แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 632


    ครั้งที่ ๖๓๒


    ถ. การเห็น หรือจักขุวิญญาณ จะเกิดขึ้นต่อเมื่อมี ๑. จักขุปสาท ๒. ต้องมีสี ๓. ต้องมีมนสิการ

    สุ. มนสิการ ได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิตซึ่งเกิดก่อน และดับไป

    ถ. การเห็น ฟังดูง่ายๆ เพราะเห็นกันอยู่ทุกวัน แต่ผมยังไม่เข้าใจ อยากจะให้อาจารย์อธิบายการเห็นในลักษณะที่เกิดขึ้นในวิถีจิต ตั้งแต่ภวังคจิตไป และเราจะพิจารณาตอนไหน

    สุ. นั่นโดยตำรา ที่แสดงถึงการเกิดดับสืบต่อกันว่า ก่อนการเห็นจิตจะต้องเป็นภวังค์ และเมื่อมีจักขุปสาทกระทบกับรูปารมณ์ เป็นปัจจัยให้ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นรำพึงถึงอารมณ์ที่กระทบจักขุปสาทและก็ดับไป จักขุวิญญาณ คือ การเห็น จึงเกิดขึ้นเห็นสีได้ นั่นเป็นการประจักษ์แจ้งของผู้ที่ทราบว่า จิตดวงใดเกิดก่อนแล้วดับไป และเป็นปัจจัยให้จิตดวงใดเกิดต่อ ซึ่งแม้ว่าจะรวดเร็วสักเท่าไรก็ตาม ปัญญาที่คมกล้า ก็ยังสามารถที่จะแทงตลอดในลักษณะของขณะจิตที่เกิดดับติดต่อกันอย่างรวดเร็วได้ ว่า เป็นแต่ละจิตซึ่งเกิดขึ้นทำกิจแต่ละอย่าง จักขุวิญญาณนั้น เห็น แต่ว่าก่อนที่จะเห็น ต้องมีปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดก่อนคือรำพึงถึง และก่อนที่จะมีการกระทบกัน จิตต้องเป็นภวังค์ก่อนอย่างรวดเร็วมาก

    นั่นเป็นเรื่องของการศึกษา และเข้าใจได้จริงๆ ว่าต้องเป็นอย่างนั้น โดยเหตุผล ว่า เราไม่ได้เห็นอยู่ตลอดเวลา ก่อนเห็น มี ซึ่งก่อนเห็นไม่ใช่เห็น จึงเป็นภวังคจิต แต่เมื่อจะเกิดการเห็นขึ้น จะเห็นอย่างรวดเร็วทันทีไม่ได้ ต้องมีเหตุปัจจัย ทุกคนมีจักขุ-ปสาท เว้นคนที่ตาบอด คือ คนที่จักขุปสาทไม่เกิด นอกจากมีจักขุปสาทแล้ว การเห็นจะเกิดขึ้นได้ ต้องมีรูปารมณ์ คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา ถ้าขณะนั้นเป็นเสียง ก็ไม่เป็นปัจจัยให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น จักขุวิญญาณจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อสิ่งที่ปรากฏนั้นเป็นรูปารมณ์ คือ สิ่งที่ปรากฏทางตาได้ แต่ว่าอยู่ดีๆ จิตที่เป็นภวังค์อยู่ คือ ยังไม่เห็น จะเห็นขึ้นทันทีไม่ได้ จะต้องมีจิตเกิดก่อน ๑ ขณะ คือ ปัญจทวาราวัช-ชนจิตซึ่งสามารถรู้อารมณ์ที่กระทบทวารหนึ่งทวารใด รำพึงถึงอารมณ์นั้นก่อน เมื่อดับไปแล้ว จึงเป็นปัจจัยให้เกิดการเห็น หรือ จักขุวิญญาณขึ้น

    ในขณะนี้ ซึ่งเดี๋ยวเห็น เดี๋ยวได้ยิน เดี๋ยวคิดนึก วีถีจิตจะต้องเกิดโดยมีภวังค์คั่น ถ้าเป็นทางตา ก็จะต้องมีปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดก่อน จึงจะมีการเห็นเกิดขึ้น

