แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 621


    ครั้งที่ ๖๒๑


    สำหรับคำถามที่ว่า ในเมืองไทยมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากมาย เช่น เจ้าที่ พระภูมิ พระพรหม ท่านเหล่านี้มีจริงหรือ

    ถ้าจะเพียงถามว่า กำเนิดอื่น ภพอื่น ซึ่งเป็นเทพตามสถานที่ต่างๆ ที่เรียกว่า เจ้าที่ก็ดี พระภูมิก็ดี พระพรหมก็ดี ท่านเหล่านี้มีจริงหรือ ก็ควรจะทราบว่า กำเนิดต่างๆ นอกจากกำเนิดของมนุษย์ มีจริงตามควรแก่เหตุปัจจัย

    ถ้าเป็นเทพ ต้องเป็นผลของกุศล ทำให้เกิดเป็นเทวดาซึ่งมีกำเนิดที่สูงกว่ามนุษย์ ถ้าเป็นพรหม ต้องเป็นผลของอัปปนาสมาธิ การเจริญสมถภาวนา สามารถที่จะระงับโลภะ โทสะ โมหะได้โดยไม่เสื่อม หมายความว่า ตอนใกล้ที่จะจุติ คือ สิ้นชีวิต อัปปนาสมาธิสามารถเกิดและจิตในขณะนั้นเป็นรูปาวจรจิตหรืออรูปาวจรจิต เพราะฉะนั้น พระพรหมมีจริง

    และที่ถามว่า ในเมืองไทยมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากมาย

    ทำไมเข้าใจว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทพศักดิ์สิทธิ์อย่างไร พรหมศักดิ์สิทธิ์อย่างไร มนุษย์ศักดิ์สิทธิ์ไหม สามารถที่จะบันดาลให้คนอื่นเป็นอย่างไร เรียกว่าศักดิ์สิทธิ์ไหม ด้วยการกระทำของแต่ละบุคคลนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงกำเนิดต่างๆ เหล่านี้ ก็มีจริงตามควรแก่เหตุ คือ แล้วแต่ผลของกรรมที่ได้กระทำไว้ จะทำให้เกิดเป็นมนุษย์ หรือจะทำให้เกิดเป็นเทวดาในสวรรค์ ๖ ชั้น หรือจะทำให้เกิดเป็นพรหมบุคคลในพรหมภูมิ

    แต่ทำไมกล่าวว่าศักดิ์สิทธิ์ มีอะไรที่ทำให้คิดให้เข้าใจว่าศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากว่าทุกคนมีกรรมเป็นของตนเอง ไม่ว่าท่านจะเห็น จะได้ยิน จะได้กลิ่น จะลิ้มรส จะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เป็นสุข เป็นทุกข์อย่างไรก็ตาม ถ้าท่านไม่มีกรรมของท่านที่ได้กระทำแล้วเป็นเหตุเป็นปัจจัย สภาพธรรมต่างๆ เหล่านั้น ก็ไม่สามารถจะเกิดกับท่านได้

    แต่ละบุคคล ในวันหนึ่งๆ ก็มีสุข มีทุกข์ต่างกันไป มีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสต่างกันไปตามเหตุตามปัจจัย คือ กรรมของแต่ละท่านที่ได้กระทำไว้แล้วในอดีตเป็นปัจจัย พร้อมที่จะให้มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสต่างๆ กันไป แล้วแต่กรรมของท่านเอง เพราะฉะนั้น ทำไมจึงกล่าวว่า เทวดาหรือพรหมศักดิ์สิทธิ์

    สำหรับคำถามที่ว่า ช่วยได้จริงหรือ

    ช่วยอย่างไร ทุกคนมีกรรมเป็นของตัวเอง เพราะฉะนั้น สิ่งที่ท่านได้รับอยู่ย่อมเป็นไปตามกรรมของท่าน ถ้าท่านกระทำกรรมดี แม้ในมนุษย์โลก ก็ย่อมจะมีคนอุปถัมภ์ช่วยเหลือท่าน

