แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 627


    ครั้งที่ ๖๒๗


    ถ. ในตอนแรก จะทำตัวอย่างไรให้รู้สึกว่า ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล

    สุ. ที่จะไม่ใช่ตัวตน นั่นเป็นผลซึ่งเกิดแล้ว จึงจะไม่ใช่ตัวตนจริงๆ เป็นผล ไม่ใช่เป็นเหตุ ถ้าเหตุยังไม่ได้เกิดขึ้น ผลที่ว่าไม่ใช่ตัวตนจริงๆ ก็ย่อมจะเกิดไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ที่จะมีความเห็นถูก ประจักษ์แจ้งชัดเจนว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลจริงๆ นั้นเป็นผล อย่าปนกับเหตุ เมื่อเหตุยังไม่ได้อบรมเจริญ ก็จะต้องมีความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมทั้งหลายว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลอยู่เต็มที่ ยังไม่หมด ยังหมดไม่ได้ ถ้าจะให้ได้ผลอย่างนั้น ก็จะต้องเจริญเหตุเสียก่อน

    ต้องแยกให้ถูกตั้งแต่ในขั้นต้นว่า ที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เหตุ แต่เป็นผลของการอบรมเจริญปัญญา จนกระทั่งประจักษ์แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้ว จึงจะละ จึงจะดับความเห็นผิดที่ยึดถือในสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้

    ต้องยอมรับตามความเป็นจริงว่า ผลยังไม่เกิดตราบใด ความเห็นผิดว่า เป็นตัวตน สัตว์ บุคคล ยังต้องมีอยู่ตราบนั้น เพื่อที่ว่าจะได้อบรมเจริญเหตุเพื่อขัดเกลา ละคลายความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน สัตว์ บุคคล มิฉะนั้นแล้วก็ไม่ต้องกระทำอะไรทั้งสิ้น เพราะว่าไม่เห็นผิดแล้ว ไม่ยึดถือแล้วว่า เป็นตัวตน สัตว์ บุคคล แต่นี่เพราะทราบสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า เมื่อปัญญายังไม่เกิด ใครก็จะมาเอาความเห็นผิดที่เคยยึดถือทางตาที่กำลังเห็นว่า เป็นคนต่างๆ มากมาย เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ออกไปจากจิตใจยังไม่ได้ เห็นทีไรก็ยังเป็นคน เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ อยู่

    ที่จะเห็นว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา และเป็นเพียงสภาพรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งอาศัยปัจจัยเกิดขึ้นแล้วดับไปได้จริงๆ นั้น ต้องเป็นผล คือ เป็นปัญญาที่ได้อบรมเจริญมากแล้ว คมกล้าแล้ว และปัญญาที่จะคมกล้าถึงขั้นนั้นได้ ก็ต้องมาจากการอบรมเจริญไปตั้งแต่ต้นทีละเล็กทีละน้อย จากวันเป็นเดือน เป็นปี เป็นภพ เป็นชาติ เป็นกัป จนกว่าสามารถที่จะประจักษ์ได้จริงๆ ในขณะที่สติระลึก ขณะที่เพียงเห็นก็เป็นเพียงเห็นจริงๆ และขณะที่ตรึกนึกถึงรูปร่างของสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็มีความรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตานั้นเป็นใคร เป็นอะไร ไม่ใช่ในขณะที่กำลังเห็น

    นี่เป็นความละเอียดของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นอย่างนั้นตลอดเวลา แต่ถ้าสติไม่เกิดระลึกศึกษา ปัญญาที่จะรู้ชัดสามารถแยกลักษณะสภาพธรรมที่ต่างกันก็เกิดไม่ได้ เมื่อเกิดไม่ได้ตราบใด ผลก็คือ ยังเห็นว่าเป็นคนต่างๆ เป็นวัตถุต่างๆ เป็นสิ่งต่างๆ อยู่ตราบนั้น เพราะฉะนั้น อย่าปนผลกับเหตุ ผลคือความรู้ชัด ดับความเห็นผิด ไม่ยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏว่า เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน แต่เหตุต้องค่อยๆ เริ่มสะสมไปทีละเล็กทีละน้อย

