แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 630


    ครั้งที่ ๖๓๐


    ถ. ครั้งหนึ่งผมไปงานแต่งงาน เจ้าภาพขอร้องให้ไปช่วยกล่าวในนามของเจ้าภาพ ผมเองยังเป็นเด็กอยู่ หลังจากที่ได้รับปากแล้วรู้สึกว่า มีความตื่นเต้นมาก ใจก็เต้น ผมมีสติระลึกขึ้นมาว่า นี่เป็นโลภมูลจิตหรือโทสมูลจิต จนเดี๋ยวนี้ผมก็ยังไม่ทราบว่า ความรู้สึกอย่างนั้นจะเป็นอารมณ์ของวิปัสสนาไหม เพราะผมไม่ทราบว่า เป็นจิตประเภทไหน จะว่าโลภมูลจิตก็ไม่เชิง โทสมูลจิตก็น่าจะใช่

    สุ. สภาพธรรมเกิดดับสืบต่อกันรวดเร็วมาก อย่างลักษณะของสภาพจิตที่ท่านกล่าวถึง ทั้งโลภะก็มี โทสะก็มี และไม่ใช่สำหรับท่านนี้ผู้เดียวที่มี ในชีวิตจะต้องมีความรู้สึกอย่างนี้เกิดขึ้นไม่วันหนึ่งก็วันใด มากหรือน้อย ความตื่นเต้นผสมกับความดีใจ และยังมีสภาพธรรมอื่นๆ อีกหลายประการ แต่ให้ทราบว่า ถ้าปัญญาเกิดขึ้นรู้ชัดในสภาพธรรมนั้น จะไม่ยึดถือสภาพนั้นเป็นตัวตน ไม่ว่าความรู้สึกจะแปลกประหลาดประการใด เป็นความรู้สึกละอายผสมกับความหวั่นกลัว หรือความตื่นเต้น ทั้งหมดนั้นไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น ความสำคัญไม่ใช่อยู่ที่ว่า ลักษณะนั้นเป็นอะไร นั่นเป็นความคิดถึงลักษณะนั้นซึ่งดับไปแล้ว

    การที่จะละความยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่า เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนได้ ปัญญาจะต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นของหยาบที่ปรากฏก่อน ถ้าศึกษาปรมัตถธรรมจะทราบว่า รูปที่ปรากฏทางตาในขณะนี้เป็นรูปหยาบ จึงปรากฏทางตา เสียงที่ปรากฏทางหูก็เป็นรูปหยาบ จึงปรากฏทางหู กลิ่นเป็นรูปหยาบ รสเป็นรูปหยาบ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ที่ปรากฏทางกายเป็นรูปหยาบ จึงได้ปรากฏให้รู้ได้

    เพราะฉะนั้น ปัญญาที่จะรู้ในลักษณะของสภาพธรรม จะต้องรู้ในสิ่งซึ่งเป็นรูปหยาบโดยสภาพของรูปนั้น แต่เวลาที่ยังไม่ได้อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ชัด ก็เหมือนไม่ใช่รูปหยาบ เพราะว่าเห็นทีไรก็ยังไม่สามารถที่จะรู้ในความไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนของสิ่งที่ปรากฏทางตาเลย

    ขณะนี้ที่กำลังเห็น โดยปรมัตถธรรมแสดงว่าเป็นรูปหยาบ จึงได้ปรากฏ แต่เห็นทีไรก็ยังเป็นคน เห็นทีไรก็ยังเป็นวัตถุสิ่งต่างๆ

    เพราะฉะนั้น ที่ความรู้สึกระคนเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วปรากฏเป็นความรู้สึกหวั่นกลัว ละอาย หรือว่าดีใจ พอใจ ปะปนกัน ปัญญาจะต้องเริ่มระลึก และรู้ในสภาพที่เป็นเพียงความรู้สึก แยกลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วจนกว่าจะรู้ชัดในลักษณะแต่ละอย่างได้