    มีผู้ฟังท่านหนึ่ง ได้เล่าถึงเรื่องจริงที่ได้เกิดขึ้นให้ฟังว่า วันหนึ่งท่านขับรถไปกับลูกชายเล็กๆ รถเกิดตกลงไปข้างทาง แต่ทันทีที่รถของท่านตกลงไปข้างทาง รถที่ตามหลังมาเป็นรถจี๊ปที่มีอุปกรณ์พร้อมที่จะฉุดรถขึ้น รถข้างหลังก็จอด และช่วยฉุดรถท่านขึ้นจากข้างทางนั้นได้ เพราะฉะนั้น บุญเหมือนญาติสนิทซึ่งจะติดตามไปคุ้มครองรักษา หรือช่วยแก้ไขเหตุการณ์ต่างๆ ให้ปลอดภัยจากอันตรายต่างๆ ได้ ซึ่งผู้นั้นก็ระลึกได้ว่า ถ้ามีอกุศลกรรม ก็คงต้องคอยไปอีกนานกว่าจะมีผู้ที่จะมาช่วยเหลือได้

    เพราะฉะนั้น แม้ในโลกนี้ ถ้าท่านเป็นผู้ที่ได้กระทำกุศลกรรมไว้ กุศลกรรมนั้นก็ย่อมให้ผล เช่นเดียวกับอกุศลกรรมที่ทำไว้แล้ว ถ้าท่านได้รับผลของอกุศลกรรม ก็เป็นเพราะอดีตอกุศลกรรมของท่านเอง ส่วนที่จะมีใครช่วยได้หรือช่วยไม่ได้นั้น ก็แล้วแต่กุศลกรรมของท่านอีก ถ้าท่านเป็นผู้ที่ได้กระทำกุศลกรรมไว้ แม้เป็นมนุษย์ก็เป็นผู้ที่ช่วยได้ ไม่จำเป็นจะต้องคิดถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นเลย

    สำหรับข้อความที่ท่านสงสัยว่า ถ้าเป็นจริง ทำไมชาติเราไม่เจริญเท่านานาประเทศ ซึ่งไม่ได้ดูหมอ เข้าทรง แต่เขาเจริญรุ่งเรืองมาก นี่ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ถ้าบุคคลใดมีความมั่นคงในกรรมของตนเองจริงๆ ก็ย่อมจะเจริญแต่กุศลกรรม ซึ่งจะเป็นเหตุทำให้ได้รับกุศลวิบาก โดยที่ไม่จำเป็นต้องเข้าทรง หรือว่าดูหมอ

    เรื่องของโหราศาสตร์ แม้จะมีนักโหราศาสตร์ที่ได้ศึกษาค้นคว้ามากสักเท่าไร และพอที่จะรู้แนวของกรรมซึ่งพร้อมที่จะให้ผลได้ก็จริง แต่ว่าเรื่องของกรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก บุคคลใดก็ไม่สามารถที่จะทราบได้ว่า แต่ละท่านได้กระทำกุศลกรรมอกุศลกรรมไว้มากมายเท่าไร เมื่อความละเอียดของกรรมไม่สามารถที่จะรู้ได้ เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าผู้ที่ได้ศึกษาโหราศาสตร์มา ก็มีความรู้ความสามารถเพียงที่จะพยากรณ์ถึงแนวทางของกรรมซึ่งมีโอกาสหรือควรที่จะให้ผล แต่ก็อาจจะไม่พร้อมที่จะให้ผล เพราะกรรมอื่นที่ละเอียดและไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้โดยตลอดเกิดขึ้นให้ผลแทนก็ได้

    สำหรับการเข้าทรง ไม่มีกล่าว หรือแสดงไว้ในพระไตรปิฎก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ไม่เป็นสาระหรือไม่เป็นประโยชน์ที่จะทำให้รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้

    ถ. การเข้าทรงกับผีเข้าเหมือนกันไหม ปาฏิโมกข์ที่ท่านจะเลิกได้ ก็ด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ ภิกษุมีผีเข้า ก็ให้เลิกทำสังฆกรรมได้ นี่เหตุหนึ่ง ผีเข้ากับเข้าทรงเหมือนกันหรือไม่

    สุ. ในพระไตรปิฎกมีข้อความเรื่องผีเข้า มีข้อความเรื่องมารดลใจ แต่ไม่มีเรื่องเข้าทรง

    ถ. ไม่เหมือนกันหรือ

    สุ. สภาพของจิตที่มีกำลัง ก็สามารถที่จะชักนำจิตของคนอื่นให้คล้อยตามได้ ถ้าท่านศึกษาในพระไตรปิฎกจะเห็นว่า หลายครั้งที่มีเรื่องของมารดลใจ อย่างเวลาที่พระผู้มีพระภาคเสด็จบิณฑบาต มารก็ดลใจให้ชาวบ้านไม่ใส่บาตร โดยดลใจให้ชาวบ้านสนใจในอย่างอื่น สร้างเหตุอื่นให้เกิดความสนใจขึ้น