    เช่น ทางตา วันนี้ยังเห็นเป็นคน เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ก็ให้ทราบว่า นี่คือสภาพธรรมซึ่งจะต้องศึกษา คือ ระลึกแล้วก็รู้ๆ สังเกต ระลึกแล้วก็รู้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ลักษณะของสภาพธรรมเป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา จนกว่าจะ ถ่ายถอนความคิดว่าเป็นคนที่กำลังนั่ง นอน ยืน เดิน เป็นญาติพี่น้อง เป็นวัตถุสิ่ง ต่างๆ ซึ่งความจริงแล้วไม่มีในสิ่งที่ปรากฏทางตาเลย แต่ความทรงจำที่เคยยึดถือสภาพธรรมที่รวมกันทำให้เข้าใจว่า เป็นสิ่งซึ่งไม่เกิดดับ และเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุต่างๆ แต่แท้ที่จริงแล้วที่จะดับความเห็นผิดว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้จริงๆ ปัญญาต้องคมกล้า สามารถที่จะแทงตลอดลักษณะของสภาพธรรมซึ่งต่างกันโดยละเอียด จึงจะประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมแต่ละลักษณะ จนถึงการละคลายความยึดถือว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้

    เพราะฉะนั้น มีหนทางเดียว คือ ทางตาที่เห็น ศึกษาเมื่อระลึกได้ คือ การพิจารณาสังเกตไป รู้ว่าเป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น และเป็นสภาพรู้ชนิดหนึ่งซึ่งกำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา

    ทางหูที่ได้ยินอยู่เรื่อยๆ ก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางหู และก็มีสภาพที่รู้ทางหู คือ รู้เสียงที่ปรากฏชั่วขณะหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และก็ดับไป

    ใน ๖ ทางนี้ จะต้องศึกษา คือ ระลึก สังเกต และรู้ว่าขณะที่คิดต่างกับขณะที่กำลังศึกษาโดยไม่ได้คิด

    สังเกต ไม่ใช่คิด ไม่ใช่นึกถึงคำ ไม่มีอะไรต่างจากนี้เลย ไม่ว่าพระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงธรรมกี่พระองค์ที่ทรงตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และผู้ที่อบรมเจริญปัญญาก็ได้ฟังธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ที่ผ่านไป เมื่อมีโอกาสได้ฟังแล้ว ก็จะต้องอบรมจนกว่าจะเป็นความรู้ถึงขั้นที่จะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลได้

    พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้ ก็เคยฟังธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ และก็อบรมเจริญปัญญาที่จะบรรลุถึงความประจักษ์แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง แล้วแต่ว่าถ้าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็จะต้องอบรมพระบารมีมากกว่าผู้ที่จะเป็นเพียงพระสาวก ซึ่งสภาพธรรมตามความเป็นจริงทนต่อการพิสูจน์สำหรับผู้ที่อบรมไปเรื่อยๆ เนืองๆ บ่อยๆ จนกว่าจะถึงภพชาติซึ่งสามารถที่จะประจักษ์แจ้งในสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    ถ้าชาติใดยังไม่ประจักษ์ ก็ยังคงเป็นกุศลมากทีเดียวที่เป็นชาติที่ได้อบรมปัญญาเพื่อที่วันหนึ่งจะได้ประจักษ์ โดยการศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไปเรื่อยๆ ไม่มีวันจบ จะจบก็ต่อเมื่อบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์

    เพราะฉะนั้น จากความเป็นปุถุชนสู่ความเป็นพระอริยะเป็นขั้นสำคัญ ซึ่งกว่าจะข้ามความเป็นปุถุชนไปสู่ความเป็นพระอริยะได้ จะต้องอบรมกันนานมากทีเดียว ไม่ใช่เรื่องใจร้อน ไม่ใช่เรื่องที่เราจะรีบ และเข้าใจว่า ได้ประจักษ์แล้วในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เพราะถ้าเป็นการประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามปกติ ตามความเป็นจริงแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะละคลายความยึดถือสภาพธรรมซึ่งปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง และก็ยึดถือว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้

    เห็นปกติธรรมดาอย่างนี้ ความรู้เกิดได้ สติเกิดได้ สามารถที่จะถึงความเป็นพระโสดาบันบุคคลได้ด้วย ถ้าปัญญาอบรมมาพอที่จะแทงตลอดในสภาพธรรมซึ่งขณะนี้เกิดดับอยู่

