แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 628


    ครั้งที่ ๖๒๘


    ขอตอบจดหมายของอีกท่านหนึ่ง เขียนที่กรุงเทพมหานคร

    วันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๙

    เรียนอาจารย์ที่นับถือ

    ขอเรียนถามอาจารย์ว่า เนื่องด้วยผู้บำเพ็ญกุศลสมบูรณ์และบริบูรณ์แล้ว ประกอบแต่สุจริต ชำระจิตของตนจนสะอาดปราศจากมลทินโทษ เบาบางในทางโลภะ โทสะ โมหะ ทำใจของตนหมดจดจากเครื่องเศร้าหมองแล้ว จะทำอย่างไรจึงจะมีอารมณ์ประณีตได้ กรุณาเรียนชี้แจงให้ท่านผู้ฟังได้มีโอกาสได้ทราบด้วย

    ขอแสดงความนับถือ

    จากผู้รับฟัง

    สุ. นี่เป็นเรื่องของความไม่เข้าใจในสภาพธรรมตามความเป็นจริง ถ้าเป็นความเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้ว จะไม่มีคำถามอย่างนี้ เพราะท่านถามว่า

    เนื่องด้วยผู้บำเพ็ญกุศลสมบูรณ์และบริบูรณ์แล้ว

    ท่านใช้คำว่า สมบูรณ์ทีเดียว

    ประกอบแต่สุจริต ชำระจิตของตนจนสะอาดปราศจากมลทินโทษ เบาบางในทางโลภะ โทสะ โมหะ ทำใจของตนหมดจดจากเครื่องเศร้าหมองแล้ว จะทำอย่างไรจึงจะมีอารมณ์ประณีตได้

    เกิดความอยากแล้ว อยากที่จะมีอารมณ์ประณีต โดยที่ตนเองก็คงไม่ทราบว่า ได้เกิดความปรารถนา เป็นโลภะ เป็นอกุศลธรรมซึ่งมีอยู่ ยังไม่ได้ขัดเกลาเบาบาง เพราะว่ายังไม่ได้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่สงสัยว่า จะทำอย่างไรจึงจะมีอารมณ์ประณีตได้

    อารมณ์ประณีตคืออะไร ต้องการอะไร อะไรเป็นอารมณ์ที่ประณีต นี่เป็นเรื่องของความไม่รู้ทั้งหมด กำลังเห็นขณะนี้ อะไรเป็นอารมณ์ประณีต หรือไม่ประณีต เมื่อไรจะประณีต ทำอย่างไรจึงจะประณีต ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่ทราบว่า ท่านต้องการอารมณ์ประณีตอะไร จดหมายของท่านไม่ได้ติดดวงตราไปรษณีย์เป็นประจำทุกฉบับที่ได้รับ เพราะฉะนั้น ที่ท่านกล่าวว่า ผู้บำเพ็ญกุศลสมบูรณ์ ประกอบแต่สุจริต ชำระจิตของตนจนสะอาดปราศจากมลทินโทษ เบาบาง ในทางโลภะ โทสะ โมหะ ทำใจของตนหมดจดจากเครื่องเศร้าหมองแล้ว จะทำอย่างไรจึงจะมีอารมณ์ประณีตได้

    ที่ไม่ติดดวงตราไปรษณีย์จะถือว่าเป็นอารมณ์ประณีตไม่ได้ ถูกปรับ และจะถือว่า ได้บำเพ็ญกุศลสมบูรณ์แล้วก็ไม่ได้ ทำความเดือดร้อนให้กับคนอื่นบ้างไหม การกระทำของท่านแต่ละอย่าง ทั้งทางกาย ทางวาจา ทำให้เกิดโทษ ทำให้คนอื่นเดือดร้อนบ้างไหม อย่างนี้ไม่ประณีต และยังจะต้องการอารมณ์อะไรที่จะประณีต เพราะว่าความเป็นผู้ละเอียด คือ ผู้ที่มีความเห็นในเหตุผลละเอียด จึงจะเป็นผู้ที่ละเอียดได้

    เหตุผลของสภาพธรรมนี้ละเอียดจริงๆ กุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล อกุศลนั้นย่อมทำความเดือดร้อนให้แก่ตนเองและบุคคลอื่น ส่วนกุศลนั้นไม่ทำความเดือดร้อนให้แก่ทั้งตนเองและบุคคลอื่น นี่เป็นความต่างกันของกุศลและอกุศล และกุศลกับอกุศลก็ยังมีความละเอียดทั้งทางกาย ทางวาจา ทางใจ