    คามิกะ ที่อ้างว่า พระสวดปาฏิโมกข์แล้วผีเข้า ไม่ใช่ผี ผีนี่ภาษาไทย บาลีเขาเรียกว่า ปีศาจ แต่ปีศาจจะต่างกับผีอย่างไรผมไม่มีความรู้

    สุ. ในบางแห่งก็ได้กล่าวถึงด้วย ที่ว่าผีเข้านั้น หมายความถึงโรคลมบ้าหมู

    คามิกะ เรื่องผีๆ บางทีเราก็มาใช้เป็นคำด่า ผีนั่นผีนี่ หรือบางคนตายแล้วเรียกผี แต่คนตายศัพท์บาลีเขาไม่เรียกผี เรามาเรียกในภาษาไทย บางทีก็กลายเป็นคำด่าไป ในบาลีมีปิสาจโก ปีศาจไม่ใช่ผี รูปร่างเป็นอย่างไรไม่รู้ เรื่องปีศาจเข้าก็มี สาณุสามเณรอยากจะสึก มาที่บ้าน เทวดาผู้หญิงที่เคยเป็นแม่รู้ว่าเณรจะสึก ก็เลยมาเข้าแล้วทำให้ดิ้น แบบที่เขาเรียกกันว่า ผีเข้า ไม่ใช่เข้าทรงอย่างทุกวันนี้ เข้าทรงลงเจ้าจะศักดิ์สิทธิ์อย่างไร เมื่อเช้านี้ที่หน้าวัดใหม่พระพิเรนทร์ บ้านที่ไฟไหม้เป็นบ้านทรงเจ้า ทำไมเจ้าที่มาเข้าทรงทุกวันๆ ไม่บอกว่า วันนี้ไฟจะไหม้ ถ้าศักดิ์สิทธิ์จริง ต้องบอกให้ระวังเนื้อระวังตัว

    สุ. ในพระไตรปิฎกได้แสดงธรรมที่เป็นเหตุและเป็นผลไว้ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม ถ้าได้ศึกษาในเหตุผลแล้ว ก็จะเข้าใจได้ว่า เหตุการณ์ ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นผลนั้น ต้องมาจากเหตุที่สมควรแก่เหตุการณ์นั้น แต่ในพระไตรปิฎกไม่ได้มีเรื่องที่กล่าวถึงการเข้าทรงไว้เลย เพราะว่าในพระไตรปิฎกนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมที่เป็นสารประโยชน์สำหรับผู้ที่ศึกษาจะประพฤติปฏิบัติตามและปัญญาสามารถที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้

    คามิกะ เมื่อพูดถึงเข้าทรงลงเจ้า สมัยรัชกาลที่ ๕ มีกฎหมายออก เขาเรียกว่า พระราชบัญญัติเข้าทรงลงเจ้า รศ. ๑๑๙ ใครเป็นนักกฎหมายไปเปิดดูได้ พวกที่หากินร่ำรวยทางลัดก็ทำเป็นผีเข้า บอกว่าไฟจะไหม้ที่นั่นที่นี่ และก็ไหม้จริงๆ ตอนจะเกิดเหตุทางราชการเขารู้ ส่งคนไปสืบ บอกว่าไฟจะไหม้สำเพ็ง นี่เรื่องจริง ไฟจะไหม้สำเพ็งเวลานั้นเวลานี้ เขาเอาตำรวจไปดัก และก็จับได้ รัชกาลที่ ๕ ท่านเลยออกพระราชบัญญัติเข้าทรงลงเจ้า รศ. ๑๑๙ ผู้ใดเข้าทรงลงเจ้า ให้จับมาลงโทษ

    สุ. ขอบพระคุณท่านผู้ฟัง

    สำหรับคำถามของท่านที่เขียนมาถามว่า ในเมืองไทยมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากมาย เช่น พระภูมิ พระพรหม ท่านเหล่านี้มีจริงหรือ ช่วยได้จริงหรือ

    บางท่านอาจจะบูชาพระพรหมโดยที่ยังไม่ทราบตามความเป็นจริงว่า พระพรหมคืออย่างไร แต่ท่านก็เคารพบูชา