    ส่วนความรู้สึกใดๆ ที่เกิดขึ้นและดับไปแล้ว ก็ดับไปแล้ว เอากลับมาพิสูจน์ไม่ได้เลย แต่การอบรมเจริญสติปัฏฐานเนืองๆ บ่อยๆ ปัญญาที่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนเพิ่มขึ้น จะทำให้ละการยึดถือสภาพธรรมนั้น หรือคลายการที่ยึดถือสภาพธรรมนั้น ไม่กังวล ไม่มีความเป็นตัวตนที่เข้าไปยึดถือ หรืออยากจะทราบว่าลักษณะนั้นเป็นอะไร เพราะคนอื่นตอบไม่ได้เลย หมดไปแล้ว

    สภาพธรรมเกิดปรากฏในขณะใด ก็ศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นในขณะนั้น เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาทั้งหมดโดยตลอดจริงๆ อย่างละเอียดมาก

    ถ. เมื่อโทสมูลจิตเกิดขึ้น เรามีสติพิจารณาโทสมูลจิตนั้น จะต่างอะไรกับก่อนที่เราจะศึกษาการเจริญวิปัสสนา ก่อนที่เราจะศึกษา เราพิจารณาโกรธ เราก็รู้ว่าโกรธ แต่เมื่อศึกษาแล้ว เราก็พิจารณาเหมือนกัน ซึ่งก็ยังเป็นตัวตนอยู่ ผมไม่ทราบว่า หลังจากศึกษาแล้ว เราพิจารณาโทสมูลจิต ทำไมจึงเป็นกุศลจิต

    สุ. เวลาที่พิจารณารู้ว่า เป็นสภาพของโกรธ มีความรู้ถูกต้องในขณะนั้น ก็เป็นกุศลจิต คือ ไม่เข้าใจผิดว่าโกรธนี่ดี เพราะบางคนคิดว่า ต้องโกรธถึงจะดี ทำให้คนอื่นเกรงกลัว หรือทำให้มีระเบียบวินัยดีขึ้น หรืออะไรอย่างนั้น ก็อาจจะทำให้เข้าใจว่า โทสะมีส่วนช่วยทำให้เป็นอย่างนั้น โดยที่ไม่ทราบลักษณะความเป็นอกุศลของโทสะ แต่เมื่อผู้ใดมีการพิจารณารู้ลักษณะของโทสะว่า มีสภาพที่หยาบกระด้าง แต่ยังคงมีความยึดถือโทสะนั้นว่าเป็นตัวตน เป็นเราที่มีโทสะ ในขณะนั้นก็เหมือนกับเวลาที่แม้ฟังแล้วการพิจารณาก็ยังเหมือนเดิม ไม่ใช่ว่าเมื่อศึกษาแล้ว พอระลึกก็รู้ และก็ละไปเลย แต่ว่าเมื่อศึกษาแล้ว เพิ่มความรู้ขึ้นว่า สภาพของโทสะไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคล โดยขั้นการศึกษา หรือโดยขั้นการฟัง นอกจากนั้นยังเพิ่มความรู้ขึ้นถึงหนทางเจริญปัญญายิ่งขึ้นโดยรู้ว่า การที่สติจะเพิ่มการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ จะไม่ระลึกแต่เฉพาะโทสะ เพราะฉะนั้น เวลาที่มีการเห็นบ้าง มีการได้ยินบ้าง สติก็เริ่มกระทำกิจของสติ คือ ระลึก เพื่อที่จะศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมอื่น แต่เป็นการอบรมที่ยังอ่อนมาก น้อยมาก เพราะฉะนั้น ก็ยังไม่ปรากฏลักษณะสภาพของปัญญาและสติซึ่งเป็นพละ ที่มีกำลังจริงๆ เพราะว่าอกุศลก็ยังคงยึดครองอย่างเหนียวแน่นอยู่ว่าเป็นเรา ซึ่งระลึกบ้าง ไม่ระลึกบ้าง