    ความหลงลืมเป็นอกุศล ไม่ใช่กุศล ถ้าต้องการที่จะเป็นผู้ละเอียด คือ ต้องเป็นผู้ที่มีความเห็นในเหตุผลละเอียด เหตุผลของธรรมนี้ละเอียดมาก เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะไม่มีกิเลสได้ ก็ต้องเป็นผู้ที่มีความเห็นในเหตุผลละเอียด

    และสำหรับผู้ที่เป็นพระอริยะ คือ ผู้ซึ่งเป็นผู้ดี ความหมายของคำว่า อริยะ คือ ผู้ดี หรือที่เราใช้คำว่า ผู้ดี คือ ผู้ที่เป็นอริยชน หรืออาริยชน ในทางพระพุทธศาสนา หมายความถึงผู้ที่ไม่มีกิเลส เพราะฉะนั้น ถ้าตราบใดที่ยังไม่ใช่เป็นพระอริยะ ยังไม่ใช่เป็นผู้ดี หรือยังไม่ใช่ดี หรือยังไม่ใช่เป็นผู้ที่ละเอียด

    พระอริยเจ้า คือ ผู้ดี คือ ผู้ไม่มีกิเลส ไม่ใช่โดยกำเนิด ไม่ใช่โดยการศึกษาทางโลก แต่เป็นผู้ที่ขัดเกลาจนกระทั่งสามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท เมื่อไม่มีอกุศลธรรมใดๆ ก็ย่อมจะเป็นผู้ที่เป็นอริยะ คือ ผู้ที่เป็นผู้ดี เป็นผู้ที่ละเอียดประณีตโดยแท้จริง

    แต่ผู้ที่ยังเป็นปุถุชนอยู่ บางครั้งเป็นผู้ดี ขณะที่อกุศลธรรมไม่เกิด ดีเหลือเกิน มีเมตตา มีกรุณา มีมุทิตา มีอุเบกขา มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีศีล มีการช่วยเหลือสงเคราะห์คนอื่น เป็นผู้ดีในขณะที่อกุศลธรรมไม่เกิด แต่เวลาที่อกุศลธรรมเกิด ยังคงเป็นผู้ดีไหมในขณะนั้น ก็ต้องเป็นผู้ไม่ดีแล้ว เพราะอกุศลธรรมในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้น ความหมายจริงๆ ของผู้ดี หมายความถึงสภาพธรรมที่ตรง สภาพธรรมที่เป็นกุศล คือ สภาพธรรมที่ดี ผู้ที่มีกุศลหรือเป็นกุศลในขณะนั้นเป็นผู้ดี สภาพธรรมที่เป็นอกุศลไม่ใช่สภาพธรรมที่ดี ถ้าในขณะนั้นบุคคลใดก็ตามมีอกุศลธรรมเกิดขึ้น ขณะนั้นไม่ใช่ผู้ดี ไม่สามารถที่จะเป็นสภาพธรรมที่ดีได้ในขณะที่เป็นอกุศลธรรม

    เรื่องของสภาพธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ อย่าเข้าใจผิดว่า ได้บำเพ็ญกุศลสมบูรณ์แล้ว บริบูรณ์แล้ว หรือว่าประกอบแต่สุจริต ชำระจิตของตนจนสะอาด ปราศจากมลทินโทษเบาบาง ในเมื่อยังมีโลภะ โทสะ โมหะอยู่ ก็ต้องทราบตามความเป็นจริง เพื่ออะไร เพื่อที่จะได้ขัดเกลาชำระให้เบาบาง จนกระทั่งสามารถที่จะดับได้เป็นสมุจเฉท

    ถ้าไม่เห็นโทษของอกุศลธรรม และเข้าใจว่าตนเองไม่มีอกุศลธรรม ก็จะไม่มีการขัดเกลาอกุศลธรรมนั้นให้เบาบางลงได้ ซึ่งอกุศลธรรมทั้งหลายจะเบาบางและดับได้เป็นสมุจเฉทก็ต้องตามลำดับขั้น คือ โดยการดับความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจว่า เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนก่อน

    สำหรับท่านเจ้าของจดหมายฉบับนี้ ขอให้ท่านพิจารณาถึงสภาพจิตใจของท่านว่า ยังมีกิเลสอยู่หรือไม่ ได้อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้จักลักษณะของสภาพธรรมเพื่อที่จะขัดเกลาละคลายอกุศลธรรมทั้งหลายหรือไม่ ซึ่งถ้ายังไม่รู้จักลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้ว ความไม่รู้ทั้งหลายก็ย่อมจะปิดบังทำให้ไม่รู้สภาพความไม่สะอาดของจิต ซึ่งมีอยู่เป็นประจำในขณะที่อกุศลธรรมเกิดขึ้น เป็นโลภะ โทสะ โมหะ และสำหรับผู้ที่เป็นปุถุชนแล้ว อกุศลธรรมก็ย่อมเกิดมากกว่ากุศลธรรม