    ขอกล่าวถึงข้อความในพระไตรปิฎก ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ซึ่งมีการบูชาพระพรหมตั้งแต่ในครั้งพระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน แสดงให้เห็นว่า บุคคลที่ไม่รู้จักพระพรหมและไม่เข้าใจพระพรหม แต่บูชาพระพรหมนั้น ไม่ใช่ความเห็นถูก เพราะว่าไม่ประกอบด้วยเหตุผล

    ข้อความใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค พรหมเทวสูตรที่ ๓ ข้อ ๕๖๓ มีว่า

    ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามแห่งท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ฯ

    ก็สมัยนั้นแล บุตรแห่งนางพราหมณีคนหนึ่ง ชื่อพรหมเทวะ ออกบวชในสำนักของพระผู้มีพระภาค ครั้งนั้นแล ท่านพระพรหมเทวะเป็นผู้เดียวหลีกออกแล้ว ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนอันส่งไปแล้วอยู่ ไม่นานเท่าไร ก็ได้กระทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ที่กุลบุตรทั้งหลายผู้ออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องประสงค์อันนั้นอย่างยอดเยี่ยม เป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ เพราะรู้แจ้งชัดเองในปรัตยุบันนี้แหละเข้าถึงอยู่ ท่านได้ทราบว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่จะต้องทำ ได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกมิได้มี ก็แหละท่านพรหมเทวะได้เป็น พระอรหันต์องค์หนึ่งในบรรดาพระอรหันต์แล้ว ฯ

    พระอรหันต์ กับพระพรหม ควรจะบูชาใคร ถ้าเป็นความเห็นถูก เป็นความเข้าใจถูก ก็จะทราบว่า ควรจะบูชาพระอรหันต์ ซึ่งเป็นผู้ที่ดับกิเลสหมดสิ้น กิจที่จะต้องทำ ได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกมิได้มี คือ ไม่มีกิจที่จะต้องมาดับกิเลสอีก เพราะว่ากิเลสได้ดับหมดเป็นสมุจเฉท

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ครั้งนั้นแล ท่านพระพรหมเทวะ ในเวลารุ่งเช้านุ่งห่มแล้ว ถือบาตรจีวรเข้าไปบิณฑบาตในพระนครสาวัตถี ท่านเที่ยวบิณฑบาตในพระนครสาวัตถีตามลำดับตรอก เข้าไปยังนิเวศน์แห่งมารดาของตนแล้ว

    ก็สมัยนั้นแล นางพราหมณีผู้มารดาของท่านพระพรหมเทวะ ถือการบูชา บิณฑะแก่พรหมมั่นคงเป็นนิตย์ ฯ

    แม้ว่าลูกของตนได้บรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์แล้ว แต่มารดาก็ยังคงบูชา พระพรหมโดยการถวายข้าวอย่างมั่นคงเป็นนิตย์ทีเดียว

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ครั้งนั้นแล ท้าวสหัมบดีพรหมคิดว่า นางพราหมณีผู้มารดาของท่านพระพรหมเทวะนี้แล ถือการบูชาบิณฑะแก่พรหมมั่นคงเป็นนิตย์ ไฉนหนอ เราพึงเข้าไปหานางแล้วทำให้สลดใจ ฯ

    พระพรหมจริงๆ มีทั้งพรหมที่เป็นพระอรหันต์ พรหมที่เป็นพระอริยเจ้า และพรหมที่เป็นปุถุชน แต่ผู้ที่บูชาพระพรหมนี้ บูชาโดยที่ไม่ได้ทราบว่า คุณธรรมของพรหมเป็นอย่างไร เหตุปัจจัยอะไรที่จะทำให้เป็นพรหม และชีวิตของพรหมนั้นดำเนินไปอย่างไร เพราะฉะนั้น ท้าวสหัมบดีพรหมก็คิดที่จะเกื้อกูลอุปการะนางพราหมณี ผู้เป็นมารดาของท่านพระพรหมเทวะ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ลำดับนั้น ท้าวสหัมบดีพรหมหายไปในพรหมโลก ปรากฏแล้วในนิเวศน์ของมารดาแห่งท่านพระพรหมเทวะ เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีกำลังพึงเหยียดออกซึ่งแขนที่คู้เข้าแล้ว หรือพึงคู้เข้าซึ่งแขนที่เหยียดออกแล้ว ฉะนั้น ฯ

    ครั้งนั้นแล ท้าวสหัมบดีพรหมลอยอยู่ในอากาศ ได้กล่าวกะนางพราหมณี ผู้มารดาของท่านพระพรหมเทวะด้วยคาถาทั้งหลายว่า