    นี่เป็นสิ่งที่สามารถจะเข้าใจได้ เข้าใจเท่านั้น แต่ว่าการเห็นเป็นอย่างไร ถ้ากล่าวว่าเป็นสภาพรู้ ก็เข้าใจอีกเหมือนกันว่า ต้องมีสภาพรู้ ถ้าไม่มีสภาพรู้แล้ว ก็ไม่มีการรู้อะไรในโลกนี้เลย โลกก็ย่อมไม่ปรากฏ แต่ที่โลกปรากฏได้ ก็ต้องมีสภาพที่รู้ และที่ว่าเป็นโลก ก็โดยปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าพ้นจาก ๖ ทางนี้ โลกอยู่ที่ไหน จะมีหรือไม่มีก็ไม่ปรากฏทั้งนั้น ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ที่ปรากฏ ก็ต้องปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    เพราะฉะนั้น สภาพรู้ ธาตุรู้ ต้องมีแน่นอน และก็รู้ด้วยว่า มี ๖ ทาง คือ ทางตาที่กำลังเห็น กำลังเห็นกันอยู่ ก็ต้องรู้ว่านามธรรมที่เห็นนี้ มี แต่ว่าลักษณะของนามธรรมนั้นเป็นอย่างไร ไม่ใช่เรื่องที่เพียงฟังและพิจารณาเข้าใจได้ แต่ต้องเป็นเรื่องที่จะต้องพิสูจน์ ประจักษ์ แยกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏให้ประจักษ์แจ้งจริงๆ ว่า สภาพรู้ ธาตุรู้ เป็นเพียงสภาพรู้ ธาตุรู้ ไม่ใช่สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา

    ไม่ต้องทำอะไรอื่นเลย ใครจะเปลี่ยนแปลงนามธรรมที่กำลังเห็นในขณะนี้ให้เป็นอื่น ให้เป็นสภาพที่ได้ยินก็ไม่ได้ ใครจะเปลี่ยนแปลงความเกิดขึ้นและดับไปของ จักขุวิญญาณซึ่งกำลังเกิดดับก็ไม่ได้ แต่เมื่อเป็นสภาพธรรมที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นและเกิดดับอยู่ในขณะนี้ ทางเดียวที่จะทำได้ คือ รู้สภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง ไม่ใช่ไปเปลี่ยน หรือไม่ใช่ไปทำอย่างอื่น แต่จะต้องศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้แต่ละทาง ทางไหนก็ได้

    ทางตา ไม่จำเป็นต้องกั้นว่า ต้องไม่ให้เห็นว่าเป็นคน เป็นสัตว์ แต่ขณะที่รู้ว่าเป็นอะไร ให้เข้าใจว่า มีการตรึกนึกถึงลักษณะนั้นแล้ว

    อะไรอยู่ที่พื้น ไม่ทราบใช่ไหม ต่อเมื่อตรึกนึกถึงลักษณะจึงรู้ว่าเป็นอะไร เพราะฉะนั้น กำลังรู้ สติก็เกิดรู้ได้ ระลึกรู้ว่า เป็นการตรึกนึกถึงลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือจะระลึกว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสภาพธรรมที่เพียงปรากฏทางตาเท่านั้น ก็จริงอีก หลับตาไปแล้วก็ไม่มีสัตว์ บุคคล อะไรก็ไม่มีทั้งนั้น เมื่อหลับตาแล้วที่จะปรากฏให้เห็นเป็นคนนั้นคนนี้ก็ไม่เหลือเลย เพียงชั่วหลับตาลงไป สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ไม่ปรากฏแล้ว นี่คือของจริงที่จะต้องระลึก คือ สติเกิดเมื่อไร ก็ระลึกและศึกษาจนกว่าจะชิน จนกว่าจะคุ้นเคย จนกว่าจะชำนาญ จนกว่าจะไม่ยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏ โดยรู้ว่าขณะที่เห็นก็เป็นขณะหนึ่ง ส่วนขณะที่ตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐาน ก็ไม่ใช่ขณะที่เพียงเห็นแล้ว