    ขอตอบจดหมายของพระคุณเจ้ารูปหนึ่ง ซึ่งเขียนมามีข้อความว่า

    เจริญพรคุณโยม

    อาตมาขอให้คุณโยมบรรยายถึงจริตว่า ผู้ใดจะมีจริตแตกต่างกันแค่ไหนก็สามารถเจริญวิปัสสนาได้ผล จะเท่าเทียมกันไหม (ในเมื่อทุกๆ จริต เจริญสติ พร้อมๆ กัน) และอีกเรื่องหนึ่ง คือ สมาธิสมถะกับสมาธิวิปัสสนา แตกต่างกันอย่างไร และอานิสงส์ทั้ง ๒ ประการนี้ เป็นอย่างไรบ้าง มีประโยชน์แตกต่างกันอย่างไร

    สุ. สำหรับข้อความที่พระคุณเจ้าถามถึงเรื่องจริตว่า ขอให้คุณโยมบรรยายถึงจริตว่า ผู้ใดจะมีจริตแตกต่างกันแค่ไหนก็สามารถเจริญวิปัสสนาได้ผล จะเท่าเทียมกันไหม

    การที่จะรู้จริตของตนเองได้ สติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะว่าทุกท่านมีทุกจริต ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้ชื่อ เพราะโดยสภาพธรรมแล้ว โลภะก็มี โทสะก็มี โมหะก็มี กุศลธรรมก็มี ถ้าไม่มีกุศลธรรม ไม่มีปัญญา ก็คงจะไม่ศึกษา ไม่ฟังธรรม หรือว่าเมื่อฟังแล้ว ก็ไม่เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้

    เพราะฉะนั้น เมื่อโลภะยังมี ราคจริตก็ยังมี เมื่อโทสะยังมี โทสจริตก็ยังมี เมื่อโมหะยังมี โมหจริตก็ยังมี ก็เป็นเรื่องที่ว่า เมื่อสติเกิดขึ้น ก็สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น และจะเห็นว่า แต่ละท่านมีทุกจริต โดยที่ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องกังวล ไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับคนอื่น เพราะถ้ายังห่วงกังวล หรือยังเปรียบเทียบกับคนอื่น ก็ไม่เป็นประโยชน์อะไรที่จะรู้ว่า ท่านจริตอะไร คนอื่นจริตอะไร ในเมื่อทุกคนก็มีอยู่ทุกจริต

    เมื่อปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ก็จะเห็นความวิจิตรของสภาพธรรมว่า ธรรมแต่ละลักษณะนั้น มีลักษณะเฉพาะตนที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่ซ้ำกัน โลภะเมื่อวานนี้ เกิดเมื่อวานนี้ ดับไปแล้วเมื่อวานนี้ โลภะขณะนี้ เกิดขึ้นในขณะนี้เพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ถ้าปัญญาสามารถที่จะรู้ความดับไป ความหมดไปของโลภะในขณะนี้ได้ ก็จะเห็นได้ว่า ไม่ใช่โลภะเมื่อวานนี้ เป็นสภาพธรรมที่วิจิตรต่างกันไปจริงๆ โดยที่ว่าไม่สามารถที่จะคาดคะเนได้ว่า ลักษณะของสภาพโลภะประเภทใด ชนิดไหน ทวารไหน ทางไหน จะเกิดขึ้นในขณะไหน และมีอะไรเป็นอารมณ์

    นี่คือความวิจิตรของสภาพธรรมซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะกังวลเปรียบเทียบกับบุคคลอื่น แต่เป็นเรื่องที่แต่ละท่านจะต้องอบรมเจริญปัญญา เพื่อที่จะได้รู้ชัดในสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง

    สำหรับคำถามอีกข้อหนึ่งที่ว่า สมาธิสมถะกับสมาธิวิปัสสนาแตกต่างกันอย่างไร และอานิสงส์ทั้ง ๒ ประการนี้ เป็นอย่างไรบ้าง มีประโยชน์ต่างกันอย่างไร

    เรื่องของสมาธิเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เพราะว่าสภาพของความตั้งมั่นคงเป็นลักษณะของเจตสิกชนิดหนึ่ง ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า เอกัคคตาเจตสิก

    เอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง ทำให้จิตรู้อารมณ์ทีละลักษณะ เพราะความตั้งมั่นของเจตสิกนั้นในอารมณ์นั้น ทีละอารมณ์

    เมื่อเอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจิตใด ก็ทำให้จิตรู้อารมณ์นั้น ซึ่งเอกัคคตาเจตสิกตั้งมั่นในอารมณ์นั้น ด้วยเหตุนั้นจิตจึงรู้อารมณ์นั้นอารมณ์เดียว ทีละอารมณ์ ทีละขณะจิต

    จิตเกิดขึ้นขณะหนึ่งจะรู้ ๒ อารมณ์ไม่ได้ เพราะว่าเวลาที่จิตแต่ละดวงแต่ละขณะจะเกิดขึ้น ต้องอาศัยปัจจัย คือ เจตสิกอื่นๆ เป็นปัจจัยด้วย เพราะว่าสภาพของสังขารธรรมซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นโดยอาศัยเหตุปัจจัยจึงได้เกิดขึ้น ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นมาเองโดยไร้เหตุผล โดยไร้เหตุปัจจัยได้ จิตที่เกิดขึ้นต้องมีเจตสิกที่เกิดร่วมกันเป็นปัจจัยให้จิตนั้นเกิดขึ้น และเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตนั้น ก็มีจิตนั้นเป็นปัจจัยให้เจตสิกนั้นเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น ขณะที่จิตดวงหนึ่งขณะหนึ่งเกิดขึ้นรู้อารมณ์อารมณ์หนึ่ง จะมีเจตสิกหลายประเภทหลายดวงเกิดพร้อมกับจิตนั้น กระทำกิจของเจตสิกแต่ละชนิดของเจตสิกนั้น และก็ดับไปพร้อมกับจิต

    สำหรับเอกัคคตาเจตสิก เป็นเจตสิกที่ตั้งมั่นในอารมณ์ เพราะฉะนั้น เมื่อจิตเกิดขณะใด เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับจิตนั้นทำให้ตั้งมั่นในอารมณ์นั้น ทำให้จิตนั้นรู้อารมณ์นั้นอารมณ์เดียว เพราะฉะนั้น เอกัคคตาเจตสิกซึ่งเป็นสมาธิ เพราะว่าเป็นสภาพที่ตั้งมั่นในอารมณ์ เกิดกับจิตทุกดวง ไม่มีจิตดวงไหนเลยซึ่งจะเกิดขึ้นโดยปราศจากเอกัคคตาเจตสิก

    ในขณะที่เห็น เอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจักขุวิญญาณ เวลาที่จักขุวิญญาณดับไปแล้ว จิตอื่นเกิดต่อ ก็มีเอกัคคตาเจตสิกเกิดร่วมกับจิตนั้น พร้อมกับเจตสิกอื่นๆ และก็ดับไป เอกัคคตาเจตสิกเกิดอยู่เป็นประจำ เพราะฉะนั้น จะปรากฏลักษณะสภาพความเป็นสมาธิหรือไม่ แล้วแต่การตั้งมั่นในอารมณ์ว่า จิตรู้อารมณ์นั้นนานมากน้อยเพียงไร ถ้าจิตรู้อารมณ์นั้นนานมาก ก็ปรากฏลักษณะสภาพของเอกัคคตาเจตสิก ในลักษณะอาการของสมาธิ เพราะฉะนั้น เวลาที่ใช้คำว่า สมาธิ ย่อมหมายความถึงสภาพของเอกัคคตาเจตสิกซึ่งเกิดติดต่อกันในอารมณ์เดียวจนปรากฏลักษณะของสมาธิ เวลาที่กำลังใจจดใจจ่อทำอะไร หรือคอยเงี่ยหูฟังเรื่องอะไร ในขณะนั้นรู้ว่า เป็นลักษณะหนึ่งของสมาธิ แต่ว่าจิตเป็นโลภมูลจิตก็ได้ เป็นโทสมูลจิตก็ได้ คือ จะเป็นอกุศลก็ได้ เป็นกุศลก็ได้ เพราะว่าเอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจิตทุกประเภท ทุกขณะ

    ลักษณะของสมาธิ เมื่อเป็นสภาพที่ตั้งมั่น ก็มีทั้งที่ตั้งมั่นในกุศลและในอกุศล ด้วยเหตุนี้จึงมีทั้งมิจฉาสมาธิและสัมมาสมาธิ ที่เป็นมิจฉาสมาธิเพราะว่าเกิดกับสภาพธรรมที่เป็นอกุศล จึงไม่ใช่สัมมา ไม่ใช่สภาพธรรมที่ควรเจริญ ควรอบรม