    ดูกร นางพราหมณี ท่านถือการบูชาด้วยก้อนข้าวแก่พรหมใดมั่นคงเป็นนิตย์ พรหมโลกของพรหมนั้นอยู่ไกลจากที่นี้ ดูกร นางพราหมณี ภักษาของพรหมไม่ใช่เช่นนี้ ท่านไม่รู้จักทางของพรหม ทำไมจึงบ่นถึงพรหม ฯ

    แสดงให้เห็นว่า พรหมโลกกับมนุษย์นี้แสนไกล พระพรหมจริงๆ ท่านไม่ได้เสวยหรือไม่ได้บริโภคข้าวที่คนบูชาเลย เพราะว่านั่นไม่ใช่อาหารของพรหม แต่แม้อย่างนั้นผู้ที่ไม่รู้จักทางของพรหม ก็ยังบ่นถึงพรหม บูชาข้าวแก่พรหมด้วยความไม่รู้

    ข้อความต่อไป

    ท้าวสหัมบดีพรหมกล่าวว่า

    ดูกร นางพราหมณี ก็ท่านพระพรหมเทวะของท่านนั้น เป็นผู้หมดอุปธิกิเลส ถึงความเป็นอติเทพ ไม่มีกิเลสเป็นเครื่องกังวล มีปกติขอ ไม่เลี้ยงดูผู้อื่น ท่าน พระพรหมเทวะที่เข้าสู่เรือนของท่านเพื่อบิณฑบาต เป็นผู้สมควรแก่บิณฑะที่บุคคลพึงนำมาบูชา ถึงเวท มีตนอันอบรมแล้ว สมควรแก่ทักษิณาทานของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย ลอยบาปเสียแล้ว อันตัณหาและทิฐิไม่ฉาบทาแล้ว เป็นผู้เยือกเย็น กำลังเที่ยวแสวงหาอาหารอยู่ ฯ

    พระพรหมท่านไม่บริโภคข้าวแน่นอน แต่ว่าพระอรหันต์ซึ่งเป็นมนุษย์ท่านยังต้องบริโภคอาหาร แต่นางพราหมณีนั้นไม่สนใจในบุตรของตนซึ่งเป็นพระอรหันต์ มุ่งแต่การที่จะถวายภิกษา คือ บูชาข้าวแก่พระพรหม

    ข้อความต่อไป

    ท้าวสหัมบดีพรหมกล่าวว่า

    อดีตอนาคตไม่มีแก่ท่านพระพรหมเทวะนั้น ท่านพระพรหมเทวะเป็นผู้สงบระงับ ปราศจากควัน ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง วางอาชญาในปุถุชนผู้ยังมีความหวาดหวั่นและในพระขีณาสพผู้มั่นคงแล้ว ขอท่านพระพรหมเทวะนั้น จงบริโภคบิณฑบาตอันเลิศที่สำหรับบูชาพรหมของท่าน ฯ

    ท่านพระพรหมเทวะซึ่งเป็นผู้มีเสนามารไปปราศแล้ว มีจิตสงบระงับ ฝึกตนแล้ว เที่ยวไปเหมือนช้างตัวประเสริฐ ไม่หวั่นไหว เป็นภิกษุมีศีลดี มีจิตพ้นวิเศษแล้ว ขอท่านพระพรหมเทวะนั้น จงบริโภคบิณฑบาตอันเลิศที่สำหรับบูชาพรหมของท่าน ฯ

    ท่านจงเป็นผู้เลื่อมใสในท่านพระพรหมเทวะนั้น เป็นผู้ไม่หวั่นไหว ตั้งทักษิณาไว้ในท่านผู้เป็นทักษิเนยยบุคคล ดูกร นางพราหมณี ท่านเห็นมุนีผู้มีโอฆะอันข้ามแล้ว จงทำบุญ อันจะนำความสุขต่อไปมาให้ ฯ

    ท่านจงเป็นผู้เลื่อมใสในท่านพระพรหมเทวะนั้น เป็นผู้ไม่หวั่นไหว ตั้งทักษิณาไว้ในท่านผู้เป็นทักษิเนยยบุคคล ดูกร นางพราหมณี ท่านเห็นมุนีผู้มีโอฆะอันข้ามแล้ว ได้ทำบุญ อันจะนำความสุขต่อไปมาให้แล้ว ฯ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๓ ตอนที่ ๖๒๑ – ๖๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 43
    28 ธ.ค. 2564