แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 611


    ครั้งที่ ๖๑๑


    ถ. เรื่องความดับ เคยถามอาจารย์ไว้ครั้งหนึ่งว่า ทำอย่างไรจึงจะรู้ว่า อย่างไหนดับ ผมเคยพิจารณาดู ถ้ารูปธรรมอะไรเกิดขึ้น จิตเกิดขึ้นกับโลภะ ถ้ามีสติรู้ โลภะนั้นก็ดับ พอเรารู้ว่า โลภะเกิดขึ้น คือ มีสติเกิดขึ้น โลภะนั้นก็ดับไป และก็มีเกิดขึ้นใหม่ ซับซ้อนกันอย่างนี้ ความหมายที่ว่าดับนั้น หมายความว่า เรารู้ เรามีสติรู้ พอสติรู้ ความโลภนั้นจะหยุด หายไปทันทีเลย เช่นนี้เป็นลักษณะของความดับใช่ไหม

    สุ. ก่อนที่จะประจักษ์ในความไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วดับไป สติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง แม้แต่พยัญชนะสั้นๆ ที่ว่า สภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง ก็จะต้องพิจารณาว่า ปรากฏอย่างไร ตามปกติอย่างไร

    ขณะที่ลืมตา สภาพธรรมปรากฏ อย่าลืมว่า ไม่มีตัวตน สัตว์ บุคคลอะไรเลย สภาพธรรมปรากฏ จะต้องรู้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติ ขณะใดที่เห็น ตามปกติ สติระลึกตามปกติ อย่าผิดปกติ คือ ในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ สติสามารถที่จะระลึกได้ และไม่หลงลืมที่จะสังเกต ที่จะศึกษา ที่จะพิจารณา จนกว่าจะเป็นความรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้ หาความเป็นตัวตน สัตว์ บุคคลไม่ได้ เป็นแต่เพียงธรรมที่ปรากฏทางตาเท่านั้น

    เวลาที่เห็นรูปภาพ มีคลอง มีกระท่อม ดอกไม้ ต้นไม้ มีฟ้า มีเรือ มีแม่น้ำ ความจริงมีอย่างนั้นหรือเปล่า ในรูปภาพนั้นเป็นแต่เพียงสีปรากฏ แต่ความสำคัญในสีต่างๆ ที่ปรากฏว่าเป็นสิ่งต่างๆ ทำให้ยึดมั่นว่า ในขณะนั้นมีบ้าน มีเรือ มีแม่น้ำ มีต้นไม้ ฉันใด ในขณะนี้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ขอให้ระลึกถึงความจริง สภาพธรรม อย่าทิ้งความหมายนี้ ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และก็ปรากฏจริงๆ ทางตา เพราะเหตุใด เพราะหลับตาแล้วไม่มีเลย ไม่สามารถที่จะปรากฏได้เลย สิ่งที่เคยปรากฏและเคยสนใจในรูปพรรณสัณฐาน ทำให้เกิดความรู้สึก พอใจ ชอบใจในต้นไม้ที่กำลังมีดอกสวย ก็เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ความที่พอใจในสัณฐาน ความที่ยึดมั่นในรูปร่างสัณฐาน ทำให้สีที่ต่างกันปรากฏเป็นส่วนดอก ปรากฏเป็นส่วนใบ ทำให้เกิดความยินดีความพอใจในดอกไม้ในต้นไม้นั้นได้ เพราะฉะนั้น การเห็นเกิดขึ้นแต่ละครั้ง และยึดถือสภาพที่เห็นว่า เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นต้นไม้ เป็นดอกไม้ เป็นวัตถุ เป็นสิ่งต่างๆ หมายความว่า ไม่รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง

    เมื่อมีความไม่รู้อย่างนี้ จะต้องอบรมอย่างไร คือ ระลึกรู้ตามที่ได้ศึกษามาแล้วว่า สิ่งที่ปรากฏทางตานั้นไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น กำลังเห็นตามปกติในขณะนี้ ระลึกเพื่อที่จะให้ปัญญาเกิดรู้ชัดขึ้นในวันหนึ่ง สามารถที่จะรู้ได้ว่า การยึดถือสิ่งที่ปรากฏเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดนั้น ไม่ใช่การรู้สภาพธรรมที่แท้จริง ที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น