    เวลาที่โลภมูลจิตเกิด เวลาที่โทสมูลจิตเกิด เวลาที่อกุศลจิตทุกประเภทเกิดขึ้น ขณะนั้นเอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับจิตเหล่านั้นเป็นมิจฉาสมาธิ ไม่ใช่ว่าจะไม่มีลักษณะของความตั้งมั่น มี แต่เป็นความตั้งมั่นในทางผิด ในทางที่ไม่ควร ในทางที่ไม่ชอบ เพราะฉะนั้น จึงเป็นมิจฉาสมาธิ

    และเมื่อเอกัคคตาเจตสิกเกิดกับกุศลจิต ไม่ว่าจะเป็นไปในทานก็ดี ในศีลก็ดี ในการเจริญสมถภาวนาก็ดี ในการเจริญวิปัสสนาภาวนาก็ดี ทั้งหมดเป็นสัมมาสมาธิ เพราะว่าเป็นสภาพการตั้งมั่นที่ดีงามในทาน ในศีล ในสมถะ หรือในการเจริญวิปัสสนา

    ส่วนคำถามที่ว่า สมาธิสมถะกับสมาธิวิปัสสนาแตกต่างกันอย่างไรนั้น

    สมาธิสมถะเกิดกับจิตที่เจริญสมถภาวนา สมาธิวิปัสสนาก็เกิดร่วมกับสัมมาสติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพื่ออบรมปัญญาให้เกิดขึ้นประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    แต่สำหรับสมาธิสมถะนั้น ไม่มีการศึกษา ไม่มีการสำเหนียก สังเกต รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามปกติตามความเป็นจริง แต่เป็นการอบรมให้จิตสงบระงับจากโลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งเป็นอกุศลธรรมชั่วคราว คือ ชั่วขณะที่สงบได้ แต่ไม่สามารถที่จะละหรือดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท เพียงแต่สามารถยับยั้งจิตไม่ให้เป็นอกุศลได้ตามความมั่นคงของสมาธิว่าจะมีสมาธิมั่นคงเพียงใด

    เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ของการเจริญสมถภาวนากับการเจริญวิปัสสนาภาวนานั้นต่างกัน คือ สำหรับผู้ที่เห็นโทษของอกุศล เห็นว่าเพียงการที่จะให้ทานเท่านั้น ก็เป็นเพียงชั่วครั้งชั่วคราว เมื่อหมดเรื่องของทานแล้ว จิตก็ย่อมตกไปเป็นอกุศลอีก หรือการที่จะวิรัติทุจริต ก็ยังเป็นการชั่วครั้งชั่วคราว เวลาไม่มีวัตถุที่จะให้วิรัติทุจริต จิตก็ย่อมตกไปเป็นอกุศลอีก วันนี้ วันก่อน ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ขณะใดที่ไม่ใช่กุศลจิตที่เป็นไปในทาน หรือเป็นไปในศีลแล้ว จิตย่อมน้อมไป ตกไปเป็นอกุศล เป็นโลภะ โทสะ โมหะ ในขณะที่เห็น ในขณะที่ได้ยิน ในขณะที่ได้กลิ่น ในขณะที่ ลิ้มรส ในขณะที่รู้โผฏฐัพพะที่กระทบกาย

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีปัญญาเห็นโทษว่า ตนเองนี้ตกไปสู่อกุศลธรรมอยู่เรื่อยๆ ตลอดเวลาที่ไม่เป็นไปในทาน ไม่เป็นไปในศีล ก็พยายามหาทางที่จะอบรมจิตให้เป็นกุศล แม้ในขณะที่ไม่ได้ให้ทาน หรือว่าไม่ได้วิรัติทุจริต เพราะฉะนั้น จึงศึกษาทางที่จะให้จิตระงับจากความยินดียินร้ายในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ อันเนื่องจากการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้โผฏฐัพพะ ซึ่งผู้ที่จะเจริญความสงบของจิต จะต้องรู้ถึงสภาพของอกุศลจิตอย่างละเอียด

    แต่ถ้ากล่าวว่า ธรรมดาไม่ได้เป็นอกุศลเลย เพราะว่าไม่ได้กระทำทุจริตใดๆ นั่นแสดงว่า ผู้นั้นไม่เห็นว่าจิตย่อมตกไปเป็นอกุศลในขณะที่ไม่เป็นไปในทาน ไม่เป็นไปในศีล



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๓ ตอนที่ ๖๒๑ – ๖๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 43
    28 ธ.ค. 2564