    ขอตอบจดหมายของท่านผู้ฟังจากบ้านเลขที่ ๑๔๔/๓ ซอยพาณิชยการธนบุรี ต่อ ซึ่งในคราวก่อนได้ตอบปัญหาข้อที่ ๑ ของท่านแล้ว สำหรับคำถามข้อ ๒ เรื่องสมาธิ ที่ท่านถามว่า สมาธิที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ถ้าดิฉันจะดูสมาธิของตนเองบ้างตามสมควรว่า ไม่ส่งซัดส่ายออกนอกจนเกินสมควร ทบทวนดูตนเองก่อนปฏิบัติบ้าง ในเวลาปฏิบัติบ้าง ก็พยายามอบรมตนเอง ฝึกให้อยู่ในกุศลธรรมไปด้วย จะถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรมได้ไหม

    นี่เป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาโดยละเอียด แม้แต่ความคิดความเข้าใจในเรื่องของสมาธิ ที่ท่านถามว่า สมาธิที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ไม่ทราบว่าท่านหมายถึงอะไร ท่านคงจะไม่ทราบถึงลักษณะของเอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง ที่กำลังเห็นขณะนี้ สมาธิตามธรรมชาติไหม กำลังพูด กำลังคิด สมาธิตามธรรมชาติไหม

    เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ได้ศึกษาโดยแท้จริง อาจจะใช้คำซึ่งแม้แต่ตัวท่านเองหรือคนอื่นก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ว่า หมายความถึงลักษณะสภาพธรรมอะไร ที่กล่าวว่าสมาธิตามธรรมชาติ แต่ท่านผู้นี้คงหมายความถึงว่า ในขณะที่จิตไม่หวั่นไหวไปอย่างแรงด้วยอำนาจของโลภะ โทสะ เพราะท่านกล่าวว่า ถ้าดิฉันจะดูสมาธิของตนเองบ้างตามสมควรว่า ไม่ส่งซัดส่ายออกนอกจนเกินสมควร เพราะฉะนั้น ท่านก็คงจะเข้าใจว่า ขณะที่จิตไม่หวั่นไหวไปอย่างแรงด้วยโลภะ โทสะ ก็เป็นสมาธิตามธรรมชาติ

    ท่านกล่าวว่า ทบทวนดูตนเองก่อนปฏิบัติบ้าง ในเวลาปฏิบัติบ้าง

    นี่ก็เป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจว่า ท่านปฏิบัติอะไร และท่านปฏิบัติอย่างไร ขณะที่ทบทวนดูตนเองก่อนปฏิบัติ ไม่ทราบว่าขณะที่ปฏิบัติเป็นอย่างไร และก่อนปฏิบัติเป็นอย่างไร

    สภาพของจิตนี้ละเอียดมาก ถ้าไม่ศึกษาอาจจะคิดว่าอกุศลเป็นกุศล และก็เลยเข้าใจว่า ขณะนั้นปฏิบัติธรรม แต่แท้ที่จริงแล้ว กำลังเป็นอกุศลอยู่ เมื่อไม่รู้ลักษณะของอกุศลธรรมนั้น ก็เข้าใจว่าเป็นกุศล อาจจะคิดว่า ขณะนั้นเป็นการปฏิบัติธรรมก็ได้ เพราะว่าเรื่องของสมาธิก็ละเอียดทีเดียว

    คำถามข้อ ๓ ที่ท่านถามว่า ดิฉันเป็นคนเจ็บไข้ ที่อยู่ก็คล้ายกุฏิเล็กๆ ถือเป็นปัจจัย ๔ ของดิฉันได้ไหม

    ถ้าไม่เป็นปัจจัย ๑ ใน ๔ แล้วจะเป็นอะไร เพราะที่อยู่ทั้งหมดก็คือที่อาศัย ซึ่งเป็นปัจจัยแก่การดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นที่เล็กๆ คล้ายกุฏิ หรือเป็นบ้านเรือน เป็นปราสาท เป็นถ้ำ เป็นอะไรก็ตามแต่ ทั้งหมดที่เป็นที่อาศัยก็เป็นปัจจัย ๑ ใน ๔ ของการดำรงชีวิต

