไปเข้าที่ กว่าจะไปหามุมสงบ ความกระสับกระส่ายกระวนกระวายเดือดร้อนก็มากมายเหลือเกิน โดยที่ปัญญาไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง ผมขอยกพระสูตรๆ หนึ่ง ซึ่งอาจจะเกื้อกูลแก่ผู้ปฏิบัติได้มาก คือ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ธรรมซึ่งละได้ด้วยกาย มิใช่ละด้วยวาจามีอยู่ ธรรมซึ่งละด้วยวาจา มิใช่ละด้วยกายมีอยู่ ธรรมซึ่งละด้วยกายไม่ได้ ละด้วยวาจาไม่ได้ พึงรู้ชัดด้วยปัญญาแล้วจึงละได้ ซึ่งท่านอธิบายว่า คือ กายทุจริตต้องละด้วยกาย วจีทุจริตต้องละด้วยวาจาไม่ใช่ละด้วยกาย ส่วนมโนทุจริตนั้นต้องละด้วยปัญญา ไม่ใช่ละด้วยกายและวาจา ซึ่งมโนทุจริตก็มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น และมีสภาพธรรมอีกหลายอย่าง เช่น อิสสา มัจฉริยะ และอะไรๆ อีกหลายอย่าง

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า การจะละกิเลสนั้น ต้องอาศัยปัญญา และวิธีที่จะอบรมปัญญานั้นอบรมอย่างไร อันนี้สำคัญ การที่จะอบรมปัญญานั้น เมื่อปัญญาจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยสติ สติจึงมีความสำคัญในการเจริญปัญญา ก่อนที่จะเจริญสติอบรมปัญญานั้น อบรมกันอย่างไร เจริญกันอย่างไร ข้อนี้ต้องฟังให้ดี ต้องศึกษาให้ดี ให้ละเอียด เพราะสติก็ดี ปัญญาก็ดี ที่ผมกล่าวแล้วเมื่อครู่นี้ ไม่ใช่วัตถุสิ่งของที่จะจับใส่รวมกันไปได้ จับไม่ได้ เพราะฉะนั้น วิธีที่จะอบรม จะเจริญนั้น จะเจริญอย่างไร อบรมอย่างไร ก็ต้องอาศัยการฟังให้เข้าใจ เมื่อฟังให้เข้าใจแล้ว จึงนำข้อความที่ได้ฟังได้เข้าใจแล้วไปปฏิบัติตามที่ได้ศึกษาได้เข้าใจมานั้น จึงจะได้ข้อปฏิบัติที่ถูก

    เวลานี้มีพระที่เขาเรียกกันว่า พระสายกัมมัฏฐาน ซึ่งมีมากด้วย ติเตียนการศึกษา ท่านกล่าวว่า ถ้าศึกษามากแล้ว ก็จะเป็นทิฏฐิ เป็นมานะ ไม่สามารถที่จะปฏิบัติได้มรรคผลนิพพาน คำกล่าวนี้ผมเคยได้ยินมามากรูปเสียด้วย อย่างนี้ก็ช่วยอะไรไม่ได้ ความเห็นของแต่ละบุคคล ผมของแนะนำเท่านี้

    สุ. เรื่องของการอบรมภาวนาเป็นเรื่องละเอียด ซึ่งจะต้องพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะบริบูรณ์จริงๆ จึงจะเป็นผลที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ถ้ามีการปฏิบัติอย่างใดก็ตามที่ทำให้ขาดสติสัมปชัญญะ หมายความว่าข้อปฏิบัตินั้นเป็นข้อปฏิบัติผิด โดยเฉพาะเรื่องอานาปานสติเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เพราะว่าสามารถจะเป็นข้อปฏิบัติทั้งในการเจริญสมถภาวนาหรือวิปัสสนาภาวนาก็ได้ แต่จะต้องเป็นข้อปฏิบัติที่ต่างกัน เมื่อเหตุต่างกัน ผลก็ต้องต่างกันด้วย ซึ่งทั้งการเจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนาจะต้องเป็นผู้ที่ประกอบพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะบริบูรณ์ จึงจะเป็นการอบรมเจริญปัญญา เพราะฉะนั้น ข้อปฏิบัติใดทำให้ขาดสติสัมปชัญญะ นั่นเป็นผลที่ไม่ถูก จะชื่อว่าเป็นการเจริญอบรมภาวนาปัญญาไม่ได้

    ใน สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ข้อ ๑๓๒๖ กัปปินสูตร ที่ได้เคยกล่าวถึงแล้ว มีข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสถามพระภิกษุทั้งหลายว่า เห็นท่านพระมหากัปปินะนั่งตัวตรง ไม่หวั่นไหวเอนเอียงบ้างหรือไม่ ซึ่งภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า แม้ท่าน ผู้มีอายุนั้น นั่งอยู่ท่ามกลางสงฆ์ หรือนั่งในที่ลับรูปเดียว ในเวลานั้น ข้าพระองค์ทั้งหลายมิได้เห็นความไหว หรือความเอนเอียงแห่งกายของท่านผู้มีอายุนั้นเลย

    ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่ออานาปานสติสมาธิ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างไร ความไหวหรือความเอนเอียงแห่งกายก็ดี ความหวั่นไหวหรือความกวัดแกว่งแห่งจิตก็ดี ย่อมไม่มี

    ภิกษุในธรรมวินัยนี้อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ที่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า (พึงขยายเนื้อความให้พิสดารตลอดถึง ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความสละคืน หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความสละคืน หายใจเข้า)

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่ออานาปานสติสมาธิ อันภิกษุเจริญ กระทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ความไหวหรือความเอนเอียงแห่งกายก็ดี ความหวั่นไหวหรือความกวัดแกว่งแห่งจิตก็ดี ย่อมไม่มี

    นี่เป็นผล สติสัมปชัญญะบริบูรณ์ สมบูรณ์พร้อมทั้งปัญญา ไม่มีกวัดแกว่ง เอนเอียงหวั่นไหวทั้งกายและจิต นี่เป็นผลภายนอกที่ปรากฏ แต่ว่าภายในจริงๆ จะต้องมีปัญญาที่รู้ลักษณะของลมหายใจอย่างถูกต้อง ตรงที่เกิดและที่ดับ แต่ไม่ใช่ตามรู้ในขณะที่หายใจเข้าสุดที่ไหน และหายใจออกสุดสิ้นที่ไหน

    มีแสดงไว้อย่างแน่นอนว่า ไม่ให้ตามรู้ เพราะถ้าเป็นการตามรู้แล้ว จิตจะไม่สงบ เพราะว่าจิตย่อมหวั่นไหวไปด้วยความต้องการที่จะรู้ในอาการที่ไหวไปของลมว่า ที่สิ้นสุดของลมภายในอยู่ที่ไหน และที่สิ้นสุดในขณะที่หายใจออกอยู่ที่ไหน



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๔ ตอนที่ ๖๓๑ – ๖๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 43
    28 ธ.ค. 2564