    ขณะที่เกิดความยินดียินร้าย เป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นสภาพความรู้สึก ที่ไม่ใช่การเห็น ไม่ใช่การนึก ไม่ใช่การตรึกถึงรูปร่าง เป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะจริงๆ ซึ่งมีเป็นปกติ เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย รวมทั้งความรู้สึกสับสนอลเวงต่างๆ เมื่อมีปัจจัยก็เกิดขึ้น จะห้ามหรือไม่ให้สภาพนั้นเกิดดับสืบต่อสับสนอลเวงก็ไม่ได้ แต่มีการระลึกรู้ว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมความรู้สึกเท่านั้น และเมื่อปัญญาคมกล้าขึ้น ก็สามารถที่จะแยกชัดละเอียดขึ้นอีก จนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์ความเกิดดับได้ในที่สุด

    ถ. การเคลื่อนไหว เช่น กระพริบตา มีสติระลึกรู้ และไม่ได้ยึดถือว่า เป็นสัตว์ บุคคล เป็นการเคลื่อนไหวเฉยๆ หรือว่าขณะที่สวดมนต์ ปากมีการเคลื่อนไหวบ้าง ได้ยินเสียงบ้าง เป็นเฉพาะอย่าง เฉพาะเรื่อง และรู้ด้วย มีสติระลึกได้ขณะนั้น อย่างนี้ใช่ไหม

    สุ. สภาพธรรมปรากฏ เป็นอะไรก็ได้ และอย่าไปเชื่อมโยงไปต่อเอาไว้ ถ้าไม่มีอ่อนแข็ง การพูดก็มีไม่ได้ เพราะฉะนั้น จะต้องมีการกระทบปรากฏลักษณะ อ่อนแข็ง รู้แต่ในลักษณะที่ปรากฏจริงๆ ทีละทาง หรือว่าทีละลักษณะ

    ถ. ขณะที่ยกเคลื่อนไหวอย่างนี้ ก็เพียงแต่เคลื่อนไหว ก็ระลึกรู้สภาพตามความเป็นจริง

    สุ. ถ้าสติเกิด ก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางหนึ่งทางใด ที่ปรากฏ ต้องมีทางให้ปรากฏ จึงได้ปรากฏ ปัญญาจะต้องศึกษาในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏจนรู้ชัด ต้องอบรม ค่อยๆ เริ่มไป ระลึกไป รู้ไป

    ขอตอบจดหมายของท่านผู้ฟังจากบ้านเลขที่ ๒๕๙/๑ ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งมีข้อความว่า

    เรียน อาจารย์ที่เคารพ

    ผมมีข้อสงสัย และขอเรียนถามท่านอาจารย์ดังนี้ เวลาสภาพธรรมปรากฏขึ้น ผมก็จะระลึก (คิดว่านั่นเป็นรูป อาการรู้เป็นนาม) การระลึกอย่างนี้ใช่ไหมที่เรียกว่า เจริญสติ

    ขอตอบจดหมายฉบับนี้เป็นข้อๆ คือ ข้อที่ ๑ ที่ถามว่า การระลึกอย่างนี้ ใช่ไหมที่เรียกว่าเจริญสติ

    สติมีหลายระดับ เวลาที่อกุศลจิตเกิดขึ้น ขณะนั้นไม่ใช่สติ สติจะต้องเป็นสภาพของโสภณเจตสิกที่เกิดขึ้นระลึกเป็นไปในกุศลทั้งสิ้น วันหนึ่งๆ ถ้าเต็มไปด้วยความปรารถนา ความต้องการ ความอยากได้ เป็นโลภะ ขณะนั้นไม่ใช่สติ หรือ ถ้าขณะนั้นจิตเป็นความขุ่นข้อง ไม่แช่มชื่น ก็เป็นสภาพของอกุศลจิต ไม่ใช่สติ ถ้าจิตเป็นไปกับโลภะ โทสะ ไม่ใช่สติ เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ นี้ จิตประเภทใดจะเกิดมาก ทันทีที่ตื่นก็มีความต้องการแล้ว อยากจะได้สิ่งหนึ่งสิ่งใดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นั่นเป็นเรื่องของอกุศลจิต หรือถ้าอารมณ์ คือ สิ่งที่ปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่เป็นอารมณ์ที่ทำให้เกิดความพอใจ ความแช่มชื่นใจ ความไม่พอใจ ความไม่แช่มชื่นก็จะเกิดขึ้น ขณะนั้นก็ไม่ใช่สติ