    นี่คือ ทางตา ยังไม่ต้องไปต้องการดับ อย่าเพิ่งคิดที่จะต้องการดับ

    ถ. โดยมากผมก็จะรู้ว่า ความโลภเกิดขึ้น และก็จะต้องสาวไปถึงเหตุ

    สุ. คิดว่า จะสาวไปถึงเหตุ แต่สภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ที่ไม่ใช่ตัวตน เริ่มรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏแล้วหรือยัง

    ถ. ที่อาจารย์อธิบายผมเข้าใจ คือ เมื่อธรรมทั้งหลาย รูปทั้งหลายเกิดขึ้น ต้องมีนามติดตาม

    สุ. นี่เป็นความเข้าใจ แต่ยังไม่ใช่การระลึกจริงๆ รู้จริงๆ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ต่างกับธาตุรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาซึ่งเป็นการเห็น แต่สีสันวัณณะต่างๆ เหล่านี้จะปรากฏไม่ได้เลย ถ้าไม่มีธาตุรู้หรือการเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้น การที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงตามปกติ ก็คือ การเห็นตามปกติเป็นอย่างไร สติเกิดขึ้น คือ ระลึก หรือจะใช้คำว่าศึกษา หรือว่าสังเกตที่จะรู้ว่า ในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ เป็นสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และปัญญาจะค่อยๆ พิจารณาเพื่อที่จะให้รู้ชัดว่า ธาตุรู้ คือ สภาพที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้ ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงธาตุรู้ อาการรู้ในสิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งต่างกับธาตุรู้ อาการรู้ในเสียงที่ปรากฏทางหู

    นี่คือ สภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง และไม่ต้องไปอยากรู้ว่าอะไรดับ ขอให้เป็นความรู้ชัดในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงเสียก่อน

    ถ. ผมรู้ตัวว่า สิ่งชั่วในตัวยังมีอีกมาก

    สุ. มีมาก แต่การที่จะดับต้องเป็นลำดับ ดับโลภะยังไม่ได้ ดับโทสะยังไม่ได้ ดับริษยายังไม่ได้ ดับมานะยังไม่ได้ ประการแรกที่จะต้องดับก่อน คือ ดับความเห็นผิดซึ่งยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุต่างๆ นี่ต้องดับก่อน และวิธีที่จะดับได้ ก็โดยปัญญาเกิดขึ้น เพราะว่าตามปกติ ไม่รู้ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เมื่อมีความไม่รู้อยู่ จะไปดับกิเลสได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ต้องรู้ก่อน

    ถ. ที่ผมถาม หมายถึงลักษณะของการดับ ตามธรรมดาคนเราทุกวันนี้ก็มีการเห็น การได้ยิน พอเห็น พอได้ยินแล้ว ก็มีการชอบใจ ไม่ชอบใจ ในระหว่างนั้นสมมติว่า มองปั๊บเห็นว่า อันนี้สวย บางทีมีสติรู้ว่า ใจเราอกุศลเกิดขึ้นแล้ว ความโลภเกิดขึ้นแล้ว

    สุ. รู้ลักษณะสภาพการเห็นหรือยัง

    ถ. หมายความว่า ตาเห็นรูปใช่ไหม

    สุ. ค่ะ

    ถ. นาม คือ ใจเรารู้ในสิ่งที่เราเห็นนั้น

    สุ. ถ้ารู้แล้ว ไม่ต้องเจริญสติปัฏฐาน รู้หรือยัง ทางตาที่กำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ รู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงแล้วหรือยัง ถ้ายัง ก็อบรมเจริญสติเพื่อที่จะให้เกิดปัญญา แต่การระลึกเพื่อที่จะให้มีการศึกษา เพื่อที่จะรู้ความจริงที่ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะเหตุว่าสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาเพียงปรากฏทางตาเท่านั้น คนอยู่ที่ไหน วัตถุสิ่งของอะไรอยู่ที่ไหน ในเมื่อปรากฏเพียงเมื่อลืมตา โดยความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น ก็เป็นเพียงสภาพธรรมที่สามารถจะปรากฏให้รู้ได้ทางจักขุปสาท