    ท่านกล่าวต่อไปว่า ดิฉันดูเวทนาในตนเองบ้าง จะเห็นมากหรือน้อย หรือไม่เห็นเลยก็สุดแท้แต่ (ไม่ขอพูดถึงข้อเท็จจริงในการเห็น) จะถือเป็นการปฏิบัติธรรมได้ไหม ดิฉันไม่ได้หวังอะไรมาก แต่มีวัตถุประสงค์จะให้ตัณหาต่างๆ น้อยลง เพราะว่าความเจ็บไข้ในตนเองก็เป็นภาระแก่ดิฉันมากอยู่แล้ว

    ไม่เข้าใจว่า ทำไมท่านไม่ขอพูดถึงข้อเท็จจริงในการเห็น พูดไม่ได้หรือ ธรรมเป็นเรื่องเปิดเผย เป็นเรื่องที่ตรง และปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมแล้วไม่ผิด เมื่อเป็นการรู้สภาพลักษณะของธรรมโดยไม่ผิดแล้ว ก็สามารถที่จะกล่าวถึงลักษณะของธรรมได้โดยถูกต้อง ไม่ต้องกลัวว่าจะเกิดผิดขึ้นในวันหนึ่งวันใด

    ถ. ผมได้ยินว่า บางคนเมื่อนั่งสมาธิแล้วเกิดนิมิต เห็นสิ่งต่างๆ เขาจะปิดไว้ไม่บอก เขากล่าวว่า ถ้าไปบอกใครไปแล้ว วันหลังจะไม่เห็นอีก

    สุ. เพื่อประโยชน์อะไร เพราะกลัวจะไม่เห็นอีก หรือเพราะว่าอยากจะเห็นอีก ก็ไม่ใช่ปัญญา ถ้าเป็นปัญญาจะต้องหวั่นไหวอะไร ในเมื่อสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง คือ สภาพธรรมแต่ละลักษณะ เช่น เวทนา เป็นภาษาบาลี แต่สภาพลักษณะของเวทนานั้น หมายถึงสภาพความรู้สึกต่างๆ ในวันหนึ่งๆ ซึ่งมีอยู่เป็นประจำ

    ความรู้สึกดีใจก็มี ความรู้สึกเสียใจก็มี ความรู้สึกเฉยๆ ก็มี ก็เมื่อสภาพธรรมแต่ละอย่างไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงความรู้สึกแต่ละชนิด และก็หมดไปแล้ว ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่ต้องไปเดือดร้อน ไม่ต้องไปหวั่นไหว ไม่ต้องกลัวจะไม่เห็นอีก เพราะเหตุว่าความรู้สึกจะต้องเกิดอยู่เรื่อยๆ ตราบใดที่ยังไม่ปรินิพพาน ที่จะไม่เห็นความรู้สึกนี่มีหรือ ถ้าเป็นปัญญาแล้ว รู้แล้วว่าความรู้สึกมีสภาพอย่างไร เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยอย่างไร ไม่ใช่ตัวตนอย่างไร ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่เห็นความรู้สึก เพราะเหตุว่าความรู้สึกมีอยู่ตลอดเวลา แม้ในขณะนี้ความรู้สึกก็มี จะต้องกลัวทำไม

    ถ้าเป็นปัญญาแล้วไม่กลัว แต่ถ้าไม่ใช่ปัญญา ก็หวั่นไหวไปได้ทุกอย่าง เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านรับฟังพระธรรม และพิจารณาสภาพธรรมที่ปรากฏ พร้อมทั้งให้สังเกต สำเหนียก พิจารณาว่า สภาพธรรมใดเป็นปัญญา สภาพธรรมใดไม่ใช่ปัญญา และปัญญาจะเกิดขึ้นได้อย่างไรในแต่ละขั้น ถ้าสติไม่เกิดระลึก ปัญญาสามารถจะรู้ลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏได้ไหม เวลานี้มีเห็น มีได้ยิน มีคิดนึก ถ้าไม่มีการระลึก ปัญญาสามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะนั้นตามความเป็นจริงได้ไหม

    คามิกะ มีหลายอย่างที่เราใช้คำไม่ถูก อย่างคำว่า ศึกษา ไม่ใช่ศัพท์ภาษาไทย มาจากคำว่า สิกขะ ซึ่งถ้าแปลตามภาษาไทย ต้องแปลว่า สำเหนียก ปัญญาก็เหมือนกัน เป็นภาษาบาลี เราเอามาใช้ แต่เราก็ไม่เข้าใจ

