แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 626


    ครั้งที่ ๖๒๖


    ถ. เมื่อมีสติเกิดขึ้น รู้อารมณ์ทางใดทางหนึ่ง แต่ไม่ได้ตรึกไปว่าเป็นนาม หรือว่าเป็นรูป รู้อยู่ที่อารมณ์ ขณะนั้นจะมีปัญญาหรือยังครับ

    สุ. ถ้าปัญญาเกิด ย่อมหมายความว่า ปัญญารู้ว่า ขณะนั้นยังไม่ได้ศึกษา ยังไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ถ. ทุกครั้งเมื่อมีสติเกิดขึ้นรู้อารมณ์แล้ว ลักษณะที่สังเกตหรือพิจารณา กับลักษณะที่ตรึกว่า นี้เป็นเพียงนาม นี้เป็นเพียงรูป ต่างกันอย่างไร

    สุ. ถ้าคิดว่า ขณะนั้นเป็นนามธรรม หรือว่าสภาพธรรมที่ปรากฏเป็นรูปธรรม ขณะนั้นไม่ใช่ศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เพราะว่าจิตกำลังมีคำเป็นอารมณ์ ไม่ใช่สภาพที่กำลังศึกษารู้ในลักษณะที่เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม แต่เป็นสภาพจิตที่คิด โดยมีคำเป็นอารมณ์

    ถ. ที่อาจารย์พูดว่า เมื่อมีสติเกิดขึ้นรู้อารมณ์ และพิจารณาในอารมณ์ นั้นๆ ขณะที่พิจารณา หรือขณะที่สังเกต ขอให้อาจารย์อธิบายอีกครั้งหนึ่ง

    สุ. ถ้าเปรียบเทียบกับขณะนี้ เห็น และรู้ด้วยว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไรโดยไม่ได้นึกถึงคำ ขณะนี้มองไปรอบๆ ก็รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นอะไร โดยที่ไม่ต้องนึกถึงคำว่า โต๊ะ เก้าอี้ สมุด หนังสือ คน สัตว์ ไม่ได้นึกหรือตรึกถึงคำ แต่ก็มีสภาพที่รู้ในความหมายของสิ่งที่ปรากฏ แต่การรู้อย่างนั้นรู้ด้วยอวิชชา ด้วยความทรงจำว่า สิ่งที่ปรากฏนั้นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    อวิชชาเป็นนามธรรม เป็นสภาพที่รู้ในสิ่งที่ปรากฏ มีอาการ สภาพของธรรมอื่นซึ่งตรึกหรือทรงจำในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ โดยสำคัญว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ว่ายังไม่ต้องนึกถึงคำ ยังไม่ต้องนึกถึงชื่อ ก็มีการยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ ฉันใด เวลาที่เริ่มที่จะพิจารณาศึกษารู้ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏเพิ่มขึ้น ก็สามารถที่จะรู้ได้โดยไม่ต้องนึกถึงชื่อ ไม่ต้องนึกถึงคำว่านามธรรม ไม่ต้องนึกถึงคำว่ารูปธรรม เช่นในขณะนี้ ที่กาย ก็ต้องมีสภาพธรรมที่ปรากฏเป็นอ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว เป็นของที่แน่นอน อ่อนหรือแข็งเป็นรูปใหญ่ เป็นมหาภูตรูป เพราะฉะนั้น ก็ปรากฏให้รู้ได้