    เพราะฉะนั้น สติจะต้องเป็นไปกับเรื่องของกุศลทั้งสิ้น เช่น สติที่ระลึกเป็นไปในทาน การสละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่น ซึ่งตรงกันข้ามกับการอยากจะได้มา หรือว่ามีความพอใจ มีความต้องการในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น ขณะที่ระลึกเป็นไปที่จะสละ นั่นเป็นสติขั้นทาน การที่ระลึกเป็นไปที่จะวิรัติทุจริต นั่นเป็นสติขั้นศีล การที่ระลึกเป็นไปในการที่จะให้จิตสงบจากอกุศลธรรม นั่นเป็นสติขั้นสมถะ หรือการเจริญความสงบของจิต แต่การที่จะเจริญสติปัฏฐาน จะต้องเป็นการระลึกที่จะศึกษาลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ โดยไม่ใช่การคิด

    ต้องทราบด้วยว่า ถึงจะคิดทั้งวันว่า ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงนามธรรม เป็นแต่เพียงรูปธรรม เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นแต่เพียงอาการรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ถ้าเกิดการนึกเป็นเรื่องเป็นคำขึ้น ในขณะนั้นยังไม่ใช่สติปัฏฐาน เพราะว่าจิตเกิดขึ้นขณะหนึ่งจะมีอารมณ์เดียว จิตเป็นสภาพรู้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่จิตรู้แต่ละขณะ ต้องเป็นเพียงอย่างหนึ่งๆ เท่านั้น

    ถ้าเกิดคิดเป็นคำขึ้น เช่น จิตนึกถึงคำว่า จะ คิดถึงคำว่า ไป ขณะนั้นใครรู้ว่าไป ทำไมมีความหมายของคำว่า ไป หรือมีคำว่า ไป ก็เพราะว่าจิตนึกถึงคำว่า ไป

    จิตนึกถึงคำว่า จะ และก็ดับไป จิตดวงต่อไปเกิดขึ้นนึกถึงคำว่า ไป อีกคำหนึ่ง เพราะฉะนั้น จิตเกิดขึ้นขณะหนึ่ง ก็มีอารมณ์คือสิ่งที่จิตรู้ ได้เพียงอย่างเดียว

    ขณะที่จิตกำลังรู้คำว่า จะ จิตจะรู้อย่างอื่นด้วยไม่ได้เลย

    ขณะที่จิตเกิดขึ้น นึกถึงคำว่า ไป ขณะที่กำลังนึกถึงคำว่า ไป จิตจะรู้อย่างอื่นไม่ได้ในขณะนั้น

    การเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่การคิด ถ้าเกิดความคิดว่า สภาพธรรมที่ปรากฏทางตาไม่ใช่ตัวตน ให้ทราบว่า เป็นจิตที่กำลังมีแต่ละคำเป็นอารมณ์ ทีละคำเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป และก็มีคำใหม่เป็นอารมณ์ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แต่ไม่ใช่การศึกษารู้ลักษณะสภาพของธรรมที่กำลังปรากฏทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะฉะนั้น นั่นไม่ใช่การอบรมเจริญสติปัฏฐาน นั่นเป็นการนึกเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมตามที่ได้ฟัง ตามที่ได้ทราบมาว่า ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล มีแต่ สภาพธรรมเท่านั้น เมื่อมีความเข้าใจอย่างนี้ สติ คือ การระลึกที่จะศึกษาในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏยังไม่เกิดขึ้น แต่เกิดการคิดถึงสภาพธรรมที่ปรากฏขึ้น ก็เป็นการคิดเรื่องของนามธรรมและรูปธรรม ยังไม่ใช่การระลึกและศึกษาลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ต้องแยก โดยทราบว่า การคิดไม่ใช่สติที่ระลึกและศึกษาเพื่อที่จะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมในแต่ละลักษณะ ซึ่งมีอาการปรากฏให้รู้ได้แต่ละทาง เช่น ทางตาในขณะนี้ หรือทางหูในขณะนี้ก็ได้ หยุดคิด ไม่ต้องคิดอะไรเลย เสียงก็ปรากฏ เพราะลักษณะของเสียงต้องปรากฏทางหู ลักษณะของสีสันวัณณะต่างๆ ก็ต้องปรากฏเฉพาะทางตาเท่านั้น ถึงแม้ว่าไม่คิด ก็มีสภาพธรรมที่ปรากฏให้จิตรู้ในลักษณะของสภาพนั้นๆ ที่ปรากฏได้เฉพาะทางหู หรือทางตา แต่เมื่อหลงลืมสติ ก็ไม่ระลึกที่จะศึกษาให้เป็นแต่เพียงสภาพลักษณะของธรรมที่ปรากฏแต่ละทาง

    แต่ถ้าสติเกิดขึ้น ระลึกศึกษา เพิ่มความรู้ขึ้นทีละเล็กทีละน้อยไปเรื่อยๆ จนกระทั่งชิน วันหนึ่งก็จะมีความชำนาญในการที่เมื่อสติเกิดขึ้น ปัญญาก็สามารถที่จะรู้ทันทีว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นเพียงลักษณะของสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเพียงปรากฏทางตาเท่านั้นเอง

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ถ้าท่านผู้ฟังอ่านข้อความโดยตรงในพระไตรปิฎก จะมีคำว่า ปรารภ คือ ตั้งต้น ตั้งต้นแล้วก็ตั้งต้นอีก ตั้งต้นเนืองๆ เพราะว่าสติเกิดขึ้นนิดเดียว อาจจะยังไม่ทันศึกษา คือ สังเกต สำเหนียกจนเป็นความรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตานั้น เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาจริงๆ หลับตาแล้วไม่มีเลย ที่หลับตาแล้วยังจะให้ปรากฏเหมือนขณะที่กำลังลืมตานั้นเป็นสิ่งที่ไปไม่ได้ นี่เป็นความจริงซึ่งเป็นปกติธรรมดาจนทำให้ไม่รู้ในสภาพความเป็นจริงว่า แท้ที่จริงแล้วสภาพธรรมแต่ละอย่างเป็นจริงอย่างนี้ ไม่มีความเป็นสัตว์ บุคคลในสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะว่าสภาพธรรมนี้ เพียงปรากฏทางตาเท่านั้น

    เพราะฉะนั้น ต้องทราบลักษณะของสติ คือ ระลึกได้ และก็ศึกษา คือ สังเกต สำเหนียก เพื่อที่จะรู้ในสภาพที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจโดยไม่คิด ต้องโดยไม่คิดด้วย เพราะถ้าคิด ขณะนั้นไม่ได้ศึกษา ไม่ได้สังเกตที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่เป็นจิตอื่นซึ่งมีคำหรือมีเรื่องเป็นอารมณ์ของจิตนั้น ไม่ใช่มีลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเป็นอารมณ์