    ถ. ผมนับถืออาจารย์ แต่ผมพูดไม่ค่อยจะถูก

    สุ. เรื่องของการอบรมเจริญปัญญา อย่าคิดว่ารู้แล้ว และต้องเป็นไปตามลำดับขั้นจริงๆ ทางตา สติยังไม่เกิด ก็ให้ทราบว่า ยังไม่รู้ในสภาพธรรมที่ปรากฏ ทางหู สติยังไม่ระลึกรู้ในขณะที่ได้ยินว่าเป็นแต่เพียงธาตุรู้ อาการรู้เสียง และถ้าสติยังไม่ระลึกรู้ในสภาพของเสียงที่ปรากฏว่า เป็นแต่เพียงเสียงที่ปรากฏ ไม่ใช่เสียงของใคร จะเป็นเสียงของใครได้อย่างไร ดับไปหมดแล้ว ปรากฏแล้วก็ดับไปแล้ว หมดไปจริงๆ เพราะฉะนั้น สติจะต้องระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง

    ถ. ธรรมดาผมทำงาน บางทีก็มีสติเกิด นี่กำลังโกรธ นี่กำลังโลภ เคยนึกอยู่อย่างนี้เรื่อยๆ บางทีก็รู้ว่า นี่เห็น สมมติว่ายืนอยู่อย่างนี้ บางทีก็รู้แข็ง ตึง อ่อน บางทีก็รู้ที่เท้า บางทีก็รู้ที่แขน ตามปกติ บางทีชอบใจก็รู้ว่า ความโลภเกิดขึ้นแล้ว สาเหตุมาจากเรามองเห็น และไปติดใจในสิ่งนั้น ความโลภจึงเกิดขึ้น แต่ผมลำดับไม่ค่อยจะถูก

    สุ. การรู้ตามปกติยังไม่พอ ทุกคนก็รู้ว่าแข็ง สิ่งที่กำลังกระทบในขณะนี้แข็ง มีใครบ้างที่ไม่รู้ ทุกคนก็รู้ว่าแข็ง ไม่พอ เพราะเหตุว่าไม่ใช่การศึกษา ไม่ใช่สิกขา ไม่ใช่ศีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา ถ้าตราบใดยังไม่สำเหนียก สังเกต รู้เฉพาะในอาการที่ปรากฏว่า เป็นแต่เพียงลักษณะสภาพธรรม ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เคยยึดถือว่า เป็นวัตถุ เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นสิ่งของต่างๆ นอกจากนั้น ศึกษาเพียงเท่านี้ยังไม่พอ ยังต้องศึกษาถึงสภาพรู้แข็งว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลที่กำลังรู้ในอาการที่แข็ง

    นี่คือการอบรมปัญญาที่จะให้เกิดความรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามลำดับ เป็นขั้นๆ จริงๆ

    ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ให้ทราบว่า ยังมีความไม่รู้อยู่มาก จึงต้องฟังมากๆ ถ้าเข้าใจอย่างนี้ จะเป็นปัจจัยให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม และก็เพิ่มความรู้ขึ้นในสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม ซึ่งเป็นสภาพรู้ มีลักษณะต่างๆ และสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรม ซึ่งปรากฏมีลักษณะต่างๆ ด้วย

    เพราะฉะนั้น เรื่องของปัญญาเป็นเรื่องของการที่จะต้องพิจารณาโดยละเอียดรอบคอบ และอย่ามุ่งที่จะไม่ศึกษาด้วยสติที่จะระลึกรู้ในสภาพธรรมที่ปรากฏ และก็เข้าใจว่า ได้ประจักษ์ลักษณะของการเกิดการดับ ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ถ้าปัญญาไม่เกิดขึ้นเป็นลำดับขั้นจริงๆ