    เวลาที่สติไม่เกิดขึ้น ก็ไม่ระลึกตรงลักษณะแข็ง เพราะว่านึกเป็นเรื่องราว ถึงอดีต ถึงอนาคตต่างๆ เป็นเรื่องต่างๆ ขึ้น แต่ขณะที่สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏที่กาย ก็จะมีลักษณะที่แข็งหรือลักษณะที่อ่อนปรากฏ ขณะนี้ต้องมีแน่นอน ศึกษา ใส่ใจ รู้ในอาการอ่อนที่ปรากฏ ไม่ต้องไปจดจำสิ่งที่อ่อนที่กำลังปรากฏในลักษณะอ่อนนั้นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย ไม่ต้องไปพยายามคิดว่า ที่อ่อนนี้เป็นเบาะ หรือว่าเป็นเนื้อ หรือว่าเป็นนิ้ว หรือว่าเป็นมือ ไม่ต้องไปพยายามย้อนความทรงจำ ระลึกนึกถึง หรือว่าคิดจดจำเอาไว้ เพราะว่าในขณะนั้นมีเฉพาะลักษณะอ่อนที่ปรากฏ เมื่อลักษณะอ่อนปรากฏ เพียงลักษณะที่อ่อน ก็ศึกษาเฉพาะตรงสภาพที่อ่อนที่ปรากฏ หรือสภาพนั้นอาจจะแข็ง ก็รู้ในลักษณะของแข็งที่ปรากฏ ไม่ต้องไปพยายามย้อนนึกให้ได้ว่า นั่นอะไร นี่อะไร เพราะว่าขณะนั้นเป็นแต่เพียงลักษณะของสภาพธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้นซึ่งสามารถปรากฏที่กาย นั่นคือ การศึกษา สำเหนียก สังเกต จนไม่ยึดถืออาการอ่อนที่ปรากฏว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    ถ. เพราะฉะนั้น สังเกตพิจารณาก็หมายความว่า ขณะที่สติเกิดขึ้น สมมุติว่ากำลังเห็น เมื่อเห็น มีความรู้สึกตัว ก็เห็นอยู่ เมื่อรู้ว่าเห็นนั้นเป็นอะไร ก็ไม่ได้ไปใส่ใจว่าเห็นอะไร แต่ผู้ที่เริ่มอบรมเจริญสติปัฏฐานใหม่ๆ ซึ่งจะเป็นเพราะอวิชชาอบรมมาจนกระทั่งช่ำชองหรืออย่างไร ถ้าว่าเมื่อเห็นแล้วไม่ได้ตรึกว่าเป็นเพียงสีหรือเป็นเพียงเห็นแล้ว ก็มักจะรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร เมื่อรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไรแล้ว ก็ไม่ได้ตรึกว่าเป็นเพียงรูปหรือเป็นเพียงนาม

    ในขณะที่เห็นแล้วไม่ได้ตรึกว่า เป็นเพียงรูปหรือเป็นเพียงนาม ขณะนั้นก็ชื่อว่า ไม่ได้รู้ว่าเป็นนามหรือเป็นรูป ขณะที่จะรู้ว่าเป็นเพียงรูปหรือเป็นเพียงนาม รู้ไม่ได้สักที ถ้าไม่ได้ตรึก

    สุ. วันหนึ่งก็จะได้

    ถ. ถ้าไม่ตรึกว่าเป็นเพียงนามหรือเป็นเพียงรูป ก็คล้ายๆ ว่า เฉยๆ ไม่ได้รู้ว่าเป็นสมมุติบัญญัติด้วย และก็ไม่ได้รู้ว่าเป็นเพียงนามเป็นรูปด้วย ตกลงไม่รู้อะไรกันแน่

    สุ. ห้ามความคิดไม่ได้เลย ในขณะที่กำลังเห็น และจะเกิดนึกขึ้นมาว่า ที่กำลังเห็นนี้เป็นสภาพรู้ทางตา ก็ไปยับยั้งความคิดนี้ไม่ได้ แต่ในขณะนั้นก็มีความเข้าใจว่า ที่คิดไม่ใช่เป็นการระลึกรู้ ศึกษา สังเกตในอาการรู้ ในธาตุรู้ ในสภาพรู้ ซึ่งไม่ได้คิด เช่นในขณะที่เห็นนี้ ไม่ใช่ขณะเดียวกับที่คิด นี่แน่นอนที่สุด

    เห็น ไม่ใช่ขณะเดียวกับที่คิด

    เพราะฉะนั้น ถึงแม้จะคิดว่าเป็นนามธรรม คิดว่าเป็นรูปธรรม คิดว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล สภาพที่คิดก็ยังคงเป็นสภาพที่คิดอยู่นั่นเอง แต่เรื่องที่คิดนั้นไม่ใช่เรื่องอื่น แต่มาคิดเป็นคำ เป็นเรื่องว่า นามธรรมไม่ใช่ตัวตน รูปธรรมไม่ใช่ตัวตน ซึ่งไม่ใช่การศึกษารู้ในลักษณะของความไม่ใช่ตัวตนของสภาพที่กำลังเห็น เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังพูด พูดไปเรื่อยๆ ว่า เห็นไม่ใช่ตัวตน ได้ยินไม่ใช่ตัวตน ขณะนั้นไม่ใช่ขณะที่กำลังศึกษาลักษณะของสภาพเห็นที่กำลังปรากฏ โดยสติเกิดขึ้นระลึก และก็ศึกษา