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญภาวนาจริงๆ ที่ใช้คำว่า ภาวนา อบรมอย่างนานมาก เป็นภพ เป็นชาติจริงๆ แต่ว่าค่อยๆ เริ่มขึ้น ทางโน้นบ้าง ทางนี้บ้าง วันนั้นบ้าง วันนี้บ้าง ขณะนั้นบ้าง ขณะนี้บ้าง ทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าความมั่นคงของสติและปัญญาจะเกิดขึ้นรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้

    ที่พระคุณเจ้าถามว่า อานิสงส์ทั้ง ๒ ประการนี้เป็นอย่างไรบ้าง มีประโยชน์แตกต่างกันอย่างไรนั้น

    สำหรับสมาธิของสมถภาวนาก็ทำให้จิตในขณะนั้นปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ แต่ไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่จะทำให้ดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น ก็เป็นการบรรเทา ละคลายอกุศลธรรมเพียงชั่วคราว

    สำหรับอานิสงส์ของสมาธิในวิปัสสนา ก็ทำให้ปัญญารู้ชัดในสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ละคลาย และดับกิเลสได้เป็นลำดับ โดยดับความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล และดับความสงสัยความไม่รู้ในสภาพของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏ

    เรื่องของการอบรมเจริญปัญญาเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ทั้งในขั้นของ สมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา ถ้าไม่มีการศึกษาและไม่มีปัญญาที่จะรู้ในหนทางปฏิบัติทั้ง ๒ วิธีแล้ว การปฏิบัติก็ไม่ใช่ทั้งสมถะและวิปัสสนา เพราะว่าผลที่ได้เป็นเครื่องแสดงถึงการปราศจากปัญญา

    อย่างท่านผู้ฟังจากขอนแก่น ขณะที่ท่านปฏิบัติกัมมัฏฐาน และตัวท่านลอยต่ำลงๆ นี่แสดงถึงความผิดปกติ เป็นผลที่ไม่ถูกต้อง เพราะว่าไม่ใช่ปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมว่า เป็นกุศลธรรมหรือเป็นอกุศลธรรมในขณะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสมถภาวนาต้องรู้ว่า อกุศลธรรมเป็นอย่างไร จิตที่มีกิเลสเป็นอย่างไร จิตที่ปราศจากกิเลสเป็นอย่างไร จึงจะอบรมจิตซึ่งปราศจากกิเลสที่เป็นความสงบได้ แต่ถ้ายังแยกกันไม่ออก ก็ไปปฏิบัติกัมมัฏฐานที่ไม่ใช่การอบรมเจริญสมถภาวนาหรือวิปัสสนา ซึ่งผลที่ปรากฏก็ไม่ใช่ผลของปัญญา เพราะว่าไม่รู้สภาพธรรม ไม่ว่าจะโดยขั้นของสมถะหรือโดยขั้นของวิปัสสนา เพราะฉะนั้น จะคิดว่าท่านปฏิบัติถูกไม่ได้ เพราะผลปรากฏแสดงให้เห็นแล้วว่า เป็นผลที่ไม่ถูกต้อง

    เมื่อผลที่ไม่ถูกต้องเกิดขึ้น ก็ต้องมาจากเหตุ คือ การปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง ผลที่ไม่ถูกต้องจึงเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นการผิดปกติด้วยประการใดๆ ทั้งสิ้น ก็ควรที่จะทราบว่า ขณะนั้นเป็นการปฏิบัติที่ผิด ไม่ถูก ผลที่ผิดจึงได้เกิดขึ้น

    อย่าเข้าใจว่า ท่านปฏิบัติสมถภาวนา หรือวิปัสสนาภาวนา เพราะถ้าเป็น สมถภาวนาแล้ว เป็นการอบรมเจริญกุศลขั้นความสงบของจิต ผลก็ต้องเป็นผลที่ถูก คือ เป็นผลของกุศล คือ ความสงบ ซึ่งพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ ไม่ใช่ผลซึ่งปราศจากปัญญา ไม่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ

    สำหรับเรื่องของการอบรมเจริญวิปัสสนาเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ ซึ่งจะต้องทราบว่า การอบรมเจริญวิปัสสนานั้น เป็นการอบรมปัญญาเพื่อรู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงในขณะนี้ ตรงตามที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้ โดยการตรัสรู้ของพระองค์ เพราะฉะนั้น เราต้องศึกษาว่า ในขณะนี้สภาพธรรมอะไรกำลังปรากฏที่จะให้มีการอบรมสติและปัญญาที่จะรู้ชัดในสภาพธรรมนั้น ซึ่งผู้ที่ประจักษ์สภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้วรู้ว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา สภาพธรรมทั้งหลายที่อาศัยเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น ในขณะนี้ดับ ขณะนี้เกิดดับจริงๆ อยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ปัญญาที่เป็นวิปัสสนาภาวนานั้นจะต้องรู้แจ้ง สามารถที่จะประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจในขณะนี้ได้

    แต่ถ้าเป็นการรู้อย่างอื่น จะไม่ใช่การอบรมเจริญวิปัสสนาเลย เพราะว่าขณะนี้เห็นกำลังดับ เกิดแล้วก็ดับ คิดนึกก็เกิดดับ ได้ยินก็เกิดดับ ความรู้สึกต่างๆ ก็เกิดดับ เวลานี้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเกิดสืบต่อกันอย่างเร็วมาก ถ้าปัญญายังไม่สามารถรู้ลักษณะที่ต่างกันแยกขาดจากกัน ย่อมไม่สามารถประจักษ์ความเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมได้ เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ

    อย่างทางตา เห็นทุกวัน ถ้าสติไม่เกิดขึ้น ไม่ระลึก ก็ไม่ศึกษา ไม่รู้ว่า ที่กำลังเห็นเป็นสภาพรู้ชนิดหนึ่ง เป็นสภาพรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาอย่างเดียวเท่านั้น รู้อื่นไม่ได้ แต่ว่าการอบรมเจริญปัญญาไม่ใช่ให้ผิดปกติเลย สภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริงเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว ปัญญาที่สามารถจะรู้ความเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็เกิดดับสืบต่อกันได้อย่างรวดเร็วเหมือนกัน

    เพราะฉะนั้น ทางตานี้จะไม่ผิดปกติเลย เห็น และรู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร ก็เป็นความจริง แต่ว่าเป็นนามธรรมต่างชนิดกัน ไม่ใช่ประเภทเดียวกัน เพราะว่าสภาพนามธรรมที่เห็น เป็นเพียงแต่สภาพรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา คือ เห็น แต่ว่าไม่ได้ตรึก ไม่ได้รู้ในรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ สภาพเห็น เพียงเห็น แต่เมื่อเห็น และรู้ว่า สิ่งที่เห็นเป็นอะไร ต้องไม่ผิดปกติด้วย

    ขณะใดที่รู้แล้วว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร แสดงว่า มีการนึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่เห็นแล้วอย่างรวดเร็วเหลือเกิน ซึ่งถ้าสติไม่ระลึก ไม่ศึกษา ปัญญาก็ไม่สามารถที่จะแยกลักษณะของนามธรรมที่ต่างชนิดกัน คือ ลักษณะหนึ่งเป็นเพียงสภาพเห็น อีกลักษณะหนึ่งเป็นสภาพที่นึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่เห็น

    ทางหู โดยนัยเดียวกัน มีการได้ยิน และก็มีการรู้ความหมายของเสียงที่ได้ยิน เสียง มีเสียงสูง เสียงต่ำ มีหลายเสียง ซึ่งโสตวิญญาณได้ยินเสียง แต่ว่าสัญญาความจำ การนึกถึงคำหรือความหมายต้องมี ถ้าไม่มีการนึกถึงคำ ไม่มีการนึกถึงความหมายแล้ว จะไม่รู้ความหมายเลยว่า เสียงนั้น คำนั้นคืออะไร แต่ว่าเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วเหลือเกิน เพราะฉะนั้น ก็ปรากฏเหมือนกับว่า ทันทีที่ได้ยินก็รู้เลยว่าได้ยินอะไร หมายความว่าอะไร การนึกถึงคำนี้ แม้ไม่ได้ยินเสียงก็นึกถึงได้ ไม่ต้องได้ยินเสียง ก็นึกคิดเรื่องราวต่างๆ ได้