    ถ. ฟังแล้วรู้เรื่องทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และถ้ามีสติเกิดขึ้นระลึกรู้ถูกต้องตามที่อาจารย์บรรยายแล้ว ถึงจะเป็นนามเป็นรูปก็จริง แต่ก็ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    สุ. แต่ก็คงจะยาก เพราะเหตุว่าเคยชินกับการที่จะยึดถือว่า เห็นคน เห็นสัตว์ เห็นวัตถุ เห็นสิ่งต่างๆ เห็นต้นไม้ เห็นดอกไม้ เห็นบ้านเรือน เห็นภูเขา เห็นแม่น้ำอยู่เรื่อยๆ ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว ให้ทราบว่า สภาพธรรมที่ปรากฏทางตาเป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา พิสูจน์ได้ทันทีด้วยการหลับตา สิ่งที่ปรากฏแล้ว ไม่ปรากฏในขณะที่หลับตา แต่เวลาลืมตา สิ่งที่ไม่ปรากฏในขณะที่หลับตา ปรากฏในขณะที่ลืมตา เพราะฉะนั้น สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะที่ลืมตา เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้น ที่ปรากฏให้รู้ได้เฉพาะทางตา

    สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ต้องจริงสำหรับผู้ที่ได้ประจักษ์แจ้งในสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน เพราะไม่ได้เพียงแต่กล่าวลอยๆ ว่า สภาพธรรมทั้งหลายไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน พระผู้มีพระภาคยังได้ทรงแสดงสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนโดยละเอียดว่า สภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนที่ปรากฏนั้นต่างกันอย่างไร ซึ่งผู้ที่เข้าใจแล้วจากการฟัง สามารถที่จะประจักษ์แจ้งได้โดยอบรมปัญญา ศึกษา พร้อมสติที่ระลึกได้ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โดยจะต้องเข้าใจเรื่องของสติปัฏฐานด้วย

    ในภาษาไทยเรา ใช้คำว่า สติ มาก ตั้งแต่เล็กแต่น้อย ในสมุดรายงานการเรียนจะต้องมีคำว่า สติปัญญาปานกลาง หรือว่าสติปัญญาดี หรือว่าสติปัญญาดีมาก ดูเหมือนว่า สติกับปัญญาเป็นของคู่กัน

    ตามความเป็นจริงแล้ว สติ เป็นสภาพธรรมที่เป็นโสภณ เป็นฝ่ายกุศล เพราะฉะนั้น สติปัญญาในสมุดรายงานการเรียน เป็นไปในทานหรือเปล่า เป็นไปในศีลหรือเปล่า เป็นไปในความสงบหรือเปล่า เป็นไปในเรื่องการอบรมปัญญาที่จะให้รู้แจ้งสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนหรือเปล่า

    นี่เป็นความเข้าใจที่ต่างกันในภาษาไทย กับสภาพปรมัตถธรรม คือ สภาพที่เป็นสติจริงๆ เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะอบรมเจริญปัญญายิ่งขึ้น จะต้องมีการฟังมาก มีการศึกษามาก มีการพิจารณาสิ่งที่ได้ฟังจนกระทั่งรู้ว่า สภาพธรรมที่ได้ฟังนั้น แท้จริงแล้วเป็นสภาพธรรมอย่างไร เช่น สติ จะต้องเป็นสภาพธรรมที่เป็นโสภณ เป็นธรรมฝ่ายดี ซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปในกุศลธรรม คือ ในทาน ในศีล ในความสงบของจิต และในการอบรมเจริญปัญญา ถ้าเป็นไปในเรื่องอื่น ก็ไม่ใช่สภาพธรรมที่เป็นสติ แม้ว่าในภาษาไทยหรือในความเข้าใจทั่วไปจะใช้คำว่า สติ ก็ตาม

    เพราะฉะนั้น ถ้าได้ยินคำว่า เจริญสติปัฏฐาน หรือ สติปัฏฐาน ๔ อย่าเพิ่งคิดว่า เข้าใจคำว่า สติ แล้ว เพราะว่าจะทำให้ไม่สามารถอบรมปัญญาให้ยิ่งขึ้น ถ้าคิดว่าการเดินไม่หกล้มเป็นสติ โดยเฉพาะในเรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะต้องรู้ลักษณะของสติจริงๆ เสียก่อน จึงจะอบรมเจริญปัญญายิ่งขึ้นได้ เพราะผลของการเจริญสติปัฏฐานนั้น ไม่ใช่ฟังและก็เข้าใจในปรมัตถธรรมเท่านั้น แต่เป็นการพิสูจน์สภาพปรมัตถธรรมที่ได้ศึกษาว่า เป็นความจริงตามที่ได้ศึกษาหรือไม่ เช่น พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า สังขารธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง

    ไม่เที่ยง คือ เกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว เป็นความจริงหรือไม่

    อาจจะศึกษาแล้วเข้าใจว่า สภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อกันทางตา ทางใจ ทางหู ทางใจ ทางจมูก ทางใจ สืบต่อกันอย่างไร แต่ว่าในขณะนี้ เป็นสภาพธรรมทั้งหมดที่ได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียดว่า กำลังเกิดดับอยู่ ทางตาเกิดขึ้นและดับไปแล้ว สภาพธรรมทางใจรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา เกิดขึ้นและก็ดับไปแล้ว ทางหูมีสภาพธรรมที่ได้ยินเสียง เกิดขึ้นและดับไปแล้ว ทางใจรู้สภาพธรรมที่ได้ยินต่อจากทางหู เกิดขึ้นและก็ดับไปแล้ว สภาพธรรมกำลังเกิดดับทุกขณะ ถึงแม้ว่าจะมีการศึกษามากสักเพียงไร ถ้าสติไม่เกิดที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่ได้ศึกษาแล้ว ก็จะไม่ประจักษ์ในการเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมนั้นๆ ได้

    เพราะฉะนั้น เรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน ต้องศึกษาให้เข้าใจลักษณะของสติจริงๆ จึงจะอบรมปัญญาที่จะพิสูจน์สภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ ให้ประจักษ์แจ้งว่าเป็นความจริงได้

    ศึกษาปรมัตถธรรมหรือพระอภิธรรมแล้ว ก็ยังจะต้องศึกษาหนทางข้อปฏิบัติที่จะพิสูจน์ธรรมที่ได้ศึกษาว่าเป็นความจริงเมื่อไร ขณะไหน คือ ทุกขณะที่สติกำลังระลึก จึงเพิ่มความรู้ขึ้น จนกว่าจะประจักษ์ในความเกิดดับของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับอยู่ได้

    ถ. คำว่า วิปัสสนาสติปัฏฐาน บางครั้งก็ยังไม่แจ้ง คือ ผมยังไม่แจ้ง วิ แปลว่า แจ้ง ปัสสนา แปลว่า เห็น ก็ไม่รู้ว่าเห็นอะไร

    สุ. เห็นแจ้ง คือ เห็นแจ้งสภาพธรรมที่ปรากฏ ทางตา เห็นทุกวันๆ นี้ เห็นแจ้งอะไร ก็คือ เห็นแจ้งสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา

    ทางหูได้ยินอยู่ ขณะใดที่ได้ยิน เห็นแจ้งอะไร ก็เห็นแจ้งสภาพธรรมที่ได้ยินกับเสียงที่ปรากฏ

    ขณะใดที่ได้กลิ่น เห็นแจ้งอะไร ก็เห็นแจ้งในกลิ่นและสภาพธรรมที่รู้กลิ่น

    ขณะที่ลิ้มรส เห็นแจ้งอะไร ก็เห็นแจ้งในรสกับในสภาพธรรมที่ลิ้มรส

    ขณะที่กระทบสัมผัส รู้สึกเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว เห็นแจ้งอะไร ก็เห็นแจ้งในสภาพธรรมที่รู้เย็น รู้ร้อน รู้อ่อน รู้แข็ง รู้ตึง รู้ไหว หรือสภาพที่อ่อน แข็ง เย็น ร้อน ตึง ไหว นั่นเอง

    ใจที่กำลังคิดนึก รู้แจ้งอย่างไร ก็รู้แจ้งสภาพของจิตที่เกิดขึ้นคิด และก็ดับไป หมดไป

    เพราะฉะนั้น การที่จะเห็นแจ้งนี้ ตลอดชีวิตก็คือว่า เห็นแจ้งสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นอกจากนี้แล้ว ไม่สามารถที่จะไปเห็นแจ้งได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๒ ตอนที่ ๖๑๑ – ๖๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 43
    28 ธ.ค. 2564