    ที่ใช้คำว่า ศึกษา หรือ พิจารณา หรือ สังเกต เพราะว่าตามตัวอย่างที่กล่าวถึงในตอนต้นว่า ในขณะที่สภาพแข็งปรากฏแล้วก็สังเกต พิจารณา ศึกษา เพราะมีสภาพธรรม ๒ อย่างในขณะนั้น แข็งเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏทางกาย ไม่ใช่สภาพรู้ นี่เป็นลักษณะหนึ่ง และในขณะที่แข็งปรากฏนี้ ต้องมีสภาพธรรมที่รู้แข็งที่ปรากฏสภาพแข็งจึงปรากฏได้ เพราะฉะนั้น ที่ใช้คำว่า สังเกต พิจารณา ศึกษา ก็เพื่อที่จะแยกลักษณะของสภาพธรรม ๒ อย่างออกจากกัน จึงจะเป็นความรู้ในสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน เพราะว่าลักษณะที่แข็งไม่ใช่สภาพที่รู้แข็ง นี่ต้องศึกษาในขณะที่แข็งปรากฏทางกาย

    ทางที่จะศึกษามีอยู่ ๖ ทาง ทางตาในขณะนี้ สีสันวัณณะต่างๆ ที่กำลังปรากฏ ปรากฏแก่สภาพที่เห็นซึ่งเป็นจักขุวิญญาณ เป็นสภาพรู้ทางตา ไม่ใช่รู้เสียง ขณะที่สีสันวัณณะกำลังปรากฏขณะนี้เอง ไม่ใช่ในขณะอื่น ต้องเป็นในขณะนี้ๆ ขณะธรรมดา ขณะปกติ ขณะที่เห็นตามธรรมดา และก็เกิดขึ้นระลึก โดยสังเกต ศึกษา รู้ว่า สิ่งที่ปรากฏนี้เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา จะไม่ใช้คำว่าคน ไม่ใช้คำว่าสัตว์ หรือวัตถุสิ่งของ จะไม่ใช่คำว่ารูปารมณ์ จะไม่ใช้คำว่าสีสันวัณณะ จะไม่ใช้คำว่าวัณโณ จะไม่ใช้คำอะไรเลยก็ได้ เพราะว่าสภาพนี้เป็นของจริงที่ปรากฏทางตา ทุกครั้งที่ลืมตา สภาพนี้ต้องปรากฏ นี่คือลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ต้องศึกษา คือ ต้องรู้ว่า ที่เคยยึดถือสิ่งที่ปรากฏว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลนั้นผิดถ้าตราบใดที่สติไม่เกิดระลึก ที่จะศึกษาให้รู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นแต่เพียงลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง

    ความทรงจำที่เคยยึดถือสิ่งที่ปรากฏว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ ต้องทิ้งไปหมด และรู้ตามความเป็นจริงว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น นี่คือ การสังเกต การพิจารณา การศึกษาเพื่อที่จะรู้ว่า สิ่งที่เคยเป็นที่ตั้งของความยินดีพอใจทางตา เห็นเป็นคน เห็นเป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดความยินดียินร้ายนั้น แท้ที่จริงก็เป็นความพอใจในเพียงลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น

    นอกจากนั้น สภาพที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตามีจริง นี่คือของจริงซึ่งมีอยู่ แต่ถ้าไม่ระลึก ไม่ศึกษา ไม่ค่อยๆ สังเกต พิจารณา ก็ไม่สามารถที่จะแยกสภาพรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาออกจากลักษณะของสีสันวัณณะต่างๆ ที่ปรากฏทางตาได้ เพราะฉะนั้น สังเกตเพื่อที่จะรู้ความต่างกันของสภาพรู้ กับสิ่งที่ปรากฏแต่ละทาง