    เพราะฉะนั้น ลักษณะสภาพที่นึกถึงคำ เป็นลักษณะที่ไม่ใช่สภาพที่ได้ยินเสียง แต่เวลาที่ได้ยินเสียงแล้ว จดจำลักษณะของเสียงสูงเสียงต่ำที่ได้ยิน และก็นึกถึงคำ นึกถึงความหมาย ซึ่งถ้าสติไม่เกิด ไม่ระลึก ไม่แยก ก็ไม่รู้ว่า เป็นลักษณะที่ต่างกันแล้ว และจะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมที่ต่างกันที่เกิดคนละขณะไม่ได้เลย

    การที่จะประจักษ์การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมได้ ต้องเป็นการอบรมเจริญปัญญาจริงๆ ปัญญาเริ่มเมื่อสติระลึกและศึกษา ค่อยๆ รู้ขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์ชัด แยกลักษณะที่ต่างกันออกเสียก่อน และจึงจะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปได้ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องรีบร้อน ไม่ใช่เรื่องรีบเร่งจะไปปฏิบัติกัมมัฏฐานโดยที่ปัญญาไม่ได้เกิดขึ้นเลย ไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ต่างกัน แต่ว่าเกิดดับสืบต่อกันอย่างเร็วมาก

    ทางจมูกก็เหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องคิดถึงคำ แต่ทันทีที่ได้กลิ่น รู้ว่ากลิ่นอะไร แต่ต้องมีการได้กลิ่นก่อน กลิ่นแต่ละกลิ่นมีลักษณะไม่เหมือนกัน กลิ่นดอกไม้แต่ละชนิดก็ไม่เหมือนกัน กลิ่นอาหารก็ไม่เหมือนกัน แต่ขณะที่เกิดความรู้ว่าเป็นกลิ่นอะไร ไม่ใช่ขณะที่ได้กลิ่น ได้กลิ่น เป็นแต่เพียงสภาพรู้กลิ่น และต้องมีการนึกถึงลักษณะแต่ละกลิ่น จึงจะรู้ว่าเป็นกลิ่นอะไร ซึ่งตราบใดที่ยังไม่มีการระลึกรู้ สภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วก็ยังคงเกิดดับสืบต่อเหมือนเดิม คือ อย่างรวดเร็ว แต่ว่าปัญญาไม่เกิดขึ้นรู้สภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วนั้น

    เพราะฉะนั้น เรื่องของการอบรมเจริญวิปัสสนา ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่เป็นเรื่องที่ปัญญาสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง จนสามารถที่จะประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละลักษณะได้

    ถ้าท่านผู้ใดยังคงมีความติด ยังมีความพอใจเพียงขั้นของให้จิตสงบ โดยไม่อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ ท่านก็ปฏิบัติเพียงตามคำสอนของครูบาอาจารย์ก่อนการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าก่อนการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีผู้ใดที่แสดงหนทางการอบรมปัญญาให้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง

    ผู้ที่จะประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐาน และเป็นการอบรมเจริญวิปัสสนาด้วย เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ฉันทะ ความพอใจ ความเข้าใจในเหตุผลของข้อปฏิบัติของแต่ละท่านว่า ท่านพอใจหรือมีความเข้าใจในการอบรมเจริญกุศลขั้นใด แต่สำหรับขั้นของวิปัสสนาภาวนา ต้องเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ และเป็นปกติในชีวิตประจำวันด้วย



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๓ ตอนที่ ๖๒๑ – ๖๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 43
    28 ธ.ค. 2564