    สุ. ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ยิ่งศึกษา ยิ่งฟัง ก็จะเห็นความละเอียดขึ้นว่า ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ถ้าปัญญาเกิดขึ้นประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมเหล่านั้นแล้ว จะไม่ปะปนกันเลย เช่น ลักษณะของสติ กับลักษณะของสมาธิ ลักษณะของปัญญา เป็นสภาพธรรมแต่ละลักษณะ หรือสภาพธรรมที่เป็น ศรัทธา เป็นความผ่องใสของจิต ก็ไม่ใช่ลักษณะของสติ เพราะว่าไม่ใช่ลักษณะสภาพที่ระลึกในธรรมที่กำลังปรากฏ แต่เป็นลักษณะของสภาพความผ่องใสที่ปราศจากอกุศลในขณะนั้น

    ส่วนลักษณะของสมาธิ ก็เป็นสภาพที่ตั้งมั่นในอารมณ์ที่ปรากฏ เวลาที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมแล้ว สามารถที่จะรู้ในอาการหรือในลักษณะของธรรมซึ่งเป็นสมาธิได้ สภาพธรรมที่เป็นสมาธิต่างกับลักษณะของสติ ต่างกับลักษณะของปัญญา ต่างกับลักษณะของสัญญา และต่างกับลักษณะของสภาพธรรมอื่นๆ ทั้งหมด ซึ่งสภาพธรรมต่างๆ เหล่านี้ ในขณะนี้กำลังเกิดขึ้นกระทำกิจการงานต่างๆ

    เวลาที่จิตเป็นโลภมูลจิต มีความยินดีพอใจเพียงชั่วขณะเล็กน้อย ไม่ได้ปรากฏอาการที่รุนแรงเป็นความชอบใจ เป็นความพอใจอย่างแรงกล้าก็จริง แต่ว่าในขณะนั้น มีความตั้งมั่นแล้วในอารมณ์ที่ชอบใจ จึงได้ชอบใจ

    ขณะนี้ลักษณะของสภาพธรรมที่เห็นเป็นนามธรรม เป็นสภาพที่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา เพียงเห็นเท่านั้น ไม่ใช่โลภมูลจิต ยังไม่สามารถที่จะมีความยินดีพอใจในสิ่งที่เห็นพร้อมกับในขณะที่เห็นได้ แต่ก็ต้องมีความตั้งมั่นในอารมณ์ที่เห็น มิฉะนั้นแล้วก็จะเห็นสิ่งที่ปรากฏไม่ได้

    นี่คือสภาพธรรมแต่ละลักษณะๆ ที่เกิดกับจิตแต่ละประเภทซึ่งเป็นอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น แต่เวลาที่สมาธิเกิดกับการเจริญสมถภาวนาก็ดี หรือการเจริญสติปัฏฐานก็ดี ลักษณะของสมาธิย่อมปรากฏมากกว่าในขณะที่ปรากฏกับสภาพที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏ นี่เป็นการอบรมจนกว่าปัญญาจะเจริญขึ้น สามารถที่จะรู้ความต่างกันของแม้สมาธิที่เกิดกับจิตที่เห็น หรือว่าโลภมูลจิต โทสมูลจิต จนถึงจิตที่สงบ จนถึงจิตที่ประกอบด้วยปัญญาซึ่งรู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม

    เพราะฉะนั้น ก็เจริญเหตุ คือ ศึกษา สังเกต สำเหนียกไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องกังวลว่า จะรู้ชัดแล้วหรือยัง วันไหนจะรู้ชัด คราวก่อนก็ดูเหมือนจะไม่ชัดไปอีกแล้ว ก็เป็นเรื่องที่จะต้องขัดเกลาไปเรื่อยๆ เพราะว่าอวิชชาและอกุศลธรรมทั้งหลายมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นท่วมทับได้อย่างมากมายและรวดเร็วอยู่เสมอ ทำให้เกิดความสงสัยแทรกขึ้น ทำให้เกิดความเคลือบแคลง หรือว่าความยินดีพอใจในขณะที่เริ่มจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมบ้างก็เป็นได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๓ ตอนที่ ๖๒๑ – ๖๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 43
    28 ธ.ค. 2564