    ถ. เวลานี้มักจะเป็นอย่างนี้ คือ ขณะใดที่มีแข็งกระทบ ก็รู้อยู่ว่าแข็ง แต่ยังไม่ได้ละว่า แข็งนั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นเพียงรูป มักจะเป็นอย่างนั้น ต่อเมื่อได้คิดว่า ลักษณะที่แข็งนั้นก็เป็นลักษณะหนึ่งไม่เหมือนกับร้อน หรือว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ในขณะที่รู้ว่าแข็งนั้นเป็นเพียงลักษณะหนึ่ง แต่ไม่ได้ตรึกว่า เป็นเพียงลักษณะหนึ่งที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ขณะนั้นได้ชื่อว่า ได้สังเกต ได้พิจารณาหรือยังครับ

    สุ. ยัง เป็นการนึก ต้องแยกให้ออก คือ นึกก็นึก

    ถ. ไม่ได้นึก สมมุติว่า กระทบแข็งส่วนหนึ่งส่วนใด และรู้อยู่ว่า ลักษณะนี้เป็นลักษณะแข็ง แต่ไม่ได้ตรึก ก็รู้อยู่อย่างนั้นเท่านั้น

    สุ. หมายความว่า ความรู้ยังไม่เพิ่มขึ้นจนถึงการรู้ลักษณะของสภาพซึ่งเป็น

    สภาพรู้โดยที่ไม่ใช่ตัวตน และไม่รู้ว่าสภาพที่แข็งนั้นไม่ใช่ตัวตน เพียงแต่รู้ว่าแข็ง

    ถ. ใช่ครับ

    สุ. ปกติธรรมดา ถ้าถามผู้หนึ่งผู้ใดว่า สิ่งนี้เป็นอย่างไร ลองจับดู เขาก็บอกว่าแข็ง เหมือนกันไหม

    ถ. ไม่เหมือนกัน ขณะที่ไม่มีสติเกิดขึ้น เมื่อจับแล้วรู้ว่าแข็ง จิตอาจจะเป็นอกุศลก็ได้ แต่ถ้ามีสติเกิดขึ้นรู้ว่าแข็ง จิตขณะนั้นก็ต้องเป็นกุศล ต่างกันตรงนี้

    สุ. รู้ว่าแข็งเท่านั้น หรือว่าศึกษา รู้สภาพแข็ง

    ถ. จะเรียกว่าอะไร ขณะที่จับรู้ว่าแข็ง ขณะนั้นจะเรียกว่าศึกษาหรือเรียกว่าอะไร ก็เรียกไม่ถูก

    สุ. ผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน ต้องละเอียดจริงๆ ปัญญาเป็นเหมือนกับพืชซึ่งงอกงามหรือเจริญเติบโตได้ยากเหลือเกิน ไม่เหมือนกับพืชใดๆ ทั้งสิ้น พันธุ์ไม้บางชนิดขึ้นง่ายเหลือเกิน ไม่ต้องทำนุบำรุงเลย ก็ปรากฏว่างอกงามได้อย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับอวิชชา ซึ่งไม่ต้องทำอะไรเลยก็มีอยู่เป็นประจำ แต่เวลาที่จะอบรมเจริญความรู้ขึ้นจะเห็นได้ว่า เป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ เป็นเรื่องที่บุคคลนั้นจะต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า มีการศึกษา มีความรู้ มีความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้นบ้างไหม ซึ่งไม่ใช่เพียงขั้นการนึก

    เป็นเรื่องที่จะต้องรับความจริง จึงจะเจริญความรู้ขึ้นได้ว่า ขณะที่กำลังคิด เป็นความรู้ขั้นคิด ต่างกับขณะที่กำลังศึกษาจริงๆ สังเกต สำเหนียกในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แม้ว่าจะเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง แต่ก็เป็นความรู้ซึ่งค่อยๆ เพิ่มขึ้นอย่าง บางๆ ทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าจะปรากฏว่า เป็นปัญญาที่สามารถจะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏได้