    คำว่า อารมณ์ หมายความถึงสิ่งที่จิตกำลังรู้ เพราะว่าจิตเป็นสภาพรู้ ขณะใดที่จิตเกิดขึ้นจะต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด รู้สีที่ปรากฏทางตาก็ได้ รู้เสียงที่ปรากฏทางหูก็ได้ รู้กลิ่นที่ปรากฏทางจมูกก็ได้ รู้รสทางลิ้นก็ได้ รู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหวที่ปรากฏทางกายก็ได้ รู้คำ รู้เรื่องก็ได้ ถ้าจิตนั้นเกิดขึ้นนึกถึงคำหรือนึกถึงเรื่อง แม้แต่ที่กำลังคิดนึก ก็เป็นสภาพของจิตที่เกิดขึ้นและคิดถึงคำ คิดถึงเรื่อง คิดถึงรูปร่างก็ได้ มีสิ่งที่ปรากฏทางตา และก็มีการนึกถึงรูปร่างของสิ่งที่ปรากฏ จึงเกิดความเข้าใจว่า สิ่งที่ปรากฏเป็นอะไร ถ้าไม่มีการนึกถึงรูปร่างเลย ก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า สิ่งที่ปรากฏนั้นเป็นอะไร

    ขณะนี้กำลังมีสิ่งที่ปรากฏทางตา ถ้าไม่นึกถึงรูปร่างสัณฐานของกระดาษที่ติดอยู่บนกระดานดำจะไม่รู้เลยว่า เป็นกระดาษที่ติดอยู่บนกระดานดำ และที่กระดาษก็มีข้อความที่เขียนไว้ มีเครื่องหมายต่างๆ ถ้าไม่นึกถึงรูปร่างของเครื่องหมาย ไม่นึกถึงรูปร่างของตัวอักษรที่เขียน ก็จะไม่มีการนึกถึงคำ หรือไม่มีการรู้คำ หรือรู้ความหมายของสิ่งที่ปรากฏได้เลย

    เพราะฉะนั้น การเห็นเป็นอย่างหนึ่ง การตรึกหรือนึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง การเข้าใจความหมายของรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ ก็เป็นจิตแต่ละประเภทแต่ละขณะซึ่งเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว ถ้าสติไม่เกิดขึ้น ไม่สามารถที่จะระลึกรู้ความต่างกันของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา และการตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็จะยังคงยึดถือสิ่งที่ปรากฏว่า เป็นวัตถุ เป็นสิ่งของ เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ต่อเมื่อใดสามารถที่จะแยกและรู้ว่า ขณะที่เห็นไม่ใช่ขณะที่นึกถึงรูปร่าง คนละขณะกัน ถ้าสติระลึกรู้สภาพความจริงอย่างนี้ จะถ่ายถอนการที่เคยยึดถือสิ่งที่ปรากฏทางตาว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ ทีละเล็ก ทีละน้อย ทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ

    เพราะฉะนั้น การตั้งต้น หรือการปรารภสติซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป โดยที่ปัญญายังไม่รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ก็จะต้องมีการระลึก ระลึกขณะใด ก็ตั้งต้นศึกษา สังเกต สำเหนียก รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏและก็ดับไป ซึ่งก็แล้วแต่สติจะเกิดขึ้นเมื่อไร ก็ตั้งต้นศึกษา สังเกต สำเหนียก เพื่อที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ จนกว่าจะเป็นความรู้ที่เพิ่มขึ้น โดยที่จะต้องทราบว่า การคิดนึกว่าสภาพใดเป็นนามธรรม สภาพใดเป็นรูปธรรม เป็นเพียงขั้นการคิดนึก ไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน

    การเจริญสติปัฏฐาน ต้องเป็นการสำเหนียก สังเกต ศึกษาลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ โดยไม่ใช่การคิดนึก แต่ถ้าการคิดนึกเกิดขึ้น สติปัฏฐานก็ศึกษา รู้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพคิด เพราะว่าเวลาที่เกิดจิตที่คิด ก็จะต้องดับไป ถึงแม้จะคิดต่อไปคำเดียวกันซ้ำหลายๆ ครั้ง ก็ไม่ใช่ขณะเดียวกัน แต่ว่าจะต้องเกิด และคิดซ้ำในคำนั้นแล้วก็ดับ และก็คิดซ้ำในคำนั้นแล้วก็ดับ เป็นแต่ละขณะจริงๆ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๔ ตอนที่ ๖๓๑ – ๖๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 43
    28 ธ.ค. 2564