    ท่านผู้ฟัง จะเห็นได้ว่า เป็นเดือนก็ยังไม่พอ เป็นปีก็ยังไม่พอ เป็น ๑๐ ปีก็ยังไม่พอ แต่ก็ดีขึ้นทีละนิดๆ ทีละน้อยเรื่อยๆ แต่อย่าใจร้อน และอย่าคิดว่าจะสามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมได้ทั่วหมดตามความเป็นจริง ต้องอาศัยเวลาที่นานมาก และถ้าการอบรมเจริญปัญญายังไม่ทั่วทั้ง ๖ ทาง ความสงสัยจะยังคงมีอยู่ แต่ถ้ามีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้นโดยไม่เลือก ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ ไม่ว่าสภาพธรรมนั้นจะเป็นความรู้สึกโกรธ เสียใจ ไม่พอใจ ไม่แช่มชื่น หรือเป็นความรู้สึกที่ดีใจ พอใจ เป็นสุข หรือว่าจะเป็นลักษณะสภาพของความอิสสา มัจฉริยะ ความตระหนี่ ความผูกโกรธ ความมานะ ความถือตน แต่ละลักษณะเป็นสภาพธรรมทั้งหมด เป็นของจริงทั้งนั้น ซึ่งเกิดปรากฏเพื่อให้รู้ เพื่อให้สติระลึก ให้สังเกตในความไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลของสภาพธรรมนั้น

    เพราะฉะนั้น เมื่อสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมโดยไม่เลือก ยิ่งรู้มากขึ้น ก็จะยิ่งอุปการะเกื้อกูลให้ความสามารถที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั้ง ๖ ทางนี้ชัดเจนขึ้น แต่จะเป็นความรู้ที่เพิ่มขึ้นทีละน้อยจริงๆ ไม่มีใครสามารถรู้แจ้งได้อย่างรวดเร็ว นอกจากท่านที่ได้อบรมเจริญปัญญาบารมีมามากที่เป็นอุคฆฏิตัญญู คือ ผู้ที่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนั้นก็ต้องเป็นผู้ที่สะสมอบรมเจริญปัญญา ซึ่งจะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏเพียง ๖ ทางนี้เท่านั้นเอง

    อย่างทางตา ก็ทางหนึ่ง ตลอดเวลา ตลอดชีวิต ทุกวันก็จะต้องมีการเห็น แต่ส่วนมากหลงลืมสติตามความเคยชิน เพราะฉะนั้น ก็เริ่มอบรมนิสัยใหม่ คือ การระลึก และก็ศึกษา ถ้าขณะนั้นกำลังศึกษาแล้วก็ไม่ต้องห่วงว่า ขณะนั้นเป็นสติไหม เป็นอารมณ์ปัจจุบันไหม เพราะว่ามีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏให้ศึกษาโดยสังเกต ไม่ใช่โดยนึก หรือโดยคิดว่าเป็นนามธรรม พอหยุดคิด ก็ศึกษา นี่คือความต่างกัน

    เห็น อาจจะคิดว่าที่กำลังเห็นเป็นนามธรรม ยับยั้งไม่ได้ที่จะให้ความคิดอย่างนี้เกิดขึ้น แต่พอคิดหมดแล้ว ยังไม่ลืม ยังศึกษา คือ สังเกตลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ถ้าไม่ศึกษาทางตา สติไม่เกิดระลึกรู้ทางตา ก็อาจจะเป็นทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจก็ได้ในขณะที่สภาพธรรมนั้นๆ กำลังปรากฏธรรมดาปกติ อย่าตั้งใจพากเพียรด้วยความเป็นตัวตน จะยิ่งสับสนวุ่นวาย

    แต่ขณะใดที่สติเกิดแล้วศึกษา ขณะนั้นรู้ว่าเริ่มจะศึกษา และเริ่มที่จะสังเกต เริ่มที่จะพิจารณารู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ว่าอกุศลมากเหลือเกิน มากจนกระทั่งสติเกิดนิดหนึ่ง พอเริ่มๆ จะศึกษานิดหนึ่ง กิเลสก็ท่วมทับอีกแล้ว ความสงสัยก็หลั่งไหลมา ทำให้เกิดความสงสัยว่า ลักษณะสภาพธรรมนี้เป็นอะไร แทนที่จะนึกว่านี่เป็นนามธรรม ก็อาจจะนึกขึ้นว่านี่อะไร แทนที่จะนึกว่า นี่เป็นนามธรรม หรือนี่รูปธรรมก็ได้ นั่นก็เป็นลักษณะของความคิดนึกซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แต่ให้ทราบว่า เพราะว่าสะสมอกุศลมามากเหลือเกิน เพราะฉะนั้น เมื่อสติเกิดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราว และดับไปแล้ว อกุศลทั้งหลายก็ท่วมทับอย่างรวดเร็วได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๓ ตอนที่ ๖๒๑ – ๖๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 43
    28 ธ.ค. 2564